fbpx

สังคมแบบไหนที่คนไทยอยากมีลูก?

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ‘ตัวเลขเด็กเกิดใหม่’ สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสังคมไทยและจุดประเด็นให้เกิดการถกเถียงขึ้นอีกครั้ง เพราะจำนวนเด็กเกิดใหม่มีแนวโน้มน้อยลงต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2564 ที่ผ่านมามีเด็กเกิดใหม่เพียง 544,570 คน เป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี ลดลงจาก 10 ปีที่แล้วมากถึง 3 แสนคน และยังเป็นปีแรกที่จำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ [1] (รูปที่ 1) พร้อมกับที่ประเทศไทยได้เคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เป็นประเทศแรกในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา หรือที่นักวิชาการเรียกว่า ‘แก่ก่อนรวย’

รูปที่ 1: อัตราการเกิดและตายของประชากรไทย พ.ศ. 2555-2564 และสัดส่วนผู้สูงอายุ

แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามสนับสนุนให้คนมีลูกมากขึ้นอยู่ตลอด ผ่านนโยบายกระตุ้นให้คนมีลูกเพื่อชาติ แต่ปรากฏชัดแล้วว่าการพูดเพียงอย่างเดียวนี้ไม่ได้ผล การดำเนินนโยบายส่งเสริมให้คนมีลูกที่เป็นไปอย่างถูกที่ถูกทาง อาจต้องย้อนกลับไปตั้งต้นกันตั้งแต่คำถามพื้นฐานว่า ‘อะไรทำให้คนไทยในปัจจุบันมีลูกน้อยลง ช้าลง จนถึงไม่อยากมีลูกเลย’ เพราะการมีลูกในยุคสมัยนี้มีราคาแพง? เพราะผู้หญิงเลือกที่จะเป็นโสดมากขึ้น? หรือเพราะทัศนคติเรื่องการมีครอบครัวที่เปลี่ยนไป? หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ‘สังคมแบบไหนที่จะทำให้คนเหล่านี้อยากมีลูกมากขึ้น’

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB และ สสส. ชวนผู้อ่านสำรวจเหตุผลจากงานวิจัยว่าเพราะอะไรคนสมัยนี้จึงไม่อยากหรือไม่พร้อมมีลูก รวมถึงนำเสนอทางออกและความเป็นไปได้ทางนโยบายเพื่อออกแบบสังคมที่มีระบบนิเวศการเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ

การมีลูกอาจไม่ใช่คำตอบของคนรุ่นใหม่อีกต่อไป

งานวิจัยเรื่อง การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ (2559) จัดทำโดย ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตราและคณะ นำเสนอ ‘ปัจจัยที่คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก’ จากการสำรวจความเห็นและการให้คุณค่าเกี่ยวกับการสร้างครอบครัวของคนเจนเอ็กซ์และเจนวายหรือกลุ่มคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2508-2522 และ 2523-2540 โดยเหตุผลสำคัญมี 3 ข้อคือ ปัจจัยด้านค่านิยมในการสร้างครอบครัว ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านเวลา/สมดุลในการใช้ชีวิต

1. การให้คุณค่าเรื่องการสร้างครอบครัวเปลี่ยนไป

คนรุ่นใหม่ไม่ได้ยึดติดกับนิยามครอบครัวแบบเดิมที่ประกอบด้วย ‘พ่อ แม่ ลูก’ แต่เปิดรับรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งคู่รักที่เลือกไม่มีลูก พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ไปจนถึงคนโสดที่อยู่ตัวคนเดียวหรืออยู่กับพ่อแม่ งานวิจัยพบว่ารูปแบบของครอบครัวที่แตกต่างอาจไม่ใช่ปัจจัยชี้วัดคุณภาพของครอบครัว การมีลูกจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นหรือขาดไม่ได้สำหรับการสร้างครอบครัวอีกต่อไป

2. การมีลูกสำหรับคนเจนเอ็กซ์และเจนวายเป็นเป้าหมายชีวิตลำดับท้าย

คำตอบเรื่องเป้าหมายชีวิตในช่วง 5-10 ปี ของคนเจเนเรอชันนี้สะท้อนว่า สิ่งที่พวกเขาอยากทุ่มเทเวลาให้มากกว่าการแต่งงานและมีลูกคือการสร้างความมั่นคงทางการเงิน ความก้าวหน้าทางการงาน และการดูแลชีวิตส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเนื้อสร้างตัว การมีธุรกิจ การผ่อนคอนโดฯ หรือบ้าน การท่องเที่ยว การดูแลพ่อแม่ และดูแลสุขภาพตัวเอง น่าสนใจว่าแม้กระทั่งในกลุ่มคนที่ตั้งเป้าจะแต่งงานและมีบุตร ก็เลือกที่จะสร้างฐานะทางการเงินให้มั่นคงในระดับหนึ่งก่อน (รูปที่ 2) ทำให้เห็นว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่คนรุ่นปัจจุบันคำนึงถึงเสมอในการตัดสินใจสร้างครอบครัว

