fbpx
นิยายวาย : กระแสนิยม และกระจกสะท้อนสังคมที่ 'ไร้เดียงสาทางเพศ'

นิยายวาย : กระแสนิยม และกระจกสะท้อนสังคมที่ ‘ไร้เดียงสาทางเพศ’

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

วันนี้จะตบเท้าเดินเข้าร้านหนังสือเสียหน่อย โน่นแน่ะ ฉันเจอเขาอีกแล้ว คราวนี้เขามากับเพื่อนหลายคนเลย ดูสิ ยืนโบกมือทักทายเสียจนใครต่อใครอดไม่มองไม่ได้ ก็แหม เขาพากันมาเป็นกลุ่มใหญ่เสียอย่างนั้น

หลังจากเป็นเพื่อนทางออนไลน์กันมาหลายปีดีดัก ก่อนหน้านั้นเขาก็ต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ เสียด้วย ฉันจึงยินดีไม่น้อยที่ได้พบเขาในร้านหนังสือแบบนี้ แต่ดูเหมือนหลายคนในร้านจะยังฉงนกับการปรากฏตัวของเขาอยู่เหมือนกัน ฉันเห็นนะ สีหน้าทำนองว่า ‘ทำไมผู้หญิงพวกนั้นให้ความสนใจเขากันนัก’ ‘เขาเป็นใคร?’

มาสิ ให้ฉันแนะนำเขาให้คุณรู้จัก เพื่อนของฉัน ‘นิยายวาย’

Ep.0 บทนำ เส้นทางจากหลังร้าน สู่ร้านหนังสือ Chain Store

 

นิยายวาย หรือนิยาย Y คือนิยายที่ตัวละครหลักมีเพศสภาพเดียวกัน เช่น ชายรักชาย หญิงรักหญิง

ในที่นี้เรากำลังจะพูดถึงนิยายชายรักชาย หรือที่นิยมเรียกกันว่า Yaoi หรือ BL (Boy love) ซึ่งกำลังเป็นกระแสนิยมในหมู่นักอ่านจำนวนมาก จากการยึดครองพื้นที่บนชั้นวางของร้านหนังสือแบบเชนสโตร์

บรรยากาศคึกคักและท้วมท้นไปด้วยนักอ่านที่บูธของสำนักพิมพ์นิยายวายในงานหนังสือ ความนิยมอันล้นหลามที่ได้รับบนสื่อออนไลน์ หรือการถูกหยิบไปสร้างเป็นซีรีส์บนจอโทรทัศน์ ทั้งหมดนี้ทำให้นิยายวายสร้างกระแสความสนใจ และอาจเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับใครหลายคน แต่แท้จริงแล้ว นิยายวายเกิดขึ้นและได้รับความนิยมจากนักอ่านกลุ่มหนึ่งมานานหลายสิบปี ทั้งในรูปแบบของ แฟนฟิค (การแต่งนิยายโดยนำตัวละครมาจากต้นฉบับที่เป็นการ์ตูนหนังสือ หรือการใช้ศิลปินดารามาเป็นตัวละคร) หรือนิยายแนวต่างๆ เช่น โรแมนติก แฟนตาซี ฯลฯ

ในอดีตสมัยที่ยังไม่มีสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์นิยายวายโดยเฉพาะ นักอ่านจะอาศัยอ่านนิยายจากเว็บไซต์ที่แปลนิยายจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมักเป็นนิยายที่ถูกเขียนต่อจากการ์ตูนที่ได้รับความนิยมอีกที นอกจากนั้นนักอ่านหลายคนยังได้รู้จักกับนิยายวาย ผ่านการเขียนแฟนฟิคในหมู่แฟนคลับของศิลปินต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี

ลี้ - จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท
ลี้ – จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท : ขอบคุณภาพจาก famaiandherillustration

ลี้ – จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท หรือ ‘ร เรือในมหาสมุท’ หญิงสาวที่สวมหมวกนักเขียนเรื่องสั้น เจ้าของรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2560 พร้อมกับหมวกนักเขียนนิยายวาย ก็เริ่มเขียนนิยายจากการ์ตูนเช่นกัน

“เราเริ่มเขียนฟิคชั่นวายตั้งแต่ประมาณปี 2552 ตอนนั้นอายุประมาณ 16 -17 ตีพิมพ์เอง ซีรอกซ์ แล้วก็เย็บเล่มด้วยแม็ก เป็นช่วงที่นิยายวายยังไม่ได้บูมมาก  เราเคยเขียนฟิคชั่นของการ์ตูนเรื่อง ‘พลังอักษะ เฮตาเลีย’ เป็นการ์ตูนที่นำประเทศต่างๆ มาสร้างเป็นคาแรคเตอร์คน และเล่าเรื่องเกี่ยวกับสงครามโลก เช่น อิตาลีเป็นคนชอบกินพาสต้า เยอรมันเป็นคนระเบียบจัด ตรงเวลา”

