fbpx
สุรินทร์ พิศสุวรรณ : จากนักคิดสู่นักการเมือง

สุรินทร์ พิศสุวรรณ : จากนักคิดสู่นักการเมือง

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่องและภาพ

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

เมื่อได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของคุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ผมไม่เชื่อว่าเป็นความจริง

จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะเราเพิ่งพบกันเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม เพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น ในงานรำลึกวันเกิดครบรอบ 90 ปีของศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ในวันนั้นศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ศึกษารุ่น 2 มากันหลายคน อาทิ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และปรีดี บุญซื่อ เป็นการพบปะกันครั้งแรกๆ ในรอบหลายสิบปี วันนั้นสุรินทร์ยังดูแข็งแรง และแข็งขันในการงานเพื่อสังคมตามสไตล์ของเขาอย่างไม่ลดละ

เมื่อถามถึงอนาคตทางการเมืองว่าเขาตัดสินใจไปทางไหน จะลงสมัคร ส.ส. ท่ามกลางเสียงเชียร์ให้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือจะไปลงสนามผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมีข่าวออกมาก่อนหน้านั้น สุรินทร์ตอบและอธิบายความคิดของเขาให้อาจารย์หมอประเวศ วะสี ซี่งมาร่วมงานวันนั้นด้วยถึงความคิดในการทำงานการเมืองต่อไป จับความได้ว่า การพยายามเข้าไปเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้นคงไม่อาจเกิดขึ้นได้ แนวโน้มที่เขาอยากลองคือ การลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) มากกว่า เพราะคิดว่าคงมีโอกาสและช่องทางในการแสดงฝีมือในการบริหารเมืองอย่างจริงๆ ได้

แต่แล้วความฝันของเขาก็ไม่อาจเป็นจริงได้ สิ่งที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนอุบัติขึ้นอย่างไม่อาจหยุดยั้งได้ เหลือไว้แต่ภาพแห่งความทรงจำและความคิดคำนึงของชีวิตที่ไม่น่าเชื่อของสุรินทร์ พิศสุวรรณ

จากซ้ายไปขวา : ปรีดี บุญซื่อ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ สุรินทร์ พิศสุวรรณ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในงาน '90 ปี ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก : ดอกหญ้าไหว สู่สังคมเสรี' 11 กรกฎาคม 2560
จากซ้ายไปขวา : ปรีดี บุญซื่อ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ สุรินทร์ พิศสุวรรณ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในงาน ’90 ปี ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก : ดอกหญ้าไหว สู่สังคมเสรี’ 11 กรกฎาคม 2560

ประวัติชีวิตและความสำเร็จในการงาน ทั้งทางด้านวิชาการและการเมืองของสุรินทร์ เป็นที่รับทราบกันค่อนข้างมากแล้ว คงไม่จำเป็นต้องมากล่าวถึงในที่นี้ ผมจะพูดถึงเขาในฐานะของเพื่อนนักศึกษาร่วมรุ่นกัน เมื่อครั้งเรียนสาขาวิชารัฐศาสตร์ศึกษาด้วยกันในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างปี 2511-2514

ทั้งสุรินทร์และผม ได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะเรียนจบสี่ปีในธรรมศาสตร์ ดังนั้นเราจึงไม่ได้รับปริญญาตรีจากธรรมศาสตร์ ผมได้ทุน Institute of International Education (IIE) เมื่อขึ้นปีที่สาม ส่วนสุรินทร์ได้รับทุน Frank Bell Appleby ซึ่งเป็นของมหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ (Claremont) น่าสนใจว่าระยะนั้นทุนไปเรียนต่อของสหรัฐฯ เริ่มทดลองด้วยการให้กับนักศึกษาที่จะไปเรียนแค่ระดับปริญญาตรี ไม่ใช่ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทหรือเอกดังที่มักปฏิบัติกันมา

