fbpx

โควิด-19 กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น?

เชื่อว่าคงมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่กำลังงุนงงสับสนว่า เมื่อดูจากจำนวนผู้ป่วยเป็นโควิด-19 และผู้เสียชีวิต เหมือนกับช่วงนี้จะมียอดผู้ติดเชื้อ ‘พีค’ ไม่แพ้คลื่นการระบาดระลอกอื่นๆ ก่อนหน้านี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ‘อย่างเป็นทางการ’ มากกว่า 20,000 คน บางวันมากกว่า 25,000 คนด้วยซ้ำไป ซึ่งนับเฉพาะตรวจด้วยวิธี RT-PCR ถ้าหากนับจากการตรวจด้วยชุด ATK ด้วยตนเองรวมเข้าไปด้วยก็มากขึ้นเป็นอีกเท่าตัวทีเดียว 

การปรับเปลี่ยนให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) อาจจะทำให้ลดระดับการรับมือลงไปหรือไม่? และสิทธิของผู้ป่วยจะลดน้อยลงหรือไม่? ซึ่งไม่ว่าจะจริงหรือไม่ ก็ถือเป็นข้อกังวลใจสำหรับคนไทยจำนวนมากอยู่ดี 

ลองมาดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องในแง่มุมต่างๆ ว่า มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่เฟสของการมีโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นตามที่ทางการต้องการให้เป็น 

มีรายงาน [1] ที่ออกมาในวันที่ 25 มกราคมว่า คุณฮันส์ คลูก (Hans Kluge) ที่เป็นผู้อำนวยการ WHO ภูมิภาคยุโรป ให้สัมภาษณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่ยุโรปกำลังมุ่งหน้าไปสู่การสิ้นสุดของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 หลังจากการระบาดอย่างหนักของสายพันธุ์โอมิครอน 

โดยคาดหมายว่าถึงตอนสิ้นเดือนมีนาคม น่าจะมีชาวยุโรปที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคแล้วราว 60% ซึ่งอาจมาจากการฉีดวัคซีนและจากการที่ติดเชื้อ แม้ว่าช่วงปลายปีอาจกลับมาระบาดได้อีก แต่จะไม่มีลักษณะแบบการระบาดใหญ่ชนิดที่เรียกว่า pandemic อีกต่อไป  

ทั้งนี้มีข้อแม้สำคัญข้อหนึ่งคือ ต้องไม่มี ‘สายพันธุ์ใหม่’ ที่โผล่ขึ้นมาระบาดแทนโอมิครอน

แต่ตัวผู้อำนวยการ WHO คือ เทโดรส อัดฮานอม เกรบรีเอซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) กลับเห็นไปอีกทาง เขากล่าวในการแถลงข่าววันที่ 24 มกราคม และรายงานในแหล่งข่าวเดียวกันว่า “ยังเป็นเรื่องอันตรายที่จะตั้งสมมติฐานว่า โอมิครอนจะเป็นสายพันธุ์สุดท้าย หรือบอกว่ากำลังจะสิ้นสุดการระบาดแล้ว […] ในทางตรงกันข้าม สภาวะต่างๆ ทั่วโลกดูจะเอื้อให้มีสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเพิ่มเติมอีก”

สุดท้าย เขาสรุปว่าเรื่องที่มีความเป็นไปได้มากกว่าก็คือ เมื่อถึงสิ้นปีเราอาจจะหยุดเฟสของการระบาดอย่างรวดเร็วฉับพลันไปทั่วโลก และหยุดภาวะฉุกเฉินของโควิด-19 ในฐานะภัยคุกคามต่อสุขภาพของชาวโลกได้

สรุปรายงานพิเศษของสำนักข่าวอัลจาซีรา [2] ที่เผยแพร่วันที่ 24 มกราคม 2022 อ้างอิงการประเมินของ WHO ว่า “ยังเร็วเกินไปที่จะจัดให้โรคจากโคโรนาไวรัสเป็นโรคประจำถิ่น เนื่องจากยังมีอีกหลายภูมิภาคทั่วโลกที่มีการติดเชื้อในระดับสูงมาก”  

กล่าวโดยสรุปก็คือ การต่อสู้กับสายพันธุ์โอมิครอนจะเป็นศึกยกสุดท้ายหรือไม่ ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก และไม่แน่ว่าแต่ละภูมิภาคอาจจะยุติสงครามใหญ่กับเชื้อโคโรนาไวรัสนี้ได้ไม่พร้อมกัน จากความพร้อมเรื่องการฉีดวัคซีนให้กับประชากรของประเทศตนเองและจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากน้อยแตกต่างกัน

เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมก็คือ มีรายงานชัดเจนว่าผู้ป่วยเป็นโควิด-19 แล้วก็มีโอกาสติดเชื้อซ้ำและป่วยซ้ำได้เช่นกัน

กลับมาที่คำว่า ‘โรคประจำถิ่น’ อีกที 

โรคแต่ละโรคต้องมีลักษณะเช่นใด ถึงจะถือเป็นโรคประจำถิ่น? 

