fbpx
ไอดา อรุณวงศ์ : ความในใจที่ ‘นายประกัน’ ไม่เคยบอก

ไอดา อรุณวงศ์ : ความในใจที่ ‘นายประกัน’ ไม่เคยบอก

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

เป็นลมล้มพับอยู่หน้ารูปปั้นพระแม่ธรณี หอบต้นฉบับไปนั่งตรวจที่ศาล นั่งตากยุงอยู่ในค่ายทหารย่านพุทธมณฑล ยืนปะปนอยู่กับกลุ่มประชาชนที่ก่นด่านักศึกษาว่าหนักแผ่นดิน ฯลฯ

ที่ว่ามา คือเสี้ยวหนึ่งของวีรกรรมและความทุกข์เข็ญของ ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการวารสารและสำนักพิมพ์อ่าน ผู้จับพลัดจับผลูมาสู่การเป็น ‘นายประกัน’ ตั้งแต่หลังรัฐประหาร ทำหน้าที่เป็นด่านหน้า คอยติดตามและช่วยเหลือเหยื่ออำนาจของ คสช. มาอย่างต่อเนื่อง

“ถ้าเราไม่หยุดเขา เราก็ต้องหยุดตัวเอง” คือเหตุผลที่เธอเอาชีวิตและการงานเข้าแลกกับความยุติธรรม

เธอว่านั่นคือ ‘ขั้นต่ำ’ ที่พอจะทำได้ในสถานการณ์นี้ ทว่าก็เป็นขั้นต่ำที่มีต้นทุนสูงไม่น้อย

“อดหลับอดนอนนี่เรื่องหนึ่ง นั่งตากยุง ตบยุง ทนร้อน ข้าวปลาไม่ได้กิน รออย่างเดียว รอไปเรื่อยๆ การรอความยุติธรรมมันไม่มีหมุดหมายจริงๆ นะ ที่พูดนี่ไม่ใช่แค่ในทางนามธรรม แต่หมายถึงในทางรูปธรรมของกระบวนการยุติธรรมด้วย”

แม้บุคลิกภายนอกจะดูอ่อนหวาน แต่หากวัดกันที่หัวจิตหัวใจ เธอน่าจะเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญกว่าชายชาติทหารบางคน

จากตอนแรกที่ปักหลักอยู่บนถนนหนังสือ อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอก้าวมาสู่บทบาทนี้ เธอมีมูลเหตุหรือแรงจูงใจอะไรอยู่เบื้องหลัง และท้ายที่สุดแล้ว ผลที่ได้รับกลับมา คุ้มค่ากับสิ่งที่เธอยอมแลกหรือสูญเสียไปหรือไม่

101 นั่งสนทนากับไอดายาวๆ ว่าเรื่องราวชีวิตและการงานหลังรัฐประหาร โดยเฉพาะบทบาทของการเป็น ‘นายประกัน’

ไอดา อรุณวงศ์

ปีนี้ครบ 10 ปีจากที่คุณเริ่มทำวารสาร ‘อ่าน’ พบการเปลี่ยนผ่าน-เปลี่ยนแปลง อย่างไรบ้าง

ถ้านับจุดตั้งต้นที่เป็นวารสาร ปีนี้ก็สิบปีพอดี เป็นสิบปีที่สังคมไทยเปลี่ยนเยอะ เป็นสิบปีที่วุ่นวาย เราเริ่มทำเมื่อราวปี 2551 หลังจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาสักปีสองปี คราวนั้นเป็นรัฐประหารที่สังคมไทยสงบมาก คนคัดค้านไม่เยอะ เราเองออกไปค้าน แต่สุดท้ายก็อยู่ในภาวะพูดอะไรลำบาก ไม่ใช่เพราะเขาห้าม แต่เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมดูจะแฮปปี้กับมัน

วารสาร ‘อ่าน’ ตั้งต้นจากการที่เราอยากทำงานวิจารณ์ โดยเริ่มจากงานวิจารณ์วรรณกรรมก่อน ค่อยๆ ดูว่าในภาวะที่ทุกคนดูเหมือนแฮปปี้ เรายังจะเปิดประเด็นการวิจารณ์อะไรได้บ้าง แล้วชวนเขาวิจารณ์ได้แค่ไหน

แรกๆ ก็ค่อนข้างโอเคในแง่ผลตอบรับ อาจเพราะยังไม่เคยมีวารสารด้านวิจารณ์วรรณกรรมโดยตรง มันเลยไม่ทับทางกัน ไม่ไปทับแมกกาซีนวรรณกรรม ไม่ได้ไปทับสื่อที่เล่นเรื่องข่าวสารในแวดวง ไม่ได้อยู่บนฐานของความเคลื่อนไหว แต่ก็มีความชัดเจนอยู่ในวงคนอ่านแคบๆ กลุ่มหนึ่ง

จนกระทั่งปี 2552-53 ที่เริ่มมีความขัดแย้งชัดๆ เรื่องเหลืองแดง และตัววารสารเองก็ดูเหมือนเข้าร่วมในแง่การวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้น ก็เลยดูจะเป็นปากเสียงให้ฝ่ายหนึ่งไปโดยปริยาย คือฝ่ายเสื้อแดงที่เราเห็นว่าถูกกระทำ โทนของวารสารเลยขยับมาทางการเมืองเรื่อยๆ จนมาถึงเรื่อง ม. 112 เราก็ร่วมในกระแสนั้นด้วย เพราะเมื่อพูดถึงการวิจารณ์ ถึงที่สุดมันต้องวิจารณ์ให้ได้ทุกเรื่อง

วารสารจากเดิมที่ตั้งต้นดูค่อนข้างเรียบร้อย พออิงการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีการแสดงจุดยืนชัด จนถึงขั้นที่ร้านหนังสือบางร้าน สายส่งบางเจ้า ปฏิเสธไม่วางของเรา เมื่อเราถูกปฏิเสธ มันก็สะท้อนอย่างหนึ่งว่า ภาพของเราต่อสังคมมันมาไกลจากจุดเริ่มต้นพอสมควรแล้ว

จุดที่ทำให้ตัดสินใจเลิกทำวารสาร ‘อ่าน’ คือจุดไหน

จริงๆ ยังไม่ถึงกับเลิกนะ แต่ก็ยอมรับว่ามันทิ้งช่วงมาพอสมควร เหมือนเป็นการพักเบรกที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ทันได้ตัดสินใจ เป็นไปโดยปริยายอย่างมึนๆ ด้วยหลายปัจจัย

ถ้านับจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เราว่านั่นเป็นจุดที่ทำให้ทั้งสังคมไทยตกอยู่ในภาวะ ‘มึน’ จากที่เคยคิดว่าเราเดินมาได้ไกลพอสมควร ตอนนี้เราหาจุดตั้งต้นลำบาก เราคิดว่าเรายืนอยู่ที่เดิม แต่ทุกสิ่งเลื่อนถอยหลังไป เราก็เลยงงๆ จนถึงตอนนี้ก็ยังอยู่ในภาวะมึนงงอยู่

เราทำวารสารและสำนักพิมพ์ที่ไม่ได้อยู่บนฐานของสปอนเซอร์ แต่อยู่บนฐานของกระแสสังคม อยู่บนฐานของการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในเมื่อสังคมไม่ค่อยมีการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่สามารถมีกิจกรรมทางการเมือง ไม่มีการอภิปรายทางการเมือง มันไม่เกิดบรรยากาศที่ทำให้คนรู้สึกอยากอ่าน หรืออยากเสพหนังสือที่เน้นไปในทางวิพากษ์วิจารณ์แบบนี้

