fbpx
“ก็เธอไปหาเขาเอง” เมื่อเหยื่อถูกข่มขืนซ้ำในกระบวนการยุติธรรม

“ก็เธอไปหาเขาเอง” เมื่อเหยื่อถูกข่มขืนซ้ำในกระบวนการยุติธรรม

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เรื่องคืนนั้น

คืนนั้น เธอคิดว่ารถแท็กซี่กำลังเลี้ยวเข้าไปในสโมสรจัดเลี้ยง หญิงสาวได้รับงานจากโมเดลลิ่งเพื่อมา ‘เอนเตอร์เทน’  เธอมาคนเดียว ตั้งใจว่าจะมาเพื่อชงเหล้า นั่งพูดคุยกับแขก สร้างเสียงหัวเราะ เสร็จสิ้นงาน รับเงิน แล้วกลับบ้านตัวเองไปนอนหลับอย่างเป็นสุข

แต่ในความเป็นจริง แผนที่ที่ปักหมุดมาในโทรศัพท์ห่างจากสถานที่จัดเลี้ยงมาพอสมควร รถขับตามทางมาเรื่อยๆ ตามจุดหมายบนแผนที่ จนเจอบ้านหลังใหญ่ ที่มีผู้ชาย 4 คนอยู่ในบ้าน ทั้งหมดดื่มเหล้าและดูบอลอยู่ก่อนแล้ว แม้จะไม่เป็นไปตามคาด แต่หญิงสาวก็ตัดสินใจเดินเข้าไป ยังเชื่อมั่นว่าโมเดลลิ่งจะคัดงานที่ปลอดภัยให้เธอ แล้วเรื่องราวทั้งหมดก็เริ่มขึ้น

ก่อนหน้านี้เธอรับงานพิธีกรตามห้างสรรพสินค้า แต่คืนนี้เป็นครั้งแรกที่เธอได้ทำงานเอนเตอร์เทน เธอไม่ต้องรับมือกับคนที่เดินผ่านไปมาอีกแล้ว มีเพียงชายหนุ่ม 4 คนที่เมามาย

เธอไม่อยากให้ใครมาว่าได้ว่าทำงานไม่ดี เมื่อนั้นวอดก้าจึงถูกเปิดขึ้น และเกมในวงเหล้าก็ดำเนินต่อไปอย่างคึกคัก ฤทธิ์แอลกอฮอล์ก็ทะลุถึงขีดสุดจนทำให้เธออาเจียน ตอนนั้นเองที่เธอถูกพาขึ้นไปบนห้องนอน และถูกขืนใจ

หลังจากนั้น เธอลงมาข้างล่างเพื่อนอนตรงโซฟา แล้วคนที่สองก็เข้ามาอุ้มเธอเข้าไปในห้องน้ำ เธอถูกขืนใจอีกครั้ง

ด้วยความเมามายและด้วยพละกำลังที่อ่อนแรงทำให้เธอไม่สามารถขัดขืนได้อย่างใจคิด คืนนั้นเธอเรียกแท็กซี่ออกไปกลางดึก และยังไม่ได้รับเงินค่าจ้างสักบาท วันรุ่งขึ้นเธอตื่นมาด้วยความสับสนว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองบ้าง

เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

เรื่องราวข้างต้น ไม่ได้จบลงแค่เธอตื่นมาพบกับฝันร้าย เธอตัดสินใจโทรไปปรึกษาพี่สาวที่ทำงานพริตตี้ด้วยกัน แล้วเลือกที่จะแจ้งตำรวจ

“หนูเล่าให้พี่ฟัง ถามว่าเจออย่างนี้เราควรจะรู้สึกอะไร ตอนนั้นหนูสับสน เพราะคิดว่าเป็นความผิดเรา ตรงที่เป็นคนชวนเขากินวอดก้า เพราะหนูไม่เคยทำ ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรแค่ไหน พี่เขาก็บอกว่า พวกนั้นทำอย่างนี้ไม่ได้ เพราะงานเอนฯ คืองานเอนฯ ไม่ใช่งานวีไอพีที่จะมีอะไรกัน พี่เขาเลยแนะนำให้มาแจ้งความ”

