fbpx
อ่านชีวประวัติอานันท์ ปันยารชุน

อ่านชีวประวัติอานันท์ ปันยารชุน

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

ภาพจากหนังสือ Anand Panyarachun and the Making of Modern Thailand

[ ขอเรียนท่านผู้อ่านแต่ต้นตรงนี้ว่า ถ้าท่านมองหาบทปริทัศน์หนังสือชีวประวัติของคุณอานันท์  โปรดอ่านจาก ‘The Best Prime Minister Thailand Never Elected’ ของคริส เบเกอร์ในบางกอกโพสต์นะครับ เป็นบทปริทัศน์ที่กระชับ ครอบคลุม ได้ภาพรวมของหนังสือครบ[1] ส่วนที่ผมเขียนนับเป็นบทปริทัศน์ไม่ได้ แต่อาจเรียกว่าเป็นการนำผลจากการอ่านของผมบางส่วนมารายงานจะตรงกว่า เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ท่านก็อย่าเพิ่งกดผ่านบทความนี้ไปเลยนะครับ ถ้าพอมีเวลาโปรดลองอ่านดูสักหน่อย ก่อนจะตรงไปอุดหนุนหนังสือชีวประวัติของคุณอานันท์ ที่กำลังขึ้นอันดับเป็นหนังสือขายดีอยู่ในเวลานี้ ]

……………

โดมินิก โฟลเดอร์ ตั้งชื่อหนังสือชีวประวัติคุณอานันท์ที่เขาเขียนว่า Anand Panyarachun and the Making of Modern Thailand นอกจากเรื่องราวในชีวิตและการงานของคุณอานันท์แล้ว คนเขียนควรได้รับคำชมที่นำเสนอเหตุการณ์บ้านเมืองและผู้คนมากมายที่มีส่วนสัมพันธ์กับ ‘The making of modern Thailand’ นับจากปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อันเป็นปีที่คุณอานันท์เกิด มาจนถึงปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ที่เขียนขึ้นโดยความเห็นชอบของผู้เป็นเจ้าของประวัติ จึงอ่านได้ และจะมีคนอ่านมันในหลายแบบแตกต่างกัน ทั้งการพิจารณาความหมายที่อยู่ในเนื้อหาของชีวประวัติ และในความคิดคำนึงต่อจากนั้นออกไป ตามแต่เนื้อหาในตัวบทจะพาคนอ่านแต่ละคนให้จำได้หมายรู้ถึงใครขึ้นมา หรือนึกถึงเรื่องราวอะไรเลยไปจากเรื่องที่อ่านได้อีก

ชื่อหนังสือส่วนหลังคือ The making of modern Thailand ถูกผสานเข้ามาในชีวประวัติของคุณอานันท์ไม่ใช่เพราะคุณอานันท์เป็นคนสร้างประเทศไทยสมัยใหม่ แต่คนเขียนนำเสนอชีวิตและการงานของคุณอานันท์ที่ได้ผ่านพบกับเหตุการณ์และผู้คนที่เป็นชนชั้นนำของไทยในช่วงเวลากว่า 80 ปีที่ผ่านมา ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศไทยบนเส้นทางสู่สมัยใหม่ ตัวคุณอานันท์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของคนชั้นนำกลุ่มนี้ และเนื้อหาหลักในหนังสือได้แสดงให้เห็นถึงชีวิตการงานและความรู้ความสามารถอันโดดเด่นของคุณอานันท์ที่เข้าไปมีบทบาทอยู่ใน 3 ด้านใหญ่ๆ ซึ่งเป็นตัวกำหนดผลบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย คือ การประคับประคองตัวในด้านการต่างประเทศท่ามกลางความผันผวน การพัฒนาความเข้มแข็งของทุนระดับชาติในภาคธุรกิจเอกชน และการจัดอำนาจรัฐและกระบวนการทางการเมืองที่พลิกกลับไปมาระหว่างแนวทางที่เป็นประชาธิปไตยกับแนวทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ชื่อหนังสือยังตั้งไว้ให้คนอ่านคิดหรือให้เฉลียวใจว่า ถ้าคงชื่อส่วนหลังไว้แล้วเปลี่ยนตัวเจ้าของประวัติไปเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่คุณอานันท์ เหตุการณ์บ้านเมืองและความหมายของเหตุการณ์เหล่านั้นที่มีต่อผู้เป็นเจ้าของชีวประวัติ และต่อ ‘The making of modern Thailand’ รวมทั้งผู้คนหลากหลายที่จะปรากฏและสัมพันธ์กันอยู่ในชีวประวัติอันคาบเกี่ยวกับ modern Thailand in the making นับจากทศวรรษ 2470 เป็นต้นมา จะพลิกหมุนความเป็นไปได้แบบอื่นๆ บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยออกมาให้เราได้เห็นอีกมาก แม้ว่าในที่สุดแล้ว ผลลัพธ์จะเป็นอย่างที่มันเป็นไปแล้วก็ตาม  ชีวประวัติของคุณอานันท์ให้คำตอบแก่เราได้ส่วนหนึ่งว่าความเป็นไปได้แบบอื่นๆ นั้นถูกยั้งหรือถูกสกัดไว้อย่างไร และเปิดทางอย่างไรให้แก่ผลลัพธ์ที่ได้เกิดขึ้นมา

