fbpx

ขอแสดงความไม่ยินดีกับผู้พิพากษาใหม่

แทบทุกครั้งหลังจากที่มีการประกาศผลสอบผู้พิพากษา (หรือที่เรียกกันว่าผู้ช่วยผู้พิพากษา) บรรดาคณะนิติศาสตร์ (บางแห่งอาจใช้ชื่อว่าสาขาหรือสำนักวิชานิติศาสตร์) ในสังคมไทยจำนวนมากก็จะพากันแสดงความยินดีกับศิษย์เก่าของตนเองที่สามารถสอบผ่านเข้าไปเป็นตุลาการได้สำเร็จ

เป็นที่ยอมรับกันว่าในบรรดาวิชาชีพด้านกฎหมาย การสอบเข้าไปเป็น ‘ท่าน’ นั้นมีความยากลำบากอยู่ไม่น้อย ผู้สอบต้องใช้เวลาทุ่มเทกับการอ่านตำรา ท่องจำตัวบทกฎหมาย และท่องคำพิพากษาศาลฎีกา ที่มีเนื้อหาครอบคลุมกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกฎหมายสี่มุมเมือง (กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและอาญา) รวมถึงเชื่อกันว่าการสอบเป็นผู้พิพากษามีความยากมากกว่าเมื่อเทียบกับการสอบงานกฎหมายด้านอื่นๆ

นี่จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า เมื่อลูกศิษย์จากสถาบันของตนสามารถสอบผู้พิพากษาผ่าน ก็ย่อมต้องแสดงความชื่นชม ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงคุณภาพด้านการเรียนการสอนของคณะนิติศาสตร์แห่งนั้นว่าสามารถที่จะผลิตบัณฑิตนิติศาสตร์ที่มีคุณภาพได้ ในสถาบันหลายแห่ง จำนวนคนที่สอบผ่านจึงกลายเป็นเครื่องบ่งชี้คุณภาพของสถาบัน

แต่การสอบผ่านจนเป็น ‘ท่าน’ ได้ คือสิ่งที่สถาบันการศึกษาควรจะต้องแสดงความยินดีจริงๆ หรือ

มักเป็นที่เข้าใจกันว่าตำแหน่งผู้พิพากษาเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติและมีผลตอบแทนมากกว่าวิชาชีพกฎหมายอื่นๆ เรื่องผลตอบแทนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในห้วงเวลาปัจจุบัน เพราะภายหลังการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอย่างเป็นทางการ แต่ละคนก็จะสามารถสะสมผลประโยชน์และความมั่งคั่งได้เหนือกว่าข้าราชการอื่นเป็นอย่างมาก (อาจมีข้อยกเว้นก็เพียงอาชีพนายทหารระดับสูง) การทำงานเพียงห้าปีสิบปีก็อาจมีเงินเดือนมากกว่าข้าราชการฝ่ายอื่นที่ทำงานจนถึงวัยเกษียณ แต่ก็นั่นแหละ ผลตอบแทนอันมากมายไม่ได้หมายความว่าจะนำมาซึ่งเกียรติอย่างฉับพลัน

อะไรคือ ‘เกียรติ’ ของผู้พิพากษาที่ทำให้อาชีพนี้ควรต้องได้รับความเคารพและการยกย่องจากผู้คนในสังคม

โดยทั่วไป หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้พิพากษาคือการชี้ขาดข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม และการตัดสินนั้นจะต้องดำเนินไปด้วยความเป็นกลางและความเป็นอิสระ สาธารณชนย่อมคาดหมายว่าจะมีอำนาจตุลาการซึ่งทำหน้าที่บนหลักวิชาความรู้ ไม่อยู่ภายใต้อำนาจหรือการชี้นำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้ข้อพิพาทต่างๆ ยุติลงได้ด้วยเหตุผล และนำมาซึ่งการยอมรับอย่างกว้างขวาง

