fbpx

‘กึ่งศตวรรษ วัฒน์ วรรลยางกูร ในสายธารวรรณกรรมไทย’ ชายผู้เขียนหนังสือทั้งชีวิต – ด้วยชีวิต

“ชีวิตต้องดีกว่า สังคมต้องก้าวหน้า สันติภาพต้องมีมา เป็นจริง, เป็นจริง ใช่เพียงฝัน”

ด้านบนคือบทกวีท่อนสุดท้ายบนปกหลังของ ‘ในสายธาร วัฒน์ วรรลยางกูร’ หนังสือที่ระลึกภายหลังการจากไปของ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพาเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมาที่ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังต้องลี้ภัยให้รอดพ้นจากอาชญากรรมโดยรัฐตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เมื่อรัฐไทยสนองตอบต่อการเหยียดหยัดกระดูกสันหลังด้วยความสัตย์จริงของวัฒน์ด้วยกฎหมายอาญา 112

แปดปีให้หลังจากนั้น วัฒน์ไม่เคยได้เหยียบแผ่นดินเกิด และต้องใช้ชีวิตในวาระสุดท้ายที่แผ่นดินอื่น

เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ครอบครัววรรลยางกูร ร่วมกับ เครือข่ายเดือนตุลา จัดงานเสวนา ‘กึ่งศตวรรษ วัฒน์ วรรลยางกูร ในสายธารวรรณกรรมไทย’ ในวาระการจากไปของวัฒน์ วรรลยางกูร และร่วมเสวนาโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนและบรรณาธิการเจ้าของนามปากกา ‘สิงห์สนามหลวง’, วาด รวี นักเขียนและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ไชน์และ ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน ผู้ปิดท้ายบทสนทนาด้วยบทอภิปรายที่เขียนขึ้นสำหรับงานเสวนา และในฐานะบรรณาธิการต้นฉบับ ต้องเนรเทศ งานเขียนลำดับสุดท้ายของวัฒน์

และเหล่านี้คือสายธารความทรงจำที่คนในแวดวงวรรณกรรมมีต่อวัฒน์ วรรลยางกูร

วัฒน์ วรรลยางกูรในความทรงจำ

อย่างคนที่เขียนหนังสือทั้งชีวิตและด้วยชีวิตเรื่อยมา ชื่อของวัฒน์ วรรลยางกูร จึงไม่อาจแยกขาดจากงานเขียนตลอดจนประวัติศาสตร์ทางการเมืองซึ่งในท้ายที่สุดก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เขาพลัดถิ่นเกือบทศวรรษ

การระลึกถึงวัฒน์จึงหมายรวมถึงการระลึกถึงชีวิตเขาในฐานะนักเขียน ร่วมกันกับโฉมหน้าการเมืองไทยในหลายขวบปีซึ่งมีส่วนสัมพันธ์อย่างยิ่งกับเนื้อตัวและงานเขียนของเขา

สุชาติ สวัสดิ์ศรี

สุชาติ สวัสดิ์ศรี

ในความทรงจำของสุชาติ เขาไม่อาจปักหมุดหมายวันและเวลาที่เจอกับวัฒน์ได้แน่ชัดนัก ภาพจำลางเลือนคือการทำความรู้จักกันหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 สงบลง วัฒน์ในวัยหนุ่มเข้ามาทำงานที่หนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของนักศึกษาฝ่ายหัวก้าวหน้า

สุชาติแบ่งช่วงชีวิต -อย่างกว้างและกระชับ- ของวัฒน์ออกเป็นเจ็ดฉาก “เริ่มตั้งแต่วัยเด็กซึ่งเขาเกิดที่ลพบุรีแต่มาโตที่เชียงราก ซึ่งปรากฏในนิยายเรื่อง ‘ด้วยรักแห่งอุดมการณ์’ ของเขา ฉากที่สองคือช่วงที่เขาเรียนหนังสือซึ่งผมว่าเต็มไปด้วยรายละเอียดเยอะ ที่แน่นอนที่สุดคือเขาเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม งานเขียนชิ้นแรกของวัฒน์คือเรื่องสั้นเรื่อง ‘คนหากิน’ เมื่อปี 2515 ซึ่งเขาส่งไปยังนิตยสารยานเกราะ แล้วจากนั้นวัฒน์ก็ส่งงานเขียนของเขาไปหลายที่ อย่างนิตยสารฟ้าเมืองไทย, ชัยพฤกษ์

“ช่วงที่สามคือช่วงที่เกิด 14 ตุลา ผมเข้าใจว่ามีผลสะเทือนต่อตัววัฒน์มาก งานเขียนของเขาถือกำเนิดขึ้นในช่วงนี้หลายเรื่อง มีเรื่องสั้นและบทกวีตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2518 ชื่อเรื่อง ‘นกพิราบสีขาว’ จากนั้นเขาก็เข้ามาทำงานประจำ เขียนคอลัมน์ช่อมะกอกให้หนังสือพิมพ์อธิปัตย์ เล่าเรื่องชีวิตชนบท ตีพิมพ์เป็นตอนๆ จนในที่สุดก็ถูกหยิบมารวมเล่มเป็นนิยายชื่อ ‘ตำบลช่อมะกอก’ และตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2519″

สิ่งหนึ่งที่วัฒน์ วรรลยางกูรปักหมุดหมายไว้ในฐานะนักเขียนหนุ่มในขวบปีแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือ เป็นนักเขียนที่เขียนคอลัมน์นิยายลงหนังสือพิมพ์จนได้รับการรวมเล่มเป็นนิยายขนาดยาว นั่นหมายความถึงการยึดถือเอาการเขียนหนังสือเป็นอาชีพเลี้ยงชีวิตจริงจัง สำหรับสุชาติมองว่า นับจากหลังยุค 14 ตุลามีเพียงการรวมเล่มเรื่องสั้นและบทกวีจากคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ ช่วงนั้นนักเขียนสายวรรณกรรมเพื่อชีวิตยังไม่มีใครเขียนนิยายเป็นตอนๆ จนรวมเล่ม จนกระทั่ง ‘ตำบลช่อมะกอก’ ของวัฒน์ได้รับการรวมเล่มและตีพิมพ์

“ผมคิดว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาทำให้เขามีความฝัน ความหวังในสิ่งที่เขาอยากฝันให้ไกลและไปให้ถึง แต่ก็ไปไม่ถึงเนื่องจากเกิด 6 ตุลา 2519 เสียก่อน และเหตุการณ์นี้ก็เป็นอีกฉากหนึ่งที่ทำให้เขาต้องเข้าป่า” สุชาติเล่า “สมัยนั้นเขาใช้ศัพท์ว่าเป็นการเดินทางไปศึกษาต่อต่างจังหวัด ผมเองก็คิดว่าคงไม่ได้พบกับวัฒน์อีกแล้วด้วยซ้ำไป”

หากว่าสำหรับสุชาติ เหตุการณ์ 14 ตุลาส่งผลต่อวัฒน์ในแง่ของการก่อร่างสร้างความฝันบางอย่าง อีกสามปีถัดจากนั้นเมื่อเกิดการพลิกขั้วทางการเมือง นำมาสู่การไล่ล่าคนที่มีแนวคิดคนละฟากจากรัฐบาลจนถึงตาย หลายชีวิตต้องระเห็จหายไปอยู่ในป่าเพื่อเอาชีวิตรอด วัฒน์ก็เป็นหนึ่งในนั้น และเช่นกัน แรงสะเทือนทางการเมืองครั้งนี้ส่งผลต่อตัวเขาโดยตรงหลายประการ มากต่อมากสะท้อนผ่านชิ้นงานที่ถือกำเนิดขึ้นหลังจากนั้น