ไจโกะ – วิชญา ปัญญาวรากุล บรรณาธิการของ Fictionlog เว็บไซต์นิยายออนไลน์ ก็เป็นแฟนนิยายวายมาเป็นสิบปี ก่อนจะผันตัวมาประกอบอาชีพในวงการนิยายวายอย่างจริงจัง เธอเริ่มรู้จักนิยายวายจากการอ่านแฟนฟิคของวงนักร้องเกาหลีอย่าง Super Junior และ TVXQ

เราบังเอิญไปเจอฟิคตอนที่กำลังหาอ่านบทความเกี่ยวกับนักร้องทางอินเทอร์เน็ต ก็เลยลองเข้าไปอ่านดู ตอนแรกก็งงนิดหน่อยว่ามันคืออะไร เพราะก่อนหน้านั้นเราเคยอ่านแต่นิยายรักชายหญิงมา แต่อ่านไปสักพักก็เก็ทว่ามันเป็นนิยายผู้ชายกับผู้ชาย

“ช่วงแรกอ่านแต่ฟิคอย่างเดียวเลย เพราะรู้สึกมันเชื่อมโยงระหว่างเรากับศิลปิน ตามประสาเด็กที่รู้สึกว่าเวลาได้อ่านชื่อผู้ชายของฉัน ฉันก็แฮปปี้ หลังจากนั้นก็เริ่มไปงานฟิค (งานที่จัดเพื่อขายแฟนฟิคโดยเฉพาะ) ที่มีนักเขียนมานั่งขายนิยายของตัวเอง หรือไม่ก็มีของแจก เช่นสติกเกอร์ พัด หรือรูปภาพ ที่เกี่ยวกับศิลปิน”

ในยุคหนึ่งนิยายวายเคยไม่เป็นที่ต้อนรับเท่าไหร่นักในสังคม และถูกเหมาว่าเป็น ‘สื่อลามกอนาจาร’ ทำให้นิยายถูกตีพิมพ์แบบระบบใต้ดิน มีการแอบซื้อแอบขาย และแม้แต่ในเว็บบอร์ดออนไลน์ ก็มีการคัดกรองคนอ่านอย่างเข้มงวด ลี้เล่าเหตุการณ์ที่ทำให้วงการนิยายวายต้องอยู่อย่างลับๆ ว่า

“สมัยก่อนมันจะมีรายการทีวีรายการนึง ชื่อว่ารายการ ‘หลุมดำ’ เป็นรายการที่นำประเด็นสังคมในช่วงนั้นมาถ่ายทอดเป็นสกู๊ป เช่น ประเด็นผู้หญิงที่โดนพ่อเลี้ยงข่มขืน คือเป็นรายการดาร์คๆ ในช่วงที่ยังไม่มีเพจอีจัน วันนึงรายการนี้ถ่ายทอดเหตุการณ์บุกจับการ์ตูนวายและการ์ตูนชายหญิงในงานสัปดาห์หนังสือ เพราะเขาบอกว่ามันเป็นสื่อลามกอนาจาร กลายเป็นประเด็นใหญ่โต และทำให้วงการนิยายวายค่อนข้างปิด”

“นิยายวายส่วนใหญ่จะอยู่ในเว็บบอร์ด บางบอร์ดแค่ล็อกอินธรรมดาก็เข้าไปได้ แต่บางบอร์ดก็เป็นบอร์ดที่ต้องตอบคำถามเพื่อคัดกรองคน ถ้าอยากจะเข้าบอร์ดก็ต้องเขียนคำตอบใส่เวิร์ดส่งให้แอดมินอ่าน เมื่ออ่านแล้วเขามั่นใจว่า คุณเป็นสาววายจริงๆ หรือคุณมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้จริงๆ ถึงจะได้รับอนุญาตให้สมัครเข้าใช้บอร์ดได้”

กระแสต่อต้านนิยายวายส่งผลกระทบต่อทั้งนักอ่าน และร้านหนังสือการ์ตูนที่เคยขายการ์ตูนวาย ไจโกะเล่าว่า ร้านขายหนังสือบางทีก็ใช้มาตรการการซื้อขายแบบลับๆ ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงสาววาย เช่น ระบบสมาชิกที่คัดกรองคนคล้ายๆ กับในเว็บบอร์ด และสมาชิกที่อายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่สามารถซื้อการ์ตูนหรือนิยายวายได้ ในขณะที่บางร้านก็ไม่นำนิยายและการ์ตูนวายมาตั้งวางหน้าร้าน แต่จะเก็บไว้หลังร้านแทน ใครอยากอ่านก็ต้องไปแจ้งชื่อเรื่องกับพนักงานที่เคาเตอร์ จากนั้นทางร้านจึงจะไปหยิบมาให้ เป็นระบบที่รู้กันในวงแคบ หรือรู้กันในหมู่สาววายตัวจริงเท่านั้น