แล้วในฐานะบรรณาธิการ สิ่งที่เคยรู้สึกว่าเราตัดสินใจได้ ประเมินได้ เรากลับทำไม่ได้แล้ว เพราะเส้นมันเริ่มขยับ เริ่มเบลอขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ถ้าถามว่าจะเขียนหรือพูดสิ่งไหนได้บ้าง เราไม่แน่ใจแล้ว ไม่สามารถการันตีให้กับนักเขียนที่เขียนให้เราเหมือนเมื่อก่อนได้อีกแล้ว

สืบเนื่องถึงข้อต่อมาคือ เราจะรู้สึกว่า การที่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมาก ในวันเวลาแบบนี้ อาจยิ่งทำให้เขาสุ่มเสี่ยงไปด้วย ก็เลยเริ่มคิดใหม่ว่า การทำอะไรที่มีลักษณะเป็นกลุ่ม ที่จะต้องมารับผิดชอบร่วมกันเยอะๆ อย่างการทำงานเป็นกองบรรณาธิการ ด้านหนึ่งมันอาจไม่แฟร์ต่อคนที่เข้ามาร่วมด้วยกันเท่าไร

อีกปัจจัยคือเรื่องเวลา ตั้งแต่หลังรัฐประหารมา ก็แทบไม่มีเวลาทำหนังสือเลย เพราะต้องวิ่งไปค่ายทหาร ไปศาล ไปโรงพัก วุ่นวายมาก ไม่มีเวลาพอจะทำทุกอย่างได้ ก็เลยต้องวางวารสารมาทำหนังสือเล่มก่อน และเข็นแต่ละเล่มตามความเร่งรัดของผู้เขียนแต่ละคนออกมาให้ได้ก่อน

ที่บอกว่าเส้นเริ่มขยับ มันขยับยังไง ต่างจากช่วงก่อนหน้ารัฐประหารยังไง

เอาง่ายๆ คือ ตอนนี้เราไม่สามารถพูดทุกอย่างได้เหมือนที่เราเคยพูดได้ก่อนรัฐประหาร แล้วสมมติว่าถ้าลองพยายามทำต่อ เราว่าเราก็ยังพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ได้นะ แต่เราจะต้องเลือกพูดแค่บางแง่มุม บางรัชกาล แต่จะไม่สามารถพูดถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ ซึ่งอีกใจหนึ่ง เราก็ไม่อยากหลอกตัวเอง ไม่อยากหลอกผู้อ่าน ขณะเดียวกันก็เกิดความสับสนว่า ระหว่างการพูดไม่ได้ทั้งหมด กับการทำเป็นพูดอยู่บ้าง เพื่อให้เหมือนว่าเรายังได้พูดอยู่ มันต่างกันไหม

อีกประเด็นที่รู้สึกค่อนข้างมากคือ แพลตฟอร์มมันเปลี่ยน ต่อให้เรานำเสนอเนื้อหาในวารสารต่อไป สมมติมีประเด็นที่ท้าทายมาก เราก็ไม่แน่ใจว่ามันจะส่งผลสะเทือนแค่ไหน เพราะตอนนี้ทุกอย่างมันเทไปอยู่ในโลกออนไลน์จริงๆ ซึ่งฝ่ายรัฐก็มอนิเตอร์อยู่แค่นั้นจริงๆ เขาคงเห็นแล้วว่าสิ่งที่อยู่ในกระดาษมันไม่มีความหมาย ไม่สามารถก่อกระแสได้ ฉะนั้น พ.ร.บ.คอมฯ ถึงศักดิ์สิทธิ์มากตอนนี้ ส่วน พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ น่าจะตกยุคไปแล้ว ต้องยอมรับว่าเวทีไม่ได้อยู่ที่เดิมแล้ว

มีความคิดว่าเราต้องปรับตามไหม

ก็ระดับหนึ่ง แต่อย่างที่บอกไปว่าเรายังอยู่ในภาวะมึนๆ ยังไม่พร้อมที่จะกระโจนเข้าไปในสนามนั้น เอาง่ายๆ ว่า ตอนที่เริ่มทำวารสารอ่าน ก็ยังมีคนท้วงว่ายาวไปไหม คนอื่นเขาทำสั้นๆ แต่เราทำซะยาว แล้วพอทุกคนไปอยู่บนออนไลน์ เราจะยังยืนยันว่าต้องยาวได้ไหม

จริงๆ มันไม่ใช่เรื่องปริมาณบรรทัด แต่เป็นความรู้สึกว่า เวลาเรารับสารมา แล้วคนได้คิดกับมันแค่ไหน เราต้องการภาวะที่คนนิ่งพอ มีเวลาที่จะอ่านแล้วคิดกับมัน

แต่เรารู้สึกว่าโลกออนไลน์ทุกวันนี้ พูดให้ชัดคือกรณีสังคมไทย ทุกอย่างมันเคลื่อนไหวเร็วมาก ต่อมรับรู้ของคนมันไวมาก เสพทุกอย่างเร็วมาก แต่ก็ด้านชามากขึ้นด้วย คุณสามารถนั่งอ่านทุกอย่างในเฟซบุ๊กแล้วเกิดความรู้สึกว่า คุณได้ทำทุกอย่างแล้วที่ควรจะทำกับประเทศนี้ นี่คือโลกที่สำเร็จเมื่อคุณกดไลค์

แต่ถามว่าเราจะมานั่งประณามมันไหม ก็คงไม่ เดี๋ยวจะกลายเป็นคุณป้าขี้บ่นไป กำลังคิดอยู่ว่าอยากขยับหาที่อยู่ให้มันใหม่ แต่ตอนนี้ก็ยังคิดไม่ชัด

 

ไอดา อรุณวงศ์

แล้วจากตอนแรกที่ทำวารสาร ทำสำนักพิมพ์เป็นงานหลัก คุณขยับมาสู่การเป็น ‘นายประกัน’ ได้ยังไง

คือช่วงหลังรัฐประหาร เราก็เริ่มคิดว่าจะดำเนินชีวิตต่อไปเหมือนก่อนหน้ารัฐประหารได้ไหม อย่างแรกคือ ถ้าจะบอกว่าตัวเองเป็นวารสารเกี่ยวกับการวิจารณ์ แต่คุณดันอยู่ในประเทศที่เป็นเผด็จการไปแล้ว พูดไปมันก็กระดากปาก ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็คือ ถ้าเราไม่หยุดเขา เราก็ต้องหยุดตัวเอง เพราะสองสิ่งนี้มันขัดแย้งกัน มันต้องมีใครผิดสักคนหนึ่ง

ความรู้สึกที่ว่านี้ ทำให้ไม่สามารถทำหนังสือต่อไปโดยไม่รู้ไม่ชี้ได้ เราจึงเข้าร่วมในการแสดงออกคัดค้านต่างๆ ด้วย จริงๆ ตั้งแต่รัฐประหารวันแรก เราก็ไปคัดค้านแล้ว ไปเหมือนคนธรรมดาทั่วไปนี่แหละ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่สำเร็จ เพราะยังมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยเห็นด้วยกับระบอบนี้ ซึ่งพอเป็นแบบนี้ เราก็พูดไม่ออก

แต่สิ่งที่ทำได้ต่อมาก็คือ เมื่อมีคนแสดงออกว่าเขาไม่ยอมรับ และเขาถูกดำเนินคดี เราเห็นว่ามันมีช่องโหว่อยู่จุดหนึ่งคือ ในขั้นแรกสุดก่อนเข้าสู่การพิจารณาคดี มันต้องประกันตัว เพื่อไม่ให้เขาถูกขังอยู่ในเรือนจำ ตรงนี้ยังไม่มีองค์กรอะไรรองรับ มีแต่กลุ่มวิชาชีพทนายที่รองรับแต่ในเรื่องคดี

