fbpx

10 เรื่องสำคัญในอำนาจบริหารของผู้ว่าฯ กทม.

บุณนลิน ทองพิมพ์, วิไลลักษณ์ ภูลี และฉัตร คำแสง เรื่อง

หนึ่งในกระแสที่สังคมกำลังให้ความสนใจมากเป็นพิเศษในตอนนี้คงหนีไม่พ้นกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งครั้งนี้ดูเหมือนว่าคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนกรุงเทพฯ จะเฝ้าจับตามองมากเป็นพิเศษ เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม ได้ห่างหายไปนานถึง 9 ปี นับตั้งแต่โดนคณะรักษาความสงบแห่งชาติภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งแช่แข็งอย่างไม่มีกำหนด การเลือกตั้งรอบนี้มีผู้เล่นทั้งหน้าเดิมและหน้าใหม่พากันตบเท้าเข้ามาสมัคร โดยมีจำนวนมากถึง 31 เบอร์

ตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม. นั้นฟังดูยิ่งใหญ่ เพราะเป็นตำแหน่งบริหารหน่วยงานท้องถิ่นที่มีประชากรสูงสุด โดยมีจำนวนตามทะเบียนราษฎร์ถึง 5.6 ล้านคน และถ้าหากรวมประชากรแฝงด้วย ก็คงมีมากเกินกว่า 10 ล้านคน และคุณภาพชีวิตของคนกว่า 10 ล้านคนเหล่านี้ก็แน่นอนว่าขึ้นกับคุณภาพของเมืองหลวงแห่งนี้ 

ผู้คนที่ตั้งใจจะออกไปสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ล้วนแต่มีความหวังว่าพวกเขาจะได้ผู้ชนะที่มีความสามารถ และได้รับการยอมรับจากคนเสียงส่วนใหญ่ แต่ปัญหาที่สำคัญที่การเลือกตั้งยังแก้ไม่ได้ในวันนี้คือ ตำแหน่งผู้ว่าที่ฟังดูยิ่งใหญ่นี้ ไม่ได้มีอำนาจเต็มในการบริหารงานพื้นฐานหลายด้าน

หลายเรื่องที่เป็นเรื่องใกล้ตัวคนกรุงเทพฯ อย่างเช่น เสาไฟ-สายสื่อสาร รถเมล์ รถไฟฟ้า (ส่วนใหญ่) น้ำประปา และไฟฟ้า กลับเป็นเรื่องที่ผู้ว่าฯ ไม่สามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง แต่อยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานรัฐอื่นๆ อย่างไรก็ตามเรื่องใกล้ตัวเหล่านี้มักถูกประชาชนมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ ผู้สมัครผู้ว่าฯ แต่ละคนจึงจำเป็นต้องโปรโมตตัวเอง ควบคู่ไปกับการเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ไว้ด้วย เช่นว่า “ประสานงานได้ใกล้ชิดกับรัฐบาล” “เป็นกลางเพื่อให้ทำงานได้กับทุกฝ่าย” หรือ “ท้าชน (กับโครงสร้างรัฐ) เพื่อคนกรุงเทพ”

แม้คำพูดเหล่านี้จะมีหลากหลายเฉด แต่ก็ล้วนสะท้อนถึงอำนาจการจัดการของผู้ว่าฯ ที่ขาดความเบ็ดเสร็จในตัวเอง

แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายเรื่องที่ผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจบริหารได้เอง โดยเฉพาะสินทรัพย์ของ กทม. ซึ่งหลายสิ่งก็มีความสำคัญต่อชีวิตคนกรุงเทพฯ อย่างมาก แต่ผู้เขียนเชื่อว่าชาวกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้ 

วันนี้พวกเราจึงอาสาพาสำรวจสิ่งที่อยู่ภายใต้การบริหารของผู้ว่าฯ และข้อจำกัดในการจัดการเรื่องพื้นฐานที่ทำให้เห็นว่า การเป็นผู้ว่าฯ “ยากกว่าที่คิด”

1. งบประมาณ 1 แสนล้านบาท โดนล็อกไปแล้ว 7.6 หมื่นล้านบาท

กทม. ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ไว้ที่ 78,979 ล้านบาท และมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางเสริมอีก 20,635 ล้านบาท สำหรับการดำเนินภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของ กทม. และขับเคลื่อนนโยบายตามเป้าหมายต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อย แต่แท้จริงแล้ว ผู้ว่าฯ กลับไม่ได้มีอำนาจใช้เงินจำนวนมหาศาลก้อนนี้เพื่อพลิกโฉมเมืองกรุงมากขนาดนั้น

กทม. ตั้งงบประมาณ 21,112 ล้านบาทไว้สำหรับเป็นเงินเดือน ค่าจ้างและค่าตอบแทนบุคลากร แต่ก็ยังมีงบบุคลากรแฝงอยู่ในงบกลางอีก 7,275 ล้านบาท เช่น เงินบำเหน็จบำนาญ และเงินช่วยเหลือข้าราชการและลูกจ้าง ทำให้รวมๆ แล้ว กทม. มีงบประมาณรายจ่ายด้านคนถึงประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาทต่อปี (ยังไม่รวมค่าตอบแทน ค่าจ้างเหมาบริการ และค่าสาธารณูปโภคที่สอดแทรกอยู่ในงบดำเนินงาน ซึ่งกระจัดกระจายและไม่ละเอียดพอให้เราประเมินได้แบบชัดๆ)

ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งที่เป็นโซ่ตรวนผูกมัดผู้ว่าฯ ไม่ให้จัดการงบได้อย่างใจหวัง คืองานฝากจากรัฐบาลส่วนกลาง โดยในปีงบประมาณ 2565 กทม. ได้เงินอุดหนุนทั่วไป (ตัวหลักๆ เช่น การศึกษา อาหารกลางวัน นมโรงเรียน และเบี้ยผู้สูงอายุ) มากถึง 19,806 ล้านบาท รวมถึงเงินอุดหนุนเฉพาะกิจที่มักเป็นงานก่อสร้างอีก 829 ล้านบาท เท่ากับว่า กทม. ถือเป็นเพียงทางผ่านของเงินก้อนนี้เท่านั้น นอกจากนี้ กทม. ยังได้รับงบจากการตั้งงบกลางสำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับภารกิจและ/หรือนโยบายที่ได้รับมอบจากรัฐบาลทั้งสิ้น 4,383 ล้านบาท จึงกลายเป็นว่าเงินมูลค่า 25,018 ล้านบาทตรงนี้เป็นจำนวนเงินที่ถูกรัฐบาลตัดสินใจแทนเรียบร้อยแล้ว

เรื่องยังไม่จบเท่านี้ เพราะ กทม. ต้องเจองบผูกพันปี 2565 อีก 15,458 ล้านบาท (และผู้ว่าฯ คนต่อไปจะต้องเจองบผูกพันถึง 29,211 ล้านบาท) รวมถึงยังต้องจ่ายเงินใช้คืนเงินสะสมอีก 6,002 ล้านบาทที่ขอเบิกใช้ไปก่อนหน้า และยังมีการตั้งงบกลางเพื่อจ่ายเงินสำรองสำหรับภาระผูกพันค้างจ่ายตามกฎหมายอีก 1,500 ล้านบาท 

รูปที่ 1: งบประมาณของ กทม. ในปีงบประมาณ 2565
หมายเหตุ: งบประมาณ รวมงบประมาณรายจ่ายและเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
ที่มา: กรุงเทพมหานคร. เอกสารงบประมาณฉบับที่ 1 งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 

แม้บนหน้ากระดาษ ผู้ว่าฯ จะได้จัดการงบประมาณเกือบ 1 แสนล้านบาท แต่เมื่อหักลบค่าใช้จ่ายที่แตะต้องไม่ได้แล้ว จะเหลือให้บริหารจัดการได้จริงประมาณ 23,249 ล้านบาทเท่านั้น (รูปที่ 1)

จริงอยู่ที่งบนี้ครอบคลุมการดำเนินงานพื้นฐานซึ่งส่วนมากใช้แรงงานคน โดยผู้ว่าฯ สามารถกำหนดทิศทางการทำงานได้ แต่ กทม. ยังมีความท้าทายใหญ่ที่ต้องลงทุนระดับพลิกโฉมเมือง ซึ่งไม่น่าทำได้ถ้ายังไม่สามารถปลดล็อกงบประมาณตรงนี้

2. บริหารสินทรัพย์ 2 แสนล้านบาท

ณ ปี 2563 กทม. มีสินทรัพย์รวมทั้งหมด 214,324 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสด 76,967 ล้านบาท และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่สำคัญราว 50,698 ล้านบาท ได้แก่ ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ 8,030 ล้านบาท อาคาร 30,331 ล้านบาท และครุภัณฑ์ 12,337 ล้านบาท (หักค่าเสื่อมราคาแล้ว)

กทม. ยังมีสินทรัพย์ประเภทโครงสร้างพื้นฐานอีก 66,843 ล้านบาท อาทิ ถนน 9,264 ล้านบาท อุโมงค์ทางลอด 5,509 ล้านบาท ทางยกระดับ 3,603 ล้านบาท สะพาน 9,321 ล้านบาท เขื่อนกันน้ำ 11,495 ล้านบาท ระบบบำบัดน้ำเสีย 3,143 ล้านบาท ระบบระบายน้ำ 2,578 ล้านบาท และระบบขนส่งมวลชน 22,265 ล้านบาท เป็นต้น

การมีสินทรัพย์มากอาจเป็นเรื่องดีถ้าหากมันสร้างกระแสเงินสดกลับมาคืนแก่เจ้าของ เหมือนอย่างในบริษัทเอกชนทั่วไป แต่ในกรณีที่เป็นสินทรัพย์สาธารณะ แถมมีงบประมาณจำกัดตามที่ว่าไว้ในข้อ 1. สินทรัพย์เหล่านี้ก็เป็นไม่ต่างจากทุกขลาภของผู้ว่า กทม. (เว้นแต่ผู้รักเงินทอน)

3. บริหารข้าราชการ 38,533 คน ลูกจ้างประจำ 32,740 คน ลูกจ้างชั่วคราว 15,122 คน

ข้อมูลกรอบอัตรากำลังของข้าราชการ กทม. ปี 2563 ชี้ว่า ข้าราชการ กทม. มีจำนวนทั้งหมด 38,533 คน แบ่งเป็นข้าราชการ กทม. สามัญ 23,025 คน และ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 15,508 คน หน่วยงานที่มีข้าราชการมากที่สุด 3 อันดับ คือ สำนักการแพทย์ (5,112 คน) สำนักอนามัย (2,572 คน) และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (2,081 คน)

กทม. ยังมีอัตรากำลังที่เป็นลูกจ้างด้วย โดยมีลูกจ้างประจำ 32,740 คน แบ่งเป็นลูกจ้างในสังกัดส่วนกลาง 10,948 คน และสังกัดเขตต่างๆ รวมทั้ง 50 เขตทั้งสิ้นอีก 21,792 คน และมีลูกจ้างชั่วคราวอีกทั้งหมด 15,122 คน โดยจำแนกเป็นลูกจ้างในสังกัดส่วนกลาง 4,392 คน และสังกัดเขตต่างๆ 10,730 คน (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1: อัตรากำลังกรุงเทพมหานคร
ที่มา: สถิติกรุงเทพมหานคร 2563

  

4. ดูแลโรงเรียน 437 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 291 แห่ง สถานรับเลี้ยงเด็ก 12 แห่ง

เราอาจพูดได้ว่าพัฒนาการของเด็กจำนวนมากใน กทม. ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของ กทม. เพราะ กทม. ถือเป็นผู้บริหารจัดการสถานศึกษาทุกระดับตั้งแต่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กกลางวันจำนวน 12 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน 291 แห่ง โรงเรียน 437 แห่ง ตลอดจนมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 

ศูนย์รับเลี้ยงเด็กกลางวันดูแลเด็กเล็กราว 700 คน ขณะที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีเด็ก 19,086 คน นอกจากนี้โรงเรียนสังกัด กทม. ยังมีนักเรียนรวมทั้งสิ้นมากถึง 261,160 คน

นี่หมายความว่าคุณภาพสถานศึกษาเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อพัฒนาการของคนเกือบ 300,000 ชีวิต ซึ่งนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยุคนี้ที่เด็กเกิดน้อย และยังต้องเติบโตมาแบกรับภาระสังคมอันหนักอึ้ง 

รูปที่ 2: ที่ตั้งของสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัด กทม.
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์กรุงเทพมหานคร
หมายเหตุ: แผนที่กรุงเทพแสดงจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎรรายแขวง พ.ศ. 2563 จุดสีเหลืองแสดงสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวันสังกัด กทม. และจุดสีชมพูแสดงถึงศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนสังกัด กทม.

 

รูปที่ 3: ที่ตั้งของโรงเรียนสังกัด กทม.
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์กรุงเทพมหานคร 
หมายเหตุ: แผนที่กรุงเทพแสดงจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎรรายแขวง พ.ศ. 2563 จุดสีส้มแสดงโรงเรียนสังกัด กทม. 

ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ สถานศึกษาและสถานรับเลี้ยงเด็กมักกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กลางเมืองตามรูปที่ 2 และ 3 โดยเฉพาะโรงเรียนสังกัด กทม. ซึ่งมีจำนวนประชากรไม่มาก ทำให้พื้นที่เติบโตใหม่รอบนอกไม่มีบริการด้านการศึกษาที่สอดคล้องกับจำนวนประชากร

ผู้เขียนพยายามตามหาว่าสถานศึกษาของ กทม. มีคุณภาพมาตรฐานเป็นอย่างไร ซึ่งต้องสารภาพว่าผู้เขียนยังไม่พบการประเมินคุณภาพในเรื่องพื้นฐาน เช่น พัฒนาการทางร่างกายและอารมณ์ จากเอกสารที่เปิดเผยโดยทั่วไป 

อย่างไรก็ดี ผลคะแนน ONET ชี้ว่า โรงเรียนในสังกัด กทม. มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าโรงเรียนในสังกัด สพฐ. และ สพม. ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในพื้นที่กรุงเทพ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งเเป็นในทุกวิชา ไม่ว่าจะวิชาภาษาไทย อังกฤษ คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ (รูปที่ 4) สอดคล้องกับคะแนน PISA[1] ที่สะท้อนว่านักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. ขาดความสามารถในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงที่หนักกว่าโรงเรียนในสังกัดอื่นๆ[2]

 

รูปที่ 4: คะแนน ONET ระดับชั้น ม.3 ในแต่ละรายวิชา ของโรงเรียนในแต่ละสังกัดโดยเฉลี่ย ปีการศึกษา 2563
ที่มา: สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ

5. บริหารโรงพยาบาล 11 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 68 ศูนย์

กทม. มีโรงพยาบาลในสังกัดจำนวน 11 แห่ง มีจำนวนเตียง 2,233 เตียง โดยมีโรงพยาบาลใหญ่ที่น่าจะเป็นที่คุ้นชื่อบ้างสำหรับหลายคน เช่น รพ.กลาง รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.ตากสิน และ รพ.สิรินธร เป็นต้น ในปี 2563 โรงพยาบาลทั้ง 11 แห่งนี้ได้ให้บริการผู้ป่วยนอกจำนวน 3.9 ล้านครั้ง และผู้ป่วยในอีกเกือบ 1 แสนคน ซึ่งถือว่าได้รับความนิยมในการเข้าใช้บริการมากพอสมควร

นอกจากนี้ กทม. ยังมีศูนย์บริการสาธารณสุข 68 ศูนย์ (เทียบเท่ากับสถานีอนามัยเดิม) ซึ่งแม้ว่าจะเป็นจำนวนที่มากและกระจายตัว แต่กลับมีผู้เข้ามารับบริการทั้งหมดเพียง 1.7 ล้านครั้งตลอดปี 2563 ซึ่งสะท้อนว่ายังไม่ได้รับความสนใจมากนัก 

การมียอดการเข้าใช้บริการศูนย์สาธารณสุขที่น้อยสะท้อนถึงความนิยม ตลอดจนภาพลักษณ์และคุณภาพที่ยังอ่อนแอ คนกรุงจึงนิยมไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่มากกว่าไม่ว่าจะป่วยมากหรือป่วยน้อย จนทำให้เกิดปัญหาคนล้นโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น การขาดบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานยังส่งผลต่อการบริหารจัดการโควิดอย่างใกล้ชิดชุมชน ซึ่งเป็นกลไกหลักตามต่างจังหวัดที่ได้รับคำชื่นชมก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ ผู้ว่า กทม. สมัยหน้าจะยังมีโจทย์ใหญ่คือการเข้าถึงการแพทย์ของชาวกรุงเทพ เพราะจากแผนที่ในรูปที่ 5 จะเห็นได้ว่าบริการสาธารณสุขสังกัด กทม. ยังคงกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กลางเมือง (เช่นเดียวกับโรงพยาบาลใหญ่ๆ ของรัฐและเอกชน) ในขณะที่บางแขวงรอบนอก ซึ่งมีประชากรหนาแน่นมากขึ้นในช่วงหลัง ยังไม่มีแม้แต่ศูนย์บริการสาธารณสุข

