fbpx

ปูตินไม่ชนะ แต่อาจไม่แพ้

ภาพประกอบจาก kremlin.ru

ในบทความเมื่อเดือนที่แล้ว ผมชวนคิดว่าเราอย่าประเมินสหรัฐฯ และตะวันตกต่ำเกินไป สงครามยูเครนที่ปูตินอาจเคยฝันว่าจะชนะได้อย่างง่ายดายกลับยืดเยื้อมายาวนานกว่าที่ทุกฝ่ายคาดคิด นอกจากนั้น ตรงข้ามกับกระแสในจีนและรัสเซียที่เชื่อว่า สหรัฐฯ อยู่ในช่วงขาลงและโลกตะวันตกมีความแตกแยก สงครามยูเครนก็ได้แสดงให้เห็นความเป็นปึกแผ่นของพันธมิตรตะวันตก พลังของอาวุธทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และสถานะพิเศษที่ยังคงแข็งแกร่งของดอลลาร์สหรัฐฯ ในระบบการเงินโลก

แต่บทความวันนี้จะชวนคิดเช่นกันว่า อย่าประเมินรัสเซียต่ำเกินไป นักวิเคราะห์หลายคนในสหรัฐฯ มองว่ารัสเซียกำลังพังพินาศในทางเศรษฐกิจ ตัวปูตินเองจะถูกแรงกดดันอย่างหนักทั้งในหมู่ชนชั้นนำและประชาชนจนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัสเซีย มีการกล่าวกันด้วยซ้ำว่า หากสหรัฐฯ ตะวันตก และยูเครนยืนหยัดสู้ต่อไป สุดท้ายปูตินเองจะถูกรีดเลือดจนหมดตัว อย่าลืมว่าทำสงครามแต่ละวันต้องใช้เงินมหาศาล ยิ่งยืดเวลาออกไป สุดท้ายปูตินจะหมดตัวและพังพินาศเพราะสงครามที่ตนก่อขึ้น

แน่นอนครับว่าในสงครามยูเครนครั้งนี้ ปูตินไม่มีทางที่จะชนะขาดอีกแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความเป็นไปได้ที่ฉากทัศน์ในฝันของตะวันตกที่ปูตินจะพ่ายแพ้ยับเยินและพังพินาศก็อาจจะไม่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

เราต้องไม่ลืมนะครับว่า รัสเซียเป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านอาหารสูงมาก ในขณะเดียวกัน รัสเซียเองก็ยังขายพลังงานต่อไปได้ เพราะยุโรปยังคงต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย แม้ว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะเสียหายอย่างยับเยินจากมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก แต่ก็ไม่ได้ถึงกับอดข้าวตายอยู่ไม่ได้ ส่วนที่บอกว่ารัสเซียจะไม่มีเงินรบต่อไปแล้วนั้น ก็อย่าลืมว่าเงินยังไหลเข้ากระเป๋ารัสเซียทุกวันผ่านการขายพลังงาน

บริษัทต่างชาติแบนไม่ขายของในรัสเซีย แต่บริษัทจีนและสินค้าจีนก็พร้อมสวมแทนที่ และหากใครไปย้อนดูประวัติศาสตร์การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาในอดีตจะพบว่า นอกจากการคว่ำบาตรจะไม่เคยเปลี่ยนใจผู้ปกครองแล้ว ยังทำให้ประชาชนของประเทศที่ถูกคว่ำบาตรเกลียดชังตะวันตกไม่แพ้กับที่เกลียดชังผู้นำตัวเอง ยิ่งคนรัสเซียรักศักดิ์ศรีตนสูงมาก การปลุกใจกันภายในว่าถูกตะวันตกรังแกน่าจะได้ใจชาวรัสเซียอยู่ไม่น้อย

นอกจากนี้ รัสเซียยังควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด เพราะฉะนั้นข่าวสารที่ชาวรัสเซียได้รับในแต่ละวันย่อมแตกต่างจากข่าวสารทั่วไปในโลกตะวันตกที่ฉายภาพความโหดร้ายของสงคราม หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ได้เคยรายงานเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงว่า พ่อชาวรัสเซียโทรหาลูกที่ติดอยู่ในยูเครน และไม่ยอมเชื่อเรื่องความโหดร้ายของสงครามที่ลูกบอกเล่าให้ฟัง โดยกล่าวหาว่าลูกถูกตะวันตกปั่นหัว