พอมันมีช่องว่างตรงนี้ ตอนแรกๆ เขาก็ขอให้เราไปช่วยประกันหน่อยได้ไหม เราก็ไป ไปแบบไม่คิดอะไร แต่พอมีเหตุเกิดขึ้นบ่อยเข้า เราก็กลายเป็นนายประกันเจ้าประจำไปโดยปริยาย

เมื่อต้องเอาตัวเองเข้าไปอุดช่องว่างตรงนี้ มีอะไรที่ต้องกลัวหรือกังวลไหม

เรารู้สึกว่ามันเป็นขั้นต่ำที่ควรทำ ในเมื่อเราทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ นี่คือขั้นต่ำที่สุดที่เราจะพยายามทำต่อไป เพียงแต่มันเป็นขั้นต่ำที่ต้นทุนสูงไม่น่าเชื่อเหมือนกัน

มันทำให้เราแทบไม่เหลือเวลาทำงาน ช่วงปี 58-59 นี่นรกมาก ในหนึ่งอาทิตย์เราใช้ชีวิตอยู่ที่ศาล ไม่ก็โรงพัก วนอยู่อย่างนั้น เพราะเวลามีคนถูกจับแต่ละที กระบวนการมันยาว ต้องไปตาม ไปเฝ้า อดหลับอดนอน คอยเช็คว่าเดี๋ยวทหารจะเอาไปไว้ที่ค่ายไหน เราก็ต้องไปนั่งเฝ้าหน้าค่าย ถ้าไปโรงพักก็ต้องไปเฝ้าที่โรงพัก

พอได้ประกันตัวแล้ว ก็ต้องมีกระบวนการไปรายงานตัว ทุกกี่วันก็ว่าไป เราก็ต้องตามไปที่ศาล แล้วเราไม่ได้ประกันแค่คนเดียวไง มันเยอะมาก เสร็จคนนี้ต้องไปคนนั้นต่อ พอมะรืนก็มีอีกคน ช่วงนั้นแทบไม่ได้ทำงานของตัวเองเลย

เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนไหมว่าต้องเจออะไรแบบนี้

ไม่ได้ตั้งตัว ไม่มีอะไรรองรับเลย ถึงเวลาก็ไปเลย สภาพมันเลยทุลักทุเล คือตื่นแต่เช้ามืดมานั่งทำงานก่อน เสร็จแล้วเข้าออฟฟิศไปเก็บขี้แมว ซึ่งออฟฟิศก็มีเราอยู่คนเดียวนี่แหละ ทำทุกอย่างคนเดียว เสร็จแล้วก็ไปศาล วนอยู่แบบนี้ แต่ขณะเดียวกัน เมื่อเราไม่ได้ผลิตหนังสือ ไม่มีเวลาขายหนังสือ เราก็ไม่มีรายได้ แต่ศาลก็ยังต้องไป ทั้งหมดนี้อยู่บนค่าใช้จ่ายที่เรารับผิดชอบตัวเราเอง เหนื่อยมาก หนักมาก ตลอดช่วงสองสามปีแรก

พอมีคนถูกจับ เราต้องคิดแล้วว่าเงินประกันจะหายังไง ถ้าหาไม่ได้จะไปหยิบยืมใคร ความกดดันมันเยอะตั้งแต่ขั้นแรกที่มีคนถูกจับ กลายเป็นว่าทุกคนจะมองมาที่เรา เสมือนว่าเราเป็นองค์กรอะไรสักอย่างที่ต้องคอยหาเงินให้ และต้องไปยื่นประกันให้ด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้มีใครเลย มีแค่เรา แต่เราก็ต้องรับผิดชอบไป เพราะเราก็ไม่อยากให้ใครต้องมาติดคุกด้วยเรื่องแบบนี้

มันเครียดเหมือนกันนะ จะหาเงินได้ไหม เขาจะเรียกเท่าไหร่ ไปยื่นแล้วเขาจะให้ประกันหรือเปล่า แค่นี้วันๆ ก็หมดพลัง หมดแรงไปเยอะ พอถึงเวลากลับมาดูงานต้นฉบับที่ทำไว้ ก็รู้สึกว่ามันห่างไกลกันมากเลย เนื้อหาที่ทำอยู่เหมือนอยู่คนละโลกกันเลย

แต่ต้นฉบับก็ยังทำอยู่ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าทิ้งไปเลย

ต้องทำอยู่ เพราะเป็นส่วนที่เราต้องรับผิดชอบ มีช่วงหนึ่งตอนทำต้นฉบับของมาร์เกอริต ดูราส ตอนนั้นเราซื้อสัญญาลิขสิทธิ์มาแล้ว แล้วกำลังจะขอทุนจากสถานทูตฝรั่งเศส มีเดดไลน์กำหนดมาทุกอย่าง แต่ระหว่างนั้นเราก็ต้องไปศาลไปโรงพักตลอดเวลา

แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงยื่นเอกสารขอทุนพอดี ซึ่งเราก็เบลอมาก เพราะนอนน้อย จำได้ว่าแก้ประมาณสิบรอบได้มั้ง เดี๋ยวขาดไอ้นั่น เดี๋ยวลืมเซ็นตรงนั้นตรงนี้ ยิ่งผิดเรายิ่งประสาทเสีย แล้วทุกเช้าก็ต้องรีบทำให้เสร็จก่อนไปศาล

มีเรื่องนึงที่ตลกคือ ตอนนั้นเราเร่งมาก จนทำผิดไปหมด จนจะร้องไห้อยู่แล้ว แล้วก็รีบไปศาลทหาร ซึ่งวันนั้นดันมีตัวแทนจากสถานทูตประเทศต่างๆ ในยุโรป มานั่งสังเกตการณ์คดีอยู่ด้วย ขณะที่เราก็เอาต้นฉบับนี้ไปนั่งตรวจในศาลทหารด้วย แล้วเราก็นึกในใจขึ้นมาว่า มันสามารถยุบรวมเลยได้มั้ยนะ คือส่งเอกสารกับตัวแทนสถานทูตที่มาสังเกตการณ์คดีเลยได้ไหม เพราะตอนนี้เหนื่อยมากแล้ว (หัวเราะ)

แล้วอย่างที่บอก ตัวเนื้อหาที่เราทำอยู่ กับโลกที่อยู่ตรงหน้าเรา มันคนละเรื่องกันเลย เบื้องหน้าเรามีอัยการและตุลาการในเครื่องแบบทหาร ขณะที่เราก็นั่งตรวจต้นฉบับที่เล่นกับความเป็นศิลปะแบบล้ำหน้าอาวองต์การ์ดมาก เป็นภาวะที่ไม่เข้ากันอย่างรุนแรง

พอต้องคลุกคลีกับเรื่องแบบนี้บ่อยเข้า มันบั่นทอนตัวเองบ้างไหม

ก็เยอะอยู่นะ จากสิ่งที่เราเห็น จากกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น

เปรียบง่ายๆ คือว่า ถ้าดูจากต้นฉบับที่เราทำ เราพูดถึงวรรณกรรมหรือวิชาการสมัยใหม่ไปถึงไหนๆ แต่เวลาเราไปศาล มันกลับให้ความรู้สึกเหมือนยังอยู่ในสมรภูมิในโลกนิยายอย่าง ‘ปีศาจ’ หรือไม่ก็วรรณกรรมเพื่อชีวิตช่วงสิบสี่ตุลา ความย้อนแย้งคือ งานเหล่านั้นดันกลายเป็นงานที่ ‘สมจริง’ อย่างยิ่งกับสิ่งที่เราเจออยู่