ในตอนแรก พลอย (นามสมมติ) คิดว่าจะใช้การไกล่เกลี่ย และให้เขาขอโทษให้เรื่องจบ แต่ฝ่ายชายกลับตอบมาว่าพลอยเป็นฝ่ายสมยอม ขอมีอะไรเองด้วย ทั้งยังต้องการพิสูจน์ด้วยการดูกล้องวงจรปิดในบ้าน นัดกันเสร็จสรรพ เมื่อถึงเวลานัด ฝ่ายนั้นไม่มา พลอยจึงตัดสินใจไปแจ้งความทันที เพื่อเป็นการยืนยันกับประโยคที่ชายหนุ่มพูดว่า “ใครเขาจะไปเชื่อน้อง”

แม้ว่าจะตัดสินใจเด็ดเดี่ยวแล้ว แต่พลอยก็ต้องมาพบว่าชายหนุ่มทั้ง 4 คนนั้นเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และหนึ่งในนั้นมีพ่อเป็นผู้มีอิทธิพล โชคดีที่ตอนมาแจ้งความ เธอได้รับการส่งตัว และเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างรวดเร็ว ทำให้มีหลักฐานในการดำเนินคดี

ช่วงวันแรกๆ 4 คนนั้นยังนิ่ง จนกระทั่งพลอยติดต่อกับนักสังคมสงเคราะห์ และได้รู้จักกับมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม มูลนิธิฯ ได้ให้เธอคุยกับทนายความเพื่อให้รู้สิทธิตามกฎหมาย และเร่งรัดประสานงานด้านคดีกับพนักงานสอบสวน กลุ่มฝ่ายชายจึงกระตือรือร้นขึ้นมา แต่แล้วเหตุการณ์ก็ดูเหมือนจะแย่ลงเรื่อยๆ เมื่อผู้กองที่รับคดีดูเหมือนจะโดนใบสั่งจากเบื้องบนให้รีบ ‘เคลียร์’ ทุกอย่างให้จบโดยเร็ว

“ตำรวจสองคนไปหาหนูถึงห้างแถวบ้าน ซึ่งห่างจาก สน. มาก นั่งแท็กซี่ 600-700 บาท เขาบอกว่าขอคุยด้วยหน่อย หนูก็ไป ตอนนั้นมีเพื่อนไปด้วย ตำรวจเขาถามหนูว่า ผู้กองไปทำอะไรให้น้องพลอยเหรอ ช่วยยอมความหน่อยไม่ได้เหรอ ถ้าไม่เห็นใจฝั่งนั้น ก็ขอให้เห็นใจเขา เขาโดนผู้ใหญ่บีบมา”

ช่วงระยะเวลาเกือบเดือนที่พลอยต้องวนเวียนอยู่กับสถานีตำรวจ ให้ปากคำซ้ำไปซ้ำมา และต้องเผชิญหน้ากับคนที่ทำร้ายตัวเอง ที่สำคัญเธอไม่กล้าบอกพ่อแม่ คนที่เป็นหลักยึดของเธอจึงเป็นเพื่อนพี่ที่รู้จักและมูลนิธิฯ

“ระหว่างทางดำเนินคดี คำให้การเขาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วยิ่งเขามาบอกว่าเราเป็นฝ่ายสมยอม ก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกไม่ดี การที่เราจะดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่าเราอยากได้เงินเขา แต่เป็นการพิสูจน์ว่าหนูก็มีศักดิ์ศรีของหนูนะ”

“ช่วงนั้นหนูเศร้ามาก ต่อให้ยิ้มก็ยิ้มไม่ออก ปากยิ้มแต่ตาไม่ได้ยิ้มไปด้วย” พลอยอธิบายความรู้สึกช่วงที่เครียดที่สุดในชีวิต

“ตอนช่วงดำเนินคดี หนูไปอยู่หอเพื่อน จนถึงจุดหนึ่งที่หนูบอกเพื่อนว่า เหนื่อยมากเลย พอได้มั้ย ยอมความได้มั้ย พ่อกับแม่เราก็ไม่รู้ แล้วก็ไม่อยากให้เขารู้ด้วย เพราะพ่อก็ป่วย หนูก็เลยอยากทำให้เรื่องจบไวๆ พยายามเร่งทุกอย่าง ตอนนั้นก็คิดว่า ถ้าหนูไม่ฟ้อง ไม่แจ้งความตำรวจ ก็จะรู้สึกผิดว่าทำไมเราไม่รักตัวเองเลย แล้วพ่อก็คงจะผิดหวังในตัวเรา แต่ถ้าเราสู้ไป เราก็เหนื่อย”

