fbpx

ฉากชีวิตแห่งอุดมการณ์ของ วัฒน์ วรรลยางกูร

วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นศิลปินโดยแท้ เป็นศิลปินรอบด้าน ทั้งเขียนหนังสือ เขียนกวี เขียนเพลง ที่กระดูกสันหลังตรง กล้าหาญ เป็นชีวิตสามัญชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของยุคสมัย

ลาว คำหอม เขียนถึงบุรุษผู้นี้ไว้ได้อย่างครบถ้วน และกินใจ

และการลี้ภัยการเมืองจนต้องใช้ชีวิตวาระสุดท้ายในแผ่นดินอื่นของวัฒน์ ก็สร้างคำถามแก่สังคมไทย ตามคำของ ศุ บุญเลี้ยง ว่า “นี่มัน พ.ศ. อะไร ทำไมคนแบบพี่ต้องพลัดบ้านพลัดถิ่น เพียงเพราะความคิดเนี่ยนะ

ความตายของวัฒน์เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา ทำให้ชื่อของเขากลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งหนึ่งอย่างกว้างขวาง และนี่คือบางฉากแห่งชีวิตของ วัฒน์ วรรลยางกูร


วัฒน์ วรรลยางกูร
(12 มกราคม 2498 – 21 มีนาคม 2565)
ภาพจาก FB : Wat Wanlayangkoon


กำเนิดและการศึกษา


วัฒน์ (ชื่อเดิมว่า “วีรวัฒน์”) เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2498 ที่ตำบลตะลุง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เป็นบุตรของนายวิรัตน์กับนางบุญส่ง วรรลยางกูร

เขาเริ่มอ่านหนังสือตั้งแต่เล็ก เพราะใกล้ชิดกับตาที่ชอบอ่านหนังสือมวยและมีนวนิยายอยู่มาก

วัฒน์เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลวัดดาวเรือง จังหวัดปทุมธานี และโรงเรียนวินิตศึกษา จังหวัดลพบุรี จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนวินิตศึกษา จากนั้นเข้าเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ก่อนจะสอบเทียบได้ จึงเลิกเรียนแล้วเข้ากรุงเทพฯ

ปี 2517 วัฒน์เข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่เรียนได้ไม่นาน ก็เลิกเรียน เพื่อประกอบอาชีพด้านงานเขียนอย่างเป็นจริงเป็นจัง คงเป็นเพราะเขาเห็นว่า “การเรียนจะเป็นอุปสรรคต่อการเขียน ไหนงานนิตยสารที่ทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่อีก จะเอาเวลาที่ไหนมาท่องหนังสือ


งานเขียนสร้างชื่อ


วัฒน์เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 เริ่มจากเขียนกลอนให้เพื่อนนักเรียนหญิง มาทำหนังสือทำมืออ่านกันเองในห้อง จนถึงปี 2513 เมื่ออยู่ชั้นมัธยมต้น เรื่องสั้น “คนหากิน” ของเขาได้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกลงหนังสือ ยานเกราะ หลังจากนั้นวัฒน์ก็มีทั้งกลอนและเรื่องสั้นเผยแพร่ลงนิตยสารต่างๆ เช่น ชัยพฤกษ์ ฟ้าเมืองไทย ลลนา ชาวกรุง

ในปี 2517 เมื่อเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงแล้ว เขาได้ทำงานที่หนังสือพิมพ์ อธิปัตย์ (รายสามวัน) ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เขียนข่าว บทความ สารคดี รวมถึงเรื่องสั้นและนวนิยาย โดยมีคอลัมน์ “ช่อมะกอก” ซึ่งต่อมากลายเป็นนวนิยาย ตำบลช่อมะกอก (2519) ที่สุจิตต์ วงษ์เทศ ยกย่องว่า “เป็นงานชิ้นเอกของวัฒน์

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ชี้ให้เห็นความสำคัญของวัฒน์ว่า “วัฒน์คือคนหนุ่มรุ่นใหม่รุ่นแรกในช่วงปลายทศวรรษ 2510 ที่เริ่มบทบาทในการเขียนนวนิยายก่อนคนรุ่นเดียวกัน โดยการนำเสนอสิ่งที่เรียกว่า ‘วรรณกรรมเพื่อชีวิต’ จากการเขียนนวนิยายเรื่อง ตำบลช่อมะกอก”

