fbpx
รัสมี อีสานโซล : ม่วนกุ๊บอย่างงดงาม

รัสมี อีสานโซล : ม่วนกุ๊บอย่างงดงาม

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล ภาพ

ที่ร้านกาแฟร่ำเปิง เชียงใหม่

รถกระจายเสียงชวนคนไปงานลอยกระทงเพิ่งขับผ่านไปไม่นาน ตอนที่แดดบ่ายกำลังร่ม ลมกำลังตก รัสมีก็เดินเข้ามาในร้าน สวมแว่นสีชา ใส่เสื้อสีเขียวอ่อน และยิ้มให้คนที่เพิ่งเจอกันครั้งแรก

รัสมี เวระนะ หรือ ‘รัสมี อีสานโซล’ เป็นศิลปินชาวอุบลราชธานี ที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่เชียงใหม่ จากอีสานสู่เหนือ แต่เธอยังทำเพลงหมอลำได้ถึงน้ำถึงเนื้อ ผสมผสานเอาเนื้อร้องภาษาอีสานและเขมร ใส่เข้าไปในท่วงทำนองโซล บลู แจ๊ส — และใช่ โซลที่หมายถึงจิตวิญญาณด้วย

จิตวิญญาณความเป็นอีสานยังเต็มเปี่ยม แต่งานของเธอข้ามเส้นพรมแดน ควบรวมดนตรีหลากหลายวัฒนธรรมเป็นเนื้อเดียว และขับเน้นความเป็นตัวตนของเธอออกมาได้เด่นชัด การแสดงสดของรัสมีตรึงสายตาผู้คน และดึงให้หูฟังท่วงทำนองที่เธอร่ายรำในชั่วขณะนั้น — ไปไหนไม่ได้

ในโลกที่คำว่าพรมแดนแทบไม่มีความหมาย วัฒนธรรมของผู้คนทั่วโลกเคลื่อนที่ กระจายออก และควบรวมเป็นเนื้อเดียว แตกแขนงกลายเป็นศิลปะและวัฒนธรรมที่หลากหลายเฉพาะตัว เพลงของรัสมีเป็นหนึ่งในผลผลิตของความหลากหลายนี้ มีคอมเมนต์ในยูทูปใต้เพลง เมืองชุดดำ ของเธอ ว่าฟังแล้ว “เหมือนนั่งกินส้มตำที่ลอนดอน”

ตอนนี้รัสมีกำลังกลับไปหารากเหง้าด้วยการทำเพลงหมอลำแบบดั้งเดิม หลังจากเธอหยิบเอาหมอลำไปใส่กับดนตรีหลากหลายแบบมาก่อนหน้านี้ และแน่นอน — เธอยังอยู่กับดนตรีทุกวัน

รัสมี เวระนะ, รัสมี อีสานโซล

ชีวิตและเสียงเพลง

จากเด็กหญิงที่เติบโตมาในวงหมอลำที่อำเภอน้ำยืน อุบลราชธานี มีพ่อคอยสอนร้องลูกเอื้อน จนวันหนึ่งเมื่อเธอเติบโต และได้รู้จักกับเครื่องดนตรีจากแอฟริกาที่เสียงเหมือนพิณไม่มีผิด เธอจึงสนใจศึกษาดนตรีจากอีกฟากโลก และเริ่มหยิบเอาหมอลำเข้ามาใช้ในงานเพลงของเธอ

“ตอนนั้นเรายังร้องเพลงตามผับอยู่ ร้องแจ๊ส ป๊อปทั่วไป แต่พอเราไปเจอแอฟริกันบีท หรือเพลงแอฟโฟร เราตื่นเต้นมาก อีกซีกโลกมีริทึ่มคล้ายๆ บ้านเรา เขาใช้น้ำเต้าใหญ่ๆ เสียงคล้ายพิณมาก เราประหลาดใจ อยากค้นหาว่าทำไม เรารู้สึกว่าคืออันเดียวกันด้วยซ้ำ จนเราได้ร้องหมอลำกับแอฟริกัน พอกลับมาจากฝรั่งเศสเราก็อยากจะใส่หมอลำเข้าไปในเพลง ก็พยายามใส่ด้วยเนื้อร้อง ด้วยคำ อยากทำเพลงหมอลำที่เราอยากร้อง แต่งเอง นี่คือสิ่งที่ทำให้เราอยากสร้างงานขึ้นมา”

