fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนเมษายน 2565

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนเมษายน 2565 

ขอแสดงความไม่ยินดีกับผู้พิพากษาใหม่

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

“แทบทุกครั้งหลังจากที่มีการประกาศผลสอบผู้พิพากษา (หรือที่เรียกกันว่าผู้ช่วยผู้พิพากษา) บรรดาคณะนิติศาสตร์ (บางแห่งอาจใช้ชื่อว่าสาขาหรือสำนักวิชานิติศาสตร์) ในสังคมไทยจำนวนมากก็จะพากันแสดงความยินดีกับศิษย์เก่าของตนเองที่สามารถสอบผ่านเข้าไปเป็นตุลาการได้สำเร็จ”

“แต่การสอบผ่านจนเป็น ‘ท่าน’ ได้ คือสิ่งที่สถาบันการศึกษาควรจะต้องแสดงความยินดีจริงๆ หรือ”
การมีตำแหน่งแห่งที่ของการเป็นผู้พิพากษาอาจไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเสมอไปก็ได้ ถ้าในอนาคตบุคคลนั้นแปรสภาพไปเป็นเนติบริกรเพื่อรับใช้ผู้มีอำนาจ จะดีกว่าหรือไม่ที่หากจะมีการแสดงการยกย่องและชื่นชมต่อนักกฎหมายคนใด มันควรเกิดขึ้นจาก ‘ผลงาน’ ที่บุคคลนั้นได้กระทำ ว่าได้ก่อให้ประโยชน์โภชผลแก่ผู้คนในสังคมกว้างขวางเพียงใด

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึงสถาบันการเรียนการสอนนิติศาสตร์ของไทย ที่มักแสดงความยินดีกับผู้สอบผู้พิพากษาผ่าน ทั้งที่อาจไม่ใช่สิ่งน่ายินดี หากผู้สอบผ่านผู้นั้นเข้าไปทำงานรับใช้รัฐ มากกว่าทำเพื่อประชาชน

จากเสากินรี ถึงกำแพงกันคลื่น 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ภาพประกอบ Beach for Life

“ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนแวะไปเที่ยวชายหาดปราณบุรี ก็เจอสภาพน่าเศร้าใจว่า หาดทรายอันงดงามแทบจะหายไป เหลือแต่กำแพงคอนกรีตขั้นบันไดตามแนวชายหาดแทน แต่ยังพอเหลือชายหาดบางช่วงที่ยังไม่มีการสร้างกำแพงกันคลื่น”

“บ่ายวันนั้น นักกีฬาทีมชาติไคท์ฟอยล์ (Kite Foil) เเละคนรักชายหาดกว่า 50 คน รวมตัวที่ชายหาดปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เเสดงพลังร่วมปกป้องชายหาดผืนสุดท้ายจากกำเเพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการ ที่จะดำเนินการก่อสร้างบนหาดปราณบุรี ด้วยความยาว 240 เมตร”

“แม้กำแพงกันคลื่นจะได้รับการพิสูจน์ว่าไม่ได้ช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และยังทำให้ชายหาดทรายหดหายไป ส่งผลเสียทางด้านเศรษฐกิจและระบบนิเวศมากกว่า แต่การก่อสร้างก็ยังเดินหน้าต่อไปในหลายพื้นที่ โดยไม่ใส่ใจเสียงคัดค้านของชุมชนในพื้นที่ที่ส่งเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ”

“จับตาดูกันต่อไปว่า กำแพงกันคลื่นจะลงเอยแบบเสาไฟฟ้ากินรีหรือไม่”

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงโครงการสร้างกำแพงกั้นคลื่นที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ชายหาดของไทย แม้จะเต็มไปด้วยเสียงคัดค้านถึงผลกระทบทางธรรมชาติ ซึ่งอาจซ้ำรอยโครงการสร้างเสาไฟกินรีในหลายพื้นที่ อันสะท้อนถึงการผลาญงบของรัฐโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริง

ความเฉื่อย 

โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

“มีเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยมีคนพูดชัดๆ มากนักคือเรื่อง ‘ความเฉื่อย’ ของราชการ เพราะความเฉื่อยนั่นเอง ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขจึงจำเป็นต้องฝ่าวงล้อมกันเองเพื่อให้งานหลายๆ เรื่องไปต่อได้ … และเพราะความเฉื่อยนั้นเองที่ทำให้อะไรต่อมิอะไรอยู่กับที่อย่างน้อยก็ 35 ปีที่ผมรับราชการ”

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนถึง วัฒนธรรม ‘ความเฉื่อย’ ในระบบราชการ อันเป็นต้นตอที่ทำให้ระบบราชการไม่สามารถเดินหน้าแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ๆ และไม่สามารถปฏิรูปได้สำเร็จ

“ข้าราชการหลายๆ คนมิได้ขี้เกียจเลย ดูแพทย์พยาบาลโรงพยาบาลของรัฐทำงานเถิดแล้วจะเห็นว่าพวกเราไม่ใช่คนขี้เกียจแน่นอน แต่เราเฉื่อยๆ นั้นใช่ มิใช่เฉื่อยเรื่องงาน แต่เฉื่อยเรื่องจะคิดอะไรใหม่ๆ แก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ๆ หรือสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อให้หน้างานของเราทำงานดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นงานประจำหรืองานสู้โควิดก็ตาม”

“การทำงานแบบปลอดภัยมักเกิดจากการไม่ตัดสินใจ ตัวอย่างนี้จะเห็นได้ชัดมากในเวลาสองปีของสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา หน่วยงานจำนวนมากไม่ตัดสินใจเอง ทั้งที่ด้วยความรู้ความสามารถ ระดับการศึกษา ความฉลาด รวมทั้งประสบการณ์ที่ทำงานกับท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ของตัวเองมีมากมายจนน่าจะสามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ในการบริหารวัคซีน บริหารยา บริหารเตียง หรือแม้แต่บริหารเครื่องช่วยหายใจ แต่ดูเหมือนหลายที่จะเฉื่อยแล้วรอฟังคำสั่งส่วนกลางมากกว่าที่จะตัดสินใจเอง”

“ความเฉื่อยเกิดจากวัฒนธรรมความกลัวด้วย คือกลัวผิด ด้วยระบบราชการเป็นระบบที่ใช้อำนาจตั้งแต่ต้น มิวายที่ประธานที่ประชุมใดๆจะมีคำพูดติดตัวเสมอว่า ‘เต็มที่’ แต่ข้าราชการมากประสบการณ์มักรู้ดีว่าเต็มที่เท่าที่ท่านอนุญาต และหากมากกว่านั้นอาจจะเป็นภัยได้ ดังนั้นการใส่เกียร์ว่างเป็นวิธีการที่ปลอดภัยทั้งจากตัวระบบเอง รวมทั้งนักการเมืองที่จะมาใหม่ในปีหน้า การใส่เกียร์ว่างเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าความเฉื่อย”

“ทั้งหมดที่เขียนมาเป็นวัฒนธรรม ดังที่อาจารย์นิธิเขียนหลายครั้งว่าความพยายามปฏิรูปการศึกษาด้วยกลไกดังที่ทุกรัฐบาลพยายามทำ หรือปฏิรูปกระบวนทัศน์ดังที่นักการศึกษาสมัยใหม่ทำ ซึ่งผมเองมิใช่นักการศึกษา แต่มักมีข้อคิดเห็นไปในทำนองเดียวกัน นั่นคือปฏิรูปวิธีการเรียนรู้กันใหม่ เหล่านี้จะไม่มีวันสำเร็จถ้าไม่จัดการวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่ การปฏิรูประบบราชการน่าจะพบปัญหาเดียวกัน … อะไรๆ ที่เราพูดกันในวงเสวนา เขียนข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป หรือแม้แต่บางเรื่องร่างกฎหมายกันเสร็จแล้ว แทบทุกเรื่องไม่มีความคืบหน้าเพราะความเฉื่อยเข้าครอบงำกลไกการแก้ปัญหาทุกระดับด้วย เราติดอยู่ที่ตรงนี้มานานมากแล้วตั้งแต่หลายปีก่อนโควิด”

ปูตินไม่ชนะ แต่อาจไม่แพ้ 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร
ภาพประกอบ: kremlin.ru

“แน่นอนครับว่าในสงครามยูเครนครั้งนี้ ปูตินไม่มีทางที่จะชนะขาดอีกแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความเป็นไปได้ที่ฉากทัศน์ในฝันของตะวันตกที่ปูตินจะพ่ายแพ้ยับเยินและพังพินาศก็อาจจะไม่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน”