แม้ต้องเก็บงำความลับก้อนใหญ่ต่อครอบครัว แต่พลอยก็ยังมีพี่จากมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคฯ คอยช่วยให้คำปรึกษา แม้ว่าเจตนาแรกของพลอยคือการอยากให้ผู้กระทำผิดได้รับบทเรียน แต่เมื่อเจอเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลเข้าเรื่อยๆ จึงอยากจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการดำเนินคดีจากชั้นสอบสวนต่อไปยังศาลชั้นต้นนั้น อาจต้องใช้เวลานานหลายปี พลอยจึงตัดสินใจยินยอมรับค่าเสียหายซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก แล้วให้คู่กรณีเข้ามาบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือมูลนิธิฯ

แม้ว่าจะจบคดีไปแล้ว แต่พลอยเองก็ยังมีบาดแผลในใจอยู่บ้าง เธอเริ่มรู้สึกดีขึ้น หลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มแลกเปลี่ยนให้ผู้ที่โดนล่วงละเมิดทางเพศมาเล่าเรื่องราวของตนเองให้ฟัง ซึ่งบางคนไม่กล้าแม้แต่จะไปแจ้งความ

“เมื่อก่อนเวลาเล่าเรื่องแบบนี้ หนูรู้สึกเหมือนกำลังพูดเรื่องส่วนตัวมากๆ เหมือนเรามีปมแล้วไปย้ำเรื่องนั้นซ้ำๆ แต่พอเราหลุดมาแล้ว จริงๆ หนูอยากเล่าด้วยซ้ำนะ เพราะว่าบางคนที่เขาเจอเรื่องข่มขืน ก็จะถูกมองไม่ดี มีหลายๆ อย่างที่คนอื่นต้องเข้าใจ แต่บางคนก็เลือกที่จะตัดสินคนนี้ว่า คนนี้ไม่รักตัวเอง ไปทำงานแบบนี้เอง สิ่งที่พลอยไม่ทำเลยคือตัดสินว่าใครเป็นแบบไหน เพราะเขาอาจจะไม่เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้

“เหมือนอย่างตอนแรกที่หนูเข้าไปบ้านหลังนั้น เรามาทำงาน ต่อให้เราเมายังไง เขาก็ไม่น่าทำกับเรา แต่สุดท้ายมันไม่ใช่”

 

การเยียวยาและรักษาหัวใจ

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หรือ ป้าโก๋ ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม หนึ่งในผู้ช่วยดูแลพลอยช่วงดำเนินคดี เล่าให้ฟังว่า แต่ละปี ทางมูลนิธิช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศกว่า 20 คดี โดยมีทนายอาสาเวียนเข้ามาช่วยทำคดี ครอบคลุมไปทั้งคดีข่มขืน อนาจาร และการค้ามนุษย์ พลอยเป็นหนึ่งในคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศที่โชคดีได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และจบคดีลงได้

“เรามีหน้าที่ช่วยผู้ประสบปัญหา บางทีคนที่ประสบปัญหามาก็ไม่รู้จะทำยังไง ช็อค เพราะไม่เคยถูกทำร้าย ไม่เคยถูกกระทำ เราก็จะต้องทำให้เขาเห็นว่า มันเกิดแค่ชั่วคราวเท่านั้นเอง นอกจากเราคลี่คลายเรื่องจิตใจ เราก็ช่วยทำให้เขาเข้าถึงสิทธิ์” ป้าโก๋ เล่าถึงบทบาทของมูลนิธิฯ ส่วนมากทีมงานในมูลนิธิแม้ไม่ได้จบทางด้านจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ หรือกฎหมายมาโดยตรง แต่ทั้งหมดมาฝึกกระบวนการให้คำปรึกษา แบบ empowerment counseling หลายคนเคยเป็นผู้ถูกกระทำที่เปลี่ยนตัวเองกลายเป็นผู้ผ่านพ้น แล้วมาช่วยเหลือคนอื่นต่อไป

กระบวนการเยียวยาที่สำคัญคือ กระบวนการกลุ่ม (group support) ที่เชิญผู้ประสบความรุนแรงทางเพศมานั่งคุยกัน เพื่อ empower ผู้หญิงที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน แต่ปัญหาไม่ได้มีเฉพาะด้านจิตใจเท่านั้น เพราะผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มักจะต้องเจอภาวะ ‘ตอบคำถาม’ กับพนักงานสอบสวนที่ยากลำบากด้วย

