fbpx

ความเฉื่อย

เวลามีใครกล่าวหาว่าข้าราชการขี้เกียจ ผมเถียงเสมอว่าไม่ใช่ ผู้คนมากมายที่ทำงานราชการเป็นโครงสร้างที่เหมือนเนื้อเยื่อพยุงร่างกายของคนเราเอาไว้ พวกเรามีงานและมิได้ขี้เกียจ

แรงจูงใจให้เขียนบทความนี้เกิดจากการอ่านข้อเขียนขนาดยาวของคุณหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์เรื่องพัฒนาการของระบบสุขภาพ 2 ตอนจบ (อ่าน ตอนที่ 1 | ตอนที่ 2) ซึ่งสมบูรณ์ทั้งข้อมูล ประสบการณ์ตรง ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ กับอ่านบทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ที่ว่าด้วยระบบราชการ ตามด้วยการอ่านรายละเอียดของวงเสวนาเรื่องบทเรียนที่ได้จากการบริหารงานโควิดสองปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ร่วมเสวนามีทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน หัวหน้าหน่วยบริหารจากส่วนกลาง เอ็นจีโอ และนักหนังสือพิมพ์

ทั้งหมดที่ว่ามาพูดถึงความ ‘พร่อง’ ของส่วนราชการ เห็นพ้องต้องกันว่าเราจำเป็นต้องฝ่าวงล้อมหรือก้าวข้ามกันไปให้ได้เพื่อให้ประเทศชาติพัฒนาต่อไปได้ มีเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยมีคนพูดชัดๆ มากนักคือเรื่อง ‘ความเฉื่อย’ ของราชการ เพราะความเฉื่อยนั่นเอง ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขจึงจำเป็นต้องฝ่าวงล้อมกันเองเพื่อให้งานหลายๆ เรื่องไปต่อได้ดังที่คุณหมอสมศักดิ์เขียนไว้ และเพราะความเฉื่อยนั้นเองที่ทำให้อะไรต่อมิอะไรอยู่กับที่อย่างน้อยก็ 35 ปีที่ผมรับราชการ

ความเฉื่อยแปลว่าอะไร?

ผมเป็นคนหนึ่งที่เฉื่อย หลายคนจะว่าผมขยันแต่เรารู้อยู่แก่ใจดีว่าเราเฉื่อย อย่างน้อยก็บางครั้ง ช่วงไหนเบิร์นเอาต์จะหลายครั้ง ด้วยเหตุผลที่น่าจะตรงประเด็นมากที่สุดคือ เราไม่จำเป็นต้องไม่เฉื่อย เราเป็นเนื้อเยื่อพยุงทำหน้าที่พยุงระบบเอาไว้ก็ดีแล้ว นอกจากนี้ความเฉื่อยเป็นความปลอดภัยของหน้าที่การงานและชีวิต   

ข้าราชการหลายๆ คนมิได้ขี้เกียจเลย ดูแพทย์พยาบาลโรงพยาบาลของรัฐทำงานเถิดแล้วจะเห็นว่าพวกเราไม่ใช่คนขี้เกียจแน่นอน แต่เราเฉื่อยๆ นั้นใช่ มิใช่เฉื่อยเรื่องงาน แต่เฉื่อยเรื่องจะคิดอะไรใหม่ๆ แก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ๆ หรือสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อให้หน้างานของเราทำงานดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นงานประจำหรืองานสู้โควิดก็ตาม

บางคนว่าข้าราชการเช้าชามเย็นชาม ซึ่งไม่จริงเสมอไป ข้าราชการหลายคนทำงานได้มากมายในเวลา 8 ชั่วโมงทำงาน และหลายคนขยันขันแข็งทำงานหลายด้านพร้อมๆ กันในเวลาจำกัด แต่ภายใต้ความสดใสใหม่เสมอที่เห็นนั้นมักมีอายุไม่มากนัก เมื่อเวลาผ่านไปหลายคนจะเริ่มต้นเฉื่อย หรือทำงานน้อยลงเหตุเพราะพบแล้วว่าทำให้ตายเราก็ไปไหนมิได้ไกลนัก

