fbpx
'รวยกระจุก จนกระจาย' ระดับสาหัส: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21

‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ระดับสาหัส: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21

ธนสักก์ เจนมานะ เรื่อง

หลังรายงานความเหลื่อมล้ำ Global Wealth Report 2018 ของ Credit Suisse ได้ออกมาเผยข้อมูลว่า ประเทศไทยติดอันดับหนึ่งของโลกด้านความเหลื่อมล้ำของทรัพย์สิน โดยคนไทยที่รวยที่สุด 1% ถือครอง 66.9% ของทรัพย์สินทั้งประเทศ ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำของไทยจึงกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง

ดราม่าที่เกิดขึ้นได้สร้างความสับสนพอสมควร ฝ่ายที่ไม่พอใจรายงานฉบับดังกล่าวต่างดาหน้าออกมาวิจารณ์ว่า Credit Suisse ใช้ข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2549 ในการวิเคราะห์ พร้อมกันนั้นรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้ออกมาอธิบายกับสังคมโดยใช้สถิติความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ (ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคนละประเภทกับความเหลื่อมล้ำของทรัพย์สิน) ยืนยันว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยไม่ได้แย่มากอย่างที่รายงานบอกไว้ แถมยังดีขึ้นเรื่อยๆ อีกต่างหาก

คำถามที่ตามมาโดยปริยายคือ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกจริงหรือไม่ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นตามที่สภาพัฒน์อธิบายไว้จริงหรือ ทั้งนี้กุญแจสำคัญที่จะตอบคำถามดังกล่าวได้คือ การได้มาซึ่งตัวชี้วัดที่สามารถสะท้อนความเหลื่อมล้ำที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด

ในหนังสือ Capital in the Twenty-First Century อันโด่งดัง โธมา พิเก็ตตี้ (Thomas Piketty) และทีมวิจัยได้สร้างระเบียบวิจัยที่สามารถผลิตสถิติความเหลื่อมล้ำที่มีความแม่นยำ และได้รับการยอมรับอย่างสูงในวงวิชาการขึ้นมา โดยสถิติเหล่านี้ มีพื้นฐานอยู่บนบัญชีประชาชาติ ซึ่งมีความครอบคลุมทั้งรายได้และทรัพย์สิน

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะสำรวจความเหลื่อมล้ำไทย โดยใช้ข้อมูลภาษีเงินได้และบัญชีประชาชาติตามระเบียบวิจัยของพิเก็ตตี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยนั้นยังอยู่ในระดับที่สูงมาก และไม่ได้ดีขึ้นในอัตราที่น่าพึงพอใจ และหากเปรียบเทียบทั้งในมุมมองรายได้กับทรัพย์สินกับประเทศอื่นๆ แล้ว ประเทศไทยน่าจะมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจรุนแรงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกจริง

1. ปัญหาของสถิติความเหลื่อมล้ำของไทยที่ผ่านมา

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สถิติความเหลื่อมล้ำไม่เพียงแต่เป็นตัวชี้วัดสุขภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้ดีเท่านั้น แต่การศึกษาพลวัตความเหลื่อมล้ำในระยะยาว ยังสามารถสะท้อนระบบเศรษฐกิจการเมือง โดยเฉพาะในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างทุนและรัฐได้อย่างแหลมคมด้วย นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังมาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้านอื่นๆ เสมอ เช่น ด้านสุขภาพหรือด้านการศึกษา