ขณะที่ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ กล่าวถึงบรรยากาศความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษายุคเดือนตุลาคม 2516-2519 ว่าวัฒน์ “สร้างชื่อจากนวนิยายเรื่อง ตำบลช่อมะกอก…นวนิยายที่เป็นบันทึกแห่งยุคสมัย บอกเล่าเรื่องราวความร่วมมือระหว่างขบวนการนักศึกษาและสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปากท้องและความเป็นธรรมของชาวนา

นักอ่านร่วมสมัยอย่าง ชาติ กอบจิตติ กล่าวถึงผลงานเล่มนี้ของวัฒน์ว่า “ขณะที่ ตำบลช่อมะกอก พิมพ์ออกมานั้น ผมยังเป็นนักอ่านของเขาอยู่ อ่านด้วยความชื่นชมในตัวเขา” และให้ข้อมูลว่าวัฒน์ “เขียนหนังสือก่อนพวกเรา (หมายถึงชาติ, มาลา คำจันทร์ และจำลอง ฝั่งชลจิตร – ซึ่งทั้ง 3 คนนี้ล้วนได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติในปัจจุบัน) ในขณะที่พวกเรายังไม่ได้เขียนอะไรได้ตีพิมพ์เป็นชิ้นเป็นอัน  วัฒน์ วรรลยางกูร มี ตำบลช่อมะกอก พิมพ์ออกมาเป็นเล่มแล้ว ขายดีติดอันดับด้วย สมัยนั้นพิมพ์เป็นหมื่นเล่ม”

ธเนศ เวศร์ภาดา กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้เช่นเดียวกัน “หนังสือเล่มนี้ปลูกความคิดเรื่องความเป็นธรรมกับความไม่เป็นธรรมในสังคมให้หยั่งรากในจิตใจของเด็กคนหนึ่งที่กำลังเติบโตในกระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิตในยุคนั้น”

นักอ่านรุ่นหลังอย่าง ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี สะท้อนความรู้สึกว่า “ตำบลช่อมะกอก เป็นหนึ่งในหนังสือนิยายที่ผมชอบมากที่สุด สะท้อนความทุกข์ยากที่ไม่เคยล้าสมัย ความล้มเหลวของการต่อสู้ และโกรธแค้นที่นำสู่การรวมตัวตั้งคำถาม และสำนึกทางชนชั้น…เวลาผ่านไปผมไม่แน่ใจว่าหนังสือเล่มนี้เปลี่ยนชีวิตคนกี่คนแต่ผมเป็นหนึ่งในนั้น


ภาพจาก www.naiin.com


เดือนตุลา


หลังจากที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังอย่างรุนแรงและโหดร้ายต่อมนุษย์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 วัฒน์ต้องหนีภัยการเมืองเข้าป่า ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า “สหายร้อย” ซึ่งเหวง โตจิราการ ยกย่องให้เขา “เป็นแม่ทัพหน้าของกระบวนทัพทางวัฒนธรรมในเขตงานอีสานเหนือ

ภายใต้บรรยากาศแห่งการต่อสู้กับอำนาจรัฐในยุคนั้น วัฒน์ผลิตงานชิ้นสำคัญ คือบทเพลง จากลานโพธิ์ถึงภูพาน ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงของความสามารถทางคีตศิลป์ของเขาได้เป็นอย่างดี

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ กล่าวถึงความสำคัญของเพลงนี้ว่า “เป็นดั่งบันทึกอารมณ์อันเร่าร้อนของคนหนุ่มสาวผู้ใฝ่ฝันถึงสังคมใหม่”  ขณะที่เหวงเห็นว่าเพลงนี้ “เป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนไทยที่ต้องการการปลดปล่อยเลยทีเดียว


เพลง จากลานโพธิ์ถึงภูพาน


แม้จะจับปืนอยู่ในป่า แต่วัฒน์ก็ยังมีผลงานเขียนออกมาถึง 3 เล่ม คือ ข้าวแค้น (2522) น้ำผึ้งไพร (2523) และ ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ (2524)

นักอ่านอย่าง บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ กล่าวถึง ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ ว่าหนังสือเล่มนี้ “เหมือนเป็นหนังสือที่นักกิจกรรมทุกคนต้องอ่านผ่านตา เพื่อทำความเข้าใจบริบทและที่มาของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ส่งผลสะเทือนจนเป็นสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย”