รัสมีแต่งเพลงด้วยความสด ใส่ความรู้สึก ความต้องการ เข้าไปเต็มเปี่ยมในเพลง และได้ ก้อง – สาธุการ ทิยาธิรา มือกีตาร์ เข้ามาช่วยดูเรื่องดนตรี

แม้ว่าก้องจะไม่ใช่คนอีสาน แต่จักรวาลของดนตรีก็ทำให้ศิลปินทั้งสองสร้างงานเพลงขึ้นมาได้แปลกใหม่ เธอออกอัลบั้มแรกมาในปี 2557 ชื่อว่า Isan Soul E.P. และทำให้ รัสมี เวระนะ มีนามสกุลใหม่ว่า ‘อีสานโซล’ ตั้งแต่นั้นมา

เพลง ลำดวน ที่เขียนขึ้นจากชีวิตของยาย เล่าชีวิตของผู้หญิงอีสานสมัยก่อน หรือเพลง มายา ที่กลายเป็นเพลงดังของอัลบั้ม รวมถึงเพลง ปะกาปรูย เพลงภาษาเขมร ที่ถ่ายทอดความรู้สึกของหญิงสาวที่โศกเศร้า โหยหาถึงความรักที่จากไป ได้อย่างแจ่มชัด แม้ไม่เข้าใจภาษา แต่เสียงดนตรีหลากหลายที่เธอใส่เข้าไปในท่วงทำนองแบบหมอลำ ทำให้ผู้คนรู้จักหมอลำในมุมที่ไม่เหมือนเดิม

“หมอลำคือรากเหง้า คือวัฒนธรรม แต่หมอลำที่เปลี่ยนไปก็เยอะมาก เพลงอีสานมีความเป็น improvisation อยู่แล้ว จับไปใส่อะไรก็ได้ ง่ายสำหรับการทดลอง แล้วมีจังหวะที่น่าค้นหา มหัศจรรย์มาก”

“คนเฒ่าคนแก่ก็ว่าเรื่องนี้เยอะนะ แต่เราไม่ได้อะไร มุมมองเขาอาจจะต่างจากเรา ขนาดพ่อเราเองยังว่าเลยตอนแรก คือเขาเป็นนักเขียนเพลง แล้วเราเขียนไม่เหมือนที่เขาเขียน ของเขาจะมีสัมผัสการลงคำที่เหมือนคนโบราณเขียน ทำให้ร้องง่าย มีสูตรกันมา แต่พอเราไม่ทำตามสูตรนั้น ไม่ได้ลงวรรคนี้ แต่ไปลงวรรคหน้า เขาก็จะติ ยังไม่ได้ ยังไม่ใช่

“เขาก็มีสิทธิที่จะพูดแบบนั้น แต่เราก็มีสิทธิ์ที่จะบอกว่า นี่คือสิ่งที่เราอยากทำ เราก็รับคำติ ตอบโต้บ้าง ไม่ตอบโต้บ้าง ช่างมันเถอะ เราก็ยังทำงานเพลงของเราเรื่อยๆ สำคัญคือทำออกไปแล้วได้อะไร เราได้ประสบการณ์เยอะมาก มีคนฟัง เราได้เดินทาง ได้เล่นดนตรี”

รัสมีเติบโตมากับทุ่งนา วิ่งไล่จับหาปูปลา โตมากับวงหมอลำ หัดร้องเพลงตั้งแต่เด็ก แต่ชีวิตจริงไม่ได้ง่าย เพราะเธอถูกปรามาสว่าไม่มีทางเป็นนักร้องได้ เพราะบุคลิกและหน้าตา