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องหลักการนะ ว่าเขามีสิทธิ์อะไรมาทำแบบนี้กับประชาชน แต่เอาแค่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่คำพูด สีหน้า กิริยา แววตา ท่าทาง การปฏิบัติต่อกันระหว่างฝ่ายทหาร รัฐ กับประชาชน มันก็เข้าขนบวรรณกรรมเพื่อชีวิตมากเลย เราก็ทำได้แค่เห็นไป รู้สึกไป บันทึกไป

 

แล้วตัวคุณเอง ถูกเพ่งเล็งบ้างไหม

ก็มีบ้าง แต่ก็รู้สึกว่ายังธรรมดา ถ้าเทียบกับที่คนอื่นเขาโดนคดี

ตอนแรกๆ ที่เราเป็นนายประกัน คนจะกังวล จนทุกวันนี้ก็ยังกังวลกันอยู่ แต่เราถือหลักของเราตั้งแต่การเป็นนายประกันคดีแรกๆ ว่า เราจะทำให้ชัดเจนที่สุด ก็คือเดินเข้าไปแล้วแสดงตัวต่อเขา ยื่นสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งถ้าเป็นคนอื่น เขาจะไม่กล้าให้ แต่เรารู้สึกว่านี่เป็นการแสดงออกที่ชัดเจนที่สุดแล้ว ว่าเรามาแบบแฟร์ๆ เรายื่นให้คุณหมดแล้ว ฉะนั้นถ้ามีปัญหา คุณมาคุยกันตรงๆ อย่าเที่ยวมารุ่มร่ามหรือวุ่นวายที่บ้าน

ช่วงแรกๆ ก็มีนะ มาส่อง มาตาม มาที่บ้าน ซึ่งเราก็ไปคุยตรงๆ เวลาไปศาลก็ยื่นทุกสิ่ง ไม่มีอะไรจะปกปิดแล้ว เราเลยรู้สึกว่า ถ้ามีปัญหาอะไรไปนัดเจอกันที่ศาลทหารก็ได้  ไม่จำเป็นต้องมาทำให้กลัว เพราะถ้าเรากลัว เราก็คงไม่เดินเข้าไปแต่แรก

แต่เราก็รู้อยู่นะ เรื่องการถูกมอนิเตอร์ต่างๆ ไม่รู้ว่าเขารู้หรือเปล่า แต่อยากจะบอกให้เขารู้ ว่าเรารู้ ซึ่งบางทีเราก็รำคาญมากเลย ช่วงที่โดนตามหนักๆ คือช่วงคดีอุทยานราชภักดิ์ ที่จ่านิว (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์) โดนอุ้มโดนล่า เราในฐานะทั้งนายประกันและคนรู้จัก ก็เข้าไปดูแล ซึ่งเรารู้สึกว่าไม่ได้ทำอะไรเสียหาย

การที่เขาตามเรา ส่วนหนึ่งคงเพราะเขาสงสัยว่าเราเป็นใคร ทำไมถึงมาประกันให้ทุกคน มีท่อน้ำเลี้ยงอะไรรึเปล่าถึงได้มาทำขนาดนี้ ซึ่งเราก็อยากจะพูดเหมือนกันว่า ไม่ได้อยากทำขนาดนี้หรอก แต่มันไม่มีใครทำ แล้วเราก็ทำมาตั้งแต่ต้น

ไอดา อรุณวงศ์

สมมติว่าถ้าไม่ทำตั้งแต่แรก จะมีใครคนอื่นมาทำแทนไหม

ไม่แน่ใจ เคยสงสัยเหมือนกันว่า ถ้าไม่มีเรา จะมีใครไหม แต่ก็ยังไม่ได้ทดลอง จนกระทั่งช่วงหลัง ที่มีคดีเลือกตั้ง อันนี้ค่อยยังชั่วหน่อยที่ได้อาจารย์ชลิตา บัณฑุวงศ์ มาช่วยอีกแรง ทำให้แยกส่วนคดีเลือกตั้งทั้งหมดออกไปได้ ไม่งั้นคงวุ่นกว่านี้ จริงๆ ช่วงนั้นมันเริ่มจากการที่เราไม่สบายด้วย ขาเจ็บ เดินไม่ได้ ต้องมีใครสักคนมาแทนจริงๆ

แต่ก็โชคดีที่ว่า คดีเลือกตั้งมันเป็นคดีศาลพลเรือน มีการปล่อยโดยไม่เรียกเงินประกันบ้างอะไรบ้าง ถึงแม้ตัวจำนวนผู้ต้องหาจะเยอะ แต่ไม่เข้มข้นเบ็ดเสร็จเท่าศาลทหาร แต่ยังไงอาจารย์ชลิตาก็ต้องเสียเวลามาก ส่วนคดีอื่นที่ไม่ใช่คดีเลือกตั้ง ช่วงหลังบางทีทนายอีกสองคนที่ถือบัญชีร่วมกับเรา คือทนายวีระนันท์ ฮวดศรี และทนายอานนท์ นำภา ก็จำเป็นต้องยื่นประกันแทนเราไปก่อน

คุณบอกว่าช่วงที่เริ่มเป็นนายประกัน มันเกิดจากความรู้สึกขัดแย้งในตัวเอง ที่ต้องทำหนังสือว่าด้วยการวิจารณ์ในสังคมที่เป็นเผด็จการ อยากรู้ว่านอกจากบทบาทนี้ มีบทบาทอื่นอีกไหมที่จะใช้พิสูจน์ว่า “ถ้าเราไม่หยุดเขา เราก็ต้องหยุดตัวเอง”

จริงๆ ก็อยากมีเหมือนกัน ที่ผ่านมาเวลามีชุมนุม มีกิจกรรม เราก็ไป ไม่ได้ปกปิด ไปในฐานะประชาชนคนหนึ่ง แต่มากกว่านั้นก็ไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ไปช่วยประกันตัว แล้วก็เขียนเท่าที่เขียนได้

ถ้าจะตอบคำถามนี้จริงๆ สุดท้ายก็กลับมาประเด็นเดิมว่า ตอนนี้ทุกอย่างอยู่ในโลกเฟซบุ๊ก เรารู้สึกว่าการแสดงออกหรือไม่แสดงออกในเรื่องใดๆ มันถูกวัดในโลกเฟซบุ๊กค่อนข้างเยอะ ช่วงที่เป็นนายประกันได้ไม่นาน ตอนนักศึกษาถูกจับคดีราชภักดิ์เยอะๆ เราก็โพสต์เยอะ ปรากฏว่าก็ถูกรีพอร์ท ถูกแบน

ตอนนั้นเราใช้เพจสำนักพิมพ์อ่าน พอตัวเพจถูกแบน แล้วเรากำลังระดมทุนสำนักพิมพ์อยู่ ลูกค้าโอนเงินมา พอเพจมันเจ๊งก็เสร็จเลย เราเลยรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบกับคนที่โอนเงินมาแล้ว เราต้องส่งหนังสือให้เขา แล้วที่อยู่เขามันหายไปไหน งั้นโอเค ไม่ใช้เพจสำนักพิมพ์อ่านแล้ว

ก็เลยต้องเปิดเฟซบุ๊กส่วนตัวขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อยากทำ แต่ไหนๆ มันต้องแยกแล้ว ก็ใช้ให้เป็นประโยชน์เลยละกัน เวลาไปศาลไปโรงพัก ก็ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น พอทำไปสักพัก ปรากฏว่ามีคนเข้ามาชื่นชม ส่งข้อความมาหลังไมค์ ให้กำลังใจกันเยอะ