นิยายวายอยู่ในยุค ‘หลุมดำ’ อยู่หลายปี และค่อยๆ ผ่อนท่าทีเข้มงวดลง ตามกระแสสังคมที่เริ่มทำความเข้าใจเพศทางเลือกมากขึ้น และจากการที่นิยายวายกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับการยอมรับในประเทศญี่ปุ่น

“เรารู้สึกว่ากระแสการหวีดวายที่มัน on ground ขึ้นมา ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทย แต่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก ตอนนั้นการ์ตูนวายที่ทำเป็นอนิเมะก็เยอะขึ้น ในญี่ปุ่นเองเริ่มมีกระแสนิยมจากการ์ตูนเรื่องนึงชื่อ Junjou Romantica ที่ดังมาก จนกระทั่งทุกคนก็เริ่มรู้สึกว่า การอ่านวายมันเป็นเทรนด์ และไม่ได้แปลกอะไร อุตสาหกรรมหนังสือที่ญี่ปุ่นจึงเริ่มจับกระแสวายมากขึ้น เริ่มนำการ์ตูนวายไปฉายในทีวีช่วงดึกๆ พอถูกฉายในทีวีญี่ปุ่น ก็จะมีคนดึงมาทำซับไทย แล้วคนไทยก็กรี้ดกันมาก”

ในประเทศไทยก็มีบรรยากาศที่ไม่ต่างจากญี่ปุ่นนัก เมื่อกระแสนิยมเดินทางมาถึงไทย นิยายวายก็เริ่มหาอ่านได้ง่ายขึ้นตามเว็บไซต์ต่างๆ กระทั่งในเว็บนิยายออนไลน์ ก็เริ่มมีหมวดให้แฟนฟิค และนิยายวายโดยเฉพาะ มีหลายเรื่องติดอันดับการอ่านสูงสุดประจำเดือน

สำนักพิมพ์บางแห่งถือกำเนิดขึ้นและพิมพ์นิยายวายในระบบพรีออเดอร์ ไม่มีหน้าร้านหรือวางขายในร้านหนังสือเชนสโตร์ จะมีการออกบูทเฉพาะงานหนังสือเท่านั้น จนกระทั่งนิยายวายเรื่อง ‘Love Sick’ ถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ฉายบนจอโทรทัศน์ และถูกใจสาววายน้อยใหญ่จำนวนมาก จึงเริ่มมีสำนักพิมพ์เกิดใหม่ ที่ตั้งขึ้นเพื่อพิมพ์นิยายวายโดยเฉพาะ และนำนิยายวายไปวางขายในร้านหนังสือเชนสโตร์ เบียดนิยายชายหญิงทั่วไปอย่างน่าจับตามอง

“เมื่อก่อนนิยายวายมันเป็นตลาดเล็กๆ แค่ในตลาดปิดมันก็อู้ฟู่อยู่แล้ว นักเขียนเองก็รวยจากการพรีออเดอร์ พอมันจับขึ้นมาบนดิน มันขายได้ มีคนอ่าน สำนักพิมพ์เล็กๆ ก็ผุดขึ้นมามากมายใน 3-4 ปีที่ผ่านมา การที่มันขึ้นมาบนเชนสโตร์ได้ มันคือการสื่อสารกับคนทั่วไปมากขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มอีกแล้ว

“ตอนนี้ถ้าลองสังเกตดู มันเริ่มขายยากขึ้นนะ เพราะว่ามันเยอะจนไม่รู้จะอ่านอะไร หรือแม้กระทั่งคนอ่านเองก็มีทางเลือกว่าจะอ่านออนไลน์อย่างเดียว หรือจะอ่านหนังสือที่นักเขียนทำพรีออเดอร์เอาก็ยังได้ เรามีความรู้สึกว่า ทุกคนเห็นมันเป็นที่ต้องการในตลาด ก็เลยมีนิยายวายมากขึ้น แต่เราเองอยากให้มันดังเพราะความชอบจริงๆ มากกว่า” ไจโกะกล่าว

ไจโกะ - วิชญา ปัญญาวรากุล
ไจโกะ – วิชญา ปัญญาวรากุล

Ep.1 แนะนำตัวละคร และเพศสภาพที่แฝงไว้

 

