fbpx

พุทธทาส กับ คณะราษฎร – 90 พรรษสวนโมกข์ 90 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 “รัฐธรรมนูญเปนอาณัติการจัดชาติ  ให้เก่งกล้าสามารถและสุขได้

เปนดวงชีพเราจริงทั้งหญิงชาย  ถ้าหากไร้รัฐธรรมนูญสูญชาติแท้.

รัฐธรรมนูญก่อให้เกิดการประสาน ระหว่างราษฎร์กับรัฐบาลสนิทแน่

เกิดความรักความไว้ใจไม่ผันแปร ยอมพลีแม้ชีพเพื่อเกื้อชาติกัน.

รัฐธรรมนูญตรงตามธาตุแห่งจิตรใจ ของชาวไทยผู้ถือพุท-ธสาสน์มั่น

เปนดวงแก้วส่องทางอย่างเดียวกัน เพื่อสุขสันติ์ส่วนรวมร่วมน้ำใจ.

แม้ชาติไทยตัวน้อยด้อยศักดา แต่อาจกล่าวได้ว่ามีธรรมใหญ่

รัฐธรรมนูญก็คือธรรมนำรัฐไป สู่สุขได้จึ่งน่าชมสมชื่อเอย.”

พุทธทาสภิกขุ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)

27 ธันวาคม พ.ศ. 2481


พุทธจักรสยาม ณ ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เกิด 3 เหตุการณ์ที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญต่อวงการคณะสงฆ์ในเวลาต่อมาอย่างยิ่ง คือ

  1. พระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ (พุทธทาสภิกขุ) ก่อตั้งสวนโมกขพลารามเมื่อขึ้นปีใหม่เก่าเมษายนปีนั้น
  2. พระมหาอาจ อาสโภ (ต่อมารู้จักกันดีในชื่อสมณศักดิ์พระพิมลธรรม) เดินทางสู่อยุธยาเพื่อดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอยุธยาและเป็นรองเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดารารามก่อนหน้าปฏิวัติเพียงหนึ่งเดือน
  3. พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) มรณภาพหลัง 24 มิ.ย. เพียงไม่ถึงหนึ่งเดือน

ผู้เขียนเคยนำเสนอเหตุการณ์ที่สองและสามผ่านบทความขนาดยาวตีพิมพ์ลงนิตยสารฟ้าเดียวกัน[1] และศิลปวัฒนธรรม[2] ตามลำดับ ยังขาดแต่เพียงเรื่องพุทธทาสภิกขุกับคณะผู้ก่อการ 2475 แม้จะเคยอ้างถึงประปรายในบทความบางชิ้น แต่เมื่อประจวบเหมาะวาระอภิสมัย 90 ปีสวนโมกข์และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในปี พ.ศ.2565 นี้ จึงเกิดฉันทะรวบรวมค้นคว้าเอกสารชั้นต้นเพิ่มเติมประกอบเป็นชิ้นงานที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้าผู้อ่านในขณะนี้


ทาสของพระพุทธเจ้าเทศนา “เทอดรัฐธรรมนูญ 2475”


พุทธทาสภิกขุ มหาหนุ่มเปรียญธรรม 3 ประโยคในวัย 26 ปี เริ่มก่อตั้งสวนโมกข์และเข้าพำนักที่นี่ครั้งแรกในพรรษาที่ 7 ช่วงวันวิสาขบูชากลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2475[3] ก่อนหน้าวันเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงไม่นาน ท่านทราบข่าวจากเพื่อนที่อยู่กรุงเทพฯ เขียนเล่าเรื่องการปฏิวัติไว้ว่า “ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกัน (หัวเราะ)” และ “ต่อมาก็รู้ตามข่าวหนังสือพิมพ์ ตามข่าวแถลงการณ์ของรัฐบาล”

ท่านพุทธทาสให้สัมภาษณ์ถึงปฏิกิริยาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองยามนั้นไว้ว่า

นายธรรมทาส (น้องชาย) เขาเกณฑ์ให้ผมพูด เทศน์ครั้งหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง เทศน์เป็นลักษณะว่าประชาธิปไตยน่ะเข้ารูปเข้ารอยกันกับหลักพระพุทธศาสนา (หัวเราะ) ผมก็ว่าไปตามนั้นแหละ ว่าประชาธิปไตยเหมือนกับการปกครองสงฆ์ ในพุทธศาสนาพระสงฆ์เป็นใหญ่ ประชุมสงฆ์ ลงมติแล้ว ก็ถือเป็นเด็ดขาด แล้วก็ทุกคนมีเสรีภาพ มีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน สรุปความว่าพูดให้เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้นยิ่งตรงกับหลักพุทธศาสนา ชาวบ้านพวกนั้นเขาจะฟังถูกที่ไหน ชาวบ้านแบบนี้ฟังถูกไม่กี่คน แม้แต่พุทธศาสนา เขายังไม่ค่อยรู้ แล้วประชาธิปไตยก็ยิ่งแปลก เป็นของแปลก”

ครั้นเมื่อผู้ถามปุจฉาต่อว่า “อย่างนี้แสดงว่าสมัยนั้นอาจารย์กับคุณธรรมทาสก็เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง 2475”

พระท่านวิสัชนาว่า “(หัวเราะ) ไม่มีความคิดว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จำเป็นจะต้องยอมรับสภาพสถานการณ์ว่าเป็นอย่างนั้น เพื่อจะให้ประชาชนชาวบ้านไม่ตกใจ แตกตื่น ก็พูดทำนองนั้น เราก็ไม่ตื่นเต้น มันมีบ้าง ตื่นเต้นในทางที่มันแปลกออกไป ไม่ตื่นเต้นถึงขนาดใหญ่โต เราก็เคยได้ยินได้ฟังกันอยู่ก่อนหน้านู้นแล้วว่า เมืองนอกเขามีระบอบประชาธิปไตย เดี๋ยวนี้ก็เข้ามาถึงเมืองเรา ไม่รู้สึกไปในทางไม่ดี รู้สึกมันจะเป็นไปในทางดี แต่ก็ไม่ได้มองบุคคล เหมาว่าประชาธิปไตยนี้คงจะดี”[4]

ภาพก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองของ 2 พี่น้อง นายธรรมทาส และ พุทธทาส

ข้อความที่ท่านพุทธทาสว่า “เทศน์ครั้งหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ผู้เขียนสันนิษฐานว่าอาจเป็นเทศนาที่แสดง ณ โรงเรียนสารภีอุทิศ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ภายหลังหลวงพิบูลสงครามขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ถึงสองอาทิตย์หลังปฏิวัติสำเร็จแล้วถึง 6 ปี ซึ่งท่านพุทธทาสแสดงไว้เป็นร้อยแก้วขนาดยาวประกอบแทรกร้อยกรองในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญของเรา”[5] ความยาว 6 หน้าบันทึกด้วยเครื่องพิมพ์ดีดและลายมือลงบนกระดาษฟุลสแก๊ป ข้อความเกริ่นนำมีความว่า

“ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเปนเกียรติยศ และรู้สึกปลื้มใจอย่างยิ่ง ในการที่ได้มาเปนผู้กล่าวคำสดุดีหรือพรรณนาพระคุณของรัฐธรรมนูญอันศักดิ์สิทธิ์ ในที่นี้. เราควรที่จะกล่าวถ้อยคำสรรเสริญบุญคุณของบิดามารดาครูอาจารย์อยู่เสมอๆ ฉันใด ประชาชาติทุกๆ คน ก็ควรที่จะรำลึกหรือสำนึกถึงคุณของรัฐธรรมนูญ อันเราได้รับอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ให้เสมอฉันนั้น.”

เนื้อหาบางท่อนปรากฏใจความที่น่าสนใจเช่น

“…การสามารถร่วมมือกันปกครองตัวเองเช่นนี้ เปนเครื่องหมายอันแสดงว่า เราได้ละจากความเปนป่าเถื่อน…ตามแง่นี้ รัฐธรรมนูญก็คือเกียรติยศ. มันเปนเกียรติยศของชาติ คือตัวเราเอง ซึ่งเปนสิ่งที่จะต้องถนอมยิ่งกว่าชีวิต. ชีวิตที่ไร้เกียรติยศ ย่อมเท่ากับความไม่มีชีวิต. ชาติที่ไร้รัฐธรรมนูญ ก็คือชาติที่ไร้เกียรติยศนั่นเอง…รัฐธรรมนูญคืออาณัติอันถูกต้องและศักดิ์สิทธิ์ ที่เราได้พร้อมกันสถาปนาขึ้นโดยตัวเราเอง และเพื่อเราเอง…ถ้าไร้อาณัติอันนี้ ย่อมแปลว่า ยังมีบางคนที่ยังโง่จนถึงกับไม่รู้จักค่าของการปกครองตัวเอง จักมีภาวะที่น่าสมเพชเวทนาเกิดขึ้นในชนหมู่นั้น ดังที่ระบอบแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตามประวัติศาสตรอันนานไกล ได้แสดงให้เห็นมาแล้ว. ในขณะที่คนพวกหนึ่งเปนอย่างสัตว์เลี้ยง คนอิกพวกหนึ่งเปนเหมือนผู้เลี้ยงสัตว์ หรือยิ่งไปกว่า. ภาวะเช่นนี้จักไม่มีในระบอบแห่งรัฐธรรมนูญ…

เราคิดสืบไปว่า ทำไมเราจะถึงกับสูญชาติ ถ้าเราไร้รัฐธรรมนูญ? ทั้งนี้เพราะว่า รัฐธรรมนูญช่วยให้เราได้รับอิสสรภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ

ในมิติของพุทธศาสนา ท่านพุทธทาสได้เปรียบเปรยว่า

“ในการที่เปนชาติแรกในโลก ซึ่งได้รัฐธรรมนูญมาโดยมิต้องเสียเนื้อเลือดแลกเปลี่ยนเอา เหมือนชนชาติอื่นในประวัติศาสตร. นี่ย่อมเปนเกียรติยศอย่างยิ่งแก่พุทธสาสนาและแก่สยามเอง ซึ่งยกพุทธสาสนาขึ้นเปนสาสนาของชาติ.  เราจึงกล่าวได้ในที่สุดอีกชั้นหนึ่งว่า ระบอบแห่งรัฐธรรมนูญนี้ เหมาะแล้วสำหรับพวกเรา เพราะลงกันได้กับสาสนาของเรา”

