fbpx
ตนกู อับดุล เราะห์มาน : ชาวสยาม ผู้เป็นปฐมนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

ตนกู อับดุล เราะห์มาน : ชาวสยาม ผู้เป็นปฐมนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

ก่อนที่ไทรบุรีหรือเคดะห์จะอยู่ในอาณัติอังกฤษเมื่อปี 2452 นั้น ไทรบุรียังเป็นส่วนหนึ่งของสยาม มีเจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดีศรีสุลต่านเป็นผู้ปกครอง โดยในปี 2446 ชายาชาวสยามของท่านสุลต่านได้ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง ซึ่งถือกำเนิดเป็นชาวสยาม แต่เมื่อเติบใหญ่ขึ้นจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก และเป็น ‘บิดาแห่งเอกราช’ ของอีกประเทศหนึ่ง

ตนกู อับดุล เราะห์มาน คือชายผู้นั้น ผู้เกิดมาเป็นชาวสยามและมีความผูกพันกับชาวสยาม ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศมาเลเซีย

ตนกู อับดุล เราะห์มาน
ตนกู อับดุล เราะห์มาน (Tunku Abdul Rahman Putra) (8 กุมภาพันธ์ 2446 – 6 ธันวาคม 2533)  

กำเนิด

ตนกู อับดุล เราะห์มาน ปุตรา เกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2446 เป็นบุตรชายของเจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี[1] (สุลต่าน อับดุล ฮามิด พ.ศ. 2407-2486) สุลต่านองค์ที่ 24 แห่งเคดะห์ หรือไทรบุรีของสยาม ในหัวเมืองมลายู กับหม่อมเนื่อง (พ.ศ. 2392-2482) บุตรีหลวงนราบริรักษ์ (เกล็บ นนทะนาคร) นายอำเภอเมืองปากเกร็ดกับนางอิ่ม ซึ่งเป็นครอบครัวเชื้อสายมอญ

หลังจากนั้นไม่นานนัก ในปี 2452 รัฐบาลสยามได้ยก 4 รัฐมลายู ได้แก่ กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิสให้แก่อังกฤษ เพื่อผลประโยชน์ด้านการจัดการปัญหาสิทธิภาพนอกอาณาเขต ไทรบุรีจึงพ้นจากอำนาจของสยามแต่นั้นมา

ก่อนที่ตนกู อับดุล เราะห์มาน จะเกิดมานั้น มีเรื่องใหญ่เกิดขึ้นในไทรบุรี กล่าวคือกรมวังผู้รักษาตราลัญจกรประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง แอบอ้างเบื้องสูงใช้ตราออกโฉนดให้ผู้คนโดยมิชอบ โทษถึงประหารชีวิต และลูกเมียจะถูกตัดนิ้วหัวแม่มือขวาทุกคนเป็นการประจาน

ภรรยาของกรมวังผู้นี้จึงมาร้องขอต่อหม่อมเนื่องให้ช่วยผ่อนหนักเป็นเบา หม่อมเนื่องก็เกิดสงสารผู้จะต้องรับเคราะห์โดยมิได้มาจากความผิดของตนเลย จึงอาศัยความเชื่อท้องถิ่นที่ว่า ระหว่างที่ลูกจะเกิด พ่อแม่ต้องไม่ไปฆ่าแกงใคร มิฉะนั้นวิญญาณร้ายของผู้นั้นจะมาสิงลูกในท้อง จึงทูลสุลต่านผู้สามีว่า เธอกำลังตั้งครรภ์ ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่แน่ใจว่าตั้งครรภ์จริงหรือไม่ กรมวังจึงพ้นโทษตาย ลูกเมียก็พ้นจากโทษตัดนิ้วไปด้วย

ตนกู อับดุล เราะห์มาน จึงเกิดมาโดยกุศลกรรมที่เกิดจากการให้อภัยทานชีวิต เชื่อกันว่าจะเป็นอภิชาตบุตร

นอกจากความเมตตา ความใจดี ชอบช่วยเหลือผู้คนแล้ว หม่อมเนื่องยังสามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดเดี่ยวอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังเป็นคนหาเงินเก่ง โดยใช้เงินจากการขายที่ดินมรดกมาเป็นทุนรอน ลงทุนตัดถนนสายใหม่ผ่านที่ดินในอะลอร์ สะตาร์ ที่ได้รับเป็นของขวัญแต่งงานมาจากสุลต่าน แล้วพัฒนาเป็นย่านการค้าของเมือง

ตนกู อับดุล เราะห์มาน พร้อมด้วยสุลต่าน อับดุล ฮามิด และหม่อมเนื่อง
ตนกู อับดุล เราะห์มาน พร้อมด้วยสุลต่าน อับดุล ฮามิด และหม่อมเนื่อง  

การศึกษา

ตนกู อับดุล เราะห์มาน เข้าโรงเรียนที่อะลอร์ สะตาร์เมื่ออายุ 6 ขวบ จากนั้นจึงย้ายไปโรงเรียนแห่งใหม่ที่รัฐบาลบริติชมลายาตั้งขึ้น ซึ่งมีโมฮัมหมัด อิสคานดาห์ (บิดาของมหาเธร์ บิน มูฮัมหมัด) เป็นครูใหญ่  ตามประสาคุณหนู  ตนกู อับดุล เราะห์มานชอบเล่นมากกว่าเรียน ชอบหนีโรงเรียนไปยิงนกตกปลากับเพื่อนๆ ชอบไปว่ายน้ำในแม่น้ำเคดะห์ที่มีจระเข้ปรากฏกายให้เห็นอยู่เนืองๆ

จนอายุได้ราว 10 ขวบ เมื่อพี่ชายคนโตกลับจากอังกฤษแล้วเห็นความประพฤติของน้องชายแล้ว จึงกลัวจะเสียคน เลยขอหม่อมเนื่องให้ส่งไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ โดยตนกู ยูซุฟ พี่ชายคนโต เป็นผู้นำมาฝากเข้าโรงเรียนเทพศิรินทร์  แม้ต่างที่แปลกถิ่น แต่ตนกู อับดุล เราะห์มาน กลับไม่มีปัญหาในการปรับตัว ไม่เคยขาดเพื่อน เพราะมีเพื่อนมากจากการเล่นฟุตบอลด้วยกัน

ผ่านไปเพียง 2 ปี ตนกู ยูซุฟ ซึ่งรับราชการไทยจนครองยศร้อยเอก ถึงแก่กรรมอย่างกะทันหันจากโรคปอดบวม  ตนกู อับดุล เราะห์มาน จึงถูกเรียกตัวกลับบ้าน แล้วส่งไปเรียนหนังสือที่ Penang Free School ในปีนังแทน

ที่นี่เองเขาได้ครูดีชื่อ H. R. Cheeseman จุดประกายให้เขามาสนใจภาษาอังกฤษ และทำผลการเรียนได้ดีจนได้ข้ามชั้น แม้ขณะนั้นจะเป็นนักฟุตบอลของโรงเรียนอยู่ด้วย  จนเมื่ออายุได้ 16 ปี ตนกู อับดุล เราะห์มาน ก็ได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในฐานะนักเรียนเรียนดี

ตนกู อับดุล เราะห์มาน (ขวา) กับ หลวงถวิลเศรษฐพณิชยการ (ถวิล คุปตารักษ์) ในชุดลูกเสือสยาม โรงเรียนเทพศิรินทร์ พ.ศ. 2457 
ตนกู อับดุล เราะห์มาน (ขวา) กับ หลวงถวิลเศรษฐพณิชยการ (ถวิล คุปตารักษ์) ในชุดลูกเสือสยาม โรงเรียนเทพศิรินทร์ พ.ศ. 2457  

วัยว้าวุ่น

ตนกู อับดุล เราะห์มาน มาถึงอังกฤษในปี 2463 หลังจากเตรียมตัวอยู่พักใหญ่ จึงได้เข้าเรียนที่ St. Catherine College มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

วัยรุ่นของเขา ยังคงใช้จ่ายมือเติบ หลังจากไปเดินงาน Motor Show ประจำปี 2466 แล้วต้องใจรถสปอร์ตรุ่นล่าสุดของ Riley มูลค่า 550 ปอนด์ จึงจองไว้แล้วโทรเลขมาขอเงินหม่อมแม่ทันที ซึ่งท่านก็สนองให้เป็นของขวัญเข้ามหาวิทยาลัย