ถึงจุดหนึ่งมันรู้สึกเหมือนเราเป็นนางเอก เป็นคนปฏิบัติภารกิจบางอย่าง มีผู้คนให้ความสนใจ ชื่นชมเรา ซึ่งเราไม่ได้ต้องการสิ่งเหล่านี้ เจตนาของเราจริงๆ คือ อยากสื่อสารข่าวให้คุณรู้ เพื่อให้คุณได้มาร่วมกันทำอะไรสักอย่าง แต่สุดท้ายก็อย่างที่บอกไปว่า วัฒนธรรมของเฟซบุ๊ก ทุกอย่างมันเหมือนสำเร็จแล้วเมื่อคุณกดไลค์

ทั้งที่เมื่อก่อน เราก็ไปของเราแบบนี้แหละ ไม่ได้โพสต์อะไร แต่พอเริ่มโพสต์ คนก็เริ่มติดตาม เริ่มเฝ้ารอว่าเราจะโพสต์อะไร จะมีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้นต่อไป จนเรารู้สึกว่าอยากถอยออกมา เพราะมันอึดอัด

เวลาเราเอามาโพสต์ เราไม่ได้ต้องการจะโฆษณาว่าเราทำ เราไม่จำเป็นต้องถ่ายรูปตัวเองพร้อมผู้ต้องหาเพื่อรายงานแหล่งทุนที่ไหน หรือต้องบอกให้โลกรู้ทุกครั้งว่าฉันเหนื่อยนะ ฉันไปประกันใครมา เวลาเราเล่า เราก็เล่าไปตามจริง เช่น เล่าว่านี่มันอะไรกัน ทำไมฉันต้องมานั่งทำอะไรอย่างนี้ในศาลทหาร ทำไมเราไม่อยู่ในประเทศที่มันก้าวหน้าทางปัญญากว่านี้ ทำไมต้องมาทำอะไรแบบนี้ เป็นการพูดเพื่อจะบอกให้สังคมช่วยกันคิดว่า ตกลงเราจะไปข้างหน้าหรือถอยหลัง

แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความสงสาร เห็นใจ และชื่นชมต่อตัวเรา เลยรู้สึกว่าต้องตัดแล้ว ซึ่งพอปิดเฟซบุ๊กไป ก็ตลกเหมือนกัน บางทีก็จะมีคนถามว่า เดี๋ยวนี้ไม่ทำอะไรแล้วเหรอ

พอไม่ได้โพสต์ ไม่ได้รายงาน กลายเป็นว่าเหมือนเราไม่ได้ทำอะไรเลย

ใช่ เราก็เลยขำๆ รู้สึกว่าถ้าเป็นอย่างนั้นยิ่งต้องหยุดโพสต์  แล้วถ้าว่ากันถึงที่สุด แม้เราจะไม่โพสต์ ฝ่ายรัฐเขาก็รู้อยู่ดี ว่าเราทำหรือไม่ทำอะไร มีแต่บรรดาผู้ชมทางเฟซบุ๊กที่อาจไม่รู้ เพราะไม่เห็นเราโพสต์ ซึ่งก็ไม่เป็นไร เราไม่ได้จะเอาไปทำคะแนนอะไรอยู่แล้ว

 

แล้วเวลามีคนมาชื่นชม ให้กำลังใจ คุณรู้สึกยังไง

ก็ขอบคุณนะ คำชมและความเป็นห่วง แต่อีกด้านเราก็รู้สึกว่ามันน่าละอาย เพราะมันมีคนที่ทำมากกว่าเราอีกนะ ทำมากกว่า แล้วก็พูดในเฟซบุ๊กน้อยกว่าใครๆ แต่ทำแบบเสี่ยงตายมาตั้งแต่ปี 53 ยันปี 57 เป็นผู้หญิงเหมือนกัน ซึ่งเขาไม่พูด ไม่บ่น ไม่เอามาโรแมนติกในเฟซบุ๊ก ไม่อะไรทั้งสิ้นเลย มีคนทำอย่างนี้มากกว่าที่เราทำอีก

อีกอย่างคือ เราไม่ได้จะเป็นตัวแทนของใคร เราไม่ได้รับเหมาทำแทน ถึงที่สุดทุกคนก็ต้องพยายาม แล้วเราไม่ได้ว่างนะ คือทุกคนชอบคิดเสมือนว่าเราว่างมาก ซึ่งเราโคตรจะไม่ว่างเลย แต่ที่ทำได้เพราะเรายอมทิ้งบางอย่างไป คุณสามารถทิ้งสักนิดนึงแล้วไปด้วยกันไหม ไม่ใช่ว่าดีจังเลย เธอไปทำ ฉันให้กำลังใจ พอชวนให้มาทำด้วยกันไหม ทุกคนก็จะบอกว่าไม่ว่าง ทุกคนทิ้งงานไม่ได้

สุดท้ายแล้วมีลิมิตไหม ว่าจะทำถึงเมื่อไหร่ แค่ไหน

มันมีลิมิตโดยปริยาย ก็คือตอนที่ไม่สบาย ตอนแรกเริ่มจากพ่อไม่สบาย จู่ๆ พ่อป่วยหนักปลายปีที่แล้ว แล้วเราต้องเป็นคนดูแล ตอนนั้นยังไงก็ต้องทิ้ง ทิ้งการเมือง ทิ้งงาน เพราะใครจะไปป้อนอาหารทางสายยาง ใครจะพาพ่ออาบน้ำ อันนั้นเป็นช่วงวิกฤต

คือก่อนที่จะมาดูแลพ่อ เราก็วุ่นวาย ไปศาลทหารตลอดเวลา แล้วจู่ๆ พอพ่อป่วย ก็หยุด แล้วไปอยู่โรงพยาบาลในห้องกับพ่อสองเดือน พอพ่อออกจากโรงพยาบาล เราก็ขาเดี้ยง ต้องนั่งรถเข็น เบ็ดเสร็จทั้งหมดหกเดือน เราก็นึกในใจ เออ โลกมันก็ดำเนินต่อไปได้เนอะ (หัวเราะ)

แต่ส่วนหนึ่งอาจเพราะสถานการณ์เพลาลงด้วย คือการไล่จับแบบบ้าระห่ำในยุคแรก มันไม่มีแล้ว ทุกอย่างเริ่มเข้าสู่กระบวนการ ตอนนี้เราคิดว่าสังคมก็รอการเลือกตั้ง เราว่าทุกคนก็อาจทำใจมาแล้ว รวมทั้งคนที่เคยออกมาเคลื่อนไหวกับรัฐบาลเผด็จการ ว่าเราทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ ฉะนั้นตอนนี้โจทย์จึงไปรออยู่ที่การเลือกตั้ง ในแง่หนึ่งคดีการไล่จับรายวันก็หายไปด้วย

 

ที่บอกว่าเคยตามไปเฝ้าที่ค่าย ที่โรงพัก อยากให้เล่ารายละเอียดให้ฟังหน่อยว่าเป็นยังไง ที่ว่าเหนื่อย ที่ว่าลำบาก มันขนาดไหน

อดหลับอดนอนนี่เรื่องหนึ่ง นั่งตากยุง ตบยุง ทนร้อน ข้าวปลาไม่ได้กิน รออย่างเดียว รอไปเรื่อยๆ การรอความยุติธรรมมันไม่มีหมุดหมายจริงๆ นะ ที่พูดนี่ไม่ใช่แค่ในทางนามธรรม แต่หมายถึงในทางรูปธรรมของกระบวนการยุติธรรมด้วย

ถ้านับตั้งแต่รัฐประหารใหม่ๆ การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้เริ่มที่สถานีตำรวจ แต่เริ่มที่ค่ายทหาร เมื่อเขาจับใครสักคนไป เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรต่อจากนั้น มันไม่อยู่ในระบบหรือตำราปฏิบัติใดๆ ทั้งสิ้น จะเอาไปกี่วัน จะให้ทนายเข้าพบไหม เอาไปไว้ตรงไหน กระทั่งว่าพอจับไปแล้ว ก็ยังหลอกล่อเรา บอกว่าอยู่ตรงนั้นตรงนี้ เราก็วิ่งตามเหมือนคนบ้า