หลังความขัดแย้งคลี่คลายลงจากท่าทีของรัฐบาลในยุคที่มี “คำสั่ง 66/2523” วัฒน์จึงกลับจากป่าคืนสู่เมืองอีกครั้ง โดยมีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ และรวมเล่มออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2524) ด้วยรักและหวัง (2525) บนเส้นลวด (2525) เป็นต้น

นักอ่านอย่าง ประภาส ปิ่นตบแต่ง สะท้อนความประทับใจถึงงานของวัฒน์ว่า “บนเส้นลวด วรรณกรรมที่อ่านแล้วกินใจมากที่สุดช่วงเรียนในมหาวิทยาลัย


“สหายร้อย”
ภาพจาก ในสายธารฯ (2565)


ครอบครัว


ในป่านั้นเอง ที่วัฒน์ได้พบรักกับ “สหายรุ่งโรจน์” ผู้เป็นภรรยาของเขาในเวลาต่อมา เมื่อออกจากป่าแล้ว อัศนากับเขามีบุตร-ธิดาด้วยกัน 3 คน คือ วนะ (2529) วสุ (2532) และวจนา (2534)

ช่วงหนึ่งของชีวิต วัฒน์ตัดสินใจไปทำธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างที่จังหวัดกาญจนบุรีกับภรรยาของเขา ดังเหตุผลที่ มานิต ศรีวานิชภูมิ ให้ไว้ว่า “ลำพังวัฒน์คนเดียวเขียนหนังสือจนมือหงิกมืองอ ยังไงรายได้ก็ไม่มีทางพอ เมื่อมีสมาชิกในบ้านเพิ่มขึ้น”

กระนั้น ความเป็นนักเขียนของเขาก็ยังคงเป็นฮีโร่ของลูก ดังที่ลูกสาวคนเล็กเขียนไว้ว่า “พ่อเป็นฮีโร่ของเตยตั้งแต่เด็ก…ฮีโร่ที่ปลอบใจลูกๆ ช่วงไม่มีเงินว่า ‘พ่อมีเวทมนตร์เสกกระดาษ (ต้นฉบับ) เป็นเงินได้’”


“นางฟ้าผู้เต็มใจรับใช้กวี” – วัฒน์ วรรลยางกูร
ภาพจาก FB : Wat Wanlayangkoon


นักเขียน people like


วัฒน์เป็นนักเขียนที่มีผลงานต่อเนื่อง ทั้งนวนิยาย รวมเรื่องสั้น บทกวี สารคดี ความเรียง สารนิยาย และบทเพลง โดยมีงานเขียนเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์อย่างน้อย 6 ครั้ง จาก คือรักและหวัง ในปี 2528 ลูกพ่อคนหนึ่ง (ถากไม้เหมือนหมาเลีย) ในปี 2530  ปลายนาฟ้าเขียว ในปี 2534  เงาไม้ลายรวง ในปี 2535  ฉากและชีวิต ในปี 2540 และ สิงห์สาโท ในปี 2543

แม้จะเข้ารอบเป็นนักเขียน ‘ซีรอง’ มาแล้วหลายครั้ง แต่วัฒน์ก็ไม่เคยได้รับรางวัล ‘ซีไรต์’  อย่างไรก็ตาม วัฒน์เห็นว่า “ผมไม่ได้รางวัลซีไรต์ แต่ผมได้รางวัล people like (มีเสียงปรบมือจากคนฟังในงานคอนเสิร์ตรำลึก 35 ปี 6 ตุลาฯ) นี่คือเสียงปรบมือ คือให้รางวัลผมแล้ว ผมพอใจแล้วครับ

สำหรับผลงานอย่าง คือรักและหวัง​ นั้น นักอ่านอย่าง อรรถพล อนันตวรสกุล กล่าวว่าหนังสือเล่มนี้ “ทำให้ช่วงเวลามัธยมฯปลาย​ของผมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และเป็นหนังสือที่ส่งผลให้ผมเป็นผมในวันนี้

ด้วยผลงานจำนวนมากอันยาวนานอย่างเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ในปี 2550 กองทุนศรีบูรพามอบรางวัลนักเขียนรางวัลศรีบูรพา (คนที่ 19) ให้แก่เขา

นักวิชาการด้านวรรณกรรมอย่าง ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เปรียบเทียบวัฒน์กับศรีบูรพาไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า “เขาคือ ‘ศรีบูรพา’ แห่งยุคสมัยของเรา ในทุกมิติของความเป็นนักเขียนและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย



รัฐประหาร


นับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 วัฒน์ออกมาต่อต้านการรัฐประหาร และเข้าร่วมการต่อสู้กับกลุ่มคนเสื้อแดง เขาพูดและเขียนถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพในประเทศไทยอย่างเข้มข้นและจริงจัง จนกลายเป็นนักเคลื่อนไหวที่ถูกจับตามอง

วัฒน์พูดกับ ธิติ อิสรสารถี ว่า “เรื่องหลักการต้องถือ ผมถือ 2 เรื่อง คือ รัฐประหาร กับ ล้อมฆ่าเสื้อแดง เรื่องอื่นผมไม่ถือ แต่เรื่องนี้ไม่ได้ ถ้าหลุดให้ได้ยิน ผมก็หน้าดำหน้าแดงอัดกับมึงเหมือนกัน ส่วนมึงจะชอบจะเกลียดทักษิณก็เรื่องของมึง ไม่ว่ากัน ถ้าเรื่องของประชาชน เรื่องระบบการเมือง ผมไม่ยอม

เมื่อเกิดรัฐประหาร 2557 คสช. ออกประกาศเรียกให้วัฒน์ไปรายงานตัว เขาแสดงอารยะขัดขืนด้วยการไม่ไปรายงานตัว และลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในเวลาต่อมาฝ่ายรัฐก็ออกหมายจับเขาในคดีตามกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 และอื่นๆ


งานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2553
ภาพโดย กษิดิศ อนันทนาธร


ต้องเนรเทศ


ในช่วงแรก วัฒน์ลี้ภัยอยู่ในลาว เรเชล แฮร์ริสัน เล่าถึงภาพที่เธอไปพบวัฒน์เมื่อปี 2561 ไว้อย่างจับใจว่า “ตกใจที่ได้เห็นเขาอยู่กระท่อมเล็กๆ ในท้องนาไม่มีฝาผนัง แต่มีหนังสือให้อ่าน แล้วก็มีกระดาษให้เขียนหนังสือ นั่นเป็นภาพที่ดิฉันจะไม่มีวันลืม และได้ถามตัวเองซ้ำๆ ว่า ‘ทำไมนักเขียนเก่งๆ อย่างเขา ต้องไปอยู่ในสภาพแบบนั้น’ ”

วัฒน์พูดกับ เริงชัย ประชาธรรม ว่า “กูอยากอยู่ที่นี่ ไม่กลับไทย ถึงจะลำบาก แต่ก็มีเสรีภาพ

ในยามยากของวัฒน์นี่เอง ก็มีเพื่อนฝูงของเขา ผลักดันให้มีการตีพิมพ์ผลงานของเขาออกมาสู่บรรณพิภพอีกครั้งเพื่อให้เขามีรายได้สำหรับการดำรงชีพ ไม่ว่าจะเป็น มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2558) ฉากและชีวิต (2558) คตีกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน (2561) สิงห์ สาโท (2562) รวมทั้ง กวีปราบกบฏ (2557) และ ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ (2561) ที่จัดพิมพ์โดยลูกๆ ของเขา ในนามสำนักพิมพ์ลูกสมุน


“ห้องนอนผมเอง ใช้ฝาไม้อัดทั้งด้านข้างและพื้น” – วัฒน์ วรรลยางกูร
ภาพจาก FB : Wat Wanlayangkoon


แต่แล้ว หลังจากที่พบศพผู้ลี้ภัยการเมืองอยู่ในแม่น้ำโขง สถานการณ์จึงเลวร้ายลงชนิดที่เป็นลางบอกเหตุว่า ไม่รู้วันใดจะถึงคิวของวัฒน์ ในช่วงนี้ ลูกๆ ของเขาสลับกันไปอยู่เป็นเพื่อนพ่อ  วสุ ลูกชายคนกลางเล่าว่า “เราสลับกันไปอยู่กับพ่อในอาการผวา นอนไม่หลับ เพราะในใจต่างรู้ดีว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ หลายเดือนแห่งการฝันร้ายกว่าจะพ้นผ่าน

ก่อนที่วัฒน์จะสามารถลี้ภัยออกไปพำนักอยู่ในฝรั่งเศสได้นั้น วจนา ลูกสาวคนเล็ก ตั้งข้อสังเกตว่า “เมื่อการไล่ล่าผู้ลี้ภัยในลาวทำลายสุขภาพพ่อย่อยยับ ความเป็นอยู่อันย่ำแย่ ความเครียดอันเหลือทน มีเพียงการดื่มที่ช่วยปลอบประโลมสภาพตกนรกทั้งเป็น เหล่านี้เป็นระเบิดเวลาที่ก่อตัวขึ้นเงียบๆ จนพรากพ่อไปเร็วเหลือเกิน

