fbpx
เราเป็นพุทธแบบไหนกัน

เราเป็นพุทธแบบไหนกัน

สนิทสุดา เอกชัย เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

 

 

แจ็ค ดอร์ซี ซีอีโอของทวิตเตอร์โดนถล่มอย่างหนัก หลังจากไปฝึกวิปัสสนาที่พม่าสิบวัน แล้วทวีตชื่นชมพม่าว่าผู้คนมีมิตรไมตรี ประเทศเต็มไปด้วยความสวยงาม เชิญชวนให้คนไปเที่ยวพม่าทั้งๆ ที่เป็นแดนสังหารชาวโรฮิงญา

อ่านข่าวนี้แล้วเกิดความรู้สึกดีใจที่มีผู้นำธุรกิจเทคโนโลยีสนใจเรื่องจิตวิญญาณ สนใจฝึกกรรมฐาน แต่ก็เศร้าใจว่าทำไมถึงได้หูหนวกตาบอดกับความทารุณโหดร้ายที่เกิดขึ้นตำตาอย่างนี้

การปฎิบัติธรรมนั้น สุดท้ายไม่ใช่การสลายตัวตนเพื่อให้ความเมตตาได้เติมเต็มหรอกหรือ

ขณะที่โดนถล่มจากโลกตะวันตก แต่คนพม่าแซ่ซ้องชื่นชมว่าในที่สุดก็มีคนเห็นความเป็นจริง เห็นความสวยงามของพม่าเสียที หลังจากโดนประณามจากทั้งโลก

อะไรที่ทำให้คนที่ภูมิอกภูมิใจเหลือเกินว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด แต่กลับยินดีกับการฆ่า และไม่ใช่ฆ่าธรรมดา แต่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เลยทีเดียว

แล้วสยามเมืองพุทธของเราเองล่ะ ต่างจากพม่าขนาดไหนกัน

แน่ล่ะ การผิดศีลข้อแรกที่ร้ายแรงที่สุดในพุทธศาสนาของไทยนั้น ยังไม่ถึงขั้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ใครจะเถียงว่าวิถีของทางการในกำจัดคนที่เห็นว่าเป็นศัตรูต่อ ‘ความมั่นคงของชาติ’ ไม่ว่าจะด้วยการทรมาน การอุ้มฆ่า ไม่ใช่ความโหดร้ายที่พระพุทธองค์ห้ามเด็ดขาด

รัฐที่ตั้งอยู่บนฐานอำนาจ ย่อมไม่ยอมอยู่บนฐานศีลเพื่อรักษาอำนาจของตน แต่สังคมนี่สิ เราต้องตั้งคำถามว่าทำไมสังคมเห็นด้วยกับการทำลายล้างคนที่รัฐทำให้เราคิดว่าเป็นศัตรูแบบอยู่ร่วมกันไม่ได้ ต้องเอากันให้ตายไปข้างหนึ่ง จนไปให้ความชอบธรรมกับการใช้อำนาจและความรุนแรงของรัฐโดยไม่ตั้งคำถามใดๆ ทั้งสิ้น

พุทธแบบไทยๆ อาจจะดีกว่าพม่าหน่อยในศีลข้อปาณาฯ แต่ศีลข้อสาม กาเมสุมิจฉาจารา นี่เราไม่เป็นรองใคร จนโลกมองเราเป็นศูนย์กลางธุรกิจค้ากาม

ธุรกิจมุมมืดแบบนี้ย่อมไม่มีที่ว่างให้จริยธรรม แต่สังคมนี่สิ ทำไมเรายอมให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องลำบากยากเข็ญ ไม่มีหนทางที่จะเลี้ยงดูครอบครัว จนต้องแลกร่างกายกับเงิน หนำซ้ำโดนดูถูกว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี

การแบ่งแยกผู้หญิงดีผู้หญิงไม่ดี การไม่ตั้งคำถามกับโลกของผู้ชายที่มองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ เหล่านี้หรือเปล่าที่ทำให้เรายังเป็นศูนย์กลางธุรกิจค้ามนุษย์ค้ากามได้โดยไม่รู้สึกรู้สาอะไร

เป็นพุทธไทยๆ แบบนี้หรือเปล่า ที่ทำให้คนที่เข้าคอร์สปฎิบัติธรรมหลายคนยังสนับสนุนเผด็จการทหาร ดูถูกหญิงบริการ ดูถูกคนจน เมินเฉยกับความรุนแรงของรัฐกับมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้ กับกลุ่มชาติพันธุ์ และเห็นด้วยกับการที่พม่าเข่นฆ่าโรฮิงญา