อาร์ม ตั้งนิรันดร์ วิเคราะห์ถึง สงครามยืดเยื้อระหว่างรัสเซีย-ยูเครนว่าคือ ‘ความเพลี่ยงพล้ำแต่ไม่พ่ายแพ้’ ของรัสเซีย เพราะมองว่าตนเองสามารถบรรลุเป้าหมายปฏิบัติการทางการทหารได้ในระดับหนึ่ง และยังมีเดิมพันว่า โลกตะวันตกจะทนผลย้อนกลับจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจได้หรือไม่

“หลายคนมองว่า ปูตินทำสงครามยืดเยื้อไม่ไหวแน่ เพราะต้องเสียเงินทองมากมายกับสงครามในแต่ละวัน แต่ปูตินก็อาจรบไปพักไป รบใหม่พักใหม่ เหมือนเมื่อไม่นานมานี้ ปูตินประกาศว่าการปฏิบัติการรอบที่ 1 เสร็จสิ้นแล้ว ความหมายก็คือจะหยุดบุกต่อ พร้อมส่งสัญญาณหยุดการรุกคืบ แต่ไม่กี่วันต่อมาก็เริ่มทำการโจมตีใหม่”

“สุดท้ายแม้ปูตินไม่รุกต่อ แต่ก็คงคาทหารไว้ตามพื้นที่ที่ยึดมาแล้ว มีคนบอกว่าเพียงแค่รัสเซียปิดล้อมยูเครนจนไม่มีทางออกทางทะเล เท่านี้แม้จะไม่ชนะ แต่ก็ไม่แพ้เช่นกัน ส่วนยูเครนเองอาจประกาศชัยชนะที่รักษาเมืองหลวงและเมืองสำคัญตอนในไว้ได้และไม่สิ้นชาติ แต่ในอีกทางก็พ่ายแพ้ เพราะหายนะได้มาเยือนเรียบร้อยแล้วและไม่มีทางหมดไปอยู่ดี”

“ถึงไม่ยกระดับ [ความรุนแรงของสงคราม] วันนี้ถ้ารัสเซียยอมถอยยอมเลิกก็มีแต่ความเสียหาย แต่ถ้ารัสเซียรบยืดเยื้อไม่เลิก ไม่รุกคืบ ไม่ยกระดับ แต่คากองทัพไว้ ผลคือ รัสเซียก็ได้อย่างหนึ่งตามที่ต้องการคือ ยูเครนที่พังพินาศลงและไม่ตกอยู่ในอิทธิพลของตะวันตก ขณะเดียวกัน ก็เดิมพันไปด้วยว่า สหรัฐฯ และตะวันตกเองจะอึดและทนต่อผลกระทบต่อมาตรการคว่ำบาตรของตนไปได้นานเพียงใด ท่ามกลางวิกฤตเงินเฟ้อและราคาพลังงานในยุโรปและในสหรัฐฯ”

“หลายคนอาจคิดว่าตอนนี้ทุกฝ่ายกำลังหาทางลง แต่ผมไม่แน่ใจ ตรงกันข้าม ผมมองว่าทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัสเซียต้องการสู้สงครามยืดเยื้อ เดิมพันว่าใครจะอึดกว่ากัน

“ยูเครนสู้ทนมาถึงจุดนี้ ถ้ายอมถอยแล้วความสูญเสียที่ผ่านมาจะมีความหมายอะไร ส่วนสหรัฐฯ ก็มองว่านี่เป็นการต่อสู้เรื่องหลักการและเดิมพันระหว่างโลกเสรีกับอันธพาล จะยอมถอยหรือประนีประนอมไม่ได้ (และคนไม่น้อยในสหรัฐฯ อาจคิดว่าทนต่อไปอีกหน่อย รัสเซียเองจะพังพินาศก่อน) ส่วนรัสเซียเองก็ย่อมคิดเช่นเดียวกันว่า ถ้าถอยตอนนี้ แล้วความสูญเสียที่ผ่านมาจะมีความหมายอะไร หากอึดต่อไป ไม่แน่ว่าสหรัฐฯ หรือตะวันตกจะทนไหวกับวิกฤตเศรษฐกิจ พลังงาน ยังไม่นับวิกฤตผู้ลี้ภัยที่จะเข้าขั้นหายนะเป็นประวัติการณ์”

โรงเรียนสวนหลวง: โรงเรียนที่ถูกลืมในหน้าประวัติศาสตร์พื้นที่จุฬาฯ 

โดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

ในอดีตชุมชนสวนหลวง-สามย่านเคยมีโรงเรียนประถมที่คนในชุมชนส่งลูกไปเรียน แต่จากการพัฒนาพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้โรงเรียนอายุ 74 ปีถูกยุบและแทนที่ด้วยตึกที่พักอาศัย ทั้งครูและนักเรียนต้องแยกย้ายหาโรงเรียนใหม่ พร้อมกันกับการพัฒนาพื้นที่ที่ค่อยๆ บีบให้คนในชุมชนย้ายออกไป

แม้เวลาจะผ่านมา 16 ปีและชุมชนบริเวณนี้ถูกแทนที่ด้วยห้างสรรพสินค้า พื้นที่ธุรกิจและคอนโดมีเนียมตามวิสัยทัศน์การพัฒนาของจุฬาฯ แต่สำหรับศิษย์เก่าและอดีตครูโรงเรียนสวนหลวงแล้ว ความทรงจำของเขาที่มีต่อพื้นที่ยังแจ่มชัด เพราะโรงเรียนนี้เป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่สำคัญของใครหลายคน

ขณะเดียวกันท่ามกลางความพยายามผลักดันการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์ทั้งจากจุฬาฯ และองค์กรภายนอก อัตลักษณ์ย่านสวนหลวง-สามย่านที่ถูกหยิบชูขึ้นมากลับกลายเป็นความทรงจำใหม่ อย่างห้างสรรพสินค้า โดยไม่มีการพูดถึงชุมชนดั้งเดิมที่ค่อยๆ ล่มสลายเพราะแผนการพัฒนาที่ดินของจุฬาฯ

หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์: เมื่อการเต้นคือการต่อต้าน และหน่าฮ่านคือผู้คน

โดย วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา

คอลัมน์ Cinema of Resistance เดือนนี้ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา เขียนถึง ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ เรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นอีสานที่มีความต้องการของตัวเอง และต้องต่อสู้กับ ‘ระบบ’ ที่กดพวกเขาอยู่โดยอาจรู้หรือไม่รู้ตัว

“อย่างตรงไปตรงมาที่สุด ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ วิพากษ์ระบบการศึกษาไทยอย่างไม่ไว้หน้าเพราะนี่คือหนังที่พูดถึงบรรดาเด็กที่ถูกการศึกษาไทยทอดทิ้ง ตั้งแต่เด็กอย่างสิงโตที่ ‘เลือก’ จะไม่เรียนหนังสือ เพราะถึงแม้รัฐจะให้เรียนฟรีแต่การศึกษามันแพงกว่าแค่ค่าเทอม เพราะนอกจากมันจะเรียกร้องเงินรายทางจุกจิกนู่นนี่ มันยังเรียกร้องเอาเวลาของการทำมาหากินไปด้วย และสำหรับคนที่ได้เรียน การศึกษาก็ไม่ได้เป็นการศึกษามากกว่าเป็นพิธีกรรมอำนาจนิยม เครื่องแบบและทรงผมในนามของความเรียบร้อยไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าช่องทางเปิดโอกาสให้ครูได้ใช้อำนาจและปลูกฝังการคลั่งอำนาจนิยมให้กับตัวนักเรียน”

“ระบบอำนาจนิยมผูกพันมั่นเกลียวกันดีกับระบบอุปถัมภ์ เล่าผ่านความขัดแย้งของยุพินในฐานะผู้ถูกกดขี่ กับโยเยลูกสาวผู้อำนวยการที่ดูเหมือนจะได้อภิสิทธิ์และได้รับความเกรงใจจากครูทั้งโรงเรียน จนสามารถขยับเข้ามาคุมวงโปงลางโรงเรียนและเตะยุพินกับผองเพื่อนออกจากวง หากไม่นับการต่อสู้กัน ‘นอก’ พื้นที่โรงเรียนอย่างการดวลเต้นหน่าฮ่าน หรือการหาเรื่องแย่งแฟน ทางเดียวที่ยุพินและผองเพื่อนมีก็คือ ‘การเลือกตั้ง’ ประธานนักเรียน ที่ตามมาด้วยสปีชที่เข้มข้นของอ๋อย ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับสวรรค์ นักเรียนตามระเบียบที่ครูๆ พอใจ”

