fbpx

กองทัพพระราชา-กองทัพประชาชน: ว่าด้วยอุดมการณ์ทหารไทยและพม่า

พิจารณาโดยชื่อและการก่อกำเนิดกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี 2 ประเภทคือ กองทัพพระราชา (royal army) ซึ่งจัดตั้งโดยกษัตริย์หรือภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์ หรือขอยืมคำว่าราชามานำหน้าชื่อกองทัพเพื่อบ่งบอกถึงความเชื่อมโยงกับกษัตริย์ เช่น กองทัพแห่งราชอาณาจักรไทย กัมพูชา บรูไน มาเลเซีย และอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า กองทัพประชาชน (people’s army) คือกองกำลังที่ตั้งโดยกลุ่มประชาชนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปลดปล่อยประเทศจากจักรวรรดินิยมหรือจากระบอบการปกครองเก่า เช่น กองทัพประชาชนเวียดนาม กองทัพประชาชนลาว ตัดมาดอว์ของพม่า และ TNI ของอินโดนีเซีย เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้วในรัฐสมัยใหม่ (modern state) กองทัพเป็นกลไกรัฐอย่างหนึ่ง ทำหน้าที่ในการป้องกันประเทศจากการคุกคามจากภายนอกซึ่งก็คือกองกำลังของอีกรัฐหนึ่งเป็นสำคัญ แต่ในความเป็นจริง กองทัพไม่ได้ทำหน้าที่นั้นอย่างเดียว เฉพาะอย่างยิ่งในอุษาคเนย์ กองทัพหลายแห่งอย่างในอินโดนีเซีย ไทย พม่า ทำหน้าที่สองอย่าง (dwifungsi) หรือมากกว่า คือไม่เพียงปกป้องหากแต่ยังปกครองประเทศด้วย หน้าที่ประการหลังนี่เองที่ทำให้กองทัพต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง แทรกแซง หรือควบคุมการเมือง ซึ่งนั่นทำให้กองทัพต้องเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์

หลุยส์ อัลธูแชร์ (Louis Althusser, 1918-1990) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส จัดให้กองทัพเป็นกลไกลแห่งการปราบปรามของรัฐ กล่าวคือ มีเอาไว้เพื่อปราบปรามอริราชศัตรู และหลายกองทัพในโลกนี้ก็เห็นประชาชนเป็นศัตรูและทำการปราบปรามประชาชนของตัวเองด้วยเช่นกัน แต่กองทหารและกองตำรวจก็ยังต้องมีการใช้กลไกอุดมการณ์ เพื่อค้ำประกันความสามัคคีในหมู่คณะและยังต้องมีกระบวนการผลิตซ้ำ (reproduction) เพื่อสืบทอดอุดมการณ์และยังต้องมีวิธีการธำรงรักษาค่านิยมบางอย่างที่จะแสดงออกมาต่อภายนอกด้วย[1]

ความหมายอย่างง่ายๆ ของคำว่าอุดมการณ์อย่างที่นิยมใช้กันทั่วไปคือระบบของความคิดและภาพที่เป็นตัวแทน (representation) ซึ่งชี้นำชีวิตจิตใจของผู้คนหรือกลุ่มคนในสังคม อัลธูแชร์พูดถึงอุดมการณ์ในลักษณะที่ซับซ้อนมากขึ้นว่า บรรดาระบบของความคิดหรือภาพแห่งการเป็นตัวแทนนั้นไม่ได้ดำรงอยู่ในลักษณะที่เป็นอุดมคติ หากแต่อยู่ในสภาพที่จับต้องได้ด้วย

นักปรัชญาร่วมสมัยระดับร็อกสตาร์อย่างซลาวอย ซีเซก (Slavoj Zizek) พูดถึงอุดมการณ์คล้ายๆ อัลธูแชร์ว่า อุดมการณ์คือรูปการณ์จิตใต้สำนึกที่กำหนดรูปร่างโลกที่เราอยู่ มองจากมุมนี้ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตมนุษย์ล้วนมีอุดมการณ์กำกับอยู่ แต่พูดแบบพวกมาร์กซิสม์ อุดมการณ์ไม่ว่าแบบใด ทุนนิยม เสรีนิยมหรืออะไรที่ต่อท้ายด้วยความว่านิยมๆ ทั้งหลาย ไม่ใช่สิ่งที่อุบัติขึ้นลอยๆ แต่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อจรรโลงโครงสร้างสังคมแบบใดแบบหนึ่ง แต่มันจะไม่อยู่คงทนและเปลี่ยนแปลงได้เสมอเมื่อมีความคิดใหม่ๆ มาปะทะสังสรรค์กับมัน

บทความนี้ไม่ได้ต้องการถกเถียงเรื่องอุดมการณ์ในเชิงปรัชญา แต่ประสงค์จะสำรวจลักษณะทางอุดมการณ์ของกองทัพ 2 แห่งในอุษาคเนย์คือ พม่าและไทย ซึ่งมีบทบาทมากในการควบคุมและแทรกแซงการเมืองในปัจจุบัน พิจารณาโดยชื่อและการก่อกำเนิด ทั้งสองกองทัพมีอุดมการณ์แตกต่างกัน น่าจะมองโลกแตกต่างกันและปฏิบัติต่อสังคมแตกต่างกัน แต่ปรากฏว่ากองทัพทั้งสองยึดอำนาจรัฐ ควบคุมสังคมและหันปากกระบอกปืนยิงใส่ประชาชนเหมือนกัน คำถามในเชิงอุดมการณ์ กองทัพสมควรจะปกป้องประชาชน แต่กองทัพเข่นฆ่าประชาชนเพื่อปกป้องอะไร?

