fbpx

โรงเรียนสวนหลวง: โรงเรียนที่ถูกลืมในหน้าประวัติศาสตร์พื้นที่จุฬาฯ

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีข่าวโรงเรียนวรรณวิทย์ลั่นระฆังครั้งสุดท้าย ประกาศปิดตัวลงหลังจากดำเนินการมา 76 ปี กลายเป็นข่าวใหญ่ในหน้าการศึกษา

ไม่แปลกที่โรงเรียนเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเช่นนี้จะได้รับความสนใจและเสียงอาลัยอาวรณ์การจากลาที่พรั่งพรู แต่ก็น่าสังเกตว่ามีโรงเรียนแห่งหนึ่ง อายุไม่น้อยไปกว่ากัน ตั้งบนพื้นที่สถาบันการศึกษาและใจกลางเมืองเช่นเดียวกัน ซึ่งถูกยุบไปเพราะมหาวิทยาลัยต้องการสร้างตึกที่พัก กลับแทบไม่มีข่าวคราวใหญ่โตใดบ้างเลย 

โรงเรียนแห่งนี้คือ โรงเรียนสวนหลวง โรงเรียนที่เปิดดำเนินการกว่า 74 ปีในย่านสวนหลวง ก่อนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะขอคืนพื้นที่เพื่อสร้างหอพักให้แก่นิสิตและบุคลากร

โรงเรียนแห่งนี้จากไปกว่า 16 ปีแล้ว ไม่ยาวนานเท่าช่วงชีวิตคน แต่ก็แทบถูกลืมไปเหมือนกับสถานที่อีกหลายแห่งในย่านสามย่าน-สะพานเหลือง ไม่เป็นแม้แต่ตำนานให้คนเล่าขาน

16 ปียังไม่ได้นานมากพอที่จะทำให้ครูและนักเรียนที่นี่ลืมวันวานที่อบอุ่นของพวกเขาได้ และนั่นทำให้เราโชคดีที่มีโอกาสพูดคุยกับพวกเขาและถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คนและ ‘โรงเรียนสวนหลวง’ ออกมาเป็นบทความนี้   


ย่านสวนหลวงเป็นมาอย่างไร


ชุมชนสวนหลวง-สามย่าน หรือชาวบ้านเรียกว่า ‘ชุมชนเซียงกง’ แต่ก่อนมีผู้พักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี เริ่มแรกที่ดินบริเวณนี้ยังไม่ได้มีการพัฒนาหรือปรับปรุงแต่อย่างใด ไม่มีการจดทะเบียนโฉนด มีเพียงสวนผัก สวนมะลิ และหมู่บ้านขนาดเล็กเท่านั้น[1] ชุมชนนี้เคยเป็นชุมชนของคนเชื้อสายจีน คนส่วนใหญ่นามสกุลขึ้นต้นด้วย แซ่ เช่น แซ่ตั้ง แซ่หว่อง แซ่หลิ่ม เป็นต้น ส่วนใหญ่นับถือวัฒนธรรมจีนแต้จิ๋ว และมีความผูกพันกับศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างมาก

ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA แถลงว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2459 รัชกาลที่ 6 ทรงออกโฉนดที่ดินฉบับที่ 2057, 2058 และ 2059 แก่พระองค์เอง (โฉนดที่ดินจุฬาฯ และชุมชนโดยรอบ) ทำให้ที่ดินตกทอดมาจนถึงรัชกาลที่ 8 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ดินส่วนนี้ถูกจัดระเบียบใหม่และย้ายมาอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์[2]  

โสภณ พรโชคชัย ประธาน AREA อธิบายว่า ปี 2482 สภาผู้แทนราษฎรประกาศพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนพระมหากษัตริย์ขนาด 3 แปลง หรือ 1,196 ไร่ 32 ตารางวาให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อผลักดันจุฬาฯ ให้เป็นสถานศึกษาแห่งชาติ กระทรวงการคลังจึงมอบที่ดินนี้ให้จุฬาฯ และจุฬาฯ จึงทำสัญญาเลิกเช่า 30 ปีกับกรมพระคลังข้างที่นับตั้งแต่นั้นมา[3]