เวทมนตร์ของฮีโร่ผ้าขาวม้า: จาก ‘วจนา’ ถึง ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’

โดย วจนา วรรลยางกูร

วจนา วรรลยางกูร ลูกของวัฒน์ วรรลยางกูร เขียนรำลึกถึงพ่อในวาระการจากไปของนักเขียนรางวัลศรีบูรพา เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘ในสายธาร วัฒน์ วรรลยางกูร’ หนังสือที่ระลึกงานรำลึก ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’

“ชีวิตพ่อเหมือนตัวละครในวรรณกรรมที่พ่อเขียน จนถึงนาทีนี้ เมื่อมองย้อนกลับไป พ่อใช้ชีวิตได้โลดโผนโจนทะยานกว่าทุกตัวละครที่พ่อเคยเขียนมาเสียด้วยซ้ำ ความคิดแน่วแน่ ยอมหักไม่ยอมงอ รักในศักดิ์ศรีและเสรีภาพกว่าสิ่งอื่นประหนึ่งตัวละครที่ถูกเขียนขึ้นมา เตยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพ่อรักษาความคิดอย่างคงเส้นคงวาได้อย่างไรในโลกที่พยายามบีบคอเราทุกวันเพื่อให้ยอมแพ้”

“ใช่ บ่อยครั้งเรารู้สึกเหมือนถูกบีบคอ นิ้วมือหยาบกร้านของมันบดขยี้บนลูกกระเดือก ยามหายใจไม่ออกความฝันของเราหดแคบเหลือเพียงแค่การหวังหายใจได้อย่างปกติ ครั้นความทรมานผ่านพ้นไปเราจึงรู้เนื้อตัวว่าแท้จริงเราฝันถึงเรื่องยิ่งใหญ่กว่านั้น”

“เรารู้ว่านั่นคือราคาที่ต้องจ่ายสำหรับนักฝันในดินแดนนี้”

10 เรื่องสำคัญในอำนาจบริหารของผู้ว่าฯ กทม. 

โดย ฉัตร คำแสง

คอลัมน์ Policy Praxis เดือนนี้ บุณนลิน ทองพิมพ์, วิไลลักษณ์ ภูลี และฉัตร คำแสง ชวนสำรวจ 10 ประเด็นที่อยู่ในการบริหารของผู้ว่าฯ กทม. พร้อมมองดูข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ว่าฯ ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่อย่างที่คิด

“หลายเรื่องที่เป็นเรื่องใกล้ตัวคนกรุงเทพฯ อย่างเช่น เสาไฟ-สายสื่อสาร รถเมล์ รถไฟฟ้า (ส่วนใหญ่) น้ำประปา และไฟฟ้า กลับเป็นเรื่องที่ผู้ว่าฯ ไม่สามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง แต่อยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานรัฐอื่นๆ อย่างไรก็ตามเรื่องใกล้ตัวเหล่านี้มักถูกประชาชนมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ ผู้สมัครผู้ว่าฯ แต่ละคนจึงจำเป็นต้องโปรโมตตัวเอง ควบคู่ไปกับการเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ไว้ด้วย เช่นว่า “ประสานงานได้ใกล้ชิดกับรัฐบาล” “เป็นกลางเพื่อให้ทำงานได้กับทุกฝ่าย” หรือ “ท้าชน (กับโครงสร้างรัฐ) เพื่อคนกรุงเทพ””

“แม้คำพูดเหล่านี้จะมีหลากหลายเฉด แต่ก็ล้วนสะท้อนถึงอำนาจการจัดการของผู้ว่าฯ ที่ขาดความเบ็ดเสร็จในตัวเอง”

“แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายเรื่องที่ผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจบริหารได้เอง โดยเฉพาะสินทรัพย์ของ กทม. ซึ่งหลายสิ่งก็มีความสำคัญต่อชีวิตคนกรุงเทพฯ อย่างมาก แต่ผู้เขียนเชื่อว่าชาวกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้”

พุทธทาส กับ คณะราษฎร – 90 พรรษสวนโมกข์ 90 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง

โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์

พ.ศ.2565 คือวาระครบปี 90 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครองและ 90 ปีก่อตั้งสวนโมกขพลาราม นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ร่วมกับ สุกัญญา เจริญวีรกุล เขียนถึงผลงานของพุทธทาสภิกขุ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) เกี่ยวกับการอภิวัฒน์ 2475 และเรื่องราวความสัมพันธ์กับผู้นำคณะราษฎร 

“ท่านพุทธทาสให้สัมภาษณ์ถึงปฏิกิริยาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองยามนั้นไว้ว่า

“นายธรรมทาส (น้องชาย) เขาเกณฑ์ให้ผมพูด เทศน์ครั้งหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง เทศน์เป็นลักษณะว่าประชาธิปไตยน่ะเข้ารูปเข้ารอยกันกับหลักพระพุทธศาสนา (หัวเราะ) ผมก็ว่าไปตามนั้นแหละ ว่าประชาธิปไตยเหมือนกับการปกครองสงฆ์ ในพุทธศาสนาพระสงฆ์เป็นใหญ่ ประชุมสงฆ์ ลงมติแล้ว ก็ถือเป็นเด็ดขาด แล้วก็ทุกคนมีเสรีภาพ มีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน

“สรุปความว่าพูดให้เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้นยิ่งตรงกับหลักพุทธศาสนา ชาวบ้านพวกนั้นเขาจะฟังถูกที่ไหน ชาวบ้านแบบนี้ฟังถูกไม่กี่คน แม้แต่พุทธศาสนา เขายังไม่ค่อยรู้ แล้วประชาธิปไตยก็ยิ่งแปลก เป็นของแปลก”

ข้อแย้งต่อคำพิพากษาของศาลในคดีสติกเกอร์ “กูkult”

โดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

“เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของนรินทร์ (สงวนนามสกุล) จำเลยในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ถูกกล่าวหาว่านำสติกเกอร์ “กูkult” ไปติดบนพระบรมสาทิสลักษณ์บริเวณดวงพระเนตรของรัชกาลที่ 10 ที่หน้าศาลฎีการะหว่างที่มีการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร”

“ไกษร ไชยวงษ์ ผู้พิพากษาศาลอาญาในคดีนี้ พิพากษาลงโทษจำคุกนรินทร์เป็นเวลา 3 ปี แต่มีเหตุบรรเทาโทษ จึงให้ลดโทษจำคุก 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา”

“ศาลตีความการติดสติกเกอร์ดังกล่าวว่า “เป็นการแสดงว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์” ผู้เขียนในฐานะพยานนักวิชาการ (ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับศิลปะ) ที่ถูกตัดออกจากการสืบพยานจำเลย จึงมีข้อแย้งต่อการตีความของศาล..”

เพราะการตีความของศาลในคดีติดสติกเกอร์ “กูkult” อาจกลายเป็นบรรทัดฐานต่อคดี ม.112 ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำต่อภาพได้ในอนาคต อ่านข้อโต้แย้งต่อคำพิพากษาของ ธนาวิ โชติประดิษฐ ได้ผ่านบทความนี้

โจทย์ของการศึกษานิติศาสตร์ที่ผู้พิพากษาก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง

โดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เขียนถึงโจทย์ท้าทายของวงการนิติศาสตร์เรื่องการศึกษาตัวผู้พิพากษาในฐานะบุคคล เพื่อออกแบบระบบอำนวยความยุติธรรมที่ดีขึ้น

“การศึกษาคนผู้ใช้กฎหมายนั้นเป็นภารกิจอันตรายมากทีเดียว ดีไม่ดี การศึกษาผู้ใช้กฎหมายจะเท่ากับยอมรับว่า กฎหมายนั้นไม่ใช่ถ้อยคำแห่งเหตุผล แต่กฎหมายคืออำเภอใจของคนที่มีอำนาจตุลาการในมือต่างหาก ถ้าข้อสรุปมันกลายเป็นแบบนั้นแล้ว คณะนิติศาสตร์จะอยู่ต่อไปได้อย่างไร”

“ด้วยเหตุนี้ การศึกษาศาลในฐานะบุคคลจริงๆ ในฐานะผู้เล่นในการเมือง จึงกลายเป็นพื้นที่ตรงกลาง เป็นเขตแดนที่ไม่ค่อยมีคนเข้าไปปักปันศึกษา ฝ่ายนิติศาสตร์ก็พอใจจะจำกัดขอบเขตการศึกษาตนเองอยู่เฉพาะนิติศาสตร์โดยแคบที่หมายถึงการตีความถ้อยคำตัวบทกฎหมาย”