ในนิยายวายจะมีคำเรียกตัวละครที่มักใช้กัน คือ Uke (อุเคะ) หรือ ‘เคะ’ มาจากคำว่า Ukeru ในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า ตั้งรับ หรือ ถูกโจมตี ในที่นี้หมายถึงผู้ชายที่เป็นฝ่ายรับในความสัมพันธ์ ส่วนตัวละครที่เป็นฝ่ายรุกจะถูกเรียกว่า ‘เมะ’ หรือ เสะเมะ ซึ่งมาจากคำว่า Semeru แปลว่า บุก หรือ โจมตี

หลายคนสงสัยว่าเมื่อแบ่งความสัมพันธ์เป็นรุกและรับแล้ว นิยายวายจะต่างจากนิยายชายหญิงทั่วไปอย่างไร ลี้ได้ชวนเราตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับนิยายวายเป็นสองประเด็น

(1) ผู้อ่านนิยายวายส่วนมากนั้นเป็นผู้หญิง และเป็นนิยายที่เขียนเพื่อให้ผู้หญิงอ่าน เพราะฉะนั้น ตัวละครเคะ จึงมีลักษณะคล้ายผู้หญิงอยู่มาก

(2) ตัวละครซึ่งเป็นเพศชายเหมือนกัน จะมีความเท่าเทียมในความสัมพันธ์มากกว่า และมีบทบาทในการเป็นคู่รักโดยที่ฝ่ายนึงไม่ต้องอ่อนแอ ไม่ต้องให้พระเอกเป็นคนช่วยเหลือตลอดเวลา ซึ่งไอเดียนี้จะแตกต่างจากนิยายชายหญิง แต่ไอเดียนี้ก็มีปัจจัยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในแต่ละสังคมมาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากการอิงตัวละครจากผู้หญิงในสังคมที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายด้อยหรือถูกกด อาจยังไม่พบความสัมพันธ์ของตัวละครที่เท่าเทียมมากนัก

“เรายังรู้สึกว่าไอเดียที่สองมันเกิดขึ้นแค่ในนิยายแปลฝั่งตะวันตก นิยายฝรั่งมันจะมีการรีเวิร์ส (กติกาความสัมพันธ์แบบรุกและรับสลับกัน) กันมากกว่า ตัวละครผู้ชายของเขาก็ค่อนข้างจะมีลักษณะนิสัยเหมือนผู้ชายจริงๆ และไม่มีตัวละครที่ ‘ฉันเป็นฝ่ายรุกตลอดกาล’ หรือ ‘ฉันคือฝ่ายรับตลอดกาล’ แบบที่ปรากฏในนิยายฝั่งตะวันออก”

“ผู้หญิงในสังคมตะวันตก หรือผู้หญิงในสายตาของนักเขียนที่มาจากสังคมตะวันตก จะมีความเท่าเทียมกับผู้ชายมากกว่า แต่พอฝั่งตะวันออกหรือในไทย นิยายมันก็ถ่ายทอดภาพแทนผู้หญิงที่ต้องไหว้พ่อและผัว สังคมที่ชายเป็นใหญ่ ทำให้เคะของเรามันนุ่มนิ่มเหมือนผู้หญิงมากกว่า”

ในมุมของนักอ่านก็เช่นกัน ไจโกะเล่าว่าการบรรจุลักษณะนิสัยของผู้หญิงในนิยายชายหญิงบางเรื่อง ทำให้เธอชอบและเลือกที่จะอ่านนิยายวายมากกว่า “ผู้หญิงในนิยายบางเรื่องจะมีความวี้ดว้ายกระตู้วู้เกินจริง และค่อนข้างน่ารำคาญ แต่ความสัมพันธ์ชาย-ชาย มันไม่คิดเล็กคิดน้อยดี ไม่มีพาร์ทของการ ‘ฉันจะปกป้องเธอเอง’ เท่าไหร่ ฉากเซ็กส์ก็จะไม่มีดราม่าซ้ำๆ อย่าง ‘เธอได้ฉันแล้วจะทิ้งฉันไหม’ ด้วย” ไจโกะกล่าว

แม้ตัวละครเคะจะมาจากภาพสะท้อนของผู้หญิง แต่เมื่อออกมาเป็นนิยายวายแล้ว ตัวละครที่เป็นชายรักชายย่อมเป็นภาพแทนของเพศทางเลือก ซึ่งอาจมีผลต่อความเข้าใจของคนในสังคม เมื่อถามลี้ว่า คนอ่านจะเข้าใจผิดว่าเพศทางเลือกมีลักษณะแบบในนิยายวาย ซึ่งอาจไม่ตรงตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเสมอไปหรือเปล่า ลี้ตอบว่า