         ตัดมาดอว์ : กองทัพประชาชน

กองทัพพม่าหรือที่รู้จักกันดีในชื่อภาษาพม่าว่า ตัดมาดอว์ (Tatmadaw) นั้น ก่อตั้งที่กรุงเทพฯ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของพม่าเมื่อปี 1941-1942 โดยนักชาตินิยมหนุ่มสาวนำโดยคณะสามสิบสหาย ภายใต้ความช่วยเหลือของกองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่น แรกๆ นั้นติดอาวุธความคิดแบบชาตินิยม (nationalism) อย่างแน่นอน แต่ก็เป็นชาตินิยมในความหมายที่แคบที่สุด และความคิดในยุคเริ่มแรกก็เจือปนไปด้วยแนวคิดอื่นๆ อีกหลายอย่างจากกองทัพญี่ปุ่น รวมทั้งผู้นำทางทหารบางคนแอบศึกษาภาษาจีนและข้อเขียนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเกี่ยวกับธรรมชาติของ ‘กองทัพประชาชน’ อีกทั้งกำลังพลส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ระดมมาจากพื้นที่ทางภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ บรรดาแกนนำในกองทัพเท่านั้นที่เป็นเชื้อสายพม่าที่ได้รับการศึกษาขั้นกลางถึงขั้นสูง ดังนั้นก็จะมีความสนใจเรื่องชาติพันธุ์และวัฒนธรรมปนอยู่ด้วย[2]

หลังจากอำนาจญี่ปุ่นถดถอยลงในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพพม่ามีความจำเป็นต้องตั้งองค์กรต่อต้านฟาสซิสม์ในปี 1944 เพื่อแยกตัวจากญี่ปุ่น (รวมถึงต้องสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นด้วย) และแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้างรวมตลอดถึงกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มที่นิยมคอมมิวนิสต์ และปรากฏว่าผู้นำองค์กรนี้คือ ทะขิ่นโซ ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์

โรเบิร์ต เทเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่าเห็นว่า นายพลอองซาน ฉลาดพอที่จะระดมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายให้สามัคคีกันต่อสู้เพื่อให้ได้เอกราชจากอังกฤษ นักวิชาการเช่น เย โพน จ่อ (Ye Phone Kyaw) โต้แย้งว่าอุดมการณ์หลักของตัดมาดอว์ในขั้นแรกไม่ใช่ชาตินิยม ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ สังคมนิยมหรือพุทธนิยม (ซึ่งเคยเป็นรากฐานของพม่ามาแต่เดิม) แต่เรียกว่า ‘สู้ตายเพื่อเสรีภาพ’ (freedom at all cost) มากกว่า[3] และนี่เป็นอุดมการณ์หลักที่ชี้นำการต่อสู้จนได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948

ช่วงเวลาหลังจากได้รับเอกราชจนถึงก่อนการรัฐประหารของนายพลเน วิน (1948-1962) พม่าได้ชื่อว่าปกครองกันด้วยหลักนิติรัฐ (rule of law) รัฐธรรมนูญประกันระเบียบแบบแผนทางการเมืองชัดเจน ซึ่งกำหนดอุดมการณ์แห่งชาติของพม่าเป็นแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย (democratic socialism) มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลพลเรือน ประชาธิปไตยดูเหมือนจะเริ่มก่อรูปร่างขึ้นพร้อมๆ กับแนวคิดสหพันธรัฐ (federalism) เพื่อโอบอุ้มเอาทุกกลุ่มที่แตกต่างหลากลายเข้ามาอยู่ด้วยกันในการสร้างชาติ

แต่กองทัพไม่ได้ถอนตัวจากการเมืองแต่อย่างใด เน วินรั้งตำแหน่งทั้งในกองทัพในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดและฝ่ายบริหารในรัฐบาลในฐานะรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีมหาดไทยและกลาโหมไปพร้อมกัน และแม้ว่าบางช่วงเช่นปี 1950-1958 เขาไม่ได้มีตำแหน่งในรัฐบาลแล้ว เน วินและนายทหารอีกจำนวนมากก็ยังคงมีสายสัมพันธ์และอิทธิพลเหนือนักการเมืองและฝ่ายบริหารอยู่มาก แต่โดยทั่วไปอาจจะกล่าวได้ว่า กองทัพยังแสดงออกถึงความภักดีต่อรัฐบาลพลเรือนอยู่ ความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มการเมืองและชาติพันธุ์ทำให้นักวิชาการอย่างโรเบิร์ต เทย์เลอร์ เห็นว่าตอนนั้นกองทัพไม่กล้าควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ[4] หากแต่ไม่เพียงทำหน้าที่ส่งเสริมและค้ำจุนระบอบและอุดมการณ์แห่งชาติเท่านั้น แต่ยังกำหนดลำดับความสำคัญทางอุดมการณ์ของตัดมาดอว์เองเอาไว้อีกด้วยว่า จะต้องเน้นรักษาสันติภาพ หลักนิติรัฐ ฟูมฟักประชาธิปไตยและจัดเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม แต่ทั้งหลายทั้งปวงดูเหมือนเรื่องระเบียบกฎหมายและความสงบเรียบร้อยจะมาเป็นอันดับต้นมากกว่าประชาธิปไตยและสังคมนิยม[5]