ที่ผ่านมา ปัญหาหลักของงานวิจัยในประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สิน คือความครอบคลุมของข้อมูลสำรวจครัวเรือนทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ (สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นผู้จัดเก็บ) โดยเฉพาะความครอบคลุมครัวเรือนที่รวยที่สุดในประเทศ มักไม่เพียงพอที่จะสะท้อนระดับเงินได้หรือมูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริงของคนกลุ่มนี้ ดังนั้น ตัวเลขความเหลื่อมล้ำที่คำนวณขึ้นมาจากข้อมูลสำรวจครัวเรือนฯ มักจะต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับว่า (1) การจัดเก็บข้อมูลครอบคลุมครัวเรือนที่มีรายได้สูงได้มากน้อยเพียงใด  (2) การรายงานเงินได้ของครัวเรือนที่รวยที่สุดในการสำรวจครัวเรือน ตรงกับความเป็นจริงเพียงใด และ (3) ความเหลื่อมล้ำจริงในสังคมมากหรือน้อยเพียงใด

ประเด็นสุดท้ายนี้สำคัญมาก เพราะหากความเหลื่อมล้ำจริงในสังคมมีมาก ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากข้อ (1) และ (2) ย่อมมากตามไปด้วย สมมติว่าข้อมูลสำรวจครัวเรือนของจีน ไทย และฝรั่งเศส ไม่สามารถสอบถามครัวเรือนที่มีรายได้มากที่สุด 1% ในประเทศนั้นๆ สถิติความเหลื่อมล้ำที่คำนวณจากข้อมูลประเทศฝรั่งเศส จะใกล้ภาพความเป็นจริงมากกว่าสถิติของจีนหรือไทย เป็นต้น

ดังนั้น สถิติความเหลื่อมล้ำที่คำนวณขึ้นมาจากข้อมูลสำรวจครัวเรือน เช่น สถิติของสภาพัฒน์ หรือธนาคารโลก ซึ่งอาศัยข้อมูลสำรวจครัวเรือนของไทยเพียงอย่างเดียว มักจะต่ำกว่าความเป็นจริงเสมอ และภาพสถานการณ์ระยะยาวจะเชื่อถือไม่ได้

ภาพที่ 1: อัตราส่วนเงินได้เฉลี่ยตาม percentile จากข้อมูลภาษีและข้อมูลสำรวจครัวเรือนทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ (SES)

อัตราส่วนเงินได้เฉลี่ยตาม percentile จากข้อมูลภาษีและข้อมูลสำรวจครัวเรือนทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ (SES)
ที่มา: Jenmana, T. (2018)

 

ด้วยเหตุผลนี้จึงเกิดกระแส ‘รื้อ’ สถิติความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสินทรัพย์ในวงการวิชาการระดับนานาชาติ งานวิจัยเหล่านี้ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2556 หลังจากที่ โธมา พิเก็ตตี้ (Thomas Piketty) นักเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ได้ตีพิมพ์หนังสือ Capital in the Twenty-First Century งานวิจัยที่พิเก็ตตี้และทีมวิจัยทำได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะระเบียบวิจัยที่สามารถผลิตสถิติความเหลื่อมล้ำที่มีความแม่นยำและน่าเชื่อถือมากขึ้น (นอกจากนี้ข้อมูลที่ตีพิมพ์ ยังย้อนกลับไปถึงร้อยปีสำหรับประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา) และสถิติเหล่านี้ มีพื้นฐานอยู่บนบัญชีประชาชาติ ทำให้สามารถนำสถิติเหล่านี้มาเปรียบเทียบระหว่างประเทศได้

สำหรับความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในกรณีของไทย กรมสรรพากรมีรายงานข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นรายบรรทัดตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งสามารถนำมาใช้ร่วมกับข้อมูลสำรวจครัวเรือนที่มีข้อจำกัดที่กล่าวไว้ได้ พอนำข้อมูลสองชนิดนี้มาเปรียบเทียบกัน เราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนถึงข้อจำกัดในความครอบคลุมคนรวย ในข้อมูลสำรวจครัวเรือน โดยภาพที่ 1 แสดงอัตราส่วนระหว่างเงินได้เฉลี่ยของกลุ่มที่รวยที่สุด 10% จากข้อมูลภาษีและข้อมูลสำรวจครัวเรือน เห็นได้ชัดเจนว่า รายได้เฉลี่ยที่คำนวณจากข้อมูลครัวเรือนต่ำกว่าความเป็นจริงถึงสองเท่าสำหรับกลุ่มที่รวยที่สุด 1%