“บางทีเวลาผู้ประสบความรุนแรงไปหาตำรวจ ก็มักจะเจอคำถามแบบตัดสิน คิดแทน เช่น คดีทำร้ายร่างกายของคู่สามีภรรยา เขาก็จะบอกว่า เป็นผัวเมียกันเดี๋ยวก็ดีกัน ส่วนคดีเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ เขาก็จะถามว่าคุณมีพยานหลักฐานไหม ซึ่งพอเจอคำว่าพยานหลักฐาน ทุกคนก็จะถอยหลังกลับ เพราะคดีทางเพศไม่มีอะไรเป็นหลักฐาน นอกจากตัวผู้หญิงที่เป็นผู้ประสบปัญหาเอง”

คดีข่มขืนเป็นเรื่องที่ยอมความได้ ถ้าการข่มขืนนั้นไม่ได้มีอาวุธปืนประกอบ หรือในกรณีที่มี 2 คนร่วมกันกระทำความผิดฐานโทรมหญิง และคดีทางเพศจำเป็นต้องแจ้งความภายในเวลา 3 เดือน แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่โดนข่มขืนแล้วจะกล้าเข้าไปแจ้งความ ป้าโก๋บอกว่า สิ่งแรกที่เราควรจะทำหลังจากถูกข่มขืน คือการไปตรวจร่างกาย ก่อนที่ร่องรอยจะหายไป หรือควรเล่าเรื่องราวให้คนที่เราไว้ใจฟัง แล้วหาวิธีไปแจ้งความโดยเร็วที่สุด

“เราเคยเจอตัวอย่าง ลูกสาวที่ถูกพ่อแท้ๆ ตัวเองข่มขืน ถูกกระทำตั้งแต่อายุ 14 ปี จนถึงอายุ 20 แม่ก็รับรู้นะ แต่แม่ก็อยู่ภายใต้จำยอมของพ่อ ท้ายที่สุดเขาก็มาปรึกษาเพื่อน แล้วก็บอกครู ครูก็โทรไปบ้านพักฉุกเฉิน แล้วเขาก็ไปตรวจที่โรงพยาบาลตำรวจ แล้วเขาก็ส่งต่อมาที่มูลนิธิฯ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้แจ้งความนะ”

“ตอนเราไปหาพนักงานสอบสวน ขนาดเตรียมความพร้อมมาอย่างดี ไม่รู้ตำรวจทำคดีนี้เป็นคดีแรกรึเปล่า เพราะพอรู้ว่าน้องอายุ 20 แล้ว ตำรวจก็ถามว่า อ้าว ทำไมเพิ่งมาแจ้ง ซึ่งตำรวจคงลืมว่าเป็นคดีกระทำต่อเนื่อง แล้วเป็นบิดาที่กระทำต่อบุตรในปกครองที่เป็นผู้สืบสันดาน มันมีเหตุเพิ่มโทษ พอน้องได้ยินคำนี้ก็สะดุดเลย แล้วตอนนั้นน้องกินยาป้องกันการตั้งครรภ์ ยาต้านเชื้อเอชไอวี และยาคลายเครียด มันมีผลข้างเคียงทางความรู้สึก พอไปเจอตำรวจพูดแบบนี้น้องก็ซึม กลับมาก็แย่ลง ทางเราก็ต้องปรับสภาพจิตใจให้น้อง แล้วกลับไปดำเนินคดีใหม่ ท้ายที่สุดหลังจากทำความเข้าใจกัน ตำรวจก็นัดสอบปากคำ เป็นไปตามกระบวนการ”

อีกหนึ่งขั้นตอนที่ยากของการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คือการสอบปากคำ เพราะการต้องเล่าเหตุการณ์ซ้ำๆ กับคนแปลกหน้า ย่อมไม่ใช่เรื่องน่ารื่นรมย์นัก ยิ่งโดยเฉพาะกับตำรวจที่เป็นผู้ชาย การพูดเรื่องใต้ร่มผ้าก็ยิ่งไม่ใช่เรื่องสะดวกปาก

“ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ การถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิง ให้พนักงานสอบสวนหญิงเป็นผู้สอบสวน หากไม่มีพนักงานสอบสวนหญิง ผู้เสียหายจะขอให้บุคคลใดอยู่ร่วมในการถามปากคำก็ได้ ทางมูลนิธิก็จะเข้าไปช่วยตรงนี้ บางเรื่องตำรวจถามภาษากฎหมาย น้องก็อาจจะตอบไม่ได้ เราก็ช่วยแปลภาษาตำรวจให้เป็นภาษาที่เขาเข้าใจ มีการสร้างสัมพันธภาพกัน ก็ทำให้การสอบปากคำไม่อึดอัดแม้จะต้องใช้เวลามาก”

