fbpx
20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.world เดือนธันวาคม 2561

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.world เดือนธันวาคม 2561

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนธันวาคม 2561

Daniel Miller

‘Why We Post’ เข้าใจโลกโซเชียลแบบนักมานุษยวิทยา กับแดเนียล มิลเลอร์

โดย สมคิด พุทธศรี

สมคิด พุทธศรี ชวน ‘แดเนียล มิลเลอร์’ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่ง University College London หัวหน้าทีมวิจัยโครงการ Why We Post สำรวจบทบาทและอิทธิพลของโซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวันของผู้คนผ่านแว่นตาของนักมานุษยวิทยาดิจิทัล

(1) “โซเชียลมีเดียมีลักษณะของความเป็นอนุรักษนิยมค่อนข้างสูง มันเป็นเครื่องมือที่พาเรากลับไปหาสิ่งที่เราเคยมี เช่น ในโลกสมัยใหม่มีปัจจัยมากมายที่ทำให้ครอบครัวมีแนวโน้มที่จะกระจัดกระจาย และสมาชิกแต่ละคนต้องแยกตัวออกไป แต่ทุกวันนี้…ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวมีลักษณะคล้ายกับครอบครัวแบบโลกก่อนสมัยใหม่มากขึ้น”

(2) “…ผู้คนในแต่ละพื้นที่มองความเป็นส่วนตัวแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น คนอังกฤษที่อยู่ในลอนดอน มองว่าโซเชียลมีเดียทำให้ตัวเองสูญเสียความเป็นส่วนตัวไป แต่สำหรับคนจีน โซเชียลมีเดียกลับเป็นที่ที่พวกเขาได้รู้จักความเป็นส่วนตัวแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะในชีวิตประจำวันพวกเขาต้องแชร์ทุกอย่างกับคนอื่น ดังนั้นสำหรับคนจีน โซเชียลมีเดียถือว่าเป็น ‘จุดกำเนิดของความเป็นส่วนตัว’ เลยก็ว่าได้”

(3) “การวิเคราะห์โดยแบ่งเป็นชีวิตออนไลน์กับชีวิตออฟไลน์ ไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจพฤติกรรมของคนในปัจจุบัน…ชีวิตออฟไลน์มีตั้งหลายแบบ และแต่ละแบบก็อาจไม่เหมือนกันเลย เช่นเดียวกับชีวิตออนไลน์ก็มีได้หลายแบบที่อาจไม่เหมือนกันเลยได้เช่นกัน ดังนั้น การทำความเข้าใจโดยแบ่งเป็นแค่ออนไลน์กับออฟไลน์จึงไม่เพียงพอ แต่ต้องเข้าใจทั้งคู่อย่างเป็นองค์รวม”

(4) “คนจำนวนมากคิดว่า โซเชียลมีเดียคือพื้นที่สู้รบทางการเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งมีส่วนจริงอยู่ ถ้าเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา แต่ถ้าเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดของโซเชียลมีเดีย พื้นที่ทางการเมืองเป็นพื้นที่ที่เล็กมาก เอาเข้าจริงคนส่วนใหญ่มีความระมัดระวังในการโพสต์ประเด็นทางการเมืองอย่างไม่น่าเชื่อ… ในความเป็นจริงโซเชียลมีเดียกลับเป็นพื้นที่ที่หลีกเลี่ยงการเมือง มากกว่าที่จะเป็นพื้นที่เปิดทางการเมืองด้วยซ้ำ

(5) “…โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่เราใช้จัดวางระยะห่างกับผู้คน ซึ่งเป็นด้านที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึง การศึกษาในอังกฤษพบว่า คนอังกฤษจะพยายามไม่ใกล้ชิดหรือสร้างระยะห่างกับใครมากจนเกินเลย นี่เป็นลักษณะดั้งเดิม และพวกเขาก็ใช้โซเชียลมีเดียในการจัดการระยะห่างนั้นด้วยเช่นกัน”

รวยกระจุก จนกระจาย

‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ระดับสาหัส: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21

โดย ธนสักก์ เจนมานะ

ธนสักก์ เจนมานะ สำรวจปัญหาความเหลื่อมล้ำไทย โดยใช้ข้อมูลที่สร้างขึ้นตามระเบียบวิธีของ โธมัส พิเก็ตตี (Thomas Piketty) ผู้เขียนหนังสือ Capital in the 21st Century อันทรงอิทธิพล เพื่อร่วมตอบคำถามว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทย เป็นอย่างไรกันแน่

หลังรายงานความเหลื่อมล้ำ Global Wealth Report 2018 ของ Credit Suisse ได้ออกมาเผยข้อมูลว่า ประเทศไทยติดอันดับหนึ่งของโลกด้านความเหลื่อมล้ำของทรัพย์สิน โดยคนไทยที่รวยที่สุด 1% ถือครอง 66.9% ของทรัพย์สินทั้งประเทศ ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำของไทยจึงกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง

ดราม่าที่เกิดขึ้นได้สร้างความสับสนพอสมควร ฝ่ายที่ไม่พอใจรายงานฉบับดังกล่าวต่างดาหน้าออกมาวิจารณ์ว่า Credit Suisse ใช้ข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2549 ในการวิเคราะห์ พร้อมกันนั้นรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้ออกมาอธิบายกับสังคมโดยใช้สถิติความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ (ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคนละประเภทกับความเหลื่อมล้ำของทรัพย์สิน) ยืนยันว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยไม่ได้แย่มากอย่างที่รายงานบอกไว้ แถมยังดีขึ้นเรื่อยๆ อีกต่างหาก

คำถามที่ตามมาโดยปริยายคือ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกจริงหรือไม่ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นตามที่สภาพัฒน์อธิบายไว้จริงหรือ ทั้งนี้กุญแจสำคัญที่จะตอบคำถามดังกล่าวได้คือ การได้มาซึ่งตัวชี้วัดที่สามารถสะท้อนความเหลื่อมล้ำที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด

ในหนังสือ Capital in the Twenty-First Century อันโด่งดัง โธมัส พิเก็ตตี้ และทีมวิจัยได้สร้างระเบียบวิจัยที่สามารถผลิตสถิติความเหลื่อมล้ำที่มีความแม่นยำ และได้รับการยอมรับอย่างสูงในวงวิชาการขึ้นมา โดยสถิติเหล่านี้ มีพื้นฐานอยู่บนบัญชีประชาชาติ ซึ่งมีความครอบคลุมทั้งรายได้และทรัพย์สิน

ถ้ามองความเหลื่อมล้ำไทยด้วยระเบียบวิธีวิจัยแบบใหม่ เรามองเห็นอะไร ปัญหาสาหัสแค่ไหน

Girls Like Girls : ผู้​หญิง​ก็​ชอบ​ผู้หญิง​เหมือน​ที่​ผู้ชาย​ชอบ​นั่นแหละ

Girls Like Girls : ผู้​หญิง​ก็​ชอบ​ผู้หญิง​เหมือน​ที่​ผู้ชาย​ชอบ​นั่นแหละ

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

‘Sex Appear’ คือคอลัมน์ใหม่ใน The101.world ที่เล่าเรื่องราว ประสบการณ์ และมุมมองเกี่ยวกับเพศ เพศสภาวะ และเพศวิถีของผู้คน ผ่านน้ำเสียงของ ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ กองบรรณาธิการ และภาพประกอบของ ภาพิมล หล่อตระกูล กราฟิกดีไซเนอร์ ทั้งคู่ตั้งใจจะสร้างพื้นที่ที่พูดเรื่องเพศได้อย่างเต็มปากเต็มคำ และตั้งตารอจนกว่าความเท่าเทียม และเท่าทันในเรื่องเพศจะเกิดขึ้น

“ผู้หญิงก็ชอบผู้หญิงเหมือนที่ผู้ชายชอบนั่นแหละ ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร” คิอคำกล่าวทักทายแรกจาก Sex Appear พร้อมเรื่องเล่าชีวิตหญิงรักหญิงของ ‘มิว’

“กูกลัวคนจะมองว่าแปลก คิดว่าเขาไม่มีทางเข้าใจ บางครั้งกูยังคิดเลย ถ้ากูคบผู้หญิงอยู่แล้วมีผู้ชายอีกคนเข้ามา กูก็จะทิ้งเขาไปเพราะมันง่ายกว่าไหมวะ แล้วไหนจะเรื่องพ่อกับแม่อีก เป็นมึงจะบอกที่บ้านยังไง”