สุรินทร์ได้ทุนดังกล่าวไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ ซึ่งมีชื่อเสียงในการเป็นวิทยาลัยศิลปศาสตร์ (liberal arts) อันดับต้นในสหรัฐฯ ผมไม่แน่ใจว่าการเลือกไปแคลร์มอนต์นั้น อ.เสน่ห์ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการรัฐศาสตร์ศึกษาเป็นผู้แนะนำให้หรือเปล่า แต่ในตอนนั้นคิดว่าอ.เสน่ห์รู้จักนักศึกษาไทยที่ไปเรียนแคลร์มอนต์ และกำลังจะจบกลับมา อ.เสน่ห์พูดถึงนักศึกษาไทยคนนั้นด้วยความชื่นชมยิ่ง ซึ่งต่อมากลับมาเป็นอาจารย์ประจำในคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ นั่นคือ ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ ซึ่งสำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและเอกจากแคลร์มอนต์ จึงมีความเป็นไปได้ที่การเลือกไปแคลร์มอนต์ น่าจะมาจากตัวอย่างอันน่าประทับใจดังกล่าว

ส่วนผมได้ทุนก่อนสุรินทร์ปีหนึ่ง คนที่ผมไปปรึกษาขอคำแนะนำว่าจะเลือกไปเรียนที่ไหนดี คืออาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ซึ่งก็ไปปรึกษากับอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน อีกทีหนึ่ง ทาง IIE ประเทศไทยให้ผู้ได้รับทุนเสนอได้ว่าจะเลือกไปเรียนมหาวิทยาลัยอะไร แต่ไม่รับปากว่าจะได้หรือไม่ ทางฝ่าย IIE นั้นทำงานด้านการส่งเสริมการศึกษานานาชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ในอเมริกา เขาจะเป็นคนติดต่อไปทางมหาวิทยาลัยอเมริกันเองจนกระทั่งได้รับเข้า

รายชื่อมหาวิทยาลัยที่ อ.เบน เสนอให้ผม คือ Oberlin College และ Swarthmore College ซึ่งเมื่อประกาศผลออกมา กลับไม่ได้ตามที่เสนอไป แต่ได้ไปมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ ผมมารู้ในภายหลังว่า สองมหาวิทยาลัยที่ อ.เบนแนะนำให้ผมไปนั้น เป็นสุดยอดของวิทยาลัยศิสปศาสตร์ในสหรัฐฯ ซึ่งเข้ายากมากๆ

อย่างไรก็ตาม การได้ไปเรียนที่โรเชสเตอร์ซึ่งอยู่ในรัฐนิวยอร์ก กลับเป็นผลดีทางอ้อมต่อชีวิตสองปีกว่าในสหรัฐฯ ของผม นั่นคือการที่โรเชสเตอร์อยู่ไม่ไกลจากเมืองอิทากะ อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยคอร์แนล ซึ่งขณะนั้นมีนักเรียนไทยมาเรียนระดับปริญญาเอกหลายคน และกลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองไทยจากอเมริกาที่ก้าวหน้าและเอาจริงเอาจังมาก ผมจึงใช้เวลาช่วงวันหยุดเทศกาลและภาคฤดูร้อนที่คอร์แนลอย่างคุ้มค่า อันเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดในชีวิตการเป็นนักศึกษาของผม

หลังจากจบปริญญาตรี สุรินทร์สมัครไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแนวหน้าในสหรัฐฯ ในสาขารัฐศาสตร์และตะวันออกกลางศึกษา ระหว่างที่ยังศึกษาอยู่และเขียนวิทยานิพนธ์ สุรินทร์กลับมาเยี่ยมเมืองไทย ในปี 2518-19 ผมขึ้นไปเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาแวะไปเยี่ยมน้องชายที่เรียนในคณะรัฐศาสตร์ และแวะไปเยี่ยมผมด้วย ผมเลยให้เขานอนในห้องพักเดียวกับผม แลกกับการมาบรรยายพิเศษให้นักศึกษาฟังเรื่องปรัชญาการเมือง

ผมรู้ว่าเขาถนัดวิชาปรัชญาการเมืองตั้งแต่สมัยเราเรียนด้วยกัน ผ่านการอภิปรายถกเถียงกันในห้องเรียนแบบสัมมนา เพราะทั้งห้องในรุ่น 2 มีแค่ 12 คนเท่านั้น โดยมักวนเวียนในหัวข้อความคิดทางการเมือง คุณธรรมกับการเมือง และการพัฒนาการเมือง

สุรินทร์มีบุคลิกเป็นผู้ใหญ่กว่าพวกเราทั้งหมด เขาแต่งตัวเรียบร้อย เสื้อเชิ้ตสีขาวแขนยาวติดกระดุม กางเกงสีดำ ทุกวันที่มามหาวิทยาลัย พูดเต็มคำชัดถ้อยชัดคำ ไม่มีอารมณ์ในการเถียงกัน ใจเย็นรับฟังและให้ความเห็นของเขาอย่างเป็นระบบ เขากับเสกสรรค์เพิ่งกลับจากโครงการนักเรียนเอเอฟเอส ทั้งคู่เห็นได้ชัดเลยว่าได้รับอิทธิพลการเรียนแบบอเมริกันมา พวกที่เหลือเป็นนักเรียนในและจากต่างจังหวัด