“เราคิดว่าการร้องขอให้มีการจัดพนักงานสอบสวนหญิงมาช่วย จะเป็นกลไกที่ทำให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยที่มีพนักงานที่มีความเข้าใจความละเอียดอ่อนด้วยเหตุแห่งเพศ เราถูกข่มขืนแล้วจะไปคุยกับผู้ชายมันลำบาก ด้วยความที่เป็นเพศที่แตกต่าง แล้วบางทีเราไปถึงปุ๊บ ผู้ชายอาจมีเค้าหน้าที่เหมือนๆ กัน ก็อาจจะเจอเหตุการณ์ที่เป็นบาดแผลในใจกลับมาอีก”

ช่องว่างทางความรู้ของประชาชนกับกระบวนการทางกฎหมาย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่กล้าหันหน้าเข้าหาหน่วยงานภาครัฐ

“แต่ถึงอย่างนั้น แล้วใครจะไปรู้ล่ะ ไม่ได้เรียนกฎหมายกันมาว่าตำรวจมีวิธีการสอบปากคำอย่างไร พนักงานอัยการดูสำนวนอย่างไร ศาลจะพิจารณาอย่างไร ถ้าผู้หญิงคนนั้นไม่มีทนายความ ไม่มีที่ปรึกษากฎหมาย ไม่มีความเข้าใจ ก็ยาก”

ณ ตอนนี้ ในสังคมยังมีมายาคติที่มองว่าผู้หญิงต้องอยู่ในร่องในรอย และยังกลายเป็นคนผิด แม้ว่าเธอจะเป็นผู้ถูกกระทำ

“ในคดีข่มขืน เราต้องตัดตอนมายาคติที่จิกกัดตัวผู้หญิงเอง กับตำรวจและกลไกทั้งหลายทั้งปวง ว่าการถูกข่มขืนไม่จำเป็นจะต้องมีร่องรอยเลือดหรือบาดแผล เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ใต้ร่มผ้าและในจิตใจ ไม่ใช่ว่าไม่มีเลือดออกเพราะไม่ขัดขืนนะ”

แก้มายาคติ ‘ผู้หญิงที่ดี’ และฝึกฟังด้วยหัวใจ

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เวลามีความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้น เรามักมุ่งที่จะหาคนผิดคนถูก ซึ่งคนที่ถูกกล่าวโทษ มักเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ซึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม และคนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดมักจะถูกต่อว่าเนื่องมาจากเพศสภาพ สังคมไทยมักไม่สามารถสัมผัสได้ถึงความเปราะบางที่มีผลต่อเรื่องเพศ โดยเฉพาะเพศหญิงที่มักจะถูกกล่าวโทษซ้ำแล้วซ้ำอีก กลายเป็นเหยื่อของระบบ”

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยากรในโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการความรู้ด้านกฎหมายและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้หญิง ผู้ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิสตรีมาอย่างยาวนาน กล่าวถึงปัญหาการกล่าวโทษต่อผู้หญิงในคดีความรุนแรงทางเพศ

ในเชิงโครงสร้าง มักจะมีคำกล่าวว่า “ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อครั้งที่ 1 จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และตกเป็นเหยื่อครั้งที่ 2 จากกระบวนการยุติธรรม” นั่นหมายถึงตลอดต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจไปจนถึงการตัดสินในชั้นสูงสุดผู้หญิงมักจะถูกกล่าวโทษ (blaming) ตลอดทาง และเมื่อเรื่องนี้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชน ผู้หญิงก็จะตกเป็นเหยื่อครั้งที่ 3 จากสื่อมวลชนและผู้คน กลายเป็นการถูกกระทำซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า

“มีมายาคติที่ฝังรากลึกในไทย สังคมมีความคาดหวังต่อผู้หญิงสูง มีภาพอุดมคติของผู้หญิงที่ดี เช่น เราจะได้ยินคำว่า กุลสตรี แม่ที่ดี เมียที่ดี พอผู้หญิงไม่สามารถอยู่ในกรอบของความเป็นผู้หญิงดีได้ เช่น ไปถูกล่วงละเมิดทางเพศมา สังคมจะบอกว่า การเป็นผู้หญิงที่ดีหมายถึงคุณต้องบริสุทธิ์ คุณต้องไม่เคยมีชะตากรรมในเรื่องเพศที่น่าสมเพช คุณจึงไม่ควรจะถูกข่มขืน