แปลกดีเหมือนกัน เมื่อผู้หญิงรักผู้หญิง หลายคนกล่าวโทษสภาพแวดล้อม บอกว่าเป็นไปตามวัย เดี๋ยวคงเลิกไปเอง และเด็กโรงเรียนหญิงล้วนที่ยังชอบผู้หญิงอยู่เหมือนเดิมแม้การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยจะทำให้ได้สนิทสนมกับเพื่อนเพศชาย ก็อาจได้เจอกับแนวคิดที่ว่า ถ้าไม่เรียนหญิงล้วนแต่แรก คงไม่เป็นแบบนี้

…เมื่อยังตีค่าว่าหญิงรักหญิงคือ ดี้รักทอม ทอมรักดี้ กติกาความสัมพันธ์แบบฝ่ายหนึ่งรุกฝ่ายหนึ่งรับก็ยังถูกถ่ายทอดไม่รู้จบสิ้น และเช่นเดียวกันกับคู่รักเพศทางเลือกอื่นๆ เมื่อคนดังมีความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิง สังคมก็ยังคงตื่นตะลึง และอย่างแย่ที่่สุด ก็มีกระแสเสียงที่ ‘เสียดาย’

เมื่อผู้เสียหายเป็นผู้พิพากษา

เมื่อผู้เสียหายเป็นผู้พิพากษา

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึงคดีบ้านพักตุลาการบนดอยสุเทพ โดยตั้งคำถามถึง ‘ความเป็นกลาง’ ในการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา ซึ่งอาจมี ‘อคติเชิงสถาบัน’ ทว่ากลบเกลื่อนด้วยการอ้างว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย

“ในกรณีนี้ ทางสำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งมีหน้าที่ ‘ต้องคุ้มครองดูแล’ ผู้พิพากษาทั้งหมด ได้แสดงตนเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของผู้พิพากษา และเป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อมีการสืบสวนสอบสวนไปจนถึงขั้นตอนการพิจารณาคดี การตัดสินคดีต่อผู้คัดค้านบ้านป่าแหว่ง ก็ย่อมไปตกอยู่ในมือของผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในจำนวน 4,471 คน”

“แน่นอนว่าในบรรดาผู้พิพากษาที่จะมาทำหน้าที่ตัดสินคดี คงไม่ใช่ผู้ที่ถูกเปิดเผยรายชื่อว่าเข้าไปพักอาศัยในบ้านป่าแหว่งอย่างแน่นอน รวมทั้งอาจไม่เคยมีข้อพิพาทกับบุคคลที่ต้องเป็นจำเลย แต่ด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้ จะสามารถทำให้เชื่อมั่นได้เลยหรือว่า ผู้ตัดสินนั้นจะไม่ได้มีอคติในฐานะที่ดำรงอยู่ในสถาบันเดียวกัน ซึ่งมีแนวโน้มที่อุดมการณ์ ผลประโยชน์ จุดยืนหรือความเห็น จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน”

“ในช่วงมากกว่าทศวรรษที่ผ่านมา มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อการทำงานของฝ่ายตุลาการเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และมักจะมีการตอบคำถามด้วยการอ้างอิงถึงอำนาจตามกฎหมายเป็นหลัก ทว่าการอ้างอิงถึงบทบัญญัติกฎหมายเพียงอย่างเดียว แม้อาจจะปิดปากผู้คนให้เงียบเสียงลงได้ แต่การกระทำเช่นนี้ จะไม่สามารถสร้างความไว้วางใจหรือความเชื่อมั่นในระยะยาวให้เกิดขึ้นได้แต่อย่างใด”

ตนกู อับดุล เราะห์มาน : ชาวสยาม ผู้เป็นปฐมนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

ตนกู อับดุล เราะห์มาน : ชาวสยาม ผู้เป็นปฐมนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

“ก่อนที่ไทรบุรีหรือเคดะห์จะอยู่ในอาณัติอังกฤษเมื่อปี 2452 นั้น ไทรบุรียังเป็นส่วนหนึ่งของสยาม มีเจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดีศรีสุลต่านเป็นผู้ปกครอง โดยในปี 2446 ชายาชาวสยามของท่านสุลต่านได้ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง ซึ่งถือกำเนิดเป็นชาวสยาม แต่เมื่อเติบใหญ่ขึ้นจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก และเป็น ‘บิดาแห่งเอกราช’ ของอีกประเทศหนึ่ง”

“ตนกู อับดุล เราะห์มาน คือชายผู้นั้น ผู้เกิดมาเป็นชาวสยามและมีความผูกพันกับชาวสยาม ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศมาเลเซีย”

“ก่อนที่ตนกู อับดุล เราะห์มาน จะเกิดมานั้น มีเรื่องใหญ่เกิดขึ้นในไทรบุรี กล่าวคือกรมวังผู้รักษาตราลัญจกรประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง แอบอ้างเบื้องสูงใช้ตราออกโฉนดให้ผู้คนโดยมิชอบ โทษถึงประหารชีวิต และลูกเมียจะถูกตัดนิ้วหัวแม่มือขวาทุกคนเป็นการประจาน

“ภรรยาของกรมวังผู้นี้จึงมาร้องขอต่อหม่อมเนื่องให้ช่วยผ่อนหนักเป็นเบา หม่อมเนื่องก็เกิดสงสารผู้จะต้องรับเคราะห์โดยมิได้มาจากความผิดของตนเลย จึงอาศัยความเชื่อท้องถิ่นที่ว่า ระหว่างที่ลูกจะเกิด พ่อแม่ต้องไม่ไปฆ่าแกงใคร มิฉะนั้นวิญญาณร้ายของผู้นั้นจะมาสิงลูกในท้อง จึงทูลสุลต่านผู้สามีว่า เธอกำลังตั้งครรภ์ ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่แน่ใจว่าตั้งครรภ์จริงหรือไม่ กรมวังจึงพ้นโทษตาย ลูกเมียก็พ้นจากโทษตัดนิ้วไปด้วย

“ตนกู อับดุล เราะห์มาน จึงเกิดมาโดยกุศลกรรมที่เกิดจากการให้อภัยทานชีวิต เชื่อกันว่าจะเป็นอภิชาตบุตร”

“ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2498 พรรคพันธมิตรที่นำโดยพรรคอัมโนได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น จึงได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และตนกู อับดุล เราะห์มาน ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้ารัฐมนตรี (Chief Minister)

“ภารกิจสำคัญของเขาคือการเจรจาเรื่องเอกราชของประเทศจากอังกฤษ โดยใช้ความนุ่มนวล จริงใจ อดทน ยืดหยุ่นในการต่อรอง ทำให้อังกฤษไว้ใจเขามาก และนำมาสู่การมอบเอกราชให้ในที่สุด”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงชีวิตของ ตนกู อับดุล เราะห์มาน บิดาแห่งเอกราชของมาเลเซีย ผู้มีมารดาเป็นชาวสยามและผูกพันกับชาวสยามในหลายช่วงชีวิต ทั้งยังมีความสำคัญด้านการเมืองการปกครองของมาเลเซียอย่างมาก

เราเป็นพุทธแบบไหนกัน

โดย สนิทสุดา เอกชัย

สนิทสุดา เอกชัย วิพากษ์ความเป็นพุทธแบบไทยๆ ที่ยึดโยงอยู่กับระบบอุปถัมภ์และวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่อย่างแนบแน่น อันเป็นแก่นที่ก่อให้เกิด ‘ความเหลื่อมล้ำ’ อย่างมีนัยสำคัญ

“พุทธแบบไทยๆ อาจจะดีกว่าพม่าหน่อยในศีลข้อปาณาฯ แต่ศีลข้อสาม กาเมสุมิจฉาจารา นี่เราไม่เป็นรองใคร จนโลกมองเราเป็นศูนย์กลางธุรกิจค้ากาม

ธุรกิจมุมมืดแบบนี้ย่อมไม่มีที่ว่างให้จริยธรรม แต่สังคมนี่สิ ทำไมเรายอมให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องลำบากยากเข็ญ ไม่มีหนทางที่จะเลี้ยงดูครอบครัว จนต้องแลกร่างกายกับเงิน หนำซ้ำโดนดูถูกว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี

การแบ่งแยกผู้หญิงดีผู้หญิงไม่ดี การไม่ตั้งคำถามกับโลกของผู้ชายที่มองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ เหล่านี้หรือเปล่าที่ทำให้เรายังเป็นศูนย์กลางธุรกิจค้ามนุษย์ค้ากามได้โดยไม่รู้สึกรู้สาอะไร