ถึงปี 2469 ตนกู อับดุล เราะห์มาน แสดงความเป็นผู้นำก่อตั้ง The Malaya Society of Great Britain ขึ้นจากการรวบรวมเจ้านายรัฐมลายูต่างๆ ที่ถูกส่งมาเรียนในอังกฤษ โดยเขาสังเกตมาตั้งแต่เวลานั้นแล้วว่า เจ้านายจากรัฐต่างๆ เหล่านี้มักถือตัว ไม่ชอบคบคนอื่น และคนมาเลย์ในยุคนั้นยังขาดสำนึกของความเป็นชาติเดียวกัน เนื่องจากแต่ละรัฐเป็นอริชิงดีชิงเด่นกันมาตลอด การมารวมตัวกันได้เช่นนี้นับเป็นก้าวแรกที่ดีของความพยายามหลอมละลายความรู้สึกชาตินิยมระดับรัฐมาสู่ความเป็นคนชาติเดียวกัน

ใช้เวลาเรียนหนังสืออยู่ 5 ปี ตนกู อับดุล เราะห์มาน จึงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตจากเคมบริดจ์  เมื่อเดินทางกลับบ้าน ทางราชการเห็นว่าอายุยังน้อยเพียง 23 ปี จึงให้เขากลับมาศึกษาต่อในระดับเนติบัณฑิต

แต่คราวนี้ประสบความล้มเหลว เพราะไปติดแหม่มอังกฤษชื่อไวโอเล็ต เป็นเพื่อนเต้นรำ แข่งม้า เล่นกาสิโน ฯลฯ จนขึ้นชื่อว่าเป็นเพลย์บอยชื่อดัง เมื่อครบ 3 ปีของการเรียนต่อ จึงกลับบ้านเพียงมือเปล่า

ตนกู อับดุล เราะห์มาน เมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์  
ตนกู อับดุล เราะห์มาน เมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์  

รับราชการ

ตนกู อับดุล เราะห์มาน เริ่มรับราชการในตำแหน่งนายอำเภอปาดัง เทรับ เมืองชายแดน หลังจากนั้นจึงย้ายไปที่ลังกาวี สามารถพัฒนาที่นั่นให้เจริญขึ้น มีการทำท่าเทียบเรือ กรุยทางทำถนน และรื้อฟื้นตำนานมัสซุรีของเมืองเพื่ออธิบายเรื่องพ้นคำสาปตามความเชื่อแต่เดิม ด้วยผลงานที่โดดเด่นจากเมืองนี้จึงได้ย้ายไปอยู่เมืองสุไหงปาตานี เมืองใหญ่อันดับสองของเคดะห์ รองจากอะลอร์ สะตาร์

เมื่อเป็นนายอำเภอสุไหงปาตานี  ตนกู อับดุล เราะห์มาน ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของเลขาธิการรัฐชาวอังกฤษเรื่องการผูกขาดการต่อใบอนุญาตขับรถแท็กซี่ จึงเป็นผู้นำคนขับรถแท็กซี่ไปประท้วง ทำให้โดนคำสั่งย้ายด่วนไปเป็นนายอำเภอที่เมืองเล็กๆ แถวชายแดน

ตนกู อับดุล เราะห์มาน จึงคิดไปเรียนต่อเนติบัณฑิต เผื่อว่าไม่สามารถทนรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษได้ จะได้ลาออกจากราชการไปเป็นทนายความ

สงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อญี่ปุ่นบุกเคดะห์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตนกู อับดุล เราะห์มาน ก็ขัดแย้งกับกองทัพญี่ปุ่น เมื่อเขาไม่เห็นด้วยกับคำสั่งเกณฑ์แรงงานให้ชาวบ้านโค่นต้นยางพาราแล้วปลูกฝ้ายแทน เพราะไม่เห็นหนทางที่ฝ้ายจะเจริญเติบโตได้ในสภาพภูมิอากาศที่เคดะห์ จึงถูกนายทหารญี่ปุ่นย้ายเข้ากรุ

สงครามโลกเกิดขึ้นไม่นานนัก ด้วยความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น รัฐมลายูทั้ง 4 ก็กลับมาเป็นของประเทศสยามที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็นไทย เคดะห์จึงกลับมาเป็นจังหวัดไทรบุรี

งานหลักของตนกู อับดุล เราะห์มานในช่วงนี้ คือการช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์จากภัยสงคราม ค่ายผู้ลี้ภัยของท่านได้ใช้เป็นที่พักฟื้นกรรมกรทาสที่ถูกเกณฑ์แรงงานสร้างทางรถไฟสายมรณะ จนหลายคนที่รอดชีวิตมาได้ยังคงซาบซึ้งใจเสมอมา