ถ้าวงการงานเขียนของไทยจะให้ความสำคัญแก่การเขียนประวัติบุคคลแบบเจาะลึกมากกว่าที่ผ่านมา เราจะมีโอกาสเปรียบเทียบชีวิตการงานของบุคคลต่างกลุ่มในความพยายามของเขาแต่ละคน แต่ละฝ่าย ที่มีส่วนส่งผล และได้รับความสำเร็จแตกต่างกัน ในเส้นทางการเป็นสมัยใหม่ของประเทศไทย และจากการเห็นความพยายามของแต่ละบุคคลจากชีวประวัติของเขา ที่ได้เข้าไปมีส่วนหาทางผลักความเป็นไปได้ทางหนึ่งทางใดในกระแสการเปลี่ยนแปลงเป็นสมัยใหม่ของไทย จะช่วยให้เราเข้าใจในผลลัพธ์ และผลที่ปรากฏออกมาของ ‘The making of modern Thailand’ รวมทั้งเก็บรับบทเรียนและประสบการณ์จากความหมายอันหลากหลายของมันได้อีกมาก

คนรุ่นราวคราวเดียวกันกับคุณอานันท์ที่บทบาทในสังคมไทยของเขาน่าอ่านในรูปของชีวประวัติมีอยู่อีกไม่น้อย คนที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ ลาว คำหอม และอัมมาร สยามวาลา ทั้ง 3 เกิดปี 2473 ก่อนคุณอานันท์ 2 ปี เสนาะ อูนากูลเกิดปี 2474 ’รงค์ วงษ์สวรรค์ และอำนวย วีรวรรณเกิดปีเดียวกันกับคุณอานันท์ ในขณะที่ส. ศิวรักษ์ พลเอกสุจินดา คราประยูร และพันเอกณรงค์ กิตติขจรเกิดในปีถัดมาคือปี 2476

ชีวประวัติของคุณอำนวย คุณเสนาะ กับของคุณอานันท์คงมีเรื่องราวคาบเกี่ยวกันอยู่หลายตอน ทั้งเหตุการณ์บ้านเมืองและแวดวงผู้คนที่คนทั้ง 3 เข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นคนละแวดวงกับผู้คนและมิตรสหายในชีวิตของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์    แต่ ’รงค์ กับลาว คำหอมคงจะมีคนที่เขารู้จักร่วมกันอยู่ไม่น้อย ที่มีผลงานเช่นเดียวกันกับเขาทั้ง 2 ซึ่งส่งผลต่อความคิดอ่านของผู้คนในสังคมไทยยุค ‘ทันสมัย’ ในขณะที่ ‘ประเทศไทยสมัยใหม่’ ที่เป็นฉากชีวิตในชีวประวัติของจิตร ภูมิศักดิ์และลาว คำหอมจะให้ภาพแตกต่างกันอย่างมากเหมือนเป็นคนละประเทศกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นฉากชีวิตในชีวประวัติของคุณอานันท์ คุณอำนวย คุณเสนาะหรืออาจารย์อัมมาร

เช่นเดียวกัน เหตุการณ์บ้านเมืองในเฟรมเวลาเดียวกันในชีวประวัติของอาจารย์ส. กับของพลเอกสุจินดา คราประยูรหรือพันเอกณรงค์ กิตติขจรก็คงมีความหมายแตกต่างห่างกันไกลทั้งต่อผู้เป็นเจ้าของประวัติ และต่อสังคมไทยอันพึงปรารถนาในทัศนะของแต่ละคนที่กล่าวมา อาจารย์ส. คงพอใจจะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคุณอานันท์และอาจารย์อัมมารมากกว่าบิ๊กสุหรือพันเอกณรงค์ แต่เมืองไทยสมัยใหม่ตามอุดมคติความใฝ่ฝันของอาจารย์ส. กับของคุณอานันท์และอาจารย์อัมมารจะเหมือนกันแค่ไหน ก็น่าสงสัยอยู่ แม้ว่าทุกคนทั้งหมดที่กล่าวถึงมานี้คงลงความเห็นตรงกันว่า สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่อาจเรียกได้ว่าอยู่ในสภาวะที่น่าพึงปรารถนาสำหรับสังคมไทย

และถ้าหากเป็นอย่างที่ว่ามา ไม่ว่าคนเขียนจะตั้งใจหรือไม่ เมื่อตั้งชื่อหนังสือที่แสดงความเจริญในชีวิตของคุณอานันท์มาโดยลำดับคู่กับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเข้าสู่สมัยใหม่แบบนั้น มันจึงเป็นชื่อที่มีความพลิกนัยเจืออยู่ในนั้นไม่น้อย

ชีวประวัติอานันท์ ปันยารชุน
ภาพจากสำนักพิมพ์ Editions Didier Millet (EDM) (www.edmbooks.com)

ข้อเด่นของหนังสือยังอยู่ที่คนเขียนเก็บข้อมูลจำนวนมากทั้งจากการสัมภาษณ์บุคคลที่รู้จัก เคยทำงาน หรือเกี่ยวข้องกับคุณอานันท์ และมีส่วนอยู่ในเรื่องราวเหตุการณ์บ้านเมืองที่เลื่อนเข้ามาในชีวิตคุณอานันท์ในแต่ละช่วง รวมทั้งการเข้าถึงเอกสารส่วนตัว เอกสารราชการกระทรวงการต่างประเทศ และแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษ และสามารถร้อยเรียงจิ๊กซอว์แต่ละส่วนประกอบข้อมูลย่อยเหล่านั้นขึ้นเป็นภาพใหญ่ ดำเนินเนื้อหาในแต่ละบทของชีวประวัติได้อย่างราบรื่น