“ผมว่า 6 ตุลาส่งผลสะเทือนต่อวัฒน์หลายเรื่อง เมื่อเขาต้องเข้าไปอยู่ในป่าก็เจอปัญหาและเขียนออกมาเป็นงาน ต้นฉบับของเขาหลายชิ้นถูกลำเลียงมาตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2522-2523 ไม่ว่าจะเรื่อง ‘ข้าวแค้น’, ‘น้ำผึ้งไพร’ หรือ ‘ใต้เงาปืน’ คุณเรืองเดช จันทรคีรี (บรรณาธิการและนักแปล) เป็นคนเดินทางเข้าไปข้างในป่าเพื่อเอาต้นฉบับออกมา เรื่อยมาจนบทกวีปี 2523 เรื่อง ‘เรือลำสุดท้าย’ ที่เล่าเรื่องปัญหาทางความคิด ก่อนที่เขาจะออกจากป่ามาในปี 2524 ซึ่งถือเป็นช่วงใหม่ที่ทำให้ผมได้เจอเขาอีกครั้ง

“ช่วง 66/23 (หมายถึงคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 มีเป้าหมายเพื่อยุติสถานการณ์ทางการเมืองและการขยายแนวร่วมของกลุ่มคอมมิวนิสต์ในเวลานั้น) ก็เป็นอีกฉากชีวิตของวัฒน์ เขาต้องออกมาจากป่าและต้องปรับสภาพ สำหรับผมแล้วนี่เป็นช่วงที่วัฒน์มีงานออกมาอย่างต่อเนื่อง หากจะให้พูดถึงวัฒน์ในฐานะบรรณาธิการกับนักเขียน ผมคิดว่าวัฒน์พยายามจะใช้งานเขียนเป็นอาชีพ แต่เขาก็ยังต้องไปทำงานเป็นกองบรรณาธิการให้สื่อหลายแห่ง กล่าวคือเขียนคอลัมน์ประจำแล้วเขียนนิยายของตัวเองไปด้วย”

งานเขียนของวัฒน์มักเล่าเรื่องราวของชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยในชนบทจนหลายคนมองว่าวัฒน์เป็นภาพแทนของวรรณกรรมเพื่อชีวิต หากแต่สุชาติชี้ให้เห็นความหลากหลายที่แฝงฝังอยู่ในเนื้องานนั้น ที่แม้จะเล่าเรื่องของคนลูกทุ่ง หากก็ตีพิมพ์ในหนังสือ สตรีสาร, ลลนา ที่กลุ่มคนอ่านอาจไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันกับตัวละครในงานเขียนของเขานัก “อย่างเรื่อง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ใครจะคิดว่านักเขียนเพื่อชีวิตจะเขียนเรื่องนี้ลงในนิตยสารบางกอก” สุชาติกล่าว ” ผมคิดว่าวัฒน์พยายามใช้งานเขียนเป็นการแสดงออกบางสิ่งบางอย่างในฐานะทางชนชั้น เขาคิดว่านิตยสารบางกอกนั้นสามารถลงไปถึงกลุ่มคนอ่านอีกระดับหนึ่งได้”

กับแง่มุมความสัมพันธ์ส่วนตัว ภายหลังจากขุดรื้อเอาชื่องานเขียน, ตัวเลขขวบปีออกจากลิ้นชักความทรงจำส่วนตัวออกมาอย่างคล่องแคล่ว ไม่มีติดขัด ก็อาจจะกล่าวได้ว่านี่เป็นครั้งแรกที่สิงห์สนามหลวงใช้เวลาหลายอึดใจเพื่อหาคำนิยามวัฒน์ วรรลยางกูร กับความสัมพันธ์ฉันท์มิตรน้ำหมึกในแง่มุมของเขา

“ผมมองว่าวัฒน์ไม่ตามใครแต่ไม่นำใคร” เป็นคำตอบแรกหลังเขานิ่งเงียบ “หากใครได้ขึ้นรถปิกอัปที่เขาขับจะสงสัยว่า นี่จะถึงจุดหลายปลายทางไหม คือความเป็นคนมีใจอิสระ พอเขาได้ขับรถก็จะขับเร็วมาก ครั้งหนึ่งเขาขับรถไปส่งผมที่รังสิต ผมยังสงสัยว่าจะถึงไหมวะ

“งานเรื่องสั้นของเขาที่ผมประเมินว่าน่าจะถึง 150 เรื่องนั้น จะพบว่าความอิสระของเขาทำให้งานเหล่านี้เต็มไปด้วยความหลากหลาย และทำให้เขาต่างไปจากนักเขียนกลุ่มเพื่อชีวิตที่เกิดขึ้นช่วง 6 ตุลาหรือแม้แต่หลังจากนั้น เพราะงานเขียนที่มีลักษณะเพื่อชีวิตนั้นมักมีการถกเถียงเรื่องการนำเสนอ หรือมีสูตรสำเร็จบางประการในงานนั้นๆ แต่ความโดดเด่นในงานของวัฒน์มีเพียงประการเดียว นั่นคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ อันจะเห็นได้จากเรื่อง ‘คนหากิน’ ที่เด็กสองคนคุยกันว่าแม่ทำอะไร คนหนึ่งบอกแม่เป็นคนหากิน อีกคนบอกไม่ได้ทำอะไรเลย

“และภายหลังเขาออกจากป่า พยายามปรับสภาพต่างๆ เรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2549, 2553 และ 2557 ตามลำดับ ผมพบว่าวัฒน์ชัดเจนมากขึ้น เขาเข้าไปเคลื่อนขบวนกับคนเสื้อแดง ขณะที่ตัวผมในเวลานั้นยังแวะข้างทางในบางที คือไปทำหนังบ้าง ทำงานอื่นบ้าง แต่วัฒน์เขาเดินทางเหมือนเขาขับรถปิกอัปนั่นแหละ คือตรงแน่วแน่ เป็นความชัดเจนที่ผมเห็นว่าเขามีหลักการและจุดยืนที่ชัดเจน เป็นตัวของตัวเองมาจนถึงฉากสุดท้าย คือนับจากปี 2557 จนมาถึงช่วงต้องเนรเทศ

“และนั่นแหละคือช่วงแปดปีที่ผมได้รับพลังจากเขามากมายเหลือเกิน”

วาด รวี


วาด รวี

เราอาจจะกล่าวได้ว่าความทรงจำของสุชาติ สวัสดิ์ศรีที่มีต่อวัฒน์ วรรลยางกูร คือความทรงจำที่ฝ่ายประชาธิปไตยมีต่อวัฒน์ หากแต่มันเป็นไปได้หรือไม่ ที่ความทรงจำดังกล่าวนั้นจะแตกต่างออกไปหากมองจากแง่มุมอื่น -และนี่คือคำถามที่ วาด รวี เปิดประเด็นขึ้นมา

“เวลาเรามองวัฒน์จากมุมมองปัจจุบัน ส่วนใหญ่เราจะเทียบกับเหตุการณ์ 14 ตุลาและรู้สึกว่าคุณวัฒน์ต่างจากคนรุ่นตุลาคนอื่นๆ ในแง่ของคนที่มีอุดมการณ์มั่นคง แต่ถ้ากลุ่มจารีตนิยมจะมีความทรงจำต่อวัฒน์อีกแบบหนึ่ง และผมว่าความทรงจำนี้ถูกต้องกว่าด้วย เพราะอุดมการณ์การสร้างงานของวัฒน์ไม่ได้เป็นอันเดียวตลอดตั้งแต่ 14 ตุลาจนถึงปัจจุบัน

“ช่วงแรกที่เขาเขียนหนังสือ ไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดกระแสเพื่อชีวิต กล่าวได้ว่าวัฒน์เป็นนักเขียนเพื่อชีวิตรุ่นแรกและเป็นสัญลักษณ์เลยก็ว่าได้ จุดเปลี่ยนของวัฒน์คือปี 2523 ที่เขาออกจากป่า วัฒน์ก็แบ่งช่วงงานเขียนของเขาด้วยตัวเองคือช่วงก่อนและหลังออกจากป่า ผมคิดว่าเขาเองก็รู้ตัวว่าอุดมการณ์ของเขาเปลี่ยนไป”

