fbpx

หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์: เมื่อการเต้นคือการต่อต้าน และหน่าฮ่านคือผู้คน

ปี 2019 ภาพยนตร์เรื่อง หน่าฮ่าน หนังที่ว่าด้วยชีวิตวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่ตัดสินใจเดินทางจากหมู่บ้านในชนบทเข้ามาดูหมอลำในตัวเมืองเพื่อที่จะเต้นหน่าฮ่านด้วยกันเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจบมัธยมแล้วแยกย้ายกันไป เป็นหนังไทยเรื่องเล็กๆ ที่ล้มเหลวทางรายได้ แต่ถูกพูดถึงอยู่ไม่น้อย ด้วยความที่หนังพูดถึงชีวิตวัยรุ่นในชนบทอีสานด้วยสายตาที่จริงใจ ไม่ตัดสินถูกผิด ไม่ทำหน้าที่เป็นบทเรียนสอนใจ หนังพูดถึงชีวิตเด็กสาวที่เป็น ‘เด็กธรรมดา’ ในระบบการศึกษาไทย ไม่ได้เรียนเก่ง แต่ก็ไม่ใช่พวกเกเรออกนอกลู่นอกทาง ไม่มีความฝันอะไรนอกจากการเล่นสนุกในชีวิตรายวัน หัวปักหัวปำกับการเป็นวัยรุ่น ในตอนนั้นผู้เขียนเคยเขียนถึงหนังไว้ว่า 

“ถ้าเป็นในหนังเรื่องอื่น ยุพินและผองเพื่อนของเธอจะมีที่ทางเพียงไม่กี่แบบ หนึ่งคือตัวประกอบในหนังตลก ที่เป็นเพียงมุกตลกเดินได้ ของตุ๊ด คนอ้วน สาวร่าน สาวบ้านนอก สาวท้องไม่มีพ่อ ที่เป็นตัวตลกตามพระตามนาง มีหน้าที่มอบความบันเทิงจากความไม่สมประกอบ ทั้งทางกาย ทางชีวิต และทางชาติกำเนิด สองคือบทนิทานสาธกยกมาสอนลูกสอนหลานว่าถ้าบ้าผู้ชาย ริรักในวัยเรียนจะมีจุดจบแบบถ้าไม่เรียนไม่จบก็ท้องไม่มีพ่อ หรือต้องออกมาทำงานหาเลี้ยงตัวเอง เป็นแรงงานชักหน้าไม่ถึงหลัง ถ้าไม่ขยันตั้งใจเรียนเป็นเจ้าคนนายคน ก็ไม่เหลือที่ทางอะไรให้ยืนในสังคมนี้

ราวกับว่าฟังก์ชันของคนชั้นกลางระดับล่าง ไปถึงคนชั้นล่างในเรื่องเล่าหลักของประเทศนี้ทำหน้าที่เป็นเพียงภาพวาดที่น่าสยดสยองของชีวิตที่ขยันไม่พอ เก่งไม่พอ ดีไม่พอแบบเดียวกันกับคนชั้นกลาง เป็นเพียงนิทานหลอกเด็กและเรื่องสนุกมุกตลกเหยียดชนชั้น

ความไม่คิดหน้าคิดหลังของตัวละครในเรื่องนั้นงดงาม เพราะมันไม่ได้ถูกลงโทษในตอนท้ายว่าเป็นการกระทำของวัยรุ่นขาดสติ มันไม่ต้องถูกลดรูปไปเป็นสุภาษิตสอนหญิง แต่เป็นชีวิตที่มีทั้งการไปตามหัวใจที่ไม่ได้มีผลอะไรตามมา กับผลที่ตามมาแบบที่ตัวละครแต่ละคนต้องผเชิญหน้ากับมันด้วยตัวเอง ไม่มีใครช่วยได้ และวิธีแก้ปัญหาของตัวละครก็งดงามในฐานะของความนึกคิดเป็นเหตุเป็นผลเท่าที่วัยรุ่นคนหนึ่งจะคิดได้ …ทั้งหมดเป็นไปได้ทั้งความทรงจำที่งดงามพอๆ กับที่จะเป็นบาดแผลในอนาคต แต่การที่หนังให้ตัวละครพุ่งไปข้างหน้าแบบหัวปักหัวปำ ทำให้หนังมันงดงามมากๆ” *1