“แต่การขยับขยายการศึกษานิติศาสตร์ออกไปถึงการศึกษาผู้พิพากษานั้นจำเป็นต้องทำ ปัจจุบัน การศึกษาศาลในฐานะผู้เล่นทางการเมือง ในฐานะบุคคล ไม่ใช่สถาบัน เป็นหัวข้อหนึ่งในวิชานิติศาสตร์สากล ไม่ว่าจะศึกษาเครือข่ายตุลาการ หรือรูปแบบการตัดสินคดีผ่านกรอบต่างๆ เช่น ความเชื่อทางการเมือง เชื้อชาติ สีผิว”

“ศาลนั้นก็เป็นคนธรรมดาที่มีชีวิตจิตใจนั่นเอง”

‘สหภาพยูเรเชีย’: จักรวรรดิจินตกรรมของปูติน

โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เขียนถึงมโนทัศน์ของปูตินเรื่องจักรวรรดิจินตกรรมในนามของ ‘สหภาพยูเรเชีย’ ผ่านประวัติศาสตร์สังคมการเมืองของรัสเซีย

“ระบอบปูตินสร้างขึ้นมาบนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เขาลงมือแก้ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพ ด้วยการทำให้ระบบคณาธิปไตยของรัฐ กลายมาเป็นระบบคณาธิปไตยของเขาเอง ปัจจัยภายนอกที่ช่วยการปฏิรูปเศรษฐกิจประสบความสำเร็จมาจากการพุ่งขึ้นของระบบโลกาภิวัตน์ การผลิตเพื่ออุตสาหกรรมขยายอย่างรวดเร็วทั่วโลก รัสเซียกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน ก๊าซ ธัญพืช และแร่ธาตุให้แก่โรงงานทั่วโลก โดยเฉพาะจีนที่ก้าวขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมโลก ดอลลาร์กลายเป็นหน่วยเงินที่ใช้ทั่วไปในรัสเซีย ประเทศมีเงินทุนสำรองมากมหาศาลทั้งในดอลลาร์และทองคำในธนาคารกลางของหลายประเทศ การลงทุนทั่วโลกพากันแห่มายังตลาดทุนรัสเซีย”

“ปูตินปฏิรูประบบเศรษฐกิจใหม่ ทำให้เขารวมอำนาจในมือได้เต็มที่ กำจัดพวกคณาธิปไตยออกไป สร้างคณาธิปไตยใหม่ที่ภักดีต่อเขาขึ้นมา ระบบประชาธิปไตยเสรีที่ทำท่าจะเริ่มต้นเริ่มถูกจำกัด และกำจัดออกไปในที่สุด เปิดทางให้แก่การขึ้นมาของระบบอำนาจนิยม (Authoritarianism) ที่จะเติบใหญ่ไปสู่การเป็นระบอบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism)”

“ระบบโลกาภิวัตน์จึงเป็นที่มาอันหนึ่งของการทำให้ปูตินเชื่อในอำนาจปกครองของเขา ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเขาต่อมาด้วย”

เข้าใจความเป็นกลางแบบอินเดีย ท่ามกลางวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

เข้าใจความเป็นกลางแบบอินเดีย ท่ามกลางวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

โดย ภาสกร ธรรมโชติ

ภาสกร ธรรมโชติ ชวนทำความเข้าใจท่าทีของอินเดีย ที่เลือกวางตัวเป็นกลางท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

“ดูเหมือนว่าขณะนี้มีตัวละครใหม่ที่กำลังมีบทบาทสำคัญในการเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศท่ามกลางครั้งนี้ นั่นคืออินเดีย หลังจากที่อินเดียเป็นหนึ่งในจำนวน 35 ชาติ (อิหร่าน อิรัก ปากีสถาน และประเทศอื่นๆ) ที่งดออกเสียงในการลงมติในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติสมัยวิสามัญฉุกเฉิน ในการออกเสียงสนับสนุนประณามรัสเซียที่ใช้กำลังทหารบุกรุกยูเครน และขอให้ถอนกำลังในทันที สร้างความประหลาดใจให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะชาติตะวันตก เพราะเป็นประเทศที่ชาติตะวันตกเห็นว่าจะลงมติสนับสนุนแต่กลับงดออกเสียง จนทำให้เกิดคำถามว่า “ประเทศที่เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดของโลกมีจุดยืนอยู่ตรงไหน” ที่สำคัญไปกว่านั้น ในขณะนี้ยังไม่มีใครตอบได้ว่าอินเดียจะเลือกยืนอยู่ข้างไหน”

“ขณะที่หลายชาติออกมาประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย อินเดียกลับยังคงเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัสเซียต่อไป โดยอินเดียซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก ยังคงสั่งซื้อน้ำมันจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง แถมยังสั่งในปริมาณที่เพิ่มขึ้น”

“ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน อินเดียกำลังเผชิญความยากลำบากในการเลือกดำเนินนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ ระหว่างการดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมการรักษาระเบียบการเมืองโลกและสนับสนุนหลักประชาธิปไตยเป็นหลัก กับการดำเนินนโยบายที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติตนเป็นหลัก”

วิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกา ปัญหาเรื้อรังที่มากกว่าเรื่องกับดักหนี้จีน

โดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เขียนถึงเบื้องหลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งล่าสุดในศรีลังกา ที่สะสมจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่อ่อนแอ นโยบายการเงินการคลังที่ผิดพลาดจนเกิดหนี้มหาศาลมาเป็นเวลายาวนาน

“นับตั้งแต่หลังเมื่อปี 2017 ศรีลังกาได้ลงนามตกลงส่งมอบท่าเรือ Hambantota ให้รัฐวิสาหกิจของจีนเช่าเป็นเวลายาวนานถึง 99 ปี ด้วยมูลค่าสูงถึง 1.12 พันล้านเหรียญ จนกลายเป็นที่มาที่ไปของแนวคิด ‘กับดักหนี้จีน’ ที่พูดกันติดปาก และสร้างความวิตกกังวลให้หลายประเทศทั่วโลกที่พึ่งพาและกู้ยืมเงินจากประเทศจีนเพื่อใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ … แต่วิกฤตการณ์ครั้งล่าสุดต่างออกไปจากเมื่อครั้งปี 2017 เพราะศรีลังกากำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยพานพบมาก่อน …”

“มีคำถามตามมามากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับศรีลังกา ประเทศดาวรุ่งของเอเชียใต้หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองที่ได้ชื่อว่ามีแนวทางการพัฒนารัฐสวัสดิการดีที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาค และที่สำคัญคือมีแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดที่สุด”

“ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 ศรีลังกาเริ่มเผชิญสถานการณ์สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น เงินทุนระหว่างประเทศไม่เพียงพอต่อยอดหนี้ที่จะครบกำหนดชำระ เงินเฟ้อเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และข้าวของราคาแพงและมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน รัฐบาลอยู่ในภาวะตีบตันทางนโยบายการเงินและการคลัง จนต้องตัดสินใจลดการนำเข้าสินค้าจากภายนอก และจำกัดการซื้อของใช้จำเป็นในประเทศ”

“…แต่สุดท้ายระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่เร่งรีบบนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เปราะบางของศรีลังกาได้ระเบิดขึ้น เมื่อค่าเงินลดต่ำสุดในรอบหลายปี ทำให้ศรีลังกามียอดหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน เช่นเดียวกับราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย”

“โดยสรุปแล้วอาจอธิบายได้ว่าปัญหาเศรษฐกิจในรอบนี้ของศรีลังกานั้นไปไกลเกินกว่าคำว่ากับดักหนี้จีนไปมากแล้ว ถึงขนาดที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนของศรีลังกาเองระบุว่า แม้ไม่มียอดหนี้ของจีน ศรีลังกาก็จะยังเดินมาสู่จุดวิกฤตนี้จากปัญหาความผิดพลาดทางด้านนโยบายการเงินและการคลังของประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนี้สินที่ศรีลังกากู้ยืมจากจีนนั้นมีปัญหาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะความยั่งยืนในการสร้างผลตอบแทนของโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจเลยด้วยซ้ำ นอกเสียจากผลประโยชน์ทางการเมืองที่ตระกูลการเมืองอย่างราชปักษาได้รับจากการลงทุนเท่านั้น”

“ฉะนั้น ปัญหาเศรษฐกิจของศรีลังกาในรอบนี้อาจสรุปได้ว่ามีสาเหตุสำคัญใหญ่ๆ มาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจเดิมที่มีความเปราะบางและอ่อนไหวอยู่แล้ว เมื่อมีตัวเร่งอย่างการระบาดของโควิด-19 และปัญหาสงครามในยูเครน [ที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวและราคาพลังงาน] เข้ามา โครงสร้างนี้จึงพังทลายลงมาให้เราได้เห็นอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น”

ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2022: ‘มาครง’ ปะทะ ‘เลอเปน’ อีกครั้ง
ในวันที่ปราการสกัดฝ่ายขวาสุดโต่งเปราะบางยิ่งกว่าเคย?