แล้วเราไม่มีรถ ก็จ่ายค่าแท็กซี่เรื่อยไป ตามไปนั่งเฝ้า นั่งรอ เราทำอะไรเขาไม่ได้หรอก แต่อย่างน้อยต้องให้เขารู้ว่ามันมีคนมานั่งเฝ้าพยาน

อย่างเรื่องอุทยานราชภักดิ์ เขาประกาศว่าจะจับจ่านิว พอจ่านิวไปถึงสถานีรถไฟ ก็ขึ้นรถไฟไป เราไม่ได้ขึ้นรถไฟไปด้วย แต่ก็อาศัยรถเพื่อนตามไป กลัวเขาจะมีเรื่อง แล้วพอถึงบ้านโป่ง เป็นบรรยากาศที่น่ากลัวมาก มีประชาชนกลุ่มจัดตั้งมาตะโกนด่าทอ บอกว่านักศึกษาเป็นพวกหนักแผ่นดิน เราก็นึกในใจ นี่มันเหมือนหกตุลาเลย แล้วเราก็ไปยืนอยู่ท่ามกลางคนเหล่านั้น ที่ด่าหยาบๆ คายๆ

เรายืนของเราอยู่คนเดียว แสดงตัวก็ไม่ได้ แต่ก็ต้องพยายามให้นักศึกษาเห็นเรา ให้เขารู้ว่าพี่มาแล้วนะ แล้วก็โพสต์เฟซบุ๊กรายงาน จากนั้นก็ตามไปเรื่อยๆ มันเอาตัวไปไหนต่อไหน เราก็ตามไปตลอด กว่าจะได้ขึ้นศาล กว่าจะได้ยื่นประกัน คือเราแค่ขอว่า ให้คนเหล่านั้นได้รอดชีวิตออกมาก่อน ซึ่งพอได้ออกมาแล้ว ก็ต้องลุ้นต่อว่าเขาจะพาไปไหน ปรากฏเขาเอาไปเข้าค่ายที่พุทธมณฑล เราก็ตามไปนั่งแกร่วที่พุทธมณฑล นั่งอยู่มืดๆ ตบยุงรอไป

มันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก ความเหน็ดเหนื่อยทางร่างกายก็เรื่องหนึ่งนะ งานการไม่ได้ทำก็เรื่องหนึ่ง มีช่วงหนึ่งเราป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ แล้วต้องไปศาลทหารทุกวัน เป็นช่วงหลังในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต มีพิธีที่ท้องสนามหลวง แล้วถนนแถวนั้นปิดหมด รถวิ่งไม่ได้ แล้วแดดก็ร้อน เราก็ต้องเดิน เดินทุกวันจนเราเท้าพอง

ปรากฏว่ามีอยู่วันหนึ่ง ไปเป็นลมอยู่หน้ารูปปั้นแม่พระธรณี คือแบบทรุดลงไป เดินไม่ไหวแล้ว เราก็ลงไปกองกับพื้น สักพักก็มีประชาชนเข้ามามุง แม่คนหนึ่งจูงลูกเข้ามา ถามว่าเป็นอะไรมั้ย เราก็ยกมือห้าม พูดอู้อี้ผ่านแมสก์ปิดปากว่าอย่าเข้ามาค่ะ เป็นไข้หวัดใหญ่ กลัวเด็กติด

ตอนนั้นยังมีสติอยู่นะ แต่เดินไม่ไหวแล้ว เขาก็บอกว่าดีจังเลย ไม่สบายขนาดนี้ยังมาถวายความเคารพ ยิ่งเอาน้ำเอายาดมมาให้ แล้วก็เรียกทหารให้มารับ ทหารก็พาขี่มอเตอร์ไซค์อย่างดี จะพาไปส่งเต๊นท์พยาบาล ซึ่งเต็นท์มันอยู่แถวๆ ศาลหลักเมืองพอดี เราก็บอกพี่คนขับว่า ช่วยเลยไปอีกหน่อยได้ไหมคะ จะไปศาลทหาร (หัวเราะ) แต่เขาก็ไม่พาไปหรอกนะ ไปส่งลงเต๊นท์พยาบาลก่อน

พอมานึกย้อนดูเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ มันเหมือนว่าอีบ้านี่มาทำอะไรแบบนี้อยู่คนเดียว ตื่นมาเช้ามืดออกไปคนเดียว กลับบ้านคนเดียว เจ็บป่วยคนเดียว เพื่อทำสิ่งที่ไม่รู้ว่าอยู่ในความรับผิดชอบหรือหน้าที่ของตัวเองไหมด้วยซ้ำ ไม่ใช่หน้าที่การงานโดยอาชีพแน่ๆ แต่มันก็ยังบ้าทำอยู่

ขณะเดียวกัน เราก็มีความเครียดส่วนตัว จากงานหนังสือที่เราต้องรับผิดชอบอยู่ ซึ่งมีคนที่เกี่ยวข้องเยอะ ซึ่งทุกคนก็ดี เข้าใจ อดทนรอ แต่เราจะรู้สึกผิดกับเขา ส่งต้นฉบับมาแล้ว จะอิดิทเสร็จเมื่อไร จะไปศาลอีกกี่วัน หรือผู้อ่านบางคนเขาก็ตั้งคำถามแล้วว่า คุณควรจะมาตั้งใจทำสิ่งนี้มากกว่าไหม เหมือนอยู่ผิดที่ ใช้ความสามารถไม่ถูกที่ ก็มีคำถามแบบนี้เข้ามาเหมือนกัน พองานไม่เสร็จ ไม่มีรายได้ ความละอายผิดหวังกับตัวเองก็จะเกิดขึ้น รู้สึกว่ารับผิดชอบตัวเองไม่ได้

สุดท้ายแล้วคุณทำไปทำไม เพราะเท่าที่เล่ามา ดูแล้วมีแต่เสียกับเสีย

มันคือขั้นต่ำไง อย่างที่บอกไป

เราพยายามพิสูจน์ ซึ่งก็ไม่มีปัญญาไปพิสูจน์มากกว่านี้แล้ว จริงๆ มันอาจเป็นการลบความรู้สึกผิดด้วยมั้ง ที่เราทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ ก็เลยต้องแลกไปเรื่อยๆ

จริงๆ บทบาทนายประกันทำให้เรายิ่งต้องสำรวม เช่น เมื่ออยู่ในศาล ถ้าเราเที่ยวไปไม่พอใจคำพูดอัยการบางคน ไปออกอาการใส่เขา เราจะยิ่งทำงานลำบาก อาจเป็นปัญหาเวลายื่นประกันครั้งต่อไป แง่หนึ่งเราจึงต้องพยายามอยู่ในความสงบไปเรื่อยๆ ภาวะที่เกิดขึ้นจึงเหมือนคนถูกปิดปากอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ต้องพยายามวิ่งๆๆ ทั้งที่ขาเราเจ็บ แต่เราก็จะลากสังขารให้วิ่งต่อ เพราะเราพูดไม่ได้

ถ้าเราพูดได้ เราอาจนั่งอยู่เฉยๆ แล้วก็พูด แต่เมื่อพูดไม่ได้ เราเลยต้องวิ่งทั้งที่ขาเจ็บ

ที่บอกว่าเป็นขั้นต่ำที่ทำได้ และต้องการพิสูจน์ คำถามคือพิสูจน์อะไร

พิสูจน์ว่า ไม่เขาก็เราที่เป็นคนผิด ไม่เขาก็เราที่ต้องไป ซึ่งเอาจริงๆ พอถึงตอนนี้ มันไม่ต้องพิสูจน์แล้วแหละ เพราะเขายังอยู่ แล้วเราก็ยังอยู่