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ออกประกาศสันติภาพ กล่าวถึงความเป็นโมฆะของการประกาศสงครามที่ทำโดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และแสดงเจตจำนงชัดเจนว่า “บรรดาดินแดนซึ่งญี่ปุ่นได้ให้ไทยครอบครอง คือรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปลิส เชียงตุง และเมืองพานนั้น ประเทศไทยไม่มีความปรารถนาที่จะได้ดินแดนเหล่านี้ พร้อมที่จะจัดการเพื่อส่งมอบในเมื่อบริเตนใหญ่พร้อมที่จะรับมอบไป[2]

ตนกู อับดุล เราะห์มาน เมื่อสำเร็จเนติบัณฑิตอังกฤษปี 2490  
ตนกู อับดุล เราะห์มาน เมื่อสำเร็จเนติบัณฑิตอังกฤษปี 2490  

สู่ถนนการเมือง

หลังสงครามโลกสงบลง  ตนกู อับดุล เราะห์มาน เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษจนสำเร็จการศึกษาเนติบัณฑิตจากสำนัก Inner Temple นับว่าเป็นความพยายามที่น่าประทับใจ เพราะเป็นการมาเรียนต่อเมื่ออายุขึ้นเลขสี่แล้ว

กลับไปรับราชการคราวนี้ เขาเริ่มจากการเป็นอัยการผู้ช่วยในกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวง แล้วเจริญก้าวหน้าตามลำดับจนเป็นประธานศาลชั้นต้น

หลังจากนั้นเป็นช่วงเวลาที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามโรดแม็ปของรัฐบาล มีพรรคที่ใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นคือ The United Malays National Organization (UMNO) ซึ่งเป็นพรรคของสุลต่าน ขุนนาง ชนชั้นสูง มีนโยบายอนุรักษนิยม และคัดค้านระบอบอังกฤษ

ตนกู อับดุล เราะห์มาน ได้รับเชิญเข้าพรรคอัมโนนี้ และได้รับตำแหน่งประธานสาขาพรรคของเคดะห์  หลังจากนั้นจึงได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรค แทนที่ดาโต๊ะ เซอร์ ออนน์ บิน ยาฟาร์ ที่จำต้องลาออกจากพรรคไป เนื่องจากข้อเสนอที่เขาต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ใช่ชาวมลายูแท้เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคได้นั้น ได้รับการปฏิเสธจากที่ประชุมของพรรค

เกี่ยวกับเรื่องพรรคอัมโนนี้ มีเกร็ดที่ตนกู อับดุล เราะห์มาน เขียนในหนังสือพิมพ์รายวัน The Star ฉบับวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.1987 เล่าเรื่องการระดมทุนในการตั้งพรรคว่าได้ขอรับบริจาคเงินจากหลายที่ แต่ปรากฏว่ามีแต่เพื่อนจากเมืองไทยที่ให้ความช่วยเหลือ ความว่า

When we fought our first election in 1955, I personally went begging and wrote to all the rulers, the rich men among the Arabs of Singapore, and begged from all the Muslim countries in the Middle East, and I went to Thailand to ask for help. Only the friends from Thailand gave us help, and we had to stump up the rest of money for elections; we managed to raise about $135,000.”

นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย

ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2498 พรรคพันธมิตรที่นำโดยพรรคอัมโนได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น จึงได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และตนกู อับดุล เราะห์มาน ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้ารัฐมนตรี (Chief Minister)

ภารกิจสำคัญของเขาคือการเจรจาเรื่องเอกราชของประเทศจากอังกฤษ โดยใช้ความนุ่มนวล จริงใจ อดทน ยืดหยุ่นในการต่อรอง ทำให้อังกฤษไว้ใจเขามาก และนำมาสู่การมอบเอกราชให้ในที่สุด

และแล้ววันประเทศเอกราชของสหพันธรัฐมลายาก็มาถึง วันที่ 31 สิงหาคม 2500 ณ เมอร์เดก้าสเตเดียม (สนามเอกราช) ตนกู อับดุล เราะห์มาน ได้ทำพิธีประกาศเอกราชขึ้น โดยมีสุลต่านจากทั้ง 9 รัฐ และดยุคแห่งโกลสเตอร์ ผู้แทนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมทั้งราษฎรมาเลเซียกว่า 25,000 คนในสนามร่วมเป็นสักขีพยาน