เมื่อที่ดินทั้งหมดตกแก่จุฬาฯ แล้ว จุฬาฯ จึงกลายเป็นผู้จัดเก็บค่าเช่าแทนกรมพระคลังข้างที่ หากผู้เช่ารายอื่นที่อาศัยอยู่เดิมต้องการเช่าต่อก็ต้องเช่ากับจุฬาฯ โดยตรง โดยจุฬาฯ ปล่อยเช่าที่ดินให้แก่ชาวบ้านที่ต้องการทำมาค้าขายและสำนักงานต่างๆ ในเซียงกงนี้เช่าอยู่เช่นกัน เช่น สำนักงานเขตปทุมวัน โรงเรียน สถานีตำรวจ ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีดับเพลิง เป็นต้น เพื่อนำเงินที่ได้มาใช้ในกิจการมหาวิทยาลัย ทำให้ชุมชนตรงนี้คึกคักขึ้น

นานวันเข้าผู้คนก็เริ่มอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งรกรากที่ชุมชนบริเวณนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลให้ชุมชนเริ่มแออัดและเสื่อมโทรมลงเหมือนกับชุมชนแออัดอื่นๆ ในกรุงเทพฯ จุฬาฯ จึงตัดสินใจที่จะปรับปรุงที่ดินของตนเอง โดยการวางแผนผัง (grid pattern) ซึ่งจัดแบ่งเขตที่ดินออกเป็น 3 เขต คือ เขตการศึกษา 60% เขตส่วนที่ราชการยืมเช่า 10% และเขตพาณิชย์ 30% โดยแบ่งพื้นที่ต่างๆ ออกเป็นหมายเลขและเรียกว่า หมอน[4]

จากนั้นจุฬาก็ทำสัญญากับบริษัทวังใหม่จำกัด เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณสวนหลวง-สามย่านเป็นเขตผลประโยชน์เชิงพาณิชย์แห่งแรก โดยบริษัทวังใหม่ได้เข้ามารื้อถอนตึกแถวเก่าๆ สร้างตึกใหม่ที่ดูทันสมัยขึ้นมาแทน และบูรณะถนนเพิ่มด้วย ทำให้ย่านนี้มีคนมากหน้าหลายตาเข้ามาทำมาหากินมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่ต้องย้ายออกเพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นได้


โรงเรียนเทศบาลมรดกคณะราษฎร


หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะราษฎรมีความมุ่งหวังที่จะให้การศึกษาแก่พลเมือง ซึ่งหนึ่งในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ข้อที่ 6 มีใจความว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” โดยเห็นว่าการศึกษาจะช่วยให้พลเมืองเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยมากขึ้นและต้องการเร่งให้เกิดการเลือกตั้ง ความตั้งใจนี้สะท้อนให้เห็นจากที่คณะราษฎรประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2475 ซึ่งมีสาระสำคัญคือให้พลเมืองได้รับการศึกษาโดยไม่แบ่งแยก เพศ ชาติ ศาสนา เพื่อให้พลเมืองสามารถทำตามหน้าที่ในระบอบรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ โดยแบ่งสายการเรียนเป็น สายสามัญศึกษาและสายวิสามัญศึกษา[5]

หลังจากมีการจัดตั้งเทศบาลตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ก็มีการทยอยจัดตั้งเทศบาลทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2477-2483 ทำให้มีเทศบาลเกิดขึ้น 111 แห่ง ในเวลาต่อมารัฐบาลจึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาฉบับเพิ่มเติม พ.ศ. 2478 โดยได้เพิ่มประเภทโรงเรียนเทศบาลเข้ามาและกำหนดให้แต่ละท้องถิ่นที่มีฐานะเทศบาลจัดตั้งโรงเรียนประถมศึกษาด้วยเงินรายได้ของเทศบาลนั้น โรงเรียนเทศบาลจึงไม่เก็บค่าการศึกษาจากราษฎร ดังนั้นโรงเรียนต่างๆ ที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของคณะราษฎร                        


