fbpx
ระบอบปูตินเสื่อมอำนาจ?

ระบอบปูตินเสื่อมอำนาจ?

จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ในทุกสังคมการเมืองทั่วโลก อำนาจรัฐย่อมเผชิญกับความเสื่อมอำนาจ เมื่อความชอบธรรมทางการเมืองลดน้อยถอยลง และกระแสความไม่พอใจของประชาชนก่อตัวขึ้นมาอย่างเป็นระบบ แม้ว่ารัฐยังพยายามถือครองอำนาจในการควบคุมและการใช้กำลังความรุนแรงเอาไว้ก็ตาม แต่ความชอบธรรมทางการเมืองย่อมมาจากความยินยอม หรือความยอมรับจากประชาชนในสังคมการเมืองนั้นๆ

ในรัสเซีย การครองอำนาจมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบสองทศวรรษของระบอบปูติน ดูเหมือนกำลังถูกตั้งคำถามและเผชิญกับ ‘สัญญาณของการเสื่อมอำนาจ’

สัญญาณแรกปรากฏออกมาในผลการสำรวจล่าสุด ของโพลที่จัดทำโดย Levada Center เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผลโพลระบุว่าประชาชนชาวรัสเซียร้อยละ 39 ให้ความไว้วางใจต่อประธานาธิบดีปูติน โดยลดลงจากเดิมถึงร้อยละ 9 จากเดือนมิถุนายน 2018 และร้อยละ 20 จากเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2017

ผลโพลยังชี้ว่า ประชาชนชาวรัสเซียให้การสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมของประธานาธิบดี ร้อยละ 67 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 82 ในเดือนเมษายน และร้อยละ 79 ในเดือนพฤษภาคม อย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ โพลของ Levada Center ยังระบุว่า ชาวรัสเซียร้อยละ 41 เชื่อว่าประเทศกำลังดำเนินไปในทิศทางที่ผิดพลาด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 ในเดือนเมษายน รวมทั้งสถาบันประธานาธิบดียังได้รับความเชื่อมั่นน้อยกว่าสถาบันกองทัพ โดยมีคะแนนความเชื่อมั่นร้อยละ 58 และร้อยละ 66 ตามลำดับ

นอกจากผลของโพลจะไปในทิศทางที่สะท้อนความเสื่อมอำนาจและความชอบธรรมของระบอบปูตินแล้ว สัญญาณอีกประการหนึ่ง คือการที่ระบอบปูตินคุมผลการเลือกตั้งในระดับภูมิภาคไม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐในวันที่ 9 กันยายน 2018 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า มีหน่วยทางการเมืองระดับภูมิภาค 4 หน่วย ที่ชนชั้นนำซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมอสโควพ่ายแพ้การเลือกตั้ง และมีผู้นำระดับท้องถิ่นได้รับชัยชนะแทน

สำหรับระบอบอำนาจนิยมในรัสเซียแล้ว การได้ชัยชนะเหนือสี่ภูมิภาคก็ถือว่ามากเกินพอ และอาจเป็น ‘กระแส’ ที่แพร่ขยายไปยังภูมิภาคอื่นได้ในอนาคต แน่นอนว่าปรากฏการณ์นี้ย่อมสร้างความหวาดวิตกให้แก่ชนชั้นนำทางการเมืองของรัสเซียอย่างมาก

กล่าวคือ ระบอบปูตินเริ่มออกอาการคุมไม่ได้ เอาไม่อยู่ อย่างที่เคยเป็นมา

 

เลือกตั้งภูมิภาคที่คุมไม่ได้

 

การเลือกตั้งระดับภูมิภาคในวันที่ 9 กันยายน 2018 เป็นการลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกหัวหน้าฝ่ายบริหารหรือ ‘ผู้ว่าการ’ ของ 21 ภูมิภาคจากทั้งหมด 85 ภูมิภาคทั่วรัสเซีย การเลือกตั้งครั้งนี้กลายเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญต่อเสถียรภาพของระบอบปูติน นับตั้งแต่การเข้าสู่วาระประธานาธิบดีสมัยที่ 4 ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา

ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์กลางอำนาจ และแข่งขันในนามของพรรค United Russia พ่ายแพ้การเลือกตั้งใน 4 ภูมิภาคสำคัญ ได้แก่ Khakassia ซึ่งอยู่ในบริเวณไซบีเรีย และภูมิภาคในภาคกลางอย่าง Vladimir, Primorsky และ Khabarovsk ซึ่งอยู่ในรัสเซียภาคตะวันออกไกลหรือ Russian Far East