“ตอนเด็กๆ เราไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย ใครว่าอะไรเราก็น้อยเนื้อต่ำใจ ก็จริงอย่างที่เขาพูดนั่นแหละ อีดำ สวยก็ไม่สวย ยังอยากมาเป็นนักร้อง เป็นก็ไม่ดังหรอก นักร้องเขาต้องสวย ต้องขาวสิ แต่เรื่องแบบนี้ให้โลกมาบอกเราไม่ได้หรอก วันนึงเราก็ต้องบอกตัวเอง รู้ตัวเอง ถ้าก่อนหน้านี้เรามีความมั่นใจ คงไปได้ไกลกว่านี้ แต่พอเราคิดแบบนั้นเลยก้าวช้ามาก กว่าจะค้นพบตัวเอง ใช้เวลามาก จนตอนนี้รู้สึกว่าเราไม่เห็นมีอะไรผิดปรกติเลยนี่หว่า”

เธออยู่อีสานจนถึงอายุ 20 แล้วจากนั้นย้ายจากอุบลฯ มาอยู่เชียงใหม่ เธอให้เหตุผลว่า “เพราะเชียงใหม่เลือกเรา”

“ตอนแรกจะมาแค่ 10 วันด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้อยู่มา 10 กว่าปีแล้ว ตอนนั้นอยากไปหางานทำที่เมืองนอก ติดต่อเพื่อน ไม่อยู่แล้ว เบื่อ แต่ขอไปเที่ยวที่เชียงใหม่สัก 10 วัน มาถึงปุ๊บขึ้นไปปายก่อน ตั้งแต่ปายยังเงียบๆ ไม่มีอะไร จนย้ายมาอยู่เชียงใหม่ยาว ตอนนั้นไม่ได้ร้องเพลงด้วยนะ เรียนหนังสือ เรียนเสริมสวย จนเข้าเรียน ปวช. ไทยวิจิตรศิลป์”

รัสมีเรียนวิทยาลัยอาชีวศึกษาไทยวิจิตรศิลปเชียงใหม่ แล้วต่อสาขาจิตรกรรมที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จนจบมาทำวงกับเพื่อนนักดนตรี

จากการย้ายถิ่นที่อยู่และการเดินทาง ทำให้เธอได้ความเป็นลูกผสมจนกลายเป็นงานเพลงแบบเฉพาะตัว

รัสมี เวระนะ, รัสมี อีสานโซล

“ตัวเราอยู่เชียงใหม่ แต่โคตรคิดถึงอีสานเลยนะ อยู่นี่ 10 ปี กว่าจะได้ฟังหมอลำ แทบไม่มีเลย เราได้ฟังเพลงจากพี่ที่เล่นดนตรีอีสานผสมแจ๊ส ก็เปิดโลกเรา ทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย หมอลำเอาไปเข้ากับดนตรีอะไรก็ได้ แล้วตอนนั้นเราโชคดีได้เจอก้อง เราบอกเขาว่าอยากทำเพลง อยากทำหมอลำเต้ย เอาไปให้ก้องดู แล้วน้องก็เล่นหมอลำเต้ยออกมาอีกแบบนึงเลย พอร้องแล้วเข้ากันได้ ก็เลยทำเพลงแบบนี้กันมา”

เนื้อเพลงส่วนมากที่เธอเขียนมาจากเรื่องราวในอดีตที่ฟังมา กับชีวิตที่พบเจอเอง หนึ่งในเพลงดังของอัลบั้มแรก ที่ร้องถึงหญิงสาวนามว่า ลำดวน เป็นเพลงที่เธอเขียนจากเรื่องราวของยายที่ต้องพบเจอชะตากรรมความรักไม่ค่อยดีนัก

“เพลงลำดวนเป็นการสื่อสารของคนอีสานจริงๆ การใช้ชีวิตของยายเรา สังคมที่เห็นตอนเราเป็นเด็ก เราได้ยินยายเล่า แม่เล่า ว่าสังคมชายเป็นใหญ่เป็นยังไง ผู้ชายมีเมียได้หลายคน พาเมียน้อยมาบ้านด้วยนะ เรื่องพวกนี้เกิดขึ้น ความทุกข์ทนของผู้หญิงคนหนึ่งไม่ได้หายไปไหน อยู่ตรงนั้นแหละ แต่อะไรที่ทำให้ผู้หญิงคนนั้นทุกข์ สามีหรือตัวเขาเอง หรือสังคมที่ยอมรับเรื่องแบบนั้น ซึ่งเราก็หาคำตอบไม่ได้เลย แต่เราเห็นว่าผู้หญิงคนนี้ทุกข์ด้วยเรื่องของความรัก ผู้ชายที่เป็นใหญ่กว่า แล้วจะทำอะไรก็ได้อย่างนั้นเหรอ เราก็เลยเขียนเรื่องจริงของยาย ออกมาเป็นเพลงลำดวน”

