fbpx

ข้อแย้งต่อคำพิพากษาของศาลในคดีสติกเกอร์ “กูkult”

ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่นำสติกเกอร์ไปติดที่พระบรมสาทิสลักษณ์ที่ดวงพระเนตรของรัชกาลที่ 10 นั้นเป็นการแสดงว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์ เป็นการลบหลู่ ดูหมิ่น จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะไม่ได้เป็นการกระทำต่อตัวกษัตริย์โดยตรง แต่ก็แปลความหมายได้ในลักษณะเดียวกัน” (ขีดเส้นใต้โดยผู้เขียน)

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของนรินทร์ (สงวนนามสกุล) จำเลยในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ถูกกล่าวหาว่านำสติกเกอร์ “กูkult” ไปติดบนพระบรมสาทิสลักษณ์บริเวณดวงพระเนตรของรัชกาลที่ 10 ที่หน้าศาลฎีการะหว่างที่มีการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่สนามหลวง ข้อความข้างต้นเป็นบันทึกสรุปความเห็นของศาลต่อคดีของนรินทร์ที่อยู่ในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไกษร ไชยวงษ์ ผู้พิพากษาศาลอาญาในคดีนี้ พิพากษาลงโทษจำคุกนรินทร์เป็นเวลา 3 ปี แต่มีเหตุบรรเทาโทษ จึงให้ลดโทษจำคุก 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา หลังอ่านคำพิพากษา ศาลแจ้งต่อจำเลยและทนายจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาในระยะเวลา 1 เดือน ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว นรินทร์ได้รับการปล่อยตัวจากห้องขังใต้ถุนศาลอาญาเมื่อเวลา 11.05 น. 

ผู้เขียนได้เข้าร่วมฟังคำพิพากษาของศาลในวันนั้นด้วย เนื่องจากได้รับการติดต่อจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้เป็นพยานนักวิชาการในการสืบพยานจำเลย กำหนดการคือวันที่ 1 มีนาคม 2565 แต่การสืบพยานดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้น เพราะศาลมีคำสั่งให้ตัดพยานนักวิชาการออกทั้งหมด บันทึกสืบพยานคดีที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลไว้ดังนี้

“ภายหลังเมื่อศาลเริ่มดำเนินการสืบพยานโจทก์ในนัดแรก ศาลแสดงความไม่เห็นด้วยที่ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยจะนำพยานซึ่งเป็นนักวิชาการเข้าเบิกความด้วย โดยศาลได้นำประเด็นนี้ไปปรึกษากับผู้บริหารศาล ก่อนมีคำสั่งให้ตัดพยานที่เป็นนักวิชาการออกทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากพยานดังกล่าวจะให้ความเห็นเกี่ยวกับความหมายของคําว่า “กูKult” ซึ่งไม่ใช่ประเด็นแห่งคดี และความเห็นของนักวิชาการเป็นเพียงความเห็นของบุคคลหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ จึงมิใช่พยานที่จําเป็นต่อการวินิจฉัยคดี 

แม้ทนายจำเลยได้คัดค้านว่า ขอให้ศาลรับฟังก่อน เพราะคดีนี้เป็นเรื่องของศิลปะ และอยู่ในความสนใจของสังคมทั้งในและนอกประเทศ แต่ศาลก็แย้งว่าให้ดูเฉพาะประเทศเรา อย่าเอาไปเทียบกัน”

3 วันหลังจากที่ศาลสั่งตัดพยานนักวิชาการ ศาลได้นัดฟังคำพิพากษา และก็อย่างที่ได้เห็นกัน ศาลตีความการติดสติกเกอร์ดังกล่าวว่า “เป็นการแสดงว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์” ผู้เขียนในฐานะพยานนักวิชาการ (ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับศิลปะ) ที่ถูกตัดออก มีข้อแย้งต่อการตีความของศาล ด้วยเห็นว่าการตีความของศาลนั้นมีปัญหาหลัก 2 ประการ

ประการแรก ว่าด้วยการตีความ โดยทั่วไปเรามักกล่าวกันว่าการตีความงานศิลปะ หรือกิจกรรมศิลปะ หรือปฏิบัติการทางศิลปะ เป็นสิ่งที่ไม่มีข้อถูกผิดตายตัว กล่าวอีกอย่างคือตีความอย่างไรก็ได้ เป็นอิสรภาพของผู้ชม นั่นเป็นเรื่องจริง อย่างไรก็ตาม ทุกการตีความไม่ได้ ‘ฟังขึ้น’ ทัดเทียมกันหมด การตีความต้องประกอบด้วยการแจกแจงให้เหตุผลเพื่อให้เห็นถึงความสมเหตุสมผลของความหมายที่ได้จากการตีความนั้น การตีความจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่ไร้หลักเกณฑ์โดยสิ้นเชิง หาไม่แล้วคงไม่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับศิลปะ ประวัติศาสตร์ศิลปะ หรือการวิจารณ์ศิลปะ

ในขณะที่การตีความบ่งชี้การมองเชิงอัตวิสัย บ่งชี้ความเป็นไปได้ของความหมายอันหลากหลาย หลักเกณฑ์พื้นฐานข้อหนึ่งที่เราไม่อาจละเลยได้คือ ‘บริบท’ ของผลงาน กล่าวคือ เราต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ระบุว่าผลงานดังกล่าวเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ เนื่องในวาระอะไร ข้อมูลนี้มีความสำคัญอย่างมากเมื่อเราพิจารณาศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับการประท้วงทางการเมือง การตีความ หรืออีกนัยหนึ่ง การมองเพื่อกำหนดสร้างความหมายผูกพันอย่างแนบแน่นกับบริบทที่แวดล้อม