ทั้งนี้ ในกล่องเอกสารเดียวกันยังปรากฏบันทึกต่อท้ายแสดงปาฐกถาเรื่อง “ขยายข้อความในรัฐธรรมนูญ เพื่อปลูกนิสสัยให้ประชาชนรักรัฐธรรมนูญ.”[6] จำนวน 3 แผ่น ความบางย่อหน้าตีพิมพ์ไว้ว่า

“สยามรัฐธรรมนูญนี้ เปนสิ่งที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงประทานให้ตามความประสงค์ของราษฎรคณะหนึ่ง ซึ่งปรากฏเกียรตินามอยู่ในบัดนี้ว่า ‘คณะราษฎร’, เมื่อ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ (มีรอยขีดฆ่าเป็น ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ – ผู้เขียน) อันเปนวันที่ชาวเราจะลืมเสียมิได้ เพราะเปนวันที่ปวงชนชาวสยามได้รับอิสสรภาพ และเสรีภาพอย่างสมบูรณ์. สิทธิอันเสมอภาคได้เปนของพวกเราตั้งแต่วันนั้นมา. และข้าพเจ้าใคร่ที่จะกล่าวด้วยความรู้สึกอันแท้จริงอีกอย่างหนึ่งว่า พร้อมกับที่เราชื่นชมยินดีในรัฐธรรมนูญอันเปนที่รักของเรานี้ เราควรมีความรู้สึกขอบคุณ ‘คณะราษฎร’ ผู้พลีชีพเข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนได้รัฐธรรมนูญอันนี้มาสมตามความประสงค์ด้วย.

รัฐธรรมนูญให้สิทธิแก่ปวงชนในการเข้าควบคุมคณะรัฐบาลที่บริหารการประเทศ, ให้สิทธิที่จะเสนอความคิดเห็นที่ถูกต้องดีงาม เพื่อรัฐบาลจะได้รับเอาไปจัดการให้เปนไปตามนั้น, และให้ราษฎรเปนเจ้าของอำนาจอันสูงสุด แม้แต่พระมหากระษัตริย์ ก็จะทรงใช้พระราชอำนาจเฉภาะที่ได้มาจากปวงชนชาวสยามเท่านั้น, และทุกคนอยู่ใต้รัฐธรรมนูญโดยเสมอหน้ากัน ไม่มีผู้ใดอยู่เหนือกฎหมายอันศักดิสิทธินี้.”

รัฐธรรมนูญของเรา พ.ศ. 2481

พุทธทาสกล่าวปิดปาฐกถานี้ไว้ว่า

“รัฐธรรมนูญสยาม เปนเหมือนร่มโพธิไทรมีเงาอันเย็นสนิท เปนที่พึ่งพิงของปวงชนชาวสยามได้จริง ควรจะเทอดไว้ในฐานเปนยอดแห่งสิ่งที่ควรสักการะบูชาเช่นเดียวกับ ชาติ สาสนา และพระมหากระษัตริย์…

ที่สุดนี้ขอให้ท่านทั้งหลายผู้รักรัฐธรรมนูญโดยนัยที่กล่าวมา จงประสพสุข, และสามารถเทอดทูนรัฐธรรมนูญได้ด้วยการยอมพลีชีพ, ทุกๆ คน.  และ

ขอให้รัฐธรรมนูญสยาม จงถาวรคู่หล้าเทอญ.ฯ”

อนึ่ง ก่อนหน้าเทศนาวาระนี้ของท่านพุทธทาส หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 2 ปีก็ปรากฏหนังสือที่หยิบยกพระบาลีมาเทียบกับรัฐธรรมนูญไว้อย่างน่าสนใจชื่อว่า  “รัฐธรรมนูญเทียบพระพุทธศาสนา” โดย นายดาบเทียม ศรีพิสิฐ ผู้แทนราษฎร จังหวัดนครปฐม ที่เกริ่นไว้ในคำนำไว้ว่า “ได้นำพระบาลีอันเป็นคำสอนในพระพุทธสาสนา ซึ่งมีหลักความคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญมาเปรียบเทียบเพื่อให้ประจักษ์เป็นหลักฐานว่ารัฐธรรมนูญของเรานี้มีคุณค่าวิเศษยิ่งนัก” หนังสือเล่มนี้ยังได้รับการตรวจดูโดยนายปรีดี และ พระองค์วรรณฯ อีกด้วย[7]


พุทธทาส กับ 3 ผู้นำคณะราษฎร


เมื่อเทียบเคียงวัยวุฒิของพุทธทาสกับ 3 แกนนำสำคัญของคณะผู้ก่อการ 2475 พบว่าอ่อนกว่าพระยาพหลฯ 19 ปี หลวงพิบูลฯ 9 ปี แล หลวงประดิษฐ์ฯ 6 ปีตามลำดับ หากนับเฉพาะระยะเวลาที่ทั้งสามท่านยังครองอำนาจทางการเมือง 15 ปีระหว่าง พ.ศ. 2475-2490 พุทธทาสภิกขุยังอยู่ในช่วงริเริ่มเผยแผ่ธรรมด้วยวัย 26-41 ปี เอกสารชั้นต้นในหอจดหมายเหตุพุทธทาสแสดงถึงปฏิสัมพันธ์ที่พระหนุ่มท่านนี้มีต่อ 3 ผู้นำสูงสุดทางการเมืองขณะนั้น ดังจะนำเสนอตามลำดับ

สามผู้นำคณะราษฎร หลวงพิบูลฯ-พระยาพหลฯ-หลวงประดิษฐ์ฯ


พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)

แต่งป้ายคำบาลีในคราวรับเจ้าคุณพหลฯ [8] (พ.ศ.2479)

“เชษฐบุรุษ” หัวหน้าผู้ก่อการ 2475 พระยาพหลพลพยุหเสนา ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ราวปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2479 ได้ออกเดินทางเยี่ยมเยียนราษฎรในปักษ์ใต้ จังหวัดต่างๆ[9] เช่น ปัตตานี ยะลา พัทลุง กระบี่ ภูเก็ต พังงา ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี เป็นต้น โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านได้พำนักระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม พ.ศ. 2479 (ปฏิทินเก่า) เป็นจังหวัดสุดท้ายก่อนกลับพระนครเมื่อวันที่ 23 มกราคม[10]

พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีขณะนั่ง “ซาเล้ง” เยียนเยียนราษฏรจังหวัดสุราษฎร์ธานีระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม พ.ศ. 2479 (ปฏิทินเก่า) พร้อมซุ้มประตูต้อนรับประดับพานรัฐธรรมนูญ (คณะผู้เขียนขอบคุณทายาทที่กรุณาให้เผยแพร่ภาพชุดนี้)
(ผู้สนใจภาพชุดการการเดินทางครั้งนั้น ดูเพิ่มเติมใน “สยาม : ยุคประชาธิปไตย” มุมมองจากภาพเก่า, สมุดภาพสยามยุคประชาธิปไตย, พ.ศ. 2558 (สำนักพิมพ์ต้นฉบับ),น.14-16 และ น.81-106.)

เพื่อการณ์นี้ พระครูโสภณเจตสิการาม (เอี่ยม นามธมฺโม พ.ศ. 2430-2486)[11] เจ้าคณะแขวงไชยาได้ขอให้พุทธทาสภิกขุประพันธ์คำต้อนรับ พุทธทาสจึงได้ประพันธ์ในรูปแบบคล้ายฉันท์บาลี ความว่า


ป้ายคำบาลีในคราวรับเจ้าคุณพหลฯ

พระครูโศภนฯ ขอให้แต่ง

  “วฑฺฒตุ นายกมนฺตี                      สกมฺมนฺโต สสงฺคโณ”

  “พหโล นายกมนฺตี                        จิรณฺฐิโต สสงฺคโณ

นานากิจฺจานิ ปูเรตุํ                      อาสา ขิปฺปํ สมิชฺฌตํ.”

วฑฺฒตุ นายกมนฺตี                          สกมฺมนฺโต สสงฺคโณ

จิรณฺฐิโต ชนนีตุํ                          สุขปฺปตฺโต ชโย. ชโย..”

  “สฺวาคตนฺเต ชนเนตฺต                    เมตฺตาย จ ปิเยน จ

จิรณฺฐิโตสิ สคโณ                           ชนนีตุํ สุขํ. ชโย.”

  “สฺวาคตนฺเต ชนเนตฺต                    รุจิยา จ ปสฺสาม ตํ

เอเตน สจฺจวชฺเชน                          จิรณฺฐิโต สุวฑฺฒโก

พหโล นายกมนฺตี                           สกมฺมนฺโต สสงฺคโณ.”