แต่ต้องกล่าวไว้ด้วยว่า การใช้ข้อมูลภาษาไทยอย่างจำกัดในการเขียนชีวประวัติคุณอานันท์ทำให้เนื้อหาบางตอนอ่อนลงไปพอสมควร ซึ่งอาจเป็นโดยความตั้งใจของเจ้าของประวัติจะให้เป็นแบบนั้นก็เป็นได้ แต่ถ้าคนอ่านเป็นคนที่ได้ผ่านช่วงเวลามาพร้อมกับที่คุณอานันท์เข้าไปมีบทบาทอยู่ในเรื่องนั้น และได้ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดในบวกลบคูณหารที่คุณอานันท์เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ก็จะรู้สึกได้ว่า คนเขียนยังไม่ได้พิจารณาเรื่องนั้นอย่างรอบด้าน หรือใช้มุมมองเฉพาะของคุณอานันท์เป็นหลักในการนำเสนอปัญหา ทิ้งโอกาสที่จะย้อนมาตั้งคำถามต่อการตัดสินใจของคุณอานันท์ และประเมินความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงจากข้อมูลทั้งหมด

เรื่องหนึ่งที่อาจยกมาเป็นตัวอย่างได้คือตอนที่โฟลเดอร์เขียนเกี่ยวกับวิกฤตในวงการตุลาการอันเกิดจากปัญหาการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา เขาไม่ได้ใช้ข้อมูลของฝ่ายผู้พิพากษาที่ออกมาคัดค้านรัฐบาลและประท้วงการดำเนินการของประภาศน์ อวยชัย[2] คุณอานันท์ก็ดูเหมือนจะเลี่ยงไม่ต้องการกล่าวถึงปัญหาอันเกิดจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมผู้นี้เท่าใดนัก

เราคนอ่านจึงยังไม่เห็นชัดว่าอะไรที่ทำให้คุณอานันท์ ปันยารชุน เมื่อมาอยู่พร้อมกับคุณประมาณ ชันซื่อ ต่อหน้าคุณสัญญา ธรรมศักดิ์ประธานองคมนตรี ที่ต้องการปรับความเข้าใจระหว่างบุคคลทั้งสอง จึงมั่นใจว่าตนไม่มีอะไรผิดหรือพลาดที่จะต้องขอโทษอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วถ้าเป็นเช่นนั้น ความผิดพลาดและภาระรับผิดชอบในเรื่องนี้ตกเป็นของใคร หรือความหมายของเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจคืออะไรกันแน่ ในเรื่องเดียวกันนี้ ผมอดคิดไม่ได้ว่าถ้าหากไม่ใช่คุณอานันท์ แต่เป็นพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เรื่องนี้จะได้รับการรื้อฟื้นมาให้ความหมายอย่างไรในปัจจุบัน

แม้คำนึงถึงข้อจำกัดของการใช้ข้อมูลในภาษาไทยดังที่กล่าวมา แต่ถ้าคิดอีกทางหนึ่ง การใช้ข้อมูลสัมภาษณ์และข้อมูลเอกสารภาษาอังกฤษ และการถ่ายทอดเรื่องราวออกมาในภาษานั้น ในชีวประวัติที่ต้องเขียนเกี่ยวข้องพาดพิงถึงคนจำนวนมาก ในสังคมที่การเขียนชีวประวัติอย่างตีแผ่ความจริงพร้อมกับทัศนะที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาตามที่รู้สึกยังไม่เป็นที่ยอมรับแพร่หลายนัก ก็อาจเขียนออกมาได้ง่ายกว่าในภาษาอังกฤษ โดยผู้เขียนที่เป็นคนต่างประเทศ  และในการเขียนชีวประวัติคุณอานันท์  คนให้ข้อมูลสัมภาษณ์จำนวนไม่น้อยก็คงสื่อสารได้อย่างมี nuances หรือรู้น้ำหนักแก่อ่อนในการใช้ถ้อยคำความหมายได้มากกว่าเมื่อใช้ภาษาอังกฤษเช่นกัน

ในแง่นี้ ความยากพอใช้คงตกอยู่แก่ผู้แปล ถ้าหากมีการแปลชีวประวัติเล่มนี้เป็นภาษาไทย เจ้าของบทสัมภาษณ์บางคนคงอยากขอตรวจก่อนเหมือนกันว่าคนแปลจะเลือกคำไหนมาใช้ และอาจขอให้คนแปลช่วยบรรเทาหรือเติมเพิ่มลงไปในบางตอนบางคำก็เป็นได้ เช่น คำที่ใช้บรรยายบุคลิกว่า cocksure มีคำหลายคำในภาษาไทยที่จะแปลให้ได้ถึงนัยความหมายของคำนี้ว่ามั่นใจถึงขนาดไหน แต่จะเป็นคำไหนที่ควรจะใช้แปล และคนให้สัมภาษณ์เอง ถ้าจะต้องพูดในภาษาไทย จะเลือกคำใดมาใช้