เป็นพุทธไทยๆ แบบนี้หรือเปล่า ที่ทำให้คนที่เข้าคอร์สปฏิบัติธรรมหลายคนยังสนับสนุนเผด็จการทหาร ดูถูกหญิงบริการ ดูถูกคนจน เมินเฉยกับความรุนแรงของรัฐกับมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้ กับกลุ่มชาติพันธุ์ และเห็นด้วยกับการที่พม่าเข่นฆ่าโรฮิงญา

แล้วก็พากันไปจาริกทำบุญขอพรเที่ยววัดในพม่ากัน โดยไม่ได้ตั้งคำถามเลยว่าทำไมคนพุทธพม่าที่ดูแสนจะธรรมะธรรมโม ถึงได้สนับสนุนให้ขจัดโรฮิงญาให้หมดสิ้นจากแผ่นดิน”

นิยายวาย : กระแสนิยม และกระจกสะท้อนสังคมที่ ‘ไร้เดียงสาทางเพศ’

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ พาสำรวจ ‘นิยายวาย’ หรือนิยายชายรักชาย ที่ได้รับความนิยมในหมู่นักอ่าน ผ่านบทสนทนากับ ลี้ – จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท หรือ ‘ร เรือในมหาสมุท’ นักเขียนนิยายวายและเจ้าของรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2560 และ ไจโกะ – วิชญา ปัญญาวรากุล บรรณาธิการของ Fictionlog

…ร้านขายหนังสือบางทีก็ใช้มาตรการการซื้อขายแบบลับๆ ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงสาววาย เช่น ระบบสมาชิกที่คัดกรองคน สมาชิกที่อายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่สามารถซื้อการ์ตูนหรือนิยายวายได้ ในขณะที่บางร้านก็ไม่นำนิยายและการ์ตูนวายมาตั้งวางหน้าร้าน แต่จะเก็บไว้หลังร้านแทน ใครอยากอ่านก็ต้องไปแจ้งชื่อเรื่องกับพนักงานที่เคาเตอร์

ผู้อ่านนิยายวายส่วนมากนั้นเป็นผู้หญิง และเป็นนิยายที่เขียนเพื่อให้ผู้หญิงอ่าน เพราะฉะนั้น ตัวละครเคะ จึงมีลักษณะคล้ายผู้หญิงอยู่มาก “…ฝั่งตะวันออกหรือในไทย นิยายมันก็ถ่ายทอดภาพแทนผู้หญิงที่ต้องไหว้พ่อและผัว สังคมที่ชายเป็นใหญ่ ทำให้เคะของเรามันนุ่มนิ่มเหมือนผู้หญิงมากกว่า”

“ถ้ามองจากคนอื่นอาจจะแปลกแหละ แต่สำหรับสาววายที่อยู่มานาน คงจะรู้สึกว่านิยายวายมันเป็นอะไรก็ได้ในโลกใบนี้ ช้อนส้อม หอยกาบกับปลาหมึก แม้กระทั่งแมว…”

“ผู้หญิงเอเชียมีค่านิยมว่า ถ้าฉันมีความต้องการทางเพศ ฉันผิด เพราะฉะนั้นฉันจึงจำเป็นที่จะต้องถูกบังคับ ฉันไม่มีสิทธิที่จะปรารถนาใคร จึงต้องเป็นเงาที่ไม่มีใบหน้ามาข่มขืน แล้วถ้าฉันปัดป้อง แปลว่าฉันทำได้ถูกต้อง มันสะท้อนว่าแนวคิดเรื่องข่มขืนเกิดมาจากการกดดันของสังคม และในขณะเดียวกันก็ได้สร้างบรรทัดฐานที่ผิดด้วย

เช้าวันอาทิตย์ที่เปลี่ยนไป เมื่อ ‘งานวิ่ง’ ล้นเมือง

โดย วจนา วรรลยางกูร

ภาพถนนอันแสนปลอดโปร่ง ช่วงเช้าวันอาทิตย์ในกรุงเทพฯ อาจไม่ใช่สิ่งที่เจอได้เป็นประจำอีกต่อไป เมื่อมี ‘งานวิ่ง’ จัดบ่อยขึ้นตามจำนวนนักวิ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

จำนวนงานวิ่งในประเทศไทยพุ่งสูงถึงพันกว่างานในช่วงปีที่ผ่านมา และหากวันอาทิตย์ไหนจังหวะและเวลาเป็นใจ เคยมีการจัดงานวิ่งในกรุงเทพฯ พร้อมกันถึง 9 งาน

แม้ว่าผู้จัดงานพยายามเลื่อนเวลาให้เร็วขึ้น เพื่อลดผลกระทบกับผู้ใช้ถนน แต่จำนวนงานวิ่งที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง กับภาพถังน้ำแข็งที่ถูกลืมทิ้งไว้บนถนนในชั่วโมงการจราจรคับคั่ง ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้คนในสังคมตั้งคำถามต่อเรื่องนี้

วจนา วรรลยางกูร พาไปสำรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงการมาราธอน พร้อมภาพถ่ายในมุมมองของ เมธิชัย เตียวนะ เมื่อกีฬานี้กลายเป็นอีเวนต์ยอดฮิต ซึ่งหลายองค์กรหันมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกับสังคม อาทิงาน ‘วิ่งต้านโกง’

ทุนนิยมไทยไปทางไหนดี

โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เขียนถึงสภาวะของทุนนิยมโลก และทุนนิยมไทย ที่นับวัน ‘การแข่งขัน’ ยิ่งน้อยลง สวนทางกับการผูกขาดโดยทุนยักษ์ใหญ่ พร้อมถอดบทเรียนว่าสุดท้ายแล้ว ทุนนิยมไทยควรมุ่งไปทางไหนดี

“หากเอา ‘การแข่งขัน’ มาเป็นเกณฑ์วัดคุณภาพทุนนิยมไทย คุณว่าประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนครับ?

งานวิจัยของพัชรสุทธิ์ และ ฉัตร (2560) สำรวจการแข่งขันในตลาดต่างๆ ของไทย พบว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีเพียงไม่กี่อุตสาหกรรมเท่านั้นที่มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น (เช่น สิ่งทอ เครื่องยนต์ คอมพิวเตอร์)

ในขณะที่อุตสาหกรรมส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็นการขุดเจาะปิโตรเลียม เครื่องดื่ม การขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร สุขภาพ โทรคมนาคม ล้วนมีการแข่งขันน้อยลงหรืออยู่ในระดับต่ำแทบทั้งสิ้น

อันที่จริง แม้ไม่มีงานวิจัยเราต่างรู้ดีว่าตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ชีวิตคนไทยเราวนเวียนอยู่กับสินค้าและบริการกี่ยี่ห้อ และในจำนวนยี่ห้อน้อยนิดเหล่านั้นอยู่ในเครือบริษัทกี่เครือ…”

“อดีตที่ผ่านมาก็เรื่องหนึ่ง คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ แล้วสถานการณ์ปัจจุบันดีขึ้นบ้างไหม โครงการหลักของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีพลังอย่าง ‘ประชารัฐ’ กำลังผลักดันประเทศไทยไปในทิศทางใด

การสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน แต่แนวคิดสำคัญที่ผลักดันโครงการประชารัฐ กลับกลายเป็นแนวคิด ‘พี่ใหญ่ช่วยน้อง’

แนวทาง ‘พี่ช่วยน้อง’ มีนัยที่น่าสนใจแตกต่างจากการพัฒนาในประเทศอื่น เพราะแทนที่รัฐจะเข้ามาชี้นำตลาด หรือเปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้น สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ การที่รัฐสนับสนุนให้กลุ่มทุนใหญ่ก้าวเข้าสู่พื้นที่ชนบท เพื่อเป็น ‘พี่เลี้ยง’ คอย ‘ดูแล’ วิสาหกิจท้องถิ่นในธุรกิจเดียวกับตนโดยตรง

เกษตรรายใหญ่จะเป็นผู้ดูแลชาวไร่ชาวนา เครือโรงแรมขนาดใหญ่จะดูแลโรงแรมท้องถิ่น

การลดการผูกขาด หรือส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียม (level-playing field competition) ที่งานวิชาการหลายชิ้นเห็นว่า เป็นหนทางส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ดีที่สุด กลับไม่เคยปรากฏตัวในนโยบายหรือคำขวัญระดับชาติเลย…”