หากดูโรคประจำถิ่นสำคัญตัวท็อปๆ อย่างไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย วัณโรค หรืออหิวาตกโรค จะเห็นว่าลักษณะที่ตรงกันคือ ต้องเป็นโรคที่พบได้เสมอๆ ในภูมิภาคหรือประเทศนั้น แต่มักไม่ได้พบทั่วทั้งโลก และอีกลักษณะสำคัญก็คือ มักจะมี ‘รูปแบบการแพร่กระจายที่จำเพาะ’ ซึ่งพอจะทำนายบางอย่างเกี่ยวกับโรคนั้นๆ ได้ เช่น มาลาเรียกับอหิวาตกโรคจะมีความชุกของโรคเพิ่มขึ้นในฤดูฝน ฯลฯ 

เมื่อพิจารณาว่าการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนขณะนี้ ‘ไม่อาจทำนายได้อย่างแม่นยำ’ การจะจัดให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นจึงเป็นเรื่องที่ยังดูขัดๆ กันอยู่ และการที่มนุษยชาติไม่เคยเจอโรคระบาดใหญ่ระดับ pandemic ที่ระบาดไปกว้างขวางทั่วโลกมานานเป็น 100 ปี เราจึงมีแต่คู่มือ WHO ที่ใช้ระบุเฟสต่างๆ ของโรคที่อาจจะกลายเป็น pandemic เช่น มี 6 เฟส เริ่มจากเฟส 1 ที่มีความเสี่ยงกับมนุษย์ต่ำ ไปจนถึงเฟส 4 ที่มีหลักฐานชัดเจนว่า ติดเชื้อจากคนสู่คนได้ และเฟส 6 ที่เป็น pandemic เต็มรูปแบบ โดยมีการติดเชื้อจากคนสู่คนอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

แต่กลับไม่มีคู่มือที่ระบุไว้ว่า การจะเปลี่ยนจาก pandemic ลดรูปเหลือแค่เป็นโรคประจำถิ่นหรือ endemic นั้นจะมีต้องขั้นตอนที่ใช้ในการจำแนกอย่างไร?

คำถามจึงมีอยู่ว่า จะใช้ ‘เกณฑ์’ อะไรมากำหนดว่า ไม่ต้องกังวลใจกับโรคนั้นมากมายนัก เพราะมันได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นไปเรียบร้อยแล้ว เราอาจจะเสี่ยงป่วยจากโรคนั้น แต่คนส่วนใหญ่จะไม่เสียชีวิตจากโรคนั้น  

มีรายงานข่าวจาก Thai PBS World [3] ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเกณฑ์ที่จะใช้ปรับให้โควิด-19 ในประเทศไทยกลายเป็นโรคประจำถิ่นดังนี้คือ (1) ต้องมีการติดเชื้อรายใหม่น้อยกว่า 10,000 รายต่อวัน (2) ต้องมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า 0.1%  (3) ต้องมีผู้ป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลน้อยกว่า 10% ของจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อ (4) ต้องมีผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนัก ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 2 โดสขึ้นไป และ (5) ประชากรทั่วไปต้องมีภูมิคุ้มกันอย่างเพียงพอ 

หากดูจากสถิติผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศจากฐานข้อมูลของ Google ที่อัปเดตรายวัน [4] ก็จะเห็นข้อมูลว่า ณ วันที่เขียนบทความนี้ (5 เมษายน) ยังมี (1) ผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ราว 21,000 คนต่อวัน ซึ่งมากกว่าเป้าที่ตั้งไว้เท่าตัว  

ขณะที่ (2) อัตราการเสียชีวิตแบบสะสมอยู่ที่ 0.69% แต่อัตราการเสียชีวิตขณะช่วงเวลานั้นๆ เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เช่น รายวันของ ศบค. วันที่ 5 เมษายน [5] มีผู้ติดเชื้อใหม่ 21,088 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 91 คน คิดเป็น 0.43% จึงสูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ 4 เท่า 