วิถีชีวิตความเป็นอีสานยังฝังลึกอยู่ในตัวเธอ “ความเป็นอีสานอยู่ในตัวเราแหละ ไม่หนีหายไปไหนอยู่แล้ว” เธอว่า แล้วสั่งชามาหนึ่งเหยือก อาทิตย์ที่แล้วเธอเพิ่งไปเที่ยวป่ามา เวลาว่างก็แต่งเพลง ทำดนตรี และวาดรูป มีทัวร์คอนเสิร์ตต่างประเทศบ่อยครั้ง และเมื่อถามถึงความเป็นอีสานในปัจจุบัน รัสมีมองว่าอีสานไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

“อีสานประชากรเยอะ เราไปไหนก็เจอคนอีสาน อยู่ทุกที่ เหนือ กลาง ใต้ แล้วทำงานหลากหลาย เป็นแม่บ้าน คนขับแท็กซี่ ปะปนกันไปหมด แล้วพอเจ้านายเป็นคนในเมือง ก็จะด่าว่าไอ้ลาว ไอ้โง่เอ๊ย แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว คนอีสานถูกยอมรับมากขึ้น ขณะเดียวกันความเป็นอีสานก็กระจายอยู่ทุกที่ในประเทศ ในโลก แม้เปลี่ยนที่อยู่ แต่รากยังเหมือนเดิม”

เช่นเดียวกับหมอลำที่มีการเคลื่อนที่ไม่หยุดนิ่ง สลับสับเปลี่ยนเป็นความใหม่เก่าอยู่ตลอดเวลา

จากอัลบั้มแรกที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง นอกจากจะมีกลุ่มคนฟังทั้งในและต่างประเทศแล้ว รัสมียังได้รางวัลคมชัดลึกอวอร์ด ปี 2559 ถึง 3 รางวัล คือรางวัลศิลปินเดี่ยวหญิงยอดเยี่ยม รางวัลเพลงยอดเยี่ยม ‘มายา’ และรางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยม ‘อีสานโซล’

“ตอนทำอัลบั้มแรก เราไม่มีความกดดันอะไรเลย ทำที่อยากทำ ไม่ได้ทำให้คนมาชอบ ศิลปินเลือกได้สองแบบว่าคุณจะทำเอาใจคนฟัง หรือทำเอาใจตัวเอง ของเราคือทำด้วยความรู้สึกอยากทำล้วนๆ เลย”

พอมาถึงอัลบั้มที่สอง ‘อารมณ์’ รัสมีก็ได้รับรางวัลศิลปินหญิงยอดเยี่ยมจากสีสันอวอร์ด คุณภาพของเพลง ทั้งเนื้อหาและเสียงดนตรี ยืนยันได้ว่าเธอคือของจริง

“พออัลบั้มแรกไปไกลกว่าที่เราคิดไว้ ก็กดดันไง จะทำเพลงต่อไปยังไง อัลบั้มสองจะเอาไง ซึ่งเราไม่ชอบความคิดตัวเองเลย คิดว่าจะทำเพลงยังไงให้ดีเท่าอันแรก เพราะอันแรกการันตีรางวัล ได้ไปแสดงที่ต่างๆ ซึ่งการแต่งเพลงในอัลบั้มแรกใช้เวลาพอสมควร ต่างสถานที่ เวลา ความรู้สึก เยอะแยะ แล้วดีทั้งหมดเลย ก็เลยกลัวว่าอัลบั้มสองจะไม่ดีเท่าอันแรก”