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

‘มารีน เลอเปน’ กลับมาท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสจาก ‘แอมานูเอล มาครง’ อีกครั้งในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสุดท้ายที่กำลังใกล้เข้ามาถึง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เลอเปนสามารถฝ่าสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกเข้าไปชิงชัยต่อในรอบที่สองได้สำเร็จ และไม่ใช่ครั้งแรกเช่นกันที่ชื่อของเลอเปนกลับมาสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้แก่ฝ่ายเสรีนิยมทั่วฝรั่งเศสและทั่วโลก

แต่ศึกมาครงปะทะเลอเปนครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน แม้โพลหลายสำนักคาดการณ์ตรงกันว่ามาครงจะสามารถเอาชนะเลอเปนได้อีกครั้ง ทำลายอาถรรพ์ ‘ประธานาธิบดีลงเลือกตั้งซ้ำถูกเตะออก’ ได้เป็นครั้งแรก และรักษาเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อไปได้อีกสมัย แต่ชัยชนะที่มาครงอาจได้รับไม่ใช่ชัยชนะแบบขาดลอยเช่นก่อน คาดกันว่ามาครงอาจชนะอย่างฉิวเฉียดด้วยคะแนนราว 54-57% ในขณะที่เลอเปนไล่ตามมาติดๆ ที่คะแนนราว 46%-43% – เลอเปนไม่เคยก้าวเข้าใกล้ตำแหน่งประธานาธิบดีขนาดนี้มาก่อน!

ความหวังของมาครงอยู่ที่ปราการ ‘แนวหน้าสาธารณรัฐ’ (Republic Front) – ปราการสกัด-ปฏิเสธการเมืองสุดโต่ง ‘ต้องห้าม’ ด่านสำคัญจากเสียงโหวตยุทธศาสตร์ (vote utile) ของประชาชนชาวฝรั่งเศสอีกครั้ง

แต่นั่นก็ไม่ใช่งานง่ายนัก … คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งรอบแรกรวมกว่า 32% เทไปยังบรรดาผู้สมัครฝ่ายขวาสุดโต่ง แต่ที่อาจชี้ชะตาว่ามาครงหรือเลอเปนจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปคือคะแนนเสียงอีกกว่า 22% ที่ยกให้ผู้นำพรรคประชานิยมฝ่ายซ้ายอย่างฌอง-ลุค เมลองชอง – ฝ่ายซ้ายไม่เลือกเลอเปนแน่นอน แต่การต้องเลือก ‘the lesser evil’ อย่างมาครงก็ถือว่าน่ากระอักกระอ่วนใจ […] แล้วฝ่ายซ้ายจะยอมเทคะแนนให้มาครงหรือไม่? หรือว่าจะงดออกเสียง?

โมเมนตัมทางการเมืองยังส่งให้ลิเบอรัลอย่างมาครง แต่ปราการ ‘แนวหน้าสาธารณรัฐ’ สกัดฝ่ายขวาจะตั้งมั่นเหมือนการเลือกตั้งครั้งก่อนมากแค่ไหน? ทำไมปราการสกัดฝ่ายขวาสุดโต่งจึงเปราะบางยิ่งกว่าที่เคย?

‘กึ่งศตวรรษ วัฒน์ วรรลยางกูร ในสายธารวรรณกรรมไทย’ ชายผู้เขียนหนังสือทั้งชีวิต – ด้วยชีวิต

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

บทสรุปงานเสวนา ‘กึ่งศตวรรษ วัฒน์ วรรลยางกูร ในสายธารวรรณกรรมไทย’ ในวาระการจากไปของวัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ร่วมเสวนาโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี, วาด รวี และ ไอดา อรุณวงศ์

“ผมคิดว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาทำให้เขามีความฝัน ความหวังในสิ่งที่เขาอยากฝันให้ไกลและไปให้ถึง แต่ก็ไปไม่ถึงเนื่องจากเกิด 6 ตุลา 2519 เสียก่อน และเหตุการณ์นี้ก็เป็นอีกฉากหนึ่งที่ทำให้เขาต้องเข้าป่า” – สุชาติ สวัสดิ์ศรี

“สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับวัฒน์ตอนออกจากป่าปี 2523 คือการที่เขาต้องปรับตัว เขาออกจากป่ามาแบบคนพ่ายแพ้ และถึงเวลานั้นในเมืองก็มีกระแสวรรณกรรมสร้างสรรค์ขึ้นมาแล้ว มีการก่อตั้งรางวัลซีไรต์ ฉะนั้น วัฒน์จึงต้องปรับตัวเพื่ออยู่ต่อไปในฐานะนักเขียน เพื่อเอาตัวรอดในฐานะนักเขียนอาชีพ เขาจึงต้องเปลี่ยนอุดมการณ์” – วาด รวี

“สำหรับข้าพเจ้า ‘เนรเทศ’ ไม่ใช่ลี้ภัยชั่วคราวเพื่อรอวันกลับมา เนร คือ นิร คือไร้ ไม่ใช่กลับไม่ได้ แต่ไม่ขอหันหลังกลับมาอีกแล้ว เขาได้ไปถึงแล้ว เขาได้ไปเห็นแล้วซึ่งแผ่นดินสีทองจำลองในจินตนาการ ว่ามันมีอยู่จริงได้ ดินแดนรัฐสวัสดิการของผู้คนที่เท่าเทียมกัน ดูแลกันและกันอย่างเคารพในศักดิ์ศรีไม่เลือกชนชั้น กระทั่งต่อคนไร้บ้านสัญชาติเดียวกัน และคนไร้บ้านที่ ต้องเนรเทศ จากแดนไกลเพราะกฎหมายเถื่อนที่เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างมาตรา 112” – บทอภิปรายโดย ไอดา อรุณวงศ์

โควิด-19 กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น? 

โดย นำชัย ชีววิวรรธน์

“มีคู่มือ WHO ที่ใช้ระบุเฟสต่างๆ ของโรคที่อาจจะกลายเป็นการระบาดใหญ่ (pandemic) […] แต่กลับไม่มีคู่มือที่ระบุไว้ว่า การจะเปลี่ยนจากการระบาดใหญ่ ลดรูปเหลือแค่เป็นโรคประจำถิ่นหรือ endemic นั้นจะต้องมีขั้นตอนที่ใช้ในการจำแนกอย่างไร?”

นำชัย ชีววิวรรธน์ ชวนสำรวจความเป็นไปได้ที่โควิด-19 จะกลายเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ หลังจากมีกระแสจากฝั่งยุโรปและรัฐบาลไทยที่จะประกาศลดระดับการระบาดลง แล้วการรักษาจะเป็นอย่างไรต่อไป? สิทธิของผู้ป่วยจะลดน้อยลงหรือไม่?

“มีรายงานที่ออกมาในวันที่ 25 มกราคมว่า คุณฮันส์ คลูก (Hans Kluge) ที่เป็นผู้อำนวยการ WHO ภูมิภาคยุโรป ให้สัมภาษณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่ยุโรปกำลังมุ่งหน้าไปสู่การสิ้นสุดของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 หลังจากการระบาดอย่างหนักของสายพันธุ์โอมิครอน […] ทั้งนี้มีข้อแม้สำคัญข้อหนึ่งคือ ต้องไม่มี ‘สายพันธุ์ใหม่’ ที่โผล่ขึ้นมาระบาดแทนโอมิครอน”

“แต่ตัวผู้อำนวยการ WHO คือ เทโดรส อัดดานอม เกรบรีเอซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) กลับเห็นไปอีกทาง เขากล่าวในการแถลงข่าววันที่ 24 มกราคม และรายงานในแหล่งข่าวเดียวกันว่า “ยังเป็นเรื่องอันตรายที่จะตั้งสมมติฐานว่า โอมิครอนจะเป็นสายพันธุ์สุดท้าย หรือบอกว่ากำลังจะสิ้นสุดการระบาดแล้ว […] ในทางตรงกันข้าม สภาวะต่างๆ ทั่วโลกดูจะเอื้อให้มีสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเพิ่มเติมอีก”