  “สีตํ สุขํ รฏฺเฐ รฏฺฐ-                       ธมฺมนุญฺเญนุปฺปาทิตํ

นายโก โย สมฺปาทโก                      สุทิฏฺโฐ เว ปิเยน โส

เอเตน สจฺจวชฺเชน                           สุวตฺถิโก จิรณฺฐิโต

สทาโร นายกมนฺตี                           สกมฺมนฺโต สสงฺคโณ.”[12]

คณะผู้เขียนขอแปลเป็นภาษาไทยดังนี้

ขอนายกมนตรี พร้อมทั้งการงาน พร้อมทั้งหมู่คณะ จงเจริญ ฯ

เจ้าคุณพหล นายกมนตรี ผู้ดำรงอยู่ตลอดกาลนาน พร้อมทั้งคณะ

ขอให้ความหวังเพื่อทำกิจต่างๆ ให้บริบูรณ์ จงสำเร็จโดยพลัน ฯ

ขอนายกมนตรี พร้อมทั้งการงาน พร้อมทั้งหมู่คณะ จงเจริญ

จงเป็นผู้ดำรงอยู่ตลอดกาลนาน ผู้ได้รับความสุข เพื่อนำพาเหล่าชน

ขอจงมีชัยชนะ ขอจงมีชัยชนะ ฯ

ท่านผู้นำปวงชน ขอยินดีต้อนรับท่าน ด้วยเมตตาและด้วย (คำ) อันเป็นที่รัก

ท่านพร้อมทั้งคณะดำรงอยู่ตลอดกาลนาน เพื่อนำพาเหล่าชน จงมีความสุข จงมีชัยชนะ ฯ

ท่านผู้นำปวงชน ขอยินดีต้อนรับท่าน พวกเรามองท่านด้วยความชื่นชมพอใจ

ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอให้ท่านเจ้าคุณพหลฯ นายกมนตรี พร้อมทั้งการงาน พร้อมทั้งหมู่คณะ จงเป็นผู้ดำรงอยู่ตลอดกาลนานและจงเจริญดี ฯ

ความสุขร่มเย็น ถูกสร้างให้เกิดขึ้นแล้วในรัฐ ด้วยรัฐธรรมนูญ

นายกผู้ใดสร้างให้สมบูรณ์พร้อม นายกผู้นั้น ปรากฏดีแท้ ด้วย…อันเป็นที่รัก ฯ

ด้วยการกล่าวสัจจวาจานี้ ขอให้นายกมนตรีพร้อมทั้งภรรยา พร้อมทั้งการงาน พร้อมทั้งหมู่คณะ จงมีความสวัสดีและดำรงอยู่ตลอดกาลนานเถิด ฯ


ท่านพุทธทาสภิกขุสอบได้ ป.ธ.3 เมื่อ พ.ศ. 2473 อันเป็นยุคสมัยที่การเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลียังไม่แพร่หลายนัก หลักสูตรที่ท่านเรียนผ่านมาจนจบชั้น ป.ธ.3 ไม่มีวิชาแปลไทยเป็นมคธ และวิชาแต่งฉันท์ภาษามคธอันเป็นวิชาในชั้น ป.ธ.8 ไม่มีสอนทั่วไปในขณะนั้น ดังนั้น ผู้อ่านควรเข้าใจข้อจำกัดอันเกิดจากบริบทของยุคสมัย แม้ว่า “ป้ายคำบาลีในคราวรับเจ้าคุณพหล” นี้จะมิได้ตามฉันทลักษณ์ที่แน่นอน การเลือกใช้ศัพท์และการใช้ไวยากรณ์ยังเป็นที่กังขาอยู่บ้าง ไม่ลงรอยเข้าในแบบแผนของนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีสมัยปัจจุบัน แต่ข้อที่ท่านพุทธทาสภิกขุเพียรพยายามแต่งบาลีเช่นนี้ก็นับว่าเกินภูมิความรู้ในชั้นที่ท่านสอบไล่ได้และเป็นความพยายามอันยิ่งยวดในบริบทยุคสมัยก่อนแล้ว

ลักษณะคำประพันธ์ที่ท่านพุทธทาสแต่งนี้คล้ายกับวิปุลาฉันท์ชนิดต่างๆ แต่ไม่สู้เคร่งครัดเรื่องครุลหุเท่าใดนัก และไม่เคร่งครัดเรื่องข้อห้ามใช้พยางค์ที่ 2-3 เป็นลหุสั้นต่อกัน ดังปรากฏในบาท “วฑฺฒตุ นายกมนฺตี”  ใช้พยางค์ที่ 2-3 “ฒ” และ “ตุ” เป็นลหุต่อกันทั้งสองพยางค์

ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกเจ้าคุณพหลฯ ในป้ายคำบาลีนี้ว่า “พหโล นายกมนฺตี” เป็นการเรียกชื่อ “พหล” (เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า ‘หนาแน่น’) โดยตรง และคงใช้คำว่า “นายกมนฺตี” เพื่อจำกัดจำนวนพยางค์มิให้มากดัง “นายกรฏฺฐมนฺตี”

คำว่า “สสงฺคโณ” เป็นคำที่ตีความได้หลายนัย เช่น “พร้อมกับผู้มีอกุศล” “พร้อมกับผู้มีกิเลส” “พร้อมกับหมู่คณะ” คำนี้จัดเป็นคำสมาส (compound words) ชนิด สห บุพบท พหุพพิหิสมาส ที่ขึ้นต้นด้วย “ส” และแปลว่า “พร้อมกับ” ส่วนคำว่า “สงฺคณ” มีความหมายแตกต่างกันตามหน่วยคำที่ประกอบ เช่น

–              ส “พร้อมกับ” (ขึ้นต้น สห บุพบท พหุพพิหิสมาส) + องฺคณ = สงฺคณ = มีอกุศล, มีกิเลส

–              สํ (prefix) “พร้อมกับ, ดี” + คณ “หมู่คณะ” = สงฺคณ = “หมู่คณะร่วมกัน”

หากตีความ “สสงฺคณ” ว่า “พร้อมกับผู้มีอกุศล” หรือ “พร้อมกับผู้มีกิเลส” ก็จะเห็น สห บุพบท พหุพพิหิสมาส ถึง 2 ชั้น คือ “ส” อักษรแรก และ “ส” อักษรต่อมา ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องประกอบคำชนิดเดียวกันซ้ำซ้อนเช่นนั้น และเมื่อพิจารณาท่าทีที่ท่านพุทธทาสภิกขุมีต่อเจ้าคุณพหลฯ ก็ไม่น่าเป็นไปได้จะท่านจะหมายความเช่นนั้น ดังนั้น คำว่า “สสงฺคโณ” ในที่นี้ จึงควรหมายถึง “พร้อมกับหมู่คณะร่วมกัน”

เมื่อกล่าวถึง “ความหวังของบุคคล” ไม่นิยมใช้โครงสร้าง “ปฐมาวิภัตติ (Nominative) + อาสา” (ความหวัง)” นัก ควรจะเป็น “ฉัฏฐีวิภัตติ (Genitive) + อาสา” แต่ในที่นี้ ข้อความก่อนหน้าเป็นปฐมาวิภัตติ (Nominative) ทั้งสิ้น ทำให้วากยสัมพันธ์ (syntax) ไม่ชัดเจน

คำว่า “ชนนีตุํ” เป็นที่น่ากังขาว่าเหตุไรจึงรวมทั้ง “ชน” (ชน) และ “นีตุํ” (รากกริยา นี “นำไป” + ตุํ ปัจจัย infinitive) ไว้เป็นคำเดียวกัน ทั้งที่นิยมแยกคำและนิยมใช้ “เนตุํ” มากกว่า หากจะใช้เป็น “ชนํ นีตุํ” ก็ไม่ได้ขัดต่อฉันทลักษณ์แต่ประการใด

คำว่า “เมตฺตาย จ ปิเยน จ” ผู้แปลเลือกใช้คำว่า “ด้วยเมตตาและด้วย (คำ) อันเป็นที่รัก” เพราะคำว่า “ปิย” เป็นคำคุณศัพท์ (adjective) แปลว่า “อันเป็นที่รัก” (ถูกรัก) เมื่อไม่ใช่นาม (noun) และไม่ได้ประกอบสร้างจากคำที่จะใช้เป็นชื่อของนาม จึงมิได้แปลว่า “ความ…” อนึ่ง เมื่อเป็นคำคุณศัพท์ ก็ควรจะมีคำนามที่ตนเองขยาย ผู้แปลจึงเห็นว่าเป็นไปได้ที่ “ปิเยน” จะขยายคำว่า “วจเนน” และแปลได้ว่า “ด้วย (คำ) อันเป็นที่รัก” หรือ “ด้วยคำน่ารัก” ส่วนคำว่า “สุทิฏฺโฐ เว ปิเยน โส” นั้น ท่านพุทธทาสภิกขุอาจหมายถึง “นายกผู้นั้น ปรากฏดีแท้ ด้วยความเป็นที่รัก” แต่เนื่องจาก “ปิย” เป็นคำคุณศัพท์ (adjective) ผู้แปลจึงแปลว่า “นายกผู้นั้น ปรากฏดีแท้ ด้วย…อันเป็นที่รัก”

ตอนท้ายสุด มีการอ้างสัจจกิริยา “เอเตน สจฺจวชฺเชน” แปลว่า “ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้” ประหนึ่งว่าเป็นบทสวดพระปริตร การอ้างสัจจกิริยานี้มีอยู่แล้วในวัฒนธรรมอินเดียตั้งแต่ก่อนจะมีพระพุทธศาสนา ป้ายคำบาลีนี้สะท้อนให้เห็นท่าทีชื่นชมที่ท่านพุทธทาสภิกขุมีต่อเจ้าคุณพหลฯ และเป็นมรดกความทรงจำหนึ่งในความสัมพันธ์ของท่านพุทธทาสภิกขุและคณะราษฎร


หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)

แต่งกลอนแปดสนับสนุนรัฐนิยม[13] และเขียนอนุทินชีวิตด้วยตัวหนังสือจอมพล[14]

หลังจบสิ้นงานเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อวันวิสาขบูชา พ.ศ. 2500 เพียง 4 เดือน จอมพลสฤษดิ์ผู้เคยเป็นลูกน้องจอมพล ป.พิบูลสงครามก่อการรัฐประหารเจ้านาย ชีวิตของจอมพล ป. ผู้ก่อการคณะราษฎรฉายา ‘กัปตัน’ ก็ดูคล้ายจะถูกทอดทิ้ง ผู้เคยสนับสนุนมิเอ่ยอ้างถึงความสัมพันธ์ในอดีตสมัยเรืองอำนาจ แม้แต่ในอัตชีวประวัติของพุทธทาสเองก็แทบไม่ปรากฏเรื่องราวของท่านผู้นำคนสำคัญนี้