ย้อนรำลึก…โรงเรียนสวนหลวง


‘โรงเรียนสวนหลวง’ หรือ ‘โรงเรียนเทศบาลสวนหลวง’ เมื่อกล่าวถึงแล้ว ก็แทบจะไม่มีผู้ใดรู้จักโรงเรียนแห่งนี้ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2476 ช่วงแรกนั้นโรงเรียนตั้งอยู่บริเวณใกล้กับห้างมาบุญครองในปัจจุบัน แต่ไม่ทราบข้อมูลแน่ชัดว่าบริเวณใด ต่อมาโรงเรียนก็ได้ย้ายมาตั้งที่จุฬาซอย 9 บนพื้นที่ขนาด 1 ไร่กว่าๆ  ลักษณะอาคารเรียนเป็นรูปทรงตัว L สร้างจากไม้ บริเวณกลางโรงเรียนมีต้นโพธิ์ต้นใหญ่ตั้งอยู่เป็นที่เคารพสักการะของคุณครูและผู้ปกครอง โดยสมัยนั้นจะมีความเชื่อที่ว่า ถ้าหากเก็บใบของต้นโพธิ์มาไว้ในสมุดหรือหนังสือจะทำให้เรียนเก่ง            

ทะเบียนนักเรียนเล่มแรกตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียน


โรงเรียนสวนหลวงเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (มีการสอนถึง ป.7 จนถึงปี 2520 ตามหลักสูตรการศึกษา) จากหลักฐานแสดงผลการเรียนของศิษย์เก่าปี 2539 ทำให้ทราบว่า มีการจำแนกวิชาที่สอนเป็น 5 วิชา ได้แก่ ทักษะ (ภาษาไทยและคณิตศาสตร์) สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต สร้างเสริมลักษณะนิสัย การงานและพื้นฐานอาชีพ และประสบการณ์พิเศษ (บางคนเลือกเรียนภาษาอังกฤษ) แต่ในภายหลังมีการเพิ่มรายวิชาวิชาอื่นๆ เข้ามาตามช่วงสมัยของการศึกษา

จากทะเบียนนักเรียนทำให้เราเห็นว่า นักเรียนที่เข้าเรียนที่นี่ในช่วงแรกๆ นั้น เป็นชาวจีน ที่มีถิ่นฐานอยู่ในเขตปทุมวัน จังหวัดพระนคร สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนสามย่านเป็นชุมชนชาวจีนที่ขยายตัวออกจากกรุงเทพฯ ชั้นใน หลังจากยุค 2500 แล้ว นักเรียนก็มาจากหลายแหล่งมากขึ้น บ้างก็เป็นบุตรหลานของบุคลากรที่ทำงานในจุฬาฯ บ้างก็ตามพ่อแม่มาจากต่างจังหวัด เช่น ร้อยเอ็ด พังงา กาญจนบุรี อุบลราชธานี และสกลนคร            

“ผมเป็นเด็กจากต่างจังหวัด พ่อแม่มาทำงานที่กรุงเทพฯ พ่อแม่เลยให้ผมเข้าเรียนที่นี่” นฤนาท ศิษย์เก่า กล่าว การส่งบุตรหลานเข้าศึกษาที่โรงเรียนสวนหลวงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง เพราะนักเรียนสามารถเรียนฟรีจนจบการศึกษาระดับประถมศึกษาตอนปลายได้ เนื่องจากโรงเรียนสวนหลวงเป็นโรงเรียนเทศบาล ซึ่งได้งบบริหารจากกรุงเทพมหานคร

ประกาศนียบัตรนักเรียนในสมัยนั้น


ชุมชนเซียงกงบริเวณนี้อยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย อดีตนักเรียนโรงเรียนสวนหลวงคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ในอดีตรอบๆ โรงเรียนเต็มไปด้วยเสียงเจื้อยแจ้วของผู้คนเชื้อสายจีนและกลิ่นของอะไหล่รถยนต์ ตั้งแต่เช้าตรู่ พ่อค้าแม่ขายในตลาดสามย่านจะรีบมาเปิดร้านอาหารและตั้งแผงหน้าบ้านรอให้ผู้คนที่ผ่านไปมาแวะมาซื้ออาหาร ทั้งโจ๊กสามย่าน ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง ข้าวหน้าเป็ด และมีขนมหน้าโรงเรียนขายให้เด็กๆ เมื่อมีกิจกรรมสำคัญของชุมชน เช่น การแสดงงิ้วหน้าศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง การแห่เทียนพรรษาวันเข้าพรรษาไปที่วัดดวงแข หรืองานวันเด็ก ก็จะมีนักเรียน คุณครู รวมไปถึงคนในชุมชนมาร่วมงานกัน ทำให้เด็กๆ มีความใกล้ชิด ผูกพันและสนิทสนมกับเพื่อนๆ แม้ว่าแต่ละคนจะเรียนจบไปแล้วแต่ก็ยังมีบางส่วนที่ติดต่อกันอยู่ ชีวิตในชุมชนสวนหลวง-สามย่านจึงยังคงสดใสอยู่ในความทรงจำของทุกคนเสมอ แม้กาลเวลาจะล่วงเลยไปแล้วก็ตาม 