“หากดูโรคประจำถิ่นสำคัญตัวท็อปๆ อย่างไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย วัณโรค หรืออหิวาตกโรค จะเห็นว่าลักษณะที่ตรงกันคือ ต้องเป็นโรคที่พบได้เสมอๆ ในภูมิภาคหรือประเทศนั้น แต่มักไม่ได้พบทั่วทั้งโลก และอีกลักษณะสำคัญก็คือ มักจะมี ‘รูปแบบการแพร่กระจายที่จำเพาะ’ ซึ่งพอจะทำนายบางอย่างเกี่ยวกับโรคนั้นๆ ได้ เช่น มาลาเรียกับอหิวาตกโรคจะมีความชุกของโรคเพิ่มขึ้นในฤดูฝน ฯลฯ”

“เมื่อพิจารณาว่าการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนขณะนี้ ‘ไม่อาจทำนายได้อย่างแม่นยำ’ การจะจัดให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นจึงเป็นเรื่องที่ยังดูขัดๆ กันอยู่”

“ถ้าเราเรียนรู้จากวิกฤต การสูญเสียครั้งนี้จะไม่สูญเปล่า” ถอดบทเรียน 2 ปี โควิด-19 และทางไปต่อของนโยบายสาธารณะภายใต้วิกฤตใหญ่ – บวรศม ลีระพันธ์

โดย กาญจนา ปลอดกรรม

101 สนทนากับ รศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ชวนถอดบทเรียนว่า 2 ปีผ่านไป รัฐไทยเรียนรู้อะไรบ้างจากการรับมือโควิด-19

“เรายังมีความเสี่ยงอยู่ แต่น้อยกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าแม้โอมิครอนจะมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่รุนแรง ความเสี่ยงยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเสี่ยง”

“หากสมมติสมการว่า มีคนติดเชื้อ 100 คน มีผู้ป่วยอาการรุนแรง 1 คน คำถามที่ต้องคิดต่อคือ จำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงคือเท่าไหร่กันแน่ จะได้คาดการณ์ได้ถูกต้องว่าจะมีผู้ป่วยอาการรุนแรงกี่คนในแต่ละช่วงเวลา เพราะเมื่อไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ในการควบคุมการระบาด ผู้คนเริ่มใช้ชีวิตตามปกติ จำนวนผู้ติดเชื้ออาจจะมากกว่าที่ตัวเลขในรายงานจริง”

“งานวิจัยในต่างประเทศที่ทำการศึกษาในหลายประเทศทั่วโลกก็คาดการณ์ว่า การรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นเรื่องปกติ อาจจะเพราะสอบสวนโรคไม่ได้ หรือตรวจหาเชื้อได้ไม่เพียงพอ”

“ผมประเมินว่า ตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่าประมาณ 10 เท่าจากตัวเลขที่รายงานทุกวัน หรือโมเดลของกรมควบคุมโรคก็มีสมมติฐานใกล้เคียงกันว่า คนที่ติดเชื้อไม่มีอาการอาจจะตกหล่นจากการรายงานมากถึง 6 เท่าเป็นอย่างต่ำ เพราะฉะนั้น ถ้ามีผู้ติดเชื้อมากกว่าที่เราคิด ผู้ป่วยอาการรุนแรงก็อาจจะเยอะกว่าที่เราคิดเหมือนกัน”

“พูดอย่างตรงไปตรงมา นี่คือความไม่แน่นอน การมีเครื่องมือเชิงวิชาการบางอย่าง เช่น แบบจำลองสถานการณ์ จะช่วยปรับวิธีคิดว่า เรามีกี่ฉากทัศน์ แต่ละฉากทัศน์ต้องเตรียมอะไรบ้าง ผู้บริหารหรือผู้กำหนดนโยบายควรเตรียมการเผื่อในกรณีสถานการณ์เลวร้ายที่สุด เพราะหากไม่คิดฉากทัศน์เตรียมเผื่อไว้ก็จะเตรียมรับมือไม่ทัน การดูเพียงแค่ตัวเลขรายวันนั้นไม่เพียงพอ ต้องดูแนวโน้มการคาดการณ์ล่วงหน้าด้วยเหมือนกัน”

กองทัพพระราชา-กองทัพประชาชน: ว่าด้วยอุดมการณ์ทหารไทยและพม่า

โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี สำรวจลักษณะทางอุดมการณ์ของกองทัพพม่าและไทย ซึ่งมีบทบาทมากในการควบคุมและแทรกแซงการเมืองในปัจจุบัน

กองทัพสมควรจะปกป้องประชาชน แต่กองทัพเข่นฆ่าประชาชนเพื่อปกป้องอะไร?

“อุดมการณ์ไตรภักดิ์ของตัดมาดอว์คือเน้นความภักดีต่อสหภาพ เอกภาพและอธิปไตย ทำให้กองทัพพม่าไม่คิดอะไรอย่างอื่นอีก หลังการรัฐประหาร ผู้นำตัดมาดอว์ตื่นตระหนกต่อกระแสการต่อต้านของประชาชน กลุ่มชาติพันธุ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวของนานาชาติ ที่ทำให้ดูเสมือนว่าภัยคุกคามต่ออุดมการณ์ดังกล่าวได้มาบรรจบกันพอดี”

“ประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐอย่างที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติได้เน้นย้ำว่าเป็นอุดมการณ์ของฝ่ายตนนั้นเป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่อพื้นฐานของตัดมาดอว์ ที่มองเห็นว่ากองทัพเป็นผู้พิทักษ์และผู้ปกครองแต่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะยึดกุมทุกอย่างทุกอย่างให้อยู่ร่วมกันได้ภายใต้การใช้อำนาจแบบทหาร ดังนั้นตัดมาดอว์จึงมองเห็นว่านักการเมืองฝ่ายค้าน ประชาชน กองกำลังพิทักษ์ประชาชน และกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดที่จะต้องกำจัดไปให้สิ้นซาก”

“ในทำนองเดียวกันกับกองทัพไทย ที่กำหนดภารกิจภายใต้การกำกับของอุดมการณ์ราชาชาตินิยม จึงได้กำหนดภารกิจว่า การปกป้องและเชิดชูสถาบันกษัตริย์เป็นภารกิจหลัก”

“ความจริงกองทัพไทยกำหนดภารกิจและหน้าที่เอาไว้ 4 ประการคือ ปกป้องอธิปไตยของชาติ ปกป้องสถาบันกษัตริย์ รักษาความมั่นคงภายในและช่วยงานรัฐบาลในกรณีที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ แต่ในความเป็นจริงในเมื่อไม่ได้มีภัยคุกคามจากภายนอกชัดเจนนัก กองทัพไทยจึงทำหน้าที่เดียวคือปกป้องสถาบันกษัตริย์”

ฉากชีวิตแห่งอุดมการณ์ของ วัฒน์ วรรลยางกูร

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

อ่านฉากแห่งชีวิตของ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนคนสำคัญของวงการวรรณกรรมไทยและนักสู้ผู้หนักแน่นในอุดมการณ์ โดย กษิดิศ อนันทนาธร

“การลี้ภัยการเมืองจนถึงวาระสุดท้ายในแผ่นดินอื่นของ วัฒน์ วรรลยางกูร สร้างคำถามแก่สังคมไทย ตามคำของ ศุ บุญเลี้ยง ว่า ‘นี่มัน พ.ศ. อะไร ทำไมคนแบบพี่ต้องพลัดบ้านพลัดถิ่น เพียงเพราะความคิดเนี่ยนะ'”

“จตุพล บุญพรัด บรรณาธิการแพรวสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์งานหลายเล่มของวัฒน์ ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า ‘วัฒน์ตายเหมือนไม่ตาย หากแต่เกิดใหม่อีกหน วัฒน์ได้หย่อนรากลึกลงไปในจิตใจของคนรุ่นใหม่ๆ ที่จะสืบสานเจตนาประชาธิปไตย ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพ ไม่เพียงว่าคนเกิดมาเสรี เท่าเทียม แต่สังคมชนชั้นใดที่ยังเลวร้ายอธรรมย่ำเหยียบ จำต้องปฏิวัติเปลี่ยนแปลง นี้คือมรดกพินัยกรรมที่วัฒน์ วรรลยางกูร ได้ฝากเคียงคู่ไว้กับงานวรรณกรรมไทย ทั้งนิยาย เรื่องสั้น บทกวี และบทเพลง ที่จะอยู่ในความทรงจำของนักอ่านตลอดไป'”

101PUB – 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะ

สังคมแบบไหนที่คนไทยอยากมีลูก?