“คุณจะต้องรักนวลสงวนตัวไปจนถึงวันที่คุณแต่งงาน พอคุณแต่งงานแล้วก็ต้องมีลูกให้ได้ เพราะคุณจะต้องเป็นแม่ และเป็นเมียที่ต้องตอบรับความต้องการทางเพศจากผู้ชาย เพราะฉะนั้นความคาดหวังของสังคมที่มีต่อคุณค่าของผู้หญิงคนหนึ่ง มาพร้อมกับเรื่องเพศหมดเลย”

ในภาพฝัน คนมองว่าผู้หญิงทุกคนควรจะบริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนแก้วใส ขณะที่ในโลกจริง ปัญหาความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศนั้นเกิดขึ้นบ่อยจนยากจะควบคุม ในเรื่องเหล่านี้เองที่ทำให้สังคม ‘รับไม่ได้’ และเลือกที่จะกล่าวโทษ เมื่อสิ่งที่เป็นจริงไม่เป็นไปตามภาพในอุดมคติ

“เมื่อความคาดหวังพังทลายลง ทันทีที่ผู้หญิงคนนั้นเข้ามาแจ้งความหรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เขาถูกตีตราทันทีเลยว่าเป็นคนไม่ดี ตามมาตรฐานที่สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะฉะนั้นชุดคำถามที่พอไปถึงโรงพัก ก็จะมาด้วยคำถามที่เป็นลักษณะกล่าวโทษ ที่เรียกว่า Blaming Victim หรือการกล่าวโทษเหยื่อ ทั้งๆ ที่เหยื่อต้องได้รับการ empower เหยื่อจะต้องได้รับการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อให้เขาสามารถผ่านพ้นจากประสบการณ์ที่เลวร้าย แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าเหยื่อก็ยังถูกตำหนิ แล้วก็มุ่งว่าสาเหตุของการถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้นเป็นเพราะคุณเป็นหญิงไม่ดี”

เมื่อไปดูที่สถิติของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง เลือกเก็บงำความทุกข์ไว้ในใจ โดยปล่อยให้คนร้ายลอยนวล

แม้กฎหมายจะออกแบบมาเพื่อปกป้องคุ้มครองผู้หญิง แต่คนที่ใช้กฎหมาย ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินคดีนั้นราบรื่นและเป็นธรรม การสร้างความรู้ความเข้าใจให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นเรื่องจำเป็น ไล่เรียงไปตั้งแต่ ตำรวจ นักสังคมสงเคราะห์ อัยการ ทนาย ผู้พิพากษา กรมราชทัณฑ์ กลุ่มผู้เป็น ‘โครงสร้างที่เดินได้ และมีชีวิต’ จะเข้ามาช่วยเปลี่ยนให้กระบวนการยุติธรรมนั้นดีขึ้น

ดร.ชเนตตี ร่วมเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมคนในกระบวนการยุติธรรม ที่เกิดจากการร่วมมือของ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการทำเวิร์คช็อป ฝึกการรู้จักสังคม รู้จักตัวเอง และรู้จักกระบวนการยุติธรรม

“คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ต้องหัดเรียนรู้ที่จะสวมรองเท้าของคนอื่นเพื่อเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น นี่คือสิ่งสำคัญมาก ถ้าเราสวมแต่รองเท้าตัวเอง เราก็จะไม่มีวันเข้าใจว่าคนที่ใส่รองเท้าขาดที่ยืนอยู่ข้างหน้าเรา เขากำลังรู้สึกยังไง การสวมรองเท้าของคนอื่น คือการรู้จักตัวเอง และเข้าใจคนอื่น”

“เราจัดอบรมโดยใช้ฐานหัวใจมาเป็นกระบวนการเปลี่ยนคนในระดับลึกถึง mindset สิ่งสำคัญที่ทำให้คนไม่เปลี่ยนเพราะ mindset เขาไม่เปลี่ยน ซึ่งเราเข้าใจได้ เพราะรากของสังคมที่ฝังมายาคติแบบนี้ทำงานมานานมาก เราไม่ได้โทษเจ้าหน้าที่นะ แต่เราโทษระบบของสังคมที่สอนกันมาอย่างนี้เป็นร้อยปี”