ภาพคณะครูในงานเลี้ยงเล็กๆ อย่างอบอุ่น


“ประทับใจมากค่ะที่ได้สอนที่โรงเรียนสวนหลวง เดินทางไปไหนมาไหนสะดวก เดินทางง่าย เพราะโรงเรียนอยู่ใกล้หัวลำโพง บุคลากรในโรงเรียนเป็นกันเอง อบอุ่นราวกับครอบครัว ทุกคนต่างช่วยกันทำงาน เพราะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เด็กนักเรียนน่ารัก อยู่กันอย่างใกล้ชิด” อาจารย์อัมพร อดีตครูโรงเรียนสวนหลวงให้สัมภาษณ์

“ท่านมีความอบอุ่นเหมือนแม่” เอกรินทร์ ศิษย์เก่า เล่าถึงคุณครูสอนภาษาไทย “เพื่อนตอนสมัยเรียนแต่ละคนสนิทกัน พวกเราอยู่กันอย่างเรียบง่าย โรงเรียนสวนหลวงเป็นโรงเรียนที่ทำให้ผมได้เจออะไรใหม่ๆ ตั้งแต่ผมเรียนจบมา ยังไม่มีโอกาสได้กลับไปที่โรงเรียนอีกเลย” เขากล่าวทิ้งท้าย 

ภาพครูประจำชั้นและนักเรียน


โรงเรียนสวนหลวงเปิดสอนมายาวนานกว่า 74 ปี แต่ในปี 2550 สิ่งที่ทุกคนในโรงเรียนไม่อยากให้เป็นจริงก็เกิดขึ้น นั่นก็คือการยุบโรงเรียน หลังจากการประชุมระหว่างกรุงเทพมหานครและสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ก็ได้มีมติว่า โรงเรียนต้องปิดตัวลงด้วยเหตุที่ว่าสัญญาเช่าที่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหมดลงแล้ว ประกอบกับนักเรียนมีจำนวนน้อย จึงไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้คุ้มค่าแก่การเรียนการสอนได้ โรงเรียนจึงไม่เหลือทางเลือกอื่น ทั้งคุณครู ผู้ปกครองและนักเรียนจึงต้องแยกจากกัน เด็กๆ ต่างแยกย้ายไปเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งใหม่บริเวณใกล้เคียง เช่น โรงเรียนปทุมวัน โรงเรียนวัดดวงแข โรงเรียนวัดหัวลำโพง เป็นต้น หรืออาจย้ายตามครอบครัวไปที่อื่น ส่วนคุณครูก็ต้องทำเรื่องย้ายไปสอนที่โรงเรียนแห่งอื่น และพื้นที่โรงเรียนก็ถูกพัฒนาไปเป็นที่พักอาศัยสำหรับนิสิตและบุคลากร หรือที่รู้จักกันในนาม ‘เรือนวิรัชมิตร (CU I-House)’

จากวันนั้นเป็นต้นมาโรงเรียนสวนหลวงก็เหลือเพียงแค่ชื่อและความทรงจำของผู้คนส่วนน้อยที่เคยใช้ชีวิตและผูกพันกับสถานที่นี้

“ลูกคนโตของป้าเคยเรียนที่โรงเรียนสวนหลวง พอโตมาหน่อยก็ให้ไปเข้าโรงเรียนวัดหัวลำโพง ลูกของป้าย้ายออกตอนป.4 เราออกจากโรงเรียนก่อนที่เขาจะไล่ที่เรา ตอนแรกเขายังไม่กล้าไล่ แต่ข่าวมาก่อน คนทำงานจุฬาฯ เขารู้ เขาก็เริ่มทยอยเอาลูกออก” ป้าติ๋ว บุคลากรจุฬาฯ อาวุโส ให้ข้อมูลกับเรา


เหตุใดโรงเรียนสวนหลวงจึงถูบยุบ?


