fbpx
'Why We Post' เข้าใจโลกโซเชียลแบบนักมานุษยวิทยา กับแดเนียล มิลเลอร์

‘Why We Post’ เข้าใจโลกโซเชียลแบบนักมานุษยวิทยา กับแดเนียล มิลเลอร์

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

คิริเมขล์ บุญรมย์ ภาพ

ทำไมเราจึงโพสต์ในโซเชียลมีเดีย และโซเชียลมีเดียทำให้เรามีความสุขมากขึ้นจริงหรือ?

นี่คือคำถามพื้นฐานที่สุดที่แดเนียล มิลเลอร์ (Daniel Miller) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่ง Univercity College London ร่วมกับนักมานุษยวิทยาอีก 8 คนพยายามตอบผ่านโครงการ ‘Why We Post” โครงการวิจัยที่ศึกษาการใช้โซเชียลมีเดียจาก 9 พื้นที่ทั่วโลก

นักมานุษยวิทยากลุ่มนี้ใช้เวลาทำงานวิจัยภาคสนามกว่า 15 เดือนและครอบคลุมพื้นที่การวิจัยที่หลากหลายทั้งในมิติสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และชาติพันธ์ุ เพื่อทำความเข้าใจบทบาทของโซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวันของผู้คน ผลการวิจัยและข้อค้นพบได้กลายเป็นหนังสือชื่อ How the World Changed Social Media ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2016 นับเป็นหนังสือว่าด้วยการใช้และผลลัพธ์ของโซเชียลมีเดียเล่มสำคัญที่สุดเล่มหนึ่งในปัจจุบัน

นอกจากงานวิจัยข้างต้นแล้ว แดเนียล มิลเลอร์ยังเป็นผู้บุกเบิกสาขาวิชามานุษยวิทยาดิจิทัล (Digital Anthropology) คนสำคัญ โดยเขาเป็นบรรณาธิการร่วมให้กับหนังสือ Digital Anthropology ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นตำราเล่มแรกของสาขาวิชาที่เพิ่งเกิดใหม่นี้

เมื่อมีโอกาสได้คุยกับมิลเลอร์ 101 จึงไม่รอช้าที่จะชวนเขาสนทนาเกี่ยวกับโครงการ Why We Post และแนวคิดมานุษยวิทยาดิจิทัล แม้จะใช้เวลาไม่นาน แต่เชื่อว่าบทสนทนานี้จะสะกิดให้คุณกลับไปตั้งคำถามอีกครั้งว่า ทำไมเราจึงโพสต์

แดเนียล มิลเลอร์ (Daniel Miller)

ในเว็บไซต์ของโครงการ ‘Why We Post’ ระบุไว้ว่า มีข้อค้นพบ 15 ประเด็นที่ได้จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ซึ่งในหลายประเด็นนับว่าเป็นความรู้ใหม่ และขัดกับความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย ประเด็นไหนที่ทำให้คุณต้องประหลาดใจมากที่สุด

คนส่วนใหญ่เชื่อกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่ (modern world)  จะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ยิ่งในสิ่งที่เราเรียกว่า ‘โซเชียลมีเดีย’ ความเป็นสมัยใหม่จะยิ่งดำเนินไปอย่างทรงพลัง เช่น ใครๆ ก็พูดกันว่า โซเชียลมีเดียจะทำให้เรามีความเป็นปัจเจกบุคคลมากยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา

แต่ข้อค้นพบที่สำคัญมากของทีมวิจัยคือ แท้จริงแล้วโซเชียลมีเดียไม่ได้ทำให้ความเป็นสมัยใหม่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ทำให้เกิดการย้อนกลับ (reverse) ในหลายมิติ ในหลายพื้นที่ เช่น อิตาลี ตุรกี อังกฤษ บราซิล หรือชนบทของจีน โซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ผู้คนเป็นปัจเจกมากขึ้นอย่างที่เข้าใจ ในทางตรงกันข้าม มันกลับทำให้คนเป็นปัจเจกบุคคลน้อยลง และหันไปเชื่อมต่อกับชุมชนมากขึ้น