“ผมแค่อยากให้คำที่เรียบง่ายธรรมดาๆ อย่าง การแข่งขัน, ประสิทธิภาพการผลิต, โอกาสที่เท่าเทียม กลับมาอยู่ในวาระทางเศรษฐกิจของประเทศ

ลดละการแข่งกันหาคำศัพท์ล้ำยุคติดหู กลับมาคุยกันที่แก่นของการพัฒนากันดีกว่าไหม เพราะศัพท์ใหญ่โตในบริบทไทย มีแต่จะเบี่ยงเบนความสนใจออกจากต้นตอของปัญหา

เราควรกลับมาแก้ปัญหาพื้นฐานกันอย่างจริงจังและต่อเนื่องเสียที”

ไอดา อรุณวงศ์ : ความในใจที่ ‘นายประกัน’ ไม่เคยบอก

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

เป็นลมล้มพับอยู่หน้ารูปปั้นพระแม่ธรณี หอบต้นฉบับไปนั่งตรวจที่ศาล นั่งตากยุงอยู่ในค่ายทหารย่านพุทธมณฑล ยืนปะปนอยู่กับกลุ่มประชาชนที่ก่นด่านักศึกษาว่าหนักแผ่นดิน ฯลฯ

ที่ว่ามา คือเสี้ยวหนึ่งของวีรกรรมและความทุกข์เข็ญของ ‘ไอดา อรุณวงศ์’ บรรณาธิการวารสารและสำนักพิมพ์อ่าน ผู้จับพลัดจับผลูมาเป็น ‘นายประกัน’ ตั้งแต่หลังรัฐประหาร ทำหน้าที่เป็นด่านหน้า คอยติดตามและช่วยเหลือเหยื่ออำนาจของ คสช. มาอย่างต่อเนื่อง

“ถ้าเราไม่หยุดเขา เราก็ต้องหยุดตัวเอง” คือเหตุผลที่เธอเอาชีวิตและการงานเข้าแลกกับความยุติธรรม เธอว่านั่นคือ ‘ขั้นต่ำ’ ที่พอจะทำได้ในสถานการณ์นี้

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล สนทนากับไอดายาวๆ ว่าเรื่องราวชีวิตและการงานหลังรัฐประหาร โดยเฉพาะบทบาทของการเป็น ‘นายประกัน’

“อดหลับอดนอน นั่งตากยุง ทนร้อน ข้าวปลาไม่ได้กิน รออย่างเดียว รอไปเรื่อยๆ การรอความยุติธรรมมันไม่มีหมุดหมายจริงๆ นะ ที่พูดนี่ไม่ใช่แค่ในทางนามธรรม แต่หมายถึงในทางรูปธรรมของกระบวนการยุติธรรมด้วย”

“ถ้านับตั้งแต่รัฐประหารใหม่ๆ การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้เริ่มที่สถานีตำรวจ แต่เริ่มที่ค่ายทหาร เมื่อเขาจับใครสักคนไป เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรต่อจากนั้น มันไม่อยู่ในระบบหรือตำราปฏิบัติใดๆ ทั้งสิ้น จะเอาไปกี่วัน จะให้ทนายเข้าพบไหม เอาไปไว้ตรงไหน กระทั่งว่าพอจับไปแล้ว ก็ยังหลอกล่อเรา บอกว่าอยู่ตรงนั้นตรงนี้ เราก็วิ่งตามเหมือนคนบ้า”

“เรายึดหลักว่าจะทำทุกอย่างให้ชัดเจนที่สุด ก็คือเดินเข้าไปแล้วแสดงตัวต่อเขา ยื่นสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งถ้าเป็นคนอื่น เขาจะไม่กล้าให้ แต่เรารู้สึกว่านี่เป็นการแสดงออกที่ชัดเจนที่สุดแล้ว ว่าเรามาแบบแฟร์ๆ เรายื่นให้คุณหมดแล้ว ฉะนั้นถ้ามีปัญหา คุณมาคุยกันตรงๆ อย่ามาวุ่นวายที่บ้าน ไม่ต้องมาขู่ให้กลัว เพราะถ้ากลัวก็คงไม่เดินเข้ามาตั้งแต่แรก”

“เมื่ออยู่ในศาล ถ้าเราเที่ยวไปไม่พอใจคำพูดอัยการบางคน ไปออกอาการใส่เขา เราจะยิ่งทำงานลำบาก อาจเป็นปัญหาเวลายื่นประกันครั้งต่อไป แง่หนึ่งเราจึงต้องพยายามอยู่ในความสงบสำรวมไปเรื่อยๆ ภาวะที่เกิดขึ้นจึงเหมือนคนถูกปิดปากอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ต้องพยายามวิ่งๆๆ ทั้งที่ขาเราเจ็บ แต่เราก็ต้องลากสังขารให้วิ่งต่อ เพราะเราพูดไม่ได้…”

หากทั้งประเทศมีนายกเทศมนตรีแบบคนนี้ สังคมจะรุดหน้าเพียงใด

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึง ‘พนัสนิคม’ เมืองเล็กๆ ที่ได้รับการยกให้เป็น ‘เมืองต้นแบบ’ ด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในระดับอาเซียน ผลพวงจากการลงมือลงแรงอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี ของนายกเทศมนตรีที่ชื่อว่า วิจัย อัมราลิขิต

“วันนี้คนที่ไปเมืองพนัสนิคม ลองเดินไปตามท้องถนน บนฟุตบาทมีทางสำหรับคนตาบอดโดยเฉพาะ ที่ใช้งานได้ ไม่ใช่ทำแบบขอไปทีเหมือนในกรุงเทพมหานคร

เดินไปตามท้องถนนนึกว่าอยู่ในประเทศญี่ปุ่น แทบไม่มีขยะ และไม่มีถังขยะให้คนทิ้ง แต่บ้านเมืองสะอาด

ทุกครัวเรือนมีถังแยกขยะชัดเจน หากบ้านใครไม่ยอมแยกขยะ รถเก็บขยะจะไม่เก็บขยะบ้านนั้น

ทุกครัวเรือนมีบ่อดักไขมันจากการล้างจาน ทำความสะอาด ก่อนน้ำเสียเหล่านี้จะถูกส่งไปยังท่อระบายน้ำเสีย และสู่โรงงานบำบัดน้ำเสีย

รณรงค์ใช้จักรยาน และการเพิ่มทางจักรยาน

ตะแกรงฝาท่อระบายน้ำ ปลอดภัยสำหรับคนขี่จักรยาน

มีสวนสาธารณะปลูกต้นไม้ใหญ่กลางเมือง สร้างเมืองพนัสนิคมให้เป็นเมืองสีเขียว 

ที่ว่ามานี้ ส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือบริหารของนายกเทศมนตรีนามว่า นายวิจัย อัมราลิขิต ชาวเมืองพนัสนิคม อดีตวิศวกรปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา

เมื่อกลับมาบ้าน และได้รับเลือกจากประชาชนมาแล้ว เขาเริ่มทำงานตามความฝันทันที เป็นเวลาร่วมสามสิบปี กว่าหลายสิ่งหลายอย่างจากความฝันจะเป็นความจริง

ท่านเชื่อในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ว่าคือหัวใจของความเจริญในชุมชน

พนักงานงานทุกคนรวมถึงนายกฯ ถูกประเมินผลงานจากประชาชนตลอดเวลาจากงาน

ขณะเดียวกันก็ให้เกียรติผู้ร่วมงานทุกฝ่าย ทุกระดับ เชื่อมั่นในการทำงานเป็นทีม

ไม่แปลกใจที่ประชาชนเลือกเขาให้เป็นนายกเทศมนตรีแปดสมัย เพราะชาวบ้านศรัทธามาก เชื่อมั่นในผลงานว่าทำเพื่อชุมชนจริง

นี่คือคนตัวเล็กๆ ที่ไม่พูดเยอะ แต่ลงมือทำจริงจัง”

แด่อาจารย์อคิน รพีพัฒน์ นักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาที่ยิ่งใหญ่ แต่อ่อนน้อมถ่อมตัวที่สุด

โดย นิพนธ์ พัวพงศกร

รำลึกถึง “ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์” นักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาคนสำคัญของไทย โดย “นิพนธ์ พัวพงศกร” อดีตประธานทีดีอาร์ไอ และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

………..