บางคนว่าข้าราชการทำงานไปวันๆ อันนี้หมายถึงหลังจากพ้นเช้าชามเย็นชามข้ามไปวันถัดไป เดือนถัดไป และปีถัดไปแล้วเราเริ่มทำงานไปวันๆ รอเวลารับเงินเดือนและรอเวลารับเงินบำนาญ เหล่านี้ยังน่าจะอยู่ใต้คำว่าเฉื่อยได้อยู่ เพราะความเฉื่อยนั้นเองที่เราไปได้เรื่อยๆ ช้าๆ ด้วยความปลอดภัย  

ถามว่าใครปลอดภัย มิใช่เพียงเพราะตัวเราเองปลอดภัย แต่ผู้มารับราชการหรือประชาชนก็ปลอดภัยด้วย เหตุเพราะนวัตกรรมมีความเสี่ยงเสมอ แต่การทำงานแบบเดิมๆ นั้นมีความปลอดภัยมากกว่าเสมอเช่นกัน พูดง่ายๆว่า play safe แล้วทุกคนได้ประโยชน์  ประชาชนก็ได้ด้วย แม้ว่าจะไม่มากแต่ก็ได้อย่างแน่นอน

การทำงานแบบปลอดภัยมักเกิดจากการไม่ตัดสินใจ ตัวอย่างนี้จะเห็นได้ชัดมากในเวลาสองปีของสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา หน่วยงานจำนวนมากไม่ตัดสินใจเอง ทั้งที่ด้วยความรู้ความสามารถ ระดับการศึกษา ความฉลาด รวมทั้งประสบการณ์ที่ทำงานกับท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ของตัวเองมีมากมายจนน่าจะสามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ในการบริหารวัคซีน บริหารยา บริหารเตียง หรือแม้แต่บริหารเครื่องช่วยหายใจ แต่ดูเหมือนหลายที่จะเฉื่อยแล้วรอฟังคำสั่งส่วนกลางมากกว่าที่จะตัดสินใจเอง

ทำอย่างที่เคยทำคือรอคำสั่งเป็นวิธีทำงานที่ปลอดภัยแก่ทุกฝ่าย ย้ำว่าปลอดภัยต่อผู้มารับบริการและประชาชนด้วย เพราะจะอย่างไรก็เท่าทุนหรือขาดทุนไม่มาก ระดับความเสียหายอาจจะมีบ้างก็พอจะกล้อมแกล้มลืมๆ กันไปได้เมื่อเวลาผ่านไป

ความเฉื่อยเกิดจากวัฒนธรรมความกลัวด้วย คือกลัวผิด ด้วยระบบราชการเป็นระบบที่ใช้อำนาจตั้งแต่ต้น มิวายที่ประธานที่ประชุมใดๆจะมีคำพูดติดตัวเสมอว่า ‘เต็มที่’ แต่ข้าราชการมากประสบการณ์มักรู้ดีว่าเต็มที่เท่าที่ท่านอนุญาต และหากมากกว่านั้นอาจจะเป็นภัยได้ ดังนั้นการใส่เกียร์ว่างเป็นวิธีการที่ปลอดภัยทั้งจากตัวระบบเอง รวมทั้งนักการเมืองที่จะมาใหม่ในปีหน้า การใส่เกียร์ว่างเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าความเฉื่อย

