fbpx
เข้าใจความเป็นกลางแบบอินเดีย ท่ามกลางวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

เข้าใจความเป็นกลางแบบอินเดีย ท่ามกลางวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

แม้จะล่วงเลยมาแล้วเกินกว่า 1 เดือน แต่สถานการณ์รัสเซียบุกยูเครนก็ยังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อพลเมืองโลกไม่ว่าจะชาติไหนก็ตาม ซึ่งล้วนแต่ต้องเผชิญกับราคาพลังงานและเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น และประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือการเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศภายใต้การบริบทใหม่ของภูมิรัฐศาสตร์โลก ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงเหล่าประเทศพันธมิตรของทั้งสองฝ่าย โดยเราพอจะมองเห็นว่าความขัดแย้งครั้งนี้ประกอบไปด้วย 4 ตัวละครหลัก ได้แก่ ยูเครน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และยุโรป

แต่ดูเหมือนว่าขณะนี้มีตัวละครใหม่ที่กำลังมีบทบาทสำคัญในการเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศท่ามกลางครั้งนี้ นั่นคืออินเดีย หลังจากที่อินเดียเป็นหนึ่งในจำนวน 35 ชาติ (อิหร่าน อิรัก ปากีสถาน และประเทศอื่นๆ) ที่งดออกเสียงในการลงมติในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติสมัยวิสามัญฉุกเฉิน ในการออกเสียงสนับสนุนประณามรัสเซียที่ใช้กำลังทหารบุกรุกยูเครน และขอให้ถอนกำลังในทันที สร้างความประหลาดใจให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะชาติตะวันตก เพราะเป็นประเทศที่ชาติตะวันตกเห็นว่าจะลงมติสนับสนุนแต่กลับงดออกเสียง จนทำให้เกิดคำถามว่า “ประเทศที่เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดของโลกมีจุดยืนอยู่ตรงไหน” ที่สำคัญไปกว่านั้น ในขณะนี้ยังไม่มีใครตอบได้ว่าอินเดียจะเลือกยืนอยู่ข้างไหน

การงดออกเสียงประณามรัสเซียและการยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน เป็นผลให้อินเดียกำลังเป็นเป็นจุดหมายสำคัญในการเดินทางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและนักการทูตจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น จีน อังกฤษ รัสเซีย เม็กซิโก กรีซ โอมาน ออสเตรีย และสหรัฐฯ เพื่อพบปะผู้นำรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินเดีย เพราะท่าทีของอินเดียทำให้เกิดการคาดเดาไปต่างๆ นาๆ โดยมีการคาดว่าอินเดียจะให้การสนับสนุนรัสเซีย หรือคาดว่าการกระทำของอินเดียทำให้จีนมีความหวังที่จะแยกอินเดียออกจากความเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ขณะที่หลายฝ่ายก็คาดว่าท้ายที่สุดอินเดียจะต้องเลือกจุดยืนเดียวกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร

เมื่อถนนทุกสายมุ่งสู่อินเดีย

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน หวัง อี้ ได้เดินทางไปเยือนอินเดียเป็นครั้งแรกหลังเกิดเหตุปะทะระหว่างทหารจีนและทหารอินเดียเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 บริเวณลาดัก รัฐจัมมูและแคชเมียร์เดิม เหตุปะทะดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ของจีนกับอินเดียแย่ลง แต่การเดินทางมาเยือนอินเดียในครั้งนี้ ถึงแม้จะระบุว่ามาเพื่อหารือประเด็นเรื่องความตึงเครียดบริเวณพรมแดนระหว่างจีนกับอินเดีย แต่ช่วงเวลาการเดินทางมาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนอาจทำให้หลายฝ่ายๆ อดตีความไปไม่ได้ว่ามีการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นรัสเซียและยูเครน และอาจต้องการส่งสัญญาณไปยังชาติตะวันตกให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียในช่วงเวลาสำคัญของการเมืองระหว่างประเทศ