สามปีต่อมา หลังเกิดการประท้วงของนักศึกษาและประชาชนอย่างคึกคักและน่าตื่นเต้นในช่วงกลางปี 2020 ทัศนียภาพของทัศนคติของผู้คนจำนวนมากในสังคมก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่อาจย้อนคืนสู่จุดเดิมได้ หากเราบอกว่า หลังการสังหารหมู่กลางถนนกรุงเทพฯ ในเดือนเมษายนปี 2010 คือจุดแตกหักที่แบ่งคนในสังคมออกเป็นสองขั้วในทางการเมือง สิบปีที่ผ่านพ้น ท่ามกลางความอลหม่านทางความคิดและการรัฐประหาร สังคมไทยก็เคลื่อนไปสู่จุดที่ไม่หวนคืน คนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความขัดแย้งและมองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง กล้าหาญมากพอที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านระเบียบเก่า ทำลายกำแพงและเพดานของสังคม โดยทุกสิ่งระเบิดออกในช่วงกลางปี 2020 เริ่มจากประเด็นยุบพรรคการเมือง ลามไปสู่การปริแตกออกของการจ้องมองไปยังใจกลางของปัญหาในสังคมนี้  แม้การประท้วงจะจบลงด้วยสิ่งที่อาจจะเป็นความพ่ายแพ้ รัฐบาลเดิมที่สืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหารยังคงอยู่ในอำนาจ บรรดาหนุ่มสาวที่เป็นผู้นำการชุมนุม ล้วนถูกจับกุมคุมขัง มีคดีติดตัวกันคนละหลายคดี แต่ในทางวัฒนธรรม สังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้วโดยสิ้นเชิง

เราอาจบอกได้ว่าสำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ สิ่งหนึ่งที่เคลือบคลุมอยู่จางๆ ในงานจากคนฝั่งประชาธิปไตยคือความรู้สึกเจ็บปวด เศร้าซึม ทั้งจากความยุติธรรมที่มาไม่ถึง ไปจนถึงการมองไม่เห็นอนาคตที่สดใสมากนัก แต่ความคึกคักของคนรุ่นใหม่และการประท้วงในปี 2020 ได้ปลดผ้าคลุมแห่งความหม่นหมองนี้ออก แม้หากมองจากมุมของงานกระแสหลักมันจะยังไม่ชัดเจนนัก แต่สำหรับงานหนังสั้นจากนักศึกษา หรืองานทั้งภาพยนตร์ ดนตรี ไปจนถึงวรรณกรรมนอกกระแสกลับเป็นไปอย่างน่าตื่นเต้นยิ่ง

มองย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่หน้าฮ่านออกฉายในปี 2019 สิ่งหนึ่งที่กระทบใจผู้เขียนมากในขณะนั้นคือสัญญาณของความไม่ยอมจำนนต่อระเบียบเก่าของยุพิน ในฉบับหนังนั้น ยุพินซึ่งปฏิเสธการเรียนมหาวิทยาลัยตามที่สวรรค์หนุ่มที่มาจีบเธออยากให้ทำ เธอไม่ได้เรียนต่อ ไม่แม้แต่ไปเรียนราชภัฏตามขนบของเรื่องเล่าสากลของหนังว่าด้วยวัยรุ่นที่มีหน้าที่สั่งสอนให้วัยรุ่นรู้สำนึกในความสำคัญของการศึกษา แต่ในหน่าฮ่าน ยุพินที่จบ ม.6 กลายเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านพิซซ่าและไลฟ์ขายครีมออนไลน์ สัญญาของการไม่ยอมจำนนในเรื่องเล่าของหนัง อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในชีวิตจริงของคนจำนวนมาที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาในประเทศนี้ แต่มันอาจจะเป็นครั้งแรกๆ ที่หนังในระบบกระแสหลัก (หรือกึ่งๆ กระแสหลัก) ประกาศเจตจำนงว่าระเบียบดั้งเดิมนั้นไม่ถูกต้อง มีบางอย่างที่ไม่อาจยอมรับได้ การปฏิเสธของยุพินอาจจะเป็นเพียงเรื่องเชิงปัจเจก แต่มันเป็นสัญญาณที่บอกว่าคนรุ่นใหม่จะไม่หยวนๆ กับโลกศักดินาที่ยีดครองแบบแผนของเรื่องเล่าอีกต่อไป

และสามปีต่อมา ในการกลับมาของหน่าฮ่าน เดอะซีรีส์​หลังจากโลกดั้งเดิมสั่นคลอน ถูกรื้อถอนทำลาย หนังผลักตัวเองไปสำรวจสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้งขึ้นและผลักตัวเองให้ไปได้ไกลกว่าเดิม

หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์ยังคงเล่าเรื่องด้วยตัวละคร ยุพินและผองเพื่อนชาวโนนหินแห่ ที่คราวนี้ย้ายฉากหลังจากอุดรธานี มาเป็นอุบลราชธานีแทน มันคือปีสุดท้ายในชีวิตมัธยมของยุพิน เด็กสาวลูกชาวบ้านที่เป็นเหมือนเด็กสาวเด็กหนุ่มลูกชาวบ้านจำนวนมากในหมู่บ้านจำนวนมากของประเทศนี้ เธอเรียนไม่เก่ง ไม่ชอบโรงเรียน ไม่ชอบความเคร่งครัดอันไร้สาระใดๆ ของระบบการศึกษา เธอไม่เคยมองตัวเองเป็นอะไรจริงๆ จังๆ ชีวิตของเธอวนเวียนอยู่กับบ้าน โรงเรียน ที่นัดพบกับเหล่าเพื่อนและหน่าฮ่านงานบุญ เพื่อนในแกงค์ของเธอประกอบด้วย ฝาแฝดชายหญิง ‘เป๊กกี้ หอยกี้’ คนหนึ่งเป็นกะเทยหัวโปก อีกคนเป็นสาวเปรี้ยว ‘แคลเซียม’ หรือ ‘อีแข่ว’ สาวลูกร้านชำที่คบหาปลอมๆ กับ ‘เติ้ลไม้’ เพื่อนสนิทที่สัญญาจะออกไปจากหมู่บ้านโนนหินแห่ด้วยกัน แม้เธอจะรู้ดีว่าเติ้ลไม้ชอบผู้ชาย ไม่ได้ชอบเธอ

ยุพินพบรักกับ ‘สิงโต’ เด็กหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกันที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เร่ร่อนมาหางานรับจ้างเป็นคนขับรถของ ผอ.โรงเรียน และพยายามหางานร้องเพลงตามร้านหมูกระทะ ขณะเดียวกัน ‘สวรรค์’ เด็กหัวกะทิประจำโรงเรียน ลูกชายของครูฝ่ายปกครองที่คบหาอยู่กับโยเย ลูกสาว ผอ.ที่เป็นคนเดียวที่พูดไทยกลาง และดูจะมีอภิสิทธ์เหนือกว่าคนอื่นๆ ไปเสียทุกเรื่อง ก็ดูเหมือนจะแอบชอบยุพินอยู่  ยุพินไม่ถูกกันกับโยเย เลยอ่อยสวรรค์เล่นๆ แต่สวรรค์ดันจริงจังจนทิ้งโยเยมา ในอีกทางหนึ่ง ปีนี้เติ้ลไม้ทำคะแนนต่ำกว่าใครเพื่อนจนต้องตกซ้ำชั้น ม.5 อีกรอบ และต้องไปเรียนห้องเดียวกับบักเค น้องชายหัวดื้อของอีแข่วเพื่อนรัก บักเคกำลังมีปัญหากับเต้ย แฟนสาวที่ดันไปกิ๊กกับเพื่อนในแกงค์ของเขาเอง เติ้ลไม้ที่มาช่วยดูแลเค กลายเป็นเพื่อนคนเดียวที่เคมี และความรู้สึกดีๆ ก็ก่อตัวขึ้นในใจเด็กหนุ่มสองคน ขณะที่แข่วกลัวเหลือเกินว่าจะเสียเติ้ลไม้ไป

ในเรื่องย่อขนาดยาวนี้มีหลายอย่างเปลี่ยนไปจากต้นฉบับ มีตัวละครที่เพิ่มขึ้นมา ตัวละครเดิมก็เปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ความสัมพันธ์ไป และในขณะที่ฉบับหนังไม่มีผู้ใหญ่ปรากฏอยู่เลย ฉบับก็มีการเพิ่มเส้นเรื่องของพ่อแม่ของแต่ละตัวละครให้เป็นพื้นหลังเกาะเกี่ยวอยู่บนชุดความสัมพันธ์อีกรูปแบบด้วย

ด้วยเวลาที่ยาวขึ้นและโครงสร้างของหนังที่เปลี่ยนไป หนังเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นเรื่องเล่าภาพรวมสั้นๆ เพื่อประกาศถ้อยแถลงทางการเมืองของการไม่ยอมขึ้นตรงต่อทั้งวิธีคิดแบบส่วนกลางไปจนถึงขนบเรื่องเล่าจากส่วนกลาง ฉบับเดอะซีรีส์ ได้ขยายตัวมันออกไปกว่าเดิม และใช้เวลาอย่างคุ้มค่าในการสำรวจชีวิตของตัวละครแต่ละตัวอย่างละเอียดลออขึ้น ส่งผลให้นอกจากมันยังคงเป็นหนังที่มีถ้อยแถลงทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้น ในขณะเดียวกันก็อ่อนโยนต่อการเติบโตและเจ็บปวดของทุกตัวละครทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในเรื่อง