ในทางกลับกัน ในฐานะคนอ่านพื้นถิ่นที่มีโอกาสติดตามชมบทบาทบนเวทีของใครต่อใครมานานพอดู ผมเห็นว่าการถ่ายทอดเรื่องราวในชีวประวัติคุณอานันท์ขาดรสอันพึงมีไปในหลายตอนเพราะเป็นงานเขียนในภาษาอังกฤษ เช่น การบรรยายบุคลิกของคุณถนัด คอมันตร์ผู้มีวาจาบาดคมเป็นอาวุธ โดยไม่มีตัวอย่างในภาษาไทยประกอบ คนอ่านในรุ่นหลังที่ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินโทสะวาทะในสไตล์คุณถนัด แม้ขณะที่กำลังพูดอยู่บนเวทีสาธารณะ ก็อาจนึกไม่ออกว่า วาจานั้นแสดงความถือดีและเผ็ดร้อนเกรี้ยวกราดได้ปานใด[3]

เพราะเมื่อมองย้อนกลับไป ความถือดีเพราะรู้ว่าตัวมีดีของคุณถนัด และความไม่บันยะบันยังวาจาเวลาแสดงความเห็นต่อใครๆ น่าจะเป็นเหตุสำคัญหนึ่งที่ทำให้คุณถนัดถูกกันออกจากการดำเนินการปรับตัวทางทูตนัดประวัติศาสตร์ในการปรับความสัมพันธ์กับจีนที่คุณถนัดได้มีส่วนริเริ่มไว้แต่แรก  คุณถนัดเลยเหลือเพียงการจัดตั้งอาเซียนและแถลงการณ์ร่วมถนัด-รัสก์ไว้เป็นอนุสรณ์ผลงานด้านการต่างประเทศ ซึ่งอนุสรณ์เรื่องหลังก็คงไม่ใช่สิ่งที่คุณถนัดปลาบปลื้มอะไรนักหนา คนที่ได้อยู่ร่วมในกระบวนการปรับความสัมพันธ์ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงจุดที่ถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์การทูตไทย-จีนได้แก่คนที่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของคุณถนัดมาคือคุณอานันท์และคุณชาติชาย

การที่ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศในเวลานั้นถูกกลุ่มขบวนการฝ่ายขวาเพ่งเล็งว่ามีใจฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ และตัวคุณอานันท์ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา รวมทั้งถูกตั้งกรรมการสอบสวนความผิดที่ไม่แน่ชัดว่าผิดเรื่องใด เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาและเข้าใจได้ว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวทางของคุณถนัดที่ต้องการให้กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทนำในการกำหนดทิศทางนโยบายต่างประเทศของไทย   และไม่ถูกข้ามหัวในการดำเนินนโยบายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของไทยกับต่างประเทศ บรรยากาศอันเกิดจากโทสะวาจาของคุณถนัด ที่เปิดศึกไว้กับใครต่อใครซึ่งไม่ฉลาดเท่าทันการดำเนินวิเทโศบายอันหลักแหลมและมองการณ์ไกลได้ทะลุปรุโปร่งของท่าน ในบริบทของความระส่ำระสายเมื่อกลุ่มประเทศในอินโดจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบคอมมิวนิสต์   ทำให้กระทรวงการต่างประเทศกลายเป็นเป้าที่ถูกโจมตีจากฝ่ายขวาที่ยังต้องการรักษาการสนับสนุนทางความมั่นคงจากสหรัฐฯ ไว้ให้นานที่สุด

เมื่อผู้เสมือนเป็นมือขวาของคุณถนัดกลับมารับตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศและรับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเปลี่ยนจากรัฐบาลทหารเป็นรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง มาดำเนินการหาทางปรับการต่างประเทศของไทยออกจากร่มเงาของสหรัฐฯ ทั้งการถอนทหารและปิดค่ายรามสูร และการหาทางเปิดความสัมพันธ์กับจีนให้เร็วที่สุด คุณอานันท์จึงตกอยู่ในฐานเป็นผู้ที่ต้องรับวิบากจากความไม่พอใจของฝ่ายขวาต่อบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการเปลี่ยนแปลงทิศทางความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น  ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงเองก็ไม่ต้องการสูญเสียอำนาจการนำในการกำหนดนโยบายต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงไปให้แก่กระทรวงการต่างประเทศ การจัดการกับหัวหอกของกระทรวงการต่างประเทศที่แสดงบทบาทการนำอย่างเปิดเผยและแสดงความเป็นอิสระจากผู้นำฝ่ายทหารจึงเป็นการส่งสัญญาณให้กระทรวงการต่างประเทศรู้ที่จะต้องลดบทบาทลงไปเป็นฝ่ายปฏิบัติ ไม่ใช่ฝ่ายริเริ่มหรือกำหนดนโยบาย

ในบริบทนี้ คุณอานันท์เล่าเป็นข้อเตือนใจไว้ด้วยว่า ตอนคุณอานันท์ถูกฝ่ายขวากล่าวโจมตีมากเข้า คุณป๋วย ซึ่งถูกโจมตีจากบรรดาฝ่ายขวากลุ่มเดียวกัน กล่าวเตือนคุณอานันท์ว่า

“Khun Anand, you had better watch out. In our society when a lie is repeated often enough, people believe it.”