เนื่องจากรัฐบาลพลเรือนอ่อนแอมากและสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองจนกลายเป็นสงครามระหว่างฝ่ายต่างๆ ทำให้ต้องหันไปใช้บริการกองทัพอีกครั้ง เน วินได้รับเชิญให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลรักษาการอยู่ 18 เดือนระหว่างปี 1958-1960 เพื่อรักษาระเบียบและกฎหมายแห่งรวมตลอดไปถึงจัดการเลือกตั้ง ซึ่งครั้งนั้น อู นุได้รับเลือกตั้ง แต่เน วินก็ไม่ยอมให้อยู่ในอำนาจนานไปกว่านั้น เขาจึงทำรัฐประหารและนำกองทัพเข้าควบคุมอำนาจทางการเมืองอีกในวันที่ 2 มีนาคม 1962 เพราะเสื่อมศรัทธาต่อนโยบายหลายประการของรัฐบาล เช่น การให้ความสำคัญกับศาสนาพุทธมากเกินไปถึงกับประกาศให้เป็นศาสนาประจำชาติ การจัดการปกครองให้รัฐมอญและยะไข่ใหม่ เจรจากับไทใหญ่และคะยาเรื่องอำนาจปกครองตนเอง ซึ่งดูเหมือนเป็นการเน้นย้ำลักษณะสหพันธรัฐและประชาธิปไตยที่เน วินและตัดมาดอว์เห็นว่าขัดแย้งกับอุดมการณ์หลักของกองทัพที่เน้นเรื่องความเป็นเอกภาพภายใต้สหภาพเป็นลำดับต้น

โครงการสังคมนิยมตามแบบพม่า (Burmese Way to Socialism) ของเน วินระหว่างปี 1962-1988  เป็นอุดมการณ์ที่เป็นส่วนผสมระหว่างลักษณะชาตินิยมเฉพาะที่มีรากฐานมาจากสมัยต่อสู้เพื่อเอกราชและแนวคิดแบบสังคมนิยมของฝ่ายซ้ายในยุคนั้นและอ้างว่ามีลักษณะเฉพาะตัวต่างจากอุดมการณ์ของพวกปฏิวัติฝ่ายซ้ายที่ปลดปล่อยประเทศจากอาณานิคมในรุ่นเดียวกันอย่างเช่นเวียดนาม

ถ้าพิจารณาโดยละเอียดแล้ว สิ่งที่โดดเด่นที่สุดเป็นลักษณะอำนาจนิยมแบบทหารมากกว่า เน วินมองว่าตัวเองเป็นผู้บัญชาการกองทัพที่ไร้ระเบียบ จึงจำเป็นจะต้องจัดระเบียบเสียใหม่ ดังนั้นการจัดการเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมของเน วินจึงไม่เหมือนในรัฐสังคมนิยมอื่นๆ หากแต่ดูเหมือนเป็นการโยกย้ายแต่งตั้งและจัดระเบียบในกองทัพมากกว่า เขามองว่ากองทัพเป็นหน่วยที่มีประสิทธิภาพที่สุด การจัดการเศรษฐกิจแบบกองทัพน่าจะมีประสิทธิภาพที่สุดเช่นกัน แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นตรงข้าม พม่ากลายเป็นประเทศที่น่าจะเรียกได้ว่าไม่มีระบบเศรษฐกิจ ปิดตัวเอง ค้าขายกับโลกภายนอกน้อยลงเรื่อยๆ และในตอนท้ายๆ ของระบอบเน วินดูเหมือนว่าจะไม่ได้อิงอยู่บนหลักการหรือกลไกทางเศรษฐกิจใดๆ ทั้งสิ้น เช่นการเปลี่ยนธนบัตรเงินจั๊ตให้มีมูลค่า 90[6] (แทนที่จะเป็น 100) เพราะความเชื่อที่ว่าเลข 9 เป็นเลขนำโชค จะทำให้เน วินมีอายุยืนยาวถึง 90 ปีซึ่งดูเหมือนเป็นจริงเพราะเขาเสียชีวิตตอนอายุ 92 ในปี 2002 หลังจากโครงการสังคมนิยมแบบพม่าล่มสลายไป 14 ปี

การลุกฮือของนักศึกษาในปี 1988 และรัฐประหารที่ตามมาทำให้ตัดมาดอว์เปลี่ยนอุดมการณ์ด้วย เศรษฐกิจที่ย่ำแย่และการต่อต้านของประชาชนต่อการปกครองของเน วินทำให้กองทัพมีความจำเป็นต้องละทิ้งสังคมนิยมและหันไปหาสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่กองทัพทั้งหลายทั่วโลกยึดถือคือเอกภาพ (unity) และอธิปไตย (sovereignty)