หลังจากจุฬาฯ ทำโครงการพัฒนาที่ดินเขตผลประโยชน์แห่งแรก ซึ่งได้แก่ มาบุญครอง สยามสแควร์ พื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณสวนหลวง-สามย่าน และจัตุรัสจามจุรี เมื่อปี 2504 ตามนโยบายพัฒนาเมืองของรัฐบาลขณะนั้น[6] จุฬาฯ ก็พยายามพัฒนาที่ดินบริเวณอื่นเพิ่มเติมเสมอ

ราวปี 2538 จุฬาฯ มีนโยบายที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณสวนหลวง-สามย่านอีกครั้ง จากชุมชนดั้งเดิมให้กลายเป็นที่พักอาศัยและเป็นเขตกันชนระหว่างเขตการศึกษาและเขตพาณิชย์ตามแผนที่วางไว้ โดยยึดหลัก maximum benefit คือ การพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ให้เป็นพื้นที่ใช้สอยที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ต้องเอื้ออำนวยความสะดวกสบาย สนับสนุนธุรกิจที่อยู่รอบข้างและชุมชนทั้งหมดในบริเวณนั้น มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมและให้ประโยชน์แก่สังคม ตอบโจทย์แนวคิดเมืองเล็กในเมืองใหญ่ จุฬาฯ จึงทำสัญญากับกลุ่มบริษัท Villes Nouvelles De France, Space Group of Korea และ Tesco จัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ขึ้นมาใหม่[7] โดยอ้างว่าบริเวณดังกล่าวเริ่มมีความเสื่อมโทรม จุฬาฯ เริ่มประกาศเวนคืนที่ดิน ขึ้นค่าเช่า และไม่ต่อสัญญาในการเช่าพื้นที่บางส่วน เพื่อที่จะเป็นการบีบบังคับทางอ้อมให้คนย้ายออกไป ทำให้ร้านค้าและครัวเรือนบางส่วนทยอยย้ายออก

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อีกนัยหนึ่งคือ gentrification ซึ่งคือกระบวนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่บริเวณดั้งเดิม โดยทำการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าหรือที่อยู่อาศัยใหม่ และผลที่ตามมาคือ ผู้อาศัยเดิมที่มีรายได้น้อยไม่สามารถดำรงอยู่ต่อได้[8] ซึ่งจะส่งผลพวงคือ ประชากรที่อยู่อาศัยในละแวกนั้นลดลง แต่ภาคธุรกิจอื่นๆ กลับเข้ามาแทนที่ จึงเป็นสาเหตุทำให้โรงเรียนสวนหลวงไม่มีนักเรียนมากพอ โรงเรียนจึงไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ต่อไป จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การที่โรงเรียนถูกยุบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่จะมีความค่อยเป็นค่อยไปของปัจจัยที่ทำให้โรงเรียนถูกยุบ นอกจากโรงเรียนสวนหลวงแล้ว สำนักงานเขตปทุมวัน สถานีตำรวจ โรงเรียนปทุมวัน ตลาดสามย่าน ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของย่านนี้ก็ต้องย้ายไปอยู่บริเวณอื่นแทน

การโยกย้ายอาคารเรียนหรือสำนักงานที่มีอยู่เดิมนั้นจะได้รับการพิจารณาให้เช่าต่อก็ต่อเมื่อสามารถสร้างกำไรสูงสุดและก่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด เมื่อพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของจุฬาฯ กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้น จะเห็นว่ามีหลายประเด็นที่อาจขัดแย้งกัน เช่น การอ้างเหตุผลจากจำนวนนักเรียนเพื่อยุบโรงเรียนสวนหลวงแล้วพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยแทน การปรับขึ้นราคาค่าเช่าตึกแถวหลังจากการปรับปรุงสภาพอาคารใหม่หลายเท่าตัว การไม่ต่อสัญญาเช่าแก่ผู้เช่าเดิมหลายราย เป็นต้น

เมื่อร้านค้าต่างๆ และโรงเรียนถูกแทนที่ด้วยห้างสรรพสินค้าและคอนโดมีเนียมมากมาย ผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ก็ขาดแหล่งทำมาหากินและแหล่งการศึกษาที่เหมาะสม ดังนั้นการพัฒนาที่ดินเพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดของจุฬาลงกรณ์นั้นก็ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนเช่นกัน แต่อาจจะเป็นการพัฒนาเพื่อมุ่งหวังผลกำไรมากว่าก็เป็นได้                                                                                 


