นิพนธ์ พัวพงศกร เรื่อง
ขอบคุณภาพจาก สำนักข่าวอิศรา
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 วงการวิชาการไทยได้สูญเสีย หม่อมราชวงศ์อคิน รพีพัฒน์ นักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่อ่อนน้อมถ่อมตัวที่สุดเช่นกัน
แม้ผมจะไม่เคยเรียนหนังสือกับอาจารย์อคิน แต่อาจารย์อคินถือเป็น “ครู” ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในชีวิตการเป็นนักวิจัยของผม นอกจากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์สามท่านที่มหาวิทยาลัยฮาวายแล้ว คนที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อแนวคิดและวิธีการวิจัยของผม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวิจัยเชิงคุณภาพในชนบท คือ อาจารย์อคิน รพีพัฒน์ อาจารย์อัมมาร สยามวาลา และอาจารย์เสน่ห์ จามริก
ผมโชคดีมากที่ตอนเริ่มทำงานวิจัยชิ้นสำคัญเรื่องสินเชื่อชนบทในปี 2526 อาจารย์อัมมาร และอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ได้เรียนเชิญอาจารย์อคิน อาจารย์เสน่ห์ รวมทั้งศาสตราจารย์ Joseph Stiglitz ให้มาเป็นที่ปรึกษาของโครงการวิจัยนั้น
อาจารย์อคินกรุณาสอนนักเศรษฐศาสตร์หนุ่มสาวในทีมวิจัย 7 คน เรื่องวิธีสัมภาษณ์คนชนบทตามแบบฉบับนักมานุษยวิทยา เริ่มตั้งแต่การเข้าแนะนำตัวอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน การอธิบายเหตุผลที่ต้องมาขอความรู้จากคนที่เราสัมภาษณ์ การหาที่นั่งคุยซึ่งต้องไม่อยู่เหนือผู้ให้สัมภาษณ์โดยเด็ดขาด
และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การสนทนาที่ทำให้ผู้ให้สัมภาษณ์มีความสุขในการพูดคุยกับเรา อาทิเช่น การหาประเด็นที่ผู้ให้สัมภาษณ์มีความภาคภูมิใจ เพราะความภูมิใจดังกล่าวจะเป็นโอกาสให้เขาเล่าเรื่องที่นักวิจัยอยากรู้ อยากได้คำตอบ
ในระหว่างการวิจัยเรื่องสินเชื่อนอกระบบ นักวิจัยที่พวกเราส่งไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอปักธงไชยไม่สามารถหาข้อมูลจากนายทุนเงินกู้คนสำคัญในหมู่บ้านได้เลย ทีมของเราซึ่งประกอบด้วย อาจารย์อัมมาร อาจารย์เจิมศักดิ์ อาจารย์ประยงค์ เนตยารักษ์ และผม จึงต้องเข้าไปคุยกับนายทุนคนดังกล่าวเอง ชั่วโมงแรก เราไม่ได้ข้อมูลอะไรเลยเช่นกัน จนกระทั่งเราเหลือบเห็นรูปถ่ายของลูกที่จบมหาวิทยาลัย และหันไปคุยเรื่องความสำเร็จด้านการศึกษาของลูกนายทุนเงินกู้ท่านนั้น หลังจากนั้นเขาก็เล่าทุกอย่างเกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ในหมู่บ้านให้พวกเราอย่างเต็มอกเต็มใจ
บทเรียนที่ผมได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากคำสอนของอาจารย์อคิน (ผมเรียกว่า corollary) คือ ในการสัมภาษณ์คนชนบท อย่าปล่อยให้ผู้ให้สัมภาษณ์ “สร้างความสุข” ให้แก่นักวิจัย เพราะนักวิจัยจะได้ข้อมูลที่ผิดไปจากความเป็นจริง
บทเรียนนี้เกิดขึ้นเมื่อทีมวิจัยของเรา พบว่า แบบสอบถามที่เราส่งนักสำรวจออกไปจัดเก็บข้อมูลไม่สมบูรณ์ ขาดข้อมูลบางอย่าง ผมเป็นคนหนึ่งที่ต้องเดินทางไปโคราชเพื่อ “ซ่อม” แบบสอบถามให้สมบูรณ์ หลังจากผมแนะนำตัวและบอกเหตุผลที่ต้องมารบกวนลุงคนหนึ่งแล้ว ผมก็เริ่มทวนความจำของลุงว่าเคยให้สัมภาษณ์แก่นักศึกษาที่มาสำรวจว่าลุงเคยกู้เงินจำนวน 30,000 บาท ลุงทำสีหน้างุนงงมาก และบอกว่าไม่เคยกู้เงินจำนวนดังกล่าว แต่สักพักลุงก็ร้องอ๋อว่า จำได้แล้วว่า ค่ำวันที่นักศึกษามาขอสัมภาษณ์ ลุงแกเห็นว่านักศึกษาอิดโรยมาก พอนักศึกษาเริ่มตั้งคำถามว่ากู้เงินจาก ธกส. มีกี่สัญญา เป็นเงินเท่าไร ลุงเลยรวมยอดเงินกู้ 4 สัญญาเป็นการกู้ครั้งเดียว เพื่อช่วยให้การสัมภาษณ์จบเร็วขึ้น นักศึกษาจะได้ไม่เหนื่อย
ผมจำเรื่องนี้เป็นบทเรียน และใช้เป็นหลักในการอบรมพนักงานที่ออกสำรวจภาคสนามทุกครั้ง
