fbpx
ทุนนิยมไทยไปทางไหนดี

ทุนนิยมไทยไปทางไหนดี

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

วิกฤติเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2007-2008 ไม่เพียงแต่สั่นสะเทือนวงการการเงินเท่านั้น แต่ยังเขย่าทุนนิยมทั้งระบบอีกด้วย เพราะเป็นตัวฉุกให้ผู้คนกลับมามองภาพใหญ่เศรษฐกิจโลก และเริ่มตั้งคำถามต่อทุนนิยมทั้งระบบว่าจะไปรอดหรือไม่ หรือวิกฤติครั้งนี้จะนำไปสู่การรื้อถอนโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่

มีหนังสือเกี่ยวกับทุนนิยมออกตามมาเป็นจำนวนมากหลังจากนั้น ทั้งเพื่ออธิบายปัญหาภายในระบบทุนนิยม หรือตั้งคำถามต่อเส้นทางในอนาคต

แม้แต่นิตยสารทรงอิทธิพลที่มีจุดยืนเสรีนิยมชัดเจนอย่าง The Economist ยังเรียกหา ‘การปฏิวัติทุนนิยมครั้งใหม่’ โดยชี้ให้เห็นว่า การแข่งขัน ที่เคยเป็นกลจักรขับเคลื่อนทุนนิยมมาตลอดค่อยๆ ลดบทบาทไปในปัจจุบัน

เหตุใดการแข่งขันจึงหายไปในระบบทุนนิยมโลก

เศรษฐกิจไทยมีการแข่งขันมากน้อยเพียงใด

ทุนนิยมไทยควรเดินต่อไปทางไหน

เสรีนิยมใหม่ผสมรัฐสวัสดิการเป็นทางออกหรือไม่

ย่างเข้าสิ้นปีอย่างนี้ ผมขอชวนผู้อ่าน 101 มาคิดเรื่องใหญ่ๆ กัน เผื่อใครอยากจะมี New Year’s Resolution ระดับชาติครับ

ยักษ์ใหญ่ที่ไม่ต้องแข่งขัน

The Economist ฉบับเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เปรียบเปรย การแข่งขัน (competition) ว่าเป็นดัง ‘ยาอายุวัฒนะ’ ของระบบทุนนิยม เพราะการแข่งขันในตลาดสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ผลิต ไปพร้อมๆ กับการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับผู้บริโภคและลูกจ้าง

เมื่อบริษัทมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ออกสู่ตลาด ย่อมสามารถเติบโตจนกลายเป็นกิจการระดับโลกได้ในเวลาไม่นาน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศแม่ให้ขยายตัวตามไปด้วย

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างขนาดบริษัทกับผลต่อเศรษฐกิจไม่ได้เป็นเส้นตรง

เพราะต่อให้เป็นผู้ผลิตที่โตมาด้วยประสิทธิภาพในช่วงแรก (ไม่ใช่ด้วยสายสัมพันธ์ทางการเมือง) เมื่อถึงจุดที่บริษัทนั้นเติบใหญ่จนสามารถครองตลาดและกำจัดคู่แข่งออกไปได้หมด พลังการต่อรองย่อมแกว่งกลับไปอยู่กับผู้ผลิตแทน ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว ล้วนต้องการรักษาอำนาจการผูกขาดให้ไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

งานวิจัยพบว่า การกระจุกตัว (concentration) ในตลาด ไม่เพียงแต่ทำให้บริษัททำกำไรได้สูงเกินปกติ (เพราะไม่ต้องเผชิญการแข่งขันเท่าที่ควรจะเป็น) แต่ยังมีแนวโน้มจ่ายค่าจ้างพนักงานลดลงและตั้งราคาสูงเกินจริงเสมอ

แม้แต่ประเทศสหรัฐฯ ในปัจจุบันเอง ก็เต็มไปด้วยยักษ์ใหญ่ที่แทบไม่ต้องออกแรงแข่งขันอะไร

20 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมจำนวนถึงสองในสามของสหรัฐฯ ล้วนมีการกระจุกตัวมากขึ้น โดยพบว่า สี่บริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมหลักๆ สามารถครองส่วนแบ่งรวมกันเกิน 66% ของทั้งตลาด

พูดง่ายๆ ก็คือ เกือบทุกธุรกิจถูกกินรวบโดยเจ้าตลาดเพียง 4 รายเท่านั้น

แจ็คผู้เลี้ยงยักษ์

The Economist ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนว่า คนอเมริกันต้องอยู่กับทุนยักษ์ใหญ่ตั้งแต่ตื่นจนหลับ และกลายเป็นผู้จ่ายเงินเลี้ยงบรรดายักษ์ใหญ่ให้โตขึ้นทุกวัน

สมมติว่า มิสเตอร์สมิธ เป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในชิคาโก ชีวิตประจำวันของเขาจะเริ่มต้นด้วยเสียงปลุกจากโทรศัพท์ไอโฟน (ซึ่งครองตลาดสหรัฐฯ 62%) จ่ายค่าเดินทางด้วยบัตรเครดิตหนึ่งในสามเจ้า (American Express, MasterCard และ Visa ครองตลาดรวมกัน 95%) ส่งอีเมล์ติดต่องานผ่าน Google (ซึ่งครองตลาด 60%) ใช้โทรศัพท์หนึ่งในสามเครือข่ายใหญ่ (ซึ่งครองตลาดรวมกัน 78%)

เมื่อถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็วางแผนไปเที่ยวและจองโรงแรมผ่านเว็บไซต์ Expedia (ซึ่งครองตลาด 27%) ขึ้นเครื่องบินหนึ่งในสี่สายการบินชั้นนำ (ซึ่งครองตลาดรวมกัน 69%) และเข้าพักกับโรงแรมในเครือ Hilton (ซึ่งครองตลาด 12%)

ในปีที่ผ่านมา แค่บริษัทที่ว่ามาข้างต้นนี้ทำกำไรรวมกันถึง 151,000 ล้านดอลลาร์

คิดเป็นอัตราการทำกำไรประมาณ 29% (median return on capital) ซึ่งเป็นผลประกอบการที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในตลาดหลักทรัพย์หลายเท่าตัว

การกระจุกตัวยังสะท้อนไปยังฝั่งผู้ถือหุ้นด้วย เพราะมูลค่ามหาศาลนี้ก็ไม่วายถูกคุมโดยวาณิชธนกรเพียงสามรายใหญ่อยู่ดี (BlackRock, Vanguard และ State Street ครองรวมกันถึง 17% ของมูลค่าหุ้น)

นี่เป็น อัตราการทำกำไรเกินปกติ หากเทียบกับการแข่งขันในตลาดเสรีที่ผู้เล่นหน้าใหม่สามารถเข้ามาแข่งได้ง่ายกว่านี้ และมีการแข่งขันด้านราคามากกว่านี้

ในทางเศรษฐศาสตร์ เราเรียกอัตราการทำกำไรเกินปกตินี้ว่า ค่าเช่า (rents)

The Economist ประเมินว่า ปีที่ผ่านมาทั้งโลกมีค่าเช่าทางเศรษฐกิจรวมกันสูงถึง 660,000 ล้านดอลลาร์ โดยบริษัทจากสหรัฐฯ ครอบครองค่าเช่ารวมกันถึง 72% ของทั้งโลก โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สุขภาพ สายการบิน และการทหาร

กำไรเกินปกติอีก 26% เป็นของบริษัทยุโรป นำโดย Unilever, Nestlé และสินค้าแบรนด์เนมอย่าง Louis Vuitton

การศึกษายังพบว่า บริษัทที่ทำกำไรเกินปกติ (เพราะไม่ต้องแข่งขันมากเท่าที่ควร) มักไม่ค่อยนำเงินไปลงทุนต่อยอดพัฒนาธุรกิจ ตอกย้ำความเลวร้ายของสภาวะขาดแคลนการแข่งขันในทุนนิยมโลกเข้าไปอีก เพราะนั่นหมายถึงการถดถอยของการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับสินค้าและบริการ

การเชื่อมั่นในกลไกตลาดเป็นคนละเรื่องกับการสนับสนุนทุนใหญ่

ผู้ยึดมั่นในหลักกลไกตลาดที่แท้จริงย่อมสนับสนุนการแข่งขัน และเห็นว่าค่าเช่ามหาศาลนี้ควรตกอยู่กับผู้บริโภคหรือลูกจ้าง แทนที่จะเป็นผู้ถือหุ้น

หัวหอกเสรีนิยมอย่าง The Economist ยืนยันประเด็นนี้อย่างแข็งขัน

การแข่งขันกับทุนนิยมไทย

หากเอา การแข่งขัน มาเป็นเกณฑ์วัดคุณภาพทุนนิยมไทย คุณว่าประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนครับ

พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ และ ฉัตร คำแสง (2560) สำรวจการแข่งขันในตลาดต่างๆ ของไทย พบว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีเพียงไม่กี่อุตสาหกรรมเท่านั้นที่มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น (เช่น สิ่งทอ เครื่องยนต์ คอมพิวเตอร์) ในขณะที่อุตสาหกรรมส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็นการขุดเจาะปิโตรเลียม เครื่องดื่ม การขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร สุขภาพ โทรคมนาคม ล้วนมีการแข่งขันน้อยลงหรืออยู่ในระดับต่ำแทบทั้งสิ้น

การแข่งขันกับทุนนิยมไทย
ที่มา: พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ และ ฉัตร คำแสง (2560)

อันที่จริง แม้ไม่มีงานวิจัยเราต่างรู้ดีว่าตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ชีวิตคนไทยเราวนเวียนอยู่กับสินค้าและบริการกี่ยี่ห้อ และในจำนวนยี่ห้อน้อยนิดเหล่านั้นอยู่ในเครือบริษัทกี่เครือ

นี่ไม่ใช่ทุนนิยมที่สุขภาพดีอย่างแน่นอน

อดีตที่ผ่านมาก็เรื่องหนึ่ง คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ แล้วสถานการณ์ปัจจุบันดีขึ้นบ้างไหม

โครงการหลักของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีพลังอย่าง ประชารัฐ กำลังผลักดันประเทศไทยไปในทิศทางใด

เมื่อเริ่มต้นโครงการ รัฐบาลชี้แจงต่อสาธารณะว่า ภาคธุรกิจต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านการให้ความรู้และช่องทางการเข้าถึงตลาด พร้อมกับช่วยพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ โดยแลกเปลี่ยนกับสิทธิพิเศษบางประการ เช่น การลดหย่อนภาษี

การสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน แต่แนวคิดสำคัญที่ผลักดันโครงการประชารัฐ กลับกลายเป็นแนวคิด ‘พี่ใหญ่ช่วยน้อง’

คณะทำงานประชารัฐเต็มไปด้วย ‘พี่ใหญ่’ อย่างนายพล ข้าราชการระดับสูง และเจ้าสัวเจ้าของกิจการยักษ์ใหญ่ หนึ่งในแผนงานใหม่ภายใต้โครงการประชารัฐถึงกับใช้ชื่อ ‘โครงการพี่ช่วยน้อง’ และใช้ภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการว่า Big Brother Project