วาด รวีแบ่งงานของวัฒน์ออกเป็นสองช่วงใหญ่ ช่วงแรกคืองานที่มีอุดมการณ์เพื่อชีวิตอย่างชัดเจน มีธงในการเขียนว่าเขียนเพื่อประชาชนและตีแผ่การกดขี่ทางชนชั้น ยิ่งเมื่อการเมืองไทยพัดพาไปยังเหตุการณ์ 14 ตุลา ยิ่งทำให้วัฒน์ค้นพบอุดมการณ์บางประการที่ทำให้เขาเห็นเส้นทางการเขียนที่ชัดเจนขึ้น

หากแต่เมื่อการเมืองบีบคั้นจนนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลัง 6 ตุลา ย้ายสมรภูมิการต่อสู้ไปในป่าเขา ลากยาวจนกระทั่ง ‘ป่าแตก’ อันสะท้อนความพ่ายแพ้ของฝ่ายซ้าย

“สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับวัฒน์ตอนออกจากป่าปี 2523 คือการที่เขาต้องปรับตัว เขาออกจากป่ามาแบบคนพ่ายแพ้ และถึงเวลานั้นในเมืองก็มีกระแสวรรณกรรมสร้างสรรค์ขึ้นมาแล้ว มีการก่อตั้งรางวัลซีไรต์ ฉะนั้น วัฒน์จึงต้องปรับตัวเพื่ออยู่ต่อไปในฐานะนักเขียน เพื่อเอาตัวรอดในฐานะนักเขียนอาชีพ เขาจึงต้องเปลี่ยนอุดมการณ์”

วาด รวียกงานของวัฒน์ช่วงก่อนปี 2523 อย่าง ‘ตำบลช่อมะกอก’ ขึ้นมาเทียบกับ ‘ฉากและชีวิต’ ซึ่งถือกำเนิดในปี 2539 โดยสิ่งที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิงคือบทบาทความขัดแย้งระหว่างผู้คนกับเจ้าในเรื่อง “จาก ‘ตำบลช่อมะกอก’ ประเด็นในเรื่องคือข้อขัดแย้งเรื่องที่ดินระหว่างชาวบ้านกับเจ้า ซึ่งยังผลให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือต้องห้ามในเวลาต่อมา คุณลองเอาบทบาทของเจ้าในเรื่องนี้มาเทียบกับตัวละคร ‘ลุงหม่อง’ ที่มีเชื้อสายเจ้าใน ‘ฉากและชีวิต’ ดูก็ได้ คุณจะพบว่าบทบาทของเจ้าเปลี่ยนไป ลุงหม่องเป็นหนึ่งเดียวกับชาวบ้าน ไม่มีความขัดแย้งอะไร และนี่ย่อมสะท้อนว่า มีบางอย่างเปลี่ยนไปในงานของวัฒน์ มันคืออุดมการณ์ที่ล่มสลาย พ่ายแพ้

“วัฒน์ต้องตั้งคำถามกับตัวเอง ตั้งสติใหม่ว่าจะมุ่งเข็มงานเขียนของเขาไปสู่อะไร เขาไม่ได้พูดประเด็นทางชนชั้นหรือประชาชน เขาพูดเรื่องจิตใจของกวี คุณค่าของงานเขียน ซึ่งชี้ว่าลักษณะอุดมคติเกี่ยวกับการเขียนหนังสือเปลี่ยนไป และผมว่าเทียบกันกับนักเขียนรุ่นๆ เขาที่ออกมาจากป่าอย่าง วิสา คัญทัพ, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผมก็คิดว่าวัฒน์ปรับตัวได้เร็วที่สุด นิยายเล่มแรกที่เขาเขียนหลังออกจากป่าคือ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ซึ่งมันไม่มีประเด็นทางชนชั้นเลย มันพูดถึงชีวิตชาวบ้านธรรมดา ซึ่งผมว่าเป็นความจงใจและพยายามพิสูจน์ตัวเองของวัฒน์ในการจะเป็นนักเขียนต่อไปแม้อุดมการณ์จะล่มสลาย ผมว่าเขาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการปรับตัวเข้ากับบรรยากาศใหม่หลังการพ่ายแพ้ของฝ่ายซ้าย และสังคมใหม่ที่มีในหลวงภูมิพลเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนการไม่พูดถึง 6 ตุลาในแง่ของการต่อสู้แบบเดิม”

อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยโยนผู้คนกลับไปกลับมาระหว่างอดีตและปัจจุบันอีกครั้งเมื่อดำเนินมาถึงการรัฐประหารปี 2549 ช่วงนั้นวัฒน์มีหนังสือออกเพียงเล่มเดียวคือ ‘ปลาหมอตายเพราะไม่หายใจ: วรรณอําการเมือง’ ซึ่งวาด รวีชี้ว่า วัฒน์ยังอยู่ในภวังค์ความคิดแบบเดียวกับนักเขียนไทยหลายๆ คน นั่นคือยังสับสนและงุนงงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนจะแสดงตัวตนว่าอยู่กับคนเสื้อแดงอย่างชัดเจนอีกทีก็ในปี 2552 “ผมคิดว่าประเด็นที่น่าสนใจในแง่ผลงานของวัฒน์ เขาเคยให้สัมภาษณ์ลงนิตยสารอันเดอร์กราวราวปี 2555 เล่าว่าช่วงก่อนที่เขาจะออกจากป่านั้นเขายังมึนงง ไม่เหมือนตอนนี้ ผมจึงคิดว่าสิ่งที่เกิดกับวัฒน์หลังปี 2549 คือเขาค้นพบความจริงใหม่อีกอย่างหนึ่ง ประเด็นที่เห็นได้ชัดคือหลังปี 2549 เขาไม่มีนิยายออกมาเลย นี่คือชีวิตของนักเขียนที่เป็นสัญลักษณ์ของวรรณกรรมเพื่อชีวิตนะครับ

“เขาเคยมีอุดมการณ์ชุดหนึ่ง และอุดมการณ์ชุดนั้นล่มสลายไปแล้วจนเขาต้องปรับตัว ผลิตงานให้ได้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในช่วงเกือบ 20 ปี ก่อนจะเจอเหตุการณ์ปี 2549 ที่ทำให้สถานการณ์พลิกกลับไปอีกทีหนึ่ง ซึ่งทำให้วัฒน์พบว่างานตัวเองในช่วงที่ประสบความสำเร็จอย่างที่สุดนั้นไม่ตอบโจทย์เขาอีกต่อไปแล้ว หรือก็คือมันบีบให้เขาต้องกลับไปหาอุดมการณ์ก่อน 14 ตุลาอีกครั้ง ชีวิตของเขาจึงถูกเหวี่ยงกลับไปกลับมาเช่นนี้”

‘มิตรน้ำหมึก’ แวดวงนักเขียนไทยในห้วงยามของการเปลี่ยนแปลง

ทั้งก่อนหน้าและภายหลังจากที่วัฒน์ วรรลยางกูร ถูกอำนาจรัฐกดขี่จนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศเมื่อปี 2557 ปฏิเสธไม่ได้ว่าปฏิกิริยาของแวดวงนักเขียนไทยที่มีต่อเขานั้นน่าพิศวงอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ช่วงขวบปีแห่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยแห่งยุคตุลา ที่วัฒน์และเหล่าสหายน้ำหมึกคือกลุ่มนักเขียนที่ยกย่อง เชิดชูเสรีภาพประชาธิปไตย ขยับมายังการแบ่งขั้วทางการเมืองในขวบปี 2549 และปิดฉากด้วยการรัฐประหาร ก่อนจะซ้ำด้วยการยึดอำนาจอีกครั้งในปี 2557 ซึ่งยังผลให้วัฒน์ต้องลี้ภัยออกจากประเทศไทยนับแต่นั้น

คำถามสำคัญคือ ในเส้นเรื่องแห่งความพลัดถิ่น การถูกพิจารณาว่าเป็นอื่นทางการเมืองนี้ มี ‘มิตรน้ำหมึก’ กี่คนที่เคียงข้างวัฒน์