ในหลายภูมิภาค เช่น Krasnoyarsk, Armur หรือ Altai ผู้สมัครของระบอบปูตินชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนที่ไม่ทิ้งห่างจากคู่แข่งมากนัก

แม้ว่า Dmitri Medvedev นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค United Russia ได้ออกมาแถลงถึงความสำเร็จของพรรคโดยรวมในการเลือกตั้งว่า พรรค United Russia “ยังครองอำนาจการนำ” ในการเลือกตั้งแทบทุกระดับในรัสเซีย กระนั้นก็ดี ผลการเลือกตั้งภูมิภาคทั้งสี่ ซึ่งดูเหมือนเป็นเพียง ‘outliers’ กลับสั่นสะเทือนโครงสร้างอำนาจของระบอบปูติน และท้าทายความชอบธรรมของอำนาจรัฐบาลกลางอย่างมีนัยสำคัญ

คำถามคือ ใครเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งทั้งสี่ที่ดังกล่าว

ผู้ชนะไม่ใช่พลังการเมืองฝ่ายเสรีนิยมหรือประชานิยม แต่เป็นผู้นำท้องถิ่นที่มีความอนุรักษนิยมสูง หรืออาจเรียกว่าเป็นพวกท้องถิ่นนิยม-ภูมิภาคนิยมก็คงได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง พลังทางสังคมที่ชนะในภูมิภาคเหล่านี้ ‘ขวา’ กว่าชนชั้นนำเดิม ที่นิยมปูตินหรือเทคโนแครตที่ปูตินแต่งตั้งเข้ามาเป็นผู้ว่าการภูมิภาคต่างๆ

คนแรกคือ Valentin Konovalov สมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์ ได้รับชัยชนะในภูมิภาค Khakassia คนที่สองคือ Vladimir Sipyagin สมาชิกรัฐสภาดูมาจากพรรคชาตินิยมขวาจัด อย่างพรรคประชาธิปัตย์เสรีแห่งรัสเซีย (LDPR) สามารถเอาชนะผู้ว่าการภูมิภาค Vladimir ได้ ส่วนคนที่สามนั้นเป็นผู้สมัครจากพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าใดนัก อย่าง Andrei Ishchenko ก็ได้รับชัยชนะเป็นผู้ว่าการภูมิภาค Primorsky ส่วนคนที่สี่คือ Sergei Furgal จากพรรค LDPR ชนะในภูมิภาค Khabarovsk

หลายคนมองว่าการลงคะแนนประท้วงระบอบปูตินครั้งนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจากการต่อต้านการขึ้นอายุเกษียณราชการ โดยในเดือนมิถุนายน 2018 รัฐบาลปูตินได้ประกาศขึ้นอายุเกษียณ จากอายุ 60 ไปเป็น 65 ของผู้ชาย และจากอายุ 55 ไปเป็น 60 ของผู้หญิง ซึ่งกระทบต่อเงินบำเหน็จบำนาญของคนรัสเซียอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากความพ่ายแพ้ของระบอบปูตินในสี่ภูมิภาคดังกล่าว เรายังเห็นการชุมนุมประท้วงต่อต้านการปฏิรูประบบบำนาญในเมืองสำคัญๆ ในวันเลือกตั้งผู้ว่าการภูมิภาค ซึ่งนำโดยผู้นำฝ่ายค้านอย่าง Alexei Navalny จนมีการปราบปรามอย่างหนักโดยตำรวจปราบจลาจล และการตั้งข้อกล่าวหากับผู้ชุมนุมมากกว่าพันคน

ยุทธวิธีของระบอบปูตินในการสนับสนุนผู้สมัครในนามของพรรค United Russia เอง ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ผลอีกเช่นเคย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเทคโนแครตรุ่นใหม่จากศูนย์กลางไปปกครองภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือยุทธวิธีในการช่วยรณรงค์หาเสียง ซึ่งประธานาธิบดีได้พบปะกับผู้ลงสมัครในนามของระบอบปูตินทุกคนก่อนการเลือกตั้ง และยังมีการระบุในโปสเตอร์หาเสียงว่า ผู้สมัครเหล่านั้น “ได้รับการอนุมัติโดยประธานาธิบดี”