อันที่จริง โซเชียลมีเดียมีลักษณะของความเป็นอนุรักษนิยมค่อนข้างสูง มันเป็นเครื่องมือที่พาเรากลับไปหาสิ่งที่เราเคยมี เช่น ในโลกสมัยใหม่มีปัจจัยมากมายที่ทำให้ครอบครัวมีแนวโน้มที่จะกระจัดกระจาย และสมาชิกแต่ละคนต้องแยกตัวออกไป แต่ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ล้วนอยู่บนไลน์ อยู่บน WhatsApp ซึ่งมีกลุ่มเฉพาะของครอบครัวอยู่ด้วย

ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีทำให้เราใกล้กันเท่านั้น แต่ยังทำให้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวมีลักษณะคล้ายกับครอบครัวแบบโลกก่อนสมัยใหม่มากขึ้น  นอกจากครอบครัวแล้ว ถ้าคุณไปดูกลุ่มที่อยู่ในโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก หรือไลน์ หากกลุ่มไหนมีปฏิสัมพันธ์กันมาก กลุ่มนั้นจะมีลักษณะของชุมชนดั้งเดิม (traditional community) มากกว่า

แล้วอะไรเป็นข้อค้นพบที่สำคัญที่สุด

ข้อค้นพบที่สำคัญที่สุดของโครงการวิจัยนี้ เป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้คิดในแง่มุมนี้เท่าไหร่ นั่นคือ การไม่มีข้อสรุปเหมารวม (generalization) ว่าโซเชียลมีเดียต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โครงการวิจัยพบว่า โซเชียลมีเดียจะมีลักษณะแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับว่ามันเกิดขึ้นในบริบทไหน และสถานที่แบบใด

โซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นแค่แพล็ตฟอร์ม แต่เป็นเนื้อหา (content) ซึ่งถูกสร้างโดยพวกเราเอง ดังนั้น โดยธรรมชาติเนื้อหาเหล่านี้จึงมีองค์ประกอบเชิงวัฒนธรรมที่เฉพาะเจาะจงอยู่ด้วย เช่น หากมองดูรูปภาพ มีม ประเด็นถกเถียง ที่ปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดียของคนกรุงเทพฯ คุณจะรู้สึกได้ทันทีว่าต่างจากของคนที่อยู่ในลอนดอน หรือในตรินิแดด หรือที่ไหนก็ตาม ในแง่นี้ การทำความเข้าใจโซเชียลมีเดียจึงต้องคำนึงด้วยว่า เรากำลังทำความเข้าใจมันในบริบทแบบไหน เพราะบางครั้งการศึกษาในประเด็นเดียวกันในต่างสถานที่ กลับได้ผลลัพธ์ที่ตรงข้ามกัน

หนึ่งในข้อค้นพบของโครงการวิจัยคือ ผู้คนในแต่ละพื้นที่มองความเป็นส่วนตัวแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น คนอังกฤษที่อยู่ในลอนดอน มองว่าโซเชียลมีเดียทำให้ตัวเองสูญเสียความเป็นส่วนตัวไป แต่สำหรับคนจีน โซเชียลมีเดียกลับเป็นที่ที่พวกเขาได้รู้จักความเป็นส่วนตัวแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะในชีวิตประจำวันพวกเขาต้องแชร์ทุกอย่างกับคนอื่น  ดังนั้นสำหรับคนจีน โซเชียลมีเดียถือว่าเป็น ‘จุดกำเนิดของความเป็นส่วนตัว’ เลยก็ว่าได้

ดูเหมือนว่าโลกจริงจะส่งผลกระทบต่อโลกออนไลน์ไม่น้อย สองโลกนี้มีความแตกต่างกันไหม อะไรคือเส้นแบ่งสำหรับนักมานุษยวิทยา

สำหรับงานทุกชิ้นที่ผมทำในฐานะนักมานุษยวิทยา ผมระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ใช้คำว่า ‘โลกจริง’ หรือ ‘โลกเสมือน’ เพราะการใช้คำลักษณะนี้มีนัยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์มีสถานะต่ำกว่า หรือมีอะไรที่ต้องมาเป็นตัวกลางระหว่างคนกับเนื้อหาที่เขาสร้างขึ้น มากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นออฟไลน์ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง

ไม่ว่าจะเป็นโลกออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ตาม การกระทำของคนไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อไหร่ที่คนสร้างเนื้อหาขึ้นมา จะต้องมีอะไรมาเป็นตัวกลางหรือกำกับอยู่เสมอ เช่น ผมนั่งคุยกับคุณตอนนี้ ผมก็ต้องพูดคุยกับคุณอย่างสุภาพ และไม่ใช่สุภาพแค่คำพูดเท่านั้น ยังรวมทุกสิ่งที่ผมกระทำต่อคุณ แต่เมื่อผมอยู่กับคนอื่น เช่น ครอบครัว เพื่อนสนิท ฯลฯ พฤติกรรมของผมก็เปลี่ยนไป

ลองเทียบกับโลกออนไลน์ เป็นความจริงที่ว่า เรามีพฤติกรรมบนเฟซบุ๊ก อินสตราแกรม หรือโซเชียลมีเดียแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน แต่สำหรับผมแล้ว มันไม่ต่างจากการมองว่า พฤติกรรมนี้เป็นพฤติกรรมที่บ้าน พฤติกรรมนั้นเป็นพฤติกรรมในที่ทำงาน

ถ้าคุณอยากจะเข้าใจพฤติกรรมของคนอย่างสมบูรณ์ คุณไม่ควรแยกโลกออนไลน์และออฟไลน์ออกจากกัน เมื่อไหร่ที่คุณแยกมันออกจากกัน คุณจะไม่เข้าใจทั้งคู่ ผมเรียกวิธีการนี้ว่าเป็นการมองแบบ ‘องค์รวม’ (Holistic view) ถ้าจะใช้คำศัพท์แบบคุณคือ มันไม่มีเส้นแบ่งระหว่างโลกออนไลน์กับออฟไลน์ ไม่มีอะไรที่จริงกว่ากัน แต่มันคือสิ่งเดียวกัน

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนธรรมดาทั่วไป ยังคงแยกระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์อยู่ ในแง่นี้คุณจะทำความเข้าใจผู้คนได้จริงหรือ เพราะในด้านหนึ่ง คนที่คุณกำลังศึกษาเขาแยกโลกสองโลกออกจากกัน แต่คุณทำความเข้าใจโดยมองว่ามันเป็นเนื้อเดียวกัน

ประเด็นคือ การวิเคราะห์โดยแบ่งเป็นชีวิตออนไลน์กับชีวิตออฟไลน์ ไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจพฤติกรรมของคนในปัจจุบัน ถ้าต้องใช้คำว่า ‘ออฟไลน์’ กับ ‘ออนไลน์’ ผมจะอธิบายว่าสำหรับคนคนหนึ่ง ชีวิตออฟไลน์มีตั้งหลายแบบ และแต่ละแบบก็อาจไม่เหมือนกันเลย เช่นเดียวกับชีวิตออนไลน์ก็มีได้หลายแบบที่อาจไม่เหมือนกันเลยได้เช่นกัน ดังนั้น การทำความเข้าใจโดยแบ่งเป็นแค่ออฟไลน์กับออนไลน์จึงไม่เพียงพอ แต่ต้องเข้าใจทั้งคู่อย่างเป็นองค์รวม

ตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้เด็กๆ ใช้ snapchat ในการเรียนรู้ เพราะครูสอน แต่คุณจะเข้าใจการใช้ snapchat ของเด็กๆ ได้ คุณต้องเข้าใจว่าพวกเขากำลังใช้มันเหมือนกับเวลาที่พวกเขาลงไปเล่นในสนามเด็กเล่น มีการแบ่งพรรคพวก ทะเลาะกัน คืนดีกัน นี่คือชีวิตของเด็กในโรงเรียน ซึ่งเป็นจริงทั้งหมด ไม่ว่าคุณจะแยกมันเป็นออฟไลน์หรือออนไลน์ ดังนั้น สิ่งที่นักมานุษยวิทยาสนใจศึกษาคือ ปฏิสัมพันธ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นรอบชีวิตเด็กในโรงเรียน

มีการศึกษาการใช้โซเชียลมีเดียในผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่ดี และเคลื่อนที่ไม่ค่อยได้ พบว่าความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้พวกเขารู้สึกเชื่อมต่อกับคนในครอบครัวมากขึ้น ในแง่นี้ โจทย์ที่นักมานุษยวิทยาสนใจคือ โซเชียลมีเดียเข้ามาชดเชยความสัมพันธ์ในโลกจริงที่หายไปได้จริงหรือไม่ ในลักษณะไหน และอย่างไรบ้าง

