วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่องและภาพ
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
พนัสนิคมเป็นเมืองเล็กๆ ในจังหวัดชลบุรี ไม่ค่อยมีคนสนใจ หากเทียบกับเพื่อนบ้านเมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยา บ้านบึง ศรีราชา
เทศบาลเมืองพนัสนิคม มีผู้คนอาศัยประมาณหมื่นกว่าคน บนเนื้อที่สองพันกว่าไร่ ถือว่าเป็นเมืองขนาดย่อม
คนทั่วไปอาจรู้จักพนัสนิคม จากชื่อเสียงของเครื่องจักสานอันเก่าแก่ หรือเคยเป็นที่ตั้งศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยสงครามจากเขมรและเวียดนามเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน
แต่เทศบาลเมืองพนัสนิคม ได้รับการยอมรับอย่างเงียบๆ ยาวนานนับสิบปีแล้วว่า
เป็นเมืองต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในระดับอาเซียน
เป็นเมืองน่าอยู่อันดับหนึ่งของประเทศระดับเทศบาลเมือง
ได้รับคัดเลือกจากองค์การอนามัยโลก ให้เป็น 1 ใน 1,000 เมืองระดับโลก ที่รณรงค์พิทักษ์คุณภาพชีวิตและสุขภาพคนเมือง
ส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือบริหารของนายกเทศมนตรีนามว่า นายวิจัย อัมราลิขิต ชาวเมืองพนัสนิคม อดีตวิศวกรปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา
เมื่อกลับมาบ้าน และได้รับเลือกจากประชาชนมาแล้ว เขาเริ่มทำงานตามความฝันทันที เป็นเวลาร่วมสามสิบปี กว่าหลายสิ่งหลายอย่างจากความฝันเป็นความจริง
วันนี้คนที่ไปเมืองพนัสนิคม ลองเดินไปตามท้องถนน บนฟุตบาทมีทางสำหรับคนตาบอดโดยเฉพาะ ที่ใช้งานได้ ไม่ใช่ทำแบบขอไปทีเหมือนในกรุงเทพมหานคร
เดินไปตามท้องถนนนึกว่าอยู่ในประเทศญี่ปุ่น แทบไม่มีขยะ และไม่มีถังขยะให้คนทิ้ง แต่บ้านเมืองสะอาด
เขาเชื่อว่าถังขยะตามท้องถนนเป็นแรงจูงใจให้คนอยากทิ้งขยะ แต่เมื่อไม่มีถังขยะ คนส่วนใหญ่มักไม่กล้าทิ้ง
เทศบาลรณรงค์ให้ประชาชนในชุมชนร่วมกันคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางในบ้าน สนับสนุนรถซาเล้งให้รับซื้อขยะ
ในส่วนของโรงเรียนมีการให้เด็กมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะ จัดทำโครงการธนาคารขยะ แยกขยะปลายทาง และนำขยะอินทรีย์มาทำปุ๋ยหมัก อย่างจริงจัง
ทุกครัวเรือนมีถังแยกขยะชัดเจน หากบ้านใครไม่ยอมแยกขยะ รถเก็บขยะจะไม่เก็บขยะบ้านนั้น
ความสามารถในการแยกขยะมีประสิทธิภาพมาก จนกระทั่งบ่อทิ้งขยะเดิมพื้นที่หลายสิบไร่ แทบจะไม่ได้ใช้งาน จึงถูกเปลี่ยนเป็นสวนผักปลอดสารพิษ
พนัสนิคมกลายเป็นเมืองปลอดโฟม โดยทางเทศบาลของความร่วมมือจากพ่อค้า แม่ค้า ทุกภาคส่วน ไม่ให้ใช้โฟมเป็นภาชนะบรรจุอาหาร ทดแทนด้วยวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือทำจากวัสดุจากธรรมชาติ และทำได้สำเร็จ
ทุกครัวเรือนมีบ่อดักไขมันจากการล้างจาน ทำความสะอาด ก่อนน้ำเสียเหล่านี้จะถูกส่งไปยังท่อระบายน้ำเสีย และสู่โรงงานบำบัดน้ำเสีย
ท่อระบายน้ำเสียเป็นท่อที่แยกต่างหากจากคลอง ไม่ได้มักง่ายต่อท่อไหลลงคลองเหมือนเมืองส่วนใหญ่ คลองในเมืองพนัสนิคมจึงมีคุณภาพดีกว่าคลองในเมืองหลายแห่ง
ทางเทศบาลเมือง มีนโยบายลดการใช้พลังงานชัดเจน โดยมีการเก็บข้อมูลสถิติปริมาณการใช้ไฟฟ้า น้ำประปา และน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างเป็นระบบ