ในช่วงที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลจากอาการป่วยหนักของเขานั้น วสุถามพ่อว่า กลัวตายไหม ทำใจได้บ้างหรือเปล่า คำตอบของวัฒน์ คือ “กลัวสิ ที่ว่าทำจิตทำใจน่ะ ถึงเวลาจริงไม่ง่ายหรอก พอมันจะมาจริงก็กลัวฉิบหาย…แต่มันเหมือนทางกลับบ้านเราต้องผ่านป่าช้าผ่านอะไรแบบนั้น มันจะไม่ผ่านก็ไม่ได้ อย่างไรก็ต้องวิ่งฝ่ามันไปทั้งที่กลัวนั่นแหละ

แม้วัฒน์จะได้รับการดูแลจากรัฐสวัสดิการของฝรั่งเศส แต่ก็ไม่อาจรักษาอาการเจ็บป่วยของเขาได้ จนในที่สุด เขาจากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ณ เมืองเบอซ็องซง รวมอายุได้ 67 ปี


ปิดฉากของชีวิต


ต้องเนรเทศ คือ งานเขียนชิ้นสุดท้ายของวัฒน์ที่สำนักพิมพ์อ่านกำลังจะตีพิมพ์เผยแพร่ออกมา ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้ เขียนเอาไว้ว่า “หนังสือเล่มนี้…มันคือชีวิตของเขา มันคือ The Book of His Life ในทุกความหมายของคำคำนี้ ที่จะยืนยงตลอดไป

น่าเสียดายที่วัฒน์ไม่ทันได้เห็นหนังสือเล่มนี้ของเขาเสร็จออกมาเป็นรูปเล่ม

คนคนหนึ่งที่ถวายชีวิตทั้งชีวิตให้กับอุดมการณ์ของตนเอง ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่า ชีวิตนี้จะยากลำบากเพียงใด เขายอมแลกด้วยชีวิต ที่สำคัญคืออุดมการณ์นี้เขาทำเพื่อคนอื่น ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง

ชาติ กอบจิตติ สรุปความเป็นวัฒน์ วรรลยางกูร ได้เป็นอย่างดี


ต้องเนรเทศ ฉบับปกแข็ง
ภาพจาก https://readjournal.org/product/wat_painting/


การเกิดใหม่อีกหน


จตุพล บุญพรัด บรรณาธิการแพรวสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์งานหลายเล่มของวัฒน์ ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า “วัฒน์ตายเหมือนไม่ตาย หากแต่เกิดใหม่อีกหน วัฒน์ได้หย่อนรากลึกลงไปในจิตใจของคนรุ่นใหม่ๆ ที่จะสืบสานเจตนาประชาธิปไตย ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพ ไม่เพียงว่าคนเกิดมาเสรี เท่าเทียม แต่สังคมชนชั้นใดที่ยังเลวร้ายอธรรมย่ำเหยียบ จำต้องปฏิวัติเปลี่ยนแปลง นี้คือมรดกพินัยกรรมที่วัฒน์ วรรลยางกูร ได้ฝากเคียงคู่ไว้กับงานวรรณกรรมไทย ทั้งนิยาย เรื่องสั้น บทกวี และบทเพลง ที่จะอยู่ในความทรงจำของนักอ่านตลอดไป

ทำนองเดียวกับที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เห็นว่า “ถ้าจะรำลึกถึงวัฒน์ ขอให้รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเสมอภาค เพื่อประชาธิปไตย เพื่อคนเท่ากัน”  

สุดท้ายนี้ คงไม่มีอะไรจะเหมาะสำหรับการจบข้อเขียนชิ้นนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชีวิตของวัฒน์ มากไปกว่างานของเขาเอง ใน น้ำผึ้งไพร (2523) ที่ว่า

“ตายน่ะเรื่องธรรมดา แต่ก่อนตายนี่สิ ไม่ใช่เรื่องธรรมดา มันสำคัญที่ว่า ลมหายใจเรามีไว้ทำไม”


ภาพจาก FB : สำนักพิมพ์ลูกสมุน

บรรณานุกรม

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย และคณะ (บรรณาธิการ). ในสายธาร วัฒน์ วรรลยางกูร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ พี. เพรส, 2565.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save