“เราเคยอ่านงานวิจัยชิ้นนึง เป็นธีสิสของเด็กไต้หวัน เขาบอกว่า ‘เคะ’ คือเพศที่ไม่ใช่หญิงและชาย เกินจากหญิงมานิดนึง แต่ก็ยังไม่ชายเสียทีเดียว เราเลยมองว่านิยายวายเป็นสื่อสำหรับผู้หญิง มากกว่าสื่อเพื่อ LGBT สังคมก็อาจมองว่า โห เคะหวานมาเชียว ไม่สะท้อนภาพของผู้ชายเลย มันควรจะมีนิยายที่เกย์อ่านหรือเขียนจริงๆ เพื่อถ่ายทอดชีวิตของ LGBT ได้ตรงไปตรงมามากขึ้นสิ

“แต่ในเมื่อมันยังไม่มีตลาดแบบนั้นในไทย มีแต่นิยายวายซึ่งอาจจะยังไม่ใช่เครื่องมือที่ชัดเจนนักในการช่วยเหลือสังคมเพศที่สาม อาจยังสะท้อนความเป็นชายหญิงอยู่ แต่อย่างน้อยมันก็ได้นำชีวิตของเกย์ออกไปสู่สายตาสาธารณะชนในเชิงบวก ไม่ใช่ในเชิงตลก หรือเป็นเอดส์”

ในความเห็นของลี้ นิยายวายคือก้าวที่ดีที่จะช่วยให้สังคมเปิดรับเพศทางเลือกและความหลากหลายมากขึ้น “ก่อนที่เราจะไปยังจุดที่มันยากกว่านี้ มันต้องมีก้าวแรกไง บางทีก็ต้องขยับกันทีละนิด สังคมมันไม่ได้พร้อมที่จะ หนึ่ง สอง สาม! เทิร์น 180 องศากันทันที ถ้ามันไม่ได้เลวร้ายมากก็ค่อยๆ ปรับกันไปเถอะ”

Ep.2 เนื้อเรื่องที่บันทึกความหลากหลาย ชายรักชาย ไปจนถึงคนรักสัตว์

 

…พอรู้ว่าผมไม่ได้กินเนื้อหอย เขาก็ไปสรรหาอาหารต่างๆ มาให้ หลังจากทนดูอยู่ได้พักหนึ่งด้วยความทนไม่ไหว ผมเลยขูดตะไคร่บนโขดหินกับแพลงก์ตอนให้เขาดู วันถัดมา ปลาหมึกเลยเอาก้อนหินก้อนเล็กที่มีตะไคร่น้ำเกาะมาให้

…จังหวะที่หนวดปลาหมึกเข้ามารัดตัวนั้น ผมก็พยายามขัดขืน ถึงจะรู้ว่าขัดขืนไปแล้วไม่ได้อะไรก็ตาม ในเมื่อพวกนักล่าแรงเยอะกว่าที่ผมเป็นเหยื่ออยู่หลายเท่าตัว ปลาหมึกดึงผมออกมาจากเปลือกหอยได้สำเร็จ ผมทำใจเอาไว้แล้วว่ายังไงตัวเองก็ตายแน่ๆ พอคิดแบบนั้นร่างกายก็พลันขดเข้าหากันโดยอัตโนมัติ

บทบรรยายข้างต้นมาจากนิยายเรื่อง ‘ผมเป็นหอย ส่วนเขาเป็นปลาหมึก’ ใช่แล้ว นิยายวายเรื่องนี้ดำเนินเรื่องด้วยตัวละครที่เป็นสัตว์ และมีความรักกันในรูปแบบที่หอยกาบและปลาหมึกจะมีได้

นอกจากตัวละครที่เป็นคนแล้ว นิยายวายหลายเรื่องก็เล่าเรื่องผ่านตัวละครที่เป็นสัตว์และสิ่งของ ไจโกะ ในฐานะบรรณาธิการที่อ่านต้นฉบับมาไม่น้อยเล่าให้ฟังว่า นิยายวายคาบเกี่ยวกับแฟนตาซีค่อนข้างสูง และข้อดีอย่างหนึ่งของการอ่านนิยายวายคือ การที่เธอเปิดรับต่อจินตนาการที่ไม่สิ้นสุด และไม่รู้สึกแปลกกับรูปแบบของวรรณกรรมที่คนหลายคนอาจไม่คุ้นเคย