เหลือสิ่งใดไว้ทดแทน…


การพัฒนาที่ดินของจุฬาฯ ได้ส่งผลกระทบต่อหลายครอบครัว ทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นในการที่จะต้องส่งลูกไปเรียนในสถานที่ห่างไกลกว่าเดิม ทั้งค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์การเรียนใหม่ ไม่ว่าจะชุดนักเรียน สมุด ดินสอ ปากกา รองเท้า อีกทั้งเสียเวลามากขึ้นด้วย เหล่านี้อาจส่งผลให้ผู้ปกครองและเด็กเกิดความเครียด การเข้าโรงเรียนไปเจอสังคมใหม่ๆ ทำให้เด็กต้องใช้เวลาปรับตัวแทนที่จะได้ใช้ชีวิตและเติบโตมาพร้อมกับเพื่อนในชุมชนเดิมของพวกเขา นอกจากนี้การศึกษาในโรงเรียนใหม่ที่ไม่คุ้นเคยก็อาจส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กได้ นักเรียนหลายคนอาจรู้สึกหมดแรงจูงใจในการเรียน แย่ไปกว่านั้น บางครอบครัวที่ไม่มีเงินส่งลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนที่เก็บค่าเทอมหรือย้ายไปเรียนที่ไกลๆ ได้ ก็อาจทำให้เด็กบางคนหลุดออกจากระบบการศึกษา

“แม้เด็กที่ไม่มีอะไรติดตัวเลยก็สามารถเรียนจนจบการศึกษาได้ เพราะโรงเรียนมีให้ทุกอย่าง ทั้งเครื่องแบบ อาหารกลางวัน” คุณครูชลลดา อดีตครูโรงเรียนสวนหลวงกล่าว

การทำตามแผนที่ดินของจุฬาฯ จึงได้พัฒนาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาขึ้นมาพร้อมกับการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ  ไปด้วย แม้ว่าจุฬาฯ เองจะเป็นผู้นำทางด้านการศึกษาแห่งหนึ่งของประเทศไทยก็ตาม

นอกจากการพัฒนาที่ดินของจุฬาฯ จะส่งผลกระทบต่อเด็กนักเรียนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อชุมชนสวนหลวง-สามย่านอีกด้วย ซึ่งหลายคนมองว่าการพัฒนาที่ดินที่เป็นการยกระดับพื้นที่ชุมชนโดยรอบและกำจัดพื้นที่เสื่อมโทรมออกไป ทำให้พื้นที่ดูมีความสะอาดและเป็นระเบียบมากขึ้น แต่สำหรับชาวบ้านบางคนมองว่าการพัฒนาพื้นที่นี้เป็นการตัดโอกาสในการประกอบอาชีพของพวกเขา ซึ่งจะเห็นได้จากบทสัมภาษณ์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ของจุฬาฯ ในวิทยานิพนธ์เรื่อง ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อผู้เช่าจากการรื้อถอนอาคารในชุมชนสวนหลวงเพื่อการพัฒนาตามการวางผังแม่บทจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของ กันยพัชร์ ธนกุลวุฒิโรจน์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้

“แต่ก่อนมีลูกค้าจำนวนมากในแต่ละวัน เนื่องจากร้านมีพื้นที่ที่กว้าง แต่หลังจากที่มีการปรับปรุงที่ดินตามแผนแม่บทของจุฬาฯ ทำให้ต้องย้ายร้าน มิหนำซ้ำ ร้านกลับเหลืออยู่คูหาเดียว ทำให้ร้านรองรับลูกค้าได้น้อยลง ส่งผลให้ลูกค้าน้อยลง รายได้น้อยลง” เจ้าของร้านเพ้งคั่วไก่กล่าว

“ลุงจะไม่ย้าย จะขายผลไม้จนกว่าจะขายไม่ได้ จะดิ้นรนต่อสู้เพื่อแหล่งงานเดิมจนกว่าจะหมดหนทางถึงจะย้ายออก ผู้คนในชุมชนสวนหลวงมีคนรู้จักร้านลุงเยอะ มีลูกค้ามาซื้อเป็นประจำทุกวัน แต่พอจุฬาฯ มารื้อถอนอาคาร ทำให้รายได้ลดลงมาก ลูกค้าน้อยลง รายได้ไม่พอต่อค่าครองชีพ เพราะลุงต้องส่งลูกชายเรียนหนังสือ” คุณลุงเจ้าของร้านผลไม้ ‘อร่อยกว่า’ กล่าว