โดยปกติมนุษย์ปฏิสัมพันธ์ด้วยวิธีการหลายอย่าง แต่ในโซเชียลมีเดีย พฤติกรรรมของคนแสดงออกได้ผ่านการโพสต์เป็นหลัก เราทำความเข้าใจผู้คนแบบที่คุณบอกผ่านแค่การโพสต์ของพวกเขาได้จริงหรือ 

คำถามนี้สัมพันธ์กับเรื่องที่อธิบายไปก่อนหน้าอย่างยิ่ง พูดให้ถึงที่สุดคือ โซเชียลมีเดียคือเนื้อหาอันหลากหลาย (genres of content) แต่ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหารูปแบบใด มนุษย์ล้วนสร้างขึ้นมาก่อนที่จะมีโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว เช่น การเล่นของเด็กในสนามเด็กเล่น แต่เมื่อเกิดโซเชียลมีเดียขึ้น ความสัมพันธ์ของเด็กๆ ซึ่งเป็นเนื้อหานั้นยังคงอยู่ แต่มันพัฒนาไปเป็นรูปแบบอื่นที่อยู่ในแพลตฟอร์มดิจิทัล ประเด็นคือ คุณจะเข้าใจมันได้ไหมว่า การโพสต์คือการเล่นในสนามเด็กเล่นแห่งใหม่

ที่น่าสนใจคือ ในโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มและการโพสต์จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า การโพสต์ที่มีเนื้อหาสะท้อนถึง ‘การเล่นในสนามเด็กเล่น’ จะเปลี่ยนวิธีการและแพลตฟอร์มไปเรื่อยๆ ซึ่งต้องเข้าใจมันให้ได้

การมองว่าโซเชียลมีเดียคือเนื้อหาอันหลากหลาย จะช่วยให้เราเห็นบริบทที่แตกต่างด้วย เพราะเนื้อหาในแบบของจีนย่อมแตกต่างกับเนื้อหาของอังกฤษ เช่น ในจีน เด็กในโรงเรียนจะปฏิสัมพันธ์ในลักษณะที่ค่อนข้างเหนียวแน่น เพราะพวกเขาอยู่ในวัฒนธรรมที่จะต้องช่วยเหลือกันไปตลอดชีวิต ในขณะที่เด็กในอังกฤษจะไม่เป็นแบบนั้น ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้ปรากฏออกมาผ่านโพสต์ในโซเชียลมีเดียด้วย

ถ้าไปเมืองจีน คุณจะเห็นคนให้อั่งเปา (ซองแดง) ผ่านกันทาง WeChat ได้เลย แต่คุณจะไม่มีวันเห็นสิ่งนี้ในอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา เพราะนี่ไม่ใช่เนื้อหาที่พวกสร้างขึ้น

สุดท้ายผลของโครงการวิจัยกลายมาเป็นหนังสือชื่อ ‘How the World Changed Social Media’ ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะนักวิชาการจำนวนไม่น้อยคงตั้งชื่อว่า ‘How Social Media Changed the World’

นี่เป็นความตั้งใจ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่า เนื้อหาที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย มันเกิดขึ้นก่อนที่จะมีโซเชียลมีเดียแล้ว ในแง่นี้ ‘โลก’ จึงเป็นตัวที่เปลี่ยน ‘โซเชียลมีเดีย’

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นวิธีการตั้งชื่อหนังสือให้ดูน่าสนใจ ความเป็นจริงก็คือ ไม่ใช่ ‘โลก’ เปลี่ยน ‘โซเชียลมีเดีย’ หรือ ‘โซเชียลมีเดีย’ เปลี่ยน ‘โลก’ มันเปลี่ยนซึ่งกันและกันต่างหาก เรียกว่าเป็นวิภาษวิธี (dialectical) ก็ได้

 แดเนียล มิลเลอร์ (Daniel Miller)

ในหนังสือ ‘How the World Changed Social Media’ คุณเขียนไว้ชัดเจนว่า โซเชียลมีเดียมีลักษณะของความเป็นอนุรักษนิยมค่อนข้างสูง แต่คุณก็บอกด้วยว่า ‘อนุรักษนิยม’ ในที่นี้ ไม่ได้มีความหมายทางการเมือง หรือกระบวนการทางประชาธิปไตย