ภาพที่ 2: ค่าสัมประสิทธ์จีนี 2544-2559

ค่าสัมประสิทธ์จีนี 2544-2559
ที่มา: Jenmana, T. (2018)

เมื่อนำข้อมูลทั้งสองมาคำนวณร่วมกันแล้ว สังเกตได้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงกว่าเดิมมาก (ดูภาพที่ 2)[1] นอกจากนี้ เมื่อรวม ‘รายได้ที่มองไม่เห็น’ ของครัวเรือน เช่น ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจของครัวเรือน มูลค่าเช่าบ้านที่ตนเองเป็นเจ้าของ รายได้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในรูปแบบกองทุนประกันสังคม และรายได้จากสินทรัพย์อื่นๆ ที่ไม่ต้องเสียภาษี ท้ายสุดแล้วเราจะได้การกระจาย ‘รายได้ประชาชาติ’ และสรุปได้ว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในด้านรายได้นั้น ไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างที่รัฐบาลและสภาพัฒน์ได้ประกาศ

ข้อมูลการกระจายรายได้ประชาชาติ ให้ภาพความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่ชัดเจนที่สุด เพราะว่าครอบคลุมรายได้ที่ ‘มองไม่เห็น’ นอกเหนือจากรายได้ที่เห็นได้ชัดเจน เช่น เงินเดือน และรายได้จากสินทรัพย์ที่ต้องเสียภาษี ประเด็นนี้สำคัญมาก เนื่องจากรายได้ที่ว่านี้สะท้อนพฤติกรรมครัวเรือนที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างภาษี และแรงจูงใจจากนโยบายลดหย่อนภาษี นอกจากนี้ สถิติความเหลื่อมล้ำที่คำนวณขึ้นมาโดยอ้างอิงกับบัญชีประชาชาติ จะทำให้สามารถเปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศได้ถูกต้องมากขึ้น[2]

2. ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทย 2544-2559

ก่อนที่เราจะพูดถึงความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยว่าเป็นอย่างไร ต้องพูดก่อนว่าค่าสัมประสิทธิ์จีนี (gini) ไม่สามารถให้ภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนที่สุด การสรุปภาพความเหลื่อมล้ำออกมาเป็นตัวเลขเดียว ไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนแต่ละกลุ่มในสังคม หรือระหว่างชนิดของรายได้ได้

ตัวเลขที่ให้ภาพความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนกว่า คือส่วนแบ่งรายได้ของกลุ่มประชากร เช่น กลุ่มที่รวยที่สุด 1% 10% หรือจนที่สุด 50% นอกจากจะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงตามกลุ่มรายได้ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการวิเคราะห์แบบเศรษฐศาสตร์การเมืองมากกว่า ยังสามารถแบ่งชนิดรายได้ตามกลุ่มประชากรอีกด้วย

สำหรับภาพรวมปี 2559 จากประชากรวัยทำงาน 52 ล้านคน กลุ่มที่รวยที่สุด 10% มีส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติถึง 53% (เฉลี่ย 99,072 บาทต่อเดือน) และคนรวยที่สุด 1% ถือรายได้อยู่ 20.23% (เฉลี่ย 377,426 บาทต่อเดือน) ในขณะเดียวกัน คนที่จนที่สุดครึ่งประเทศ (bottom 50%) มีส่วนแบ่งเพียง 13% (เฉลี่ย 4,941 บาทต่อเดือน) กลุ่มชนชั้นกลาง 40% (middle 40%) มีส่วนแบ่ง 34% (เฉลี่ย 15,707 บาทต่อเดือน)[3] กล่าวคือ คนที่มีรายได้น้อยทีสุด 50% ต้องทำงานหนึ่งเดือนถึงจะได้รายได้ในหนึ่งวันของคนที่รวยที่สุด 10% (ภาพที่ 3)