แล้วก็พากันไปจาริกทำบุญขอพรเที่ยววัดในพม่ากัน โดยไม่ได้ตั้งคำถามเลยว่าทำไมคนพุทธพม่าที่ดูแสนจะธรรมะธรรมโม ถึงได้สนับสนุนให้ขจัดโรฮิงญาให้หมดสิ้นจากแผ่นดิน

หรือว่าเราเป็นพุทธแต่แค่คำพูด

หรือการไป ‘ปฎิบัติธรรม’ ของเราไม่ใช่เพื่อเพิ่มเมตตาแก่เพื่อนมนุษย์ แต่เพื่อหวังว่าสติและความอดทนที่เข้มแข็งขึ้นจากการผ่านการฝึกให้ทนความเจ็บปวดทางกายและความวุ่นวายของความคิด จะช่วยให้เราผ่อนคลายความเครียด ช่วยให้ความสัมพันธ์รอบตัวดีขึ้นเพราะเรานิ่งขึ้น ช่วยให้รับความผันผวนในชีวิตได้ดีขึ้น ช่วยให้สมาธิแข็งแกร่งขึ้น จะได้ทำงานมีประสิทธิภาพ เป็นฐานให้เรามีความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น

เราควรถามตัวเองว่า ‘อุเบกขา’ ที่ตั้งใจฝึกกันนั้น จริงๆ แล้วเราใช้ให้ตัวเองวางเฉยกับความเลวร้ายในสังคมด้วยหรือเปล่า ถ้าภัยยังไม่ถึงตัว

หลักสำคัญของพุทธศาสนาคือการไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำร้ายกันทั้งทางกายวาจาและใจ ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่

การเดินสายกลางก็ไม่ใช่การวางตัวอยู่ตรงกลาง ไม่เข้าข้างใคร ไม่ตึงไม่อ่อน เข้าได้กับทุกฝ่าย

ในทางพุทธศาสนา การเดินสายกลางคือการเดินตามมรรค 8 ซึ่งต้องปฎิบัติอย่างมั่นคงต่อเนื่องเท่านั้น เพื่อให้หลุดพ้นจากมายาต่างๆ ที่มากับวัฒนธรรมความคิดความเชื่อ จนพ้นอัตตา เห็นทุกชีวิตเกี่ยวพันเป็นหนึ่งเดียว ก่อให้เกิดพลังเมตตากรุณาต่อทุกคน ไม่เลือกชั้นวรรณะ เพศ สีผิว หรือความเชื่อ

เพราะฉะนั้นไม่ว่าสงฆ์รูปไหนหรือผู้ที่ปฎิบัติธรรมคนใด ยังดูถูกผู้หญิงว่าด้อยกว่าผู้ชายทางจิตวิญญาณ หรือกระพือความเกลียดชังต่อชาติพันธุ์หรือศาสนาอื่น เราพึงตระหนักว่าผู้นั้นยังไม่พ้นมายาพื้นๆ ทางโลก ยังอยู่ไกลนักต่อการหลุดพ้น ไม่ว่าจะเป็นที่พม่า ที่ไทย หรือที่ไหนๆ

อะไรที่กำกับความคิดและการกระทำเรา ถ้าไม่ใช่พุทธศาสนา

หลายคนโทษลัทธิเงินตราและบริโภคนิยม

ก็จริงส่วนหนึ่ง แต่ทำไมประเทศอุตสาหกรรมที่อยู่ในวัฒนธรรมบริโภคนิยมมากกว่าไทยเราถึงไม่ยอมรับการกดขี่ทางเพศ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การกระทำต่อชนกลุ่มน้อย หรือการทำร้ายสิ่งแวดล้อม ในขณะที่สังคมโดยรวมของเราไม่ใส่ใจ

ไม่มีใครดีกว่าใคร สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมเป็นผลของปัจจัยที่ต่างกัน

ตนเองเชื่อว่าที่หลักพุทธไม่สามารถต่อกรกับความแย่ๆ ในสังคมนี้ได้ ไม่ใช่เป็นเพราะวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ส่งเสริมลัทธิทหารอย่างเดียว แต่เป็นเพราะทั้งพุทธไทยและระบบชายเป็นใหญ่โดนครอบโดยระบบชนชั้น มีความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง และอยู่ใต้อาณัติลัทธิคลั่งชาติ คลั่งเชื้อชาติอย่างรุนแรงจนสูญเสียมนุษยธรรม

ประเทศที่ไม่มีช่องว่างทางชนชั้นมากนัก มีความเท่าเทียมเป็นพื้นฐาน ถึงแม้จะอยู่ในสังคมบริโภคนิยมสุดขั้ว ก็มักจะปฏิเสธอำนาจนิยมแบบทหาร ปฎิเสธชนชั้นแบบศักดินา ความสัมพันธ์แบบนายกับบ่าว และการเอาเปรียบทางเพศ