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 วงการวิชาการไทยได้สูญเสีย หม่อมราชวงศ์อคิน รพีพัฒน์ นักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่อ่อนน้อมถ่อมตัวที่สุดเช่นกัน

แม้ผมจะไม่เคยเรียนหนังสือกับอาจารย์อคิน แต่อาจารย์อคินถือเป็น “ครู” ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในชีวิตการเป็นนักวิจัยของผม นอกจากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์สามท่านที่มหาวิทยาลัยฮาวายแล้ว คนที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อแนวคิดและวิธีการวิจัยของผม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวิจัยเชิงคุณภาพในชนบท คือ อาจารย์อคิน รพีพัฒน์ อาจารย์อัมมาร สยามวาลา และอาจารย์เสน่ห์ จามริก

ผมโชคดีมากที่ตอนเริ่มทำงานวิจัยชิ้นสำคัญเรื่องสินเชื่อชนบทในปี 2526 อาจารย์อัมมาร และอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ได้เรียนเชิญอาจารย์อคิน อาจารย์เสน่ห์ รวมทั้งศาสตราจารย์ Joseph Stiglitz ให้มาเป็นที่ปรึกษาของโครงการวิจัยนั้น

อาจารย์อคินกรุณาสอนนักเศรษฐศาสตร์หนุ่มสาวในทีมวิจัย 7 คน เรื่องวิธีสัมภาษณ์คนชนบทตามแบบฉบับนักมานุษยวิทยา เริ่มตั้งแต่การเข้าแนะนำตัวอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน การอธิบายเหตุผลที่ต้องมาขอความรู้จากคนที่เราสัมภาษณ์ การหาที่นั่งคุยซึ่งต้องไม่อยู่เหนือผู้ให้สัมภาษณ์โดยเด็ดขาด

และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การสนทนาที่ทำให้ผู้ให้สัมภาษณ์มีความสุขในการพูดคุยกับเรา อาทิเช่น การหาประเด็นที่ผู้ให้สัมภาษณ์มีความภาคภูมิใจ เพราะความภูมิใจดังกล่าวจะเป็นโอกาสให้เขาเล่าเรื่องที่นักวิจัยอยากรู้ อยากได้คำตอบ

ในระหว่างการวิจัยเรื่องสินเชื่อนอกระบบ นักวิจัยที่พวกเราส่งไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอปักธงไชยไม่สามารถหาข้อมูลจากนายทุนเงินกู้คนสำคัญในหมู่บ้านได้เลย ทีมของเราซึ่งประกอบด้วย อาจารย์อัมมาร อาจารย์เจิมศักดิ์ อาจารย์ประยงค์ เนตยารักษ์ และผม จึงต้องเข้าไปคุยกับนายทุนคนดังกล่าวเอง ชั่วโมงแรก เราไม่ได้ข้อมูลอะไรเลยเช่นกัน จนกระทั่งเราเหลือบเห็นรูปถ่ายของลูกที่จบมหาวิทยาลัย และหันไปคุยเรื่องความสำเร็จด้านการศึกษาของลูกนายทุนเงินกู้ท่านนั้น หลังจากนั้นเขาก็เล่าทุกอย่างเกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ในหมู่บ้านให้พวกเราอย่างเต็มอกเต็มใจ …

สหายแจ็คหม่า กับเรื่องต้องรู้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่คนอย่างแจ๊คหม่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน!! เขาได้ประโยชน์อะไร? และทำไมพรรคที่เป็นตัวแทนของชนชั้นกรรมาชีพจึงรับนักธุรกิจที่รวยที่สุดในประเทศเข้าพรรค

อาร์ม ตั้งนิรันดร เล่าถึงที่มาที่ไปและความเปลี่ยนแปลงของกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งไม่เพียงแต่มีผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจการเมืองเป็นแรงขับ หากแต่ยังสะท้อนถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไปของจีนใหม่ด้วย

(1) “ในด้านความเชื่อ พรรคคอมมิวนิสต์จีนในปัจจุบันไม่เหลือคราบความเป็นพรรคลัทธินิยมอีกต่อไป แต่กลายมาเป็นพรรคชาตินิยม นั่นก็คือ จุดหมายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปัจจุบันกลายมาเป็นการรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ของชาติจีนและอารยธรรมจีน สิ่งที่หลอมรวมคนจีนเข้าด้วยกันและสร้างความชอบธรรมให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนคือการปลุกกระแสชาตินิยม นี่น่าจะเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของจีนยุคใหม่ และมีนัยสำคัญทั้งในการทำความเข้าใจเศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งนโยบายต่างประเทศของจีน”

(2) “นักธุรกิจหลายคนต้องการเป็นสมาชิกพรรค เพื่อที่จะได้มีเครือข่ายความสัมพันธ์กับรัฐบาล…นอกจากนั้น พรรคเองก็คงส่งเทียบเชิญถึงนักธุรกิจที่มีอิทธิพลหรือที่พรรคต้องการจะมีอิทธิพลต่อธุรกิจของเขา ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่แจ็คหม่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งแสดงว่าเขาเองก็จะมีช่องทางพิเศษที่จะสื่อสารกับพรรคและรัฐบาลในฐานะสมาชิกพรรค

แต่ก็ไม่ใช่นักธุรกิจใหญ่ๆ ทุกคนในจีนจะเป็นสมาชิกพรรคกันหมด อย่าง Pony Ma ซึ่งเป็น CEO ของ Tencent และ Robin Li ซึ่งเป็น CEO ของ Baidu ทั้งสองคนก็อยู่ในลิสต์รายชื่อบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์ให้เศรษฐกิจจีนที่ประกาศโดยหนังสือพิมพ์ People’s Daily เช่นกัน แต่ในส่วนประวัติของทั้งสองคนก็ระบุไว้ชัดว่าไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค”

(3) “หลายคนจึงมักเปรียบเทียบว่า ระบบของจีน เป็นเหมือนระบบรัฐราชการขนาดใหญ่ โดยกลไกเบื้องหลังระบบราชการ ก็คือกลไกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนี่เอง ข้าราชการจีนที่เป็นสมาชิกพรรคจึงอยู่ทั้งภายใต้กฎหมายทางการของรัฐ และกฎระเบียบและกลไกภายในของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย”

(4) “…พรรคคอมมิวนิสต์เป็นแหล่งสร้าง “กวนซี” เพื่อประสานความเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในรัฐจีน ซึ่งในด้านบวก ก็ทำให้การประสานนโยบายและผลักดันยุทธศาสตร์ของจีนทำได้ง่าย ส่วนในด้านลบ ก็คือกลายเป็นเครือข่ายผลประโยชน์ที่สร้างเครือข่ายทุนนิยมพวกพ้องขึ้นมา”

เกรตา ธันเบิร์ก โฉมหน้าของนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมยุคใหม่

โดย เพชร มโนปวิตร

“พวกคุณบอกว่าคุณรักลูกหลานของคุณเหนือสิ่งอื่นใด แต่คุณกลับขโมยอนาคตของพวกเขาไปต่อหน้าต่อตา พวกคุณพูดกันแต่ว่าต้องก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยความคิดแย่ๆ แบบเดิมที่ทำให้เราต้องผจญวิกฤติการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน ทั้งๆ สิ่งที่น่าจะต้องทำที่สุดคือการดึงเบรกฉุกเฉิน

พวกคุณไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะยอมรับความจริง และทิ้งปัญหาไว้ให้กับพวกเรา เด็กๆ ทั้งหลาย”

ข้างต้นนี้คือบางส่วนในสุนทรพจน์ของเกรตา ธันเบิร์ก

ในที่ประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24 นอกจากสุนทรพจน์อันลือลั่น เกรตายังอยู่เบื้องหลังการลุกขึ้นมาประท้วงของเยาวชนในโรงเรียนของหลายประเทศ หรือที่เรียกว่า School Strike for the Climate Movement เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้นักการเมืองหันมาสนใจการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังเสียที เกรตาเชื่อว่าหนทางเดียวที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริงคือการขบถและแสดงอารยะขัดขืน (civil disobedience)

เกรตาเป็นเด็กออทิสติก แต่เธอเข้าใจจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเธอดี “หนูอาจจะเห็นโลกแตกต่างจากคนอื่นอยู่บ้าง หนูมีความสนใจพิเศษเฉพาะ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเด็กออทิสติกที่มักจะมีความสนใจเฉพาะทาง” เธออธิบาย สำหรับเกรตา นั่นคือการทุ่มเทความสนใจทั้งหมดให้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอด 6 ปีที่ผ่านมา