คำว่าอนุรักษนิยมไม่ได้มีความหมายเดียว และไม่จำเป็นต้องมีความหมายที่เกี่ยวกับการเมืองเท่านั้น โครงการวิจัยก็ระวังอย่างยิ่งที่จะใช้คำนี้ในความหมายที่จำกัด

คำว่า ‘อนุรักษนิยม’ ที่ปรากฏในงานวิจัย โดยแก่นแท้แล้วหมายถึง การกลับไปหาปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแบบดั้งเดิม (traditional way of social interaction) เท่านั้น เช่น การเกิดใหม่ของครอบครัว ชุมชน และการกลับไปหาชีวิตและคุณค่าแบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม นี่เป็นข้อสรุปจากบางพื้นที่เท่านั้น

 

การกลับไปหาคุณค่าแบบดั้งเดิม วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม มันจะไม่ส่งผลต่อการเมืองเลยหรือ

การศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของโซเชียลมีเดียต่อการเมืองในหลายพื้นที่พบว่า โซเชียลมีเดียส่งผลต่อการเมืองในสองทางที่ตรงกันข้ามกันเสมอ

ในด้านหนึ่ง คนจำนวนมากพูดว่า โซเชียลมีเดียช่วยปลดปล่อยผู้คน เป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ทำให้พลเมืองและนักเคลื่อนไหวทางสังคมใช้ต่อสู้กับอำนาจรัฐ แต่ทุกวันนี้เราก็รู้แล้วเช่นกันว่า รัฐบาลก็ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเช่นกัน ทั้งในเชิงการสื่อสาร และการใช้หาตัวคนที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ

ในทางการเมือง ไม่ค่อยมีประโยชน์นักถ้าจะพยายามสรุปว่า โซเชียลมีเดียเป็นพลังแห่งความก้าวหน้า หรือพลังแห่งความล้าหลังกันแน่ วิธีคิดที่อาจจะน่าสนใจกว่าคือ การมองว่าโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือหรือสนามใหม่ที่ทั้งสองฝ่ายใช้ต่อสู้กัน และการต่อสู้กันนี้ต่างหากที่ส่งผลต่อการเมือง

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การต่อสู้ทางการเมืองในโซเชียลมีเดีย มีพลวัตสูงมากและไม่มีวันจบ รัฐบาลอาจตามจับนักเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านเฟซบุ๊ก แต่เมื่อฝ่ายหลังรู้ตัว พวกเขาก็เปลี่ยนแพลตฟอร์มไปเรื่อยๆ เป็นต้น นี่เป็นเหตุผลด้วยว่าทำไมโซเชียลมีเดียจึงน่าสนใจ เพราะมันเปลี่ยนไปตามบริบทและลักษณะของผู้ใช้

มันเป็นเครื่องมือที่เป็นกลางจริงหรือ

ผมไม่มีคำตอบ แต่มีข้อสังเกตที่คิดว่าน่าสนใจ คนจำนวนมากคิดว่า โซเชียลมีเดียคือพื้นที่สู้รบทางการเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งมีส่วนจริงอยู่ ถ้าเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา แต่ถ้าเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดของโซเชียลมีเดีย พื้นที่ทางการเมืองเป็นพื้นที่ที่เล็กมาก เอาเข้าจริงคนส่วนใหญ่มีความระมัดระวังในการโพสต์ประเด็นทางการเมืองอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะพวกเขากลัวว่า ถ้าแสดงความเห็นออกไปตรงๆ แล้วจะไปกระทบความรู้สึกของเพื่อนฝูง

งานวิจัยในโครงการพบว่า คนที่เห็นการเมืองในโซเชียลมีเดีย เป็นเพราะเขาต้องการเห็นมันและตั้งใจมองหามัน แต่ถ้าดูในภาพรวมแล้ว การเมืองในโซเชียลมีน้อยมาก ในความเป็นจริงโซเชียลมีเดียกลับเป็นพื้นที่ที่หลีกเลี่ยงการเมือง มากกว่าที่จะเป็นพื้นที่เปิดทางการเมืองด้วยซ้ำ

 

ในสังคมที่มีความเป็นอนุรักษนิยมสูงอยู่แล้ว โซเชียลมีเดียจะพาสังคมนั้นกลับไปสู่จุดไหน

