fbpx

วิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกา ปัญหาเรื้อรังที่มากกว่าเรื่องกับดักหนี้จีน

ศรีลังกา ประเทศเกาะขนาดกลางในภูมิภาคเอเชียใต้กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง สื่อทั่วโลกมีการรายงานและลงบทวิเคราะห์เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ครั้งใหม่ของประเทศแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่หลังเมื่อปี 2017 ศรีลังกาได้ลงนามตกลงส่งมอบท่าเรือ Hambantota ให้รัฐวิสาหกิจของจีนเช่าเป็นเวลายาวนานถึง 99 ปี ด้วยมูลค่าสูงถึง 1.12 พันล้านเหรียญ จนกลายเป็นที่มาที่ไปของแนวคิด ‘กับดักหนี้จีน’ ที่พูดกันติดปาก และสร้างความวิตกกังวลให้หลายประเทศทั่วโลกที่พึ่งพาและกู้ยืมเงินจากประเทศจีนเพื่อใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

แต่วิกฤตการณ์ครั้งล่าสุดต่างออกไปจากเมื่อครั้งปี 2017 เพราะศรีลังกากำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยพานพบมาก่อนนับตั้งแต่ได้รับเอกราชและสิ้นสุดสงครามกลางเมืองที่กินเวลายาวนานถึง 26 ปี ศรีลังกาพึ่งได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบนโดยธนาคารโลกเมื่อปี 2019 แต่วันนี้พวกเขากำลังเผชิญกับราคาอาหารที่แพงหลายเท่าตัว ต้องใช้ไฟฟ้าอย่างจำกัด ไม่มีกระดาษเพียงพอเพื่อพิมพ์ข้อสอบให้นักเรียน ไปจนถึงต้องเผชิญต่อภาวะที่ต้องมีการจำกัดการซื้ออาหาร

มีคำถามตามมามากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับศรีลังกา ประเทศดาวรุ่งของเอเชียใต้หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองที่ได้ชื่อว่ามีแนวทางการพัฒนารัฐสวัสดิการดีที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาค และที่สำคัญคือมีแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดที่สุด

เสือติดปีกแห่งเอเชียใต้ในเครื่องหมายคำถาม

การพัฒนาเศรษฐกิจของศรีลังกาในช่วงเริ่มก่อร่างสร้างประเทศหลังได้รับเอกราชเผชิญปัญหามากมาย โดยเฉพาะปัญหาทางการเมืองและความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลและทมิฬ จนนำมาซึ่งการปะทุขึ้นของสงครามกลางเมืองในปี 1983 ทำให้คนศรีลังกาทั้งเชื้อสายทมิฬและเชื้อสายสิงหลต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจนสูญเสียโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ กระทั่งปี 2009 ไฟสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อและยาวนานได้มอดดับลง ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ศรีลังกาจะได้กลับมาฟื้นคืนเศรษฐกิจของตัวเอง ภายหลังเผชิญปัญหาความขัดแย้งมาอย่างยาวนาน

หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง รัฐบาลของมหินทรา ราชปักษาในเวลานั้นได้พยายามเปิดประเทศรับการลงทุนจากภายนอก และให้ความสนใจอย่างมากต่อการดึงเงินลงทุนจากภายนอกประเทศเข้ามาหมุนเวียนพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตามปัญหาหลักของศรีลังกาในเวลานั้นคือ การเผชิญการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากหลายประเทศ จากการปราบปรามกลุ่มเรียกร้องเอกราชชาวทมิฬอย่างหนัก ซึ่งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมาก หนึ่งในจำนวนประเทศที่คว่ำบาตรศรีลังกาในเวลานั้นรวมถึงเพื่อนบ้านสำคัญที่ช่วยเหลือศรีลังกามาอย่างยาวนานอย่างอินเดียด้วย

เพื่อดึงเงินทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลได้ตัดสินใจออกพันธบัตรระหว่างประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาว จนทำให้ยอดหนี้จากการกู้ยืมในลักษณะนี้กลายเป็นยอดหนี้หลักของประเทศจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ข้อมูล ณ ปี 2017 ระบุว่า หนี้จากการกู้ยืมในตลาดของศรีลังกาสูงถึงร้อยละ 39 ของยอดหนี้ทั้งหมด ตามมาด้วยการกู้ยืมเงินจากธนาคารระหว่างประเทศ ทั้งจากธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียและธนาคารโลก โดยมียอดหนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14 และ 11 ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศที่ปล่อยกู้ให้กับศรีลังกามากที่สุดคือญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 12 ตามมาด้วยจีนร้อยละ 10 และอินเดียร้อยละ 3