หลังปี 57 เราออกวารสารมาสามเล่ม ในสามเล่มนั้นก็มีสิ่งที่ตัวเองพยายามจะเขียน หรือพูดอะไรบางอย่าง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เกิดผลสะเทือนอะไร เราคงเขียนไม่ดีด้วย หรือเขียนยาวไป แต่ประเด็นคือมันไม่มีใครสนใจแล้ว มันไม่เหมือนเมื่อก่อนที่คนรอดูว่าปกมันจะเป็นเรื่องอะไร เนื้อหาพูดถึงอะไร เดี๋ยวนี้มันไม่มีใครรอดูแล้ว

จริงๆ เราอยู่หรือไม่อยู่ ก็ค่าเท่ากัน แต่ที่แน่ๆ คือเขายังอยู่ แค่เรารู้สึกว่าถ้าทำอะไรได้ ก็ทำไปก่อน เหมือนลดความรู้สึกผิดของตัวเองลง

แล้วถ้าถามในมุมกลับ ทำไมถึงรู้สึกผิดตั้งแต่แรก

อืม นั่นสิเนาะ.. (นิ่งคิด)

ถ้าเราไม่มีหัวโขนของการทำวารสารวิจารณ์ เราจะยังรู้สึกว่าเราต้องพิสูจน์ไหม ถ้าเราเป็นนางสาวไอดาธรรมดา อยู่บ้าน ทำงานของตัวเองไป เราจะต้องพิสูจน์ไหม

แต่มันก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อยนะ ที่เขาก็ไม่ได้มีหัวโขนอะไรเลย แล้วเขาก็ยังพยายามพิสูจน์ พยายามแสดงออก ก็ไม่รู้เหมือนกัน.. แค่เรารู้สึกว่าในเมื่อมีสิ่งที่ผิดหลักการอยู่ตรงหน้า เราคงต้องพยายามทำอะไรสักอย่างมั้ง ไม่งั้นก็คงตอบตัวเองลำบาก เราจะยอมง่ายๆ ขนาดนั้นเลยหรือ ก็รู้แหละว่าสู้ไม่ได้ แต่ไม่อยากจะได้ชื่อว่าไม่สู้ (หัวเราะ)

เอาเข้าจริงแล้ว เกมนี้ก็อาจเป็นเกมที่ไม่แฟร์ตั้งแต่แรกแล้วรึเปล่า

ใช่ มันไม่แฟร์ตั้งแต่แรก นี่เป็นคำถามคลาสสิก ว่าเราอยู่ในเกมที่ไม่แฟร์แล้วเราทำจะยังไง ช่วงแรกที่รัฐประหารใหม่ๆ แล้วคนออกไปชุมนุมเยอะๆ เราคิดว่าเราจะคว่ำกระดาน คือจะไม่เล่นเกมนี้ ไม่เอากระดานหมากนี้ เราจะคว่ำ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเราคว่ำไม่ได้

เหตุที่คว่ำไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเขาแข็งแกร่ง หรือเป็นเพราะว่าคนจำนวนไม่น้อยยังยอมให้มีเกมนี้ ทำให้เราต้องอยู่ในกระดานไปโดยปริยาย ดังนั้นสิ่งที่เราพยายามทำ อาจเป็นแค่การทำให้ตัวเองไม่รู้สึกผิดจนเกินไป

เป็นคำถามที่ดีนะ เพราะถึงที่สุดเราก็ไม่ควรหลอกตัวเอง แม้กระทั่งสิ่งที่เราเรียกว่าการต่อสู้ เราคิดว่าทุกคนก็ต้องถามตัวเองให้หนักเหมือนกัน ว่าเรากำลังสู้กับอะไร สู้ยังไง การต่อสู้จริงๆ แล้วมันคืออะไร แล้วสิ่งที่ทำอยู่นี้คืออะไร

จริงๆ หลังจากความวุ่นวายช่วงสองปีแรก ที่ไล่จับกันอุตลุต แล้วจู่ๆ ตอนนี้มันพลิกมาสู่การรอการเลือกตั้ง ทุกคนหันมาสู่โหมดนี้กันหมด เราก็มึนๆ เหมือนกันนะ เหมือนพอหันมาอีกทีโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เข้าสู่เฟสใหม่แล้ว คือรอการเลือกตั้ง ประเด็นคือว่า แล้วบรรดาคดีต่างๆ ที่ผ่านมา บรรดาความเหนื่อยยากช่วงสองสามปีที่ผ่านมาของเรา มันคืออะไร

เอาจริงๆ เรางงไปเลยนะ งงว่าเอ๊ะ ที่เรารู้สึกว่าต้องยอมทิ้ง ยอมแลก มันยังไงนะ แล้วตอนนี้คืออะไร มันแทบจะดูเป็นเรื่องตลกไปเลยด้วยซ้ำ ถ้าต้องไปศาลคดีประชามติในสถานการณ์แบบนี้ มันจะตลกพอๆ กัน ทั้งตัวเรา ตุลาการ อัยการ ว่าตกลงเราทำคดีนี้ทำไมนะ แล้วฉันเหนื่อยยากไปทำไมนะ

แล้วเห็นความหวังบ้างไหม ในเมื่อการเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้นจริงๆ แล้ว คุณประเมินสถานการณ์ยังไง

เราว่ามันยังอยู่ในเกมเดิมหมดเลย แค่บรรเทาสถานการณ์ โอเค นี่ก็บุญโขแล้วที่ไม่ต้องไปนั่งตากยุงอยู่ตามค่ายทหาร แต่ว่ามีหรือไม่มีเลือกตั้ง สำหรับเรามันคือเกมเดิม แล้วเกมนี้เราไม่ใช่คนคุม

เราว่าตอนนี้ทุกคนก็กำลังมองอยู่ว่า เหมือนมันมีผู้เล่นอื่นๆ ที่เรามองไม่เห็น คนที่เขาแก่งแย่งช่วงชิงในระดับบน ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาจะทำอะไร ไม่ทำอะไร ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นใคร แน่นอนว่าเราก็สู้เพื่อให้ได้การเลือกตั้งของเรา แต่เขาก็พยายามทุกวิถีทางที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งของเขา

ว่ากันถึงที่สุดแล้ว ไม่รู้ว่าเรายังอยู่ในการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์อยู่ไหม ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องการเลือกตั้ง การตั้งพรรคการเมือง นี่ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์อยู่ไหม หรือจะนับเป็นการเลือกตั้งจริงๆ ได้ไหม

ถ้าโดยหลักการ เราพูดว่าเราต้องการการเลือกตั้งมาตั้งแต่ต้นปี 58 ที่ตอนนั้นมีกิจกรรมชื่อ ‘เลือกตั้งที่ลัก’ ซึ่งเราเป็นนายประกันคดีแรก ตอนนั้นมันคือสัญลักษณ์ แต่พอถึงตอนนี้ที่กำลังจะมีเลือกตั้ง เราก็ยังพูดคำเดิมต่อไป ทั้งที่จริงแล้วมันอาจยังไม่ได้เปลี่ยนจากการเป็นแค่สัญลักษณ์เลย

ตั้งแต่การสำนักพิมพ์อ่าน จนมาถึงการเป็นนายประกัน สังเกตว่าคุณมักจะลุยเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่ มีเหตุผลไหมว่า ทำไมถึงชอบทำอะไรด้วยตัวเองคนเดียว