อย่างตรงไปตรงมาที่สุด หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์วิพากษ์ระบบการศึกษาไทยอย่างไม่ไว้หน้าเพราะนี่คือหนังที่พูดถึงบรรดาเด็กที่ถูกการศึกษาไทยทอดทิ้ง ตั้งแต่เด็กอย่างสิงโตที่ ‘เลือก’ จะไม่เรียนหนังสือ เพราะถึงแม้รัฐจะให้เรียนฟรีแต่การศึกษามันแพงกว่าแค่ค่าเทอม เพราะนอกจากมันจะเรียกร้องเงินรายทางจุกจิกนู่นนี่ มันยังเรียกร้องเอาเวลาของการทำมาหากินไปด้วย และสำหรับคนที่ได้เรียน การศึกษาก็ไม่ได้เป็นการศึกษามากกว่าเป็นพิธีกรรมอำนาจนิยม เครื่องแบบและทรงผมในนามของความเรียบร้อยไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าช่องทางเปิดโอกาสให้ครูได้ใช้อำนาจและปลูกฝังการคลั่งอำนาจนิยมให้กับตัวนักเรียน ระบบอำนาจนิยมผูกพันมั่นเกลียวกันดีกับระบบอุปถัมภ์ เล่าผ่านความขัดแย้งของยุพินในฐานะผู้ถูกกดขี่ กับโยเยลูกสาวผู้อำนวยการที่ดูเหมือนจะได้อภิสิทธิ์และได้รับความเกรงใจจากครูทั้งโรงเรียน จนสามารถขยับเข้ามาคุมวงโปงลางโรงเรียนและเตะยุพินกับผองเพื่อนออกจากวง หากไม่นับการต่อสู้กัน ‘นอก’ พื้นที่โรงเรียนอย่างการดวลเต้นหน่าฮ่าน หรือการหาเรื่องแย่งแฟน ทางเดียวที่ยุพินและผองเพื่อนมีก็คือ ‘การเลือกตั้ง’ ประธานนักเรียน ที่ตามมาด้วยสปีชที่เข้มข้นของอ๋อย ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับสวรรค์ นักเรียนตามระเบียบที่ครูๆ พอใจ

ตัวของสวรรค์นั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง ตัวละครนี้แตกต่างไปจากฉบับหนังอยู่มากโข ในฉบับหนังเล่าเพียงว่าสวรรค์เป็นเด็กเรียนดี เป็นตัวหลักมือแคนของวงโปงลางโรงเรียน ไม่ได้มีปูมหลังเรื่องพ่อใดๆ สวรรค์มีใจให้ยุพินที่ในฉบับหนังไม่รู้ว่าจะตกลงเลือกใครดี เพราะแม้จะชอบสิงโตแต่เขาก็ดันมาหายตัวไปเสียดื้อๆ ในฉบับหนังความรักที่เขามีต่อยุพินแสดงออกผ่านทางการพยายามติวหนังสือให้ บังคับให้ยุพินอ่านหนังสือสอบ ให้เลิกไปเต้นหน่าฮ่านด้วยความเป็นห่วงและให้เตรียมตัวเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไปพร้อมกันก่อนที่ยุพินจะทำให้เขาผิดหวัง และเมื่อกลับมาพบกันใหม่ สวรรค์ก็กลายเป็นเด็กมหา’ลัย มีชีวิตแตกต่างจากยุพินที่เป็นเด็กเสิร์ฟร้านพิซซ่าโดยสิ้นเชิง ในฉบับหนัง สวรรค์จึงเป็นภาพแทนจางๆ ของชนชั้นกลางที่ยอมตามระบบการศึกษาโดยไม่ตั้งคำถาม เป็นภาพของคนที่ระบบยกไว้เป็นตัวอย่างแบบหนึ่ง ในขณะที่ยุพินเป็นตัวอย่างในแบบตรงกันข้ามโดยที่ตัวละครไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัว 