ความกลัวผิดมาพร้อมกับคำว่าลอยตัว มีสถานประกอบการเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งทำงานด้านเด็กพยายามจะเปิดให้บริการใหม่หลังโควิด แต่จนแล้วจนรอดเอกสารที่ยื่นเสนอถูกส่งผ่านโต๊ะต่อโต๊ะไปเรื่อยๆ จนถึงระดับหัวหน้าสูงสุดของจังหวัดแล้ว แล้วเวียนกลับไปที่ผู้บังคับบัญชาระดับกลางทีละโต๊ะทีละแผนกไปได้เรื่อยๆ อย่างน่ามหัศจรรย์ใจโดยไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนว่าควรทำอะไรต่อ คล้ายๆ นั่งดูฟุตบอลที่ผ่านลูกไปมาได้ตลอดเวลาโดยไม่ยิงประตูแม้มีโอกาส เหตุเพราะกลัวยิงพลาด มากกว่านี้เมื่อถูกรุกทุกโต๊ะจะถอยไปแดนหลังเพื่อป้องกันประตูอย่างแข็งขัน

ความเฉื่อยเป็นความทุกข์เรื้อรัง มิใช่ว่าข้าราชการจะไม่เป็นทุกข์ อันที่จริงหลายคนทุกข์มากด้วยซ้ำไป มนุษย์ทุกคนตื่นเช้ามาด้วยความปรารถนาดีต่อประชาชน สังคมรอบบ้าน และประเทศชาติ ทุกคนมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ แต่ด้วยเหตุผลต่างๆ นานามากมายทำให้ส่วนใหญ่ทำงานเพียงเพื่อประคับประคองผลงานให้พอใช้ได้ ประชาชนพออยู่ได้ และตัวเองไม่เป็นอันตราย ความทุกข์นี้กัดกร่อนความรู้สึกจริงๆ  

เราจึงจำเป็นต้องใช้กลไกทางจิตเข้ามาช่วยบำบัด กลไกทางจิตมีชื่อเต็มยศว่า mental defense mechanism แปลตรงตัวว่ากลไกป้องกันตัวทางจิต กลไกนี้อยู่ในจิตใต้สำนึกคือ unconscious และเราใช้มันโดยไม่รู้ตัวเสมอเพื่อให้ตนเองพ้นทุกข์ – ชั่วคราวก็ยังดี

มีกลไกหนึ่งที่เราใช้บ่อยคืออวยกันไปอวยกันมาว่าเราทำดีแล้ว เรียกว่า rationalization แปลตามตัวว่าการอ้างเหตุผล อาจจะทำได้คนเดียวคือชื่นชมตนเองในใจ แต่ก็ทำในห้องประชุมได้ด้วยคือชื่นชมกันไปมา กลไกทางจิตจะป้องกันทุกคนด้วยการทำให้ผลงานเป็นที่ยอมรับได้เสมอ

ทั้งหมดที่เขียนมาเป็นวัฒนธรรม ดังที่อาจารย์นิธิเขียนหลายครั้งว่าความพยายามปฏิรูปการศึกษาด้วยกลไกดังที่ทุกรัฐบาลพยายามทำ หรือปฏิรูปกระบวนทัศน์ดังที่นักการศึกษาสมัยใหม่ทำ ซึ่งผมเองมิใช่นักการศึกษา แต่มักมีข้อคิดเห็นไปในทำนองเดียวกัน นั่นคือปฏิรูปวิธีการเรียนรู้กันใหม่ เหล่านี้จะไม่มีวันสำเร็จถ้าไม่จัดการวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่ การปฏิรูประบบราชการน่าจะพบปัญหาเดียวกัน

อะไรๆ ที่เราพูดกันในวงเสวนา เขียนข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป หรือแม้แต่บางเรื่องร่างกฎหมายกันเสร็จแล้ว แทบทุกเรื่องไม่มีความคืบหน้าเพราะความเฉื่อยเข้าครอบงำกลไกการแก้ปัญหาทุกระดับด้วย เราติดอยู่ที่ตรงนี้มานานมากแล้วตั้งแต่หลายปีก่อนโควิด  

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักพูดว่าตัวเองรู้สึกง่วงอยู่ตลอดเวลา ตื่นเช้ามาก็ไม่อยากไปไหน กินยาคุณหมอก็ง่วงมากไปไหนไม่ได้ ที่จริงพวกเขามิได้ง่วง พวกเขาแค่สโลว์โมชัน

คือความเฉื่อย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save