ยิ่งเป็นข้อพิพาทที่ฝ่ายหนึ่งคือรัฐและอีกฝ่ายคือสามัญชนธรรมดา ก็ยิ่งเป็นที่คาดหวัง เพราะผู้พิพากษาเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ จึงย่อมเป็นที่หวาดระแวงว่าจะทำหน้าที่ในทางสนับสนุนฝ่ายผู้ถืออำนาจ ดังนั้นการพยายามสร้างความเป็นอิสระจึงถือเป็นประเด็นสำคัญของการจัดวางอำนาจตุลาการในสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมแบบเสรีประชาธิปไตย การทำหน้าที่ซึ่งต้องขัดแย้ง คัดค้าน หรือจำกัดการใช้อำนาจรัฐ ได้กลายเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมีเกียรติของผู้พิพากษา

หลายประเทศที่ให้การยกย่องตำแหน่งผู้พิพากษาก็เป็นผลมาจากการทำหน้าที่ซึ่งต้องยืนอยู่ตรงกันข้ามกับอำนาจรัฐ นักเรียนกฎหมายที่ได้เล่าเรียนถึง ‘เกียรติประวัติ’ ของฝ่ายตุลาการก็คงทราบกันดีว่าล้วนสัมพันธ์กับการทำหน้าที่ในลักษณะเช่นนี้

ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีคำพิพากษาของศาลสูงสุดคดี Miranda v. Arizona 1966 ที่สหรัฐฯ ซึ่งคำตัดสินนี้ได้จำกัดการใช้อำนาจจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะต้องมีการแจ้งและแจงสิทธิเบื้องต้นแก่ผู้ถูกจับกุม มิฉะนั้นคำให้การใดๆ จะไม่สามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานยืนยันความผิดในชั้นศาลได้ ภายหลัง คำวินิจฉัยนี้ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแนวทางการใช้อำนาจของตำรวจอย่างมาก เหมือนกับที่เราสามารถพบเห็นในหนังฮอลลีวูดหลายเรื่อง คือเมื่อมีการจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว ตำรวจต้องพูดประโยคแรกออกมาว่า “you have the right to remain in silent.”

คำพิพากษานี้ถือเป็นหนึ่งในคดีสำคัญท่ามกลางอีกหลากหลายคดีที่นำมาซึ่งการจำกัดการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในฐานะนักเรียนกฎหมาย ผู้เขียนพยายามนึกถึงคำตัดสินในลักษณะเช่นนี้ว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใดในสังคมไทย แล้วก็พบว่าไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก

ตรงกันข้าม แม้ตำแหน่งผู้พิพากษาในหลายประเทศจะมีอำนาจ ผลประโยชน์ และผลตอบแทน แต่ก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ เพราะการทำหน้าที่ของคนกลุ่มนั้นเป็นไปเพียงเพื่อตอบสนองต่อผู้ถืออำนาจรัฐ ผู้พิพากษาไม่ได้เป็นอะไรที่มากไปกว่าเนติบริกร หรือเป็นเพียงโจรถือกฎหมายที่พร้อมจะรับใช้ผู้มีอำนาจด้วยการบิดเบือนกฎหมายที่อยู่ในมือ

แล้วผู้พิพากษาในสังคมไทยได้แสดงบทบาทที่ดำเนินไปในทิศทางใดเป็นสำคัญ ระหว่างการรับใช้ผู้มีอำนาจรัฐ หรือการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต สิทธิเสรีภาพของประชาชน?  