ผมเห็นว่าคำเตือนข้อนี้ของคุณป๋วยเป็นข้อน่าคำนึงไม่แต่เฉพาะคุณอานันท์ที่เจอสถานการณ์แบบนั้น แต่น่าคำนึงสำหรับเราท่านทั้งหลายที่ยังอยู่ในสังคมแคบๆ นี้ด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากว่าเรามิได้เป็นคนมีวาจาหาญอย่างคุณถนัด ที่จะใช้เป็นเกราะป้องกันตัวได้  นอกจากคำเตือนเรื่องนี้ของคุณป๋วย จากชีวประวัติคุณอานันท์ยังมีข้อแนะนำอีกหลายอย่างให้สกัดออกมาเป็นประโยชน์สำหรับคนที่รับราชการ หรือใครก็ตามที่ต้องการรู้วิธีที่จะใช้ไม้แข็งไม้นวมและความแนบเนียนแยบคายอย่างไรเพื่อที่จะรักษาไว้ได้ทั้งหลักการและความสัมพันธ์ส่วนตัว พร้อมกับพาให้งานในความรับผิดชอบบรรลุถึงเป้าหมายได้สำเร็จ

ผมอ่านหนังสือชีวประวัติของคุณอานันท์เล่มนี้อย่างสนุก เรื่องราวที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนหลายอย่างทำให้ผมทึ่ง เช่นเรื่องที่คุณอานันท์เกิดที่วชิราวุธวิทยาลัยขณะที่บิดาคือพระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) เป็นผู้บังคับการโรงเรียน พออ่านพบอย่างนี้เข้า ทำให้นักเรียนเก่าอย่างผมนึกอยากกลับไปชมบ้านผู้บังคับการนั้นอีกครั้ง ทั้งที่สมัยเป็นนักเรียน ไม่เคยนึกอยากเฉียดเข้าไปใกล้เลยสักที

หรือได้รู้ว่าพระยาปรีชานุสาสน์ให้ความเคารพนับถืออาจารย์ที่ท่านเคยเรียนด้วยเป็นพิเศษ คือ ศาสตราจารย์สาขาวิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ Charles Weizmann หรือที่ใครๆ ภายหลังรู้จักมากกว่าในชื่อ Chaim Weizmann หัวหน้าขบวนการ Zionist และประธานาธิบดีคนแรกของอิสราเอล ในขณะที่คุณอานันท์เป็นลูกศิษย์ที่การเรียนไม่ค่อยจะเอาไหนของศาสตราจารย์ Hersch Lauterpacht และ Elihu บุตรชายซึ่งเป็นนักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศเหมือนบิดา ถ้าเล่าเรื่องคุณอานันท์กับ The making of modern Thailand ออกมาได้เป็นหนังสือขนาดเขื่อง บทบาทของ Weizmann และของ Lauterpacht ใน The making of modern Israel ก็มีเรื่องให้เล่าได้อีกมากเช่นกัน คนสนใจ human rights regime จะรู้ว่า Lauterpacht คือคนที่พัฒนาและผลักดันแนวคิดเรื่อง crimes against humanity ให้เป็นส่วนหนึ่งอยู่ใน human rights regime และงานวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศของ H. Lauterpacht ตั้งแต่ต้นมีปัญหาการตั้งรัฐยิวในปาเลสไตน์และปัญหาของคนยิวในยุโรปเป็นฉากหลัง

หรือเมื่อผู้เขียนชีวประวัติเลือกความเห็นของชัยวัฒน์ สถาอานันท์มาแสดงบรรทัดสุดท้ายให้แก่ความเป็นคุณอานันท์ว่า “He is a realist, but adventurous; a royalist and also a liberal – you can be both.” ผมก็อดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่าถ้าศาสตราจารย์ Lauterpacht ทราบโดยญาณวิถีถึงข้อสังเกตข้างต้นของอาจารย์ชัยวัฒน์ จะทำให้ท่านมองคุณอานันท์อย่างไร ว่าคุณอานันท์เป็นศิษย์ผู้นอกคอกจากสำนักของท่านเสียแล้วไหม เพราะ Lauterpacht คือคู่ปรับตัวยงในการเปิดอภิปรายกับ E. H. Carr และฝ่าย realism ใน debate ใหญ่คราวแรกที่วางรากฐานให้แก่การศึกษาในสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

หรือเรื่องที่ลี กวนยูสั่ง Tommy Koh นักการทูตสิงคโปร์ผู้ยิ่งยงอีกคนหนึ่งให้หาทางช่วยคุณอานันท์  เมื่อคุณอานันท์ประสบภัยการเมืองหลัง 6 ตุลา ก็บอกอะไรเราได้หลายอย่างเกี่ยวกับลี กวนยู สิงคโปร์ และคุณอานันท์

นอกจากนั้น เนื้อหาในเล่มพาให้ผมนึกอะไรต่อไปได้อีกมาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับชีวิตของเจ้าของประวัติโดยตรงเท่าใดนัก แต่เป็นการคิดต่อออกไปจากความเห็นของคนต่างๆ รวมทั้งความเห็นของคุณอานันท์เอง ที่ผู้เขียนชีวประวัติคัดมาวางประกอบเรื่องราวและเหตุการณ์ทั้งหลายตั้งแต่ต้นจนปลาย

อย่างความเห็นของคุณอานันท์ที่เห็นแย้งกับ Duncan McCargo ในเรื่อง Network Monarchy เช่นเดียวกับคุณอานันท์ ผมอยู่ฝ่ายที่เห็นว่าแนวคิดนี้ยังตื้นเกินไปที่จะใช้อธิบายการเมืองไทยที่สัมพันธ์กับบทบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และเหตุผลส่วนหนึ่งตรงกับความเห็นที่คุณอานันท์แสดงไว้ และในอีกแง่หนึ่งผมเห็นว่าเนื้อหาในหนังสือชีวประวัติคุณอานันท์นี่แหละที่จะให้ข้อมูลได้อย่างดีในการตั้งต้นศึกษาการเมืองไทยด้วยแนวคิดเครือข่ายและการพิจารณาพลังของตัวผู้กระทำการ ไม่เฉพาะแต่ส่วนที่เป็นความสามารถและคุณลักษณะในระดับส่วนบุคคลแต่ละคนในการคิดและตัดสินใจหรือการลงมือกระทำให้เกิดผล แต่ต้องพิจารณาพลังของตัวผู้กระทำการในความสัมพันธ์ทางสังคมที่เขามีอยู่กับคนอื่นและเชื่อมโยงส่งผลต่อกันอยู่ในเครือข่าย