มีการประเมินว่า ชาวรัสเซียอย่างน้อย 70-80% สนับสนุนสงครามและสนับสนุนปูติน และเมื่อเอาสงครามไปผูกกับความภูมิใจในชาติ ใครจะยอมรับว่าชาติเรากำลังทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติได้ล่ะครับ มีแต่จะต้องเชื่อต่อไปว่าเราทำสงครามเพื่อปลดแอกชาวยูเครนออกจากรัฐบาลที่ชั่วร้ายและเพื่อรักษาความมั่นคงของรัสเซียจากการรุกคืบของนาโต้

เคยมีงานวิจัยพบว่า ครอบครัวของทหารที่สูญเสียในสงครามอิรัก แทนที่จะมีความคิดต่อต้านสงคราม กลับมีแนวโน้มสนับสนุนสงคราม เห็นว่าสงครามเป็นสิ่งที่ชอบธรรมและทำไปเพื่อความถูกต้อง คำอธิบายปรากฎการณ์นี้ก็ง่ายๆ คือ หากเชื่อว่าสงครามไม่มีเหตุผลหรือเป็นเพียงผลจากความบ้าของผู้นำ ก็หมายความว่าลูกหลานของเราที่ตายไปนั้นตายไปอย่างสูญเปล่า แต่หากเชื่อว่าสงครามทำไปเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ก็จะภูมิใจได้กับการต่อสู้เสียสละของลูกหลานในสนามรบ ชาวรัสเซียวันนี้เองก็เช่นกัน ข่าวความสูญเสียของทหารรัสเซียในสมรภูมิมีแต่ปลุกความรู้สึกชาตินิยมให้รุนแรงขึ้น

หลายคนมองว่า ปูตินทำสงครามยืดเยื้อไม่ไหวแน่ เพราะต้องเสียเงินทองมากมายกับสงครามในแต่ละวัน แต่ปูตินก็อาจรบไปพักไป รบใหม่พักใหม่ เหมือนเมื่อไม่นานมานี้ ปูตินประกาศว่าการปฏิบัติการรอบที่ 1 เสร็จสิ้นแล้ว ความหมายก็คือจะหยุดบุกต่อ พร้อมส่งสัญญาณหยุดการรุกคืบ แต่ไม่กี่วันต่อมาก็เริ่มทำการโจมตีใหม่

สุดท้ายแม้ปูตินไม่รุกต่อ แต่ก็คงคาทหารไว้ตามพื้นที่ที่ยึดมาแล้ว มีคนบอกว่าเพียงแค่รัสเซียปิดล้อมยูเครนจนไม่มีทางออกทางทะเล เท่านี้แม้จะไม่ชนะ แต่ก็ไม่แพ้เช่นกัน ส่วนยูเครนเองอาจประกาศชัยชนะที่รักษาเมืองหลวงและเมืองสำคัญตอนในไว้ได้และไม่สิ้นชาติ แต่ในอีกทางก็พ่ายแพ้ เพราะหายนะได้มาเยือนเรียบร้อยแล้วและไม่มีทางหมดไปอยู่ดี

ในอดีต มีคนเคยถามลีกวนยูว่าใครจะชนะระหว่างสหรัฐฯ และจีนหากมีสงครามที่ไต้หวัน ลีกวนยูตอบว่าจีนไม่แพ้แน่นอน เพราะถึงแม้สหรัฐฯ จะบดขยี้ทหารจีนได้ด้วยแสนยานุภาพทางการทหารที่เหนือกว่าหลายขุม แต่จีนก็แค่พักรบ แล้วค่อยกลับมาบุกใหม่ เพราะจีนตั้งอยู่ข้างเกาะไต้หวัน สหรัฐฯ จะมารบยืดเยื้อได้นานแค่ไหนกัน สมรภูมิยูเครนวันนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้ารัสเซียที่อยู่ข้างๆ ยูเครนไม่เลิก ใครจะทำอะไรได้