ในฉบับซีรีส์ ด้วยเวลาที่มากขึ้นและการขยายปูมหลังสำรวจตัวละคร เราจึงมองเห็นภาพของยุพินและสวรรค์ที่ชัดเจนขึ้น สวรรค์เปลี่ยนจากคนที่ ‘สมยอม’ กับระบบโดยไม่รู้ตัวไปสู่เด็กหนุ่มที่ ‘ยอมจำนน’ ต่อระบบโดยรู้ตัว หนังค่อยๆ ให้รายละเอียดความเป็นคนที่ไม่ได้มีความคิดอะไรเป็นของตัวเองของสวรรค์ ความล่องไหลไปตามระบบ เป็นนักปฏิวัติเพราะยุพินบอกให้เป็น เป็นนักเรียนดีเพราะพ่อจะรักที่เขาเป็นแบบนั้น หนังให้น้ำหนักของสวรรค์ ผู้ชื่งไปได้สวยเพราะไม่มีความฝันเป็นของตัวเองผ่านทางบทสนทนาสุดท้ายของสวรรค์กับยุพิน เมื่อเขาบอกว่าเขาไม่รู้หรอกว่าตัวเขามีความฝันอยากเป็นอะไรหรือไม่ นอกจากเรียนให้ดีให้จบและทำให้พ่อภูมิใจ หนังเปิดเผยให้เราเห็นความทุกข์ที่ต่างออกไปของคนที่เราไม่ได้อยากจะเชื่อว่าเขาก็มีความทุกข์ ความทุกข์ของสวรรค์นั้นเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับการละทิ้งความฝันของสิงโตที่จะได้ร้องเพลงที่จะไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ และอยู่กับยุพิน สวรรค์กับสิงโตกลายเป็นคนทุกข์สองประเภทที่สะท้อนภาพคนหนุ่มสาวแบบเดียวกัน

เช่นเดียวกันกับยุพิน จากฉบับหนังที่เธอดูเหมือนไม่รู้ตัวว่าตัวเองจะต้องทำอย่างไรกับชีวิตดี ไม่แม้แต่จะเข้าใจว่าระบบการศึกษามันกดทับตัดทอนเธออย่างไร ยุพินฉบับซีรีส์ดูเหมือนจะรู้ตัวชัดเจน ไม่ใช่รู้ว่าเธอต้องการอะไร แต่รู้ว่าเธอไม่ต้องการอะไร เธอออาจจะไม่ได้เป็นนักต่อสู้ แต่เธอเป็นนักต่อต้านตามวิธีของเธอเอง ฉากหนึ่งที่งดงามมากๆ คือการที่เธอทุ่มเถียงกับสวรรค์เรื่องการไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย ที่อาจจะไม่ใช่ที่ทางของเด็กอย่างเธอด้วยซ้ำไป การศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ถูกใช้เป็นไม้บรรทัดวัดความสำเร็จอย่างง่ายที่สุดของเด็กๆ ไม่ใช่สเกลที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับเด็กๆ ทุกคน สำหรับหลายๆ คนมันเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยเกินตัวเสียด้วยซ้ำ

แต่เมื่อพวกเขาอยู่ในสังคมที่เห็นว่าปริญญาสำคัญกว่าทักษะ และในทางตรงกันข้ามการหลุดออกจากการศึกษาก็อาจทำให้เด็กๆ หลุดออกจากโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคม ต้องร่วงหล่นลงในช่องว่างลึกสุดหยั่งระหว่างชนชั้น ยุพินตอบการสอบสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัยอย่างตรงไปตรงมาที่สุดว่า ‘ปริญญาก็มีไว้เพื่อหางาน’ เท่านั้น ถึงที่สุดมันเป็นเพียงใบรับรองชนิดหนึ่ง เป็นทางลัดของสังคมที่จะยืนยันว่าเราสามารถเข้าสู่งสังคมอีกแบบได้ โดยไม่เกี่ยงว่าเราจะมีความรู้จริงหรือไม่

ความรู้ตัวของยุพินนอกจากจะเป็นขั้วตรงข้ามกับยุพินฉบับหนัง (และเราอาจบอกได้ว่าการตระหนักรู้ของตัวละครมาจากทัศนะทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสองสามปีนี้เลยด้วยซ้ำ) จึงเป็นขั้วตรงข้ามกับความไม่รู้ตัวของอภิสิทธิ์ชนอย่างโยเยที่เธอไม่รู้ว่าสิ่งที่เธอทำอยู่มันแย่แค่ไหน หากในอีกทางเธอเองก็ถูกตัดสินเกินเลยจากสังคมและต้องแบกรับทุกข์ของการเป็นลูก ผอ. ไว้กับตัว เมื่อหนังบอกว่าผมจริงเธอสีน้ำตาล เรื่องการย้อมผมของเธอเลยกลายเป็นความเข้าใจผิดและอภิสิทธิ์บางอย่างก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เธอปรารถนา หนังรักตัวละครมากพอจะไม่ทำให้เธอเป็นเพียงตัวร้ายธรรมดา แต่ทำให้เธอตระหนักรู้ตัวเองและเติบโตขึ้นจากความผิดพลาดของตัวเธอเอง มีความเจ็บปวดเป็นของตัวเอง

จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เด็กๆ ที่ดิ้นรนอยู่ในระบอบการศึกษา บรรดาผู้ใหญ่ก็ด้วย ฉากหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือฉากที่ ผอ. เชิญแมกซ์ ตุลย์ นักแสดงซีรีส์วายชื่อดังมางานโรงเรียน เพื่อเอาใจผู้บริหารเขตการศึกษาและหวังว่าตัวเองจะได้ย้ายไปเป็น ผอ.โรงเรียนในเมือง ในฉากนี้ ยุพินออกไปเต้นหน่าฮ่านเพื่อสู้กับโยเยที่เต้นบนเวที จนโดนครูวีรชัยฝ่ายปกครองที่เป็นพ่อของสวรรค์ลากออกมาและทำให้เกิดเหตุชุลมุนเล็กน้อย ในฉากการลากตัว ส่ิงที่ครูวีรชัยหลุดปากออกมาคือ “อย่ามาทำให้ ผอ.เสียหน้า” ถึงที่สุดไม่ใช่แค่นักเรียนที่เวียนว่ายอยู่ใระบบการศึกษาที่ล้มเหลว ครูเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการดิ้นรนอยู่ในระบบที่เต็มไปด้วยพิธีกรรมและการใช้อำนาจแบบระบบราชการเช่นกัน แต่นั่นไม่ได้ทำให้การใช้อำนาจของครูถูกต้องมากขึ้นแต่อย่างใด

ไม่ใช่แค่โรงเรียน แต่ดูเหมือนทั้งหมู่บ้านโนนหินแห่ หรือทุกแห่งหนในพื้นที่ กลายเป็นพื้นที่ของการถูกควบคุมกดทับ ยุพินและเพื่อนอาจได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานนักเรียน แต่ย้อนกลับไปสิบสองปีก่อน พ่อของเธอเคยถูกริบอำนาจของการเลือกตั้งไป เขาจึงเดินทางเข้าไปชุมนุมในกรุงเทพฯ และถูกสังหารหมู่กลางเมือง การที่หนังฉายภาพปูมหลังของยุพินในการบอกว่าเธอเป็นลูกสาวคนเสื้อแดงที่ตายในการสังหารหมู่ปี 2010 เป็นเรื่องที่ควรถูกบันทึกไว้ เพราะนี่อาจพูดได้ว่าเป็นครั้งแรกๆ ที่ประวัติศาสตร์บาดแผลของคนเสื้อแดง ถูกบันทึกและฉายขึ้นจอทีวีทั่วประเทศในสื่อกระแสหลักอย่างช่อง 3 (ก่อนหน้านี้หลายปีจะมีหนังสั้นเรื่อง พ่อ ของพิมพกา โตวิระ ที่พูดเรื่องความตายของคนเสื้อแดง ออกฉายทางช่องไทยพีบีเอส) ประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่ผู้ชุมนุมเผาบ้านเผาเมือง แต่เป็นคนจริงๆ มีเลือดเนื้อ และตายไปในสมัยนั้น การมีอยู่ของพ่อเสื้อแดงและบทสนทนาของยุพินกับสิงโตเกี่ยวกับ ‘ทุกข์ที่กรุงเทพฯ’ ที่กลายเป็นที่ที่ยุพินหวาดกลัว กับ ‘ทุกข์ที่บ้านเกิด’ จากการไม่มีงานและไม่มีเงิน กลายเป็นบทสนทนาที่ทรงพลังเกี่ยวกับความจริงของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ดูเหมือนสิบสองปีผ่านไปมีอะไรดีขึ้นน้อยมาก อีกฉากหนึ่งที่น่าจดจำคือฉากที่หม่ำ เพื่อนสนิทของสิงโต โทรกลับไปหาแม่แล้วร้องไห้เพราะไม่มีเงินส่งไปให้แม่ จนในที่สุดก็ต้องเข้ากรุงเทพฯ หรือแม้แต่ตัวสิงโตเองที่ต้องเข้าไปเพื่อหา ‘มีแต่เศษอาหารก็ดีกว่าอดตาย’ กรุงเทพฯ อ้าปากสูบกินคนอย่างพ่อของยุพิน คนอย่างสิงโตเข้าไป และยุพินเองก็ไม่น่าจะหนีรอดไปจากโครงสร้างของประเทศแบบรวมศูนย์นี้

เราจึงอาจบอกได้ว่าเมื่อโรงเรียนกลายเป็นพื้นที่อันแข็งเกร็ง เป็นพื้นที่ของการแสดงออกของอำนาจนิยมระบบอุปถัมภ์ และมีแต่การคลั่งพิธีกรรม หน่าฮ่านที่ยืดหยุ่นที่ปรากฏได้ทุกที่ ทุกแห่งหน ในทันทีที่มีผู้คน ดนตรีและความรื่นเริงจึงเป็นเหมือนหนทางหลบหนี เป็นพื้นที่ของการปลดปล่อยตัวตนเพื่อต่อต้าน