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ภาพลักษณ์แบบเดิมของผู้สมัคร ไม่ว่าจะเป็น ‘ผู้สมัครของพรรครัฐบาล’ ‘เทคโนแครตคนรุ่นใหม่’ หรือ ‘ผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดี’ ต่างไม่ช่วยให้ผู้สมัครได้รับชัยชนะอย่างง่ายดาย แต่ประชาชนกลับมองว่าคนเหล่านี้เป็นเพียง ‘ผู้สมัครของระบอบปูติน’ และเลือกที่จะโหวตไม่เอา

 

ทำไมระบอบปูตินล้มเหลวในการเลือกตั้งภูมิภาค   

 

บทความนี้เสนอว่า การโหวตต่อต้านระบอบปูตินนั้นกว้างขวางกว่าการประท้วงแค่นโยบายการเพิ่มอายุเกษียณราชการเท่านั้น ผลการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนมิติสำคัญอย่างน้อยสองมิติ ได้แก่ อัตลักษณ์ระดับภูมิภาค และความไม่พอใจต่อนโยบายสาธารณะของรัฐบาลปูติน

ประการแรก ความไม่พอใจของประชาชน โดยเฉพาะในบริเวณรัสเซียภาคตะวันออกไกล (Russian Far East) นั้นสะท้อนถึง ‘อัตลักษณ์ของภูมิภาค’ (regional identity) ซึ่งมีความเป็นเอกเทศหรือโดดเดี่ยวจากอำนาจศูนย์กลาง และมีความเป็นภูมิภาคนิยม/ท้องถิ่นนิยมค่อนข้างสูง

ผู้คนในภูมิภาคตะวันออกไกลส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นพวกท้องถิ่นนิยม โดยพวกเขามองตัวเองว่ามีความแตกต่าง แยกขาดจากอำนาจศูนย์กลางที่กรุงมอสโคว และมองดินแดนที่อยู่ถัดจาก Novosibirsk ว่าเป็น ‘ตะวันตก’ โดยผู้คนในภูมิภาคตะวันออกไกลยังพยายามธำรงรักษาประเพณีดั้งเดิมเอาไว้ และไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ถูกกำหนดโดยส่วนกลาง พวกเขามองว่าความริเริ่มจากมอสโควเป็นการท้าทายวิถีชีวิตดั้งเดิมของตน และทำลายสิ่งแวดล้อมของภูมิภาค

กล่าวคือ ผู้ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนสถานะเดิม และต้องการรักษาผลประโยชน์ต่างๆ ที่ตนเคยได้รับ เช่น ระบบสวัสดิการ ระบบบำเหน็จบำนาญ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้สมัครหาเสียงจึงเน้นภาพลักษณ์ว่าภูมิภาคของตนนั้นมีความ ‘พิเศษเฉพาะ’ และผู้ว่าการภูมิภาคควรเป็น ‘คนท้องถิ่น’ ไม่ใช่คนที่มาจากส่วนกลาง

ในภูมิภาค Khabarovsk นั้น Sergei Furgal ผู้สมัครจากพรรคแนวอนุรักษนิยมขวาจัด ได้คะแนนนิยมจากผู้คนท้องถิ่นนิยมอย่างมาก เขากล่าวว่า “ภาคตะวันออกไกลนั้นเป็นดินแดนที่มีความพิเศษเฉพาะ ชีวิตที่นี่นั้นสุดแสนยากลำบาก” และรณรงค์หาเสียงมุ่งเน้นการค้ำประกันคุณภาพชีวิตและการทำงานของผู้คนในภูมิภาคตะวันออกไกล รวมทั้งส่งเสริมลัทธิปกป้องทางการค้า

ในภูมิภาค Vladimir ก็เช่นเดียวกัน ผู้คนส่วนใหญ่มองว่า ภูมิภาคของตนเป็นจุดกำเนิดของรัสเซีย และควรที่จะเป็นอิสระจากการแทรกแซงจากภายนอก ซึ่งรวมถึงรัฐบาลกลางด้วย โดย Vladimir Sipyagin ใช้วาทกรรมท้องถิ่นนิยม ผนวกกับวาทศิลป์เหยียดเพศ (sexism) โจมตีผู้สมัครจากพรรค United Russia อย่างนาง Svetlana Orlova ให้กลับไปยังดินแดนของเธอ และอยู่บ้านเลี้ยงหลานจะดีกว่า ทัศนะเหยียดเพศเช่นนั้นปรากฏในกระแสท้องถิ่นนิยมชาตินิยมมากพอสมควรในสังคมการเมืองรัสเซีย