การอภิปรายดำเนินไปอย่างสนุกสนาน ขัดกันบ้างไม่เห็นพ้องกันบ้าง แต่ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร บรรยากาศเป็นวิชาการอย่างที่เราไม่ได้คาดคิด เพราะยังไม่รู้ว่าวิชาการคืออะไร แต่ตอนนั้นสิ่งที่พวกเราอยากรู้คือ ทำไมการเมืองการปกครองในประเทศไทยถึงเป็นอย่างที่เห็นอยู่ คือรัฐบาลภายใต้การกำกับของกองทัพ นายกฯ ก็เป็นทหารใหญ่ รัฐมนตรีที่มีอำนาจก็มาจากทหาร

ในปี 2511 รัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาในการร่างนานที่สุดคือเกือบ 10 ปี ก็ร่างเสร็จและประกาศใช้ ดังนั้นบรรยากาศของเสรีภาพทางการเมืองจึงเริ่มเปิดมากขึ้น พื้นที่แรกที่มีคนออกมาพูดถกเถียงเรื่องการเมืองประชาธิปไตยมากที่สุด น่าจะเป็นมหาวิทยาลัย ดังที่โจทย์ในการตอบข้อสอบเพื่อเข้าเรียนในโครงการรัฐศาสตร์ศึกษารุ่นผมคือ จะแก้ไขความล้าหลังทางการเมืองไทยได้อย่างไร (ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า ยังสามารถใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัยในรุ่น พ.ศ. ปัจจุบันได้อีก)

เนื่องจากเขาต้องไปทำงานพิเศษเพื่อเลี้ยงชีพระหว่างเป็นนักศึกษา ที่สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐฯ (AUA) สุรินทร์จึงทำกิจกรรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัยกับพวกเราน้อยมาก พอเลิกเรียนตอนบ่ายเขาก็ออกไปทำงานแล้ว น้อยครั้งที่เขาจะมานั่งกินข้าวกลางวันด้วยกันในโรงอาหารหรือร้านในท่าพระจันทร์

ปีนั้นมีข่าวใหญ่คือเรื่องสหรัฐฯ ส่งยานอวกาศอพอลโลขึ้นไปดวงจันทร์ และนีล อาร์มสตรอง ออกไปเดินบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก เราก็คิดกันว่าน่าจะจัดรายการนี้ สุรินทร์รับไปติดต่อกับทางสถานทูตอเมริกา ซึ่งเขามีคนรู้จักเยอะ เราได้รับการสนับสนุนทั้งการเงิน วิชาการ ภาพถ่าย เอกสาร ในการเดินทางไปดวงจันทร์ครั้งนี้อย่างเต็มที่จากอเมริกา เป็นงานใหญ่ที่เราทำสำเร็จ คนที่เป็นหัวจักรสำคัญคือสุรินทร์นั่นเอง

นักศึกษารัฐศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 2 (2512) (แถวหน้า) ปรีดี บุญซื่อ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ (แถวที่ 2) สุวิมล เสียงหลาย อรวรรณ เดชธำรง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (แถวที่ 3) วิวัฒน์ เอี่ยมไพรวัน จิรวัฒน์ เหลืองศุภบูลย์ พรชัย วีระณรงค์ วันชัย กุสุมภ์ (ขาด) สุรินทร์ พิศสุวรรณ และประกาศ เย็นบำรุง
นักศึกษารัฐศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 2 (2512)
(แถวหน้า) ปรีดี บุญซื่อ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
(แถวที่ 2) สุวิมล เสียงหลาย อรวรรณ เดชธำรง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
(แถวที่ 3) วิวัฒน์ เอี่ยมไพรวัน จิรวัฒน์ เหลืองศุภบูลย์ พรชัย วีระณรงค์ วันชัย กุสุมภ์
(ขาด) สุรินทร์ พิศสุวรรณ และประกาศ เย็นบำรุง