ในฉากหนึ่งหลังพ่อตายในสงกรานต์ปี 2553 แม่ยังคงอนุญาตให้ยุพินไปเต้นหน้าฮ่าน แม่บอกว่าให้เข้าไปสนุกในงาน “กลับบ้านไปเดี๋ยวเราก็ร้องไห้ด้วยกันเหมือนเดิมอยู่ดี” หน่าฮ่านที่ไม่ใช่พื้นที่เฉพาะเลยกลายเป็นพื้นที่พิเศษ การเต้นกลายเป็นการต่อต้าน เพราะเป็นการปลดปล่อยร่างกายจากการถูกควบคุม ทั้งโดยรัฐ โดยโรงเรียน โดยสภาพเศรษฐกิจ โดยโครงสร้างประเทศ การเต้นกลายเป็นการปลดปล่อยในฐานะการลืมความทุกข์จากการถูกกดขี่เป็นครั้งคราว แล้วค่อยกลับไปเศร้าเมื่อเพลงจบลง

นอกจากส่วนของยุพิน สิงโต สวรรค์ ที่ทำให้ความรักแบบเด็กๆ กลายเป็นภาพสะท้อนของการดิ้นรนภายใต้อำนาจของรัฐที่เอื้อมมือมาขีดชะตาชีวิตคนได้โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ส่วนที่หนังผลักประเด็นไปได้ไกลอีกส่วนคือส่วนของความสัมพันธ์ของเติ้ลไม้ กับแข่วและเค / เคและเต้ย / หอยกี้กับเป๊กกี้ ก็พูดถึงความก้าวหน้าทางเพศของเด็กวัยรุ่นและผู้คนในอำเภอเล็กๆ ได้อย่างน่าสนใจ 

น่าดีใจที่การพูดเรื่องการเป็นเกย์ในหนังไปพ้นจากแค่เรื่องการ come out กับแม่ของเติ้ลไม้ ไปสู่เรื่องของการลื่นไหลทางเพศของทั้งเติ้ลไม้ เค และแข่ว อันที่จริงความสัมพันธ์ของเติ้ลและเคทำให้นึกถึงเสียงวิจารณ์ที่มีต่อ สัตว์ประหลาด! (2004) หนังที่มาก่อนยุคสมัยซีรีส์วาย หนึ่งในประเด็นที่พูดกันตอนนั้นคือการที่ความสัมพันธ์ของ ‘เก่ง’ นายทหารและ ‘โต้ง’ หนุ่มชาวบ้านในหนังดูจะเป็น ‘ยูโทเปีย’ ของการเป็นเกย์เพราะดูเหมือนทุกคนรับได้ที่ผู้ชายกับผู้ชายจะจีบกัน ความเป็นอื่นในฐานะความเป็นยูโทเปียใน สัตว์ประหลาด! ในตอนนั้นเมื่อผ่านไปเกือบยี่สิบปี ได้กลายเป็นความปกติ (แต่จะปกติจริงหรือเป็นเพียงแค่ปกติในฐานะการขยายตัวของตลาดละครวายก็เป็นอีกเรื่อง)

การที่เติ้ลไม้กับเคจะคบกันหรือเคจะตระหนักรู้ว่าเขาน่าจะชอบเติ้ลไม้มากกว่าเต้ยแฟนเก่า จึงเป็นเรื่องที่ถูกมองด้วยสายตาแบบเดียวกับที่เรามองคู่รักชายหญิง พัฒนาการจากยูโทเปียใน สัตว์ประหลาด! มาเป็นเรื่องปกติในหนังเรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งความงดงามที่ยุคสมัยมอบให้ และมันก็งดงามที่หนังใส่ตัวละครอย่างน้ารำไพแม่ของเติ้ล คนจากโลกเก่าที่ยังยอมรับไม่ได้ว่าลูกชายจะเป็นเกย์ ฉากแม่ดวลแม่ในหนังเลยกลายเป็นฉากที่เป็นดีเบตของโลกที่การเป็นคนรักเพศเดียวกันได้เปลี่ยนสถานะจากสิ่งพิเศษมาเป็นสิ่งปกติในฐานะความสัมพันธ์ของมนุษย์ ประเด็นความสัมพันธ์ของเติ้ล แข่ว เค เลยไม่ใช่เรื่องของการเป็นเกย์ แต่เป็นเรื่องความอ่อนโยนที่มนุษย์สามคนมีให้กัน ความสัมพันธ์ที่เลยพ้นไปจากเพศหรือการครอบครอง เพราะใจกลางของเรื่องไม่ใช่การรักเพศเดียวกัน แต่คือการที่แม้แข่วจะรู้ว่าเติ้ลเป็นเกย์แต่เธอก็รักเขา และเคที่ไม่อยากทำร้ายจิตใจของพี่สาวตัวเอง ขณะที่เติ้ลไม้ที่ชัดเจนมาตลอด ก็กลัวจะเสียเพื่อนที่รักไป