โดย เจณิตตา จันทวงษา

แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามสนับสนุนให้คนมีลูกมากขึ้นอยู่ตลอด ผ่านนโยบายกระตุ้นให้คนมีลูกเพื่อชาติ แต่ปรากฏชัดแล้วว่าการพูดเพียงอย่างเดียวนี้ไม่ได้ผล การดำเนินนโยบายส่งเสริมให้คนมีลูกที่เป็นไปอย่างถูกที่ถูกทาง อาจต้องย้อนกลับไปตั้งต้นกันตั้งแต่คำถามพื้นฐานว่า ‘อะไรทำให้คนไทยในปัจจุบันมีลูกน้อยลง ช้าลง จนถึงไม่อยากมีลูกเลย’ เพราะการมีลูกในยุคสมัยนี้มีราคาแพง? เพราะผู้หญิงเลือกที่จะเป็นโสดมากขึ้น? หรือเพราะทัศนคติเรื่องการมีครอบครัวที่เปลี่ยนไป? หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ‘สังคมแบบไหนที่จะทำให้คนเหล่านี้อยากมีลูกมากขึ้น’

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB ชวนผู้อ่านสำรวจเหตุผลจากงานวิจัยว่าเพราะอะไรคนสมัยนี้จึงไม่อยากหรือไม่พร้อมมีลูก รวมถึงนำเสนอทางออกและความเป็นไปได้ทางนโยบายเพื่อออกแบบสังคมที่มีระบบนิเวศการเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ

5 เรื่องเล่า vs 5 เรื่องจริง ดีลควบรวมทรู+ดีแทค และบทบาทของ กสทช.

โดย ฉัตร คำแสง

การควบรวมระหว่างทรูและดีแทค ถือเป็น ‘ดีลใหญ่’ ที่สุดดีลหนึ่งของไทย การควบรวมธุรกิจครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือเกือบ 120 ล้านเลขหมาย และกระเทือนถึงอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในภาพรวม

แม้จะเป็น ‘เรื่องใหญ่’ ขนาดนี้ แต่ผู้เกี่ยวข้องต่อการกำกับดูแลมักจะออกมาให้ ‘เรื่องเล่า’ ในทำนองว่า การรวมธุรกิจครั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดผลเสีย และอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ตั้งแต่การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ตลอดจนการบอกปัดอำนาจหน้าที่ของตนเองว่าไม่มีอำนาจกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจนี้

101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ขอตรวจสอบ ‘เรื่องเล่า’ เหล่านั้น และเสนอ ‘เรื่องจริง’ ของการวิเคราะห์การรวมธุรกิจครั้งนี้ผ่านข้อมูลและกฎหมายที่จับต้องได้

‘มอเตอร์ไซค์’ เส้นเลือดเลี้ยงชีวิตกรุงเทพฯ ที่ถูกมองข้าม: 3 ข้อเสนอนโยบายเพื่อผู้ขับขี่

โดย วรดร เลิศรัตน์

ถ้าเปรียบถนนในกรุงเทพฯ เป็นยุทธภพ จอมยุทธ์ที่เก่งกาจและปราดเปรียวที่สุดคงเป็นอื่นใดไม่ได้นอกจาก ‘มอเตอร์ไซค์’

ไม่ว่าจะชอบนั่งมอเตอร์ไซค์หรือไม่ แต่เรื่องที่ปฏิเสธยากคือ มอเตอร์ไซค์เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตกรุงเทพฯ รถเครื่องสองล้อขนาดกะทัดรัดที่มีอยู่กว่า 4 ล้านคันในมหานครนี้ได้นำพาผู้คน สินค้า และความคิด เดินทาง-หมุนเวียน-แลกเปลี่ยนไปทั่วทุกอณูพื้นที่อย่างที่ไม่มีพาหนะใดทำได้เสมอเหมือนมายาวนานกว่า 4 ทศวรรษ ลองจินตนาการว่าหากมอเตอร์ไซค์ทั้งหมดหายไปในพริบตา ชีวิตประจำวัน ธุรกิจ และกิจการงานต่างๆ ของคนกรุงทุกชนชั้นอาจหยุดชะงัก ราวกับกรุงเทพฯ เป็นอัมพาตไปกะทันหัน

แม้มอเตอร์ไซค์จะสำคัญต่อชีวิตเมืองเพียงใด แต่ที่ผ่านมา ในฐานะจอมยุทธ์ที่ ‘รัน’ ยุทธภพ มอเตอร์ไซค์มักไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญเท่าไรนัก สิทธิและคุณภาพชีวิตของผู้ขับขี่ในฐานะ ‘คนที่เท่ากัน’ กับผู้ใช้ยานพาหนะอื่น กลับมักถูกผู้กำหนดนโยบายสาธารณะมองข้าม นโยบายส่วนใหญ่ที่ออกมามุ่งควบคุมมอเตอร์ไซค์ในฐานะตัวร้าย-ตัวอันตรายแห่งท้องถนน ปัญหาของผู้ขับขี่จำนวนมากจึงไม่ถูกแก้ไข ทั้งเรื่องอุบัติเหตุที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก การขาดทางวิ่งที่สะดวกและปลอดภัย ความลำบากยามฝนตก หรือการขาดที่จอดที่เหมาะสมตามสถานที่ต่างๆ

คำถามก็คือ มอเตอร์ไซค์เป็นตัวร้ายจริงๆ หรือต้องร้ายเพราะรัฐบังคับให้ร้าย?

101 PUB (101 Public Policy Think Tank) ชวนผู้อ่านทำความเข้าใจ ‘ความสำคัญ’ และ ‘ความจำเป็น’ ของมอเตอร์ไซค์ต่อกรุงเทพฯ พร้อมทั้งสำรวจปัญหาของผู้ขับขี่ และเสนอแนวนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมให้ผู้ขับขี่มีสิทธิบนท้องถนนเสมอหน้ากับผู้ใช้ถนนกลุ่มอื่นมากขึ้น ตลอดจนมีคุณภาพในการเดินทางและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนเมษายน 2565

YouTube video

101 Gaze Ep.7 “Animals are city people too”
สร้างเมืองน่าอยู่ (ให้) สัตว์

โดย กองบรรณาธิการ

แม้จริงอยู่ที่พฤติกรรมหลายอย่างของสัตว์อาจสร้างความเดือดร้อนและไม่เป็นที่น่าต้อนรับสำหรับมนุษย์สักเท่าไหร่ แต่ในวันที่เมืองยังคงแผ่ขยายรุกล้ำบ้านตามธรรมชาติของสิงสาราสัตว์ การกำจัดพวกมันให้หมดไปจากอาณาจักรของคนคงไม่ใช่ทางออก

ถ้าเราเชื่อว่าการดำรงอยู่ของสรรพสัตว์มีความสำคัญ และถ้าเราเชื่อว่าสัตว์เองก็ถือเป็นประชากรของเมืองเช่นเดียวกัน โจทย์คือเราจะสร้างเมืองให้กลายเป็น ‘บ้าน’ ที่อยู่ได้-อยู่ดีของทุกเผ่าพันธุ์ได้อย่างไร

101 Gaze ชวนคุณไปส่องสัตว์ในเมืองกรุง ไขข้อข้องใจว่าทำไมเราต้องมีความหลากหลายภายในเมือง และวิธีออกแบบเมืองให้น่าอยู่ (สำหรับ) สัตว์ กับ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ อดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียว, รุจิระ มหาพรหม นักวิจัยสัตว์ป่าและกรรมการสมาคม Save Wildlife Thailand (SWT) และ ดร.กนกวลี สุธีธร อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

YouTube video

‘420 ปาร์ตี้เรารักกัญ’ พาเหรดสายเขียวของคนรักกัญ(ชา)

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข และ กฤษฎา ต๊ะวัน

บีตเร็กเก้ดังสนั่นจากลำโพงตัวเขื่อง ใครสักคนหยิบกระดาษขึ้นพันเป็นลำ แล้วจุดไฟ สักพักกลิ่นเข้มข้นของพืชบางชนิดก็ลอยเข้าแตะจมูก ตอนนั้นเองถึงได้ตระหนักได้ว่า งานปาร์ตี้เริ่มขึ้นแล้ว และยังเป็นปาร์ตี้ที่ ‘ข้นเขียว’ มากที่สุดในหลายๆ ความหมายด้วย!

ทุกวันที่ 20 เมษายนของทุกปีคือวันกัญชาโลก อันเป็นที่มาของหมายเลข ‘420’ และในวาระนี้เองที่สมาพันธ์กัญชาเพื่อประชาชน ร่วมกันกับอีกหลายกลุ่มที่เรียกร้องให้มีการปลดแอกกัญชาในประเทศไทย โดยไม่เพียงย้ำถึงเสรีภาพในการครอบครองกัญชา หากยังหมายความถึงเหล่าผู้ป่วยหนักหลายต่อหลายโรคที่ต้องอาศัยสมุนไพรนี้ในการรักษา เยียวยา กระทั่งบรรเทาอาการ อันเป็นที่มาของข้อเรียกร้องสามประการ ได้แก่

1. อนุญาตสำหรับการใช้กัญชาทุกรูปแบบของผู้ป่วยให้ชัดเจน ผู้ป่วยต้องปลูกและสกัดทำยารักษาตัวเองได้

2. ยกเลิกกฎกระทรวงที่อ้างอิงตาม พ.ร.บ. 2522 ให้คนไทยสามารถปลูกเพื่อจำหน่ายและพัฒนาสายพันธุ์ได้

3. กำหนดบทบาทหน้าที่ ตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการกัญชา ดูแล ส่งเสริมกระบวนการในการเข้าถึงต่างๆ

เย็นย่ำ ริ้วขบวนพาเหรดสายเขียวเริ่มปรากฏ และไม่เพียงแต่คลุ้งไปด้วยกลิ่นกัญชา หากยังรื่นรมย์ด้วยเสียงดนตรีกับผู้คนที่เริ่มออกร่ายรำกลางแดดยามเย็นของถนนราชดำเนินกลาง หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วจึงขยับเคลื่อนย้ายไปยังถนนข้าวสาร

เห็นท่วงท่า จังหวะจะโคน ตลอดจนใบหน้าที่ประดับด้วยรอยยิ้มเกือบตลอดเวลาของพวกเขา ก็ช่วยไม่ได้ที่จะนึกถึงเพลง ‘กัญชา’ ของวงคาราบาว

“คราบรอยยิ้มยังแต้มเติมตามใบหน้า
กลิ่นกัญชาโชยมาแต่ไกล”

ถนนข้าวสารยามเย็นของวันที่ 20 เมษายนอวลไปด้วยกลิ่นกัญชา พร้อมเรื่องราวมากมายของคนที่ใช้มันเพื่อการบำบัด ความรื่นรมย์ รวมทั้งรักษาโรค ที่วาดหวังว่าอย่างน้อยหนึ่งในเรื่องราวเล็กๆ เหล่านี้จะเดินทางไปถึงรัฐบาลบ้างในสักวัน

YouTube video

รู้จักพิพิธภัณฑ์ของ ‘สามัญชน’ – เมื่อประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ชนะ

โดย เมธิชัย เตียวนะ

คำกล่าวที่ว่า “ผู้ชนะย่อมเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์” อาจใช้ไม่ได้ในยุคปัจจุบันที่ข้อมูลหลากหลายและเข้าถึงได้ง่าย ผู้คนธรรมดาสามารถมีส่วนร่วมในการเขียนประวัติศาสตร์ได้ แม้แต่หน้าเฟซบุ๊กก็เป็นบันทึกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง สิ่งเหล่านี้คือการเขียนประวัติศาสตร์คู่ขนานไปกับประวัติศาสตร์ของรัฐ ทำให้ประวัติศาสตร์ไม่อาจผูกขาดจากรัฐเหมือนยุคก่อน

“เวลารัฐเขียนประวัติศาสตร์ก็จะเขียนในมุมของผู้มีอำนาจ ถ้าคุณไปอ่านหนังสือเรียนมัธยม อาจจะมีการพูดถึงเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เป็นบรรทัดย่อๆแต่เมื่อคุณมาที่นี่ คุณจะเห็นมันในภาพใหญ่ เราทำหน้าที่เหมือนการ zoom in เราแค่มาบอกว่าข้อมูลของคุณก็เป็นข้อเท็จจริงชุดหนึ่ง ของเราก็มีข้อมูลอีกชุดหนึ่ง”

101 สัมภาษณ์ อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of Popular History ที่เริ่มจากการค่อยๆ เก็บสิ่งของจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2561 และเก็บย้อนหลังเพื่อประกอบร่างประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชน เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิวัติ 2475 เหตุการณ์เดือนตุลา พฤษภา 35 เสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส. มาจนถึงการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน

YouTube video

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.28 :
การเมืองข้าวเหนียวมะม่วง

เอฟเฟกต์กรณีปริญญ์ พานิชภักดิ์ แรมโบ้-เสกสกล ถึงมิลลิ ข้าวเหนียวมะม่วง และสนามผู้ว่าฯ กทม. อะไรคือซีนน่าจับตามองของการเมืองไทยหลังปีใหม่ไทยที่อาจส่งผลกระทบยาวถึงปีใหม่สากล

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

YouTube video

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.29
ดาร์กไซต์เขย่าการเมือง : จากล่วงละเมิดทางเพศถึงค้ามนุษย์

ประเด็นล่วงละเมิดทางเพศของกำลังเขย่าพรรคประชาธิปัตย์อย่างรุนแรง ในขณะที่การออกมาพูดเรื่องค้ามนุษย์ของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ที่พาดพิงผู้มีอำนาจหลายคนโดยตรงในสารคดีข่าวของอัลจาซีราก็เขย่าพีระมิดการเมืองไทยอย่างแหลมคม

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

YouTube video

101 One-on-One Ep.260 ไทยสร้างไทยในสนาม กทม. กับ ศิธา ทิวารี

แม้พรรคไทยสร้างไทยจะเพิ่งก่อตั้ง แต่ประสบการณ์ทางการเมืองของคนในพรรคล้วนเข้มข้น-ยาวนาน

มิใช่เรื่องแปลกที่เมื่อ ‘ไทยสร้างไทย’ ตัดสินใจลงสนาม กทม. หลายสื่อหลายสำนักต่างก็จับตาหนึ่งในตัวละครสำคัญที่ส่งผลต่อการชิงชัยในสนามเมืองหลวง

101 ชวน น.ต.ศิธา ทิวารี แคนดิเดตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคไทยสร้างไทย พูดคุยว่าด้วยความคิด ความหวัง และความฝันใหม่ทางการเมืองของตัวเขาและพรรค ทั้งในสนามกรุงเทพฯ และการเมืองภาพใหญ่

ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

YouTube video

101 One-on-One Ep.261 ‘จับตาเลือกตั้งกรุงเทพฯ-พัทยา’ ท้องถิ่นพิเศษที่ไม่พิเศษ
กับ ณัฐกร วิทิตานนท์

การเลือกตั้งกรุงเทพฯ กำลังเข้มข้นทุกขณะ ผู้สมัครทุกคนต่างงัดนโยบายมาหาเสียงกันอย่างสนุกและมีสีสัน ในขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯพัทยา แม้จะเงียบกว่าโดยธรรมชาติ แต่ก็คึกคักและน่าสนใจเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งท้องถิ่นอื่นๆ

ทำไมกรุงเทพฯ และพัทยาจึงดูพิเศษกว่าที่อื่น และอะไรที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความพิเศษที่ว่า

101 ชวน ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่วิเคราะห์การเลือกตั้งกรุงเทพฯ พัทยา และวิเคราะห์นัยสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งสองแห่งนี้ต่อโครงสร้างอำนาจภาพใหญ่ของประเทศ

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

YouTube video

101 One-on-One Ep.262 จากข้อเรียกร้องแรงงานสู่รัฐสวัสดิการ
กับ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ประเด็นเรื่องสวัสดิการแรงงานถูกพูดถึงและขับเคลื่อนมาเป็นเวลานาน และยิ่งเข้มข้นขึ้นเมื่อประเด็น ‘รัฐสวัสดิการ’ อยู่ในข้อเรียกร้องของการประท้วงรัฐบาลในช่วงปีที่ผ่านมา

ในวันที่ ‘ข้าวของแพง-ค่าแรงถูก’ เช่นนี้ ประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิตของแรงงานถูกหยิบมาพูดถึงในหน้าสื่ออีกครั้ง ช่วงสัปดาห์ใกล้วันแรงงานนี้ 101 ชวน รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการ มาพูดคุยว่าด้วยเรื่อง ‘แรงงาน’ และ ‘รัฐสวัสดิการ’

สวัสดิการแรงงานควรเป็นอย่างไร อะไรคือสิทธิที่คนทำงานควรได้รับ ปัญหาของแรงงานไทยปัจจุบันคืออะไร และเส้นทางสู่ฝัน ‘รัฐสวัสดิการ’ จะเป็นจริงได้อย่างไรในเชิงรูปธรรม ติดตามได้ในรายการ 101 One-on-One

ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save