ส่วนเกณฑ์ข้อที่ (3) นั้น ในวันที่ 5 เมษายน มีผู้ป่วยใหม่ที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลคิดเป็น 8.8% (คิดจาก 1,862/21,088) ครั้นมาดูที่ข้อ (4) สถิติจากกูเกิลระบุว่า ณ วันที่ 3 เม.ย. มีประชากรไทยฉีด 1 โดส ‘เป็นอย่างน้อย’ รวม 79.6% ขณะที่ฉีดครบ 2 โดสแล้ว 72.0% และได้รับเข็มบูสเตอร์แล้ว 34.3% 

สำหรับเรื่องจำนวนเข็มมีข้อสังเกตคือ มีรายงานวิจัยหลายฉบับระบุว่า การฉีดแค่ครบโดส 2 เข็มแล้วทิ้งช่วงนาน เช่น มากกว่า 6 เดือนมีส่วนช่วยน้อย โดยเฉพาะหากวัคซีนที่ได้รับเป็นวัคซีนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันน้อย เช่น วัคซีนเชื้อตาย และจำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นที่ 3 (หรือเข็มที่ 4 ด้วย) ซึ่งแนะนำให้ฉีดวัคซีน mRNA ที่มีประสิทธิภาพดีกว่า ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ  

น่าเสียดายว่าในแหล่งสถิติที่ระบุไว้ ไม่มีรายละเอียดจำแนกลงไปว่า เป็นผู้มีความเสี่ยงสูงมากน้อยเท่าใด จึงไม่อาจสรุปตัวเลขในข้อนี้ได้อย่างแน่ชัด 

สำหรับเกณฑ์สุดท้ายข้อ (5) ที่ระบุว่า ประชากรทั่วไปต้องมีภูมิคุ้มกันอย่างเพียงพอนั้น มีความกำกวมอยู่มากว่า ต้องคิดที่กี่เปอร์เซ็นต์จึงจะถือว่า ‘มีภูมิคุ้มกันอย่างเพียงพอ’ ?  

โดยสรุปคือ หากใช้ตัวเลข ‘อย่างเป็นทางการ’ แล้ว มีแค่เพียงเกณฑ์ข้อ (3) เท่านั้นที่ทำได้ ส่วนข้อ (1) และ (2) ยังดูจะยังห่างไกลจากเป้าหมายอยู่มาก ขณะที่เกณฑ์ข้อ (4) เมื่อดูจากเงื่อนเวลาแล้ว การฉีดเพียงครบ 2 โดสอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะภูมิที่ได้จะลดลงตามเวลาที่ผ่านไป การตั้งเป้าเพียง 2 เข็มจึงดูจะไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่ 

แต่หากดูจากที่ได้เข็มบูสเตอร์แล้ว ก็ยังถือว่ามีสัดส่วนการฉีดอยู่ต่ำกว่าที่ควรมาก (ควรฉีดในกลุ่มประชากรส่วนใหญ่)   

ข้อมูลทั้งหมดจึงชี้ไปในทางว่า โอกาสที่จะทำได้ตามเกณฑ์ที่ประกาศไว้ และถือว่าโควิด-19 ได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว ยังอยู่ห่างไกลอยู่ไม่น้อย หากจะมองในระยะไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคงต้องมาประเมินสถานการณ์กันใหม่หลังเทศกาลสงกรานต์ที่มีการเคลื่อนย้ายประชากรครั้งใหญ่กลับไปยังภูมิภาคต่างๆ     

คงต้องคอยดูกันต่อไปว่า จะมีการ ‘ปรับเกณฑ์’ เพื่อให้ประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นเร็วขึ้นหรือไม่     


เอกสารอ้างอิง

[1] BMJ 2022;376:o205. http://dx.doi.org/10.1136/bmj.o205

[2] https://www.aljazeera.com/news/2022/1/24/covid-infographic-endemic-vs-pandemic-diseases 

[3] https://www.thaipbsworld.com/criteria-approved-for-declaration-of-covid-19-as-an-endemic-disease-in-thailand/ 

[4] https://www.google.com/search?q=covid+statistics+thailand&rlz=1C1GCEU_enTH849TH849&oq=co&aqs=chrome.1.69i60j69i59j69i57j69i60l3j69i65l2.2912j0j7&sourceid=chrome&ie=UTF-8#bsht=CgRmYnNtEgIIBA 

[5] https://www.facebook.com/informationcovid19/photos/a.106455480972785/535713391380323 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save