ประการที่สอง ความไม่พอใจของประชาชนในภูมิภาคซึ่งสะท้อนผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึง ‘ความไม่พอใจต่อนโยบายสาธารณะของระบอบปูติน’ ทั้งในระดับมหภาค และนโยบายเฉพาะหน้า

ในระดับมหภาค  นโยบายการหันหาตะวันออก ซึ่งเริ่มขึ้นอย่างน้อยตั้งแต่ช่วงปี 2011/2012 เป็นต้นมา ถูกมองว่าเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ มากกว่าจะมีผลลัพธ์เชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรม ความสนใจของส่วนกลางต่อภูมิภาคนี้ มีหมุดหมายสำคัญเมื่อรัสเซียเป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมเอเปค (APEC) ในปี 2012 ณ เมือง Vladivostok ซึ่งอยู่ในภูมิภาค Primorsky

อาจกล่าวได้ว่าการประชุมเอเปคครั้งนั้น เป็นครั้งแรกที่มีเงินลงทุนขนาดใหญ่จากรัฐบาลกลาง เข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการประชุมดังกล่าวอย่างจริงจัง แต่การลงทุนครั้งนั้นก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่ามีการคอรัปชั่น ไม่ได้สร้างระบบการคมนาคมขนส่งพื้นฐานที่ดีมีมาตรฐานเท่าที่ควร รวมทั้งยังไม่ประสบความสำเร็จในการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค ผู้คนจำนวนมากยังคงอพยพออกไปทำงานภายนอกภูมิภาคนี้ การลงทุนโดยรัฐลดลงร้อยละ 21 ในช่วงระหว่างปี 2013-2017 ในขณะที่ภูมิภาคใกล้เคียงอย่าง Yakutia และ Sakhalin กลับได้เงินลงทุนโดยรัฐเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 และ 3 เท่าตามลำดับ เมื่อเทียบกับภูมิภาค Primorsky และ Khabarovsk ซึ่งมีประชากรมากกว่า

แม้ว่าภูมิภาคดังกล่าวจะมีการส่งออกสินค้าปฐมภูมิสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าประมงในกรณีของ Primorsky แต่โครงการขนาดใหญ่ เช่น โรงงานกลั่นน้ำมัน กลับถูกปล่อยทิ้งร้างมาหลายปีแล้ว บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของรัฐอย่าง Rosneft ก็ไม่กล้าที่จะเข้ามาลงทุน และเสนอให้บริษัทน้ำมันของจีนเข้ามาลงทุนแทน เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้คนในภูมิภาคยังไม่พอใจต่อสุนทรพจน์อันสวยหรูของบรรดารัฐมนตรีต่างๆ ในการประชุม Eastern Economic Forum ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยการประชุมในปี 2018 ก็จัดขึ้นไม่นานก่อนการเลือกตั้งภูมิภาค ในทุกการประชุม เรามักได้ยินการให้คำมั่นสัญญาว่าจะมีการลงทุนขนาดใหญ่จากส่วนกลางเข้ามายังภูมิภาค แต่สภาพความเป็นจริงกลับไม่ได้มีการพัฒนาขึ้นมาแต่อย่างใด การประชุมดังกล่าวยังกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการจราจรติดขัด การปิดถนนหนทาง และมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้นในช่วงระหว่างการประชุม

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความเสียเปรียบทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนั้น เป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐที่กระจุกตัวและรวมศูนย์ รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค ยิ่งทำให้กระแสชาตินิยมแบบท้องถิ่นนิยม/ภูมิภาคนิยม เติบโตอย่างเข้มข้นมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ในด้านนโยบายเฉพาะหน้า  แน่นอนว่าผลการเลือกตั้งภูมิภาคนี้ สะท้อนความไม่พอใจต่อชุดนโยบายของรัฐบาลปูติน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มอายุเกษียณราชการ และการขึ้นภาษี VAT

ผู้สมัครเลือกตั้ง เช่น Furgal วิจารณ์การปฏิรูประบบบำนาญ โดยกล่าวว่า “คนตายไม่จำเป็นต้องใช้บำนาญ” ในขณะที่ Ishchenko ใช้สโลแกน “For Our Pensions!” ในการณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ผู้หาเสียงยังเสนอให้จัดการบริการขนส่งสาธารณะฟรี ในภูมิภาค Khabarovsk และ Primorsky เป็นต้น