ทว่าเมื่อเราย้อนกลับไปศึกษาเอกสารชั้นต้นของท่านพุทธทาสในยุคเรืองรองของ “หลวงพิบูลสงคราม” ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2481 และเริ่มประกาศนโยบายรัฐนิยม จนถึงสงครามอินโดจีนที่สามารถช่วงชิงดินแดน 4 จังหวัดจากฝรั่งเศส ยุทธชัยนี้ส่งเสริมความนิยมในตัวหลวงพิบูลฯ สู่ระดับวีรบุรุษของชาติ อำนวยยศถึงตำแหน่งสูงสุดเป็น ‘จอมพล’ เมื่อกลางปี พ.ศ. 2484 ก่อนนำพาประเทศไทยร่วมวงไพบูลย์สงครามมหาเอเชียบูรพากับญี่ปุ่นในปลายปีเดียวกันนั้น กระแสสังคมต่อ ‘ท่านผู้นำ’ ส่งผลถึงพุทธทาสภิกขุในวัยต้น 30 นี้ด้วยเช่นกัน

ท่านได้ขีดเขียนแสดงทัศนะถึงการสนับสนุนรัฐบาลยามนั้นไว้ไม่น้อย รวมทั้งดูจะชื่นชมบริวารรอบกายโดยเฉพาะหลวงวิจิตรวาทการเป็นพิเศษ  ท่านสนับสนุนรัฐบาลด้วยการติดตั้งวิทยุให้ชาวบ้านรับข่าวสารจากทางราชการเพื่อร่วมฟังบทสนทนาของ นายมั่น-นายคง (ต่อมาพุทธทาสยังเขียนชื่นชมสังข์ พัธโนทัย ครั้งหนึ่งในอนุทิน พ.ศ. 2500 ว่า “นายคนนี้มีหัวเปนนักปราชญ์” ) นอกจากนี้ยังแต่งบทประพันธ์ร้อยกรอง “กลอนรัฐนิยม” หรือแม้แต่การบันทึกไดอารี่ส่วนตัวด้วยอักขระที่เรียกขานกันว่า “หนังสือจอมพล”[15] ตามนโยบายปฏิวัติภาษาของรัฐบาล

ฟากฝ่ายปฏิปักษ์คณะราษฎรเรียกอักขระวิธีนี้ด้วยความเหยียดหยามว่า “ภาษาวิบัติ” แต่กระนั้น ก็มีผู้คนร่วมสมัยจำนวนไม่น้อยเห็นด้วยกับการปฏิวัติภาษาครั้งนี้ เช่น ทันตแพทย์ สม อิศรภักดี ด้วยเหตุผลเช่นว่า “ความหวังของท่านคือต้องการจะให้คนที่ไม่รู้หนังสือเลยสามารถอ่านออกเขียนได้ภายใน 1 ปี โดยได้นำเอาชาวบ้านที่ไม่ได้เรียนหนังสือเลยมาเรียนภาษาไทยแบบใหม่และได้มีการออกอากาศ เมื่อครบหนึ่งปี คนนั้นก็สามารถอ่านออกเขียนได้จริงๆ” และทัศนะส่วนตัว “เพราะว่าท่าน (หมายถึงจอมพล ป. – ผู้เขียน) ได้ให้ราชบัณฑิตไปทำพจนานุกรมสำหรับเขียนหนังสือแบบใหม่เพื่อเป็นบรรทัดฐาน สำหรับตัวผมเองรู้สึกชอบ เพราะมันช่วยให้ผมเขียนภาษาไทยได้ง่ายขึ้น โอกาสผิดมีน้อย”[16]

บทกลอนเขียนด้วยลายมือพุทธทาสภิกขุนี้เมื่อประเมินจากเนื้อหา พอจะคาดการณ์ได้ว่าแต่งขึ้นราวปี พ.ศ. 2482-2484 เนื้อหาทั้งหมดมีใจความดังนี้


กลอนรัฐนิยม โดย พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือรู้จักในนามพุทธทาสภิกขุ (พ.ศ. 2449-2536)

 (1)         ข้าจะขอกล่าว เรื่องราวสำคัญ                      สำหรับเราท่าน พึงศึกษา

เพื่อบำรุงรัฐ ให้วัฒนา                                             สมสมัญญา ว่าเชื้อชาติไทย.

 (2)         ถือรัฐนิยม เปนอุดมวิถี                              เปนเครื่องส่องชี้ พวกเราไป

สู่สมรรถภาพ ปราบทุกข์ภัย                                      ทั้งนอกและใน ให้สงบเย็น.

 (3)         นับแต่เปลี่ยน การปกครอง                         ไทยทั้งผอง ย่อมจะเห็น

ว่าเราทุกท่าน ร่วมกันเปน                                         ผู้วิ่งเต้น เพื่อตัวเราเอง.

 (4)         โดยเสมอภาค ด้วยกันทั้งผอง                     เหมือนพี่เหมือนน้อง ไม่ต้องกลัวเกรง

ในการพูดคิด ที่เหมาะเหม็ง                                      และเลือกคนเก่ง ขึ้นเปนผู้นำ.

 (5)         ประเทศชาติ ศาสน์ กษัตริย์                        ได้วิวัฒน์ ขึ้นทุกฉนำ

ก็เพราะเราท่าน ร่วมกันทำ                                        ซึ่งกิจกรรม แห่งรัฐเรา.

 (6)         ต่างมีจุดแน่ว เปนแนวเดียว                         เปนเครื่องยึดเหนี่ยว ไม่มัวเขลา

มีแนวนิยม อุดมไม่เบา                                             ให้พวกเรา สพึบเพรียง

 (7)         ท่านนายก ได้วางแนวยึด                           เปนหลักประพฤติ ไม่ต้องมัวเถียง

ไม่ยกเว้นใคร ไม่ลำเอียง                                          ไม่ต้องมัวเกี่ยง, เป็นลำดับกัน

 (8)         ครั้งที่ ๑ ท่านขอให้                                   ยึดคำว่า “ไทย” เปนมิ่งขวัญ

เลิกคำ “สยาม”, เปนนามสำคัญ                                  ประเทศเพื่อนบ้าน ก็รับรอง.

 (9)         ความข้อนี้ ชี้ให้สำนึก                                 พึงรู้สึก  เถอะเราทั้งผอง

ว่าชนชาติไทย ต้องไม่เปนรอง                                    ถิ่นไทยต้อง เปนของไทย.

 (10)       ครั้งที่ ๒ ท่านร้องแถลง                               พร่ำชี้แจง ถึงเงื่อนไข

เพื่อป้องกันชาติ ให้ปราศจากภัย                                  อันจะเกิดได้ เพราะไทยกันเอง.

 (11)       ทรยศ ขบถชาติ                                         เพราะลุอำนาจ แก่ความเพ่งเล็ง

เห็นแต่จะได้ ฝ่ายตนเอง                                            ไม่คิดเกรง ว่าชาติจะจม.

 (12)       เหตุฉะนั้น ชนชาติไทย                                 ประกอบกิจใด ดูให้สม

อย่าเปิดเผย ข้อลับลม                                               ให้ชาติอื่นต้ม ชาติของตัว.

 (13)       ไม่เปนตัวแทน หรือออกเสียง                        แกล้งบ่ายเบี่ยง ด้วยคิดชั่ว

เข้ากับต่างชาติ ไม่หวาดกลัว,                                     หรือแอบอ้างตัว ซื้อขายที่ดิน.

 (14)       เมื่อเห็นใครคด ทรยศต่อชาติ                        ย่อมมีอำนาจ จะติฉิน

และแก้ไข ได้ตามระบิล                                            ให้หมดสิ้น คนขายชาติ

 (15)       ครั้งที่ ๓ ชื่อนามบุคคล                               ที่สับสน วิปลาส…

(ไม่สมบูรณ์)

 (16)       […]

 (17)       ครั้งที่ ๔ มีข้อซ้อมซัก                                 เพื่อรู้จัก อบรมใจ

เพื่อความรักชาติ ขนาดใหญ่                                      อบรมให้ เคารพธง.

 (18)       อันธงชาติ และเพลงชาติ                            ย่อมหมายถึงชาติ อย่าใหลหลง

เพลงสรรเสริญ ย่อมบ่งตรง                                        ถึงพระองค์ผู้ราชา

 (19)       คอยใส่ใจไม่ดูถูก                                      ย่อมจะปลูก ความรักกล้า

จึงควรสำนึก ศึกษา                                                 ทุกเวลา ตักเตือนกัน.

 (20)       ครั้งที่ ๕ ให้รู้ต่อต้าน                                 สงครามด้าน มหัศจรรย์

คือเศรษฐกิจ อันติดพัน                                           อยู่ในขั้น ไม่ปลอดภัย.

 (21)       คนต่างด้าว เข้าแย่งชิง                              เรามัวนิ่ง นอนใจ

ไม่รู้จัก รักของไทย                                                หลงชอบใช้ ของต่างประเทศ.

 (22)       แต่นี้ไป “ไทยซื้อไทยขาย                          ไทยทำไทยใช้” ให้สังเกต

นาๆวัตถุ ระบุประเภท                                              ที่เกิดในเขตร ไทยเรา.

 (23)       สนับสนุน งานของไทย                             เพื่อชาติไทย ไม่มัวเขลา

รู้จักประหยัด ขัดเกลา                                             ให้ไทยเรา ได้ร่ำรวย.

 (24)       ใช้เวลาว่าง ให้เปนประโยชน์                      อย่าเฉาโฉด  คนเขินขวย

เลือกทำแต่งาน ที่ร่ำรวย                                         เป็นคนสรวย  แต่ยากจน.

 (25)       งานทำสวนครัว  และเลี้ยงสัตว์                   สารพัด จะเปนผล

ใครมีไว้ ก็อุ่นใจตน                                                ทั้งไม่ขัดสน ในยามสงคราม

 (26)       เด็กเล็กๆ ก็จะรู้จัก                                   การปลูกผัก ไม่ต้องถาม

ได้ทั้งผล จะยลก็งาม                                             ทั้งต้องตาม กฎอนามัย.

 (27)       ได้ทั้งทรัพย์ ได้ทั้งกำลัง                           เจริญตา, ทั้ง เจริญใจ

เมื่อทุกบ้านเห็น เช่นนี้ไซร้                                      ก็อุ่นใจได้ ว่าค่อยมั่นคง.

 (28)       เหตุฉะนั้น ไทยทั้งผอง                            ผู้เปนพี่น้อง อย่าไหลหลง

ยึดแนวนิยม อุดมตรง                                            เห็นดิ่งลง แล้วประพฤติตาม.