“ถ้ามองจากคนอื่นอาจจะแปลกแหละ แต่สำหรับสาววายที่อยู่มานาน คงจะรู้สึกว่านิยายวายมันเป็นอะไรก็ได้ในโลกใบนี้ ช้อนส้อม หอยกาบกับปลาหมึก เรายังเคยอ่านนิยายวายที่ดำเนินเรื่องโดยแมว เป็นชีวิตของแมวตัวนึงที่ตะลุยเข้าไปตามที่ต่างๆ แล้วก็มีพี่ชายแมวข้างบ้านที่สุดท้ายก็มารักกัน พอขึ้นชื่อว่าวายมันเลยมีความหลากหลายสูงมาก มีทุกอย่างเท่าที่เราจะคิดออกนั่นแหละ”

บางครั้งนิยายวายรูปแบบต่างๆ ก็เกิดขึ้นตามเทรนด์หรือกระแสฮิตตามแต่ละช่วง ไจโกะเล่าว่าช่วงที่ละครเรื่อง ‘นาคี’ ดัง นิยายหลายเรื่องเต็มไปด้วยตัวละครที่เป็นงู หรือนาค หรือการที่ ‘เลือดข้นคนจาง’ และ ‘กาหลมหรทึก’ ได้รับความนิยม ก็เป็นการปลุกกระแสแนวสืบสวนสอบสวนในนิยายวายไปด้วย

ตัวอย่างเช่น นิยายเรื่อง ‘เมียงู Snake 3P‘ ที่ได้รับความนิยมไม่น้อย

…เจ้าแบล็คมันส่งเสียงฟ่อ เป็นการปฏิเสธพร้อมทั้งส่ายหน้าพรึ่บพรั่บ ผมถอนหายใจออกมา แล้วก็ทิ้งตัวนั่งลงกับพื้นกลางบ้าน จ้องหน้าพวกมันอย่างกับจะจับผิด ซึ่งพวกมันก็หลบหน้าหลบตาไม่ยอมมองมาทางนี้ “หลบหน้่าทำไม มองมาที่กูนี่”

ฟ่อ… งูเห่าตัวใหญ่สีดำมะเมื่อมมันหน้าหงอยลงทันที แล้วมันก็เลื้อยเอาใต้คางของมันมาซบลงกับเข่าของผม โงหัวขึ้นมามองด้วยแววตาอ้อนๆ…

 

Ep.3 ฉากตัดเข้าโคมไฟที่สะท้อนเพศศึกษา และความเข้าใจเรื่องเพศในสังคมอย่างแจ่มชัด

เช่นเดียวกับนิยายรักทั่วไป ฉากบนเตียงหรือเพศสัมพันธ์ มักจะถูกเขียนควบคู่ไปกับนิยายวายด้วย ในหมู่นักอ่านจะคุ้นเคยกันดีกับคำว่า NC ซึ่งย่อมาจาก ‘No Children’ เราจะพบเห็นคำนี้เมื่อนักเขียนระบุว่านิยายตอนนั้นๆ มีฉากล่อแหลมหรือฉากเพศสัมพันธ์ บางครั้งนักเขียนก็จะตัด NC ไปลงในช่องทางที่ปิดขึ้น เพื่อเป็นการเซ็นเซอร์ กันฉากที่ไม่เหมาะสมกับผู้อ่านที่อายุน้อย หรือในบางครั้งก็เพื่อหลบหลีกการแบนจากเว็บไซต์ที่ลงนิยายด้วย

สำหรับผู้อ่านบางคน ฉาก NC เป็นที่ชื่นชอบ และเป็นเหตุผลที่เลือกอ่านนิยาย ส่วนนักเขียนบางคนก็ใช้ฉาก NC ในการเรียกความนิยมด้วย แต่ในขณะเดียวกันนักอ่านบางกลุ่มก็ไม่ได้โฟกัสที๋ฉากบนเตียง เช่นนักอ่านของลี้หลายๆ คน

“ถามว่าคนอ่านกลุ่มตลาดของเรา ต้องการ NC ไหม เราก็ว่าไม่นะ แต่กลุ่มของเรามันเป็นกลุ่มที่เล็กมากไง ถ้าสังเกตแฮชแท็กนิยายวายในทวิตเตอร์ มันจะมีคนมาแนะนำนิยายเรื่องที่ สนุก หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่มีฉาก NC เด็ดๆ ไปเลย ซึ่งคนอ่านจำนวนหนึ่งก็ให้ความพึงใจกับสิ่งเหล่านี้ และเราก็ไม่ได้มองว่าผิด ค่อนข้างสนับสนุนด้วยซ้ำ” ลี้กล่าว

หลายครั้งที่ในสังคมของเราเถียงกันว่า Pornography (สื่อทางเพศ) เช่น หนังโป๊ หรือหนังสือภาพถ่ายวาบหวิว ควรที่จะมีอยู่ในสังคมหรือเปล่า ในความเห็นของลี้ เธอมองมันเป็นส่วนที่ทำให้วัยรุ่นได้ปลดปล่อยความเคร่งเครียดทางเพศ นอกจากนั้น NC ยังเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรสำหรับผู้หญิง ท่ามกลางสื่ออื่นๆ ที่ผลิตซ้ำค่านิยมที่มองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศด้วย