อาจารย์อคินเป็นสุดยอดของนักสังคมวิทยาที่พยายามขบคิดแสวงหา “แก่น” หรือ “สาระสำคัญ” จากเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ ในการสัมภาษณ์พูดคุยกับคนชนบท พวกเรามักจะก้มหน้าก้มตาจดคำให้สัมภาษณ์ (สมัยนั้นยังไม่มีเครื่องบันทึกเสียง) แต่อาจารย์อคินมักนั่งฟังนั่งคิดอย่างไตร่ตรองโดยไม่จด หลังจากเสร็จการสัมภาษณ์แล้ว ทีมวิจัยจะพูดคุยหาข้อสรุปกัน นักวิจัยหนุ่มสาวอย่างพวกเราก็จะพูดถึงรายละเอียดของข้อมูลและเนื้อหาจากการสัมภาษณ์ แต่อาจารย์อคินกลับให้ข้อสรุปสั้นๆ ที่เป็นแก่นสารจากผลการสัมภาษณ์ ทำให้พวกเราสามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ตรงประเด็น ไม่หลงทางไปกับรายละเอียดและข้อมูลจำนวนมากที่ได้จากการสัมภาษณ์
นี่แหละครับ การวิจัยเชิงคุณภาพ
วิธีการทำงานดังกล่าว กอปรกับวิธีวิจัยแบบนักสังคมวิทยาขั้นบรมครู ทำให้อาจารย์อคินมองเห็นภาพใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทที่นักเศรษฐศาสตร์เด็กๆ อย่างพวกเราคิดไม่ถึง ข้อสรุปสำคัญที่สุดที่อาจารย์อคินให้กับทีมวิจัย เป็นข้อสรุปที่อาจารย์เล่าว่าได้มาจากลุงคนหนึ่งในชนบท
อาจารย์อคินถามว่า “ลุง ในช่วงชีวิตของลุง มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ชีวิตความเป็นอยู่ของลุงดีขึ้นไหม”
คำตอบของลุง คือ “ขีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่เหนื่อยมากขึ้น”
ต่อมาเมื่อผมทำงานวิจัยเรื่องสินเชื่อของ ธกส. ผมได้พยายามหาข้อมูลพิสูจน์ประโยคทองดังกล่าว และพบว่า คำตอบสั้นๆ นี้สะท้อนข้อเท็จจริงของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (หมายถึง transformation) ของชนบทไทยในช่วงทศวรรษ 2510 ถึง 2530 กล่าวคือ ชีวิตของคนชนบทสะดวกขึ้น ตั้งแต่การเดินทางไปไหนมาไหน ไม่ต้องไปหาบน้ำจากบ่อน้ำในหมู่บ้าน ฯลฯ แต่ต้องทำไร่ทำนาตลอดปี รวมทั้งต้องทำงานนอกภาคเกษตรเพื่อหารายได้มาซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกตั้งแต่ตู้เย็น โทรทัศน์ มอเตอร์ไซค์ รถปีกอัพ ฯลฯ
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบนี้ยังคงเป็นการเติบโตเชิงปริมาณ ยังไม่ใช่การเติบโตที่เกิดจากการใช้ความรู้ ทำงานน้อยลง แต่มาตรฐานการครองชีพและคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยในรุ่นเราต้องพยายามทำให้สำเร็จ
หนังสือเรื่อง สังคมไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2416 และบทความหลายเรื่องที่อธิบายระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยย่อมเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าอาจารย์คือนักสังคมวิทยาผู้ยิ่งใหญ่
นอกจากนั้นอาจารย์อคินยังเป็นบุคคลสำคัญที่ร่วมผลักดันให้มีโครงการบ้านมั่นคงในที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เมื่อครั้งที่อาจารย์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการสร้างสรรค์และพัฒนาชนบทของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โครงการนี้เปิดโอกาสให้คนจนที่อพยพจากชนบท และต้องหาที่อยู่อาศัยด้วยการบุกรุกที่หลวงและที่สาธารณะ สามารถรวมกลุ่มกันเพื่อขอเช่าที่ดินระยะยาวจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (และหน่วยราชการ) โดยการออมทรัพย์เพื่อนำมาสร้างบ้านใหม่ ร่นถอยออกจากคลอง แก้ปัญหาสภาพแวดล้อมทั้งน้ำเสีย ความแออัด รวมทั้งปัญหาสังคม ปัญหายาเสพติดในสลัม ชุมชนบ้านมั่นคงกลายเป็นชุมชนของคนชั้นกลางระดับล่างที่น่าอยู่ เด็กในชุมชนมีบ้านที่น่าอยู่ มีสวน มีที่พักผ่อน เล่นกีฬา จนแม้แต่คนจากชุมชนในเมืองหลุยเซียน่าที่เคยถูกพายุเฮอร์ริเคนแคทรีน่าพัดถล่มในปี 2548 ต้องเดินทางมาดูตัวอย่างการรวมกลุ่มกันพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบยั่งยืน
ผมขอกราบเท้าคารวะท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์อคิน รพีพัฒน์ นักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ของนักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาไทย