fbpx

เวทมนตร์ของฮีโร่ผ้าขาวม้า: จาก ‘วจนา’ ถึง ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’

หมายเหตุ – วจนา วรรลยางกูร ลูกของวัฒน์ วรรลยางกูร เขียนรำลึกถึงพ่อในวาระการจากไปของนักเขียนรางวัลศรีบูรพา เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘ในสายธาร วัฒน์ วรรลยางกูร’ หนังสือที่ระลึกงานรำลึก ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ วันที่ 24 เมษายน 2565 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

“กูจะไปจักรวาลแล้วโว้ย”

พ่อหันมาพร้อมแววตาเป็นประกายและยิ้มกว้างอย่างแช่มชื่นที่สุดนับจากการรัฐประหาร 2557 ในวินาทีที่เครื่องบินทะยานจากผืนดินเมืองฮานอยมุ่งหน้าปารีส ดินแดนที่โอบรับพ่อไว้หลังเผชิญปีหฤโหดในลาว

นับจากวินาทีนั้นความสุขก็หวนกลับมาสู่พ่ออีกครั้ง พร้อมกันกับการนับถอยหลัง เมื่อการไล่ล่าผู้ลี้ภัยในลาวทำลายสุขภาพพ่อย่อยยับ ความเป็นอยู่อันย่ำแย่ ความเครียดอันเหลือทน มีเพียงการดื่มที่ช่วยปลอบประโลมสภาพตกนรกทั้งเป็น เหล่านี้เป็นระเบิดเวลาที่ก่อตัวขึ้นเงียบๆ จนพรากพ่อไปเร็วเหลือเกิน

พ่อจะไม่ให้หนูโกรธแค้นเผด็จการได้อย่างไร มันทำลายประเทศที่หนูรัก และทำร้ายคนที่หนูรักที่สุดในชีวิต


ภาพจำของพ่อสำหรับลูก คือตักอบอุ่นที่ลูกชอบปีนไปซุกตัวท่ามกลางบทสนทนาในวงเหล้าระหว่างพ่อกับเพื่อนๆ เตยฟังพ่อคุยได้ไม่รู้จบจนเพื่อนๆ พ่อชมเปาะ จนดึกดื่นเตยก็ผล็อยหลับไปบนตักนั้นเอง

พ่อเป็นคนโผงผาง เสียงดังกังวาน คุยลั่นหัวเราะสนั่น รู้สึกอย่างไรก็แสดงอย่างนั้น คิดอย่างไรก็ใช้ชีวิตแบบนั้น ถ้าจะนึกถึงใครสักคนที่จริงใจกับการใช้ชีวิตที่สุดก็คือพ่อนี่แหละ แม้ว่าหลายครั้งนิสัยนี้จะทำให้ผู้คนไม่พึงใจบ้าง

ชีวิตพ่อเหมือนตัวละครในวรรณกรรมที่พ่อเขียน จนถึงนาทีนี้ เมื่อมองย้อนกลับไป พ่อใช้ชีวิตได้โลดโผนโจนทะยานกว่าทุกตัวละครที่พ่อเคยเขียนมาเสียด้วยซ้ำ ความคิดแน่วแน่ ยอมหักไม่ยอมงอ รักในศักดิ์ศรีและเสรีภาพกว่าสิ่งอื่นประหนึ่งตัวละครที่ถูกเขียนขึ้นมา เตยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพ่อรักษาความคิดอย่างคงเส้นคงวาได้อย่างไรในโลกที่พยายามบีบคอเราทุกวันเพื่อให้ยอมแพ้

ใช่ บ่อยครั้งเรารู้สึกเหมือนถูกบีบคอ นิ้วมือหยาบกร้านของมันบดขยี้บนลูกกระเดือก ยามหายใจไม่ออกความฝันของเราหดแคบเหลือเพียงแค่การหวังหายใจได้อย่างปกติ ครั้นความทรมานผ่านพ้นไปเราจึงรู้เนื้อตัวว่าแท้จริงเราฝันถึงเรื่องยิ่งใหญ่กว่านั้น 