“ตัวงานวิจัยของไต้หวันที่เราพูดถึง เขาก็บอกว่า ฉากเรทของนิยายวายมันเป็นการระบายความรู้สึกทางเพศของ ‘ผู้หญิง’ ด้วย เพราะบางครั้งในหนังโป๊ ผู้หญิงจะกลายเป็นวัตถุทางเพศ หรือถูกทำร้าย มันจะมีนิยายที่ ผู้หญิงเป็นโสรยา ดาวพระศุกร์ แล้วก็มีผู้ชายหล่อ รวย มาเปย์ มาหยิบยื่นความเป็นผัวให้เธอ ซึ่งผู้หญิงบางคนในยุคใหม่ไม่ชอบอะไรแบบนี้ เพราะมันคือความสัมพันธ์แบบผู้ชายเข้มแข็งผู้หญิงอ่อนแอ นิยายวายมันเลยกลายเป็นช่องว่างให้ผู้หญิงที่ต้องการเสพสื่อทางเพศ สามารถเสพ ได้โดยที่ไม่รู้สึกว่าเจ็บปวดในเรื่องเพศของตัวเอง” ลี้กล่าว

แม้ NC จะเป็นสื่อทางเพศที่ได้รับความนิยม และในมุมหนึ่งก็เป็นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะปล่อยให้เกิดขึ้นโดยไร้ข้อถกเถียง และละเลยแง่มุมที่ควรระวัง

“การมีฉาก NC ในนิยายวายอาจเป็นเครื่องมือที่ช่วยเหลือได้ดีในจุดนึง แต่มันก็ต้องมีการคุยกันต่อไหมว่า Pornography ควรจะเข้าถึงได้ง่ายแค่ไหน ไม่ใช่แค่วงการวายนะ แต่รวมถึงชายหญิงด้วย มันเป็นข้อถกเถียงที่ควรพูดต่อว่า เราจะมีวิธีจัดการอย่างไร ที่จะทำให้เยาวชนเข้าถึงสื่อทางเพศได้ในระยะที่สมควร” ลี้กล่าว

ด้านไจโกะ ในฐานะที่เธอเองต้องเป็นผู้เซ็นเซอร์หรือจัดหมวดหมู่ให้กับนิยายหลายครั้ง เธอเล่าว่าเธอเคยต้องย้ายนิยายที่มีฉาก NC จำนวนมากให้ไปอยู่ในหมวดหมู่ของนิยายอีโรติก เพื่อสร้างขอบเขตที่ชัดเจนให้ผู้อ่าน และในฐานะที่นิยายวายกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เธอจึงมีข้อกังวลกับความเข้าใจเรื่องเพศศึกษาของผู้อ่านด้วย เพราะผู้อ่านหลายคนอาจเรียนรู้เพศศึกษาผ่าน NC เหล่านี้

“โอเค สื่อทางเพศมันควรเข้าถึงได้ แต่ว่ามันไม่ได้มาควบคู่กับเพศศึกษาในบ้านเรา มันเลยน่ากลัว ถ้าบ้านเราสอนเพศศึกษาอย่างถูกต้อง คนตระหนักว่าเวลามีอะไรกันต้องใส่ถุงยาง ในนิยายจะเขียนแบบไม่ใส่ก็เข้าใจได้ เพราะคนรู้อยู่แล้วว่าความเป็นจริงที่ถูกต้องมันคืออะไร แต่ความเป็นจริงคือมันมีคนที่ไม่รู้อีกมาก

“นิยายวายส่วนใหญ่มันเขียน base on ความเป็นชายหญิง บางเรื่องเขียนว่า ตัวละครอ้อนแอ้นคนหนึ่งมีช่องทางอันเปียกลื่น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ เพศสัมพันธ์ในชายรักชายต้องใช้เจลหล่อลื่น และไม่ว่าเพศไหนก็ต้องมีการป้องกัน ใช้ถุงยาง แต่ตอนนี้มีนักเขียนที่ไม่ concern จุดนี้กัน แล้วเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงเพศศึกษาที่ถูกต้องได้เพราะเมืองไทยไม่สอน ก็เรียนเพศศึกษาจากนิยายเหล่านี้ ซึ่งอาจจะสร้างความเข้าใจผิด และทำให้เสี่ยงต่อการติดโรคได้”

นอกจากวิธีการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้องแล้ว นิยายบางเรื่องทั้งนิยายชายหญิงและชายรักชายก็บรรจุค่านิยมที่ผิดๆ เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์เช่น การข่มขืนแล้วรักกันทีหลัง หรือการที่ตัวละครมีอะไรกันโดยไม่ได้มีการพูดคุยถึงความยินยอมพร้อมใจ (Consent) ซึ่งมักพบเห็นได้ในนิยายทั่วไป ลี้ชี้ชวนให้เรามองประเด็นนี้เป็นภาพที่สะท้อนแนวคิดที่แอบซ่อนอยู่ในสังคมไทยว่า

“เราเคยฟัง Omnivore podcast ที่จัดโดยคุณแชมป์ (ทีปกร วุฒิพิทยามงคล) และคุณหนุ่ม (โตมร ศุขปรีชา) เขาเล่าว่า ความฝันชนิดนึงที่ถูกค้นพบว่าผู้หญิงเอเชียจำนวนมากชอบฝันถึง คือการถูกคนที่ไม่เห็นหน้า คนที่เป็นเงามืด หรือคนที่ไม่รู้ว่าเป็นใครกำลังข่มขืน เพราะผู้หญิงเอเชียมีค่านิยมว่า ถ้าฉันมีความต้องการทางเพศ ฉันผิด เพราะฉะนั้นฉันจึงจำเป็นที่จะต้องถูกบังคับ ฉันไม่มีสิทธิที่จะปรารถนาใคร จึงต้องเป็นเงาที่ไม่มีใบหน้ามาข่มขืน แล้วถ้าฉันปัดป้อง แปลว่าฉันทำได้ถูกต้องแล้ว

“มันสะท้อนว่าแนวคิดเรื่องข่มขืนเกิดมาจากการกดดันของสังคม และในขณะเดียวกันก็ได้สร้างบรรทัดฐานที่ผิดด้วย เช่น การถูกข่มขืนแล้วได้แต่งงานคือโอเค รับได้ หรือการข่มขืนนั้นจะต้องเกิดขึ้นโดยพระเอกหล่อๆ และภายหลังก็มีนิสัยแสนดี มีเงินทองมากมาย เป็นผู้ชายที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม แต่ในชีวิตจริงมันจะเป็นการข่มขืนโดยตัวประกอบเอที่สูบยาอยู่ท้ายซอยตัน ไม่ใช่ลูกชายของตระกูลดังที่คนรู้สึกว่าจะนำไปสู่โอกาสและความพอใจในชีวิต และอาจไม่โผล่มาให้เราเห็นอีกเลยในชีวิตนี้” ลี้กล่าว

เมื่อนิยายวายเป็นสื่อที่เข้าถึงง่าย และไม่สามารถห้ามได้ว่าใครจะอ่าน มุมมองจากลี้และไจโกะอาจสะท้อนว่า นักเขียนจำเป็นที่จะต้องเขียนเรื่องเซ็กส์ให้อย่างถูกต้อง บอกเล่าถึงการมีเซ็กส์ที่ปลอดภัย และแนวคิดที่ไม่เสริมย้ำค่านิยมผิดๆ

“ถ้าทุกเรื่องทำให้มันดี ทำให้มันถูก เผลอๆ อาจไม่ต้องเรียนเพศศึกษาในโรงเรียนแล้วก็ได้ เพราะว่าเพศศึกษาในโรงเรียนมันไม่ได้สอน ก็เรียนกันในนี้ เขียนให้ถูก แล้วก็เรียนกันให้ถูก คนก็อาจมีความรู้เรื่องเพศศึกษาที่ดีขึ้นแบบก้าวกระโดดก็ได้” ไจโกะกล่าว

เมื่อพิจารณาแล้วผลกระทบของการเข้าถึง NC อาจเป็นความรับผิดชอบที่นอกเหนือไปจากนักเขียน หรือวงการเขียน แต่อาจเป็นความรับผิดชอบของสังคมในภาพที่ใหญ่กว่าหนังสือนิยาย ดังที่ลี้ได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจและชวนตั้งคำถามว่า

“คุณไม่มีการสอน ไม่มีทรัพยากรที่จะช่วยเหลือเด็กให้มีเซ็กส์อย่างปลอดภัย ไม่ต้องการ Sex Toy ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น หรือหลังจากที่เด็กท้องแล้ว คุณไม่มีพื้นที่ให้เด็ก ไม่ยอมให้มีการทำยุติการตั้งครรภ์ ไม่ยอมให้เด็กที่ท้องได้เรียนต่อ ไม่มีวิธีการแก้ปัญหาเรื่องเพศเลยแม้แต่หัวข้อเดียว ในเมื่อเป็นแบบนี้ ต่อให้นักเขียนวายทั้งวงการไม่เขียน NC  มันจะแก้ปัญหาได้ไหมล่ะ”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save