สุชาติ สวัสดิ์ศรี

สำหรับ ‘สิงห์สนามหลวง’ เอาเข้าจริงนี่อาจไม่ใช่คำถามที่ให้คำตอบได้โดยง่ายนัก หากวัดจากภูมิทัศน์ทางการเมืองในระยะสิบกว่าปีให้หลัง

“ปี 2549 เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของหลายสิ่งหลายอย่าง ตัวผมเองก็เช่นกัน” สุชาติเล่า “ช่วงนั้นม็อบเสื้อเหลืองยังไม่ใช้ชื่อพันธมิตรเลย แล้วก็มีคนชวนผมไปขึ้นเวทีเสื้อเหลืองที่สนามหลวง ผมก็ไป ไม่มีเหตุผลต้องปิดบังหรือทำเบลอ ผมไปในนามแถลงการณ์แนวร่วมนักเขียนแห่งประเทศไทย และบอกด้วยว่าคุณทักษิณคือตัวปัญหา และประสบการณ์ที่ชัดเจนคือ เมื่อลงจากเวทีไปแล้ว สิ่งที่ผมพูดนั้นได้กลายไปเป็นเครื่องมือของเขาโดยตรง เพราะคนเหล่านั้นมีหมุดหมายในใจเรียบร้อยแล้วว่าจะถวายพระราชอำนาจคืนและให้มีนายกฯ คนนอก

“หลังจากนั้นก็มีการรัฐประหาร 2549 ผมรู้สึกเหมือนถูกหักหลัง และเข้าใจชัดเจนขึ้นมาทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ยังเบลอๆ อยู่จนมาเกิดกรณีปี 2553 ที่คนเสื้อแดงถูกฆ่า ความชัดเจนตรงนี้ทำให้ผมตาสว่างทันที และหลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 ดังนั้น ผมก็สำนึกว่าผมทำอะไรไว้ จะทำลอยๆ เบลอๆ ต่อไปคงไม่ได้ ขณะที่วัฒน์นั้น ผมว่าเขาชัดเจนมาโดยตลอดว่าแม้จะพยายามปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลลงต่างๆ แต่เขาก็ไปร่วมขบวนกับฝั่งคนเสื้อแดงเสมอมา”

สำหรับแวดวงนักเขียน สุชาติมองเห็นความนิ่งเฉยนับตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งมีการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 จากกรณีอากง (อำพล ตั้งนพกุล -ผู้ถูกกล่าวหาในความผิดมาตรา 112) เรื่อยมาจนถึงการปราบคนเสื้อแดงในปี 2553 หากแต่ก็วงการเดียวกันนี้ที่ ‘กลับมา’ คึกคักอีกครั้งในช่วงปี 2557 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

“สำหรับผมมันเหมือนโลกคู่ขนาน ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นคนหัวก้าวหน้า อยู่ฝั่งประชาธิปไตย แต่ในเวลานี้กลับสนับสนุนรัฐประหารและเผด็จการจนถึงช่วงที่วัฒน์ต้องลี้ภัย” สุชาติกล่าว “จำได้ว่าเมื่อวัฒน์ไปถึงฝรั่งเศสเรียบร้อย ผมรู้สึกมีความสุขมากๆ เราคุยกันทางกล่องข้อความ วัฒน์บอกว่าพี่ อยู่มาจนป่านนี้ไม่ต้องเอาอะไรไปแลกอีกแล้ว เพราะเขาเป็นห่วงผมที่เปิดหน้ามาตั้งแต่ปี 2557 แต่ผมคิดว่ามันเล็กน้อยมากเลยเมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาเจอ แม้เมื่อผมโดนปลดจากการเป็นศิลปินแห่งชาติก็ตาม” สุชาติบอก

“วันนี้เมื่อวัฒน์ลาจากไปแล้ว ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าคนในแวดวงวรรณกรรมมองวัฒน์อย่างไร สำหรับผม ผมว่าวัฒน์เขาไปสุดจริงๆ โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับใครเลย ผมเองยังไปไม่ถึงตรงนั้น ยังเปล่งเสียงอย่างที่วัฒน์ทำไม่ได้ ผมว่าหลัง 14 ตุลาเราเคยมีวลีประเภท ประกายไฟไหม้ลามทุ่ง จนเมื่อเกิด 66/23 ผมก็เรียกว่าประกายไฟไม่ลามทุ่ง คือเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่าบาดแผลทางวรรณกรรม

“และนอกจากนั้น ผมว่าเหตุการณ์ 66/23 คือจุดจบของเพื่อชีวิตด้วยซ้ำ แม้ว่าหลังจากนั้นคำนี้มันจะขายได้แต่ไม่มีพลังอย่างที่เคยเป็นก็ตาม นี่ทำให้ผมไม่ใช้คำว่าเพื่อชีวิตแต่หันไปใช้คำว่า ‘สร้างสรรค์’ ขึ้นมาแทน วัฒน์เองอยู่ในขบวนเพื่อชีวิต แต่เขาก็รับรู้ว่าควรต้องขยายการทำงานศิลปะให้มีพลังมากขึ้น ศิลปะนั้นจะเพื่ออะไรก็ช่าง แต่ทำอย่างไรจึงจะให้มันมีชีวิต มีอิสระ เสรีภาพ งานเขียนที่เขาพยายามสร้างช่วงหลังออกจากป่าจึงมีความหลากหลาย แต่ยังมีนัยของการต่อสู้ทางชนชั้นและความเหลื่อมล้ำด้วย”


วาด รวี

วิกฤตทางการเมืองหลายต่อหลายครั้งกลายเป็นหมุดหมายบางอย่างของผู้คน ทั้งในแง่ตัวตนและการงาน เช่นเดียวกับที่วาด รวีมองผ่านเข้าไปยังงานเขียนที่ผ่านมาของวัฒน์ วรรลยางกูร โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้าที่วัฒน์จะออกจากป่าด้วยเหตุการณ์ 66/23 งานเขียนของวัฒน์ยังไม่มีลักษณะปัจเจกนิยม

“ลักษณะที่คงเส้นคงวาของวัฒน์คือ เขาโรแมนติกกับความทุกข์ยาก ความยากจน เห็นแง่งามของชีวิตชนชั้นล่าง แต่หลังออกจากป่า ผมคิดว่าเราจะพบลักษณะปัจเจกนิยมที่ผนวกเข้ากับความโรแมนติกซึ่งกลายเป็นเนื้อตัวงานของวัฒน์หลังออกจากป่าจนถึง 2549 หรือก็คือบรรดางานเขียนในช่วงพีกของเขา ซึ่งหากอ่านให้ละเอียด จะพบว่ามุมมองที่เขามองเรื่องความเหลื่อมล้ำเปลี่ยนไป คือมองมันเป็นลักษณะปัจเจกนิยมโรแมนติก” วาด รวีสาธยาย “ผมคิดว่าวัฒน์มีท่าทีค่อนข้างรับฟังและพร้อมปรับตัวมากกว่านักเขียนรุ่นเดียวกันอย่างวิสา คัญทัพ และวัฒน์ก็ปรับตัวได้สำเร็จด้วย งานเขาก็เป็นที่ยอมรับในกระแสวรรณกรรมใหม่

“ผมคิดว่างานของนักเขียนที่ออกมาจากป่ามีลักษณะของอารมณ์ที่อกหักจากอุดมการณ์ล่มสลาย การพยายามเปลี่ยนแปลงโลกซึ่งไม่ประสบความสำเร็จแล้วพ่ายแพ้ จากนั้นจึงหันไปหาภาวะภายในตัวมนุษย์ คือไปลงลึกกับความเป็นมนุษย์แทน ซึ่งทั้งหมดนี้ไปเข้าทางวรรณกรรมสร้างสรรค์ของสุชาติที่เน้นเรื่องการลงลึกในตัวมนุษย์เหมือนกัน แน่นอนว่าสไตล์นี้ก็ช่วยให้วรรณกรรมพัฒนาขึ้น ทำให้ตัวละครสมจริงขึ้น ลึกขึ้นจริง และก็พูดได้ว่าทำให้ศิลปะในการประพันธ์ถูกยกระดับขึ้น