ไม่ต้องกล่าวถึงท่าทีที่มีต่อการรัฐประหาร ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าศาลไทยได้ให้การรับรองกับคณะรัฐประหารที่กระทำการสำเร็จรวมถึงการใช้อำนาจที่ติดตามมา จำกัดเฉพาะห้วงเวลาทศวรรษที่ผ่านมา มีการแสดงความเห็นและการโต้แย้งต่อการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและยังคงสืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เป็นปัญหาระหว่างรัฐและประชาชน จะพบว่ามีคำถามจำนวนมากเกิดขึ้นนับตั้งแต่การพิจารณาในเรื่องการประกันตัว การรับฟังพยานหลักฐานชั้นศาล การวางตนของผู้ตัดสิน คำวินิจฉัยที่ขัดกับหลักการทางกฎหมาย ประเด็นปัญหาต่างๆ เหล่านี้มีอยู่มากมายในคดีที่กระจัดกระจายไปหลากหลายศาล ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ แม้กระทั่งศาลฎีกา

ลำพังการขอประกันตัวในคดีที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของคณะราษฎรในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็มีประเด็นถกเถียงเยอะมาก ไม่ต้องรวมไปถึงประเด็นอื่นที่อาจต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือนแรมปี หากจะสาธยายอย่างละเอียดให้ครบถ้วน

ทั้งหมดก็ล้วนมาจากบรรดาเหล่าผู้พิพากษา อาชีพที่คณะนิติศาสตร์ได้พากันแห่แหนแสดงความยินดีเมื่อศิษย์ของตนสามารถสอบผ่านได้ แต่จะมีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่าในอนาคตข้างหน้า พวกเขาและเธอจะไม่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานที่สร้างความกังขาให้กับสังคมเหมือนกับที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ไม่ใช่เพียงแค่การชื่นชมกับผู้สอบผ่านผู้พิพากษาใหม่เท่านั้น การยึดติดอยู่กับตำแหน่งแห่งที่ในแวดวงตุลาการของบรรดาคณะนิติศาสตร์ในสังคมไทยก็เป็นสิ่งที่สามารถมองเห็นได้ เมื่อบุคคลหนึ่งได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครอง หรือตำแหน่งใหญ่โตในระบบราชการ การดำรงตำแหน่งเช่นนี้จะกลายเป็นประกาศนียบัตรรับรองความสามารถได้เป็นอย่างดี โดยไม่ต้องไปพิจารณาว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ไปในทางที่เป็นประโยชน์หรือก่อให้เกิดปัญหาในด้านลบขนาดไหน และยังสามารถรับประกันได้เลยว่าภายในชั่วระยะเวลาไม่นาน คณะนิติศาสตร์ที่บุคคลนั้นสำเร็จการศึกษามา จะต้องจัดหาตำแหน่งศิษย์เก่าดีเด่นหรืออะไรในทำนองที่คล้ายคลึงกัน มามอบให้บุคคลนั้นอย่างแน่นอน

การมีตำแหน่งแห่งที่ของการเป็นผู้พิพากษาอาจไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเสมอไปก็ได้ ถ้าในอนาคตบุคคลนั้นแปรสภาพไปเป็นเนติบริกรเพื่อรับใช้ผู้มีอำนาจ จะดีกว่าหรือไม่ที่หากจะมีการแสดงการยกย่องและชื่นชมต่อนักกฎหมายคนใด มันควรเกิดขึ้นจาก ‘ผลงาน’ ที่บุคคลนั้นได้กระทำ ว่าได้ก่อให้ประโยชน์โภชผลแก่ผู้คนในสังคมกว้างขวางเพียงใด

ปัญญาชนในคณะนิติศาสตร์จำนวนไม่น้อยเบื่อหน่ายกับความบิดเบี้ยวของระบบกฎหมายไทยในห้วงเวลาปัจจุบัน บางทีจุดเริ่มต้นหนึ่งที่เราอาจพอช่วยกันทำให้เกิดขึ้นได้ก็คือ ‘การร่วมกันยกย่องนักกฎหมายที่ควรยกย่อง’ ไม่ใช่ยกย่องแค่นักกฎหมายในแบบที่เคยปฏิบัติกันมาจนกลายเป็นพิธีกรรมที่ไร้ความหมายใดต่อสังคม และในทางกลับกันก็ควรกล้าที่จะร่วมกันคว่ำบาตรนักกฎหมายที่กลายเป็นเนติบริกรไปด้วยเช่นกัน

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save