ขณะที่ทางฝั่งสหรัฐฯ อินเดียก็มีความสัมพันธ์ด้วยอย่างต่อเนื่องมานานหลายปี ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง สหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มองอินเดียเป็นเพียงคู่ค้าและพันธมิตรที่ดี แต่เมื่อเก้าอี้ผู้นำเปลี่ยนผ่านสู่มือโจ ไบเดน ความสัมพันธ์ก็มีความลึกซึ้งมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะไบเดนถือเป็นคีย์แมนในการสร้างความสัมพันธ์กับอินเดียตั้งแต่สมัยเขายังดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา และเขายังมีส่วนผลักดันให้สหรัฐฯ ยกเลิกการคว่ำบาตรอินเดียในปี 2001 รวมทั้งผลักดันให้เกิดข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างทั้งสองประเทศในปี 2008

ในขณะที่ฝั่งรัฐบาลสหรัฐฯ พยายามชี้ให้เห็นว่าการเป็นพันธมิตรกับรัสเซียในระยะยาวไม่ใช่เรื่องดี หลายฝ่ายมองว่าอินเดียสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองไม่ต้องมีใครมาชี้นำและสามารถเลือกทางที่เป็นประโยชน์กับประเทศ อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ระบุว่า ในเบื้องหน้าอินเดียอาจดูเหมือนมีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ จากท่าทีการงดลงมติประณามรัสเซีย แต่เบื้องหลังรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเจรจากับรัฐบาลอินเดียเพื่อหาแนวทางที่จะทำให้อินเดียพึ่งพารัสเซียน้อยลงในอนาคต และจะทำให้อินเดียมีทางเลือกในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มากขึ้นซึ่งจะเป็นผลดีกับสหรัฐฯ ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม อินเดียยังคงอาศัยการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซียอยู่เป็นจำนวนมาก แม้ในปัจจุบันอินเดียจะมีการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ มากขึ้น แต่กว่าร้อยละ 60 ก็ยังคงเป็นการนำเข้าจากรัสเซียเท่ากับว่าหากพิจารณาในมิติทางด้านการทหาร รัสเซียถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญมากของอินเดีย นี่จึงทำให้เราพอจะเข้าใจบริบทในการตัดสินใจเลือกวางตัวเป็นกลางของอินเดียในวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อินเดียจะงดออกเสียงประณามรัสเซีย แต่ขณะเดียวกัน อินเดียก็เรียกร้องให้ยุติสถานการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างสองประเทศ รวมทั้งให้เคารพในสิทธิในเขตแดนของรัฐระหว่างกัน

ทางเลือกของอินเดียในสภาวะโลกหลายขั้ว

เห็นได้ว่าภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน อินเดียกำลังเผชิญความยากลำบากในการเลือกดำเนินนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ ระหว่างการดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมการรักษาระเบียบการเมืองโลกและสนับสนุนหลักประชาธิปไตยเป็นหลัก กับการดำเนินนโยบายที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติตนเป็นหลัก

ขณะที่หลายชาติออกมาประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย อินเดียกลับยังคงเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัสเซียต่อไป โดยอินเดียซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก ยังคงสั่งซื้อน้ำมันจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง แถมยังสั่งในปริมาณที่เพิ่มขึ้น

การนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียอาจไม่ได้มีสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับปริมาณการนำเข้าน้ำมันทั้งหมดของอินเดีย อย่างไรก็ตาม หากอินเดียสามารถซื้อน้ำมันได้ในราคาที่ถูกลง ก็จะช่วยบรรเทาแรงกดดันทางเศรษฐกิจในประเทศได้ ท่ามกลางภาวะที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นจนเกิดปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้การที่อินเดียสามารถซื้อน้ำมันได้ในราคาถูก ยังช่วยลดช่องว่างของดุลบัญชีเดินสะพัด โดยมีรายงานว่ารัสเซียได้เสนอขายน้ำมันให้กับอินเดียโดยให้ส่วนลด ซึ่งรัสเซียจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าขนส่งและค่าประกันภัยให้

นอกจากนี้ ธนาคารกลางของอินเดียและธนาคารกลางของรัสเซียก็ยังอยู่ในระหว่างเจรจาการจัดทำกลไกการทำธุรกิจระดับทวิภาคีร่วมกันโดยการใช้สกุลเงินของทั้งสองประเทศ รูปี-รูเบิล ในการซื้อขายน้ำมัน อาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโร

รัสเซียเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของอินเดีย โดยทั้งสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมายาวนานตั้งแต่ปี 1947 ผละต่างให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศมาโดยตลอด ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต อินเดียกับรัสเซียยังคงความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ตามมาด้วยการประกาศเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในปี 2010 นอกจากนี้รัสเซียยังมีจุดยืนในการสนับสนุนอินเดียในกรณีพิพาทดินแดนแคชเมียร์ และยังสงวนท่าทีในการประณามอินเดียในกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแคชเมียร์ โดยมองว่าเป็นปัญหาระหว่างอินเดียกับปากีสถานที่ต้องแก้ไขกันเอง 

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียคนปัจจุบันมีโอกาสพบปะกับประธานาธิบดีรัสเซียเกือบ 20 ครั้งตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งในปี 2014 ขณะที่ทางด้านเศรษฐกิจ รัสเซียถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของอินเดีย โดยอินเดียเป็นผู้นำเข้าอาวุธจากรัสเซียสูงเป็นอันดับที่สองของโลก การซื้อขายอาวุธระหว่างรัสเซียกับอินเดียนับว่ามีมานานหลายทศวรรษ และเมื่อปีที่แล้วในขณะการเยือนอินเดียของประธานาธิบดีรัสเซีย อินเดียก็ได้ตกลงซื้อระบบต่อต้านอากาศยานมูลค่ากว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ การพบปะของสองผู้นำในครั้งนั้นยังได้ตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้มูลค่าการค้าระหว่างอินเดียและรัสเซียเพิ่มขึ้น 3 เท่า ซึ่งจะทำให้มีมูลค่าถึง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2025

ปัจจุบัน อิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคเอเชียอาจยังมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ แต่ก็ได้พัฒนาขึ้นตามลำดับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากการขายอาวุธให้กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภายหลังการบุกยูเครนของรัสเซีย รัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัสเซียยังประกาศจะขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับภูมิภาคเอเชียให้มากขึ้นเพื่อชดเชยการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก

ทั้งหมดนี้อาจทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมอินเดียถึงงดออกเสียงประณามรัสเซีย แต่ท่าทีของอินเดียนี้ก็อาจทำให้อินเดียเกิดความขัดแย้งกับสหรัฐฯ รวมทั้งประเทศสมาชิกอื่นๆ ของกลุ่มควอด​ (Quad) ซึ่งอินเดียได้เข้าเป็นสมาชิก

การเลือกเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศของอินเดียไม่ว่าทางเลือกไหนล้วนมีต้นทุนที่ต้องคำนึงถึงเสมอ และอย่าลืมว่าความขัดแย้งเรื่องพรมแดนในหลายพื้นที่บนดินแดนอินเดียก็ไม่ต่างอะไรมากจากความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย

หรือท้ายที่สุดอินเดียอาจดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยไม่สามารถเลือกข้างใดข้างหนึ่งได้จริง ภายใต้สภาวะโลกหลายขั้ว


อ้างอิง

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก. (24 ธันวาคม 2563).ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อินเดียในยุคไบเดน. สืบค้นจาก https://www.the10world/us-india-in-biden-era/

TNN (15 มีนาคม 2565). อินเดียเมินคว่ำบาตรรัสเซีย จ่อซื้อน้ำมันราคาถูกตอกย้ำความสัมพันธ์. สืบค้นจาก https://www.tnnthailand.com/news/ukraine-russia-war/107946/  

The Economist. (1 April 2022). Western diplomats court India over Ukraine but fail to find love. Retrieved from https://www.economist.com/asia/2022/04/01/western-diplomats-court-india-over-ukraine-but-fail-to-find-love

The New York Times. (30 March 2022). Putin’s War Is Complicating India’s Middle Path Among Powers. Retrieved from  https://www.nytimes.com/2022/03/30/world/asia/india-ukraine-russia-china.html.

The Washington Post. (1 April 2022). Opinion: Inside the Biden administration’s effort to pull India away from Russia. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/opinions/2022/04/01/us-diplomatic-effort-bolster-india-ties-russia-ukraine/


หมายเหตุ: ข้อความและข้อคิดเห็นต่างๆ เป็นของผู้เขียนบทความ ไม่ถือเป็นความเห็นของศูนย์อินเดียศึกษา และศูนย์ฯ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับข้อความและข้อคิดเห็นใดๆ ของผู้เขียน 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง ศูนย์อินเดียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ The101.world

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save