คำถามต่อมาคือ แล้วความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21? กล่าวได้ว่าดีขึ้นแต่เพียงเล็กน้อย โดยกลุ่มคนที่จนที่สุด 50% ได้ส่วนแบ่งเพิ่มจาก 9% ในปี 2544 เป็น 13% ในปี 2559 ในขณะเดียวกัน ส่วนแบ่งรายได้ของคนชนชั้นกลาง 40% ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย

อีกมุมมองของความเหลื่อมล้ำ คือการกระจาย ‘ผลการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ’ ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 คนที่จนที่สุด 50% ยังได้ผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติน้อยที่สุด สมมติว่าระหว่างปี 2544 – 2559 เศรษฐกิจโตเพิ่มขึ้น 100 บาท คนรวยที่สุด 10% ได้ไป 36 บาท คนชนชั้นกลางได้ 38 บาท ส่วนคนจนที่สุด 50% ได้ไป 26 บาท

สรุปคือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในมุมมองรายได้ของไทย ไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นในระดับที่น่าพอใจนัก และสูงกว่าที่รัฐบาลได้ประกาศไว้มาก ประเทศไทยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับที่สูงมาก เปรียบเทียบได้กับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก เช่น บราซิล แอฟริกา อินเดีย ประเทศตะวันออกกลาง และสูงกว่ารัสเซียและจีน (ภาพที่ 4) นอกจากนี้ ศตวรรษที่ 21 อาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่คนจนที่สุด 50% เติบโตในอัตราโดยรวมเร็วกว่าคนชนชั้นกลาง[4] ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง party politics การขับเคลื่อนทางการเมืองของชนชั้น และ ความไม่พอใจของชนชั้นกลางต่อระบอบประชาธิปไตยหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้

 ภาพที่ 3. ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติของแต่ละกลุ่มรายได้ในไทย

ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติของแต่ละกลุ่มรายได้ในไทย
ที่มา: World Inequality Report (2018) และ Jenmana, T. (2018), Democratisation and the Emergence of Class Conflicts: Income inequality in Thailand 2001-2016. WID.world working paper No.2018/15.

ภาพที่ 4. ส่วนแบ่งรายได้ของกลุ่มที่รวยที่สุด 10% ไทยและเทศ

ส่วนแบ่งรายได้ของกลุ่มที่รวยที่สุด 10% ไทยและเทศ
ที่มา: World Inequality Report (2018) และ Jenmana, T. (2018), Democratisation and the Emergence of Class Conflicts: Income inequality in Thailand 2001-2016. WID.world working paper No.2018/15.

 

3. ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน สูงที่สุดในโลกจริงหรือไม่

ประเด็นต่อมาคือ ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ประเทศไทยเหลื่อมล้ำที่สุดในโลกจริงหรือไม่ ด้วยข้อมูลที่มีในปัจจุบันเรายังบอกเป็นภาพที่ชัดเจนไม่ได้ แต่ที่แน่นอนคือ ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินสูงกว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เสมอ

เหตุผลหลักๆ คือ รายได้คือ ‘flow’ หรือการหมุนเวียนของเงิน เช่น จากแรงงานหรือจากผลตอบแทนของการถือครองทรัพย์สิน ส่วนทรัพย์สินคือ ‘stock’ หรือคลังทรัพย์ รายได้จากทรัพย์สินเป็นผลตอบแทน ซึ่งหากเปรียบเทียบจากมูลค่าของทรัพย์สินนั้น ถือเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น (เช่น อัตราตอบแทนของกองทุนรวม หรือของหุ้น มักจะไม่ถึง 10% ของมูลค่าทั้งหมดต่อปี) นอกจากนี้ การถือครองทรัพย์สินอาจจะไม่ผลิตรายได้สม่ำเสมอทุกปี โดยเฉพาะการลงทุนซื้อที่ดินเพื่อรอราคาสูงขึ้น หากเปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จากทรัพย์สินเป็นเพียง ‘ยอดของภูเขาน้ำแข็ง’ โดยที่ ‘ภูเขาน้ำแข็ง’ คือความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน

หากเราดูส่วนประกอบของรายได้ของแต่ละกลุ่มรายได้แล้ว จะเห็นลักษณะที่ชัดเจนสำคัญสองประการคือ 1) การกระจายรายได้จากทรัพย์สินเหลื่อมล้ำมากกว่ารายได้จากแรงงาน และรายได้โดยรวม  2) องค์ประกอบรายได้โดยรวมของกลุ่มที่รวยที่สุด 1% มาจากรายได้จากทรัพย์สินเสียส่วนใหญ่ โดยในภาพที่ 5 แสดงการจำแนกรายได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นรายได้จากแรงงานและจากทรัพย์สิน (เช่น จากเงินปันผล ดอกเบี้ย และกำไรจากการซื้อขายทุน)

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาโดยละเอียดจะพบข้อสังเกต 2 ประการหลัก คือ ประการแรก ความสำคัญของรายได้จากทรัพย์สินมากขึ้นเมื่อคนรวยขึ้น กล่าวคือ สำหรับกลุ่มคนที่รวยที่สุด 1% (ประมาณ 5.2 แสนคนจากประชากรวัยทำงาน) รายได้จากทรัพย์สินสูงกว่ารายได้จากการทำงาน และสำหรับกลุ่มที่รวยที่สุด 0.001% สัดส่วนรายได้จากการจ้างงานต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินจึงสูงกว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้อย่างแน่นอน แต่จะอยู่ในระดับใดก็ขึ้นอยู่กับอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของสินทรัพย์แต่ละประเภท

ประการที่สอง รายได้จากทรัพย์สินมีความสำคัญมากขึ้นในกลุ่มคนที่รวยที่สุดตั้งแต่ปี 2544 ส่วนแบ่งของรายได้จากแรงงานถือเป็น 52% ของรายได้ทั้งหมดของกลุ่ม top 1% ในปี 2544 และลดลงเป็น 46% ในปี 2559 นั่นหมายความว่า ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินน่าจะมีระดับแย่ลงตั้งแต่ปี 2544 ถ้าอัตราผลตอบแทนของทุนไม่เปลี่ยนแปลงมาก ปรากฏการณ์ข้อหลังนี้สะท้อนตัวเลขการจัดอันดับมหาเศรษฐีของ Forbes ที่ว่า มูลค่าทรัพย์สินของเศรษฐีไทยได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยระหว่างปี 2556 และ 2560 ทรัพย์สินของเศรษฐีและเศรษฐีนีที่รวยที่สุด 10 คนโตถึง 30% โดยเฉลี่ย (Forbes rich list, 2017)

ภาพที่ 5. ส่วนแบ่งรายได้จากแรงงานจากรายได้ทั้งหมดของแต่ละกลุ่มรายได้

ส่วนแบ่งรายได้จากแรงงานจากรายได้ทั้งหมดของแต่ละกลุ่มรายได้
ที่มา: Jenmana, T. (2018), Democratisation and the Emergence of Class Conflicts: Income inequality in Thailand 2001-2016. WID.world working paper No.2018/15

4. ถ้าอยากได้สถิติความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สินที่แม่นยำ ต้องทำอย่างไร

สาเหตุสำคัญที่เราไม่สามารถตอบได้ว่า ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินไทยสูงที่สุดในโลกจริงหรือไม่ เนื่องจากข้อมูลทรัพย์สินของครัวเรือนของไทยมีความจำกัดมาก และมักจะเข้าถึงไม่ได้ เช่น การถือครองที่ดิน เป็นต้น