เมื่อประเทศเป็นเอกราชแล้ว ตนกู อับดุล เราะห์มาน จึงได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ และได้รับยกย่องเป็น ‘บิดาแห่งเอกราช’ (Bapa Merdeka) อีกด้วย

หลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียถึง 13 ปี (31 สิงหาคม 2500 – 22 กันยายน 2513) ตนกู อับดุล เราะห์มาน จึงได้วางมือทางการเมือง

พิธีประกาศเอกราช โดยตนกู อับดุล เราะห์มาน เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2500 
พิธีประกาศเอกราช โดยตนกู อับดุล เราะห์มาน เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2500 

 

ผู้เชื่อมความสัมพันธ์อันดี

ในงานวิจัยเรื่อง นโยบายต่างประเทศไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านในยุคสงครามเย็น : ห้ากรณีศึกษาเปรียบเทียบ ของ สุรพงษ์ ชัยนาม สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ในหัวข้อเรื่องประเทศมาเลเซีย ผู้วิจัยกล่าวถึงตนกู อับดุล เราะห์มาน ไว้ว่า

บุคคลสำคัญที่สุดที่ได้มีบทบาทและอิทธิพลโดยตรงด้านการวางหลักการและการกำหนดนโยบายของมาเลเซียต่อการดำเนินความสัมพันธ์กับไทย คือ ตนกู อับดุล ราห์มาน นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย  ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ได้รับการยืนยันในเชิงประจักษ์ในหลายโอกาส หลายเหตุการณ์ ตลอดช่วง 13 ปีของการเป็นนายกรัฐมนตรีของ ตนกู อับดุล ราห์มาน (พ.ศ. 2500-2513) โดยตนกู อับดุล ราห์มาน ได้เคยแสดงทัศนะและความรู้สึกที่ตนมีต่อประเทศและประชาชนไทย ต่อความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย อันเป็นทัศนะและความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดีต่อไทย ความเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับประเทศไทยและสังคมไทย ตลอดจนเป็นทัศนะที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างจริงจังที่จะส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียมีความมั่นคงก้าวหน้าเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศไทย

สอดคล้องกับที่ตัวเขาเองเคยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าระลึกถึงชีวิตเด็กที่เทพศิรินทร์ด้วยความปีติเป็นอันมาก การศึกษาที่ข้าพเจ้าได้รับจากที่นั่นและชีวิตที่เคยอยู่ในประเทศไทย นับเป็นทุนทรัพย์อันมีค่าอย่างแท้จริงในการปฏิบัติงานปัจจุบันของข้าพเจ้าในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพราะความรักในชีวิตไทยของข้าพเจ้าช่วยอำนวยให้เกิดความร่วมมืออันใกล้ชิดระหว่างประเทศทั้งสองของเรา

ตนกู อับดุล เราะห์มาน ในงานประเพณีไทปูซัม ที่ถ้ำบาตู เมื่อปี 2510  
ตนกู อับดุล เราะห์มาน ในงานประเพณีไทปูซัม ที่ถ้ำบาตู เมื่อปี 2510  

 

งานในบั้นปลายชีวิต

หลังจากเลิกเล่นการเมืองแล้ว ตนกู อับดุล เราะห์มาน หันมาทำงานด้านศาสนา โดยริเริ่มให้มาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดประชุมใหญ่อิสลามิกสัมพันธ์แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นเป็นครั้งแรก  จากนั้นจึงไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์กรมุสลิมโลก ที่มีสำนักงานใหญ่ในซาอุดิอาระเบีย

เมื่ออยู่ในตำแหน่งได้ 3 ปี จึงเกษียณจากงานดังกล่าว กลับสู่มาตุภูมิแล้วทำหนังสือพิมพ์ The Star เป็นทั้งเจ้าของและคอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ ‘มองย้อนอดีต’ และ ‘ตามที่ข้าพเจ้าเห็น’ ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จมากพอสมควร จนถูกรัฐบาลปิดไปในปี 2530 หลังจากดำเนินนโยบายกวาดล้างฝ่ายค้าน

ในที่สุด ตนกู อับดุล เราะห์มาน ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2533 ด้วยวัย 87 ปี