นี่เป็นกับดักเมื่อคุณสนทนากับนักมานุษยวิทยา (หัวเราะ) อย่าลืมว่าการหาข้อสรุปทั่วไปเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก

ในสังคมที่มีความเป็นอนุรักษนิยมสูงมาก เช่น พื้นที่ชายแดนตุรกีและซีเรียเป็นพื้นที่ของชาวมุสลิมเคร่งศาสนา และมีข้อปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องเพศที่เข้มงวดมาก แต่การเข้ามาของ WhatsApp ได้เปลี่ยนพื้นที่นี้ไปอย่างสิ้นเชิง เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนหนุ่มสาวสื่อสารกันโดยตรงวันหนึ่งหลายร้อยข้อความ โดยที่พ่อแม่และคนในชุมชนไม่รู้ เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ที่ในอดีตไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย

พลวัตในสังคมก็มีความซับซ้อนไม่ได้เป็นในทิศทางเดียวกัน ในสังคมอนุรักษนิยม โซเชียลมีเดียมีแนวโน้มที่จะมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นในประเด็นเรื่องเพศ แต่ก็มีความอนุรักษนิยมเพิ่มขึ้นในหลายมิติเช่นกัน

 

ถ้าเปรียบเทียบโซเชียลมีเดียในสังคมอนุรักษนิยมสูง กับสังคมก้าวหน้า เรามองเห็นอะไร

กรณีที่มีการเปรียบเทียบกันมากคือ โลกตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ กับจีน

เวลาที่คนตะวันตกมองไปยังจีน ย่อมต้องมองเห็นว่า คนจีนถูกรัฐบาลควบคุมอย่างหนักหน่วง ไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งในแง่หนึ่งก็สามารถบอกได้ว่ามีความจริงอยู่ แต่ถ้าไปถามคนจีนจะพบว่า พวกเขาแทบไม่สนใจเรื่องพวกนี้เลย ประเด็นคือ เราจะเข้าใจวิธีคิดแบบนี้ได้อย่างไร

อีกประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งคือ จีนเป็นประเทศที่ใหญ่มาก และมีความแตกต่างภายในประเทศอย่างยิ่ง ทีมวิจัยของเราทำการศึกษาการใช้โซเชียลมีเดียในสองพื้นที่ คือ คนในเซี่ยงไฮ้กับแรงงานระดับล่างที่อยู่ในเมืองอุตสาหกรรม พบว่าพวกเขาแทบไม่มีความเชื่อมโยงอะไรกันเลยแม้กระทั่งในโซเชียลมีเดีย เรื่องนี้สะท้อนว่า คนสองกลุ่มนี้อยู่ในโลกที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้จะได้ชื่อว่าเป็นคนจีนเหมือนกัน

 

ความแตกต่างระหว่างคนจีนในโรงงานและคนจีนในเมืองอย่างเซี่ยงไฮ้ มีอะไรบ้าง และสะท้อนผ่านการใช้โซเชียลมีเดียอย่างไร

แรงงานระดับล่างในโรงงาน มีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างน่าสนใจ พวกเขามีชีวิตที่ยากลำบากมาก และไม่ได้ติดต่อกับครอบครัวบ่อยอย่างที่ทีมวิจัยคิดไว้ตอนแรก พวกเขามีเพื่อนน้อย เพราะแต่ละคนต้องย้ายงานและเปลี่ยนที่อยู่บ่อย โอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวจึงน้อยตามไปด้วย

สำหรับพวกเขาแล้ว นอกจากการนอน กิน และทำงานแล้ว ชีวิตแทบทั้งหมดจะอยู่บนโซเชียลมีเดีย  ตัวตน ความปรารถนาส่วนตัว และจินตนาการที่เขามีต่อสังคมจีนสมัยใหม่ล้วนถูกสร้างขึ้นบนโปรแกรมวีแชทและคิวคิว