ในบ้านเรา เรื่องความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายนั้น หลายคนเคยเชื่อว่าการศึกษาคือคำตอบ หลายสิบปีผ่านไป เพศหญิงได้พิสูจน์ว่าไม่เป็นรองเรื่องการศึกษา ยกเว้นในสถาบันที่กีดกันทางเพศเช่นทหารตำรวจ แต่กระนั้นจำนวนผู้หญิงในระดับผู้บริหารของรัฐ หรือเป็นตัวแทนในภาคการเมือง ก็ยังน้อยนิดอย่างน่าอาย

จริงอยู่ จำนวนนักบริหารธุรกิจหญิงในไทยอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก แต่ก็นั่นแหละ เท่าไหร่ที่เป็นธุรกิจครอบครัว และการที่ผู้หญิงสามารถทำงานจนประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ ได้นั้น ใครจะปฎิเสธได้ว่าเป็นเพราะสังคมที่เหลื่อมล้ำนี่แหละ ทำให้ยังมีผู้หญิงที่ยากจนจำเป็นต้องมาทำงานบ้าน ช่วยผู้หญิงที่มีฐานะดีให้หนีงานหนักในบ้านได้ หนีงานที่สังคมไม่ให้คุณค่ามาใช้ความสามารถในการทำงาน และยังสามารถบอกได้ว่าไม่ได้บกพร่องในการดูแลบ้าน ได้ทำหน้าที่ที่สังคมบอกว่าเป็นหน้าที่ของเมียและแม่ได้อย่างดี ไม่ขาดตกบกพร่อง

ที่น่าตกใจคือคนทำงานบ้าน ส่วนมากยังถูกปฏิบัติใกล้เคียงทาส ไร้เสียงไร้สิทธิ ยิ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ ไม่ต้องพูดถึง

อะไรที่ทำให้ผู้หญิงที่มีการศึกษาดี มีหน้าที่การงานดี หลายคนก็ยังปฎิบัติกับหญิงที่ด้อยกว่าเหมือนเป็นบ่าวไพร่ในยุคก่อนเก่า

ทำไมการศึกษาไม่ได้ช่วยให้เห็นคนเป็นคน

การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศในบ้านเราไม่ไปถึงไหนเพราะความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำเป็นจักรกลผลิตผู้หญิงยากจนให้มาช่วยทำงานบ้านกับผู้หญิงที่มีฐานะ จะได้ไม่ต้องตั้งคำถามกับคู่ครอง ไม่ต้องเรียกร้องให้แบ่งเบางานบ้าน ไม่เรียกร้องสิทธิ ยอมรับวัฒนธรรมความไม่เท่าเทียม และก็เลี้ยงลูกชายให้เป็นนายในบ้าน ให้เป็นภาระของผู้หญิงรุ่นต่อไปอีก

ถ้าสังคมเรามีความเท่าเทียมกัน ก็จะไม่มีใครมาช่วยทำงานบ้าน ผู้หญิงก็ต้องเรียกร้องให้ผู้ชายในครอบครัวทำหน้าที่ของตน จะมีการเรียกร้องให้คุณค่าทางเศรษฐกิจกับงานบ้าน งานที่ต้องดูแลคนในครอบครัว ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องกับนโยบายรัฐอีกมากมายให้ตอบสนองความต้องการของคนที่ต้องรับภาระนี้ได้ดีขึ้น

และถ้ารัฐมีนโยบายให้คนทุกชนชั้นเข้าถึงโอกาสในชีวิตได้เท่าเทียมกัน ความรู้สึกทางชนชั้นก็จะค่อยคลี่คลายลง

แต่จะเป็นได้อย่างไร เมื่อสังคมยุคนี้มุ่งย้อนยุคเชิดชูความไม่เท่าเทียมกัน ต้านกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก ต้านแรงใฝ่หาความยุติธรรม ต้านกฎธรรมชาติที่ว่ามีแรงกดมากแค่ไหน แรงสู้สะท้อนกลับก็แรงเท่านั้น

ต้านคำสอนทางพุทธทุกข้อ

พากันเงียบงันเพราะความกลัว

การเปลี่ยนแปลงต้องการความกล้าหาญทางจริยธรรม กระแสปฎิบัติธรรมในสังคมทุกวันนี้จะช่วยได้หรือไม่ จะช่วยลดทุกข์ของคนอ่อนแอในสังคมได้อย่างไร หรือจะทำให้คนที่แข็งแรงอยู่แล้วมีพลังในการทำงานให้ระบบที่ไม่เป็นธรรมนี้รุดหน้าขึ้นไปอีก

คำตอบไม่น่าจะให้ความหวังกับสังคมนี้มากนัก

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save