รูปที่ 2: ความเห็นของคนเจน X และ Y เรื่องการให้คุณค่าในการสร้างครอบครัว

3. งานยุ่งจนไม่มีเวลา ถ้ามีลูกก็อาจเสียสมดุลในการใช้ชีวิตส่วนตัว

การต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานทำให้คนรุ่นนี้จินตนาการถึงชีวิตที่ต้องรับผิดชอบเด็กอีกคนหนึ่งไว้แทบไม่ออก จากเดิมที่การทำงานก็เบียดบังเวลาส่วนตัวในการทำกิจกรรมอื่นๆ อย่างการใช้เวลากับตัวเองและเพื่อนๆ มากพออยู่แล้ว หากมีลูกก็เท่ากับว่าอิสระในการใช้เวลาส่วนตัวเหล่านี้จะหายไป และอาจทำให้ความสุขและความพอใจของชีวิตลดน้อยลงด้วย พวกเขายังมองไม่เห็นว่าจะสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวได้อย่างไร

เลี้ยงลูก 1 คน พ่อแม่ต้องใช้เงินเฉลี่ย 1.53 ล้านบาท

การเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนจนกว่าเขาจะสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้นั้น พ่อแม่ผู้ปกครองต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาลเป็นเวลาหลายปี การจะมีลูกในยุคที่สภาพเศรษฐกิจเติบโตต่ำและเหลื่อมล้ำสูงเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

หากวิเคราะห์ทรัพยากรที่ต้องใช้ในการเลี้ยงดูบุตรที่จำเป็นต่อการเลี้ยงดูเด็ก 1 คน จากข้อมูลบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ พ.ศ. 2562 คำนวณมูลค่ารายจ่ายเพื่อการบริโภคของเด็กทั่วประเทศตลอดช่วงอายุดังกล่าวโดยไม่คิดอัตราเงินเฟ้อ พบว่า การเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 21 ปี (เทียบเท่ากับจบการศึกษาระดับปริญญาตรี) มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3 ล้านบาท หรือปีละประมาณ 150,000 บาท โดยภาครัฐและพ่อแม่รับภาระกันคนละครึ่ง เงินที่ภาครัฐสนับสนุน เช่น เงินอุดหนุนการศึกษาและบริการสุขภาพต่างๆ คิดเป็นจำนวน 1.46 ล้านบาท (ร้อยละ 49) ในขณะที่พ่อแม่ต้องจ่ายเองอีก 1.53 ล้านบาท (ร้อยละ 51) คิดเป็นปีละประมาณ 76,500 บาทหรือเดือนละ 6,375 บาท

ตัวเลข 3 ล้านบาทนั้นเป็นค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งประเทศ แต่ในความเป็นจริงครัวเรือนในระดับรายได้ต่างกันย่อมมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงดูเด็กที่ต่างกัน ในสังคมที่การแข่งขันสูงเช่นนี้ ครัวเรือนที่ยิ่งร่ำรวยก็ยิ่งลงทุนกับลูกได้มาก หากคำนวณเฉพาะค่าใช้จ่ายของพ่อแม่เอง พบว่า ช่องว่างระหว่างต้นทุนของครัวเรือนที่รวยที่สุดและครัวเรือนที่จนที่สุดนั้นห่างกันมากถึง 5.7 เท่า โดยครัวเรือนควินไทล์ที่ 5 (รวยที่สุด) มีต้นทุนกว่า 3.7 ล้านบาท ในขณะที่ครัวเรือนควินไทล์ที่ 1 (จนที่สุด) มีเพียง 645,739 บาท (รูปที่ 3)

รูปที่ 3: ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงดูลูก แยกตามเศรษฐฐานะของครัวเรือน


การลงทุนที่สูงกว่าย่อมหมายถึงการสนับสนุนให้ลูกเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ของเล่นและเครื่องมือเสริมพัฒนาการ เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ และโอกาสทำกิจกรรมสร้างประสบการณ์ได้มากกว่า ในขณะที่ครอบครัวที่มีทุนจำกัด มีแนวโน้มเกิดภาวะทุพโภชนาการมากกว่า เข้าถึงการศึกษาได้น้อย พัฒนาการด้อยกว่า มีโอกาสและความฝันจำกัดกว่า ตลอดจนรายได้ที่อาจน้อยกว่าในระยะยาว ดังนั้น เพื่อเติมแต้มต่อให้ลูกมีคุณภาพชีวิตที่ดี พ่อแม่หลายคนจึงอาจต้องกัดฟันทุ่มลงทุนกับลูกมากกว่า 3 ล้านบาท

ทว่า ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะมีกำลังมากพอในการสนับสนุนให้เด็กได้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ จากจำนวนเด็กอายุไม่เกิน 21 ปีทั่วประเทศกว่า 13.6 ล้านคน มีเด็กจำนวน 4.8 ล้านคนที่กระจุกตัวอยู่ในครัวเรือนยากจน ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนอยู่ที่ 2,973 บาท และได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในขณะที่เด็กในครัวเรือนร่ำรวยที่สุดจำนวน 1.1 ล้านคน อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ย 26,954 บาท หรือมากกว่าเด็กยากจนที่สุด 9 เท่า (รูปที่ 4) 

รูปที่ 4: จำนวนเด็กและเยาวชน แบ่งตามระดับรายได้ของครัวเรือน

สิทธิลาคลอดของไทยยังไม่เพียงพอ – ขาดระบบสนับสนุนในการเลี้ยงเด็ก

นอกจากปัจจัยด้านเงินทุนแล้ว อีกประเด็นสำคัญคือปัจจัยด้าน ‘เวลา’ ภาระการงานที่หนักโดยขาดสวัสดิการที่เพียงพอทำให้พ่อแม่หลายคนยังไม่สามารถจัดสรรเวลาเพื่อครอบครัวได้อย่างเต็มที่ ส่วนหนึ่งเพราะสิทธิลาคลอดของแรงงานไทยยังไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุม

ปัจจุบันข้าราชการหญิงได้สิทธิลาคลอดมากที่สุดอยู่ที่ 188 วัน แรงงานหญิงในระบบมีสิทธิลา 98 วัน ในขณะที่แรงงานนอกระบบซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศยังไม่มีสิทธิลาคลอดแม้แต่วันเดียว ประกอบกับเกณฑ์อายุในการเข้าศูนย์เด็กเล็กของรัฐกำหนดไว้ที่ 2-3 ปี จึงทำให้เกิดช่องว่างระหว่างที่พ่อแม่ต้องกลับไปทำงาน แต่ก็ยังไม่สามารถฝากลูกไว้ที่ศูนย์เด็กเล็กได้ (รูปที่ 5)

รูปที่ 5: ช่องว่างระหว่างสิทธิลาคลอดและเกณฑ์อายุที่เด็กสามารถเข้าศูนย์เด็กเล็กของรัฐได้

สุดท้ายพ่อแม่จึงอาจต้องดิ้นรนหาวิธีอื่นๆ เช่น เลี้ยงลูกเอง โดยที่พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งอาจต้องลาออกจากงานเพื่อให้สามารถเลี้ยงลูกได้อย่างเต็มที่ บางครอบครัวอาจเลือกฝากเด็กไว้กับญาติ ซึ่งอาจส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกในระยะยาวได้ หรืออีกตัวเลือกคือการจ้างพี่เลี้ยงเด็กหรือส่งลูกเข้าเนอสเซอรี ซึ่งแน่นอนว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูงและไม่ใช่ทุกครอบครัวที่สามารถเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ได้

โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมลงโทษผู้หญิงที่เป็นแม่

อีกหนึ่งเหตุผลที่มักถูกนำเสนอว่าเป็นปัจจัยของอัตราการเกิดที่น้อยลง คือ แนวโน้มการอยู่เป็นโสดของผู้หญิงในปัจจุบัน งานวิจัย ‘Gold Miss’ or ‘Earthy Mom’? Evidence from Thailand โดย ผศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ และ Lusi Liao พบว่า ร้อยละ 50-60 ของผู้หญิงไทยรุ่นใหม่โดยเฉพาะที่เกิดในช่วงทศวรรษ 2520 และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มชะลอการแต่งงานให้ช้าลง จนถึงเลือกอยู่เป็นโสดและไม่มีลูกเลย ด้วยเหตุผลว่ายิ่งเรียนสูงและมีรายได้มาก ต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการแต่งงานและการลาคลอดลูกก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนหนึ่งยังเป็นผลจากทัศนคติทางเพศในสังคมที่คาดหวังให้ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วต้องทำหน้าที่ในบ้านและนอกบ้านได้ดีพอๆ กัน จนสร้างความกดดันและทำให้ผู้หญิงจำนวนหนึ่ง ‘ต้องเลือก’ ระหว่างการมีลูกและความก้าวหน้าในการงาน

อีกปัญหาสำคัญคือ ‘ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างคนที่มีลูกและไม่มีลูก’ (parenthood wage gap) โดยผู้หญิงที่มีลูกจะได้รับค่าจ้างน้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่มีลูกร้อยละ 30 [2] หรือหากลาออกจากงานเพื่อเลี้ยงลูกเป็นเวลา 2-3 ปี ก็มีความเสี่ยงที่ตำแหน่งงานนั้นจะหายไป กลับเข้าไปทำงานใหม่ยากขึ้น หรือหากได้กลับไปทำงาน สภาพแวดล้อมในที่ทำงานส่วนใหญ่ก็ยังไม่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกและทำงานไปด้วยในเวลาเดียวกัน เช่น ยังมีไม่มีพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับให้นมลูกที่ออฟฟิศ และอาจเผชิญกับอคติในที่ทำงาน ราคาที่ผู้หญิงต้องจ่ายให้กับการตัดสินใจเป็นแม่คนจึงเป็นเสมือนบทลงโทษที่อาจทำลายเส้นทางอาชีพทั้งชีวิต (รูปที่ 6)

รูปที่ 6: ร้อยละของผู้หญิงที่เป็นโสดแบ่งตามระดับการศึกษา และราคาในการตัดสินใจมีลูกของผู้หญิง

ถึงเวลาปรับระบบนิเวศการเลี้ยงเด็ก

เมื่อกลับไปที่คำถามหลักว่า ‘สังคมแบบไหนที่คนไทยอยากมีลูก?’ คำตอบอาจมีหน้าตาหลากหลาย ตั้งแต่ สังคมที่ช่วยสนับสนุนให้การเลี้ยงดูเด็กไม่ยากลำบากสำหรับพ่อแม่จนเกินไป สังคมที่ให้สวัสดิการและไม่ลงโทษการมีลูก จนถึงสังคมที่เอื้อให้เด็กทุกคนเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพไม่ว่าจะยากดีมีจนเพียงใด

การพูดกระตุ้นให้ประชาชนมีลูกมากขึ้นเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ รัฐจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศการเลี้ยงเด็กที่ช่วยให้พ่อแม่สามารถเลี้ยงดูได้อย่างมีคุณภาพและไม่สร้างความยากลำบากให้กับพวกเขาจนเกินไป ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัวเสนอทางออกและความเป็นไปได้ทางนโยบาย ดังนี้

  1. เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าเป็นไปได้ ไม่เป็นภาระทางการคลัง

ปัจจุบันการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ราว 16,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งน้อยมาก โดยคิดเป็น 1 ใน 7 ของงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเท่านั้น แต่นโยบายดังกล่าวนี้ยังเป็นแบบคัดกรองที่ทำให้ครัวเรือนยากจนตกหล่นไปถึงร้อยละ 30 และเงินที่ให้นั้นยังไม่ครอบคลุมต้นทุนมากพอที่จะช่วยเด็กในครัวเรือนยากจนได้อย่างเพียงพอ [3]

ในอนาคตภาระงบประมาณของเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจะมีแนวโน้มลดลงตามจำนวนเด็กเกิดใหม่ การปรับนโยบายให้เงินอุดหนุนกับเด็กเล็กทุกคนอย่างถ้วนหน้าจึงเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ ไม่สร้างภาระทางการคลัง และคุ้มค่าที่จะลงทุนเพื่อแก้โจทย์ใหญ่ของประเทศ

อาทิ หากจัดสรรเงินอุดหนุน 600 บาทต่อเดือน ให้เด็กแรกเกิดอายุ 0-6 ปี อย่างถ้วนหน้า จะใช้งบประมาณต่อปีอยู่ที่ 36,961 ล้านบาท เพิ่มจากเดิม 21,121 ล้านบาทต่อปี ซึ่งยังน้อยกว่างบประมาณหลายด้านของประเทศในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น งบประมาณประกันราคาปาล์มน้ำมัน 22,185 ล้านบาท งบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ 22,250 ล้านบาท งบประมาณก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ 22,987 ล้านบาท และงบประมาณสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการจำนวน 74,000 ล้านบาท ถ้าหากรัฐเล็งเห็นว่าปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อยลงเป็นประเด็นสำคัญจริง ก็ควรต้องเร่งลงทุนให้มากขึ้น (รูปที่ 7)

รูปที่ 7: ข้อเสนอนโยบายปรับระบบนิเวศการเลี้ยงเด็ก

2. ขยายสิทธิลาคลอด ปิดช่องว่างการเลี้ยงดูเด็ก

ปัจจุบันสิทธิลาคลอด 98 วัน ของไทยที่ให้เฉพาะแรงงานในระบบประกันสังคมนั้นยังไม่เอื้อให้พ่อแม่เลี้ยงดูเด็กได้อย่างเต็มที่ในช่วงแรกเกิด แม้ล่าสุดรัฐบาลจะขยายวันลาคลอดของข้าราชการหญิงเป็น 188 วัน [4] แต่สิทธินั้นก็ยังไม่ครอบคลุมถึงพ่อแม่ส่วนใหญ่ในประเทศนี้ที่เป็นแรงงานนอกระบบ รัฐควรพิจารณาขยายวันลาคลอดเป็นอย่างน้อย 180 วันเพื่อให้สอดรับกับช่วงเวลา 6 เดือนแรกที่เด็กควรได้รับนมแม่ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ

นอกจากนี้ การออกแบบสิทธิลาคลอดยังควรคำนึงถึงเกณฑ์อายุขั้นต่ำของสถานรับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไปด้วย (ส่วนใหญ่ของไทยอยู่ที่ 3 ปี) เพื่อช่วยปิดช่องว่างที่พ่อแม่ที่ต้องกลับไปทำงานไม่ต้องดิ้นรนหาทางเลือกอื่นๆ ในการเลี้ยงลูกที่มีราคาแพง

3. ศูนย์เด็กเล็กฯ มีคุณภาพขึ้นได้ หากรัฐลงทุนมากพอ

เวลาเปิด-ปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กควรสอดคล้องกับเวลาการทำงานของพ่อแม่ และรัฐบาลควรพิจารณาปรับอายุขั้นต่ำในการรับเด็กเล็กให้ลดลงเป็น 2 ปีในทางปฏิบัติให้ได้ ประเด็นสำคัญอีกด้านคือ ‘คุณภาพ’ ของศูนย์เด็กเล็กของรัฐที่ยังไม่ได้มาตรฐานในหลายพื้นที่ การยกระดับคุณภาพต้องอาศัยแรงสนับสนุนด้านงบประมาณจำนวนมากจากภาครัฐ องค์การยูนิเซฟเสนอว่าการลงทุนเพื่อพัฒนาเด็กเล็กในสัดส่วนร้อยละ 1 ของ GDP จะสามารถสร้างผลลัพธ์เชิงคุณภาพได้อย่างแท้จริง [5] ซึ่งปัจจุบันไทยยังลงทุนเพียงร้อยละ 0.25 ของ GDP เท่านั้น ห่างไกลจากหลายประเทศที่กำลังเร่งพัฒนาและลงทุนในเด็กเล็ก รวมทั้งเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างเวียดนามที่กำลังเข้าใกล้เป้าหมายการลงทุนในเด็กเล็กที่ร้อยละ 1 ของ GDP


รูปที่ 8: สัดส่วนการลงทุนด้านการศึกษาในระดับปฐมวัยต่อ GDP
ที่มา: OECD. (2017). Public Spending on Early Childhood and Care; UNESCO. (2018). Strengthening Costing and Financing of SDG 4.2.

4. ให้ความรู้กับพ่อแม่ และสร้างกลไกเชิงสังคมเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงเด็ก

ท้ายที่สุด รัฐควรสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้และคำแนะนำในการเลี้ยงเด็กแก่พ่อแม่อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ครอบครัวสามารถเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กแต่ละช่วงวัยให้เติบโตอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพ ทั้งความรู้ด้านพัฒนาการต่างๆ การส่งเสริมสุขภาวะ การพัฒนาทักษะสำคัญ และการเสริมสร้างประสบการณ์สำหรับเด็ก โดยอาจดำเนินการในรูปแบบของ “โรงเรียนพ่อแม่” ที่ครอบคลุมในหลายพื้นที่ของประเทศ รวมไปถึงควรริเริ่มสร้างกลไกเชิงสังคมที่ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็ก เช่น การให้คนในชุมชนสามารถช่วยดูแลเด็กแทนได้ ในกรณีที่พ่อแม่ต้องทำงาน

อ่านรายงานวิจัยฉบับเต็มที่นี่

Public-Policy-Insights_สังคมแบบไหนที่คนไทยอยากมีลูก


MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save