“แต่ในด้านหนึ่ง ก็จะพบว่ามันมีความประนีประนอมเรื่องการกดขี่และความเหลื่อมล้ำมากขึ้นกว่าที่เคย ไม่เด็ดขาดเหมือนช่วง 14 ตุลา 2516 มากไปกว่านั้น ช่วงหลังปี 2549 ประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นช่วง 14 ตุลามันเด้งกลับมาใหม่ และวัฒน์มีปัญหากับความคิดนี้ซึ่งทำให้เขาเขียนงานออกมาหลังปี 2549 ไม่ได้เลย”

สำหรับวาด รวี ชัดเจนว่าวิกฤตทางการเมืองทำให้หลายอย่างในสังคมไทยที่เคยรวมศูนย์ได้แตกกระจายลง จากที่เมื่อก่อนนั้น คำนิยามหรือคำอธิบายเดียวสามารถใช้ตอบคำถามได้อย่างครอบคลุม เวลานี้ก็ไม่อาจทำเช่นนั้นได้อีกแล้ว “นับตั้งแต่เกิดวิกฤต ศูนย์กลางการอธิบายมันหลากหลายมาก คนในแวดวงนักเขียนเองก็มองประเด็นต่างๆ จากศูนย์กลางของตัวเอง วัฒน์เองอธิบายจักรวาลทางการเมืองไม่ตรงกับสุชาติ หรือเนาวรัตน์ (พงษ์ไพบูลย์ -นักเขียนและนักการเมือง) ก็มีวิธีการมองและอธิบายของเขา ซึ่งผมว่าทั้งหมดนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ และตอนนี้เป็นเรื่องระหว่างการต่อสู้กันทางความคิด สำหรับคนรุ่นผมขึ้นไป คำว่าชุมชนวรรณกรรมมันมีความหมายนะ แต่ไม่แน่ใจว่ามันจะยังมีความหมายสำหรับคนรุ่นใหม่อยู่หรือเปล่า เราผิดหวังกับชุมชนนี้ แต่ที่ต้องถามคือ เวลานี้ ชุมชนวรรณกรรมยังมีอยู่จริงไหม หรืออาจจะไม่มีแล้ว

“ผมว่างานเขียนสไตล์วัฒน์เป็นงานที่ไม่ค่อยมีคนเขียนแล้ว นอกจากนี้ตัวงานวรรณกรรมและนิยามของมันก็เปลี่ยนไป งานของวัฒน์ผลิตมาจากน้ำเนื้อของชีวิตแบบชาวบ้าน งานของวัฒน์คืองานแบบลูกชาวบ้านที่สามารถขึ้นมาเป็นนักเขียนได้ ซึ่งอันนี้ผมว่าเราต้องให้เครดิตวรรณกรรมเพื่อชีวิต แต่หลังจากปี 2540 คนที่จะขึ้นมาเป็นนักเขียนส่วนใหญ่นั้นเป็นชนชั้นกลาง การแต่งหนังสือกลายเป็นวัฒนธรรมของชนชั้นกลาง หายากที่จะเป็นชาวบ้านมาเขียนเรื่องแต่ง

“ผมว่าสไตล์ของวัฒน์เป็นรอยจารึกบางอย่าง คืองานหรือผลิตผลบางอย่างที่เป็นเสียงของชาวบ้านจริงๆ ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะเกิดนักเขียนเช่นวัฒน์ขึ้นมาได้”

ไม่กลับ : การลาลับเพื่อคงอยู่ของวัฒน์ วรรลยางกูร

ไอดา อรุณวงศ์

งานเสวนาปิดท้ายลงด้วย ‘ไม่กลับ : การลาลับเพื่อคงอยู่ของวัฒน์ วรรลยางกูร’ บทอภิปรายของ ไอดา อรุณวงศ์ ที่เขียนถึงวัฒน์ ทาง 101 จึงขอยกบทอภิปรายของไอดามาลงไว้ ณ ที่นี้


เมื่ออ่านต้นฉบับหนังสือ ต้องเนรเทศ ของคุณวัฒน์ วรรลยางกูร จบลงในรอบแรก ข้าพเจ้ารู้สึกไม่สบายใจ และคล้ายจะรู้สึกหวั่นใจอยู่ลึกๆ

ข้าพเจ้าไม่ทราบจะขอร้องเขาอย่างไร

ว่าอย่าเขียนราวกับว่ามันจะเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายของชีวิต

แต่จะว่าอย่างไรได้ ก็มีอยู่หลายครั้งในชีวิตมิใช่หรือ ที่เราหวังให้คำว่า ‘ครั้งสุดท้าย’ คือหมุดหมายของบรรลุถึงเบื้องปลาย ว่ามันจะถึงที่สุดแห่งชัย ไม่ต้องเผื่อ ไม่ต้องผัดอีกต่อไป มันจะหมายถึงการพ้นจากภาวะของคำว่า ‘ครั้งแล้วครั้งเล่า’ ไปได้ เพราะว่ามันคือครั้งสุดท้าย คือที่สุดของความสมบูรณ์แบบดังใจ

แต่ที่ตลกร้ายคือ เรามักไม่มีวันได้อยู่เห็นมัน

ข้าพเจ้านึกถึงท่อนหนึ่งในบทกวีที่ชื่อ ‘เรือลำสุดท้าย’ บทกวีชิ้นสำคัญที่คุณวัฒน์เขียนในปี 2523 ก่อนที่เขาจะหันหลังกลับจากป่า คุณวัฒน์เขียนในลักษณะที่เป็นการทบทวนตัวเอง และทบทวนต่อสิ่งที่เรามักเรียกกันว่า ‘ขบวน’ ด้วยการใช้คำถามว่า

เราจะเป็นเรือลำสุดท้ายของเส้นทางหรือไม่?
เมื่อไรจะถึงแผ่นดินสีทอง?  (‘เรือลำสุดท้าย’, ธงปฏิวัติ, ส.ค. 23)

คุณวัฒน์ใช้อุปมาของเรือ มาหักกับอุปมาของ ‘ขบวน’ หรือขบวนรถไฟ ที่มักใช้กันในหมู่นักต่อสู้ เขาไม่เชื่อในการขับเคลื่อนแบบขบวนรถไฟที่มีคนไม่กี่คนเป็นผู้ขับนำพา แล้วคนร่วมขบวนเป็นเพียงผู้นั่งโดยสาร ที่หากไม่พอใจก็มีแต่ต้องลงกลางทางไปเองอย่างช่วยไม่ได้ แต่อุปมาที่คุณวัฒน์เลือกมาใช้แทน คือเรือ พาหนะที่ขับเคลื่อนโดยแรงพายของทุกคนบนลำเดียวกัน ช่วยกันอุดรูรั่ว ช่วยกันเร่งฝีพาย “โปรดหยุดเพ้อฝันถึงขบวนรถไฟ” เขาเขียนไว้อย่างนั้น

หลังเขียนบทกวีชิ้นนั้นไม่นาน เขาตัดสินใจกลับจากป่า คงเพราะเขาเห็นว่า นั่นไม่ใช่เรือลำสุดท้าย

ใช่แต่ตัวพาหนะ เครื่องมือก็ถูกอุปมาเป็นคู่ขัดแย้ง ระหว่าง ดาบ กับ ไม้พาย  ในปี 2524 หลังออกจากป่า เขาตีพิมพ์บทกวีชิ้นหนึ่งที่ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการทบทวนตัวเองอย่างซื่อสัตย์และน่าสะเทือนใจ เขาตั้งชื่อบทกวีนั้นว่า ‘กลับมาเมื่อฟ้าค่ำ’ ที่ลำพังชื่อ ก็สะท้อนการยอมรับสำนึกต่อความแพ้พ่าย ไม่ฟูมฟายกล่าวโทษใครนอกจากตัวเอง เป็นเจ้าขุนทองที่ยอมรับว่าไม่อาจทำได้ดังคำมั่นสัญญา เพราะมันกลับมาเสียเองแล้วตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง ทั้งยังยอมรับความเขลาเย่อหยิ่งของตน ที่ทิ้งไม้พายไปคว้าดาบ ด้วยหลงละเมอไปว่าดาบคือดอกไม้ ด้วยลุ่มหลงลำพองไปว่า “ดาบในมือข้าจะไม่เหมือนดาบในมือผู้อื่น” เขาเขียนตอกย้ำตัวเองไว้ท่อนหนึ่งในบทกวีว่า