หลังจากเขากลับไปทำวิทยานิพนธ์จนเสร็จ (ซึ่งผมได้อาศัยวิทยานิพนธ์ของเขาเรื่อง ‘Islam and Malay Nationalism’ เมื่อผมลงมือทำวิจัยเรื่องปัญหาสี่จังหวัดภาคใต้อย่างจริงจังครั้งแรก หลังการถล่มตึกเวิร์ดเทรดในนิวยอร์ก และเกิดกระแสความรุนแรงที่โยงกับการต่อสู้ของมุสลิม จากนั้นก็ลงมือศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานีกับสยามต่อไป) เราไม่ได้เจอกันอีกเลย จนเขากลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ในช่วงนั้นผมลี้ภัยเข้าป่า (ทางใต้) ออกมาก็เดินทางไปศึกษาต่อในสหรัฐฯ อีกครั้ง ด้วยความจำเป็นและปลอดภัยทางการเมือง มากกว่าตั้งใจไปเอง

ต่อมาเมื่อการเมืองเริ่มมีความเป็นไปได้ในทางบวกมากขึ้น สุรินทร์ก็ตัดสินใจออกจากการเป็นนักวิชาการ ไปเป็นนักการเมืองประชาธิปไตยในปี 2529 เขาประสบความสำเร็จในการรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. นครศรีธรรมราช อันเป็นบ้านเกิดมาตลอด 7 สมัย เขาเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อเริ่มออกหาเสียง จุดสำคัญที่ไม่ไปไม่ได้คือตลาดท่าศาลา ที่บรรดาคอการเมืองมักมาเปิดสภากาแฟกัน การแนะนำการหาเสียงและหัวคะแนนก็เริ่มกันตรงนั้น

ช่วงที่เขาเป็นนักการเมือง สภาพการเมืองไทยค่อยคลี่คลายไปสู่แนวทางของการเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เป็นของประชาชนมากขึ้นสมดังเจตนารมณ์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง กระทั่งก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวได้ว่าสุรินทร์พยายามทำตามอุดมคติของเพลโต ที่เสนอว่ารัฐและระบบการเมืองที่ดีมีคุณธรรมนั้น ต้องอาศัยผู้ปกครองที่เป็นราชาปราชญ์ถึงจะสร้างขึ้นมาได้

ย้อนกลับไปถึงวันที่พวกเรานั่งถกเถียงกันหน้าดำหน้าแดงในห้องเรียนนั้น ไม่มีใครคิดได้ว่าในหมู่พวกเรานั้น จะมีใครทำให้อุดมคตินั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ ในความเป็นจริงสุรินทร์ยังไม่ได้สร้างระบบการเมืองและการปกครองไทยที่เป็นแบบอุดมคติได้ เขาเพียงแค่นำเสนอตัวอย่างหนึ่งของการทำการเมืองให้เป็นเรื่องเป็นราว หรือเป็นหลักการที่สากลยอมรับได้ จากฝีมือของนักการเมืองท้องถิ่นสามัญชนคนหนึ่ง

ข้อคิดจากประสบการณ์และความสำเร็จของเขา จึงไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของคนเก่งและฉลาดหลักแหลมที่ทำงานหนักตลอดเวลา หากในที่สุดกระบวนการทางการเมืองและสังคมต่างหาก ที่ควรได้รับการสถาปนาในการเป็นหนทางและเครื่องมือที่เป็นไปได้ แก่คนรุ่นใหม่และคนหนุ่มสาวที่มีอุดมคติทางการเมือง ให้สามารถก้าวเดินต่อไปได้อย่างมีศักดิ์ศรีและสง่างาม

เราพบกันอีกครั้งหลังจากเขาผ่านเวทีการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างโชกโชน ในการสัมมนาเรื่อง ‘อิสลามาภิวัตน์ในอุษาคเนย์’ จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่นครศรีธรรมราช ปี 2551 โดยเชิญสุรินทร์มาเป็นองค์ปาฐกเปิดงาน ครั้งนี้เราได้คุยกันมากหน่อย ต่างจากก่อนนี้ที่เมื่อเขามาพูดในงานเสร็จ ก็ต้องรีบขอตัวเพื่อไปยังภารกิจอื่นต่อไป ผมเลยได้ไปเยี่ยมบ้านเกิดของเขาในนครศรีธรรมราชเป็นครั้งแรก บ้านเขาทำเป็นปอเนาะใหญ่ เป็นชุมชนมุสลิมเก่าแก่ ภาพที่เห็นเป็นความตัดกันระหว่างโลกในบ้านกับโลกนอกบ้านที่แตกต่างและกระทั่งย้อนแย้งกันอย่างยิ่ง