รัสมีบอกว่าอัลบั้มที่สองมีความผิดพลาดเยอะ และแตกต่างจากอัลบั้มแรกพอสมควร

“อัลบั้มสองมีเครื่องดนตรีเยอะชิ้นขึ้น แล้วเราไม่มีโปรดิวเซอร์ ทำงานกันเอง คนข้างในมองกันเอง อะไรก็ดีหมดแหละ นั่งฟัง เฮ้ย โซโล่ เจ๋งว่ะ แต่ไม่มีคนข้างนอกมองเข้ามาแล้วเห็นว่าตรงไหนดีหรือไม่ดี มีข้อผิดพลาดในอัลบั้มที่สองเยอะ แต่เราไม่ซีเรียสกับมัน

“เรารู้สึกว่าก้าวมาอีกขั้น ถ้าเทียบกับอัลบั้มแรกที่มีกีตาร์กับเสียงร้อง ตอนนี้เพิ่มเข้ามาอีก 5 ชิ้น มีเบส กลอง พิณ แคน เพอร์คัสชั่น เราเห็นความเปลี่ยนแปลง โห เราทำได้เท่านี้จริงๆ แล้วก็เรียนรู้จากอัลบั้มนี้ว่าต่อไปเราจะไม่รีบ ต้องหาคนนอกเข้ามามองความผิดพลาดด้วย”

เพลงอารมณ์ ในอัลบั้มอารมณ์ ถ่ายทอดความงามของภาษาแบบกวี และดนตรีที่เหนียวแน่นทรงพลังขึ้น แต่เนื้อหาช่างเปราะบางเหลือใจ

อารมณ์ฉันถูกจุ่มโจมด้วยแสงแดดอันสดใสยามมื้อเช้า แต่พอช่วงบ่ายๆ มันกลับกลายเป็นพายุร้าย กัดกร่อนหัวใจของฉันกับเธอไป… พร้อมๆ กัน โอ้… อารมณ์

ในชีวิตจริง รัสมีไม่ได้ทำงานตามอารมณ์ แม้จะดูกันวันต่อวัน เดินไปทีละก้าวเพื่อให้งานออกมาดี แต่เธอก็ต้องฝึกซ้อมกับวงอย่างเคี่ยวกรำ เอาจริงเอาจัง ฝึกการแสดงสดให้ดีขึ้นและดีขึ้น ตอนนี้ยังมีต่างประเทศติดต่อให้ไปทัวร์คอนเสิร์ตสม่ำเสมอ

แต่นอกจากเรื่องเพลงแล้ว เธอยังทำงานจิตรกรรมสม่ำเสมอ และเป็นเป้าหมายต่อไปในชีวิต

“ตอนนี้อยากทำนิทรรศการที่ไม่เหมือนที่อื่น เราอยากทำคอนเสิร์ตร่วมกับงานเพ้นท์ติ้งของเรา เป็นเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่ง ร้องเพลงกับเพ้นท์ติ้งเป็นงานศิลปะเหมือนกัน แต่แสดงออกคนละอย่าง แต่ของเรามองมาด้วยกัน เราเลยอยากจัดนิทรรศการนี้ขึ้นมา”

รากเหง้าและความฝัน

“ถ้าวันหนึ่งหมอลำจะไม่เหมือนเดิม เราก็ต้องทำใจยอมรับให้ได้ โลกเปลี่ยนไป แต่ในฐานะของคนรุ่นใหม่ เราทำอะไรได้บ้าง ตอนนี้เรากลับไปแล้วนะ สวนทาง คนอื่นใส่ดนตรีแบบดิสโก้ ทำดนตรีตื๊ดๆ แต่ไม่ค่ะ ฉันจะหักมุม ฉันจะกลับไปเป็นรากเหง้า

“ตอนนี้เราเริ่มทำโปรเจ็กต์ที่ใช้แค่เสียงพิณ แคน และคนร้องแค่นั้น เอาแบบโบราณ เพิ่งลองเล่นไม่กี่วันก่อน สนุกมาก ฝรั่งมากันเต็มเลย ฟังไม่รู้เรื่อง แต่เขาอยู่จนจบ แล้วมีความสุขมาก เราก็มีความสุขด้วยที่ได้เล่นแบบผสมผสาน ดิสโก้ โซล เราก็มีนะ หรือจะเอาแบบเพียวๆ ก็มี โชว์แคนไป ฝรั่งตะลึง เพราะแคนกับพิณ คนไม่ค่อยได้เห็นจริงๆ ไม่ค่อยมีคนงัดเขาออกมา โดนกลบด้วยเสียงดนตรี กลายเป็นแค่แบ็ค เราอยากให้คนรู้ว่าอีสานเป็นแบบนี้ เขาต้องได้ฟังเน้นๆ”