เพชร มโนปวิตร เล่าเรื่องเกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมในวัย 15 ปี ชาวสวีเดน ที่กล่าวสุนทรพจน์เตือนสติบรรดาผู้นำประเทศและนักการเมืองระดับสูงในงานประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24 (COP 24) ที่โปแลนด์ได้อย่างตรงใจคนทั้งโลก

“ก็เธอไปหาเขาเอง” เมื่อเหยื่อถูกข่มขืนซ้ำในกระบวนการยุติธรรม

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

คืนนั้น เธอคิดว่ารถแท็กซี่กำลังเลี้ยวเข้าไปในสโมสรจัดเลี้ยง หญิงสาวได้รับงานจากโมเดลลิ่งเพื่อมา ‘เอนเตอร์เทน’ เธอมาคนเดียว ตั้งใจว่าจะมาเพื่อชงเหล้า นั่งพูดคุยกับแขก สร้างเสียงหัวเราะ เสร็จสิ้นงาน รับเงิน แล้วกลับบ้านตัวเองไปนอนหลับอย่างเป็นสุข

แต่ในความเป็นจริง แผนที่ที่ปักหมุดมาในโทรศัพท์ห่างจากสถานที่จัดเลี้ยงมาพอสมควร รถขับตามทางมาเรื่อยๆ ตามจุดหมายบนแผนที่ จนเจอบ้านหลังใหญ่ ที่มีผู้ชาย 4 คนอยู่ในบ้าน ทั้งหมดดื่มเหล้าและดูบอลอยู่ก่อนแล้ว แม้จะไม่เป็นไปตามคาด แต่หญิงสาวก็ตัดสินใจเดินเข้าไป ยังเชื่อมั่นว่าโมเดลลิ่งจะคัดงานที่ปลอดภัยให้เธอ แล้วเรื่องราวทั้งหมดก็เริ่มขึ้น

ก่อนหน้านี้เธอรับงานพิธีกรตามห้างสรรพสินค้า แต่คืนนี้เป็นครั้งแรกที่เธอได้ทำงานเอนเตอร์เทน เธอไม่ต้องรับมือกับคนที่เดินผ่านไปมาอีกแล้ว มีเพียงชายหนุ่ม 4 คนที่เมามาย

เธอไม่อยากให้ใครมาว่าได้ว่าทำงานไม่ดี เมื่อนั้นวอดก้าจึงถูกเปิดขึ้น และเกมในวงเหล้าก็ดำเนินต่อไปอย่างคึกคัก ฤทธิ์แอลกอฮอล์ก็ทะลุถึงขีดสุดจนทำให้เธออาเจียน ตอนนั้นเองที่เธอถูกพาขึ้นไปบนห้องนอน และถูกขืนใจ”

หลายต่อหลายครั้งที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อจากการข่มขืน และเธอยังถูกข่มขืนซ้ำทั้งจากกระบวนการยุติธรรม และผู้คนรอบข้างที่พร้อมจะตัดสินและกล่าวโทษเหยื่อ

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เข้าไปพูดคุยกับทั้งผู้ถูกกระทำ มูลนิธิช่วยเหลือเหยื่อ และเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อฉายภาพให้เห็น ‘กระบวนการข่มขืนซ้ำ’ ที่ยังมีอยู่มากในประเทศไทย

และอาจโดยไม่รู้ตัว เราอาจเป็นหนึ่งในคนที่กระทำการข่มขืนซ้ำไปแล้วก็ได้

“ในคดีข่มขืน เราต้องตัดตอนมายาคติที่จิกกัดตัวผู้หญิงเอง กับตำรวจและกลไกทั้งหลายทั้งปวง ว่าการถูกข่มขืนไม่จำเป็นจะต้องมีร่องรอยเลือดหรือบาดแผล เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ใต้ร่มผ้าและในจิตใจ ไม่ใช่ว่าไม่มีเลือดออกเพราะไม่ขัดขืน…`”

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม

“มีมายาคติที่ฝังรากลึกในไทย สังคมมีความคาดหวังต่อผู้หญิงสูง มีภาพอุดมคติของผู้หญิงที่ดี เช่น เราจะได้ยินคำว่า กุลสตรี แม่ที่ดี เมียที่ดี พอผู้หญิงไม่สามารถอยู่ในกรอบของความเป็นผู้หญิงดีได้ เช่น ไปถูกล่วงละเมิดทางเพศมา สังคมจะบอกว่า การเป็นผู้หญิงที่ดีหมายถึงคุณต้องบริสุทธิ์ คุณต้องไม่เคยมีชะตากรรมในเรื่องเพศที่น่าสมเพช คุณจึงไม่ควรจะถูกข่มขืน…”

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“สถิติ 80 เปอร์เซ็นต์ที่เหยื่อไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เป็นสถิติของทั้งโลก ไม่ใช่แค่ในไทย จริงๆ แล้วกระบวนการยุติธรรมเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา เราควรจะมีการรณรงค์สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ขยายวงกว้างออกไป สังคมสามารถมีส่วนในการแก้ปัญหาตรงนี้ การเลือกปฏิบัติที่ผู้หญิงต้องพึ่งผู้ชาย ความไม่เท่าเทียมของการศึกษาและรายได้ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม มีอีกหลายส่วนที่ต้องใช้กลไกทางสังคมในการเปลี่ยน mindset ของสังคม”

กิตติภูมิ เนียมหอม หัวหน้ากลุ่มโครงการประสานนโยบายของ TIJ

สุรินทร์ พิศสุวรรณ : จากนักคิดสู่นักการเมือง

โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

“สุรินทร์มีบุคลิกเป็นผู้ใหญ่กว่าพวกเราทั้งหมด เขาแต่งตัวเรียบร้อย เสื้อเชิ้ตสีขาวแขนยาวติดกระดุม กางเกงสีดำ ทุกวันที่มามหาวิทยาลัย พูดเต็มคำชัดถ้อยชัดคำ ไม่มีอารมณ์ในการเถียงกัน ใจเย็นรับฟังและให้ความเห็นของเขาอย่างเป็นระบบ”

ในวาระครบรอบหนึ่งปีแห่งการจากไป ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เขียนถึง ‘สุรินทร์ พิศสุวรรณ’ ในฐานะเพื่อนร่วมรุ่นรัฐศาสตร์ศึกษา รุ่นที่ 2 และความสัมพันธ์ของพวกเขาตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี บนถนนการเมืองไทย

“ช่วงที่เขาเป็นนักการเมือง สภาพการเมืองไทยค่อยคลี่คลายไปสู่แนวทางของการเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เป็นของประชาชนมากขึ้นสมดังเจตนารมณ์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ (และการเมือง) กระทั่งก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวได้ว่าสุรินทร์พยายามทำตามอุดมคติของเพลโต ที่เสนอว่ารัฐและระบบการเมืองที่ดีมีคุณธรรมนั้น ต้องอาศัยผู้ปกครองที่เป็นราชาปราชญ์ถึงจะสร้างขึ้นมาได้”

“ย้อนกลับไปถึงวันที่พวกเรานั่งถกเถียงกันหน้าดำหน้าแดงในห้องเรียนนั้น ไม่มีใครคิดได้ว่าในหมู่พวกเรานั้น จะมีใครทำให้อุดมคตินั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ ในความเป็นจริงสุรินทร์ยังไม่ได้สร้างระบบการเมืองและการปกครองไทยที่เป็นแบบอุดมคติได้ เขาเพียงแค่นำเสนอตัวอย่างหนึ่งของการทำการเมืองให้เป็นเรื่องเป็นราว หรือเป็นหลักการที่สากลยอมรับได้ จากฝีมือของนักการเมืองท้องถิ่นสามัญชนคนหนึ่ง”

อ่านชีวประวัติอานันท์ ปันยารชุน

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ อ่านชีวประวัติอานันท์ ปันยารชุน พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงมิติและตัวละครอันหลากหลายที่คาบเกี่ยวกับ ‘modern Thailand in the making’

“โดมินิก โฟลเดอร์ ตั้งชื่อหนังสือชีวประวัติคุณอานันท์ที่เขาเขียนว่า Anand Panyarachun and the Making of Modern Thailand นอกจากเรื่องราวในชีวิตและการงานของคุณอานันท์แล้ว คนเขียนควรได้รับคำชมที่นำเสนอเหตุการณ์บ้านเมืองและผู้คนมากมายที่มีส่วนสัมพันธ์กับ ‘The making of modern Thailand’ นับจากปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อันเป็นปีที่คุณอานันท์เกิด มาจนถึงปัจจุบัน”

