fbpx
เมื่อผู้เสียหายเป็นผู้พิพากษา

เมื่อผู้เสียหายเป็นผู้พิพากษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

 

นายธีรศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ให้สัมภาษณ์ว่าสำนักงานศาลยุติธรรมได้แจ้งความกับสถานีตำรวจพหลโยธิน กรุงเทพฯ เพื่อดำเนินคดีกับแกนนำของเครือข่ายในข้อหาหมิ่นประมาทจำนวน 2 คดี นอกจากนี้ยังทราบว่ามีการแจ้งความที่สถานีตำรวจแห่งนี้อีก 3 คดี และก่อนหน้านี้ ผู้อำนวยการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้แจ้งความกับตำรวจภูธรภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดำเนินคดีกับแกนนำ ในคดีติดป้ายคัดค้านกลุ่มข้าราชการตุลาการที่เข้าไปอาศัยในบ้านพักเชิงดอยสุเทพ (Thai PBS, 28 พฤศจิกายน 2561)

กรณีข้อพิพาทดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ ซึ่งได้แสดงความเห็นคัดค้านต่อการสร้างบ้านพักในพื้นที่เชิงดอยสุเทพของฝ่ายตุลาการ โดยได้มีการจัดกิจกรรมในลักษณะต่างๆ เพื่อแสดงออก รวมทั้งได้มีการนำรายชื่อของผู้พิพากษาที่เข้าพักใน ‘บ้านป่าแหว่ง’ แสดงในโปสเตอร์ที่ได้มีการจัดทำขึ้น

 

ความเป็นกลางส่วนบุคคล

 

‘ความเป็นกลาง’ นับเป็นเงื่อนไขพื้นฐานซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อสถาบันตุลาการ ว่าจะสามารถทำให้เกิดความยุติธรรมในการวินิจฉัยข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคู่กรณี เพราะหากบุคคลซึ่งทำหน้าที่ตัดสินข้อพิพาทเอนเอียงเข้าหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ก็ย่อมนำมาซึ่งความเคลือบแคลงสงสัย ว่าการตัดสินข้อพิพาทนั้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา  

การวางตัวเป็นกลางของผู้พิพากษา จึงเป็นหลักการสำคัญที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง สำหรับสังคมไทยได้มีการบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ พ.ศ.2529 โดยในหมวด 2 จริยธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางอรรถคดี ได้บัญญัติไว้ในข้อ 3 ว่า “ในการพิจารณาคดี ผู้พิพากษาจักต้องวางตนเป็นกลางและปราศจากอคติ ทั้งพึงสำรวมตนให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ แต่งกายเรียบร้อย ใช้วาจาสุภาพ ฟังความจากคู่ความและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างตั้งใจ ให้ความเสมอภาคและเมตตาธรรม”

แม้จะได้มีการบัญญัติว่า “ผู้พิพากษาจักต้องวางตนเป็นกลางและปราศจากอคติ” ไว้อย่างชัดเจน แต่ถ้อยคำในลักษณะดังกล่าวจะมีความหมายครอบคลุมขอบเขตเท่าใด ก็อาจเป็นความยุ่งยากมิใช่น้อย

ประมวลจริยธรรมตุลาการก็ได้ตระหนักถึงความหมายที่กว้างขวางของถ้อยคำดังกล่าว จึงได้มีการให้คำอธิบายถึงความหมายของการวางตนเป็นกลางไว้ ดังนี้

“ผู้พิพากษาจักต้องแสดงออกซึ่งความเป็นกลางในการพิจารณาคดี ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ปฏิบัติต่อคู่ความและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเสมอเหมือนกันทุกประการ จักต้องมิให้คู่ความหรือผู้เกี่ยวข้องรู้สึกว่าตนได้รับการปฏิบัติที่ด้อยกว่าผู้อื่น”

ในส่วนของการวางตนให้ ‘ปราศจากอคติ’ ก็ได้มีคำอธิบายไว้เพิ่มเติมเช่นกัน

“อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งซึ่งทำให้การวินิจฉัยอรรถคดีปราศจากความเที่ยงธรรมก็คือ อคติสี่ กล่าวคือ ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก โทสาคติ ลำเอียงเพราะโกรธ ภายาคติ ลำเอียงเพราะกลัว และโมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา เรื่องของอคติเป็นเรื่องมนุษย์ปุถุชนโดยแท้ น้อยคนนักที่จะไม่มีอคติ … อคติที่ว่านี้โดยเฉพาะในหมู่ผู้พิพากษา มิใช่มีอคติเพียงต่อตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่ความ ทนายความ หรือพยานเท่านั้น หากแต่ยังมีอคติต่อข้อคิดเห็น ทีท่า ความเชื่อ และประเพณีบางเรื่อง”