แนวทาง ‘พี่ช่วยน้อง’ มีนัยที่น่าสนใจแตกต่างจากการพัฒนาในประเทศอื่น เพราะแทนที่รัฐจะเข้ามาชี้นำตลาด (ในนามของส่วนรวมและประโยชน์ระยะยาว ดังเช่นประเทศเอเชียตะวันออก) หรือเปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้น (ในนามของตลาดเสรี ดังข้อสนับสนุนขององค์กรระหว่างประเทศ) สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยปัจจุบันคือ การที่รัฐสนับสนุนให้กลุ่มทุนใหญ่ก้าวเข้าสู่พื้นที่ชนบทเพื่อเป็น ‘พี่เลี้ยง’ คอย ‘ดูแล’ วิสาหกิจท้องถิ่นในธุรกิจเดียวกับตนโดยตรง

เกษตรรายใหญ่จะเป็นผู้ดูแลชาวไร่ชาวนา เครือโรงแรมขนาดใหญ่จะดูแลโรงแรมท้องถิ่น

การลดการผูกขาดหรือส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียม (level-playing field competition) ที่งานวิชาการหลายชิ้นเห็นว่า เป็นหนทางส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ดีที่สุด กลับไม่เคยปรากฏตัวในนโยบายหรือคำขวัญระดับชาติเลย

สิ่งที่หายไปจากโครงการทั้งหมดภายใต้ปีกประชารัฐ คือหลักการธรรมดาๆ อย่าง การแข่งขัน

การใช้ทุนใหญ่นำหน้าเพื่อกำหนดชะตากรรมของประเทศ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ ‘ระบอบทักษิณ’ เคยใฝ่ฝันจะทำแต่ไม่กล้าทำ หรือยังออกหน้าได้ไม่เต็มที่เท่านี้

การมุ่งหน้าสู่ทิศทาง Big Brother Project กำลังทำให้ทุนนิยมไทย มีแนวโน้มใกล้เคียงกับหลายประเทศในลาตินอเมริกา ที่มีลักษณะเป็น ทุนนิยมแบบช่วงชั้น (hierarchical capitalism) เนื่องจากเศรษฐกิจถูกครอบงำโดยบรรษัทข้ามชาติขาหนึ่ง และธุรกิจครอบครัวอีกขาหนึ่ง ประกอบกับตลาดแรงงานที่แยกส่วนและทักษะต่ำ จนทำให้ ‘ช่วงชั้น’ เข้ามาแทนที่และลดทอนการทำงานของตลาด

ในช่วงถดถอยของเศรษฐกิจลาตินอเมริกานั้น ต่อให้มีธุรกรรมการซื้อขายในตลาด แต่แท้จริงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตรายใหญ่กับส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค ซัพพลายเออร์ หรือพนักงาน ล้วนอยู่บนฐานของอำนาจต่อรองที่เอียงกระเท่เร่ ตลาดจึงกลายเป็นกลไกส่งเสริมความเหลื่อมล้ำไปโดยปริยาย

ทุนนิยมไทยไปทางไหนดี

หากจะรักษาทุนนิยมให้อยู่ต่อไปอย่างมีคุณภาพ การแข่งขัน ควรกลับมาเป็นหัวใจของการจัดการเศรษฐกิจไทย นี่เป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่สุด

อย่างไรก็ดี เราต้องตอบให้ได้เช่นกันว่าจะสนับสนุนการแข่งขันไปเพื่ออะไรกันแน่ แล้วนอกจากการแข่งขัน กลไกอื่นๆ ควรมีอะไรอีก โมเดลการพัฒนาของเศรษฐกิจไทยในทศวรรษต่อไปควรเป็นอย่างไร

เพราะการแข่งขันเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่อาจแก้ไขปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยอย่างความเหลื่อมล้ำทางสินทรัพย์ ที่ดิน หรือโอกาสที่ต่างกันระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้

หากอยากให้ทุนนิยมดำรงอยู่ และเป็นทุนนิยมที่ทำงานให้คนในสังคมได้รับดอกผลเสมอหน้ากัน คงต้องปรับทิศทางกันครั้งใหญ่