หลังจากปล่อยเพลงหมอลำแบบผสมผสานดนตรีอื่นมาแล้วสองอัลบั้ม รัสมีบอกว่าเธอกำลังกลับไปหารากเหง้า มีความสุขกับการหัดดีดพิณ ฟังเสียงแคน และอัศจรรย์กับเสียงเครื่องดนตรีสองอย่างนี้

“เหมือนเสียงสวรรค์” รัสมีอธิบายความงามของเสียงพิณแคน จากที่ก่อนหน้านี้นั่งคิดอยู่นานว่าจะเล่าความงามนี้ออกมาอย่างไร

“ทุกวันที่ฝึกเล่นพิณ เราจะรู้สึกว่า โอ้โห เสียงนี้ ทำไมเราไม่ตั้งใจฟัง ก่อนหน้านี้ไม่ได้รู้สึกอะไรเลยนะ จนมาฝึกเล่นพิณเอง เพิ่งรู้ว่าดีมาก”

อาจเพราะเธอเป็นคนอีสาน เสียงพิณจึงงดงามเป็นพิเศษ แต่เธอก็เป็นศิลปินที่ออกเดินทาง และหยิบจับเอาสิ่งละอันพันละน้อยจากแต่ละแนวดนตรีมารวมกัน เธอได้พบความหลากหลายของโลก และเลือกหันกลับมามองรากของตัวเอง เมื่อฟังแบบนี้แล้ว อดสงสัยไม่ได้ว่า ในประเทศที่มีการรวมศูนย์ความเป็นไทยไว้อย่างหนาแน่นมั่นคง ขณะที่คนแต่ละภาคก็มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อเป็นของตัวเอง เธอมองเรื่องนี้อย่างไร

“ความเป็นไทยจริงๆ คืออะไร เราเองก็ยังไม่รู้นะ ทางเหนือก็เชื่อมกับลาว ล้านนา ล้านช้าง อีสานใต้บ้านเราก็เชื่อมกับเขมรเยอะ แม้แต่ภาษาไทยที่เราใช้กันเองทุกวันนี้ ก็เป็นคำของขอม บาลี เยอะมาก แต่เราก็พยายามพูดกันว่าคือไทย หนังสือเรียน ‘มานี มานะ’ ที่เราเรียนมา บอกเราว่าอะไรดี ไม่ดี เราก็เชื่อแบบนั้น แต่ข้อมูลความจริงคืออะไร เราไม่รู้

“ภาษาถิ่นเราก็ไม่ได้เรียน เสียดายมาก เราเขียนลาวก็ไม่ได้ เขียนเขมรก็ไม่ได้ แต่เราพูดได้ นั่นคือชนชั้นของเรา พ่อเป็นเขมร แม่เป็นลาว แต่พอไปประเทศเขาจริงๆ เราอ่านเขียนไม่ได้ การจะนิยามตัวเองให้เป็นจริงที่สุดยากมากในประเทศนี้”

และเมื่อให้รัสมีนิยามตัวเอง เธอตอบชัดว่า “เราเป็นคนทำเพลงหมอลำ เราเป็นคนอีสาน เราเป็นคนเขมร เราก็หยิบตรงนี้มาใช้ ความเป็นเราจริงๆ ถูกกลบไปหมด จนบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความเป็นเราคืออะไร”

“เราทุกคนเป็นไทอิสระ นั่นคือคำจำกัดความที่แท้จริงของความเป็นไท คืออิสรภาพ”

เสียงรถรายังคงดังอยู่ ควันไฟจากเตาปิ้งลอยอบอวลทั่วบริเวณ–อย่างเป็นอิสระ

รัสมี เวระนะ, รัสมี อีสานโซล

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save