อันที่จริง วิธีการที่ Credit Suisse ใช้วิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำใน Global Wealth Report ซึ่งเรียกว่า income-capitalisation approach (การคำนวณการกระจายทรัพย์สินแต่ละประเภทตามการกระจายรายได้จากทรัพย์สินนั้นๆ) ถือเป็นวิธีหนึ่งที่ให้ภาพความเหลื่่อมล้ำที่ชัดเจนที่สุดสำหรับกรณีของไทยที่ขาดข้อมูลทรัพย์สินระดับครัวเรือน แต่ปัญหาของรายงานที่ว่าคือข้อมูลเก่า อย่างที่สภาพัฒน์ได้แถลงไว้

แต่กระนั้น ไม่ได้หมายความว่าตัวเลขความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินของ Credit Suisse เชื่อถือไม่ได้เสียทีเดียว เอาเข้าจริงแล้ว ตัวเลขของ Credit Suisse อาจจะให้ภาพความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินที่ที่ดีเกินไปด้วยซ้ำ เนื่องจากรายงานที่ว่าใช้ข้อมูลการกระจายรายได้จากข้อมูลสำรวจครัวเรือน และไม่ได้ใช้ข้อมูลภาษีเงินได้เพื่อที่จะแก้ปัญหาเรื่องการครอบคลุมตัวอย่างคนรวยในการสำรวจอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

ถ้าหากสภาพัฒน์และรัฐบาลอยากได้ข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สินที่แม่นยำมากกว่านี้ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ต้องให้บริการข้อมูลที่ปัจจุบันนักวิจัย (รวมถึงผู้เขียน) ยังเข้าถึงไม่ได้ เช่น ข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบละเอียดตามประเภทรายได้ ระดับหน่วยภาษี (แบบปิดบังข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียภาษี) หรือข้อมูลสต็อกทุนของไทย ตามหน่วยเศรษฐกิจ (ครัวเรือน ภาคธุรกิจ และรัฐบาล) ปัจจุบันงานวิจัยชิ้นเดียวที่สามารถเข้าถึงข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบละเอียดได้ คืองานของอาจารย์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ (2560)

ดราม่าในช่วงที่ผ่านมาช่วยกระตุกให้สังคมไทยหันมาสนใจความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ประเด็นที่สำคัญตอนนี้ ไม่ใช่ว่าเราอยู่อันดับที่เท่าไหร่ในโลก แต่คือคำถามที่ว่าเราจะทำอย่างไรกับสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบัน

เพราะทั้งตัวชี้วัดตามระเบียบวิธีวิจัยเชิงวิชาการ และความรู้สึกของผู้คนต่างบอกตรงกันว่า ประเทศไทยเป็นผู้ป่วยโรค ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ระดับสาหัสของโลกจริง

เอกสารอ้างอิง

  1. Alvaredo, F., Chancel, L., Piketty, T., Saez, E., Zucman, G., eds. World Inequality Report (2018)
  2. Credit Suisse. (2018). Global wealth databook (Tech. Rep.). Credit Suisse Research Institute.
  3. Jenmana, T. (2018), Democratisation and the Emergence of Class Conflicts: Income Inequality in Thailand 2001-2016. world working paper No.2018/15
  4. ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ (ธันวาคม 2560), รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยเรื่อง “แนวทางการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและวิเคราะห์การกระจายรายได้ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน”. สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

[1] ค่าสัมประสิทธิ gini มีค่าจาก 0 (หมายถึงทุกคนในสังคมมีรายได้เท่ากัน) ถึง 1 (คนที่รวยที่สุดมีรายได้ทั้งหมด)

[2] ดู world inequality database ที่ wid.world

[3] รายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อประชากรวัยทำงาน เท่ากับ 18,660 ต่อเดือน

[4] หลังจากปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อแล้ว ระหว่างปี 2544-2559 รายได้เฉลี่ยของคนจนที่สุด 50% โต 135% ในขณะที่คนชนชั้นกลางโต 49%

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023