ในด้านหนึ่งกรณีนี้ชี้ให้เห็นว่า การกดทับผู้คนไม่ได้มาจากเรื่องการเมืองอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องความยากจนและเศรษฐกิจด้วย แต่ในอีกด้านหนึ่งเรื่องนี้ก็สะท้อนด้วยว่า การอพยพจากพื้นที่ออฟไลน์ไปยังพื้นที่ออนไลน์ เป็นการเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญไม่แพ้กัน หรืออาจจะมากกว่าการอพยพจากชนบทเข้ามาเป็นแรงงานในเมืองด้วยซ้ำ เพราะในเมืองพวกเขาเพียงแต่ทำงานเท่านั้น แต่พวกเขาใช้ทั้งชีวิตที่เหลืออยู่ในโลกดิจิทัล

อายุมีผลต่อการใช้โซเชียลมีเดียหรือไม่ อย่างไร

ความแตกต่างระหว่างคนสูงวัยและคนอายุน้อย เป็นกรณีศึกษาแรกๆ ของการศึกษาเรื่องโซเชียลมีเดียเลยก็ว่าได้ ผมเองก็เริ่มงานวิจัยในสนามนี้จากเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียของคนรุ่นใหม่

มีประเด็นมากมายในการศึกษาเรื่องนี้ แต่มีหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ การอพยพของคนอายุน้อยไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ คนอายุน้อยจะเริ่มอพยพไปยังแพลตฟอร์มอื่นเมื่อพวกเขาพบว่า พ่อแม่เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกับเขา ซึ่งนอกจากเหตุผลเรื่องความเป็นส่วนตัวแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งคือ พวกเขารู้สึกว่าการอยู่บนแพลตฟอร์มนี้ไม่เท่อีกต่อไปแล้ว

ตราบใดที่คนอายุน้อยต้องการแยกออกจากพ่อแม่ หรือคนแก่ ตราบนั้นการอพยพข้ามแพลตฟอร์มจะเกิดขึ้นเสมอ ดังนั้น แพลตฟอร์มใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นตลอดเวลา

โซเชียลมีเดียทำให้เรามีความสุขมากขึ้นไหม

นี่เป็นหนึ่งในคำถามพื้นฐานที่สุดที่โครงการวิจัยต้องการตอบ และแน่นอนเราพบว่า มันเป็นไปได้ทั้งสองทาง (หัวเราะ)

ในชีวิตประจำวัน เราทุกคนสามารถยกตัวอย่างได้มากมายว่า โซเชียลมีเดียไหนทำให้เรามีความสุข อันไหนทำให้เราไม่มีความสุข แต่หากจะสรุปแก่นของโซเชียลมีเดียในเรื่องความสุขคือ ความง่ายในการเชื่อมต่อ (easiness to connect)

การเชื่อมต่อกับคนใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หรือคนรัก มีแนวโน้มที่จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น ความเครียดน้อยลง นี่เป็นด้านที่ดี แต่ในอีกทางหนึ่ง โซเชียลมีเดียก็ทำให้เชื่อมกับสิ่งที่เราเครียดได้ง่ายด้วยเช่นกัน เช่น การทำให้เราต้องเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่เสมอ

ความง่ายในการเชื่อมต่อยังมีด้านกลับด้วยเช่นกัน กล่าวคือ โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่เราใช้จัดวางระยะห่างกับผู้คน ซึ่งเป็นด้านที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึง การศึกษาในอังกฤษพบว่า คนอังกฤษจะพยายามไม่ใกล้ชิดหรือสร้างระยะห่างกับใครมากจนเกิน และพวกเขาก็ใช้โซเชียลมีเดียในการจัดการระยะห่างนั้นด้วยเช่นกัน”

สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำอีกครั้งคือ เราไม่สามารถหาข้อสรุปทั่วไปเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียได้ และนี่คือหนึ่งในสาเหตุที่โปรเจ็กต์ Why We Post เกิดขึ้นมา เราอยากทำความเข้าใจว่า การใช้โซเชียลมีเดียในแต่ละสังคม แต่ละประเทศ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ถ้าพูดให้ถึงที่สุดคือต้องการเข้าใจว่า การใช้โซเชียลมีเดียของแต่ละคนมีคุณค่าและความหมายเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

อย่างไรก็ตาม โครงการวิจัยครอบคลุมพื้นที่แค่ 9 พื้นที่เท่านั้น โลกของโซเชียลมีเดียเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก ในแง่นี้ ข้อสรุปจากกงานวิจัยก็จำเป็นต้องพูดอย่างจำกัด