“ชื่อหนังสือส่วนหลังคือ The making of modern Thailand ถูกผสานเข้ามาในชีวประวัติของคุณอานันท์ไม่ใช่เพราะคุณอานันท์เป็นคนสร้างประเทศไทยสมัยใหม่ แต่คนเขียนนำเสนอชีวิตและการงานของคุณอานันท์ที่ได้ผ่านพบกับเหตุการณ์และผู้คนที่เป็นชนชั้นนำของไทยในช่วงเวลากว่า 80 ปีที่ผ่านมา ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศไทยบนเส้นทางสู่สมัยใหม่ ตัวคุณอานันท์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของคนชั้นนำกลุ่มนี้”

“ชื่อหนังสือยังตั้งไว้ให้คนอ่านคิดหรือให้เฉลียวใจว่า ถ้าคงชื่อส่วนหลังไว้แล้วเปลี่ยนตัวเจ้าของประวัติไปเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่คุณอานันท์ เหตุการณ์บ้านเมืองและความหมายของเหตุการณ์เหล่านั้นที่มีต่อผู้เป็นเจ้าของชีวประวัติ และต่อ ‘The making of modern Thailand’ รวมทั้งผู้คนหลากหลายที่จะปรากฏและสัมพันธ์กันอยู่ในชีวประวัติอันคาบเกี่ยวกับ modern Thailand in the making นับจากทศวรรษ 2470 เป็นต้นมา จะพลิกหมุนความเป็นไปได้แบบอื่นๆ บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยออกมาให้เราได้เห็นอีกมาก…ชีวประวัติของคุณอานันท์ให้คำตอบแก่เราได้ส่วนหนึ่งว่าความเป็นไปได้แบบอื่นๆ นั้นถูกยั้งหรือถูกสกัดไว้อย่างไร และเปิดทางอย่างไรให้แก่ผลลัพธ์ที่ได้เกิดขึ้นมา”

ระบอบปูตินเสื่อมอำนาจ?

โดย จิตติภัทร พูนขำ

จิตติภัทร พูนขำ จับสัญญาณการเสื่อมอำนาจของ ‘ระบอบปูติน’ ที่ครองอำนาจมาเกือบสองทศวรรษ ซึ่งปรากฏผ่านผลโพล และการเลือกตั้งระดับภูมิภาคครั้งล่าสุด

พร้อมวิเคราะห์ประเด็นสำคัญที่ว่า ภายใต้สัญญาณแห่งความเสื่อมอำนาจนี้ ระบอบปูตินจะปรับตัวอย่างไร? และสังคมการเมืองรัสเซีย มีแนวโน้มเคลื่อนไปสู่ชาตินิยม ‘ขวาจัด’ มากขึ้นหรือไม่?

“นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่า รัฐบาลปูตินอาจจะเปลี่ยนกฎกติกาใหม่หรือล้มกระดานใหม่ กล่าวคือ ระบอบปูตินอาจหวนกลับไปใช้โมเดลของการแต่งตั้งผู้ว่าการส่วนภูมิภาค ซึ่งเคยเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2004-2012 แทนที่จะให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรี ซึ่งทางเลือกนี้ดูจะเป็นกลไกกระชับอำนาจที่น่าเชื่อถือที่สุดของระบอบอำนาจนิยม

“หรือไม่เช่นนั้น ระบอบปูตินอาจจะใช้กลไกของรัฐ อย่างเช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้เข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้ง โดยประกาศไม่รับรองผลการเลือกตั้งของภูมิภาค และ/หรืออาจให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยอ้างถึงการโกงการเลือกตั้งหรือต่างๆ นานา

“แต่ไม่ว่าจะอาศัยวิธีการใดก็ตาม อำนาจรัฐย่อมไม่สามารถคุมหรือกดปราบความไม่พอใจของผู้คนในสังคมการเมืองได้ตามอำเภอใจ การเลือกตั้งระดับภูมิภาคครั้งนี้ ย่อมเป็นบททดสอบสำคัญของความอยู่รอดและความชอบธรรมของระบอบปูตินในอนาคต”

รัสมี อีสานโซล : ม่วนกุ๊บอย่างงดงาม

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“หมอลำคือรากเหง้า คือวัฒนธรรม แต่หมอลำที่เปลี่ยนไปก็เยอะมาก เพลงอีสานมีความเป็น improvisation อยู่แล้ว จับไปใส่อะไรก็ได้ ง่ายสำหรับการทดลอง แล้วมีจังหวะที่น่าค้นหา มหัศจรรย์มาก”

“ตอนเด็กๆ เราไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย ใครว่าอะไรเราก็น้อยเนื้อต่ำใจ ก็จริงอย่างที่เขาพูดนั่นแหละ อีดำ สวยก็ไม่สวย ยังอยากมาเป็นนักร้อง เป็นก็ไม่ดังหรอก นักร้องเขาต้องสวย ต้องขาวสิ แต่เรื่องแบบนี้ให้โลกมาบอกเราไม่ได้หรอก วันนึงเราก็ต้องบอกตัวเอง รู้ตัวเอง ถ้าก่อนหน้านี้เรามีความมั่นใจ คงไปได้ไกลกว่านี้ แต่พอเราคิดแบบนั้นเลยก้าวช้ามาก กว่าจะค้นพบตัวเอง ใช้เวลามาก จนตอนนี้รู้สึกว่าเราไม่เห็นมีอะไรผิดปรกติเลยนี่หว่า”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย นั่งข้างกองไฟ สัมภาษณ์รัสมี เวระนะ หรือ ‘รัสมี อีสานโซล’ ศิลปินชาวอุบลราชธานี ที่ผสมผสานเอาเนื้อร้องภาษาอีสานและเขมร ใส่เข้าไปในท่วงทำนองโซล บลู แจ๊ส — และใช่ โซลที่หมายถึงจิตวิญญาณด้วย

จิตวิญญาณความเป็นอีสานยังเต็มเปี่ยม แต่งานของเธอข้ามเส้นพรมแดน ควบรวมดนตรีหลากหลายวัฒนธรรมเป็นเนื้อเดียว และขับเน้นความเป็นตัวตนของเธอออกมาได้เด่นชัด การแสดงสดของรัสมีตรึงสายตาผู้คน และดึงให้หูฟังท่วงทำนองที่เธอร่ายรำในชั่วขณะนั้น — ไปไหนไม่ได้

“ถ้าวันหนึ่งหมอลำจะไม่เหมือนเดิม เราก็ต้องทำใจยอมรับให้ได้ โลกเปลี่ยนไป แต่ในฐานะของคนรุ่นใหม่ เราทำอะไรได้บ้าง ตอนนี้เรากลับไปแล้วนะ สวนทาง คนอื่นใส่ดนตรีแบบดิสโก้ ทำดนตรีตื๊ดๆ แต่ไม่ค่ะ ฉันจะหักมุม ฉันจะกลับไปเป็นรากเหง้า

“ตอนนี้เราเริ่มทำโปรเจ็กต์ที่ใช้แค่เสียงพิณ แคน และคนร้องแค่นั้น เอาแบบโบราณ เพิ่งลองเล่นไม่กี่วันก่อน สนุกมาก ฝรั่งมากันเต็มเลย ฟังไม่รู้เรื่อง แต่เขาอยู่จนจบ แล้วมีความสุขมาก เราก็มีความสุขด้วยที่ได้เล่นแบบผสมผสาน ดิสโก้ โซล เราก็มีนะ หรือจะเอาแบบเพียวๆ ก็มี โชว์แคนไป ฝรั่งตะลึง เพราะแคนกับพิณ คนไม่ค่อยได้เห็นจริงๆ ไม่ค่อยมีคนงัดเขาออกมา โดนกลบด้วยเสียงดนตรี กลายเป็นแค่แบ็ค เราอยากให้คนรู้ว่าอีสานเป็นแบบนี้ เขาต้องได้ฟังเน้นๆ”

‘ศักดิ์ดา แก้วบัวดี’ เพื่อนของผู้ลี้ภัย กับมนุษยธรรมในประเทศคนดี

โดย วจนา วรรลยางกูร

หากไม่มีภัยคุกคามจนทำให้อยู่บ้านเกิดเมืองนอนไม่ได้ คงไม่มีใครอยากจากบ้านไปสู่แผ่นดินอื่นที่ไร้อนาคต ไม่มีใครอยากเป็นส่วนเกินของสังคมอื่น แต่ชีวิตก็พัดพามนุษย์ให้ไปเจอทุกข์ซ้ำซากอย่างไม่อาจควบคุม