ความลื่นไหลทางเพศของเคและเติ้ลไม้ ความตื่นรู้ทางเพศของยุพิน สิงโต หรือบรรดาตัวละครรองๆ อย่างเต้ยที่รักและเลิกใครก็ได้อย่างง่ายๆ แต่ไม่ไร้สติ หรือหอยกี้ที่ไม่ได้มีปัญหาที่ตัวเองตั้งท้องตอนเรียน ม.6 (ความหวั่นไหวเดียวที่เธอมีคือเป็นห่วงพ่อแม่มากกว่าตัวเธอเอง) หนังให้ความเป็นธรรมกับบรรดาตัวละครวัยรุ่นเหล่านี้อย่างเสมอหน้า ไม่มีใครทำหน้าที่เป็นนิทานสาธกหรือบทลงโทษของการออกนอกลู่นอกทาง เซ็กซ์ของวัยรุ่น การรักเพศเดียวกัน ความลื่นไหลทางเพศ การท้องไม่พร้อม ไล่ไปจนถึงการที่ในที่สุดตัวละครปฏิเสธการประนีประนอมกับขนบของสังคม โดยเฉพาะสังคมในเรื่องเล่าที่ต้องมีอะไรเป็นคติสอนใจ หรือไม่ก็ยอมรับในขนบดั้งเดิม ให้ตัวละครที่ทำผิดได้รับการลงโทษแต่พอควร ให้สำนึกรู้และกลับเป็นเด็กดีของสังคมอีกครั้ง

หนังจบลงโดยไม่มอบภาวะ ‘แล้วโลกก็สงบสุขลงอีกครั้ง’ ไม่มี happily ever after ไม่มีสำนึกรักบ้านเกิด ไม่มีการยอมรับว่านี่คือการผิดศีลธรรม ไม่มีใครต้องโดนลงโทษให้รับกรรม ไม่มีคติสอนใจแบบอัดกระป๋อง ทางที่ตัวละครเลือกอาจเป็นทางที่ไม่มั่นคง ไม่น่ารอด ทางเลือกที่ชวนให้หวั่นหวิวใจ หนังจบลงโดยให้ตัวละครทุกตัวไปจากบ้าน ไปจากโนนหินแห่หลังเรียนจบ สวรรค์ ยุพิน สิงโต เค แข่ว เติ้ล หอยกี้ พากันไปจากที่นี่ ขึ้นรถทัวร์ไปกรุงเทพฯ นั่งท้ายรถกระบะไปเมืองนอก ไปเป็นแรงงาน ไปเป็นนักศึกษา ย้ายตามสามีฝรั่ง หรือไปตามหาความฝัน ทางเลือกอะไรก็ได้ที่ไม่มั่นคง ไม่สะดวกสบายเหมือนการเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่เป็นทางแบบที่ผู้คนเขาเลือกกันจริงๆ

เราอาจจะบอกได้ว่าในภาคต่อของชีวิตชาวโนนหินแห่ คงปรากฏเป็นภาพต่ายอรทัยลงรถทัวร์ ไผ่พงศธรลงรถไฟ หรือไมค์ ภิรมย์พรไปตื่นในเกาหลี ชีวิตยากจนของเหล่าแรงงานพลัดถิ่นที่ผลักกรุงเทพฯ อาจจะทาบทับเข้ากันพอดี ในเพลงเศร้าเหล่านั้น ในชีวิตที่ดูเหมือนจะเป็นเพียงรอยย้ำของความลำบากลำบน ความทุกข์ การคิดถึงบ้านและงานระดับล่าง หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์ช่วยเติมเต็มมิติอันสวยงามของผู้คนในฐานะผู้คนไม่ใช่แค่ตัวแทนแข็งทื่อของพวกเผาบ้านเผาเมือง พวกคนไร้การศึกษา หรือแม้แต่ดอกหญ้าในป่าปูนที่มักเศร้า ในทางเลือกหนึ่งผู้คนเลือกทางที่คิดว่าดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดที่ไม่มีใครไปสวมเลือกแทนใครได้ และทุกคนก็พร้อมจะรับผิดชอบในทางเลือกของตัวเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save