 (29)       รัฐนิยม เปนอุดมคติ                                ที่ควรดำริ อยู่ทุกโมงยาม

เปนเครื่องจูงใจ ไม่เกรงขาม                                   ให้ไทยพยายาม เพื่อไทย, นั่นแล.

กลอนรัฐนิยม

“The diary is the most democratic form of writing.”[17]

ด้านอนุทินชีวิต พ.ศ. 2485 “ต่อไปนี้เราจะทำจริง แน่วแน่จริงทุกอย่าง แม้ที่สุดแต่การเขียนบันทึกประจำวัน.” ความยาวเกือบ 600 หน้าเล่มนี้ นับเป็นเอกสารชิ้นประวัติศาสตร์สมัยเรืองอำนาจของจอมพล ป.พิบูลสงครามที่มีคุณค่าสูงเด่น สมุดจดเล่มนี้ถูกบันทึกขึ้นเพียงหนึ่งปีถัดจากที่รัฐบาลจอมพล ป. เริ่มประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 เป็นวันขึ้นปีใหม่ครั้งแรกตามระบบสากลแทนที่แบบเก่าที่นับวันที่ 1 เมษายนเป็นเดือนแรกของปี

พุทธทาสภิกขุในบทบาทพระหัวก้าวหน้าผู้ใช้ชีวิตในต่างจังหวัดอันห่างไกลได้พาผู้อ่านซึมซับบรรยากาศของสังคมและอารมณ์ร่วมของผู้คนร่วมสมัยนั้นแบบ ‘เรียลไทม์’ อันแตกต่างจากข้อคิดเห็นสมัยหลังที่บริภาษรัฐบาลเมื่อปรากฏผลแพ้ชนะไปแล้ว ข้อความของผู้บันทึกสะท้อนถึงความใส่ใจในเหตุบ้านการเมืองเช่น “คืนนี้ มีประกาศใช้รัฐนิยมฉะบับที่ ๑๒” (29 ม.ค.), “การสวดมนต์ในระยะนี้ ต้องมีแต่กลางวัน เนื่องจากการพรางแสงไฟ ทำกลางคืนไม่เปนการสะดวก.” (30 ม.ค.), “วิทยุคืนนี้ คนไม่สู้มาก เนื่องจากนายมั่นนายคงมีรสจืดลง ๒-๓ วันมาแล้ว, คนจึงซา.” (30 ม.ค.) , “ทางราชการขอร้องให้สะแดงความยินดี ด้วยการชักธงไทย-ญี่ปุ่น คู่กัน ในวันพรุ่งนี้ ๑ วัน…พรุ่งนี้อยากจะชักธงกะเขาบ้างในนามของหอสมุด แต่ไม่มีธง จะทำเอาเดี๋ยวนี้ ลองดู,…” (15 ก.พ.) ฯลฯ

ทั้งนี้ในบริบทระดับโลก พ.ศ. 2485 ยังนับเป็นปีแรกที่สาวน้อย “แอน แฟรงก์ (Anne Frank)” ผู้หลบหนีซ่อนตนจากภัยนาซีจรดปากกาบันทึกไดอารี่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเล่มหนึ่งของบรรณพิภพอีกด้วย

อนุทินชีวิตพุทธทาส พ.ศ.2485 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนเมื่อ พ.ศ.2550

ครึ่งเล่มหลังของอนุทินชีวิตพุทธทาสเล่มนี้เริ่มปรากฏการปรับใช้ภาษาแบบใหม่ (“หนังสือจอมพล” นิยามที่ขุนวิจิตรมาตราใช้เรียกขาน) เช่นการสะกดชื่อเดือน กรกดา, พรึสจิก หรือกิจวัตรประจำวันว่า  “วันนี้ออกบินทบาต เห็นทงไทย ทงยี่ปุ่นชักคู่กันไสวไปหมด เนื่องจากเปนวันที่ระลึกสงครามเอเชีย.”(อังคาร ๘ ธันว์. ๘๕)  ฯลฯ เกี่ยวกับเหตุปัจจัยของการปฏิวัติภาษา ผู้เขียนขอเล่าถึงที่มาที่ไปสักนิดว่า ย้อนไปก่อนหน้านั้นสองปีเมื่อ พ.ศ. 2483 บรรยากาศบ้านเมืองเกิดการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสเกิดเป็น “สงครามอินโดจีน” ในระยะคาบเกี่ยวกัน ความระอุของสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เริ่มลุกลามเข้าสู่ดินแดนแถบนี้ จนมาปะทุเมื่อญี่ปุ่นบุกไทยในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ยังผลให้รัฐบาลไม่สามารถเลี่ยง “ร่วมวงไพบูลย์สงครามมหาเอเชียบูรพากับฝ่ายอักษะ”  และจำต้องประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพียงหนึ่งเดือนต่อมา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 ส่งผลให้รัฐบาลขณะนั้นยิ่งจำต้องทวีความเข้มงวดในการปกครองและขับเน้นสำนึกชาตินิยมจนมาสู่การ ‘ปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างแข็ง’[18] ภายใต้สโลแกน “วัธนธัมดี มีศีลธัมดี มีอนามัยดี มีการแต่งกายอันเรียบร้อยดี มีที่พักอาศัยดี และมีที่ทำมาหากินดี”[19] ข้อหนึ่งในนั้นคือการ “ปรับปรุงภาษา” ส่งเสริมวัฒนธรรม ที่เริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันเกิดของท่านผู้นำเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2485

หลวงพิบูลสงคราม ในสงครามอินโดจีน พ.ศ. 2483

จอมพล ป.พิบูลสงครามให้เหตุผลในหัวข้อ “การต่อสู้ขัดขวางญี่ปุ่นในทางภาสา” ภายหลังตกเป็นผู้ต้องหาอาชญากรสงครามไว้ว่า “ในเรื่องภาสานี้ ผมได้รับรายงานจากกระทรวงสึกสาธิการว่า ญี่ปุ่นมายื่นข้อเสนอจะให้เด็กไทยเรียนภาสาญี่ปุ่น อ้างว่าที่มลายูได้สอนกันแพร่หลายมาก ทั้งกล่าวว่าชาวมลายูรู้ภาสาญี่ปุ่นกันมากแล้ว แต่คนไทยยังน้อยหน้าคนมลายูในเรื่องภาสานี้หยู่มาก ขอให้กระทรวงสึกสาฯ สอนการเขียนภาสาญี่ปุ่นเข้าไปในทุกชั้นเรียนให้มาก ผมได้ทราบเช่นนี้จึงหาอุบายเพื่อจะไม่ให้คนไทยต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นได้ตกลงให้พิจารณาเปลี่ยนการเขียนหนังสือตามแบบใหม่ เราได้ตกลงใช้ภาสานครเป็นแม่ภาสา และจากผลที่เราต้องเขียนหนังสือตามแบบใหม่นี้ ก็ได้เปนหลักให้กระทรวงสึกสาธิการ ใช้เปนเหตุผลสำหรับขัดแย้งในการที่ญี่ปุ่นจะให้เราเรียนภาสาของเขา กระทรวงสึกสาธิการได้อ้างแก่ทางฝ่ายญี่ปุ่น ว่าเด็กไทยของเรากำลังเรียนหนังสือไทยหย่างใหม่หยู่ ขอเวลาให้คนไทยรู้หนังสือไทยหย่างใหม่เสียก่อน จึงจะเริ่มต้นให้เด็กไทยเรียนภาสาญี่ปุ่นได้ ในที่สุดเด็กไทยก็ไม่ต้องเรียนภาสาญี่ปุ่นมาจนบัดนี้[20]

หลักการปรับปรุงภาษาพอสังเขปคือ งดใช้ สระ 5 ตัว: ใ, ฤ, ฤๅ, ฦ, ฦๅ พยัญชนะ 13 ตัว: ฃ, ฅ, ฆ, ฌ, ฎ, ฏ, ฐ, ฑ, ฒ, ณ, ศ, ษ, ฬ เปลี่ยนแปลงอักษร ตัวอักษร “ญ” ให้คงไว้แต่ตัดเชิง ( ั ) ออกเสีย หลักการกว้างๆ วางไว้ เช่น การใช้สระ “ไ (ไม้มลาย)” แทน “ใ (ไม้ม้วน)” การใช้ “ร (เรือ)” แทน ฤ, ฤๅ เช่น “พฤกษา” เป็น “พรึกสา” และอื่นๆ เป็นต้น ทั้งคำที่มิได้มาจาก บาลี-สันสกริต ให้เขียนตามระเบียบคำไทย[21] และตามมาด้วยการให้ใช้เลขสากลแทนเลขไทยในปลายปี เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2485[22]

จอมพล ป.พิบูลสงคราม จำต้องหลุดจากวงจรอำนาจอย่างคาดไม่ถึงตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ณ วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 เนื่องจากแพ้เสียงในสภาต่อกฎหมาย 2 ฉบับ ต่อมารัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ประกาศยกเลิก “เรื่องการปรับปรุงตัวอักสรไทย และ การใช้เลขสากลเปนเลขไทย” ตามลำดับ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487 สิริรวมอายุเรื่องแรก 2 ปีเศษ (887 วัน) และเรื่องสองไม่ถึง 2 ปี (713 วัน)[23] รวมถึงการสะกดใหม่ “ราชกิจจานุเบกสา” นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2485 หวนกลับมาใช้การสะกดเดิม “ราชกิจจานุเบกษา” วันที่ 12 ธันวาคม 2487[24] ทั้งนี้ พึงเน้นย้ำ ณ ที่นี้ว่าการปฏิวัติภาษานี้หยุดยั้งลงอย่างเป็นทางการก่อนการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ราว 9 เดือน[25]

ขอเสริมเป็นเกร็ดความรู้ว่า รูปแบบภาษาใหม่นี้ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้ให้ความรู้ว่า หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ผู้เชี่ยวชาญยูเนสโกประจำประเทศลาวได้นำอักขรวิธีแบบจอมพล ป.พิบูลสงครามไปแนะนำให้ใช้ ปัจจุบันประเทศลาวจึงใช้อักขรวิธีดังกล่าว[26]

ความสำคัญอีกหนึ่งเรื่องของอนุทินชีวิต พ.ศ. 2485 ฉบับนี้ คือบันทึกการนัดพบระหว่างสองบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ทั้งทางโลกและทางธรรม นั่นคือ “ปรีดี พนมยงค์” และ “พุทธทาสภิกขุ” ในช่วงระยะเวลาของวันชาติปีนั้น ซึ่งครบรอบ 10 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองและก่อตั้งสวนโมกข์พอดิบพอดี!


หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)

ผู้สำเร็จราชการฯ ขอร้องให้พุทธทาสแต่งเพลง

ตามบทบันทึกในไดอารี่ของพุทธทาสภิกขุ ปี พ.ศ. 2485 ฯพณฯ ท่าน ปรีดี พนมยงค์ ครั้งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้นิมนต์ท่านพุทธทาสเดินทางขึ้นมาพระนครเพื่อพบปะธรรมสากัจฉาเป็นการส่วนตัวเป็นเวลาทั้งสิ้น 3 วัน คือ 18-19 มิ.ย. และ 22 มิ.ย. 2485[27]  และพบหน้ากันครั้งอีกครั้งโดยมิได้นัดหมายวันที่ 28 มิ.ย. ขณะท่านพุทธทาสแสดงปาฐกถาที่มหามกุฎฯ โดยเขียนไว้ว่า “หันไปพบท่านผู้สำเร็จราชการ ปรีดี พนมยงค์ พนมมือไหว้ ยิ้มแฉ่ง, รับไหว้ แต่ไม่ได้ทักทาย.”

ท่านพุทธทาสภิกขุ บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้อย่างละเอียด ณ ที่นี้ขอคัดบางย่อหน้าเสนอไว้พอสังเขปดังนี้

“พณฯ (ปรีดี พนมยงค์-ผู้เขียน) ใคร่จะให้เราแต่ง บทสวดทางสาสนา (Hymn) เพื่อใช้สวด มีใจความเปนแก่นธรรมของพุทธสาสนา ขนาดบทหนึ่งไม่เกิน ๕ นาที ประมาณ ๒๔ บท หรือ ๕๒ บท. ให้มีข้อความดี สมสมัย และได้ประโยชน์ ทั้งจะให้นักเรียนธรรมศาสตร เปนผู้เริ่มใช้สวด เปนพวกแรก.” (พุทธทาสภิกขุ 30 พฤษภาคม 2485)

พฤหัศ ๑๘ มิถุนา ปทุมคงคา ก.ท.

“บ้านอยู่ปากคลองหลอด เปนวังกรมพระสวัสดิ์เก่า จำนองแก่ทรัพย์สินพระมหากระษัตริย์, เลยใช้เปนบ้านพักท่านผู้สำเร็จราชการ. เราไปถึง มีคนคอยรับที่บันได ที่ประตู และพาเลยขึ้นไปข้างบน ซึ่งจัดขึ้นเพื่อต้อนรับเปนพิเศษเมื่อวานนี้เอง,…ท่านผู้สำเร็จขึ้นมาจากข้างล่าง ตามทางที่เราขึ้นมา ทักทายตามธรรมเนียม เช่น มาถึงเมื่อไรเปนต้น แล้วจึงเริ่มการสนทนา…”

“…และท่านผู้สำเร็จมีความประสงค์จะให้คนจน มีความมั่นใจ ว่าตนมีความสุขเท่ากับคนมั่งมีได้ โดยทำใจให้สันโดษฐ์ ตามหลักพุทธสาสนา อยากให้แต่งบทเพลงชนิดที่เปนแก่นของพุทธสาสนา, และบทที่จะทำให้ผู้นั้นกล้าที่จะหาความสุข โดยการบรรเทาตัณหา, ดูเอ่ยถึงตัณหาในฐานเปนสัตรูมากที่สุด…เริ่มคุยกันแต่ ๑๔ น. เลิกคุยเวลา ๑๗ น. รวม ๓ ชั่วโมงเต็ม…”

ศุกร ๑๘ มิถุนา ปทุมคงคา กรุงเทพ

“…วันนี้ พูดกันด้วยเรื่อง สมาธิ อานาปานสติ อย่างเดียว ในตอนสุดท้ายเราจะกลับ ได้ถามขึ้นถึงเรื่องที่คิดจะมีกิจการอย่างของคณะธรรมทานในกรุงเทพฯ…”[28]

ในท้ายสุด ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ กล่าวกำชับเป็นครั้งสุดท้ายในบทสนทนาก่อนลาจากกันเมื่อวันจันทร์ 22 มิถุนายน 2485 ไว้ว่า “…ท่านเตือนย้ำ เรื่องแต่ง Hymn เมื่อกลับออกไปถึงไชยาแล้ว…”[29]

ครั้นเวลาล่วงมา 44 ปี ท่านพุทธทาสยังคงจำ “คำเตือนของโยมปรีดี” ได้แม่นยำยิ่ง! ในธรรมกถาชิ้นสำคัญที่มาจากบันทึกเสียงของท่าน ณ สวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งนำมาเปิดให้สาธุชนได้รับฟัง ณ กองบังคับการตำรวจน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ในงานอัญเชิญอัฐิธาตุของนายปรีดี พนมยงค์ ไปลอยอ่าวไทย เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2529 ปรากฏความท่อนหนึ่งว่า

“ท่านรัฐบุรุษอาวุโสยังขอร้องให้อาตมาช่วยแต่งบทเพลง สำหรับพุทธบริษัทจะได้มีเพลงร้องกับเขาบ้างเหมือนศาสนาอื่น ๆ  ข้อนี้อาตมาจนปัญญา จนปัญญา ทำไม่ได้ แต่งเพลงไม่เป็น”

ปรีดีเล่าไว้ในวัยสนธยา ณ กรุงปารีสไว้ว่า “ท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นพระที่ดี ผมเลื่อมใสในจริยวัตรและความรู้ของท่านเป็นอย่างมาก ตอนผมอยู่ในไทยเคยนิมนต์ท่านมาปาฐกถาธรรมที่หน้าวัดบวรอยู่เสมอ ลูกศิษย์ของท่าน ท่านปัญญานันทะก็เคยมาเยี่ยมผมที่นี่ ถ้าคุณกลับไปเมืองไทยช่วยบอกท่านทั้งสองด้วยว่า ผมขอฝากกราบนมัสการ ผมเองเคยอุปถัมภ์วัดชื่อ วัดพนมยงค์ ที่อยุธยาบ้านเกิดของผม ต้องการพระดีๆ จากสวนโมกข์ของท่านพุทธทาส บ้างเหมือนกัน แต่เหตุการณ์มันผันแปรไปเสียก่อน”[30]

สันนิษฐานว่าทั้งคู่ได้พบหน้ากันอีกเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2490 เมื่อพุทธทาสแสดงปาฐกถา “พุทธธรรมกับเจตนารมณ์แห่งประชาธิปไตย” ณ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย[31] ก่อนที่ปรีดีต้องลี้ภัยออกนอกประเทศด้วยรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน ปลายปีเดียวกันนั้นเอง


ส่งท้าย

เมื่อไล่เรียงกาลานุกรมเอกสารร่วมสมัยของท่านพุทธทาสหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นับจาก “ป้ายคำบาลีในคราวรับเจ้าคุณพหลฯ” พ.ศ. 2479, “รัฐธรรมนูญของเรา” พ.ศ. 2481, “เรื่องรัฐนิยม” พ.ศ. 2482-2484 จนถึง “บันทึกรายวัน” พ.ศ. 2485 พอจะวินิจฉัยได้ว่าในเบื้องต้นท่านพุทธทาสสนับสนุนแนวทางการปกครองระบอบใหม่อย่างแข็งขัน อีกด้านหนึ่ง วิถีแห่งประชาธิปไตยเองก็เกื้อกูลต่อพระมหาหนุ่มไฟแรงจากปักษ์ใต้ผู้ใฝ่หาโมกขธรรมและกระตือรือร้นในการเผยแผ่ธรรมะตามวิถีใหม่แม้จะประดับวุฒิปริยัติเพียงเปรียญธรรม 3 ประโยค ต่างจากสังคมระบอบเก่าที่ไม่เกื้อหนุนสถานะของพระหัวก้าวหน้าแนวขบถให้เป็นที่ยอมรับแก่สาธารณชนได้ง่ายนัก

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่ายังไม่สามารถพบอนุทินชีวิตของพุทธทาสต่อเนื่องจาก พ.ศ. 2485 จนถึงปีที่คณะราษฎรสายพลเรือนของอาจารย์ปรีดีสิ้นสุดอำนาจลงด้วยรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ท่านพุทธทาสได้กลับมาเขียนอนุทินชีวิตอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2491 โดยเกริ่นนำในหน้าแรกไว้ว่า “ปีนี้ เริ่มเขียนสมุดบันทึกประจำวันอีก หลังจากได้หยุดมาเสีย ๒-๓ ปี เนื่องจากไม่ค่อยมีเวลาเขียนให้ดีๆ มีประโยชน์ได้. แต่บัดนี้มีเรื่องที่จะต้องทำมากขึ้น จำเปนจะต้องเขียนเปนบันทึกการงาน แทนบันทึกอุดมคติ.”

นับจากปี พ.ศ. 2491 ท่านพุทธทาสก็ยังคงบันทึกเรื่องราวในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่องมาอีกนับทศวรรษ ซึ่งล้วนเป็นเอกสารที่ทรงคุณค่าสำหรับนักประวัติศาสตร์ ประกอบด้วยข้อความด้านพุทธจักร เช่น เรื่องการเดินทางร่วมฉัฏฐสังคายนาที่พม่าปลายปี พ.ศ. 2497 ก่อนที่คณะรัฐบาลจอมพล ป.จะเข้าร่วมในอีกหนึ่งปีถัดมา, บันทึกเมื่อพุทธทาสเดินทางจาริกแสวงบุญในประเทศอินเดียเป็นครั้งแรก พ.ศ. 2498 หรือด้านอาณาจักร พุทธทาสยังคงใส่ใจติดตามและบันทึกไว้ในอนุทิน เช่น ติดตามข่าวสารคราวกบฏแมนฮัตตันเมื่อ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ว่า

“ค่ำจะฟังวิทยุ หาคลื่นตามธรรมดาไม่พบ จนเบื่อ เลิกจะไม่ฟัง, จนท่านธนหาไปพบคลื่นพิเศษ ของสถานีทหารรักษาดินแดน และสถานีทหารเรือ เลยทราบเรื่องการพยายามทำรัฐประหารเพื่อจะจัดรัฐบาลใหม่ โดยทหารเรือจับตัวหลวงพิบูลไป ในขณะทำพิธีรับมอบเรือขุดแมนฮัตตัน เลยกลายเป็นเรื่องที่ฟังกันจนดึกดื่น ตีสอง ตีสาม.”