สมการของคุณบรรยง พงษ์พานิช ที่เสนอให้ เสรีนิยมใหม่ + รัฐสวัสดิการ เป็นทางออกของประเทศไทย นับเป็นข้อเสนอที่ควรค่าแก่การถกเถียง และน่าจะกระตุ้นให้สังคมกลับมาคิดภาพใหญ่เศรษฐกิจไทยกันจริงจังอีกครั้ง

หากจะขออนุญาตแลกเปลี่ยนอย่างสั้นที่สุด ผมเห็นว่า การแข่งขัน เป็นทั้งปมปัญหาและทางออกที่ตรงไปตรงมากว่า เสรีนิยมใหม่ ซึ่งมีหลายมิติ ทั้งยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะประเทศที่เป็นเสรีนิยมใหม่อย่างคงเส้นคงวา แทบไม่เคยมีอยู่จริงทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ส่วนเรื่อง รัฐสวัสดิการ ข้อถกเถียงคงเป็นเรื่องของรายละเอียด ว่าแนวทางใดเหมาะกับเงื่อนไขอื่นของประเทศไทยในระยะใกล้และระยะยาว เพราะนอกจากสวัสดิการถ้วนหน้าแบบสแกนดิเนเวียแล้ว เรายังมีระบบสวัสดิการแบบยุโรปภาคพื้นทวีป (ที่ศูนย์กลางคือครอบครัว) และแบบเอเชียตะวันออกยุคไล่กวด (ที่ศูนย์กลางอยู่ที่องค์กรธุรกิจ) ให้ถอดบทเรียนและดัดแปลง

ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากทิศทางหลักๆ แล้ว ‘ลักษณะเฉพาะ’ ของประเทศไทย ยังทำให้เราต้องคิดถึงโมเดลการพัฒนาที่ครอบคลุมมิติด้านการเมืองด้วย เพื่อจัดการปัญหาแบบไทยๆ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการรวมศูนย์ องค์กรอิสระเลือกปฏิบัติ หรือสิ่งแวดล้อมถดถอย

ทุนนิยมไทยจะไปทางไหนดี – นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ขาดหายไปจากการถกเถียงแลกเปลี่ยนในสังคมไทยมานานเหลือเกิน

ทุนนิยมไทยคุมแบบไหนดี

อย่างไรก็ดี นอกจากจะต้องหา ‘เข็มทิศ’ ที่เหมาะสมแล้ว การขับเคลื่อนทุนนิยมในปัจจุบันยังต้องอาศัย ‘หางเสือ’ ที่มีประสิทธิภาพด้วย

The Economist ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นว่าการแข่งขันหายไปจากทุนนิยมโลกอย่างไร แต่ยังชี้ให้เห็นความท้าทายของหน่วยงาน ผู้คุมกติกา (regulator) ที่ต้องก้าวให้ทันโลกยุคใหม่ด้วย

บริษัทอย่าง Google และ Facebook สามารถทำกำไรมหาศาลโดยไม่ได้เก็บเงินจากผู้ใช้บริการ แต่ไปทำเงินจากผู้ซื้อโฆษณาแทน เปลี่ยนตลาดโฆษณาและตลาดสินค้าต่างๆ ไปอย่างสิ้นเชิง โดยมีอำนาจในมืออยู่ที่การกุม ‘ข้อมูลผู้ใช้บริการ’

รูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไปนี้ ทำให้การแสวงหาผลกำไรเกินปกติหรือ ‘ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ’ มีความซับซ้อนกว่าในอดีตมาก การกีดกันผู้เล่นรายใหม่ก็แยบยลกว่าเดิม

เพื่อให้ การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative destruction) เกิดขึ้นมากกว่านี้ The Economist มีข้อเสนอที่น่าสนใจ 3 ข้อ