รูปที่ 5: ที่ตั้งของโรงพยาบาลและศูนย์สาธารณสุขของ กทม.
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์กรุงเทพมหานคร 
หมายเหตุ: แผนที่กรุงเทพแสดงจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎรรายแขวง พ.ศ. 2563 เครื่องหมายบวกแสดงที่ตั้งโรงพยาบาล และจุดสีแดงแสดงศูนย์บริการสาธารณสุข

6. สถิติบอกมีสวน 8,644 แห่ง แต่เป็นสวนสาธารณะหลักเพียง 40 แห่ง

กรุงเทพมหานครรายงานว่ามีพื้นที่สีเขียวจำนวนทั้งสิ้น 25,185.5 ไร่ หรือคิดเป็น 7.11 ตร.ม.ต่อคน ซึ่งเป็นผลรวมของพื้นที่สวน 7 ประเภท ได้แก่ สวนหย่อมขนาดเล็ก สวนหมู่บ้าน สวนชุมชน สวนระดับย่าน สวนระดับเมือง สวนถนน และสวนเฉพาะทาง จำนวนทั้งหมด 8,644 แห่ง 

แต่แท้จริงแล้ว ตัวเลขส่วนใหญ่เป็นสวนหย่อมขนาดเล็กที่มีพื้นที่น้อยกว่า 2 ไร่ ซึ่งคิดเป็นกว่า 50% ของตัวเลขพื้นที่รวมทั้งหมด ตามด้วยพื้นที่เกาะกลางถนน-สวนตามไหล่ทางซึ่งคิดเป็น 34% และพื้นที่สวนของหมู่บ้านเอกชนซึ่งคิดเป็น 14% โดยพื้นที่เหล่านี้ถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง 

ในขณะที่สวนสาธารณะที่ประชาชนใช้งานได้จริง นับเฉพาะสวนสาธารณะหลักสังกัด กทม. มีอยู่ 40 แห่งรวม 4,012 ไร่ ซึ่งเทียบเท่ากับ 1.07 ตร.ม./คน เท่านั้น[3] ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดว่าเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตร.ม./คน

รูปที่ 6: พื้นที่สวนในกรุงเทพมหานคร (สัดส่วนจำนวนสวนตามประเภท)
ที่มา: สถิติกรุงเทพมหานคร 2563

ปัญหาอีกประการคือ สวนสาธารณะหลัก (ที่ใช้การได้) ยังกระจายตัวไม่ดี ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่เข้าถึงได้ยาก ในขณะที่สวนที่กระจายอยู่ทั่วไปมักเป็นพื้นที่เกาะกลางถนนที่แคบและไม่ร่มรื่นมากพอ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวจึงอาจต้องเปลี่ยนแนวนโยบายจากการสร้างสวนขนาดใหญ่ เป็นสวนขนาดกลางที่ใช้การได้จริง แต่กระจายตัวให้คนเข้าถึงได้ง่ายโดยทั่วกัน

รูปที่ 7: ที่ตั้งของสวนสาธารณะหลักของ กทม.
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์กรุงเทพมหานคร
หมายเหตุ: แผนที่กรุงเทพแสดงจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎรรายแขวง พ.ศ. 2563 วงกลมสีเขียวแสดงสวนสาธารณหลักโดยขนาดของวงกลมแทนพื้นที่

 

7. จัดการตลาด 12 แห่ง จุดผ่อนผันหาบเร่ (ที่ให้อนุญาต) 175 จุด 

จำนวนตลาดในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีทั้งหมด 485 แห่ง แบ่งเป็นตลาดเอกชนจำนวน 470 แห่ง และตลาดของหน่วยงานราชการ 15 แห่ง ซึ่งในนี้เป็นตลาดของ กทม. 12 แห่ง อาทิ ตลาดนัดจตุจักร ตลาดธนบุรี (สนามหลวง 2) ตลาดนัดจตุจักร (มีนบุรี) รวมจำนวนแผงค้าทั้งหมดกว่า 21,542 แผง 