ในกรณีของตัดมาดอว์ภายใต้การนำของตันฉ่วยนั้นได้เพิ่มความจงรักภักดีต่อสหภาพ (Union) ซึ่งเป็นแนวคิดหลักในการสร้างชาติของพม่าในยามที่ตัดมาดอว์เข้าใจว่าประชาชนพม่าและตัดมาดอว์เองมีความจำเป็นต้องมีอุดมการณ์บางอย่างยึดเหนี่ยวความภักดีต่อประเทศชาติ ความภักดีต่อสหภาพและการยึดถือความเอกภาพของบรรดากลุ่มชาติพันธุ์เป็นอุดมการณ์ที่ตัดมาดอว์พยายามใช้ร้อยรัดกลุ่มชนทั้งหมดในพม่าให้อยู่ร่วมกัน

ในแง่ของการปฏิบัติการทางอุดมการณ์ในช่วงปี 1990-2008 คือเวลาก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตัดมาดอว์ใช้กำลังทหารควบคู่ไปกับโครงการสันติภาพของขิ่น ยุ้นต์ ซึ่งเน้นการเจรจาสงบศึกและให้อำนาจในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของตัวเองได้ในระดับหนึ่งแก่กลุ่มชาติพันธุ์เพื่อแลกกับการหยุดยิง ทำให้พม่าผ่อนคลายจากการสู้รบและสงครามระหว่างเผ่าพันธุ์ได้ในระดับหนึ่ง ก่อนที่แผนการสันติภาพอันนั้นจะล่มสลายในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านการก่อนการเลือกตั้งในปี 2010 เพราะตัดมาดอว์ต้องการที่จะผนวกเอากองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตัวเอง

รัฐธรรมนูญปี 2008 ซึ่งตัดมาดอว์เป็นสปอนเซอร์ให้จัดทำขึ้นอย่างมาราธอนตั้งแต่ปี 1993 พยายามที่จะบรรจุอุดมการณ์หลายอย่างเอาไว้ด้วยกัน โดยมาตรา 1 ได้วางหลักการพื้นฐานแห่งรัฐว่าประกอบไปด้วยความภักดีต่อสหภาพ ความเป็นเอกภาพแห่งชาติ อธิปไตย ประชาธิปไตยแบบพหุนิยมที่มีวินัย (disciplined multi-party democratic system) และที่สำคัญกำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่า ตัดมาดอว์จะต้องมีส่วนร่วมในการนำทางการเมือง โครงสร้างของการปกครองที่แบ่งเป็น 7 ภาค 7 รัฐ (ตามชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์เช่น รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐฉาน รัฐชิน รัฐคะฉิ่น เป็นต้น) ทำให้เกิดการตีความว่ารัฐธรรมนูญได้ยอมรับหลักการพื้นฐานของแนวคิดและอุดมการณ์ สหพันธรัฐนิยม (Federalism) ที่มีมาตั้งแต่ปี 1947 ซึ่งปรากฏทั้งในส่วนของรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ถูกยกเลิกไปและสนธิสัญญาปางโหลงที่อองซานทำไว้กับกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนหนึ่งแต่ไม่เคยถูกบังคับใช้

ความริเริ่มกระบวนการสันติภาพของรัฐบาลเต็ง เส่งในปี 2011 ที่นำไปสู่สัญญาสงบศึกแห่งชาติ (Nationwide Ceasefire agreement) ในปี 2015 และการดำเนินการที่ต่อเนื่อง (แม้ว่าจะล่าช้า) ของรัฐบาลซูจี ภายใต้ชื่อ การประชุมปางโหลงในศตวรรษที่ 21 เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าอุดมการณ์สหพันธรัฐมีอยู่จริงในพม่า แม้ว่าหลายฝ่ายรวมทั้งตัดมาดอว์เองจะตีความไม่ตรงกันเท่าใดนัก แต่ก็ยังสามารถต่อรองกันได้ตราบเท่าที่การเจรจาสันติภาพยังคงดำเนินต่อไป ทว่าตัดมาดอว์ไม่อดทนต่อการเจรจาได้นานนัก

การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 เป็นสิ่งที่บอกให้รู้ว่าผู้นำตัดมาดอว์ปฏิเสธการตีความประชาธิปไตยและสหพันธรัฐแบบอื่น เพราะแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะยังอยู่ แต่การปฏิบัติการทางอุดมการณ์ของแนวคิดทั้งสองแบบที่ดำเนินการโดยซูจีและกลุ่มชาติพันธ์จำนวนหนึ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะยอมรับได้ในสายตาของตัดมาดอว์ ซึ่งหันกลับมายึดกุมหลักการ 3 ประการคือสหภาพ เอกภาพ และอธิปไตย เป็นสรณะเหมือนเดิม[7] การปฏิบัติการทางอุดมการณ์ที่สำคัญนอกจากการโฆษณาชวนเชื่อตามกลไกเดิมของรัฐซึ่งไม่สู้มีประสิทธิภาพนัก คือเปิดปฏิบัติการทางทหารไล่บดขยี้ทั้งฝ่ายต่อต้านและกลุ่มชาติพันธ์ุอย่างขนานใหญ่

แต่มิน อ่อง หล่าย ผู้นำการรัฐประหารและผู้นำสูงสุดของตัดมาดอว์ อาจจะประเมินอานุภาพของอุดมการณ์ประชาธิปไตยและสหพันธรัฐต่ำไป เพราะประชาชนทั้งที่เป็นชนชาติพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่เพียงแต่จับอาวุธขึ้นสู้อย่างถวายหัวเท่านั้น หากยังจัดตั้งหน่วยองค์กรทางการเมือง เช่นรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติที่ติดอาวุธความคิดแบบประชาธิปไตยและสหพันธรัฐขึ้นมาแข่งกับอุดมการณ์ไตรภักดิ์ของตัดมาดอว์อีกด้วย

         กองทัพพระราชาของไทย

กองทัพไทยเป็นกองทัพพระราชาตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อมีการก่อตั้งกองทัพสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 การศึกษาเกี่ยวกับกองทัพไทยแสดงให้เห็นค่อนข้างจะตรงกันว่า กองทัพถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นกองกำลังในการปกป้องสถาบันกษัตริย์และถวายความปลอดภัยแก่กษัตริย์ ราชินี และเชื้อพระวงศ์ มากกว่าจะมีภารกิจในการป้องกันประเทศหรือปลดปล่อยประเทศให้พ้นจากการเป็นอาณานิคมเหมือนอย่างเช่นกองทัพอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน เช่นในกรณีของตัดมาดอว์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นอุดมการณ์หลักของกองทัพไทยคือราชานิยม ที่เน้นความจงรักภักดี ปกป้องและเชิดชูกษัตริย์เป็นสำคัญ 

พัฒนาการของอุดมการณ์กองทัพหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 1932 (พ.ศ. 2475) มีความเปลี่ยนแปลงอยู่บ้างโดยเฉพาะในระยะแรกๆ ซึ่งการต่อสู้ระหว่างฝ่ายคณะราษฎรและกลุ่มอนุรักษนิยมกษัตริย์ที่ต้องการจะรักษาสถานะของสถาบันกษัตริย์ดำเนินไปอย่างเข้มข้น อาจจะกล่าวได้ว่าตลอดระยะเวลา 90 ปี (1932-2022) ของกองทัพไทยภายใต้ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) นั้นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ สมัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม (1938-1944) เท่านั้นที่กองทัพถอยห่างจากการครอบงำทางอุดมการณ์ของสถาบันกษัตริย์ เพราะจอมพล ป. ต้องการให้อุดมการณ์แบบชาตินิยม-ทหารนิยม (Nationalism-Militarism) เป็นทั้งอุดมการณ์หลักของชาติและของกองทัพ รวมทั้งพยายามลดบทบาทและอำนาจของกษัตริย์ที่เคยมีอยู่เหนือกองทัพมาแต่อดีต นอกเหนือจากการยกเลิกพระราชพิธีต่างๆ สร้างสัญลักษณ์ของคณะราษฏรให้โดดเด่น เช่น อนุสาวรีย์ พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่หลักสี่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการปรากบฏบวรเดชที่ต้องการฟื้นคืนสถาบันกษัตริย์ให้เป็นเหมือนก่อนการปฏิวัติแล้ว สิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่เป็นการตัดขาดความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพคือ ยุบกรมทหารรักษาวัง (หน่วยรักษาพระองค์) ตั้งตนเองเป็นผู้บัญชาทหารสูงสุด (เทียบเท่าตำแหน่งจอมทัพของกษัตริย์) เบี่ยงเบนความภักดีของกองทัพไปจากกษัตริย์ให้ไปอยู่ที่ ‘ความเป็นชาติและรัฐธรรมนูญ’ ยกเลิกพิธีพระราชทานกระบี่ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 (ให้รับกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพแทนกษัตริย์) สร้างเหรียญชัยสมรภูมิ เหรียญกล้าหาญให้ทหารไว้เชิดชูเกียรติแทนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของกษัตริย์ เปลี่ยนแปลงการสวนสนาม ด้วยการใช้เพลงมาร์ชทหารที่แต่งขึ้นใหม่แทนเพลงสรรเสริญพระบารมี และให้ทหารปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อประเทศชาติและรัฐธรรมนูญแทนสถาบันกษัตริย์[8]

จอมพล ป. ทำอย่างนั้นได้ก็แต่เฉพาะช่วงเวลาที่กษัตริย์คือรัชกาลที่ 8 ทรงพระเยาว์และพำนักอยู่นอกราชอาณาจักรเท่านั้น การศึกษาของเทพ บุญตานนท์[9] ชี้ให้เห็นว่า จอมพล ป. อีกนั่นเองที่ฟื้นฟูบทบาทสถาบันกษัตริย์ในสมัยที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง (1947-1957) ในช่วงรัชกาลที่ 9 ด้วยหวังจะใช้เป็นพันธมิตรในยามที่อำนาจของเขาเหนือกองทัพและการเมืองลดลง เมื่อเขาต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากกองทัพ (เฉพาะอย่างยิ่งกองทัพเรือ) หลายครั้งหลายครา[10] ช่วงนี้เองที่จอมพล ป. ต้องสถาปนากรมการทหารราบที่ 1 และ 11 รักษาพระองค์ขึ้นมาใหม่ ในชั้นแรกเป็นไปเพื่อประกอบพิธีริ้วขบวนในงานพระศพรัชกาลที่ 8 และต่อมาได้รื้อฟื้นพิธีพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อย พระราชทานธงชัยเฉลิมพล สวนสนามและปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล

อาจจะประเมินได้ว่าจอมพล ป. ทำเช่นนั้นเพื่อความอยู่รอดของตัวเองมากกว่าจะเป็นความตั้งใจจริงที่อยากจะสถาปนาอุดมการณ์ราชานิยม เพราะปรากฏว่านายกรัฐมนตรีมีความขัดแย้งกับรัชกาลที่ 9 อยู่หลายครั้งหลายครา แต่คนที่ทำให้อุดมการณ์ราชานิยมและความภักดีของกองทัพต่อกษัตริย์เข้มแข็งคือจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ที่ทำการยึดอำนาจจอมพล ป. ในปี 1957 หลังจากนั้นเขาก็เปลี่ยนแปลงนิยามความเป็นชาติให้เข้ากับสถาบันกษัตริย์ พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ในวันชาติเปลี่ยนจากวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 9[11] ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐ สถาบันกษัตริย์และกองทัพต่อสู้คอมมิวนิสต์ที่ถือว่าเป็นอริราชศัตรูสำคัญของชาติอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามเย็นในปลายทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นเวลาที่นานพอจะทำให้อุดมการณ์ราชานิยมครอบงำกองทัพได้อย่างเข้มข้น

เพื่อความเป็นธรรมควรบันทึกเอาไว้ในที่นี้ด้วยว่า มีการพูดถึงแนวคิดประชาธิปไตยในกองทัพไทยอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษ 1980-2000 เมื่อประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ ช่วงที่กองทัพเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองหลังเหตุการณ์นองเลือดเดือนพฤษภาคม 1992 และช่วงที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งเต็มรูปแบบก่อนการรัฐประหารปี 2006 งานการศึกษาของนักรัฐศาสตร์กระแสหลักอย่างสุจิต บุญบงการ ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ กนลา สุขพานิช-ขันทปราบ[12] ได้จัดทหารบางกลุ่มเช่น กลุ่มเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ กลุ่มยังเติร์ก ให้อยู่ในฝ่ายที่มีความโน้มเอียงไปแบบประชาธิปไตยอยู่บ้าง แต่พวกเขาอยู่ในอำนาจไม่นานและแนวคิดทหารประชาธิปไตยไม่ใช่กระแสหลักในกองทัพไทย

อย่างไรก็ตาม ดีกรีความอ่อนแก่ของอุดมการณ์ราชานิยมเหนือกองทัพนั้นไม่เท่ากันหรือสม่ำเสมอตลอดเวลา พอล แชมเบอร์ (Paul Chamber) ซึ่งศึกษาเรื่องทหารพระราชามากที่สุดคนหนึ่งชี้ว่า แม้แต่เวลาที่นายกรัฐมนตรีของไทยเป็นทหารและไม่ได้ขึ้นสู่อำนาจโดยการเลือกตั้ง ความเข้มข้นของอุดมการณ์ราชานิยมในหมู่ทหารก็ไม่เท่ากัน นับแต่การยึดอำนาจในปี 1957 จนถึงปี 2014 ดีกรีของความเป็นทหารพระราชาของกองทัพไทยโดยวัดจากความใกล้ชิดและการอ้างอิงกษัตริย์เป็นแหล่งความชอบธรรมทางอุดมการณ์ เรียงจากมากไปหาน้อยได้แก่มากที่สุดคือ เปรม ติณสูลานนท์ (1980-1988) สุรยุทธ จุลานนท์ (2006-2008) ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2014-ปัจจุบัน) สุจินดา คราประยูร (1991-1992) ถนอม กิตติขจร (1963-1973) สฤษดิ์ ธนรัชต์ (1957-1963) และน้อยที่สุดคือเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (1977-1980)[13] อาจจะมีผู้สงสัยว่า ทำไมดีกรีของความเป็นทหารพระราชายุคสฤษดิ์ ผู้ซึ่งดูเหมือนจะใกล้ชิดกับกษัตริย์ทั้งในเชิงสถาบันและตัวบุคคล จึงดูเหมือนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ คำอธิบายที่ฟังดูน่าเชื่อถือที่สุดคือ กองทัพสมัยสฤษดิ์ไม่ได้มีเอกภาพมากนัก สถาบันกษัตริย์มีความคลางแคลงใจในความภักดีของฝ่ายต่างๆ ในกองทัพอยู่มาก แม้แต่ตัวสฤษดิ์เองก็เคยสนับสนุนจอมพล ป. มาก่อน

ในกรณีของประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยึดอำนาจมาจากรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้นอาจจะต้องได้รับการประเมินใหม่ แชมเบอร์อาจจะถูกถ้าพิจารณาห้วงเวลาสั้นๆ ในสมัยรัชกาลที่ 9 แต่กระนั้นก็ตาม ความใกล้ชิดของตัวเขากับรัชกาลที่ 9 เมื่อเปรียบเทียบกับเปรมก็ถือว่าห่างชั้น แต่ถ้าเปรียบเทียบระยะเวลาที่เขาอยู่ในอำนาจ (ซึ่งเริ่มยาวนานใกล้เคียงกับเปรมมากเข้าไปทุกที) และสิ่งที่เขาทำในสมัยรัชกาลที่ 10 ระดับความเป็นทหารพระราชาของกองทัพไทยในยุคปัจจุบันน่าจะไม่น้อยด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

