fbpx

โจทย์ของการศึกษานิติศาสตร์ที่ผู้พิพากษาก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง

ผู้พิพากษา

ผู้พิพากษา

ตั้งแต่ที่การเมืองไทยเข้าสู่ช่วง “ปล่อยเพื่อนเรา” เมื่อต้นปี 2564 ทุกครั้งที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวแกนนำชุมนุม ไม่ว่าจะเพนกวิน อานนท์ หรือรุ้ง และคนอื่นๆ ก็ดี สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น คือนอกเหนือจากรูปถ่ายคำสั่งปฏิเสธดังกล่าวแล้ว คนโพสต์ก็มักจะแนบรูปหน้าผู้พิพากษาคนที่ทำคำสั่งไปด้วย

กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เราไม่พบเห็นกันบ่อยนัก นอกจากชื่อนายกรัฐมนตรี หรือผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจต่างๆ แล้ว เรายังได้ยินชื่ออย่าง เนตรดาว สันติ ชนาธิป บางครั้งนอกจากชื่อและหน้ายังมีข้อมูลส่วนตัวต่างๆ อีกด้วย

กลยุทธ์นี้ ผิดถูกดีเลวอย่างไรคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันต่อไป แต่รูปหน้าและชื่อของผู้พิพากษาที่เผยแพร่ออกไปนั้น ช่วยเตือนอะไรอย่างหนึ่งที่นักนิติศาสตร์มักหลงลืมกันมาตลอด

นั่นคือ ศาลนั้นก็เป็นคนธรรมดาที่มีชีวิตจิตใจนั่นเอง

เอาเข้าจริง นิติศาสตร์รู้เรื่องผู้พิพากษาน้อยมาก เวลานักนิติศาสตร์พูดถึงศาล เรามักคิดถึงศาลในเชิงสถาบันมากกว่าบุคคล ศาลจึงเป็นตึกใหญ่ๆ หรือบัลลังก์ไร้หน้าไร้ชื่อมากกว่าคนจริงๆ ข้อสันนิษฐานคือ ศาลไหนก็เหมือนกัน คนไหนขึ้นนั่งบัลลังก์ก็จะตีความกฎหมายตามบรรทัดฐานคำพิพากษาฎีกาที่สอนกันมาในเนติบัณทิตยสภาไม่ผิดเพี้ยน ชื่อที่ลงท้ายคำพิพากษาจึงไม่มีความหมายเท่าเนื้อความที่ตีความกฎหมาย

การเรียนนิติศาสตร์ตั้งอยู่ข้อสันนิษฐานว่า ตัวบทกฎหมายสำคัญกว่าคน ดังนั้น การเรียนส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจถ้อยคำในตัวบท ผ่านการตีความด้วยเหตุผลแบบต่างๆ ประกอบการการศึกษาบรรทัดฐานที่ผ่านมา

ไม่ปฏิเสธว่าการเรียนแบบนี้สำคัญต่อการประกอบวิชาชีพกฎหมาย เพราะนี่คือมาตรฐาน คือความความเข้าใจร่วมกันของวิชาชีพนิติศาสตร์ ว่ากฎหมายคืออะไร ควรอ่านและตีความมันไปในทิศทางไหน คำถามคือการเรียนนิติศาสตร์ตัวบทเช่นนี้ เพียงพอแล้วหรือไม่ต่างหาก หรือว่าเราควรจะหันมาศึกษาคนผู้ใช้กฎหมายดี

การศึกษาคนผู้ใช้กฎหมายนั้นเป็นภารกิจอันตรายมากทีเดียว ดีไม่ดี การศึกษาผู้ใช้กฎหมายจะเท่ากับยอมรับว่า กฎหมายนั้นไม่ใช่ถ้อยคำแห่งเหตุผล แต่กฎหมายคืออำเภอใจของคนที่มีอำนาจตุลาการในมือต่างหาก ถ้าข้อสรุปมันกลายเป็นแบบนั้นแล้ว คณะนิติศาสตร์จะอยู่ต่อไปได้อย่างไร

ด้วยเหตุนี้ การศึกษาศาลในฐานะบุคคลจริงๆ ในฐานะผู้เล่นในการเมือง จึงกลายเป็นพื้นที่ตรงกลาง เป็นเขตแดนที่ไม่ค่อยมีคนเข้าไปปักปันศึกษา ฝ่ายนิติศาสตร์ก็พอใจจะจำกัดขอบเขตการศึกษาตนเองอยู่เฉพาะนิติศาสตร์โดยแคบที่หมายถึงการตีความถ้อยคำตัวบทกฎหมาย อันที่จริง ถึงแม้จะอยากศึกษา นักนิติศาสตร์ปัจจุบันก็อาจจะมีเครื่องมือไม่พอที่จะก้าวเข้าไปศึกษาด้วยซ้ำ ขณะเดียวกัน นักอื่นๆ เช่นนักรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ใกล้เคียงกับนิติศาสตร์ ก็ไม่ได้เข้ามาดู เราอาจจะรู้เกี่ยวกับนักการเมืองทั้งระดับชาติระดับท้องถิ่น ทหาร ตลอดไปจนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เจ้าสัวพ่อค้า องคมนตรี พระเถระ แต่เราไม่รู้เรื่องผู้พิพากษาเท่าที่เรารู้เกี่ยวกับคนในสาขาอื่นๆ ในวงการเมืองเลย