แม้ว่าประมวลจริยธรรมตุลาการจะได้ตระหนักถึงทั้งประเด็นอคติส่วนตัว และอคติในเชิงความเชื่อ แต่ข้อกำหนดและความเข้าใจเรื่องการวางตนเป็นกลางและโดยปราศจากอคติของผู้พิพากษา กลับให้ความสำคัญกับอคติระหว่างบุคคล ดังการวางแนวทางให้ผู้พิพากษาพึงถอนตัวออกจากการเป็นผู้ตัดสินในคดีนั้นๆ ถ้าหากว่า “ตนเองเป็นเพื่อนสนิท เป็นคู่อริกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาก่อน เป็นหรือเคยเป็นคู่หมั้นของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” แนวทางปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้ดูจะเป็นบรรทัดฐานที่ได้รับการยอมรับมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญก็คือว่า การพิจารณาถึงความเป็นกลางในแนวทางนี้ เป็นการให้ความสำคัญกับความเกี่ยวพันในเชิงตัวบุคคล ที่อาจทำให้ผู้ตัดสินเกิดความลำเอียง ความไม่เป็นกลางในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างประจักษ์ชัด และง่ายต่อการชี้ให้เห็นถึงความเอนเอียงที่จะบังเกิดขึ้น

แต่ปัจจัยสำคัญในอีกด้านคือ อคติที่ไม่ได้เป็นประเด็นส่วนตัวของแต่ละคน หากเป็นประเด็นในเชิงสถาบัน ประเด็นปัญหานี้จะถูกพิจารณาหรือจัดวางอย่างไร

 

ความเอนเอียงเชิงสถาบัน

 

1 ธันวาคม พ.ศ.2561 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ให้ความเห็นต่อการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้คัดค้านโครงการ ‘บ้านป่าแหว่ง’ ซึ่งได้นำรายชื่อของผู้พิพากษาที่พักอยู่ในบ้านพัก ติดประกาศเผยแพร่ในที่สาธารณะว่า (ประชาไท 1 ธันวาคม 2561)

“การเข้าไปอยู่ในเขตบ้านพักสร้างโดยถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ดังนั้น หากบุคคลใดไปคุกคาม ละเมิดสิทธิของผู้พิพากษา สำนักงานศาลยุติธรรมมีหน้าที่ต้องคุ้มครองดูแลความปลอดภัยของผู้พิพากษาเหล่านี้ ขณะนี้มีผู้พิพากษา 4,471 คน … สำนักงานศาลยุติธรรมมีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัย ถ้าผู้พิพากษาอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว กดดัน ประชาชนและสังคมก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง หรือถ้าตัดสินคดีด้วยความกลัว ขาดอิสระ ความเป็นกลาง ที่สุดผลกระทบก็จะตกอยู่ที่ประชาชน ที่ผ่านมาสำนักงานศาลยุติธรรมทำตามกฎหมายทุกกรณี เมื่อมีการคุกคามลักษณะเช่นนี้”  

สำหรับกรณีปัญหาว่า การนำรายชื่อผู้พิพากษาที่เข้าพักในบ้านป่าแหว่งมาเปิดเผยนั้น จะเป็นการกระทำที่เป็นความผิดหรือไม่ ก็เป็นประเด็นทางกฎหมายที่จำเป็นต้องมีการพิจารณาและถกเถียงกัน โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่เป็นทรัพย์สินของราชการ (หรือกล่าวให้ชัดเจนมากขึ้นก็คือเป็นของประชาชน) จะสามารถกระทำได้เพียงใด หรือว่าเป็นความลับส่วนตุลาการที่ไม่อาจก้าวล่วงได้

แต่ประเด็นสำคัญก็คือว่า ในกรณีนี้ทางสำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งมีหน้าที่ ‘ต้องคุ้มครองดูแล’ ผู้พิพากษาทั้งหมด ได้เป็นแสดงตนเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของผู้พิพากษา และเป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อมีการสืบสวนสอบสวนไปจนถึงขั้นตอนการพิจารณาคดี การตัดสินคดีต่อผู้คัดค้านบ้านป่าแหว่ง ก็ย่อมไปตกอยู่ในมือของผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในจำนวน 4,471 คน

ประเด็นข้อพิพาทพื้นฐานในเรื่องกรณีบ้านป่าแหว่ง มิใช่เป็นปัญหาส่วนตัวระหว่างผู้คัดค้านคนใดคนหนึ่งกับผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่ง หากเป็นการโต้แย้งของกลุ่มคนที่มีความเห็นว่าการสร้างบ้านพักในพื้นที่ดังกล่าวมีความไม่เหมาะสม และรวมทั้งอาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ข้อเรียกร้องจึงมุ่งไปยังฝ่ายตุลาการในเชิงภาพรวมที่มิใช่เป็นปัญหาของเฉพาะตัว หากเกี่ยวพันกับประเด็นเรื่องความเหมาะสมของระบบสวัสดิการของผู้พิพากษาที่กระทบต่อสังคมอย่างสำคัญ

การวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องต่อฝ่ายตุลาการ จะไม่มีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก และความเห็นของผู้พิพากษาแม้แต่น้อยเลยกระนั้นหรือ

แน่นอนว่าในบรรดาผู้พิพากษาที่จะมาทำหน้าที่ตัดสินคดี คงไม่ใช่ผู้ที่ถูกเปิดเผยรายชื่อว่าเข้าไปพักอาศัยในบ้านป่าแหว่งอย่างแน่นอน รวมทั้งอาจไม่เคยมีข้อพิพาทกับบุคคลที่ต้องเป็นจำเลย หรือไม่เคยเห็นหน้าเห็นตากันมาก่อน แต่ด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้ จะสามารถทำให้เชื่อมั่นได้เลยหรือว่า ผู้ตัดสินนั้นจะไม่ได้มีอคติในฐานะที่ดำรงอยู่ในสถาบันเดียวกัน ซึ่งมีแนวโน้มที่อุดมการณ์ ผลประโยชน์ จุดยืนหรือความเห็น จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ประเด็นที่เกิดขึ้นจึงมิใช่เรื่องอคติในเชิงส่วนบุคคล หากเป็นอคติในเชิงสถาบันที่มีลักษณะต่างออกไปอย่างมีนัยสำคัญ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ธีรศักดิ์ รูปสุวรรณ แกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ตั้งข้อสังเกตว่า “การที่ผู้พิพากษาแจ้งความเอาผิดซึ่งเมื่อคดีถึงศาล ผู้พิพากษาก็เป็นคนตัดสินคดีเอง” (14 พฤศจิกายน 2561 สัมภาษณ์ workpoint news) ก็ย่อมเป็นความเห็นที่ควรต้องรับฟังอย่างมาก

 

ยุคสมัยแห่ง ‘การทำตามกฎหมาย’

 

การยืนยันถึงอำนาจทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว แม้อาจทำให้มีอำนาจบังคับต่อประชาชนก็ตาม แต่จะสามารถทำให้เกิดความไว้วางใจจากประชาชนหรือไม่ ถือเป็นคนละเรื่องแยกต่างหากออกไป ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการที่เกิดขึ้นก็ได้ตระหนักถึงประเด็นดังกล่าวนี้ไว้เช่นกัน

“ผู้พิพากษาที่ดีควรจะปฏิบัติหน้าที่ราชการศาลยุติธรรมอย่างไร และควรจะครองตนในสังคมอย่างไร เป็นเรื่องของจริยธรรม ซึ่งบรรพตุลาการถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีไม่เพียงแต่อยู่ที่การให้ความเที่ยงธรรมแก่คู่ความเท่านั้น หากแต่อยู่ที่คู่ความและประชาชน เชื่อถือศรัทธาในตัวผู้พิพากษาและสถาบันตุลาการเพียงใดด้วย”

ในช่วงมากกว่าทศวรรษที่ผ่านมา มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อการทำงานของฝ่ายตุลาการเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และมักจะมีการตอบคำถามด้วยการอ้างอิงถึงอำนาจตามกฎหมายเป็นหลัก แต่ดังที่ทราบกันดีว่า ความหมายของกฎหมายจำนวนมากในสังคมไทย ไม่ได้สัมพันธ์กับความถูกต้อง ความชอบธรรมหรือหลักคุณค่า ฯลฯ (การใช้อำนาจตามมาตรา 44 และกฎหมายที่ผ่านโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวนมาก สามารถยืนยันถึงความข้อนี้ได้เป็นอย่างดี)

การอ้างอิงถึงบทบัญญัติกฎหมายเพียงอย่างเดียว แม้อาจจะปิดปากผู้คนให้เงียบเสียงลงได้ แต่การกระทำเช่นนี้จะไม่สามารถสร้างความไว้วางใจหรือความเชื่อมั่นในระยะยาวให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ลองไตร่ตรองถึงการอ้างถึง ‘การทำตามกฎหมาย’ ที่เกิดขึ้นอย่างพร่ำเพรื่อในยุคสมัยของระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทย น่าจะเป็นตัวอย่างที่อาจทำให้สำเหนียกได้ว่าความถูกต้อง ความชอบธรรม และหลักการทางกฎหมาย ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สถาบันต่างๆ สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง มากกว่าการอิงแอบกับบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพียงอย่างเดียวใช่หรือไม่

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save