กันยพัชร์ให้ข้อสรุปว่า ผู้เช่าในชุมชนสวนหลวงมีรายได้สุทธิและเงินออมลดลงภายหลังจากการรื้อถอนอาคารตามการพัฒนาแผนแม่บทของจุฬาฯ ส่งผลให้พวกเขาเกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ เพราะการรื้อย้ายชุมชนออกไปที่ดินใหม่ ทำให้หลายๆ ครอบครัวต้องหาที่อยู่อาศัยใหม่อยู่ อีกทั้งยังเป็นการทำลายกลุ่มชุมชน ที่มีการพึ่งพาอาศัยและความผูกพันกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของคนในชุมชนแห่งนี้ไป


คำส่งท้าย


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่เพียงแต่เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่มีชุมชนต่างๆ ล้อมรอบอย่างแน่นหนามากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครด้วย ปัจจุบันเมื่อนึกถึงคำว่า สามย่าน หรือ สวนหลวง ใครหลายๆ คนอาจนึกถึงห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยม เช่น ห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ที่มีจุดเด่น คือ ร้านอาหารชื่อดังต่างๆ จนไปถึงอุโมงค์ใต้ดินที่สามารถเดินเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟใต้ดินกับจามจุรีสแควร์ได้ แต่อาจไม่เคยทราบถึงการมีอยู่ของชุมชนดั้งเดิมที่เคยตั้งอยู่บริเวณนี้มาก่อนเลย

เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Bangkok Design Week 2022 เทศกาลงานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์จัดกิจกรรมเดินชม 5 ย่านในกรุงเทพฯ หนึ่งในนั้นคือย่านสามย่าน โดยเลือกนำเสนอสถานที่น่าสนใจ อย่าง สวนหลวงสแควร์ อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ เจ้วรรณสวนหลวงจุฬาฯ ยู เซ็นเตอร์ ศาลเจ้าพ่อเสือสามย่าน และสามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งสถานที่เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นห้างสรรพสินค้าและหอพักที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานเมื่อเทียบกับศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง หรือร้านโจ๊กสามย่านเจ้าเก่าที่ถูกมองข้ามและไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลนี้

กระแสชุมชนฟีเวอร์นี้ ไม่ได้ถูกพูดถึงโดยเอกชนเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินก็เข้ามาผลิตภาพจำเกี่ยวกับชุมชน เมื่อปลายเดือนมกราคม 2565 คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ (PMCU) ได้จัดงาน “สวนศิลป์จุฬาฯ” : Chula Art Park’ Day & Night Digital Arts Park แสดงผลงานศิลปะที่สะท้อนอัตลักษณ์ย่านสวนหลวง-สามย่าน โดยหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมผลงาน ช่วยให้ชุมชนและชาวบ้านที่อาศัยมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน โดยผลงานเหล่านั้นเป็นเพียงการแสดงความทรงจำอันสวยงามด้านเดียวแต่กลับไม่ได้แสดงถึง ‘ความทรงจำ’ ที่มีเรื่องราวอันเป็นเอกลักษณ์ของผู้คนที่อาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนี้ จนนำไปสู่คำถามที่ว่า ผลงานที่ถูกจัดแสดงสามารถสะท้อนความเป็นชุมชนได้ ‘ทั้งหมด’ จริงหรือ?