จนถึงเมื่อครั้งรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 อันเป็นฉากอวสานของ “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” นายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่มาจากผู้ก่อการปฏิวัติ 2475 ท่านพุทธทาสได้ลิขิตไว้ในบันทึกว่า  

“…มีข่าวไม่ดีทางการเมืองที่กรุงเทพฯ จึงพูดเรื่องการปล่อยวางกันเปนส่วนใหญ่.. เลิกประชุม ๒๒ น.เศษ. ๒๔ น. เรายังฟังวิทยุเบ็ตเล็ดเล่นอยู่ ก็พอดีได้ฟังเรื่องการที่จอมพลสฤสดิ์ ยึดอำนาจการปกครอง, ไปปลุกคุณอติเรกเปนคนแรกมาฟัง เลยติดไฟฟ้าฟังวิทยุพร้อมกัน ๒ เครื่อง เผื่อจะมีฝ่ายตรงข้าม, ไม่มี, มีข้างเดียว แถลงข่าวเรื่อยไปตามลำดับ, ฟังกันจนรุ่งเช้า ไม่ได้นอนกันทุกคน แม้หลวงบริบาลที่ว่าป่วย ก็ทนได้ ขำดี.”


ปัจฉิมลิขิต – พุทธทาสภิกขุ และยอดนักเขียนแห่งยุคสมัย


ขอแถมเรื่องราวของคู่กัลยาณมิตรระหว่างของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ กับ พุทธทาสภิกขุ ซึ่งท่านแรกมีอายุมากกว่าเพียงหนึ่งปี ทั้งสองคือนักคิดนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ทั้งทางโลกและทางธรรมอันเป็นผลพวงสำคัญของการอภิวัฒน์ 2475

ในปลายระบอบเดิมถึงต้นระบอบใหม่ 4 นักเขียนที่โดดเด่นสุดในสายตาพุทธทาสคือ พระองค์วรรณฯ (กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์), น.ม.ส. (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์), ครูเทพ (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) และ หลวงวิจิตรวาทการ ครั้นถึงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองชื่อที่มีความโดดเด่นอย่างที่สุดคือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ แนวก้าวหน้า หรือในนามปากกาที่โด่งดัง “ศรีบูรพา” หนึ่งในคณะสุภาพบุรุษที่ก่อตัวขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2472 พุทธทาสได้ส่งบทความ “ชีวิตกับนิพพาน” ถึงศรีบูรพาผู้ทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติในขณะนั้น เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2481

จดหมายฉบับนี้เป็นเพียงหลักฐานชิ้นเดียวที่ค้นพบช่วงระยะเวลาดังกล่าว จากนั้นต้องรอเวลาอีกถึง 13 ปีต่อมา กว่าจะพบว่าศรีบูรพามีจดหมายไปถึงพุทธทาสลงวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2494 แสดงความสนใจถึงเทศนาเรื่อง “วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม” และมีจดหมายโต้ตอบกันไปมา จนศรีบูรพาเดินทางไปปฏิบัติธรรมยังสวนโมกข์ช่วงวันมาฆบูชา พ.ศ. 2495 ระหว่างวันที่ 5-10 กุมภาพันธ์ เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 6 วัน

ศรีบูรพา ถ่ายภาพร่วมกับ พุทธทาส ระหว่างเข้าพำนักที่สวนโมกข์วันที่ 5-10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495

กุหลาบ สายประดิษฐ์ กล่าวถึงผลงานท่านพุทธทาสไว้ว่า “ถ้าเขามีหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์สักหนึ่งเล่ม และมีธรรมเทศนาของท่านสัก 3 เรื่อง คือ วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม ภูเขาแห่งพุทธธรรม และเรื่องความสงบ เพียงหนังสือ 4 เล่มเท่านี้ ก็เป็นการเพียงพอที่พุทธศาสนิกชนจะลงมือปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มศรัทธาแล้ว”[32]

ศรีบูรพาได้ถ่ายทอดประสบการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า “ผมเสียดายที่ผมยังไม่คุ้นกับการใช้เวลากลางคืนในสถานที่อันสงัดผู้คน ถ้าผมเกิดความคุ้นกับความเงียบสงัดของเวลากลางคืนในป่าเมื่อใด สถานที่เช่นสวนโมกข์ก็จะเป็นสถานที่อันเป็นที่รักอย่างยิ่งของผม ไม่มีที่ใดจะเปรียบได้ อาการไม่สบายทางประสาทของผมค่อยบรรเทาลงตั้งแต่ผมกลับลงมาจากสวนโมกข์ ผมรู้สึกว่า ความเพ่งศึกษาธรรมะได้ช่วยบำบัดความไม่สบายส่วนนี้ได้ไม่น้อย ผมหวังว่า ในปีหน้าผมจะมีโอกาสได้ใช้เวลาอยู่ที่สวนโมกข์นานกว่าในคราวแรก”

เป็นที่น่าเสียใจว่าศรีบูรพาไม่ได้กลับไปยังสวนโมกข์ดังที่แสดงเจตจำนงไว้อีกเลย เมื่อปลายปีเดียวกันนั้นเขาถูกตั้งข้อหาเป็น “กบฏสันติภาพ” และสิ้นสุดอิสรภาพอีก 5 ปีนับจากนั้น ภายหลังได้รับนิรโทษกรรมไม่นานนัก กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็เลือกลี้ภัยไปประเทศจีนจวบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2517

อย่างไรก็ดี ศรีบูรพา ระหว่างใช้ชีวิตในทัณฑสถานได้ประพันธ์ผลงานว่าด้วยพุทธศาสนาไว้จำนวนหนึ่ง กล่าวคือ เรื่อง “อุดมธรรม” โดยใช้ชื่อ “ข.ช.กุหลาบ สายประดิษฐ์” (ข.ช. ย่อจาก “ผู้ต้องขังชาย”) และ เรื่อง “สนทนาเรื่องพุทธศาสนา” ใช้นามปากกา “อุบาสก”[33] 

“มีบางคนถามผมว่า ไปเที่ยวสวนโมกข์สนุกไหม ผมได้ตอบเขาไปว่า ที่นั่นเป็น ‘ป่าไม้น่ารื่นรมย์ อันเป็นกำลังใจให้ถึงธรรมเครื่องหลุดพ้นจากทุกข์’ ”[34]

31 พฤษภาคม พ.ศ.2495

กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา)


ภาคผนวก


ร้อยกรองเทอดรัฐธรรมนูญโดยพุทธทาสภิกขุ


คัดด้วยลายมือตัวบรรจง

รัฐธรรมนูญสดุดี

๏ ข้าขอนบรัฐธรรมนูญ มิ่งขวัญอันพูล ผดุงสุขสวัสดิ์รัฐไทย

ทุกเทศเขตรด้าวเล่าไป ว่าไทยหาได้ โลหิตบ่ต้องนองแดน

ถึงใครลบหลู่ดูแคลน ยิ่งหลู่ยิ่งแสน ยิ่งส่องสว่างกว้างไป

จับจิตต์ทั่วหน้าทวยไทย เพราะเหตุที่ได้ มาถูกทำนองคลองธรรม

ถึงใครคุมพวกเข้าย่ำ ใครก็ชอกช้ำ เช่นไข่กระทบกองหิน

เพราะราษฎร์สานรวมร่วมจิตน์ รู้รักระบิล ระบอบแห่งรัฐธรรมนูญ

นานาประเทศมากมูน ต่างมาเกื้อกูล สิทธิไทยซึ่งพร่องพยองเต็ม

นับแต่เข้าด้ายเข้าเข็ม ไทยเก็บไทยเล็ม ได้สิทธิ์สนธิสัญญา

ภายในไทยปรับการค้า การเมืองการศึกษา การทหารไทยปรับปรุงผอง

พระราชบัญญัติเนืองนอง เร่งปรับปรุงปอง เพื่อปรับปรุงไทยไหวทัน

กระทั่งการปราบพาลพรรค์ การพิทักษ์สู่ศันติ์ ได้เข้มได้งวดกวดมา

สุขภาพอนามัยก้าวหน้า เพื่อให้ไทยสา- มารถรักพิทักษ์แดนไทย

๏ สาธุคุณพระรัตนตรัย ซึ่งประจำใจ พสกนิกรก่อนนาน

ประหนึ่งเปนเครื่องบรรดาล ไทยวัฒนาการ รู้รักประณอมออมอร

ทั้งนี้เพราะพุทธสาสน์สอน ระบอบภราดร อยู่แล้วในสังฆธรรมนูญ[35]

รัฐธรรมนูญสดุดี

เขียนด้วยลายมือปกติ

รัฐธรรมนูญของเรา

รัฐธรรมนูญ คืออาณัติ การจัดชาติ

ให้เก่งกล้า สามารถ และสุขได้

เปนดวงชีพ เราจริง ทั้งหญิงชาย

ถ้าหากไร้ รัฐธรรมนูญ สูญชาติแท้


รัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิด การประสาน

ระหว่างราษฎร์ กับรัฐบาล สนิทแน่

เกิดความรัก ความไว้ใจ ไม่ผันแปร

ยอมพลีแม้ ชีพเพื่อ เกื้อชาติกัน

รัฐธรรมนูญ ตรงตามธาตุ แห่งจิตรใจ

ของชาวไทย ผู้ถือพุทธ อย่างเดียวกัน

เปนดวงแก้ว ส่องทาง อย่างเดียวกัน

เพื่อสุขสันติ ส่วนรวม ร่วมน้ำใจ

แม้ชาติไทย ยังน้อย ด้อยศักดา

แต่อาจกล่าว ได้ว่า มีธรรมใหญ่

รัฐธรรมนูญ ก็คือธรรม นำรัฐไป

สู่สุขได้ จึงน่าชม สมชื่อแล้ว

เพราะฉะนั้น เราท่าน ทั้งหญิงชาย

ผู้สืบสาย “เมืองทอง” จงผ่องแผ้ว

ยอมพลีชีพ จงรัก พิทักษ์แนว

แห่งรัฐธรรม- นูญแน่ว ทุกคนเอย.