หลังจากนั้นเขาเริ่มอีเมลมาถามผมเรื่องหนังสือวิชาการ เช่น ขอหนังสือของธงชัย วินิจจะกูล เรื่อง Siam Mapped เพื่ออ่านเตรียมพูดในงานอะไรสักแห่ง ผมเลยส่งเล่มที่ธงชัยให้ผมไว้ไปให้สุรินทร์ที่บ้านในกรุงเทพฯ ผมเชื่อว่านักการเมืองที่มีคุณภาพต้องอ่านหนังสือที่มีคุณภาพด้วยเช่นกัน ไม่ใช่อาศัยแต่แค่โวหารและการพูด แม้จะเก่งปานใดก็ตาม ก็ไม่เพียงพอ

ใครที่เคยฟังสุรินทร์พูดในการปราศรัยหรือปาฐกถา จะได้รับข้อคิดความรู้ในเรื่องนั้นๆ จากเขาไปด้วย เหมือนกับการบรรยายของอาจารย์ในชั้นเรียน แต่เขาทำได้ดีกว่าอาจารย์ตรงที่มีความสามารถในการพูดอย่างมีชีวิตและชีวาและมีศิลปะ แต่แน่นอนว่า เขาต้องศึกษาอยู่ตลอดเวลา

ความชื่นชมและยินดีในความสำเร็จและในอุดมคติการทำงานของสุรินทร์ มาสะดุดลงอย่างไม่คาดคิดในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 เมื่อผมเห็นภาพและข่าววันนั้น ที่เขาร่วมกับบรรดาอาจารย์ดังๆ ของธรรมศาสตร์เดินขบวนนำฝูงชนไปประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเริ่มระดมคนในสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ผมจำวันนั้นได้ดี เพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สั่งให้ทุกคณะหยุดการเรียนวันนั้นได้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้นักศึกษาออกไปชุมนุมเดินขบวน เจ้าหน้าที่คณะบัญชีฯ ที่ผมต้องไปสอนวิชาสหวิทยาการมนุษยศาสตร์ โทรถามผมว่าจะหยุดไหม จะได้บอกนักศึกษาไม่ต้องเข้าชั้น ผมตอบกลับไปว่าไม่หยุด นี่ไม่ใช่เหตุผลอันถูกต้องในการหยุด

ผมบรรยายให้นักศึกษาฟังว่านี่เกือบเหมือนสมัยที่นักศึกษาออกมาชุมนุมเพื่อประท้วงรัฐบาลในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ต่างกันที่สมัยก่อนโน้น พวกนักศึกษาริเริ่มและลงมือทำการกันเอง มหาวิทยาลัยไม่ได้คิดให้ แต่วันนี้ตรงกันข้าม มหาวิทยาลัยเป็นผู้วางแผนให้นักศึกษาออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลเสียเอง บ่ายวันนั้นผมเห็นภาพในทีวี สุรินทร์กับอดีตอธิการ มธ. ไปประท้วงหน้าตึกองค์การสหประชาชาติต่อกรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งของ ส.ส.พรรครัฐบาล  เรื่องหลังจากนั้นก็คงทราบกันดีว่าต่อไปเกิดอะไรขึ้น นั่นเป็นจุดด่างแรกที่กระเทือนความรู้สึกของผมที่มีต่อสุรินทร์

แต่เรื่องที่มาแรงกว่านั้นคือ เมื่อเขาเขียนบทความเรื่อง Lessons in Democracy from the streets of Bangkok ลงหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ระหว่างที่การชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่ ภายใต้การนำของ กปปส. ดำเนินไปอย่างดุเดือดและไม่สงบไม่สันติเท่าไรนัก (บทความนั้นตีพิมพ์เช้าวันที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแปลว่าบทความนี้ถูกเขียนขึ้นก่อนยุบสภาและก่อนปฏิบัติการปิดกรุงเทพมหานครของ กปปส. ในวันที่ 13 มกราคม 2557)