การนำเสนอศิลปะด้านเดียวที่ไม่ได้นำเสนอเรื่องราวความทุกข์ยากและความเสียหายมหาศาลที่เกิดจากการไล่ที่อยู่อาศัยของผู้คนในชุมชนแห่งนี้ อาจส่งผลให้คนภายนอกหลงเชื่อคำพูดสวยหรูที่เคยได้ยินมาได้ ถ้าคนทั่วไปได้ลองมาสัมผัสบรรยากาศสถานที่ดั้งเดิมของชุมชนสวนหลวง-สามย่านด้วยตัวเองสักครั้ง ก็จะรู้สึกได้ถึงกลิ่นอายความพิเศษและเสน่ห์ของชุมชนนี้เหมือนกับที่พวกเราได้สัมผัส แม้ตอนนี้เสน่ห์ดังกล่าวจะขาดหายไปมากแล้วก็ตาม ถึงอย่างนั้นคนเล็กคนน้อยในย่านสามย่านต่างก็ยืนหยัดในการต่อสู้กับการกวาดล้างวัฒนธรรมชุมชนของพวกเขา ทั้งโหยหาและหวนระลึกถึงวันเวลาช่วงหนึ่งของชุมชนสวนหลวง-สามย่านที่เคยเป็นบ้านที่อบอุ่นและปลอดภัยสำหรับพวกเขา ดังเช่นสิ่งที่ ‘ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง’ กำลังเผชิญอยู่ก็สะท้อนถึงการพยายามต่อสู้กับแผนการบริหารที่ดินของนายทุนอันน่าสลดนี้

กาลเวลาหมุนไป ทุกอย่างต้องเปลี่ยนไป บางคนเลือกที่จะปรับตัวตามกระแสเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด ขณะที่บางสิ่งหรือบางคนไม่มีแม้แต่โอกาสจะปรับตัวและต้องสูญหายไปราวกับไม่เคยมีตัวตนอยู่มาก่อน

อารมณ์ของผู้คนนับร้อยนับพันชีวิตที่มีความรักและความผูกพันกับชุมชนสวนหลวง-สามย่านในช่วงชีวิตหนึ่งกำลังค่อยๆ จางหาย ความเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันของผู้คน บ้างก็ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อนำของมาตั้งขายที่ตลาด บ้างก็ต้องตื่นมาเตรียมทำบุญใส่บาตร บ้างก็รีบเร่งตื่นมาเพื่อไปทำงาน และบ้างก็ต้องตื่นไปโรงเรียน ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีชีวิตชีวาและมีสีสัน กิจวัตรประจำวันเหล่านี้ทำให้ชีวิตธรรมดามีความหมาย แต่จะเป็นเช่นไรหากวันใดวันหนึ่งชีวิตเช่นนี้ของพวกเขาถูกพรากไปตลอดกาลด้วยเงื่อนไขที่ไม่อาจปฏิเสธได้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังเติบโตไปเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำข้างหน้า แต่ทอดทิ้งผู้คนเหล่านี้ไว้เบื้องหลัง ทั้งผู้ใหญ่และเด็กต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดไปวันๆ กับค่าเช่าแสนแพงในเมืองหลวง ไม่มีแม้แต่เพื่อนบ้านที่สนิท วัฒนธรรมจีนโบราณของชุมชนสวนหลวง-สามย่านก็ไม่อาจฟื้นฟูกลับมาได้อีก

ถึงแม้เราไม่อาจหยุดช่วงเวลาสำคัญนี้ได้ แต่เสี้ยวหนึ่งของชุมชนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ควรถูกจดจำและตราตรึงอยู่ในใจของทุกคน เพื่อต่อลมหายใจของผู้คนและชุมชนแห่งนี้ต่อไป เพื่อที่สักวันหนึ่งจะไม่ต้องมีใครถูกกีดกันออกไปจากสังคมแห่งความเท่าเทียมอย่างแท้จริง


ขอขอบคุณ

– เอกสารประกอบจากสำนักงานเขตปทุมวัน

– ศิษย์เก่าและครูโรงเรียนสวนหลวง

– ความเห็นเพิ่มเติมจากภานุพงศ์ สิทธิสาร และชยางกูร เพชรปัญญา


อ้างอิง

[1] 100 ปี การบริหารจัดการที่ดินเขตจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[2] ผู้เชี่ยวชาญอสังหาฯ เปิดเอกสาร คณะราษฎรโดยจอมพล ป. มอบที่ดินให้จุฬาฯ แทนเช่าจากเจ้า

[3] พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2482

[4] อ้างอิงแล้ว, เชิงอรรถที่1.

[5] การศึกษาของไทยสมัยการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญระยะแรก (พ.ศ. 2475 – พ.ศ. 2491)

[6] อ้างอิงแล้ว, เชิงอรรถที่ 1.

[7] อ้างอิงแล้ว, เชิงอรรถที่ 1.

[8] ความหมายของ GENTRIFICATION

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save