คมดาบไม่ใช่กลีบดอกไม้
ดาบไม่ใช่บาป ดาบไม่ใช่บุญ
เมื่อดาบถูกทำให้กลายเป็นบาป ดาบอาจกลายเป็นบุญ
ดังตำนานหาญกล้าครั้งเจ้าขุนทองไปปล้น
ดาบคือดาบ คือบาดแผลและความเจ็บปวด
มันไม่เคยเลือกหน้า  (‘กลับมาเมื่อฟ้าค่ำ’, สนพ. อาทิตย์, 2524)

คุณวัฒน์วางดาบ แล้วกลับมาออกมาใช้ชีวิตอย่างนักเขียนที่เป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง เขียนหนังสือที่เล่าถึงชีวิตของผู้คนธรรมดารอบตัวอันหลากหลาย  เขากลับมาหาไม้พาย ในวันที่ไม่มีเรือ

ในฐานะคนรุ่นถัดมาที่บังเอิญว่าเป็นเพศหญิง ข้าพเจ้าเคยนึกดูเบาและนึกระอา ว่าเขาคงไม่ต่างอะไรจากบุรุษปัญญาชนหกตุลาน่าเบื่ออีกหลายคน ที่มีปมฝันค้างเรื่องความเป็นฮีโร่ ไม่รู้จักโต ไม่รู้จักเลิกเป็นลูกแหง่ แต่ข้าพเจ้ามาสะดุดใจเขาจากวงเสวนาครั้งหนึ่งในยุคของการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่เขาเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง เขาพูดในลักษณะที่เกือบจะเป็นทั้งการสำนึกในบุญคุณและการสารภาพบาปอย่างไม่อายบนเวทีในห้องประชุมที่ล้นไปด้วยคนเสื้อแดงว่า เขาได้กลับมามีแรงใจ กลับมามีศรัทธาในการต่อสู้อีกครั้ง ก็เพราะการอุทิศตัวอย่างเข้มแข็งของคนเสื้อแดง จากที่เขาเคยเป็นคนขี้แพ้ไม่เอาถ่านมานานหลังการปฏิวัติอันล้มเหลวครั้งอดีต บัดนี้เขากลับมามีเรี่ยวแรงกำลัง พร้อมทุ่มเทอีกครั้ง

การที่นักเขียนสักคนจะพูดอะไรอย่างนั้นออกมาไม่ใช่เรื่องเท่แต่อย่างใดในยุคสมัยอันอ้างว้างนั้น ที่การยืนอยู่ข้างคนเสื้อแดงยังไม่ถูกนับว่าเป็นความก้าวหน้า ข้าพเจ้าจำได้ว่าข้าพเจ้าฝากคุณเพียงคำ ประดับความ ไปบอกเขาว่า ข้าพเจ้าอยากให้เขาลองเขียนงานอีกสักชิ้นในยุคเสื้อแดงนี้ ข้าพเจ้าจะรอตีพิมพ์ให้  เหตุที่ข้าพเจ้าเสนอไปอย่างนั้นก็เพราะข้าพเจ้านึกถึงเรื่องสั้นในตำนานเรื่องหนึ่งของเขา ที่ชื่อ ‘ก่อนถึงดวงดาว’ ซึ่งเขาเขียนไว้ในวัยหนุ่ม ในเรื่องนั้นมีตัวละครเอกคือแม่ ที่เป็นแต่เพียงชาวบ้านยากจนไม่รู้ประสา ที่ต้องมาเรียนรู้เรื่องการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์อันเสียสละของลูกชายที่ชื่อ ‘ร้อย’ ข้าพเจ้าสนใจว่า ในวันนี้ที่เขาไม่ได้มองตัวเองเป็นพระเอกผู้เผยแผ่อุดมการณ์อีกต่อไป หากแต่กลายเป็นฝ่ายรับแรงบันดาลใจจากชาวบ้านธรรมดาเสียบ้าง และเข้ามาร่วมต่อสู้อย่างเท่าเทียมกันนั้น มุมมองสายตาที่ใช้ในการเขียนและจัดวางตัวละครนั้นจะเปลี่ยนองศาไปอย่างไร มันอาจเสี่ยงต่อการถูกมองว่าโรแมนติไซส์ชาวบ้านหรือคนเสื้อแดงก็ได้ แต่สำหรับข้าพเจ้า สิ่งที่ยากกว่าเสมอมาของปัญญาชนนักเขียนนักต่อสู้ของไทย คือการไม่รู้จักเลิกโรแมนติไซส์ตัวเองในฐานะพระเอกผู้นำการต่อสู้ให้ได้เสียที

แต่เขาก็ไม่มีเวลาและสมาธิที่จะเขียน เขาง่วนอยู่กับการเดินสายงานวัฒนธรรมไปยังพื้นที่ต่างๆ ยุ่งอยู่กับการจัดและเข้าร่วมกิจกรรมกับคนเสื้อแดง จนกระทั่งเกิดรัฐประหารในปี 2557 แล้วเขาก็ตัดสินใจ ‘เข้าป่า’ อีกครั้ง

ด้วยชีวิตรอนแรมของผู้หลบภัย ข้าพเจ้าไม่กล้าถามถึงต้นฉบับจากเขาอีกต่อไป

ข้าพเจ้าไม่แน่ใจหรอกว่าเขาจำได้หรือไม่ถึงคำขอต้นฉบับของข้าพเจ้าในครั้งนั้น แต่ในต้นฉบับที่ข้าพเจ้าได้รับมาจริงๆ ในครั้งนี้ มันยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าเคยคาดหวังไว้ เขาไม่เพียงไม่เขียนด้วยสายตาที่สูงส่งกว่า แต่เขาลดฐานะตัวเองลงมาเป็นตัวละคร ที่ไม่เพียงไม่ใช่พระเอกอีกต่อไป แต่ยังกลายเป็นแค่ตัวเอกขี้แพ้ที่เพียงแต่พยายามยืนหยัดสู้ต่อไป ในสภาพที่เขาเรียกว่า “บักหำเหี่ยวตุหรัดตุเหร่”

หนังสือเล่มสุดท้ายของเขาเล่มนี้เริ่มต้นบทแรกด้วยการเล่าภาพรวมของเส้นทางจากฝั่งโขงถึงปารีส เส้นทางการบินของนกปีกหักที่ต้องเอาชีวิตรอดจากการไล่ล่าสังหาร จนได้พ้นจากสถานะ ‘ผู้หลบภัย’ ตามยถากรรม กลายมาเป็น ‘ผู้ลี้ภัย’ ในนิยามอย่างเป็นทางการ

บทที่ 2 ชื่อ ‘คิดถึงท่าเสา’ เป็นการเล่าย้อนอดีตกลับไปที่บ้านท่าเสา กาญจนบุรีของเขา เป็นบทที่อบอวลด้วยรายละเอียดของความรักความผูกพัน เขาเขียนไว้ว่า “ท่าเสาสำหรับผมไม่ใช่แค่จุดพักเหนื่อย แต่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต” (106)  ความรักบ้านของเขา ผูกกับตัวบุคคลที่เขารัก คือคุณอัศนา หรือสหายรุ่งโรจน์ คนรักที่ผูกพันกันมาตั้งแต่ครั้งเป็นนักรบในเขตป่าเขา และทำให้ความคิดถึงท่าเสาในบทนี้จึงพลอยเล่าพ่วงไปถึงภูพาน มันเป็นบทที่หลอมรวมความหลังอันชวนให้รู้สึกทุกข์ทรมานแทนเขายิ่งนัก ที่ต้องมาเขียนถึงมันในยามไกลบ้าน