มีคนอื่นมันดีกว่าอยู่แล้วนะ ช่วงหนึ่งที่สำนักพิมพ์อ่านมีทีม ทีมในความหมายที่ว่ามีที่ปรึกษา แล้วมีทีมงาน มีน้องๆ ช่วยกัน มันก็อบอุ่นนะ แต่ด้วยความจำเป็นและเหตุปัจจัยหลายๆ อย่าง ถึงที่สุดทุกคนก็ต้องไป และเมื่อทุกอย่างแย่ลงหลังรัฐประหาร ปัจจัยสำคัญที่สุดคือเราไม่มีเงินมากพอที่จะจ้างใคร แต่ตอนหลังเราก็พบความจริงอย่างหนึ่งด้วย ซึ่งถือเป็นคติประจำใจเลย ก็คือว่า การไม่มี ดีกว่าการเคยมีแล้วไม่มี

พอเราเริ่มต้องทำอะไรด้วยตัวคนเดียว หลังจากที่เคยมีคนอื่นมาช่วยกันทำ มันเป็นความท้าทายมาก ตั้งแต่ตรวจต้นฉบับ จัดเลย์เอ้าต์ ปรู๊ฟ ปรินต์ ส่งโรงพิมพ์ แล้วก็ขาย แล้วก็ส่งไปรษณีย์ เราต้องจัดระเบียบตรงนี้ใหม่หมดเลย ห่อหนังสือเสร็จ ไปศาลทหารเสร็จ เดินไปส่งไปรษณีย์ตรงกระทรวงมหาดไทย กลับมาตอบลูกค้า มันต้องออกแบบให้เราอยู่ได้ด้วยตัวเองคนเดียว ซึ่งเมื่อถึงจุดที่ทำได้แล้ว ก็รู้สึกว่าไม่ต้องมีก็ได้ คือถ้ามี มันจะไม่เหนื่อยเท่านี้หรอก แต่ถ้ามีแล้วต้องไม่มี สู้ไม่มีตั้งแต่แรกดีกว่า เพราะมันจะตัดความ depress บางอย่างในชีวิตออกไปได้

จะเรียกว่าเป็นคำปลอบใจหรือคำแก้ตัวก็ไม่เชิง แต่เราคิดว่ามันทำให้เราตัดความรุงรังบางอย่างได้ เหตุผลหลักๆ คือ เรายังตอบกับตัวเองลำบากเลยว่า ตกลงเรารับผิดชอบต่ออะไรบ้าง และถ้าต้องมีคนอื่นที่มาพ่วงด้วยเยอะๆ ความรับผิดชอบมันก็เพิ่มขึ้นมา ซึ่งเราไม่สามารถรับมือได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะในแง่อารมณ์ความรู้สึกต่อกัน ไปจนถึงความเสี่ยงทั้งหลาย

อย่างตอนหลังรัฐประหาร เป็นช่วงที่ทุกคนไม่อยู่หมดแล้ว ด้วยสาเหตุต่างกันไป แต่ที่แน่ๆ คือมันมีบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวอยู่ระลอกใหญ่ๆ คือช่วงประกาศชื่อคน เรียกรายงานตัว ทุกคนก็จะเริ่มสำรวจแล้วว่า ตัวเองเคยมีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันอะไรที่ดูเป็นความสุ่มเสี่ยงบ้าง เราเองก็ไม่ต่างกัน

ช่วงนั้นเราเลยรู้สึกผิด กับน้องๆ เพื่อนๆ ที่เคยมาช่วยงาน รู้สึกผิดต่อทุกคนยันคนทำอาร์ตเวิร์กเลย ซวยแล้ว ถ้าเขาถูกเรียก จะทำยังไง เหมือนว่าเราเคยมีช่วงเวลาหนึ่งที่รู้สึกสนุกด้วยกัน ได้ทำอะไรด้วยกัน ซึ่งเราก็เชื่อว่าทุกคนสนุกจริงๆ เต็มที่และเต็มใจจริงๆ แต่พอถึงเวลาที่อาจจะเกิดสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ยังไงเราก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าต้องรับผิดชอบ ต่อให้เขาจะบอกว่านั่นเป็นการตัดสินใจของเขาเองก็ตาม

ช่วงที่มีทีมทำงานกันเยอะๆ คือประมาณปี 54-56 ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าจะเกิดรัฐประหารในปี 57 ยังคิดเลยว่าถ้ารู้ตั้งแต่แรก เราคงไม่อยากเอาใครพ่วงเข้ามาในภาวะนี้ ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องอยู่กับมันไปอีกยาว สู้ทำไปคนเดียว รับผิดชอบคนเดียว จบไปคนเดียวดีกว่า ยังไงก็ไม่อยากลากคนอื่นเข้ามา ซึ่งก็ทำได้จริงๆ

ป่วยก็ทำ ขาเจ็บก็ทำ

อือ อย่างเล่ม ‘นิติปรัชญา’ ของอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ใช้เวลาทำสองเดือน แล้วเป็นสองเดือนที่เรานั่งรถเข็นอยู่ในห้องคนเดียว ไม่ก็อยู่ในโรงพยาบาล เล่มนี้อาจารย์วรเจตน์ตรวจแก้กับเราในโรงพยาบาลในห้องคนไข้  เป็นคนป่วยที่วุ่นวายมาก แมสเซ็นเจอร์โรงพิมพ์วิ่งเข้าออกตลอดเวลา แต่สุดท้ายก็ทำออกมาได้

ภาระที่คุณแบกอยู่ดูหนักหนา คุณเยียวยาตัวเองยังไง มีโมเมนต์ที่เป็นความบันเทิง ความผ่อนคลาย จากเรื่องหนักๆ ที่เจอมาในแต่ละวันบ้างไหม

มี เพราะเราต้องจัดการตัวเอง เราจะไม่อ่านนิยายหรือดูหนังที่จะทำให้เราดิ่งลึกในความรู้สึกทางใดทางหนึ่ง มันต้องประคองอารมณ์ตัวเอง ฉะนั้นอย่ามาถามว่า อ่านนิยายดีๆ บ้างไหม ไม่ ถ้าอ่านก็อ่านนิยายไทยย้อนยุค ช่วง 2490 ถึง 2500 เป็นนิยายที่เราอ่านแล้วจะไม่ดิ่ง เพราะไม่ใช่นิยายที่ตั้งคำถามเชิงปัจเจกที่มู้ดปัจจุบันของเราจะ identify ด้วยได้ แต่เราอ่านเอาบรรยากาศและถ้อยคำ เอาภาษา เอาบ้านเมือง วิถีชีวิต เอาประวัติศาสตร์

เวลาดูหนัง ก็ดูแต่หนังสืบสวนฆาตกรรม นี่คือวิธีผ่อนคลาย แล้วก็จิบชาให้หลับ ไม่งั้นจะนอนหลับไม่ได้ พอได้เวลาก็เปิดหนังฆาตกรรม ประเภทที่เปิดเรื่องมาแล้วมีใครสักคนถูกฆ่าตาย ที่เหลือคือหาให้ได้ว่าใครคือฆาตกร ไม่มีดราม่า ไม่มีการตั้งคำถามใหญ่ๆ ในชีวิต มีแค่ปริศนาที่รอการคลี่คลาย ดูไปเรื่อยๆ จนหลับ เป็นการล้างหัว เราเรียกมันว่าการล้างหัวก่อนหลับ เพราะไม่งั้นเราจะหลับไม่ได้

พอใครสักคนตายในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในชนบทอังกฤษ แล้วเราก็ต้องสืบว่าใครเป็นคนฆ่า แล้วก็นอนหลับไป ตื่นเช้ามาก็ไปศาล มีแค่นั้นแหละ เป็นวิธีจัดการตัวเอง แต่เราไม่เที่ยว ไม่สังสรรค์ อันนั้นฟุ่มเฟือยเกินไป

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save