เงินกู้ยืมจากภายนอกประเทศเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกระตุ้นเศรษฐกิจของศรีลังกาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เศรษฐกิจของศรีลังกาเติบโตอย่างรวดเร็ว ตัวเลข GDP ต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวในเวลาเพียง 10 ปี จาก 1,436 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2006 ไปเป็น 4,077 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2017 ตัวเลขที่ก้าวกระโดดช่วยผลักให้คนศรีลังกาจำนวนมากหลุดพ้นจากความยากจนและมีสัดส่วนชนชั้นกลางเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลยังมีการผลักดันนโยบายรัฐสวัสดิการหลายตัวทั้งการศึกษาและสาธารณสุข จนได้รับคำชื่นชมจากหลายประเทศทั่วโลก

แต่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการของศรีลังกาต้องแลกมาด้วยต้นทุนราคาแพงมาก และกลายเป็นระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจที่รอวันปะทุ เพราะจะเห็นได้ว่าหนี้จากการกู้ยืมส่วนใหญ่ของศรีลังกานั้นมาจากภายนอกประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงและผูกพันโดยตรงกับค่าเงินและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ยอดหนี้ภายนอกส่วนใหญ่ยังมาจากการกู้ยืมในตลาดระหว่างประเทศซึ่งต้องชำระหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนด

โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง กับนโยบายการเงินและการคลังที่ผิดพลาด

เค้าลางแห่งหายนะของวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกาเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2016-17 เมื่อใกล้กำหนดชำระหนี้ระยะสั้นต่างๆ ที่กู้ยืมมาใช้พัฒนาประเทศ แต่ช่วงเวลาดังกล่าวศรีลังกาเผชิญกับปัญหาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงและการค้าระหว่างประเทศหดตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อค่าเงินศรีลังกาอย่างมาก จนเป็นเหตุให้ยอดชำระหนี้ของประเทศเพิ่มมากยิ่งขึ้น รัฐบาลในเวลานั้นจำเป็นต้องหาวิธีเพิ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหานี้

นักเศรษฐศาสตร์ชาวศรีลังกาและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโคลัมโบอย่าง Umesh Moramudali มองว่าการปล่อยเช่าท่าเรือ Hambantota ให้จีนถือเป็นหนึ่งในมาตรการของรัฐบาลเพื่อดึงเงินดอลลาร์เข้ามาเสริมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เขายังได้อธิบายอีกว่าเงินที่รัฐบาลได้ส่วนใหญ่จากค่าเช่าแทบไม่ได้นำไปใช้เพื่อชำระหนี้จากจีนเลย เนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะชำระอีกนานพอสมควร นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแผนในลักษณะเดียวกันที่จะปล่อยเช่าสนามบินนานาชาติมัตตาลาราชปักษาให้กับอินเดียด้วย[1]

กล่าวได้ว่าการปล่อยเช่าท่าเรือ Hambantota ช่วยให้ศรีลังการอดพ้นวิกฤตการชำระหนี้ระหว่างประเทศในรอบแรกไปได้อย่างหวุดหวิด แต่สถานการณ์กลับเลวร้ายมากยิ่งขึ้นเมื่อเกิดการระบาดของโควิดในปี 2019 และกินเวลายาวนานมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ศรีลังกาสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศมาโดยตลอด เพราะศรีลังกามีรายได้จากภายนอกประเทศที่ค่อนข้างจำกัด ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการส่งออกสินค้าอย่างชา การส่งเงินกลับเข้าประเทศของบรรดาชาวศรีลังกาที่ไปทำงานในต่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ

ในทางตรงกันข้าม ศรีลังกาต้องนำเข้าสินค้าจำนวนมากจากต่างประเทศ ทั้งอาหาร สินค้าการเกษตร ยาและเวชภัณฑ์ กระดาษ รวมถึงพลังงานประเภทต่างๆ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศติดลบในหลายครั้ง เพราะรัฐบาลไม่สามารถผลักดันให้มูลค่าการส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นได้ หรือการเข้ามาลงทุนของบรรษัทต่างประเทศนั้นมีอยู่อย่างจำกัด ฉะนั้นเมื่อโควิดระบาด นักท่องเที่ยวไม่มี ศรีลังกาจึงขาดดุลทางเศรษฐกิจอย่างหนัก กลายเป็นปัจจัยแทรกซ้อนแรกที่เข้ามาทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่ก่อนแล้ว

ในสภาพที่เงินขาเข้านั้นหดหายไปในชั่วข้ามคืน แต่เงินขาออกที่ถูกใช้จ่ายไปเพื่อซื้อข้าวของจำเป็นกลับคงที่หรือเพิ่มขึ้น ปัจจัยนี้ส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกาลดลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้น ยังสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพของค่าเงินอีกด้วย ทำให้สินค้าจำเป็นต่างๆ ราคาปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลัก

แน่นอนว่าวิกฤตโควิดในรอบนี้กระทบผู้คนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะรายได้ของประชาชน รัฐบาลศรีลังกาจึงต้องตัดสินใจลดการจัดเก็บภาษีเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่นั่นก็สร้างปัญหาเรื่องรายได้ของประเทศที่แต่เดิมก็จัดเก็บได้น้อยอยู่แล้ว เมื่อเผชิญปัญหาเช่นนี้ยิ่งทำให้รายได้รัฐบาลลดลงไปอีก กลายเป็นปัญหาต่อเนื่องของรัฐบาลในเรื่องการใช้จ่ายเพื่อนำเข้าสินค้ามาบริโภคในประเทศ สำคัญที่สุดคือการชำระหนี้พันธบัตรระหว่างประเทศที่ครบกำหนดระยะการชำระเงิน รวมไปถึงเงินกู้อื่นๆ ที่รัฐบาลกู้มาจากต่างประเทศด้วย

จุดจบของการหลอกตัวเอง

ฉะนั้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 ศรีลังกาเริ่มเผชิญสถานการณ์สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น เงินทุนระหว่างประเทศไม่เพียงพอต่อยอดหนี้ที่จะครบกำหนดชำระ เงินเฟ้อเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และข้าวของราคาแพงและมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน รัฐบาลอยู่ในภาวะตีบตันทางนโยบายการเงินและการคลัง จนต้องตัดสินใจลดการนำเข้าสินค้าจากภายนอก และจำกัดการซื้อของใช้จำเป็นในประเทศ

สถานการณ์เลวร้ายหนักมากยิ่งขึ้น เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เพราะ 2 ชาตินี้ถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสำคัญอย่างมากต่อศรีลังกา ที่สำคัญคือสงครามยังส่งผลให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งทำให้ศรีลังกาต้องสูญเสียเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากกว่าเดิมในการนำเข้าพลังงาน จนต้องให้รัฐบาลอินเดียเข้ามาช่วยเหลือ

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้รัฐบาลศรีลังกาต้องเดินสายขอผ่อนผันการชำระหนี้จากเจ้าหนี้รายสำคัญอย่างญี่ปุ่น จีน และอินเดีย รวมถึงแสวงหาเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อเข้ามาพยุงเศรษฐกิจในประเทศ และนำมาชำระยอดหนี้จากการกู้ยืมในตลาดระหว่างประเทศที่ไม่สามารถผิดนัดชำระได้ แต่สุดท้ายระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่เร่งรีบบนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เปราะบางของศรีลังกาได้ระเบิดขึ้น เมื่อค่าเงินลดต่ำสุดในรอบหลายปี ทำให้ศรีลังกามียอดหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน เช่นเดียวกับราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

สิ่งเหล่านี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับประชาชนจนนำมาซึ่งการประท้วงขับไล่รัฐบาลและประธานาธิบดีให้ออกจากตำแหน่งจากความล้มเหลวในการบริหารประเทศ จน ณ เวลานี้คณะรัฐมนตรีได้ตัดสินใจลาออกกันทั้งชุด เหลือไว้เพียงนายกรัฐมนตรีอย่างนายมหินทรา ราชปักษา ที่วันนี้กำลังเรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศร่วมกัน

โดยสรุปแล้วอาจอธิบายได้ว่าปัญหาเศรษฐกิจในรอบนี้ของศรีลังกานั้นไปไกลเกินกว่าคำว่ากับดักหนี้จีนไปมากแล้ว ถึงขนาดที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนของศรีลังกาเองระบุว่า แม้ไม่มียอดหนี้ของจีน ศรีลังกาก็จะยังเดินมาสู่จุดวิกฤตนี้จากปัญหาความผิดพลาดทางด้านนโยบายการเงินและการคลังของประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนี้สินที่ศรีลังกากู้ยืมจากจีนนั้นมีปัญหาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะความยั่งยืนในการสร้างผลตอบแทนของโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจเลยด้วยซ้ำ นอกเสียจากผลประโยชน์ทางการเมืองที่ตระกูลการเมืองอย่างราชปักษาได้รับจากการลงทุนเท่านั้น

ฉะนั้น ปัญหาเศรษฐกิจของศรีลังกาในรอบนี้อาจสรุปได้ว่ามีสาเหตุสำคัญใหญ่ๆ มาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจเดิมที่มีความเปราะบางและอ่อนไหวอยู่แล้ว เมื่อมีตัวเร่งอย่างการระบาดของโควิด-19 และปัญหาสงครามในยูเครนเข้ามา โครงสร้างนี้จึงพังทลายลงมาให้เราได้เห็นอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น และนี่คือบทเรียนสำคัญสำหรับประเทศอื่นๆ ที่มุ่งหวังจะเร่งพัฒนาประเทศของตัวเองโดยพึ่งพิงการกู้ยืมเงินจากภายนอกประเทศมากจนเกินไป


[1] บทความ Is Sri Lanka Really a Victim of China’s ‘Debt Trap’?

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save