ต่อกรณีนี้ การติดสติกเกอร์ “กูkult” ของนรินทร์ เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่สนามหลวง ใจความสำคัญของข้อเรียกร้องของการชุมนุมนั้นอยู่ที่ “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” เมื่อเป็นเช่นนี้ การติดสติกเกอร์ “กูkult” ของนรินทร์ ซึ่งเป็นผู้ชุมนุมคนหนึ่ง จึงสามารถตีความไปโดยสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของการชุมนุม นั่นคือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ตามที่ได้แจกแจงมานี้ ผู้อ่านสามารถพิจารณาด้วยตนเองได้ว่าการติดสติกเกอร์ “กูkult” น่าจะมีความหมายไปในทิศทางใดมากกว่ากัน ระหว่าง “การแสดงว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์” กับ “ข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ที่รวมเอาการยกเลิกมาตรา 112 เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ การตีความของศาลจึงไม่ใช่ความหมายเบ็ดเสร็จที่โต้แย้งไม่ได้ (อาจมีการตีความแบบที่ 3, 4, 5 ขึ้นอยู่กับการให้เหตุผลต่อไป)

อนึ่ง พึงสังเกตว่า ศาลใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์” ไม่ใช่ “สถาบันกษัตริย์”

ประการที่สอง ว่าด้วยภาพเหมือนบุคคล ข้อแย้งของผู้เขียนคือ ภาพเหมือนบุคคลไม่ได้เป็นเพียงภาพแทนของบุคคล แต่เป็นอย่างอื่นได้ด้วย จริงอยู่ที่ว่าภาพเหมือน โดยเฉพาะแบบเหมือนจริง (ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพถ่าย หรือสื่ออื่นใด ประกอบอยู่กับวัตถุข้าวของใด) เป็นภาพแทน (representation) ของบุคคลที่เป็นต้นแบบ แต่การเป็นภาพแทนของภาพเหมือนบุคคลไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตัวบุคคลเท่านั้น ภาพเหมือนบุคคล โดยเฉพาะผู้นำทางการเมือง (ไม่ว่าในระบอบใด) หรือศาสนา สามารถเป็นภาพแทนของระบอบการเมืองหรือศาสนาได้ด้วย หมายความว่าภาพเหมือนบุคคลไม่ได้เป็นแค่ภาพแทนของคนนั่นเอง หากแต่ยังเป็นภาพแทนของสถาบันทางการเมือง สถาบันทางการสังคม ศาสนา หรือแม้แต่สิ่งนามธรรมอย่างอุดมการณ์ทางการเมืองและความเชื่อต่างๆ 

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่สามารถจำกัดความหมายของการกระทำของนรินทร์ต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ในระหว่างการชุมนุม19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่สนามหลวงได้ว่า “เป็นการแสดงว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์” เนื่องจากในที่นี้ พระบรมสาทิสลักษณ์เป็นภาพแทนของสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์

จะเห็นได้ว่าปัญหาประการแรก (การตีความโดยปราศจากการคำนึงถึงบริบท) กับปัญหาประการที่สอง (ความเข้าใจที่ไม่รอบด้านเกี่ยวกับภาพเหมือนบุคคล) มีความสัมพันธ์ต่อกัน เราไม่อาจตัดบริบท อันได้แก่ การเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ออกจากการตีความการติดสติกเกอร์ที่พระบรมสาทิสลักษณ์ได้ หากมาตรา 112 บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” การติดสติกเกอร์ “กูkult” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องให้ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ก็ย่อมไม่เข้าข่าย “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” เพราะมันไม่ได้หมายถึง ‘ตัวบุคคล’ (องค์พระมหากษัตริย์) แต่แรกนั่นเอง

คดีติดสติกเกอร์ “กูkult” มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะคดีแรกเกี่ยวกับการกระทำต่อ ‘ภาพ’ ที่ดำเนินไปถึงขั้นพิพากษา เนื่องจากการตีความของศาลว่ามีความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่นั้นสามารถกลายเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับภาพคดีอื่นๆ ได้ต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเผาภาพ การขีดเขียนภาพ การนำภาพไปทิ้ง หรือการกระทำต่อภาพในรูปแบบอื่นๆ 

ภาพเหมือนบุคคลเป็นอะไรนอกเหนือไปจากภาพแทนตัวบุคคลได้จริงหรือ? จริงหรือที่ว่าภาพเหมือนบุคคลสามารถเป็นภาพแทนของสถาบันทางการเมือง สถาบันทางการสังคม ศาสนา อุดมการณ์ทางการเมืองและความเชื่อต่างๆ ได้? กรณีตัวอย่างจากต่างประเทศบอกกับเราว่า ‘ได้’

5 มีนาคม 2533 รูปปั้นเลนินในเมืองบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย ถูกรื้อลงจากฐาน หลังจากที่นิโคไล เชาเชสกู ประธานาธิบดีและผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์กับภรรยา ถูกจับสำเร็จโทษภายหลังการปฏิวัติที่นำไปสู่การสิ้นสุดของสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนีย การรื้อทำลายรูปปั้นเลนินยังเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศภายหลังการจบสิ้นของระบอบคอมมิวนิสต์

20 กุมภาพันธ์ 2534 รูปปั้นเอนเวอร์ โฮซา ผู้นำพรรคเผด็จการคอมมิวนิสต์ถูกรื้อออกจากจัตุรัสกลางเมืองติรานา ประเทศแอลแบเนีย

เลนินเป็นผู้นำการปฏิวัติบอลเชวิกและประมุขคนแรกของสหภาพโซเวียต เขาเสียชีวิตเมื่อปี 2467 ส่วนโฮซาเสียชีวิตเมื่อปี 2528 คำถามคือ การรื้อทำลายรูปปั้นเหล่านี้สื่อความหมายถึงตัวบุคคลหรือระบอบ?

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save