สวัสดี

๒๗ ธันว.๒๔๘๑.[36]



เชิงอรรถ


[1] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, พระพิมลธรรม สมณศักดิ์อาถรรพ์ มองการเมืองสงฆ์หลังปฏิวัติ 2475 ผ่านชีวิตสมเด็จพระพุฒาจารย์ อาจ อาสโภ (พ.ศ.2446-2532), ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2564, น.100-139.

[2] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, เจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท, พ.ศ.2399-2475) พระนักปราชญ์อีสาน กับ สรรพหนังสือในตำนาน, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 40 ฉบับที่ 10 สิงหาคม 2562, น.114-137.

[3] อัตชีวประวัติระบุ 12 พฤษภาคม 2475 ส่วนวันวิสาขบูชาปีนั้นคือ 19 พฤษภาคม ดู พระประชา ปสนฺนธมฺโม สัมภาษณ์, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา เล่ม 3, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2529, (เคล็ดไทย), น.696.

[4]พระประชา ปสนฺนธมฺโม สัมภาษณ์, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา เล่ม 3, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2529, (เคล็ดไทย),  น.564-565.

[5] บทความบันทึก  พ.ศ. 2473 ถึง พ.ศ. 2481 เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ BIA5.1/2 กล่อง 1 [14]-[19] เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/qCoa5

[6] บทความบันทึก  พ.ศ. 2473 ถึง พ.ศ. 2481 เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ BIA5.1/2 กล่อง 1 [20]-[22] เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/qCoa5

[7] เทียม ศรีพิสิฐ, รัฐธรรมนูญ เทียบ พระพุทธศาสนา, พ.ศ.2477, (โรงพิมพ์พระจันทร์), คำนำ.

[8] ป้ายคำบาลีในคราวรับเจ้าคุณพหลฯ BIA5.2/1 กล่อง 1 [323] เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/VbLxM

[9] นายกรัฐมนตรีว่าโภคกิจปักษ์ใต้ฟื้นตัว ราษฎรปักษ์ใต้เลื่อมใสระบอบรัฐธรรมนูญ กลับมาถึงพวกหนังสือพิมพ์รุมกันขอเข้าเยี่ยม, ประชาชาติ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1934 วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ.2479, น.2 และ น.4.

[10] ชัยจักร ทวยุทธานนท์, “สยาม : ยุคประชาธิปไตย” มุมมองจากภาพเก่า, สมุดภาพสยามยุคประชาธิปไตย, พ.ศ.2558 (สำนักพิมพ์ต้นฉบับ),น.14-16 และ น.81-106.

[11] พระสังฆาธิการไทย พระครูโสภณเจตสิการาม (เอี่ยม) ดูประวัติ https://sangkhatikan.com/monk_view.php?ID=17208

[12] ป้ายคำบาลีในคราวรับเจ้าคุณพหลฯ พระครูโสภณขอให้แต่ง, เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ BIA5.2/1 กล่อง 1 [323] จุดเชื่อมต่อ https://shorturl.asia/VbLxM

[13] เรื่องรัฐนิยม, เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ BIA5.2/1 กล่อง1 [146]-[147] จุดเชื่อมต่อ https://shorturl.asia/97S8r

[14] บันทึกรายวัน พ.ศ.2485 เล่ม 1-2, เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ BIA4.1/1 กล่อง 1 [1]-[183] จุดเชื่อมต่อ https://shorturl.asia/bFthq  และ https://shorturl.asia/ZArUf หรือ ดูเพิ่ม พุทธทาส อินทปัญโญ, ต่อไปนี้เราจะทำจริง แน่วแน่จริงทุกอย่าง แม้ที่สุดแต่การเขียนบันทึกประจำวัน, พิมพ์ครั้งแรก 2550 (สำนักพิมพ์มติชน).

[15] 80 ปี ในชีวิตข้าพเจ้า, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนนาคพันธุ์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยารามวันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม 2523, (บัณฑิตการพิมพ์), น.472-473.

[16] สม อิศรภักดี. ผมเกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2. พิมพ์ครั้งแรก 2555 (เคล็ดไทย), น.65.

[17] DK, Kate Williams Forward, Great Diaries of The world’s most remarkable diaries, journals, notebooks, and letters, Dorling Kindersley 1st Edition 2020, pp.10.

[18] ประมวนวัธนธัมแห่งชาติ พิมพ์โดยคำสั่ง พนะท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัถมนตรี เพื่อแจกพี่น้องชาวไทย ผู้ไหย่บ้าน กำนัน นายอำเพอ และข้าหลวงประจำจังหวัด โดย กรมโคสนาการ (พระนคร: พานิชสุภพล, 24/6/2486).

[19] แถมสุข นุ่มนนท์, “จอมพล ป.พิบูลสงครามกับการสร้างชาติไทย พ.ศ.2481-2487,” วารสารประวัติศาสตร์ ปีที่ 3, ฉบับที่ 2 (2521),น.14.

[20] เบื้องแรกประชาธิปตัย, พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2516 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้อุปถัมภ์การพิมพ์, 441-2. ข้ออ้างนี้ของจอมพล ป. พอมีมูลความจริงอยู่บ้าง ดู เอกสารของกระทรวงศึกษาธิการ 15393/2485 7 พฤษภาคม 2485 เรื่องขอรับนโยบายแนวทางการสอนภาษาต่างประเทศ และ 17933/2485 27 พฤษภาคม 2485 เรื่องการสอนภาษาต่างประเทศ

[21] รายละเอียดในเรื่องนี้ โปรดดู “เรื่องการปรับปรุงตัวอักสรไทย,” ราชกิจจานุเบกสา ตอนที่ 35, เล่ม 59 (1 มิถุนายน 2485), น.1137 และอย่างพิสดารใน คนะกัมการส่งเสริมวัธนธัมภาสาไทย, “ระเบียบและหลักเกนท์การไช้ตัวหนังสือไทย” พิมพ์เปนที่ระลึกไนงานสพ นายธวัช สุประภาตะนันทน์ ผู้แทนราสดรจังหวัดสระบุรี 16 กรกดาคม พ.ศ.2485 นะเมรุวัดไตรมิตต์วิทยาราม (พระนคร: โรงพิมพ์เทสบาลนครกรุงเทพ, 2485).

[22] “เรื่องการไช้เลขสากลเปนเลขไทย,” ราชกิจจานุเบกสา ตอนที่ 73, เล่ม 59 (24 พรึสจิกายน 2485): 2905.

[23] “ประกาศสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องการปรับปรุงตัวอักสรไทย และการใช้เลขสากลเปนเลขไทย,” ราชกิจจานุเบกสา เล่ม 61, ตอนที่ 68 (7 ฟรึสจิกายน 2487), น.1042.

[24] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 61 ตอนที่ 75 (12 ธันวาคม 2487), น.1156.

[25] เรื่องปฏิวัติภาษาไทยระหว่าง มิถุนายน 2485- พฤศจิกายน 2487 ดูรายละเอียดอย่างพิสดารใน นริศ จรัสจรรยาวงศ์, “สามก๊ก” ฉบับ “ปติวัติภาสาไทย” วาระแห่งหนังสือจอมพล (พ.ส.2485-2487), ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 17 เล่ม 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2562, น, 137-177.

[26]ธวัช ปุณโณทก, วิวัฒนาการภาษาไทยและอักษรไทย (กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2553), 298 อ้างจาก นิตยา กาญจนะวรรณ, “อำนาจเปลี่ยน ภาษาเปลี่ยน,” วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ปีที่ 7, ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2558), น.10.

[27] พุทธทาส อินทปัญโญ, ต่อไปนี้เราจะทำจริง แน่วแน่จริงทุกอย่าง แม้ที่สุดแต่การเขียนบันทึกประจำวัน,พิมพ์ครั้งแรก 2550, (สำนักพิมพ์มติชน),น. 481.

[28] อ้างแล้ว,น. 481.

[29] อ้างแล้ว,น. 488.

[30] อรุณ เวชสุวรรณ, รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ บิดาแห่งระบอบประชาธิปไตยของไทย, พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2526,(สนพ อรุณวิทยา), น.35.

[31]พระประชา ปสนฺนธมฺโม สัมภาษณ์, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา เล่ม 3, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2529, (เคล็ดไทย),  น.700.

[32] สมปอง ดวงไสว, บันทึกการไปสวนโมกข์ : ภาพสะท้อนนักปฏิบัติของ กุหลาบ สายประดิษฐ์, คืออิสสรชน คือคนดี คือ ศรีบูรพา รำลึก 100 ปีชาตกาล, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 (โรงพิมพ์กรุงเทพ), น.166.

[33] ช่วย มูลเพิ่ม บรรณาธิการ, ศรีบูรพา อุดมธรรม กับผลงานชุดพุทธศาสนา รวบรวมไว้ครบถ้วนเป็นครั้งแรก, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2536 (ดอกหญ้า).

[34] ดูจดหมายโต้ตอบ พุทธทาส กับ กุหลาบ สายประดิษฐ์, เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ BIA7.1/1 เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/Nwruf

[35] รัฐธรรมนูญสดุดี, เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ BIA5.2/1 กล่อง 1 [192] เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/uNWYk

[36] รัฐธรรมนูญของเรา, เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ บทความบันทึก  พ.ศ. 2473 ถึง พ.ศ. 2481 BIA5.1/2 กล่อง 1 [19] เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/qCoa5

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save