ในแง่นี้ หนังสือชีวประวัติของคุณอานันท์เล่มนี้จึงสามารถอ่านเป็นส่วนขยายให้แก่ผลงานประเภทชีวประวัติอีกเล่มหนึ่งของสำนักพิมพ์เดียวกันคือ King Bhumibol: A Life’s Work ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอยู่ในหนังสือชีวประวัติของคุณอานันท์ไม่มาก และคุณก็อานันท์ระมัดระวังและถือธรรมเนียมอังกฤษเคร่งครัดที่จะไม่แพร่งพรายถ่ายทอดสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานคำแนะนำต่างๆ แก่คุณอานันท์เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อคุณอานันท์เป็นนายกรัฐมนตรี

สุดท้าย ผมขอปิดท้ายรายงานการอ่านหนังสือชีวประวัติของคุณอานันท์ที่ยาวขึ้นทุกทีนี้ ด้วยความเห็นเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งผมอ่านพบในหนังสือชีวประวัติคุณอานันท์ แต่เป็นความเห็นที่พาให้ผมคิดถึงคนกระทรวงการต่างประเทศอีกคนหนึ่งผู้มากฝีมือและความคิด แต่เป็นคนละแบบกับความสามารถของคุณอานันท์ และภูมิหลังในชีวิตและบุคลิกวิธีคิดของเขาก็แตกต่างจากคุณอานันท์อย่างมาก

เมื่อคุณอานันท์โดนฝ่ายขวาเล่นงานตอนเป็นปลัดกระทรวง และเจอคำสั่งถูกตั้งกรรมการสอบสวน ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศหลายคนที่ทำงานใกล้ชิดกับคุณอานันท์ก็พลอยโดนเพ่งเล็งและถูกแขวนตามไปด้วย[4] คนเหล่านี้ถ้าไม่โชคดีออกโพสต์ประจำการต่างประเทศอยู่ก่อนแล้วอย่างคุณเตช บุนนาค  ก็จะถูกย้ายไปแขวนไว้ที่สำนักงานปลัดกระทรวง ตามด้วยคำสั่งย้ายให้ออกไปประจำการต่างประเทศ  หนึ่งในนั้นคือท่านทูตชวาล ชวณิชย์ ซึ่งถูกคำสั่งย้ายออกไปเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงแอดดิส อบาบา ซึ่งท่านทูตชวาลรู้สึกว่าการให้ออกไปเป็นทูตที่นั่นเป็นการลงโทษอย่างหนึ่ง แต่ก็ยังมีอารมณ์ขันพอจะบอกว่า แอดดิส อบาบา เป็นตำแหน่งสูงที่สุดสำหรับการออกไปประจำการต่างประเทศของกระทรวงแล้ว เพราะตั้งอยู่เหนือน้ำทะเลถึง 8,000 ฟุต

เรื่องราวและความเห็นตอนนี้ รวมทั้งความเห็นอย่างไม่พอใจที่คุณชาติชายแสดงออกมาเมื่อถูกคำสั่งการเมืองเนรเทศให้ออกไปเป็นทูตไกลสุดหล้าฟ้าเขียวถึงลาตินอเมริกา คุณชาติชายถามอย่างฉุนเฉียวว่า ไกลกว่านี้มีอีกไหม ดังที่โฟลเดอร์นำมาบันทึกไว้ในหนังสือ ความเห็นที่เป็นเกร็ดเล็กน้อยเหล่านี้ทำให้ผมนึกถึงคนกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นยักษ์ใหญ่แห่งโลกวรรณกรรมไทยขึ้นมา เพราะประเทศเหล่านี้ที่ถือว่าเป็นประเทศวิบากสำหรับคนกระทรวงการต่างประเทศในเวลานั้น ล้วนเป็นประเทศที่เขาเคยออกไปประจำการมาแล้วทั้งนั้น คราวละหลายๆ ปี รวมทั้งรัสเซีย

เมื่อเขาไปประจำการอยู่อาร์เจนตินาเป็นเวลา 5 ปี เขาคงพบเห็นทุกอย่างเหมือนกับที่คุณชาติชายเห็นมา เราไม่รู้ว่าคุณชาติชายบันทึกอะไรไว้เป็นประสบการณ์ แต่เขาบันทึกประสบการณ์ที่เขาพบในประเทศวิบากของคุณชาติชายไว้อย่างนี้[5]