นอกจากนั้น นโยบายของส่วนกลางที่เปลี่ยนแปลงระบบโควต้าการส่งออกปูในภูมิภาคตะวันออกไกล ยังนำมาสู่การชุมนุมประท้วงในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ในภูมิภาค Khabarovsk และ Primorsky ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีภาคการประมงเป็นส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ระบบโควต้าสินค้าประมงจึงเป็นการต่อรองอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นเสมอมา

 

สรุป

 

การเลือกตั้งผู้ว่าการส่วนภูมิภาคครั้งนี้ ส่งสัญญาณเตือนถึงความเสื่อมอำนาจและความนิยมที่มีต่อประธานาธิบดีปูติน และระบอบปูตินอย่างมีนัยสำคัญ โดยแสดงให้เห็นถึงความไม่สามารถคุมเกมและผลลัพธ์ของการเลือกตั้งได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังเช่นที่เคยเป็นมา

สิ่งที่เราเห็นคือ ความไม่พอใจที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้คนภายในสังคมการเมืองรัสเซีย ไม่ใช่แต่เพียงความไม่พอใจต่อชุดนโยบายของระบอบปูตินในภาพใหญ่ และนโยบายเฉพาะหน้า โดยเฉพาะการขึ้นอายุเกษียณราชการ แต่ความไม่พอใจของผู้คนยังแสดงออกมาในรูปของพลังทางสังคมอนุรักษนิยม ท้องถิ่นนิยม และภูมิภาคนิยม ซึ่งมุ่งเน้นอัตลักษณ์พิเศษเฉพาะที่เป็นเอกเทศของภูมิภาค

ความกังวลประการสำคัญคือ สังคมการเมืองรัสเซียจะมีแนวโน้มที่เคลื่อนไปสู่ชาตินิยมขวาจัดมากขึ้นหรือไม่? หรืออย่างน้อยก็คือ เราจะเห็นพลังทางการเมืองภายในที่ ‘ขวา’ กว่าระบอบปูตินหรือไม่? และภายใต้สัญญาณแห่งความเสื่อมอำนาจนี้ ระบอบปูตินจะปรับตัวอย่างไร?

นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่า รัฐบาลปูตินอาจจะเปลี่ยนกฎกติกาใหม่หรือล้มกระดานใหม่ กล่าวคือ ระบอบปูตินอาจหวนกลับไปใช้โมเดลของการแต่งตั้งผู้ว่าการส่วนภูมิภาค ซึ่งเคยเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2004-2012 แทนที่จะให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรี ซึ่งทางเลือกนี้ดูจะเป็นกลไกกระชับอำนาจที่น่าเชื่อถือที่สุดของระบอบอำนาจนิยม

Vladimir Zhirinovsky หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมขวาจัดอย่างพรรค LDPR ยังแนะนำปูตินว่า “การเลือกตั้งระดับภูมิภาคไม่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง มันไม่มีการแข่งขันอย่างแท้จริง เพราะอย่างไรเสีย ผู้สมัครของพรรคการเมืองเดียวก็ได้ตำแหน่งทั้งหมดอยู่ดี สุดท้ายแล้ว ประธานาธิบดีก็ควรเป็นผู้ที่แต่งตั้งผู้ว่าการภูมิภาคโดยตรงอยู่ดี เพราะพวกเขาเป็นตัวแทนของอำนาจฝ่ายบริหาร”

หรือไม่เช่นนั้น ระบอบปูตินอาจจะใช้กลไกของรัฐ อย่างเช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ภายใต้การนำของ Ella Pamfilova ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้เข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้ง โดยประกาศไม่รับรองผลการเลือกตั้งของภูมิภาค และ/หรืออาจให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยอ้างถึงการโกงการเลือกตั้งหรือต่างๆ นานา

แต่ไม่ว่าจะอาศัยวิธีการใดก็ตาม อำนาจรัฐย่อมไม่สามารถคุมหรือกดปราบความไม่พอใจของผู้คนในสังคมการเมืองได้ตามอำเภอใจ การเลือกตั้งระดับภูมิภาคครั้งนี้ ย่อมเป็นบททดสอบสำคัญของความอยู่รอดและความชอบธรรมของระบอบปูตินในอนาคต

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save