อีกหนึ่งโจทย์สำคัญของ กทม. คือการค้าหาบเร่-แผงลอย ซึ่งถือเป็นที่พึ่งของคนทำงานจำนวนไม่น้อย และเป็นจุดดึงดูดหนึ่งสำหรับการท่องเที่ยว แต่หลายครั้งได้ก่อให้เกิดปัญหาตามมา ทั้งการจราจรติดขัด ความสกปรก และการยึดทางเดินเท้าของประชาชน โดยปัจจุบัน กทม. ยังคงมีจุดผ่อนผันหาบเร่จำนวน 175 จุด ไม่นับรวมพื้นที่เกิดการฝ่าฝืนและทำการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต[4] 

ผู้ว่า กทม. ต้องหาแผนปฏิบัติการต่อไป แม้ว่าการกำจัดหาบเร่แผงลอยออกไปจะทำให้เกิดระเบียบและเอื้ออำนวยต่อการเดินเท้า แต่หากกำจัดไปหมด ก็จะลดความน่าสนใจของการเดินเท้า จนที่สุดเศรษฐกิจจากการเดินเท้าก็จะหายไป

กรุงเทพฯ ยังมีถนนบางเส้นที่ทางเท้ากว้าง (เช่น กว้าง 4 เมตร) หรือมีศักยภาพในการลดขนาดถนน ตรงนี้ก็น่าจะทำให้ กทม. ยังสามารถที่จะผ่อนผันได้บ้าง ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการรักษาความสะอาด 

8. บริหารโรงรับจำนำ 20 แห่ง คนใช้ 4 แสนราย ทรัพย์หมุนเวียน 6 พันล้านบาท

สถานธนานุบาลของกรุงเทพมหานคร หรือ ‘โรงรับจำนำ กทม.’ มีจำนวน 20 แห่ง ในปีงบประมาณ 2563 มีผู้ใช้บริการราว 4 แสนราย ทรัพย์สินหมุนเวียน 6 พันล้านบาท โรงรับจำนำ กทม. เป็นแหล่งหมุนเงินสำคัญสำหรับกลุ่มรับจ้าง ค้าขาย พนักงานเอกชนและรัฐ

โรงรับจำนำ กทม. มีการคิดดอกเบี้ยรับจำนำ ในอัตราที่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ที่กำหนดว่า หากเงินต้นไม่เกิน 2,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 2.00% ต่อเดือน และเงินต้นส่วนที่เกิน 2,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 สถานธนานุบาลของกรุงเทพมหานครสามารถนำส่งรายได้จำนวน 38.40 ล้านบาท

9. จัดการถนน 3,760 กม. คลอง 2,743 กม.

กทม. มีอำนาจจัดการถนนท้องถิ่นระยะทางรวมมากกว่า 3,760 กิโลเมตร เป็นของสำนักโยธากรุงเทพ 1,195 กิโลเมตร ซึ่งรวมถึงถนนสายหลัก ถนนสายรอง และถนนโครงข่ายจราจร โดยมีอุโมงค์ทางลอดรถยนต์และคนเดินประมาณ 3.3 กิโลเมตร ทางต่างระดับ 7.5 กิโลเมตร สะพานข้ามทางแยก 37.3 กิโลเมตร โดยถนนเส้นหลักอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักการโยธา กทม. ขณะที่ในบริเวณซอยและถนนที่เล็กลงไปเป็นหน้าที่การดูแลของสำนักงานเขต[5] 

เมื่อมีถนนจำนวนมาก ก็ย่อมมีปัญหามาก ทั้งการบำรุงรักษา ทาสีตีเส้น และการลอกท่อระบายน้ำให้ครบ ก็ทำให้หมดทรัพยากรไปมากแล้ว แถมยังต้องคอยตามรื้อซ่อมแซมถนน ฝาท่อระบายน้ำ และทางเท้าอยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม เราต้องให้ความเป็นธรรมกับ กทม. ในเรื่องนี้ด้วย เพราะถนนและทางเท้าใน กทม. มีผู้ร่วมใช้บริการจำนวนมาก แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จของ กทม. 