ตราไปรษณียากรในวาระ 100 ปีชาตกาล ตนกู อับดุล เราะห์มาน 'บิดาแห่งเอกราช' ของประเทศมาเลเซีย   
ตราไปรษณียากรในวาระ 100 ปีชาตกาล ตนกู อับดุล เราะห์มาน ‘บิดาแห่งเอกราช’ ของประเทศมาเลเซีย   

เคล็ดลับของความสุข

ความผูกพันที่มีต่อประเทศไทยนั้น มีแสดงออกอยู่บ่อยครั้ง เช่นคราวหนึ่ง ตนกู อับดุล เราะห์มาน เขียนลงหนังสือ ชื่นชุมนุม อนุสรณ์ในงานเปิดสโมสรสถานหลังใหม่ของสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ เมื่อปี 2509 ว่า

บางคราวข้าพเจ้าเคยคิดว่า หากพี่ชายข้าพเจ้าทรงมีชีวิตอยู่ต่อมา ชีวิตของข้าพเจ้าเองคงจะดำเนินไปในวิถีที่แตกต่างไปจากนี้ ข้าพเจ้าอาจได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในประเทศไทย แต่นั่นคือโชคชาตา  ขณะนี้แทนที่จะมีชีวิตสะดวกสบายในวัยที่อายุย่างเข้า 63 ปี ข้าพเจ้ายังต้องทำงานหนักอยู่แทบทุกเวลา

ส. ศิวรักษ์ เล่าว่า เมื่อเขาเดินทางไปมาเลเซียครั้งแรกในปี 2508 ได้เยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีที่บ้านพัก  เมื่อ ฯพณฯ เห็นชาวไทยปรากฏที่นั่นจึงเข้ามาทักทาย และพูดถึงอาหารไทยที่ท่านชื่นชอบอย่างห่อหมกปลา และได้สนทนากันตามสมควร  แต่มีเรื่องหนึ่งที่ ส. ศิวรักษ์ ประทับใจไม่เลือนคือ เขาถามตนกู อับดุล เราะห์มาน ว่าเหตุใดท่านจึงยังมีความสุขและมีสุขภาพสมบูรณ์ดี ทั้งๆ ที่มีงานราชการต่างๆ อยู่มาก  ฯพณฯ ตอบว่า “My Siamese mother told me that whatever could be done tomorrow, don’t do it today.”[3] พร้อมด้วยเสียงหัวเราะ

เคล็ดลับของความสุขที่ว่า มาจากคำสอนของหม่อมเนื่อง มารดาชาวสยาม นั่นเอง

Che Manjalara หรือหม่อมเนื่อง มารดาชาวสยามของตนกู อับดุล เราะห์มาน  
Che Manjalara หรือหม่อมเนื่อง มารดาชาวสยามของตนกู อับดุล เราะห์มาน  

บรรณานุกรม

หนังสือ

ชัยนิมิต นวรัตน, ม.ล.. ประวัติศาสตร์มีชีวิต 3 ตนกู: อดีตชาวสยาม ผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย. กรุงเทพฯ: อักษรโสภณ, 2558.

สุรพงษ์ ชัยนาม. นโยบายของไทยต่อมาเลเซีย. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2560.

อดีตทูต (วิ) สามัญ. เสี้ยวหนึ่งของการทูตไทยร่วมสมัย อยากเป็นทูตก็ไม่ยาก. ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2557.

เว็บไซต์

นูรุลฮูดา ฮามะ. “ตนกูอับดุล เราะห์มาน” สารานุกรมอาเซียน. https://aseanpedia.wu.ac.th/site/readencyclopedia?id=25 . เข้าถึงเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561.

ตนกู อับดุล เราะห์มาน. “สาส์นจากนายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย” http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3304.15. เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561.

[1] เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีสุลต่านมหมัด รัตนรชมุนินทร์ สุรินทรวิวงษผดุง ทะนุบำรุงเกดะนคร อมรรัตนาณาเขตร ประเทศราชราไชสวริยาธิดี วิกรมสีหะ เจ้าพระยาไทรบุรี

ดู “ประกาศในการเลื่อนพระยาไทรบุรีเปนเจ้าพระยาไทรบุรี,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 12, 1 กันยายน 2438, หน้า 190-191.

[2] ดู “ประกาศสันติภาพ,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 62 ตอนที่ 44, 16 สิงหาคม 2488.

[3] สัมภาษณ์ ส. ศิวรักษ์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save