บทที่ 3, 4 และ 5 คือมหากาพย์ช่วงลี้ภัย เราเคยคุยกันว่า นี่คือสิ่งที่ทำให้งานวรรณกรรมต่างออกไป มันไม่ได้เพียงบอกให้คนอ่านรับรู้ข้อมูลการกินอยู่และผู้คน แต่มันทำให้เราเข้าถึงและร่วมรู้สึกได้ถึงภาวะที่คนคนนั้นเผชิญอยู่ ภาวะทางจิตใจที่กำหนดจากสถานการณ์ของผู้ไม่อาจกำหนดอะไรได้ ข้าพเจ้าสะเทือนใจที่สุดกับบทที่ 4 ที่เขาตั้งชื่อว่า ‘เนินลมโชย’ เขาบรรยายถึงชีวิตที่พยายามตั้งหลักในประเทศที่สอง มันอาจเป็นชีวิตกันดารห่างไกล แต่เราสัมผัสได้ว่ามันสะท้อนความคิดถึงบ้านท่าเสาและความพยายามจำลองเอาสิ่งที่สูญเสียไปกลับคืนมา ในบ้านที่ไม่ใช่ ในครอบครัวที่ไม่เหลือใครนอกจากตัวเองลำพัง การเลือกไปพยายามปักหลักในพื้นที่อย่างนั้นแทนการอยู่ในพื้นที่หลบภัยชั่วคราวที่สบายกว่าในประเทศเพื่อนบ้านแห่งแรก คือการยืนยันแล้วว่า การออกมารอบนี้ของเขาไม่ใช่อย่างการ ‘เข้าป่า’ ประเภทมาทัศนศึกษาดูงานชั่วคราวเพื่อรอวันกลับบ้านคืนเมือง เพราะเขาไม่คิดหันหลังกลับ เขายืนยันการเป็นธุลีอิสระที่จะไม่กลับไปอยู่ใต้ฝ่าเท้าผู้ใดที่อยู่ใต้กะลาอีกที อาณาบริเวณที่เขาต้องการ คือป่าผืนใหม่ ที่เขาจะเข้าไปเป็น ‘เจ้าป่าขี้เมา’ เหมือนอย่างที่เขาเคยเป็นที่บ้านท่าเสา

การบรรยายของเขาในหนังสือเล่มนี้ ใช้สรรพนามแทนตัวเองสลับไปมาระหว่าง ผม เขา ฉัน ตามแต่ห้วงคำนึงสถานการณ์ ในภาวะที่เปราะบางอ่อนไหว  ข้าพเจ้าสังเกตว่าเขากลายจาก ‘ผม’ เป็น ‘ฉัน’  ในวันที่เขาไปถึงเนินลมโชยแห่งนั้น เขาบรรยายราวกับเป็นการได้ไปถึงยังแผ่นดินสุดท้ายที่อบอุ่นปลอดภัยเท่าที่จะเป็นไปได้ ที่จะไม่ต้องรอนแรมไปไหนอีกแล้ว ไม่ต้องรู้สึกเดียวดายอีกแล้วแม้ตัวคนเดียว เขาเขียนไว้ว่า

ฉันเห็นตัวเองยืนอยู่กลางดงทิวแถวต้นยมหินนับร้อยต้น
กิ่งก้านยมหิน คือมือที่ยื่นออกมาต้อนรับ ทักทาย โอบกอด รับขวัญ…
มะพร้าวสูงด้านหน้าเจ็ดแปดต้น น้อมกายสูงก้มลงมาโบกมือต้อนรับ
มาสิ มาอยู่ด้วยกัน ฉันอยู่ที่นี่มาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ที่นี่สงบ ปลอดภัย ขอให้เธอไว้วางใจพวกเรา เราเป็นมิตรสหายไม่หักหลังกัน
ฉันมองเห็นตัวฉัน เดินไปโอบกอดต้นมะพร้าว ความรู้สึกของเราตรงกัน คือเราอยากมีเพื่อน อยากมีมิตรสหายที่ไว้วางใจได้  (335)

แต่ชะตากรรมอย่างผู้หลบภัยไม่อนุญาตให้เขามีได้กระทั่งบ้านจำลอง เขาต้องระหกระเหินอีกครั้ง โดยในระหว่างการรอนแรม ‘เข้าป่า’ ของศตวรรษที่ 21 นี้ เขาเหมือนได้กลับไปเผชิญหน้ากับอดีตในป่าเมื่อศตวรรษก่อนของเขาอีกครั้ง เพียงแต่ในครั้งนี้ ‘สหาย’ ของเขาไม่ใช่ปัญญาชนหนุ่มสาวผู้เร่าร้อนวิชา หากคือสหายที่เขาเรียกว่าเป็นเหมือน ‘เส้นด้ายเปื่อยๆ’ จากอดีตที่ยังเชื่อมถึงกัน สหายที่ยังคงอยู่กับเส้นทางปฏิวัติอันแร้นแค้นและรกร้างจากอดีตกาล ส่วนสหายจากเมืองที่เข้าป่าไปรอนแรมกันดารกับเขาในรอบนี้ ก็กลายเป็นบรรดานักรบเสื้อแดงนิรนามบ้างไม่นิรนามบ้าง ที่เนื้อตัวมอมแมมแปดเปื้อนไปคนละทาง เขานั่งมองเพื่อนร่วมชะตากรรมเหล่านั้นจากระดับสายตาที่เสมอกันได้ เพราะเขาลดระดับองศาของสายตาในการมองตัวเองลงมาแล้วเช่นกัน เขาเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

พวกเขาผ่านการล้อมปราบกลางเมืองเมื่อปี 2553 เป็นกลุ่มคนที่ถูกไล่กระทำย่ำยีโดยคนติดอาวุธสงคราม บาดเจ็บเป็นพัน ล้มตายเป็นร้อย ถ้าต้องการให้ทุกอย่างจบลงโดยสงบสันติ ฝ่ายผู้ถูกกระทำจะต้องได้รับการเยียวยาทั้งทางจิตใจ และการชดเชยค่าเสียหาย ต้องมีกระบวนการยุติธรรม สะสางอะไรถูก-ผิด แต่ในเมื่อกระบวนการเยียวยาและกระบวนการยุติธรรมไม่มีให้พึ่งพาได้ กลุ่มผู้คับแค้นย่อมต้องหาหนทางต่อสู้ดิ้นรนไปตามยถากรรม สมัย 6 ตุลา 19 มีทางออกให้ผู้ถูกกระทำย่ำยี คือเข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในป่าเขา มาสมัยปี 2553 ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีทางออกเช่นก่อนโน้น พวกเขา-คนเสื้อแดง จึงต้องดิ้นรนไปตามยถากรรม บางคนคิดจะตั้งกองกำลังอาวุธสำหรับทำการล้างแค้น ทั้งที่ไม่มีความพร้อมอะไรสักอย่าง ไม่มีอาวุธ ไม่มีนักรบมืออาชีพ ไม่มีเงินทุนเป็นก้อนเป็นกำ การดิ้นรนกลายเป็นรนหาที่ พาตัวเองเข้าไปต้องคดีอาญาต่างๆ อย่างชวนเวทนา

ผมมองพวกเขาอย่างเข้าใจ เห็นใจ แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ เพราะมันไม่ง่ายอย่างที่คิด

“แล้วอาจารย์จะให้พวกผมทำยังไง สู้ไปกราบไปหรือ? หรือว่าสันติ ปราศจากอาวุธ?”