ตอนช่วงเริ่มต้นสงครามยูเครน จอห์น แมร์ไชเมอร์ (John Mearsheimer) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก เคยกล่าวไว้ทำนองว่าสงครามครั้งนี้รัสเซียจะไม่ยอมแพ้เด็ดขาด เพราะยูเครนสำคัญกับรัสเซียมากกว่าที่ยูเครนสำคัญต่อสหรัฐฯ ดังนั้น ความตั้งใจและเดิมพันของรัสเซียจึงสูงกว่าตะวันตกมาก ถึงแม้รัสเซียจะไม่ชนะ แต่รัสเซียก็จะทำลายยูเครนจนไม่เหลือชิ้นดีและยากมากที่รัฐบาลปูตินจะล่มสลายลงเพราะสงคราม

มองจากมุมปูตินแล้ว ถึงวันนี้เขาจะถูกต้อนจนเข้ามุมจนไม่มีอะไรจะเสียไปได้มากกว่านี้อีก แต่อย่าลืมนะครับว่าการต้อนมหาอำนาจนิวเคลียร์เข้ามุมไม่น่าจะเป็นผลดีกับใครเลย เมื่อคิดถึงความเป็นไปได้ที่จะยกระดับสงครามไปสู่สงครามอาวุธชีวภาพหรือสงครามอาวุธนิวเคลียร์

หรือถึงไม่ยกระดับ วันนี้ถ้ารัสเซียยอมถอยยอมเลิกก็มีแต่ความเสียหาย แต่ถ้ารัสเซียรบยืดเยื้อไม่เลิก ไม่รุกคืบ ไม่ยกระดับ แต่คากองทัพไว้ ผลคือ รัสเซียก็ได้อย่างหนึ่งตามที่ต้องการคือ ยูเครนที่พังพินาศลงและไม่ตกอยู่ในอิทธิพลของตะวันตก ขณะเดียวกัน ก็เดิมพันไปด้วยว่า สหรัฐฯ และตะวันตกเองจะอึดและทนต่อผลกระทบต่อมาตรการคว่ำบาตรของตนไปได้นานเพียงใด ท่ามกลางวิกฤตเงินเฟ้อและราคาพลังงานในยุโรปและในสหรัฐฯ

หลายคนอาจคิดว่าตอนนี้ทุกฝ่ายกำลังหาทางลง แต่ผมไม่แน่ใจ ตรงกันข้าม ผมมองว่าทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัสเซียต้องการสู้สงครามยืดเยื้อ เดิมพันว่าใครจะอึดกว่ากัน ยูเครนสู้ทนมาถึงจุดนี้ ถ้ายอมถอยแล้วความสูญเสียที่ผ่านมาจะมีความหมายอะไร ส่วนสหรัฐฯ ก็มองว่านี่เป็นการต่อสู้เรื่องหลักการและเดิมพันระหว่างโลกเสรีกับอันธพาล จะยอมถอยหรือประนีประนอมไม่ได้ (และคนไม่น้อยในสหรัฐฯ อาจคิดว่าทนต่อไปอีกหน่อย รัสเซียเองจะพังพินาศก่อน) ส่วนรัสเซียเองก็ย่อมคิดเช่นเดียวกันว่า ถ้าถอยตอนนี้ แล้วความสูญเสียที่ผ่านมาจะมีความหมายอะไร หากอึดต่อไป ไม่แน่ว่าสหรัฐฯ หรือตะวันตกจะทนไหวกับวิกฤตเศรษฐกิจ พลังงาน ยังไม่นับวิกฤตผู้ลี้ภัยที่จะเข้าขั้นหายนะเป็นประวัติการณ์

ฤดูหนาวของสงครามอันเยือกเย็นครั้งนี้จึงอาจจะยาวนานกว่าที่หลายคนคาดการณ์ เราอาจต้องประเมินกันใหม่ว่า แม้รัสเซียไม่มีหนทางชนะแล้ว แต่ก็อาจไม่มีทางแพ้แบบยอมยกธงขาวเช่นเดียวกัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save