เรารู้ว่านั่นคือราคาที่ต้องจ่ายสำหรับนักฝันในดินแดนนี้


พ่อช่างเต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์ ตลอดชีวิตของพ่อไม่เคยขาดอารมณ์ขันและความรื่นรมย์ เสียงร้องเพลงของพ่อกลายเป็นเสียงดังคลอในทุกบ้านที่พ่ออยู่ แก้วประจำตัวของพ่อไม่เคยว่างเว้น ภาพเราห้าคนอยู่ด้วยกันที่บ้านเป็นช่วงเวลาที่มีชีวิตชีวาที่สุดในชีวิตของลูก เสียงหัวเราะ การถกเถียง หยอกล้อ โกรธเคือง โอบกอด ปลอบโยน เราใช้ชีวิตร่วมกันมามากเกินกว่าจะปล่อยให้มันเป็นเพียงความทรงจำวัยเด็กที่ถูกทิ้งร้าง ภาพเราห้าคนนอนกลิ้งเกลือกอ่านหนังสือบนพื้นปูนหน้าพัดลมในบ่ายร้อนร้าย ภาพเราช่วยกันเก็บผลไม้ให้แม่ไปทำไวน์ ภาพพ่อและพี่ๆ ช่วยกันขนดินจากบ่อน้ำไปทำสวนผักอันกลายเป็นที่มองดูดาวของพ่อตอนที่แม่ไม่อยู่แล้ว ภาพพ่อนั่งดื่มในบ้านอย่างเดียวดายหลังแม่จากไป รายล้อมด้วยกรอบรูปภาพของแม่ที่พ่ออัดมาเพิ่มไม่หยุดหย่อน ทั้งที่รู้ว่ามันทดแทนอะไรไม่ได้

เหล่านี้ไม่ใช่ความทรงจำ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ยังมีลมหายใจอยู่ในชีวิตของลูกและทำให้เรารู้ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พวกเราต้องกอดประคองกันและกันให้แน่นขึ้นกว่าเดิม

เราใช้ชีวิตแบบเป็นทีมเวิร์กห้าคนเสมอมาและยังคงเป็นเช่นนั้นเสมอไป


ไม่รู้ว่าคำว่ารักจะเพียงพอไหม สำหรับสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเรา แต่เตยก็บอกกับพ่ออยู่เสมอๆ

ชีวิตมอบพ่อและแม่ที่แสนอัศจรรย์ให้ลูกๆ พ่อแม่ทำให้พวกเราเติบโตมาพร้อมความรู้สึกว่า ความรักของครอบครัวเป็นสิ่งล้ำค่าที่สุด แต่ชีวิตก็กระชากแม่และพ่อกลับไปทีละคน และคอยกระซิบอยู่เสมอว่าเราไม่สามารถเติบโตได้โดยขาดความเจ็บปวด

ที่ผ่านมาสิ่งที่พ่อมักหลบเลี่ยงคือการพูดถึงความทุกข์เศร้าของตัวเอง และพ่อคงไม่อยากถูกพูดถึงด้วยความทุกข์เช่นกัน

พ่อเป็นฮีโร่ของเตยตั้งแต่เด็ก เป็นฮีโร่ที่แต่งเพลง ‘ไดโนโทเปีย’ ให้ลูกๆ ร้องเล่น ฮีโร่ที่ชอบใส่ผ้าขาวม้ายืนเต้นหน้ากระจก ฮีโร่ที่ปลอบใจลูกๆ ช่วงไม่มีเงินว่า “พ่อมีเวทมนตร์เสกกระดาษ (ต้นฉบับ) เป็นเงินได้” 

จนโตขึ้นเราเห็นชีวิตกันหลากหลายด้านมากขึ้น ทั้งแง่งามและไม่งาม กลายเป็นลูกๆ ที่คอยขับรถพาพ่อกลับบ้าน จูงมือพาพ่อเข้านอนเวลาเมา หาข้าวปลาให้กินเท่าที่ทำได้ คอยสลับกันไปอยู่เป็นเพื่อนช่วงตึงเครียดระหว่างลี้ภัย แต่พ่อก็ยังเป็นฮีโร่คนเดิม เป็นพ่อเท่ๆ ที่ชนแก้วแล้วคุยเปิดใจกันได้

พ่อยังคงมีชีวิตอยู่อย่างแจ่มชัดในใจของลูกๆ และผู้คนอีกมากมาย ความคิดของพ่อเป็นต้นกล้าที่ถูกกระจายไปยังผืนดินที่เริ่มฟื้นคืนสมบูรณ์

วันนี้พ่อไปจักรวาลแล้ว ครั้งหนึ่งประเทศไทยเล็กแคบเกินไปสำหรับพ่อ วันนี้โลกใบนี้ก็ไม่เพียงพออีกต่อไป ถึงเวลาที่พ่อได้ไปชนจอกกับโกวเล้ง นั่งเถียงกับคาริล ยิบราน ส่วนเรื่องราวที่เหลือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพวกเราเอง 

จนกว่าเราจะได้ไปชนแก้วกันอีกครั้ง


ลูกสาวของพ่อ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save