การไม่สรุปลักษณะทั่วไป เป็นคุณูปการที่สำคัญของการศึกษาทางมานุษยวิทยา แต่คนที่ไม่ใช่นักมานุษยวิทยาอาจจะถามว่า หากไม่สามารถหาข้อสรุปทั่วไปได้แล้ว เราจะใช้มันทำความเข้าใจโลกได้อย่างไร

สิ่งที่เราเห็นและเรียนรู้ได้คือ การที่คนแต่ละคนแสวงหาโอกาสและเครื่องมือในการแสดงตัวตนโดยสัมพันธ์กับคนอื่นๆ นี่คือ พฤติกรรมทางสังคมแบบหนึ่ง และมีคุณค่าและความหมายต่อคนในแบบหนึ่ง

ความเข้าใจในเรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจเศรษฐศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ การแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศ การอพยพย้ายถิ่นขนานใหญ่ ในโลกที่ภูมิศาสตร์ล่มสลาย เรามีโอกาสย้ายถิ่นที่อยู่หรือกระจัดกระจายไปอยู่ที่ไหนก็ได้ และโซเชียลมีเดียคือเครื่องมือที่จะเข้ามาตอบโจทย์สถานการณ์นี้ เพราะหากมองว่าโซเชียลมีเดียคือวิถีชีวิต นั่นหมายความว่า ผู้คนจะไม่เพียงแต่สื่อสารกันได้เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ (live together) แม้กายภาพจะอยู่ห่างกันก็ตาม

หลายคนเชื่อว่า โลกสมัยใหม่มีราคาที่ต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็น ความเหงา ความโดดเดี่ยว และความเป็นปัจเจกบุคคล มนุษย์ในฐานะสัตว์สังคมก็สร้างเครื่องมือขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์นั้น อาจไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเท่าไหร่นักที่เครื่องมือที่พวกเราสร้างขึ้นมานั้นถูกเรียกว่า ‘โซเชียลมีเดีย’ เพราะเราใช้มันเพื่อเข้าสังคม

แว่นตาแบบนักมานุษยวิทยา ช่วยให้เราเข้าใจโซเชียลมีเดียได้ดีกว่าแว่นอื่นอย่างไร

สำหรับคนทั่วไป แว่นตาแบบนักมานุษยวิทยาน่าจะเป็นสิ่งที่นึกถึงเป็นลำดับท้ายๆ ถ้าต้องการศึกษาโซเชียลมีเดีย เพราะส่วนใหญ่แล้วนักมานุษยวิทยาจะศึกษาชนเผ่า หรือชุมชนดั้งเดิมเป็นหลัก

แต่อันที่จริงแล้ว นี่เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมที่สุดในการศึกษาโซเชียลมีเดีย เพราะสิ่งที่เราต้องการทำความเข้าใจจริงๆ คือ เกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นอย่างไร  ความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นอย่างไร ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่มีความเป็นส่วนตัวสูง จะเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลได้ก็ต่อเมื่อเราได้รับความไว้วางใจจากผู้คน ในแง่นี้ นักมานุษยวิทยานี่แหละคือคนที่เหมาะที่สุดที่จะเข้าไปศึกษาเรื่องพวกนี้

อย่างไรก็ตาม ‘มานุษยวิทยาดิจิทัล’ เป็นประเด็นการศึกษาที่ใหม่มาก นักมานุษยวิทยาต้องเรียนรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล (digital transformation)

 

แต่บางคนบอกว่า เทคโนโลยี AI และ Big Data ช่วยให้เข้าใจคนได้ดีมากกว่าที่คิดไว้

เครื่องมือเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมาก แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ ความเป็นมนุษย์ (humanity) ถึงที่สุดแล้วโซเชียลมีเดียก็คือชีวิตประจำวันของมนุษย์ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ปรากฏอยู่ในรูปดิจิทัล ทุกวันนี้เราใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเชื่อมต่อระหว่างผู้คนเป็นหลัก มันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างมุมมองเฉพาะที่ทำความเข้าใจมนุษย์ขึ้นมา

ถ้าดูจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ความรู้ด้านมานุษยวิทยาดิจิทัลจะเป็นหนึ่งในสาขาที่น่าสนใจมากที่สุดแน่นอน

แดเนียล มิลเลอร์ (Daniel Miller), Why we post

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save