แต่การขยับขยายการศึกษานิติศาสตร์ออกไปถึงการศึกษาผู้พิพากษานั้นจำเป็นต้องทำ ปัจจุบัน การศึกษาศาลในฐานะผู้เล่นทางการเมือง ในฐานะบุคคล ไม่ใช่สถาบัน เป็นหัวข้อหนึ่งในวิชานิติศาสตร์สากล ไม่ว่าจะศึกษาเครือข่ายตุลาการ หรือรูปแบบการตัดสินคดีผ่านกรอบต่างๆ เช่น ความเชื่อทางการเมือง เชื้อชาติ สีผิว

เฉพาะคำถามที่พื้นฐานที่สุด ผู้พิพากษาคือใคร นิติศาสตร์ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเพียงพอเสียแล้ว

ตามกฎแล้ว นิติศาสตรบัณฑิตที่อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี ผ่านการสอบเนติบัณฑิตไทย และประสบการณ์ทำงานสองปีตามที่กำหนด สามารถสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ โดยมีสามช่องทางให้เลือกตามคุณวุฒิ

เราพอรู้จากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในวงการว่า หนทางสู่การเป็นผู้พิพากษานั้นคดเคี้ยวกว่าที่กฎข้างบนกำหนดไว้ หลายคนใช้เวลานานแรมปีกว่าจะไปถึงฝั่งฝัน เรารู้ว่าสนามเล็กสอบง่ายกว่าสนามใหญ่ และสนามจิ๋วง่ายกว่าสนามเล็ก เสียงกระซิบคือ สนามจิ๋วเป็นของลูกท่านหลานเธอ ส่วนเกณฑ์ 25 ปีนั้นมีเสียงวิจารณ์ว่าเด็กเกินไป

เท่านั้นเองที่ความรู้เราไปถึง หลายอย่างเป็นคำบอกเล่าหรือข้อสรุปจากประสบการณ์ของแต่ละคน แต่หากเราลองถามลึกลงไปกว่านั้น เช่น ผู้พิพากษาเป็นลูกเต้าเหล่าใคร เราไม่มีคำตอบที่ชัดเจนที่ได้จากการศึกษาอย่างเป็นระบบ

เราได้ยินเรื่องราวแบบสาวโรงงานมาเป็นผู้พิพากษาอยู่เสมอ ว่าสนามสอบผู้พิพากษานั้นไม่จำกัดชนนั้นวรรณะ ขอเพียงแค่พยายามพากเพียรและสอบได้ ไม่ว่าจะจากสถาบันใดก็ตาม ล้วนได้เป็นผู้พิพากษาหมด

แต่เรื่องดังกล่าวเป็นตัวแทนที่ถูกต้องของผู้พิพากษาหรือไม่ โดยเฉลี่ยนักเรียนกฎหมายต้องใช้เวลากี่ปีในการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษากัน ระยะเวลาดังกล่าวเหมือนกันหมด หรือบางสถาบันสอบได้เร็วกว่าสถาบันอื่นหรือไม่ การสอบเช่นนี้ใช้ทุนทรัพย์เท่าไหร่ สุดท้าย สถาบันตุลาการเป็นของลูกชาวบ้านหรือลูกผู้ดีมีเงินมากกว่ากัน

คำถามเหมือนจะหาเรื่อง แต่คำตอบเหล่านี้อาจพาไปสู่ความรู้ใหม่ๆ เช่น ถ้าศาลไม่ใช่ลูกชาวบ้านแล้วส่งผลอะไรต่อการวินิจฉัยคดีหรือไม่ ในเมื่อเราพูดกันมาตลอดว่า ผู้พิพากษาต้องอาศัยประสบการณ์ชีวิตจึงจะเข้าใจกฎหมายถี่ถ้วนและตัดสินคดีได้ยุติธรรมที่สุด

เราอาจจะตั้งคำถามว่า การสอบปัจจุบันมีประสิทธิภาพหรือไม่ หนึ่ง ถ้าคิดมูลค่า การสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาคิดเป็นจำนวนเงินต้นทุนเท่าไหร่ สอง จำนวนเงินนี้คุ้มค่าหรือไม่ คนหนุ่มสาวที่ไม่ทำงาน หรือทำงานต่ำกว่าคุณสมบัติตัวเอง เพื่อที่จะได้มีเวลาอ่านหนังสือสอบ ทำให้ประเทศชาติสูญเสียมูลค่าไปเท่าไหร่ สุดท้ายแล้วเราได้ผู้พิพากษาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการอำนวยความยุติธรรมจริงไหม คำตอบตรงนี้อาจช่วยให้เราออกแบบระบบการสอบคัดเลือกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทรมานผู้สอบน้อยลงก็ได้

นี่ยังไม่ได้ตั้งคำถามไปถึงคนที่ได้มาจากสนามสอบที่แตกต่างกันไป ว่าคนเหล่านั้นแตกต่างกันแค่ไหน และไปทำอะไรต่อในศาล

คำถามเหล่านี้ไม่อาจหาคำตอบได้จากการถกเถียงเชิงหลักการ หรือไล่เรียงตรรกะกัน แต่ต้องหาคำตอบผ่านการศึกษาสังเกตผู้พิพากษาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่จะไปใช้กฎหมายตัดสินคดีของเพื่อนมนุษย์อีกหลายคน ถ้าเรารู้เรื่องมนุษย์คนนี้มากขึ้น เราก็อาจจะมีโอกาสออกแบบระบบอำนวยความยุติธรรมได้ดีขึ้น แต่ก่อนอื่น นักนิติศาสตร์ต้องไปให้ไกลกว่าการศึกษาตัวบทและบรรทัดฐาน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save