วจนา วรรลยางกูร ชวน โต้ง-ศักดิ์ดา แก้วบัวดี พูดคุยถึงบทบาทใหม่ของเขาในช่วง 2 ปีมานี้ นอกจากการเป็นนักแสดงอิสระแล้ว อีกสิ่งที่เขาทุ่มเททำโดยไม่มีสิ่งตอบแทนคือ ‘เพื่อนของผู้ลี้ภัย’ ที่นอกจากเสี่ยงทางกฎหมายแล้ว ยังต้องยืนรับก้อนอิฐจากคำวิจารณ์ที่มองผู้ลี้ภัยเป็นสิ่งแปลกปลอมของสังคม

พอมาเจอผู้ลี้ภัยผมรู้สึกเหมือนมองเห็นตัวเองตอนวัยรุ่น ตอนลำบากเราอยากได้คนมาช่วยเหลือมาก แต่ไม่มีใครช่วย เรารู้สึกว่าทำไมมันโหดเหลือเกิน”

“ผมพาผู้ลี้ภัยไปโรงพยาบาล พยาบาลยังถามเลยว่าช่วยคนพวกนี้ทำไม ปล่อยเขาไป ผมบอกไม่ช่วยไม่ได้ เพราะเขาไม่มีเงิน เขาก็ถามต่อว่าผมเป็นใครมาจากองค์กรไหน ทำไมไม่ช่วยคนไทยก่อน”

“ที่ผมช่วยคนเหล่านี้เพราะผมไม่ได้มองเชื้อชาติหรือสัญชาติ แต่ผมมองเห็นเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนเรา เป็นคำตอบที่ง่ายมาก”

“คนไทยชอบทำบุญ แต่การทำบุญของเขาหวังผล อยากได้บุญ อยากถูกหวย…แต่สำหรับตัวผมไม่ถือว่าการช่วยผู้ลี้ภัยเป็นการทำบุญ ผมไม่คิดว่าจะได้บุญกลับมา แค่อยากให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นก็พอใจแล้ว”

รายการ 101 One-on-One

101 One On One EP55 “สู่สังคมไทยเสมอหน้า ถกปัญหาความเหลื่อมล้ำ” กับผาสุก พงษ์ไพจิตร

โดย 101 One-On-One 

101 One-on-One EP 55 จันทร์ที่ 17 ธันวาคม สองทุ่มตรง

:: LIVE :: “สู่สังคมไทยเสมอหน้า ถกปัญหาความเหลื่อมล้ำ” กับ ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำรวจองค์ความรู้ใหม่และสถานการณ์ล่าสุดของความเหลื่อมล้ำในไทยและโลก

ร่วมหาคำตอบจากสาเหตุถึงทางออกว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในโลกยุคใหม่ต่างจากในอดีตอย่างไร เรามีทางเลือกในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอะไรบ้าง และถึงที่สุดแล้ว ความเหลื่อมล้ำสะท้อนเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทยอย่างไร

ธร ปีติดล ดำเนินรายการ

101 One On One EP54 “การเมืองไทยในสายตาประชาธิปัตย์ใหม่” กับ พริษฐ์ วัชรสินธุ

โดย 101 One-On-One 

101 One on One EP.54

:: LIVE :: “การเมืองไทยในสายตาประชาธิปัตย์ใหม่” กับ พริษฐ์ วัชรสินธุ

เปิดตัวตน ความคิด และวิถีชีวิตทางการเมืองของ ‘นักการเมืองรุ่นใหม่’ ที่ถูกจับตามากที่สุดคนหนึ่ง

อะไรคือโจทย์ใหญ่ทางการเมืองที่ประชาธิปัตย์ใหม่มองเห็นในปัจจุบัน พรรคประชาธิปัตย์ต้องปรับตัวอย่างไร และเขาและเพื่อน New Dem จะเสนอคำตอบอะไรให้กับสังคม

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ดำเนินรายการ

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า…

[box] SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า… คือ สารคดีข่าวสั้นโดย 101 ที่ชวนเปิดมุมมองอีกด้านที่สังคมไทยมักได้ยินเฉพาะ SIDE A

[/box]

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า… “ยูเนสโกยกให้ดนตรีเร็กเก้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม”

โดย ธิติ มีแต้ม, เมธิชัย เตียวนะ

29 พฤศจิกายน 2018 ยูเนสโกประกาศให้ดนตรีเร็กเก้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม

ตอนหนึ่งในแถลงการณ์ของยูเนสโกระบุว่า ดนตรีเร็กเก้มีรากเหง้ามาจากประเทศจาเมกา เป็นดนตรีเพื่อการขับเคลื่อนทางสังคม ทั้งด้านความอยุติธรรม ความรัก สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ

เมื่อโลกเริ่มรู้จักดนตรีเร็กเก้ที่เริ่มขยายไปทั่วแอฟริกา-แคริบเบียน ในช่วงทศวรรษที่ 1960 และค่อยๆ แพร่ลามไปยังยุโรปและอเมริกา

ในคำแถลงของยูเนสโกยังยกย่องให้ ‘บ็อบ มาร์เลย์’ ศิลปินเพลงเร็กเก้ชาวจาเมกา เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ดนตรีเร็กเก้ให้เป็นที่นิยมไปทั่วโลกด้วย

‘ช็อปเปอร์’ พีรพล ภิญญศิริ สมาชิกวง Fyah Burning เป็นหนึ่งในผู้ได้รับอิทธิพลจากดนตรีเร็กเก้และบ็อบ มาร์เลย์ มาเต็มเปี่ยม

ท่ามกลางสายตาคนที่นิยมความเป็นไทย อะไรคือหัวใจของเพลงเร็กเก้ที่เขารู้สึก และเขาได้อะไรจากมัน เมื่อถึงเวลาขับขานเพลงให้ผู้ชมฟัง…

อย่างสั้นที่สุด เขามองว่ามนุษย์ต้องการสันติภาพในการมีชีวิตอยู่ และเพลงเร็กเก้ก็ต่อสู้เพื่อสิทธิอันชอบธรรมในการเข้าถึงสิ่งนี้

หรือพูดอีกแบบได้ไหมว่าเพลงเร็กเก้อาจเป็นพาหนะในการพาคนไปสู่อุดมคติแบบที่เราๆ ท่านๆ ต้องการ

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า… “ดูแลพลทหารให้เหมือนน้องชายคนเล็ก”

โดย ธิติ มีแต้ม, เมธิชัย เตียวนะ

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 41 ดำรงตำแหน่งมาครบ 2 เดือนพอดี

เขาเคยประกาศว่ามีกองทัพนโยบายให้ความสำคัญกับพลทหาร เพราะถือเป็น “น้องเล็กหรือน้องคนสุดท้องของหน่วยทหาร” กำลังพลต้องอยู่ดี กินดี และการลงโทษพลทหารที่รุนแรงเกินกว่าเหตุถือเป็นความผิดร้ายแรงต้องลงโทษอย่างจริงจัง

นับเป็นความขึงขัง หนักแน่น ที่ทำให้สังคมไทยเกิดความหวังว่า จากนี้ไปจะไม่มีทหารถูกซ่อมและเสียชีวิตระหว่างการฝึกแล้วหรือไม่ ?

แน่นอน, ยังไม่มีใครกล้าการันตี

เสียงของ ‘เมย์’ นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ ที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับน้าชายหรือพลทหารวิเชียร เผือกสม ซึ่งเสียชีวิตเพราะถูกทำโทษระหว่างการฝึกทหารใหม่ในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ตั้งแต่ปี 2554 จึงยังกู่ก้องต่อเนื่องมาตลอด 7 ปีกว่า เพราะกระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกครอบครัวเธอฟ้องร้องได้

101 ตั้งคำถามสั้นๆ กับนริศราวัลถ์ว่า สังคมไทยจะยุติการละเมิดสิทธิ์และวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดได้อย่างไร

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า… คือ สารคดีข่าวสั้นโดย 101 ที่ชวนเปิดมุมมองอีกด้านที่สังคมไทยมักได้ยินเฉพาะ SIDE A

ตอนแรกขอเสนอเรื่อง “…ดูแลพลทหารให้เหมือนน้องชายคนเล็ก”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save