รณรงค์ใช้จักรยาน และการเพิ่มทางจักรยาน
ตะแกรงฝาท่อระบายน้ำ ปลอดภัยสำหรับคนขี่จักรยาน
ตั้งสัญญาณไฟกะพริบจราจรโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์
เปลี่ยนหลอดไฟฟ้านีออนทั้งหมดเป็นหลอดไฟ LED
เมืองเล็กๆ แห่งนี้มีสนามกีฬา และสวนสาธารณะ 9 แห่ง แห่งล่าสุดออกแบบให้เป็นแบบ universal design อำนวยความสะดวกให้คนพิการและคนสูงวัยเป็นหลัก
มีสวนสาธารณะปลูกต้นไม้ใหญ่กลางเมือง สร้างเมืองพนัสนิคมให้เป็นเมืองสีเขียว เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก
เทศบาลเมืองพนัสนิคมมีการรณรงค์ให้ประชาชนบริโภคสินค้าในท้องถิ่น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและพลังงานในการเดินทางและขนส่งสินค้า พร้อมสร้างอาชีพ เช่นการปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษ การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ
เทศบาลมีนโยบายก้าวหน้าในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าพัสดุ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อันที่จริงผลงานเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องราวดีๆ ที่สังคมไทยพูดกันมานานว่าคือภาพฝันของเมืองยั่งยืน เมืองน่าอยู่ แต่อยากเห็นการปฏิบัติจริงในพื้นที่ ไม่ใช่แค่คำสวยหรูที่พูดกันในวงประชุม หรือเป็นแค่เอกสารงานสัมมนาเท่านั้น
ลองมาสำรวจที่พนัสนิคม ไม่น่าเชื่อว่า แทบทุกอย่างเป็นจริง จากการลงมือทำงานอย่างจริงจังของทุกฝ่ายเป็นเวลานาน ที่ร่วมกันลองผิดลองถูกมาตลอด
นายกเทศมนตรีวัย 69 กำลังทำให้เมืองนี้มีคาร์บอนต่ำ เพราะเล็งเห็นอันตรายจากโลกร้อน และเตรียมรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่วิปริตขึ้นทุกวัน
เขาบอกผมว่า “เรามักคิดว่า งานสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของหน่วยงานนั้น หน่วยงานนี้ แต่ผมบอกพนักงานทุกคนว่า สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่โยนภาระไปให้คนอื่น”
ทุกคนในความหมายของเขาคือ พนักงาน หน่วยงานรัฐ และประชาชนทุกคนด้วย
พนักงานทุกคนรวมถึงนายกฯ ถูกประเมินผลงานจากประชาชนตลอดเวลาจากงาน
ขณะเดียวกันก็ให้เกียรติผู้ร่วมงานทุกฝ่าย ทุกระดับ เชื่อมั่นในการทำงานเป็นทีม
คุณวิจัย เป็นนักบริหารตัวจริง เป็นสุดยอดมือประสานทุกฝ่าย
ไม่แปลกใจที่ประชาชนเลือกเขาให้เป็นนายกเทศมนตรีแปดสมัย เพราะชาวบ้านศรัทธามาก เชื่อมั่นในผลงานว่าทำเพื่อชุมชนจริง
ท่านเชื่อในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ว่าคือหัวใจของความเจริญในชุมชน เพราะคนท้องถิ่นแท้ๆ จะรู้ความต้องการของท้องถิ่น
ไม่ใช่ส่งคนจากส่วนกลางมาปกครอง คนเหล่านี้ไม่ได้ผูกพันกับท้องถิ่น ส่วนใหญ่ทำงานไปตามหน้าที่แบบงานประจำ อยู่ได้ไม่นานก็จากไปกินตำแหน่งที่อื่น
วันแรกที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เป็นนายกเทศมนตรี เขาบอกว่า เขามุ่งมั่นที่จะทำให้เมืองเล็กๆ นี้ เป็นต้นแบบของเมืองน่าอยู่ ชีวิตผู้คนมีคุณภาพ ได้รับอากาศดี น้ำสะอาด ปราศจากขยะ มีสวนสาธารณะให้ทุกคน และมีความปลอดภัย
ความมุ่งมั่นของเขาเป็นจริงมานานแล้ว
นี่คือคนตัวเล็กๆ ที่ไม่พูดเยอะ แต่ลงมือทำจริงจัง.