ประการแรก ประยุทธ์เสี่ยงชีวิตทำการรัฐประหารเพื่อทำให้การเปลี่ยนรัชสมัยเป็นไปด้วยความราบรื่นและกีดกันนักการเมืองโดยเฉพาะกลุ่มทักษิณ ชินวัตร ออกไปให้พ้นทาง แม้ว่าการยึดอำนาจของเขาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2014 จะดูง่ายๆ แต่ก็ผ่านการวางแผนที่แยบยลประสานสมทบกับการเคลื่อนไหวของนักการเมืองและนักกิจกรรมบนท้องถนนเพื่อสร้างความชอบธรรมในวงกว้าง และมั่นใจว่าปราศจากการต่อต้านจากฝักฝ่ายในกองทัพซึ่งในเวลานั้นถูกครอบงำโดยกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ที่ประยุทธ์เป็นหนึ่งในสามแกนนำคนสำคัญเรียบร้อยแล้ว

ประการที่สอง รัฐบาลประยุทธ์เขียนรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ให้อำนาจและสร้างความคลุมเครือให้กับพระราชอำนาจ เช่น การนำมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญปี 1997 กลับเข้ามาบรรจุเป็นมาตรา 5 ของฉบับปัจจุบันเพื่อทำให้เกิดช่องวางทางกฎหมายให้อำนาจกษัตริย์ในการแทรกแซงทางการเมืองได้ หรืออำนาจในการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการในกรณีที่กษัตริย์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือไม่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นต้น

ประการที่สาม รัฐบาลประยุทธ์ ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560  เพื่อให้รัชกาลที่ 10 มีอำนาจในการบริหารข้าราชบริพาร ทรัพย์สิน งบประมาณ ภายในสำนักพระราชวังได้ราวกับเป็นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาสิทธิราช

ประการที่สี่ รัฐบาลประยุทธ์ออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย และกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2562 ให้ไปอยู่ในสังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัชกาลที่ 10 โดยตรง ในความหมายนี้คือ กรมการทหารราบที่ 1 และ ที่ 11 ทั้ง 6 กองพันกลายเป็นกองทัพส่วนพระองค์ และนอกจากนี้รัชกาลที่ 10 ยังได้สร้างเครือข่ายกษัตริย์ขึ้นภายในกองทัพเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงกับกองทัพ เครือข่ายนี้ในระยะหลังเริ่มขยายไปสู่ตำรวจด้วย

ประการที่ห้า รัฐบาลประยุทธ์ทำการผลิตซ้ำทางอุดมการณ์ราชานิยมเหนือกองทัพ ด้วยการเชิดชูเกียรติของกษัตริย์และทหารพระราชาให้สูงส่งเหนือทหารอื่นใด รูปธรรมที่ชัดเจนคือ การย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่หลักสี่ไปในที่ซึ่งปัจจุบันไม่มีผู้ใดทราบ เปิดห้องที่ระลึกให้พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมสมัยรัชกาลที่ 7 และพระยาศรีสิทธิสงครามทหารคู่ใจที่ร่วมกันก่อกบฏต่อต้านรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาในปี 1933 เพื่อฟื้นคืนอำนาจของกษัตริย์ อีกทั้งได้เปลี่ยนชื่อค่ายพหลโยธินและค่ายพิบูลสงครามที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งตั้งตามชื่อของอดีตนายทหารคนสำคัญของคณะราษฏรให้เป็นค่ายภูมิพลและสิริกิติ์ตามลำดับเพื่อเปลี่ยนความทรงจำและอุดมการณ์ทหารให้ไปรวมศูนย์ที่สถาบันกษัตริย์ พร้อมทั้งประดิษฐานอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 ที่นั่นด้วยเพื่อเป็นการตอกย้ำความสำคัญทางอุดมการณ์ของกษัตริย์เหนือกองทัพ

         สรุป

อุดมการณ์ไตรภักดิ์ของตัดมาดอว์คือเน้นความภักดีต่อสหภาพ เอกภาพและอธิปไตย ทำให้กองทัพพม่าไม่คิดอะไรอย่างอื่นอีก หลังการรัฐประหาร ผู้นำตัดมาดอว์ตื่นตระหนกต่อกระแสการต่อต้านของประชาชน กลุ่มชาติพันธุ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวของนานาชาติ ที่ทำให้ดูเสมือนว่าภัยคุกคามต่ออุดมการณ์ดังกล่าวได้มาบรรจบกันพอดี

ประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐอย่างที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติได้เน้นย้ำว่าเป็นอุดมการณ์ของฝ่ายตนนั้นเป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่อพื้นฐานของตัดมาดอว์ ที่มองเห็นว่ากองทัพเป็นผู้พิทักษ์และผู้ปกครองแต่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะยึดกุมทุกอย่างทุกอย่างให้อยู่ร่วมกันได้ภายใต้การใช้อำนาจแบบทหาร ดังนั้นตัดมาดอว์จึงมองเห็นว่านักการเมืองฝ่ายค้าน ประชาชน กองกำลังพิทักษ์ประชาชน และกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดที่จะต้องกำจัดไปให้สิ้นซาก ดังนั้นจึงปรากฏว่ามีข่าวว่าตัดมาดอว์ทุ่มเทกำลังจำนวนมาก รวมทั้งติดอาวุธให้พลเรือนที่นิยมทหารให้ทำการห้ำหั่นปราบปรามฝ่ายต่อต้านอย่างหนักหน่วงตลอดมานับแต่การยึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว

ในเวลาเดียวกันด้วยอิทธิพลของอุดมการณ์ไตรภักดิ์ที่เน้นเรื่องอำนาจอธิปไตยด้วย ทำให้ตัดมาดอว์ต่อต้านการแทรกของต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นท่าทีจากประเทศตะวันตกหรือแม้แต่กลุ่มอาเซียนซึ่งพม่าเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ตัดมาดอว์ก็พยายามเตะถ่วงไม่ยอมให้ความร่วมมือในการบังคับใช้ฉันทามติ 5 ข้อเกิดขึ้นง่ายๆ

ในทำนองเดียวกันกับกองทัพไทย ที่กำหนดภารกิจภายใต้การกำกับของอุดมการณ์ราชาชาตินิยม จึงได้กำหนดภารกิจว่า การปกป้องและเชิดชูสถาบันกษัตริย์เป็นภารกิจหลัก ความจริงกองทัพไทยกำหนดภารกิจและหน้าที่เอาไว้ 4 ประการคือ ปกป้องอธิปไตยของชาติ ปกป้องสถาบันกษัตริย์ รักษาความมั่นคงภายในและช่วยงานรัฐบาลในกรณีที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ แต่ในความเป็นจริงในเมื่อไม่ได้มีภัยคุกคามจากภายนอกชัดเจนนัก กองทัพไทยจึงทำหน้าที่เดียวคือปกป้องสถาบันกษัตริย์ และภัยคุกคามสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นภายในประเทศที่ชัดเจนที่สุดในสายตาของผู้นำเหล่าทัพที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอุดมการณ์ราชาชาตินิยมคือการท้าทายจากกลุ่มเยาวชนและนักการเมืองรุ่นใหม่ที่วิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ดังนั้นจึงมีการจับกุมคุมขังเยาวชนเป็นจำนวนมาก การหาทางกีดกันพวกเขาไม่ให้พาดพิงสถาบันกษัตริย์จึงเป็นภาระหน้าที่หลักของกองทัพไทย

ในแง่การปฏิบัติจริงอาจจะเป็นหน้าที่ของตำรวจและกระบวนการยุติธรรม ในแง่นั้นอธิบายได้ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและกระบวนการยุติธรรมก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ที่กองทัพปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องผ่านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ในอนาคตหากกระแสของการเคลื่อนไหวภาคประชาชนทวีความแหลมคมมากขึ้น เช่นมีการประท้วงถามท้องถนนบ่อย ต่อเนื่องยาวนาน เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเมื่อกว่า 10 ปีก่อน กองทัพไทยก็จะเหมือนตัดมาดอว์ของพม่า คือไม่ลังเลที่จะหันปากกระบอกปืนสังหารประชาชนที่เชื่อว่าเป็นปรปักษ์ต่อสถาบันหลักของชาติอย่างแน่นอน

ตาราง: ความแปรเปลี่ยนทางอุดมการณ์ของตัดมาดอว์และกองทัพไทย

ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน

[1] หลุยส์ อัลธูแชร์ (กาญจนา แก้วเทพ แปล) อุดมการณ์และกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ (กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529) หน้า 50

[2] Robert H. Taylor. The State in Burma. (Hawaii: University of Hawaii Press, 1987) pp.232-237

[3] Ye Phone Kyaw “The development of national ideology in Myanmar: Political socialization and the role of Tatmadaw since second World War” Journal of Burma Studies Vol.24 No.2 December 2020 pp.147-195

[4] Robert Taylor. Ibid

[5] Ye Phone Kyaw Ibid.

[6] David Steinberg The Military in Burma/Myanmar: On the Longevity of Tatmadaw Rule and Influence. Trend in Southeast Asia (monograph) (Singapore: ISEAS, 2021) pp.11-12

[7] Ye Phone Kyaw Ibid. p. 185

[8] เทพ บุญตานนท์ ทหารของพระราชากับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี (กรุงเทพฯ : มติชน, 2565

[9] เพิ่งอ้าง

[10] นอกเหนือจากงานของ เทพ บุญตานนท์ แล้ว หนังสือที่ออกมาใกล้เคียงกันคือ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ สฎฐภูมิ บุญมา (บรรณาธิการ) จอมพล ป. พิบูลสงครามและท่านผู้หญิงละเอียดกับการเมืองไทยสมัยใหม่ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิม์ครั้งที่สาม 2564) ก็ให้เนื้อหาแบบเดียวกัน

[11] อาสา คำภา กว่าจะครองอำนาจนำ: การคลี่คลายขยายตัวของเครือข่ายในหลวงภายใต้ปฏิสัมพันธ์ชนชั้นนำไทย 2490-2530 (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2564) หน้า 99

[12] ผู้สนใจโปรดดู จุลสารวิชาการ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย “ทหารไทย” ฉบับที่ 3 ปีที่ 1 พฤษภาคม 2529

[13] Paul Chambers and Napisa Waitookiat “The Resilience of Monarchized Military in Thailand” Journal of Contemporary Asia Vol.43 No.3 pp.425-444

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save