ในกระบวนการเปลี่ยน mindset มีการนำเอาเครื่องมือ Deep Listening เข้ามาใช้ โดยให้คนเห็นด้านมืด ความเป็นปีศาจของตัวเองก่อน สิ่งนี้จะช่วยให้เรามีสติเวลากำลังจะเลือกปฏิบัติต่อผู้ถูกกระทำ

“Deep Listening ก็คือการฟังด้วยหัวใจ เราพบว่าผู้เข้าร่วมอบรมหลายคนเกิดการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่มาฝึกใช้เครื่องมือนี้ เป็นการสอนที่ไม่ให้เราฟังโดยใช้สมองในการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นทักษะการฟังที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด ปรกติเราฟัง แล้วเราจะวิเคราะห์ทันที ตัดสินทันที การฟังโดยใช้หัวใจจะทำให้เราหยุดฟังคนข้างหน้า ไม่รีบตั้งคำถาม

“ในกระบวนการเราสมมติให้เขาฟังเรื่องเล่าของคนหนึ่ง ให้รู้ตัวว่ากำลังคิด กำลังตั้งคำถาม กำลังตัดสิน แต่เราจะไม่ให้คุณเปิดปาก ไม่ให้ถามแทรก ถามตัด จนทำให้เกิดการตระหนัก มีการเชื่อมโยงระหว่างตัวผู้เล่าและตัวผู้พูด การฟังแบบ Deep Listening จะส่งผลดีต่อตัวผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง นั่นก็คือว่าเธอก็มีพื้นที่ที่จะบอกเล่าความทุกข์โดยที่ไม่มีใครมาพูดขัด”

เมื่อสามารถใช้หัวใจฟังได้แล้ว ไม่ว่าจะเจอผู้ถูกกระทำมากี่กรณี ทุกเรื่องเล่าก็จะสะดุดขึ้นมาในหัวใจ ไม่ได้ถามคำถามไปด้วยความชาชิน

“เมื่อเขารู้จักตัวเอง เข้าใจคนอื่น แล้วเขาก็จะต้องรู้ว่าความทุกข์ของผู้หญิงเป็นเหตุมาจากโครงสร้างสังคม ไม่ใช่เกิดจากผู้หญิงคนนั้น ซึ่งพูดอย่างนี้เราจะไม่เห็นภาพไง จะต้องเห็นกิจกรรมที่ทำ แล้วเราใช้กระบวนการ reflection สะท้อนผ่านความรู้สึก ในการทำให้เขาเห็น เพราะว่าผู้เข้าร่วมหลายคนก็ติดกับดักทั้งนั้น เวลามาอบรม เขาก็จะยังรู้สึกว่าต้องเพ่งโทษเหยื่อ อันนี้เป็นปัญหาที่เราจะต้องคลี่ความรู้สึกนี้ให้ออก คุณจะต้องไม่ไปกระทำซ้ำกับคนที่อยู่ตรงหน้า ส่วนเขาจะโกหกหรือไม่โกหก เป็นขั้นตอนที่คุณจะต้องไปรวบรวมหลักฐาน”

การอบรมในลักษณะนี้ ในครั้งหนึ่งมีผู้ปฏิบัติงานเข้าร่วมประมาณ 20-30 คน และอบรมได้ทีละ 3-4 วัน แต่หลายๆ ครั้งก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมในหัวใจคนทำงานได้ ในอนาคตอาจต้องมีหลักสูตรที่ลึกซึ้งขึ้น และขยายไปให้กว้างขึ้นกว่าเดิม

“เราต้องสร้างคนให้เป็นหน่วยที่เอาความรู้นี้ไปเผยแพร่ต่อ เพราะก่อนที่เราจะเข้ามาเป็นกระบวนกร เราก็ต้องผ่านการเทรน และมันเคยเปลี่ยนเรามาแล้ว การที่คนเราจะเปลี่ยนได้ต้องมีเรื่องมาช็อค ถ้าไม่เจอเรื่องช็อคในชีวิตจริง เราก็ต้องสร้างเรื่องขึ้นมาในกิจกรรม เพื่อให้เขารู้สึก ให้บางเรื่องกลับไป recall ความทรงจำของเขา”