บทความนั้นเขาออกมาสนับสนุนจุดยืนและจุดหมายของการประท้วงของประชาชนอย่างเต็มที่ ด้วยการนำเอาหลักทฤษฎีของจอห์น ล็อก เรื่องสิทธิในการปฏิวัติของประชาชน ว่าเป็นสิทธิทางธรรมชาติที่ไม่ผิด แม้จะต้องทำผิดกฎหมายของรัฐบาลขณะนั้นก็ตาม มาอธิบายถึงความชอบธรรมของกลุ่มประท้วง ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับการอ้างทฤษฎีดังกล่าวกับสภาพความเป็นจริงของการเมืองไทยขณะนั้น มันมีความจริงระดับท้องถิ่น มีความเหลื่อมล้ำซ่อนเงื่อนกันในการต่อสู้ขัดแย้งในระบบการเมืองไทย หลายเรื่องหลายประเด็นที่นักศึกษาควรต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ ก่อนที่จะฟันธงโดยใช้หลักการอันเป็นทั่วไปและเป็นนามธรรมมาชี้นำ

ผมมักคิดว่าสุรินทร์เหมือนลอยอยู่เหนือความจริงในการเมืองไทย เขาเล่าให้ฟังถึงการพบและพูดคุยอย่างเป็นทางการกับผู้นำการเมืองอเมริกันเช่น แมดดาลีน อัลไบรต์ และฮิลลารี คลินตัน โดยที่เขาสามารถตอบและชี้แจงจุดอ่อนของอาเซียนให้คนเหล่านั้นฟังได้อย่างน่าประทับใจ เขาเหมาะที่จะแสดงปาฐกถาต่อที่ประชุมนานาชาติ ในเรื่องของท้องถิ่นที่เขาเป็นตัวแทนที่ทำให้คนเหล่านั้นเชื่อว่า ประเทศในภูมิภาคเหล่านั้นก็น่าจะยังมีอนาคตอยู่บ้าง

แต่เมื่อมาถึงวิกฤตและความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ในสังคมไทย เขาไม่อาจยึดกุมความจริงที่ไม่จริงต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ผมเชื่อในคุณธรรมและความซื่อของเขาที่ไม่อาจไปกันได้สนิทแนบแน่นกับระบบการเมืองไทย และนี่คือที่มาของความผิดหวังของผมในช่วงท้ายของการติดต่อกัน

ภาพ สุรินทร์ พิศสุวรรณ โดย ชินธิป เอกก้านตรง บรรณาธิการศิลปกรรม The101.world
ภาพ สุรินทร์ พิศสุวรรณ โดย ชินธิป เอกก้านตรง บรรณาธิการศิลปกรรม The101.world

วันหนึ่งผมได้รับอีเมลจากสุรินทร์ระหว่างไปสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ไม่บ่อยนักที่เขาจะเป็นฝ่ายส่งมา ส่วนใหญ่ผมจะเป็นคนติดต่อไปเอง อีกครั้งที่ผมได้รับอีเมลจากเขาคือเมื่อเขาแสดงความยินดีในการได้รับตำแหน่งธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ของผม ซึ่งต่อมาสุรินทร์ก็ได้รับตำแหน่งนี้เช่นกันจากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

คราวนี้เขาถามว่ารายละเอียดเรื่อง อ.ปรีดี จะสร้าง Southeast Asia League เป็นอย่างไร เขากำลังเตรียมจะไปพูดในงานสักแห่ง ตอนแรกผมคิดว่าจะไม่ตอบอีเมลเขา เพราะยังเคืองเรื่องการสนับสนุนการประท้วงของ กปปส.อยู่ อีกพักใหญ่ต่อมาผมก็ใจอ่อน เกรงว่าเขาจะไม่มีข้อมูลพอในการพูดเรื่องดังกล่าว เลยลงมือตอบคำถามเขาไปพร้อมให้แหล่งอ้างอิงในห้องสมุดถ้าอยากได้ละเอียดมากกว่านี้

ผมส่งอีเมลซึ่งจะเป็นฉบับสุดท้าย เมื่อจะมีงานครบวันเกิดให้อ.เสน่ห์ ไปถึงสุรินทร์ บอกว่า อ.เสน่ห์ถามหาคุณทุกครั้ง ถ้ามาได้ก็จะดี และเขาก็มาได้ในวันนั้น ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่เราได้เจอกัน.

“The heaviest penalty for declining to rule is to be ruled by someone inferior to yourself.”

Plato, The Republic


หมายเหตุ:

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน เอกรินทร์ ต่วนศิริ และนุมาน หะยีมะแซ (บ.ก.). 2561. สุรินทร์ พิศสุวรรณ: ชีวิตไร้พรมแดน Surin Pitsuwan: No Man is an Island. โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save