ผมได้เห็น ได้ยินและได้อ่านอัจฉริยะของปวงชนลาตินอเมริกัน กวี นักประพันธ์ นักดนตรี การฟ้อนรำ จิตรกร สถาปนิก อุดมคติและอุดมการณ์ของนักการเมืองที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและปวงชน … ผมเห็นระบบเศรษฐกิจที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองใช้วิธีการหาความร่ำรวยแก่ตัวเองและพวกพ้อง ระบบเศรษฐกิจผูกขาดแบบเสือนอนกิน  เซ็งลี้ใบอนุญาตนำเข้าและส่งออก   ระบบโควตา  ระบบประมูลที่ต้องมีการยื่นเงินใต้โต๊ะ มันเป็นปรากฏการณ์สำคัญสำหรับประเทศด้อยพัฒนาที่มีการปกครองกึ่งฟาสซิสต์ ที่เมื่อขึ้นไปสู่ความมีอำนาจแล้ว ก็มองเห็นช่องทางหากินได้เอง โดยไม่มีใครเอาอย่างใคร

ในระยะเวลาที่เรื่องนี้ได้เขียนขึ้นนั้นคุกของเมืองไทยขังบุคคลสัญชาติไทยไว้จำนวนหนึ่งในข้อหาทางการเมือง ตั้งแต่ขบถภายในและภายนอกราชอาณาจักรไปจนข้อหาอื่นๆ ตามแต่จะหาเรื่องได้

และเขาคัดข้อความตอนหนึ่งในนวนิยายอิงการเมืองอาร์เจนตินาที่เขาเขียนขึ้นออกมาเป็นสารเพื่อส่งเข้าให้คนที่อยู่ในเรือนจำคลองเปรม

ทุกสิ่งทุกอย่างในทุกวันนี้ดูมันกลับตาลปัตรกันหมด … ทุกสิ่งทุกอย่างคลาดเคลื่อนไปจากที่อันควรจะเป็นของมันตามปกติ บุคคลที่ควรจะนั่งอยู่ด้านในของโต๊ะสอบสวนกลับไปนั่งอยู่ด้านนอก คนที่ควรจะนั่งอยู่ด้านนอกกลับเข้าไปนั่งอยู่ข้างใน คนที่ควรจะเดินและทำงานอย่างอิสระเสรีกลับเข้าไปอยู่ในคุก คนที่ควรจะอยู่ในคุกกลับเดินอยู่ภายนอกอย่างเสรี คนที่ควรจะตายกลับอยู่ และคนที่ควรจะอยู่กลับตาย …

กระทรวงการต่างประเทศผลิตคนแข็ง ในความหมายของการรักษาหลักการอย่างเป็นแบบอย่างให้แก่คนรุ่นหลังขึ้นมาหลายแบบและหลายคน คุณอานันท์ก็เป็นแบบหนึ่ง ผมเพียงแต่นึกเสียดายที่หนังสือความยาวร่วม 500 หน้าเกี่ยวกับคนที่กระทรวงการต่างประเทศสร้างขึ้นมา และทั้งเนื้อหาและชื่อเรื่องก็ว่าด้วย The Making of Modern Thailand จะไม่มีเนื้อที่สักหน่อยหนึ่งมากกว่าที่จะเอ่ยถึงอย่างผ่านๆ สำหรับพิจารณาความหมายความสำคัญของความคิดซึ่งส่งผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นสมัยใหม่ที่อยู่ในผลงานของเสนีย์ เสาวพงศ์

หนังสือคงไม่ได้ตั้งใจบอกเราใช่ไหมว่า The Making of Modern Thailand ของเสนีย์ เสาวพงศ์ไม่มีที่ทางอยู่ใน The Making of Modern Thailand ของอานันท์ ปันยารชุน

อันหนึ่งเป็นความเป็นไปได้ ส่วนอีกอันคือที่ปรากฏเป็นจริง


อ้างอิง

[1] โปรดดูบทปริทัศน์ขนาดพอเหมาะของ Chris Baker ได้ที่นี่

[2] เช่นข้อมูลที่รวบรวมไว้อย่างละเอียดโดยวิชา มหาคุณ โปรดดู วิชา มหาคุณ, บันทึกประวัติศาสตร์ 100 ปีกระทรวงยุติธรรม: การต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ (กรกฎาคม 2534 – มีนาคม 2535) (กรุงเทพฯ: คณะทำงานเพื่อความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ กลุ่มพิทักษ์สถาบันตุลาการ, 2535).

[3] คำบรรยายสาธารณะต่อไปนี้ ที่คุณถนัดแสดงปาฐกถาพิเศษเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตามคำเชิญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คงพอจะใช้เป็นตัวอย่างได้บ้าง

สำหรับสหรัฐฯ เองก็เช่นเคย ยังใช้วิธีการที่ขาดความแยบคาย (subtlety) ดังจะเห็นได้จากการกระทำอันน่ารังเกียจ กล่าวคือ ในขณะที่องค์การสหประชาชาติกำลังพิจารณาข้อมติที่จะขับจีนคณะชาติออกไป และเปิดประตูรับจีนจากผืนแผ่นดินใหญ่ สหรัฐฯ ได้แอบส่งผู้ใกล้ชิดของประธานาธิบดี ซึ่งมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงคือ ดร.คิสซิงเจอร์ ไปเจรจากับรัฐบาลที่ปักกิ่ง เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ขอร้องให้มิตรประเทศหรือบริวารเช่น ญี่ปุ่น ไทย ฯลฯ ให้สนับสนุนออกเสียงลงคะแนนให้แก่ร่างข้อมติที่เสนอให้จีนมีผู้แทน 2 ฝ่ายในสหประชาชาติ คือมีทั้งผู้แทนจีนปักกิ่งและจีนไต้หวัน ซึ่งตามหลักขององค์การทำไม่ได้ หรือไม่น่าทำ และจีนทั้ง 2 ฝ่ายก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว

การกระทำข้างหลังมิตรประเทศเป็นการหลอกลวง และเห็นแก่ตัวเอาแต่ได้อย่างน่าบัดสี แต่ฝ่ายที่เล่นกลชนิดที่ไม่น่าประทับใจเช่นนี้ ด้านพอที่จะไม่รู้สึกกระดากใจ และไม่สนใจในความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ที่เกิดจากการเล่นหักหลังอย่างน่าเกลียด

คุณถนัดได้แก้เกมที่สหรัฐฯ ทำ ‘เอาแต่ได้อย่างน่าบัดสี’ นี้ให้ไทยผ่านทางคุณอานันท์ ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือแล้วและเป็นตอนหนึ่งที่น่าอ่านสำหรับคนที่สนใจความหมายของการออกเสียงหรืองดออกเสียงในองค์การระหว่างประเทศ แต่คุณถนัดมิได้กระหนาบเฉพาะสหรัฐฯ เท่านั้น

ข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ทำนายไว้ว่าการปิดตาไม่ยอมรับรู้และรับรองสถานะของประเทศที่มีพลเมือง 800 ล้านคนในสมัยนั้น … นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ …แต่รัฐบาลไทยในสมัยนั้น ซึ่งเป็นรัฐบาลทหารมากกว่าในปัจจุบันเสียอีก ก็ไม่ยอมรับฟังและใคร่ครวญ  คงฟังแต่อเมริกันซึ่งใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งและเข็ดเขี้ยวจีนแผ่นดินใหญ่มาตั้งแต่สงครามเกาหลี …ส่วนหนังสือพิมพ์ในประเทศก็ประโคมหาว่าข้าพเจ้าส่งเสริมคอมมิวนิสต์ นักเขียนนามปากกา ‘กระแช่’ เขียนว่าข้าพเจ้าชักธงแดงหลาขึ้นในประเทศไทยแล้ว ซึ่งก็ไม่เป็นสิ่งที่น่าประหลาดสำหรับพวกอวิชชาที่ด้อยการศึกษา

ข้อความที่ยกมาข้างต้น แม้จะกล่าวขึ้นภายหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว แต่ก็สะท้อนให้เห็นได้ถึงความแรงของคุณถนัดในการกล่าววิพากษ์ตอบโต้สหรัฐฯ ทั้งในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปีหลังๆ ก่อนที่จะถูกรัฐบาลถนอมเปลี่ยนตัว และภายหลังจากที่พ้นตำแหน่งออกจากรัฐบาลมาแล้ว รวมทั้งการไม่เกรงกลัวในการว่ากล่าวใคร ๆ ที่ท่านเห็นว่า “มีตาแต่ไม่มีแวว มีสมอง(ถ้ามี) แต่ก็ไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ งมงายอยู่แต่ในสิ่งที่ไร้สาระ”

ถนัด คอมันตร์, “ประเทศไทยกับโครงสร้างใหม่ของโลก – ผลสะท้อนทางเศรษฐกิจและการเมือง,” สราญรมย์ฉบับที่ระลึกครบรอบปีที่ 45 (10 กุมภาพันธ์ 2531), 120 -121.

อนึ่ง ผมขอเล่าต่อสักนิดถึงคอลัมนิสต์ ‘อวิชชาที่ด้อยการศึกษา’ ในสมัยขวาพิฆาตซ้าย ที่คุณถนัดให้เกียรติยกมากล่าวถึงในปาฐกถาข้างต้นว่าออกโรงโจมตีโยนข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์ใส่กระทรวงการต่างประเทศ ในเวลาต่อมา ‘กระแช่’ คอลัมนิสต์ผู้โด่งดังจากหนังสือพิมพ์ดาวสยามและเหตุการณ์ 6 ตุลา ได้กล่าวให้ร้ายแบบเดียวกันใส่ไพจิตร เอื้อทวีกุลระหว่างที่คุณไพจิตรเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลพลเอกเปรม แต่คราวนี้เจอเครือข่ายชนชั้นนำโต้กลับเอาบ้าง ‘กระแช่’ ถูกคุณไพจิตรฟ้องคดีหมิ่นประมาทสู้กันถึง 3 ศาลชนะตลอดถึงฎีกา ทำให้ ‘กระแช่’ ถึงคราวกระอักต้องจ่ายเงินจำนวนมากบำรุงการกุศลตามเงื่อนไขที่คุณไพจิตรกำหนดและลงประกาศหนังสือพิมพ์ขอขมาอย่างเป็นทางการเพื่อผ่อนเพลาจากการต้องรับโทษจำคุก คุณไพจิตรกับคุณอานันท์ไม่ใช่คนอื่นคนไกล ตอนคุณอานันท์เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก คุณไพจิตรกลับมารับเป็นรัฐมนตรีอีกครั้ง คราวนี้ได้ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ลีลาการเขียนให้ร้ายของ ‘กระแช่’ ปรากฏอยู่ในสำนวนฟ้องคดี ซึ่งมีผู้นำมารวบรวมตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเพื่อยกระดับจรรยาบรรณของหนังสือพิมพ์ โปรดดู อนันต์ สายศิริวิทย์ และสมชาย เจนชัยจิตรวนิช, จุดจบกระแช่ สีเสียด (กรุงเทพฯ : สวนหนังสือ, 2528).

[4] ดูคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ 50/2519 เรื่องแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ได้ที่นี่

[5] เสนีย์ เสาวพงศ์, ไฟเย็น (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2545), 7-9.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save