กับมายาคติที่ฝังรากลึกเกินกระชากออก แต่การค่อยๆ ปรับความคิดจิตใจของคน ก็พอจะทำให้มีความหวังขึ้นมาบ้าง ในท้ายที่สุด ดร.ชเนตตีมีภาพฝันที่อยากให้ทุกคนเคารพกัน

“เราต้องไม่เอาเรื่อง gender มาตัดสินคนจากอัตลักษณ์ที่เห็น อยากจะให้ตำรวจมีสายตาที่มองคนเหล่านั้นว่าเป็นญาติพี่น้องของเขา เป็นพี่สาว เป็นแม่ เป็นป้า ให้มีความใส่ใจ จนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน แต่ถ้ามองว่าคนที่มาโรงพักเป็นศัตรูไปหมด เป็นคนที่เราไม่ไว้วางใจไปหมด ก็ไม่ได้ใช้หัวใจในการทำงาน เราอยากจะเห็นภาพคนใช้ความรู้สึก ใช้หัวใจในการปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น”

 

ทางออกของทางเข้ากระบวนการยุติธรรม

กิตติภูมิ เนียมหอม หัวหน้ากลุ่มโครงการประสานนโยบาย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์กรมหาชน) (TIJ)
กิตติภูมิ เนียมหอม หัวหน้ากลุ่มโครงการประสานนโยบาย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์กรมหาชน) (TIJ)

 

เช่นเดียวกับภาพใหญ่ นายกิตติภูมิ เนียมหอม หัวหน้ากลุ่มโครงการประสานนโยบายของ TIJ กล่าวถึงที่มาของโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการความรู้ด้านกฎหมายและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้หญิง (Paralegal Training Workshop : “Women for Justice, Justice for Women”) นี้ว่า เกิดจากการที่เห็นว่าเมื่อผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ต้องต่อสู้กับสังคมโดยรวมทั้งกับผู้กระทำผิด ทัศนคติสังคม และกระบวนการยุติธรรม

“มีหลายอย่างที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในกระบวนการยุติธรรม” นายกิตติภูมิกล่าว

“สถิติ 80 เปอร์เซ็นต์ที่เหยื่อไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เป็นสถิติของทั้งโลก ไม่ใช่แค่ในไทย จริงๆ แล้วกระบวนการยุติธรรมเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา เราควรจะมีการรณรงค์สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ขยายวงกว้างออกไป สังคมสามารถมีส่วนในการแก้ปัญหาตรงนี้ การเลือกปฏิบัติที่ผู้หญิงต้องพึ่งผู้ชาย ความไม่เท่าเทียมของการศึกษาและรายได้ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม มีอีกหลายส่วนที่ต้องใช้กลไกทางสังคมในการเปลี่ยน mindset ของสังคม”

โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการความรู้ด้านกฎหมาย และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้หญิง เริ่มจัดครั้งแรกในปี 2560 โดยในรุ่นแรกมีผู้เข้าร่วมเฉพาะเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นผู้หญิง เช่น ตำรวจหญิง อัยการหญิง เอ็นจีโอ ฯลฯ เพื่อสร้างความตระหนักกับผู้หญิงด้วยกันเองก่อน ก่อนจะขยับมาเป็นเจ้าหน้าที่ทั้งชายและหญิงในรุ่นที่ 2 เพื่อให้ครอบคลุมคนทำงานมากขึ้น

กิตติภูมิกล่าวถึงเป้าหมายใหญ่ของโครงการนี้ว่า คือการลดอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้หญิง

“เราต้องการส่งเสริมผู้ที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรม และการช่วยเหลือผู้หญิง เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล ฯลฯ ให้เข้าใจความละเอียดอ่อนบางประการของผู้หญิง เพราะมีหลายกรณีมากที่ผู้หญิงถูกกระทำซ้ำในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าเข้าไปร้องเรียน”

สวมรองเท้าของคนอื่น

ถ้าเรารู้เหตการณ์ล่วงหน้า คงไม่มีใครอยากลงแท็กซี่เข้าไปในบ้านหลังนั้น และถ้าเลือกได้ คงไม่มีใครอยากเล่าชะตากรรมแบบนี้ซ้ำๆ

การเขียนเรื่องนี้ ก็เป็นการฉายภาพซ้ำ หากแต่เป็นการฉายเพื่อให้เราหันมองตัวเองให้ชัดขึ้น เมื่อนั้นเราก็อาจเข้าใจคนอื่นได้ชัดขึ้นเช่นกัน


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save