ยกตัวอย่างเช่น ท่อน้ำประปาเป็นของการประปานครหลวง เสาไฟฟ้าเป็นของการไฟฟ้านครหลวง และสายสื่อสารที่รกรุงรังตลอดจนการนำสายสื่อสารลงดิน เป็นของบริษัทโทรคมนาคม แล้วยังมีการสร้างรถไฟฟ้าขึ้นอีกหลายสายโดยสัมปทานเอกชนหลายราย ดังนั้นแม้ว่าจะเป็นผู้ว่า กทม. ที่ประสานงานหน่วยงานภายในได้อย่างดี (ซึ่งมีอีกหลายหน่วยงาน) ก็อาจยังแก้ปัญหาได้ไม่จบ

นอกจากนี้ กทม. ยังมีหน้าที่ดูแลคลอง คู ลำราง ลำกระโดง โดยแบ่งเป็นของสำนักการระบายน้ำ 332 สาย ความยาวรวม 1,002 กิโลเมตร และของสำนักงานเขต 1,758 สาย ระยะทางรวม 1,741 กิโลเมตร (ไม่รวมอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ) อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการคูคลองนั้นยากมาก เพราะต้องมีการขุดลอก ป้องกันตลิ่งพังทลาย จัดการขยะ บำบัดน้ำเสีย ตลอดจนการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม 

ช่วงที่ผ่านมามีการทุ่มทำโครงการใหญ่เพื่อภารกิจหลังเป็นหลัก เช่น การปรับภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่างระยะ 750 เมตร (จากความยาวคลองทั้งหมด 2 กิโลเมตร) โดยใช้เงิน 400 ล้านบาท การปรับภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีระยะทาง 4.5 กิโลเมตรด้วยเงิน 980 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในการจัดการเมืองเท่าใดนัก[6] จนนำมาซึ่งคำถามถึงการใช้ประโยชน์จากคูคลองของ กทม. อย่างเต็มศักยภาพ

10. จัดการขยะวันละ 10,000 ตัน

เมื่อมีคนมาก ขยะก็มากตาม ปริมาณขยะของกรุงเทพมหานครในช่วงเวลาปกติ (2558-2562) มีมากถึงวันละ 10,000 ตัน ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด แม้จะมีการส่งของ-อาหารกันมากขึ้น แต่ด้วยการท่องเที่ยวที่หดตัวรุนแรง ทำให้ปริมาณขยะลดลงเหลือ 9,520 ตัน/วันในปี 2563 และ 8,675 ตัน/วันในปี 2564

ปัญหาของกรุงเทพในการจัดการขยะมีหลายระดับ ตั้งแต่การจัดเก็บ การขนย้าย ตลอดจนการกำจัดขยะ โดยกทม. ใช้คนเก็บขยะราว 1 หมื่นคน มีรถขยะของ กทม. เอง 495 คัน และเป็นรถเช่าอีก 1,575 คัน นอกจากนี้ยังมีเรือเก็บขยะอีก 111 ลำ[7] และมีศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหลัก 3 แห่ง คือที่อ่อนนุช สายไหม และหนองแขม ก่อนที่ขยะจะถูกนำไปกำจัดในขั้นสุดท้าย

แม้ว่า กทม. จะเริ่มให้สัมปทานการผลิตไฟฟ้าจากการเผาขยะ และทำโรงงานหมักปุ๋ยจากขยะอินทรีย์ แต่กำลังการกำจัดขยะยังทำได้ไม่ถึงครึ่ง ทำให้ขยะส่วนใหญ่ของ กทม. ยังถูกขนออกไปฝังกลบในนครปฐมและฉะเชิงเทรา

ที่สำคัญ การจัดเก็บค่าขยะของ กทม. ไม่สะท้อนต้นทุนการบริหารจัดการขยะ ในปี 2564 กทม. มีรายรับค่าขยะ 512 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการมากถึง 7,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาระที่ กทม. ต้องแบกรับต่อเนื่อง และแม้จะมีการขึ้นค่าขยะของครัวเรือนจาก 20 เป็น 80 บาท/เดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า แต่ก็ยังจะไม่เพียงพอต่อต้นทุน[8] 

ส่วนหนึ่งของปัญหานี้คือปริมาณขยะกับค่าเก็บขยะที่ไม่สัมพันธ์กัน ยกตัวอย่างเช่น กทม. เก็บค่าขยะเขตปทุมวันได้ 11.4 ล้านบาท เท่าๆ กับเขตหลักสี่ แต่เขตหลักสี่มีขยะน้อยกว่ากัน 40% หรือหากมองเทียบเขตบางกะปิและบางขุนเทียนซึ่งมีปริมาณขยะเกือบเท่ากัน แต่รายได้จากค่าเก็บขยะต่างกันมากกว่าเท่าตัว (รูปที่ 8)

รูปที่ 8: ความสัมพันธ์ของค่าขยะและปริมาณขยะรายเขต ปี 2563
ที่มา: สถิติกรุงเทพมหานคร 2563

ส่งท้าย

แน่นอนว่าคนเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องทำได้ทั้งการบริหารสิ่งที่มีอยู่ในมือให้ดี และต้องสามารถประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะทำให้ผู้ว่าฯ กทม. สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ เราจำเป็นต้องมองไกลไปถึง การยกเครื่องขนานใหญ่ในเชิงกฎหมายและโครงสร้าง ที่จะทำให้การบริหารงานทั้งหมดจบในตัวได้ 

เป็นเรื่องน่าตลกที่การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง ขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ล้วนต่างเกิดมาเพื่อดูแลพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ผู้ว่าฯ กทม. กลับไม่ได้มีสิทธิมีเสียงอะไรในเรื่องเหล่านี้ หลายเรื่อง ผู้ว่าฯ ก็ต้องรอฟังคณะรัฐมนตรี โดยบางเรื่องถูกอ้างว่าทับซ้อนกับส่วนกลาง หรือบ้างก็อ้างว่าจะไปเป็นการแข่งขันกับเอกชน (ราวกับว่าส่วนกลางไม่มีกิจการใดที่แข่งขันกับเอกชนเลย) 

ถ้าปล่อยไปแบบนี้ แม้เราจะมีผู้ว่าฯ ที่เก่งกาจขนาดไหน ก็คงยากที่จะบริหารเมืองอย่างเห็นภาพรวมและขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ

การเลือกตั้งจึงถือเป็นเพียงขั้นแรกเท่านั้นที่ประชาชนจะออกไปใช้สิทธิใช้เสียงเพื่อเลือกคนที่ใช่มาเป็นตัวแทนของตัวเอง แต่หลังจากนั้นแล้ว สิ่งที่ต้องทำอย่างยิ่งก็คือการทวงอำนาจให้ผู้แทนที่ประชาชนได้เลือกมาสามารถบริหารจัดการและพัฒนาเมืองได้ด้วยตัวเองมากขึ้นอย่างแท้จริง

References
1 https://pisathailand.ipst.ac.th/pisa2018-fullreport/
2 ผู้เขียนเข้าใจว่าการเปรียบเทียบโดยตรงนี้อาจมีปัญหาทางสถิติ เช่นปัญหา selection bias ที่นักเรียนมีการย้ายโรงเรียน ส่วนหนึ่งไปตามความสามารถ อย่างไรก็ตาม น่าจะมีเหตุผลที่ทำให้กลุ่มนักเรียนที่มีความสามารถไม่เลือกโรงเรียน กทม. ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ว่าฯ สามารถจัดการได้
3 ผู้เขียนใช้นิยามสวนสาธารณะหลักตามที่กรุงเทพมหานครเผยแพร่ข้อมูล แต่ก็เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับที่ UDDC เคยศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ การเฉลี่ยต่อหัวประชากรยังไม่นับรวมประชากรแฝงที่อาศัยและทำงานในพื้นที่ กทม. ซึ่งถ้าหากรวมแล้วอาจจะทำให้ตัวเลขดังกล่าวลดลงราวครึ่งหนึ่ง
4 http://data.bangkok.go.th/dataset/permitpoint
5 https://drive.google.com/file/d/1xMZHf41M6qAZGflHDaKkXpqlaO_p6Z1Q/view
6 https://www.bbc.com/thai/thailand-59681622
7 https://www.thebangkokinsight.com/news/business/economics/193971/
8 ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่าจะต้องเพิ่มเงินค่าขยะเท่านั้น เพราะการบริหารจัดการขยะของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพนัก ตั้งแต่พฤติกรรมการใช้ทรัพยากรและการจัดการขยะต้นทางของครัวเรือน ประสิทธิภาพในการเดินรถขยะ ตลอดจนงานกำจัดขยะ ซึ่งถ้าปรับปรุงสิ่งเหล่านี้ได้จะช่วยลดปริมาณขยะและต้นทุนได้

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save