มีความในใจอีกมากมายหลายหลาก แต่มันคงไวเกินไปที่ผมจะปล่อยทะลักทลายออกมา…ออกมาจากหัวใจของนักปฏิวัติขี้แพ้ แพ้แล้วแพ้อีก (438-439)

การเผชิญหน้ากับอดีตของเขายังมาในอีกรูปหนึ่ง ที่ออกจะชวนอมยิ้มสำหรับข้าพเจ้า ในบทที่ 2 ที่เป็นเรื่องท่าเสาและภูพาน เขาเปรียบคนรักของเขา คือสหายรุ่งโรจน์ ว่าเป็นเหมือนนางเอก อึ้งย้ง ในมังกรหยก ซึ่งนั่นก็ย่อมแปลว่าเขามองตัวเองเป็นพระเอกนาม ก๊วยเจ๋ง แต่ในบทต่อๆมาที่เป็นเรื่องของการเข้าป่าเมื่ออีกศตวรรษให้หลัง ที่มีเพื่อนร่วมชะตากรรมคนหนึ่งเป็นสหายรุ่นเยาว์กว่า อย่าง สหายข้าวเหนียวมะม่วง หรือสยาม ธีรวุฒิ เด็กหนุ่มผู้ต้องลี้ภัยเพียงเพราะเล่นละครเรื่องเจ้าสาวหมาป่า  สายตาของเขามองเห็นว่า บัดนี้สยามต่างหากคือก๊วยเจ๋ง และตัวเขาก็รู้จักปลดระวางตัวเองลงมาเป็นเพียงจิวแป๊ะทง-เฒ่าทารก

ส่วนบทที่ 6 ที่ชื่อ ‘แม่โขงวิปโยค’ นั้น เป็นบทสั้นๆ ที่ข้าพเจ้าขอละไว้ เป็นบทที่บอกได้เพียงว่า อ่านแล้วตายไปเลย

บทที่ 7-9 คือช่วงเวลาที่เขาไปถึงฝรั่งเศส ดินแดนศิวิไลซ์ที่ให้หลักประกันของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน และรัฐสวัสดิการ เป็นเรื่องราวความพยายามปรับตัวในดินแดนใหม่ พร้อมๆ กับการคืนสังเวียนในฐานะนักเขียนอาชีพอีกครั้ง หลังจากต้องผ่านภาวการณ์รอนแรมที่ทำให้เขารู้สึกเหมือนถูกถอดจากความเป็นนักเขียนอยู่กลายๆ เมื่อไม่รู้ว่าจะเขียนให้ใครอ่าน ไม่กล้าส่งงานให้ใครตีพิมพ์ด้วยกังวลว่าจะทำให้ผู้จัดพิมพ์เดือดร้อน ตัวตนความเป็นนักเขียนของเขาได้รับการประคองไว้แค่ด้วยน้ำใจจากนักเขียนที่เขาเรียกว่า ‘มิตรน้ำหมึก’ กลุ่มเล็กๆ จำนวนนับนิ้วมือไม่เกินหนึ่งข้าง ที่พยายามหยิบยื่นความช่วยเหลือข้ามฝั่งไปให้ ไม่ใช่ด้วยความเป็นอุดมการณ์ฟากฝ่ายใด แต่ด้วยสำนึกอย่างเสรีชนร่วมอาชีพ ด้วยมนุษยธรรม และด้วยความเป็นนักมนุษยนิยมตัวจริงที่กล้าหาญโดยไม่ต้องป่าวประกาศ และข้าพเจ้าขออนุญาตเอ่ยนามเพื่อแสดงความเคารพจากหัวใจไว้ ณ ที่นี้ ว่า หนึ่งในนั้นคือคุณ บินหลา สันกาลาคีรี

แต่ภาวะที่แท้จริงที่ทำให้เขาเขียนไม่ได้ในระหว่างการรอนแรมหลบภัย คือภาวะทางจิตใจอันหนักอึ้งไม่น้อยไปกว่าทางกายภาพ มันเป็นภาวะอย่างที่ทำให้เขาเขียนไว้ว่า เขาได้มาเข้าใจแล้วว่า ทำไมนักเขียนอย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา ซึ่งต้องลี้ภัยไปอยู่ที่จีนหลังเผด็จการสฤษดิ์ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 และไม่ได้กลับบ้านที่ซอยพระนาง กรุงเทพฯ อีกเลยจวบจนเสียชีวิตเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2517 นั้น ไม่ปรากฏว่ามีงานเขียนตีพิมพ์ชิ้นใหม่อีกเลยตลอดสิบเจ็ดปีของการลี้ภัย เขาได้มาเข้าใจ และยิ่งทำให้เขานึกเคารพ เขาจบนิยามตัวตนของการเลือกเป็นนักเขียน ต้องเนรเทศ ไว้ที่ตัวตนของศรีบูรพา ดังที่เขาเขียนไว้ว่า

มหาบุรุษแห่งการประพันธ์อย่างศรีบูรพา ยืนหยัดอยู่ในการลี้ภัยสิบเจ็ดปี จนลมหายใจสุดท้าย เท่านั้นก็เพียงพอ เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของเสรีชน ไม่สยบยอม ไม่กลับกลอก ขึ้นต้นเป็นอย่างไร บั้นปลายลงท้ายเป็นอย่างนั้น … เท่านั้นก็มากพอแล้วสำหรับชายผู้เลือกเดินเส้นทางประชาธิปไตยตั้งแต่อายุยี่สิบปีเศษ จนถึงจบชีวิตในวัยหกสิบเก้าปี … ไม่ต้องไปถามไถ่เยื่อใยไมตรีจากสมาคมวิชาชีพทางการเขียนในประเทศไทยซึ่งมีอยู่สองสมาคม สมาคมเหล่านี้มีไว้เพียงเพื่อไมตรีผิวเผิน นัดมากินเลี้ยงปีละครั้ง เยื่อใยไมตรีที่จะแสดงท่าทีปกป้อง หรือช่วยเหลือ-ไม่มี เหมือนธุระไม่ใช่ เมื่อถึงเวลาเอาจริงเอาจังต้องเผชิญภัยเผด็จการ สมาคมเหล่านี้ทำตัวตามคำกวีสุนทรภู่ในเรื่องพระอภัยมณี ว่า “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”  (429-430)

สำหรับข้าพเจ้า ‘เนรเทศ’ ไม่ใช่ลี้ภัยชั่วคราวเพื่อรอวันกลับมา เนร คือ นิร คือไร้ ไม่ใช่กลับไม่ได้ แต่ไม่ขอหันหลังกลับมาอีกแล้ว เขาได้ไปถึงแล้ว เขาได้ไปเห็นแล้วซึ่งแผ่นดินสีทองจำลองในจินตนาการ ว่ามันมีอยู่จริงได้ ดินแดนรัฐสวัสดิการของผู้คนที่เท่าเทียมกัน ดูแลกันและกันอย่างเคารพในศักดิ์ศรีไม่เลือกชนชั้น กระทั่งต่อคนไร้บ้านสัญชาติเดียวกัน และคนไร้บ้านที่ ต้องเนรเทศ จากแดนไกลเพราะกฎหมายเถื่อนที่เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างมาตรา 112

ข้าพเจ้าขอเลือกจดจำว่า ด้วยการ ต้องเนรเทศ นี้ เขาได้พบแล้วซึ่งเรือลำสุดท้ายที่เขาโดยสารไปถึงปลายทางจนได้แม้ในสภาพนกปีกหัก และเขาได้เขียนหนังสือเล่มสุดท้าย ที่แม้ไม่ได้ทันอยู่เห็นตัวเล่มของมัน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเขาเขียนมันเสร็จลงแล้ว เขาได้บรรลุภารกิจของเขา ในฐานะผู้ถือไม้พายแล้ว

เขาจะเป็นแรงบันดาลใจแก่สังคมไทยและคนรุ่นหลังหรือไม่อย่างไร คงแล้วแต่ว่าใครจะเลือกจดจำเขาในภาพไหน แต่สำหรับข้าพเจ้า เขาคือแรงบันดาลใจของความแน่วแน่แม้สามัญและเงียบงันลำพังอย่างไม้พาย

เหมือนในท่อนสุดท้ายของบทกวี ‘กลับมาเมื่อฟ้าค่ำ’ ของเขา ที่ข้าพเจ้าขอยกมาคารวะแด่การ ‘ไม่กลับ’

ดวงจันทร์เลื่อนลับดับหาย
เสียงใบพายชำแรกน้ำเป็นจังหวะเนิ่นช้า
พายทำให้เรือเคลื่อนที่
พายคือพาย มันจะเป็นอะไรได้มากกว่านี้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save