หนึ่ง ผู้เล่นรายใหม่ในตลาดควรได้รับ การแบ่งปันข้อมูลผู้ใช้งาน เพื่อส่งเสริมการแข่งขันและการสร้างนวัตกรรม ในขณะที่กระบวนการออกสิทธิบัตรหรือวิธีคุ้มครองผู้มาก่อน (First-mover advantage) ควรยากขึ้น จำกัดเวลาคุ้มครองให้สั้นลง และสามารถต่อสู้กันในศาลได้ง่ายขึ้น

สอง ผู้คุมกฎมีหน้าที่คอยตรวจตราและอัพเดตอยู่เสมอว่าอะไรกันแน่ที่เป็น กำแพงขวางกั้นการเข้าสู่ธุรกิจ (barriers to entry) ของผู้เล่นรายใหม่ ซึ่งแต่ละธุรกิจย่อมมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน จะใช้กติกาเดียวกันกับทุกธุรกิจ (เช่น ส่วนแบ่งตลาด) ไม่ได้อีกต่อไป ในสหรัฐฯ เอง ใบอนุญาตที่ถูกชี้นำโดยเหล่าล็อบบี้ยิสต์กลายเป็นกำแพงที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่ใบอนุญาตทางวิชาชีพ ซึ่งส่งผลต่อการผูกขาดในตลาดวิชาชีพหลายสาขา

สาม ต้องออกแบบ กฎหมายต้านการผูกขาดใหม่ ให้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เช่น การที่ Facebook เข้าซื้อคู่แข่งอย่าง Instagram และ WhatsApp ไม่ควรทำได้ง่ายดายดังที่เกิดในปี 2012-2014 เพราะลดการแข่งขันลงไปฮวบฮาบ และนำไปสู่ภาวะกระจุกตัวของข้อมูลผู้ใช้บริการที่อยู่ในมือผู้เล่นรายเดียว

สรุปก็คือ ผู้คุมกฎต้องทำให้ผู้บริโภคสามารถ ‘ย้ายค่าย’ ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น โดยกดดันให้ผู้ให้บริการต้องแข่งกันยื่นข้อเสนอที่ดีขึ้นให้กับผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา ในแบบเดียวกับที่ผู้ผลิตอาหารต้องแข่งกันด้านคุณภาพ

ผู้คุมกฎต้องมองธุรกิจอย่าง Facebook, Google, Uber, Twitter เป็น สาธารณูปโภค ประเภทหนึ่ง

หากการแข่งขันกลับสู่ ‘ระดับปกติ’ ที่ผู้เล่นรายใหม่สามารถเข้าสู่ธุรกิจเพื่อกดดันยักษ์ใหญ่ได้ง่ายขึ้น พนักงานบริษัทและผู้บริโภคย่อมได้รับประโยชน์มากที่สุด เช่นในสหรัฐฯ The Economist ประเมินว่าลูกจ้างจะมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 6% ในขณะที่ประสิทธิภาพการผลิตก็สูงขึ้น และผู้บริโภคก็มีทางเลือกเพิ่มขึ้น

การแข่งขันควรเป็นยาอายุวัฒนะของระบบทุนนิยม ไม่ใช่ยาต่ออายุของยักษ์ใหญ่ผู้ขยาดการแข่งขัน

ข้อเสนอทั้ง 3 ข้อสามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้เช่นกัน ก่อนที่ธุรกิจเทคโนโลยีจะเต็มไปด้วยยักษ์ใหญ่ที่ตั้งใจหลีกเลี่ยงการแข่งขัน

ตัวอย่างที่เห็นล่าสุดก็คือ การควบรวมกิจการของสองยักษ์ใหญ่ในธุรกิจเดียวกันอย่าง Uber กับ Grab ที่ทำได้ง่ายดายในประเทศไทย ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ประเทศอื่นพยายามแทรกแซงและตรวจสอบอย่างแข็งขัน แม้แต่ประเทศ ‘เสรีนิยม’ อย่างสิงคโปร์ ยังปรับเงินเจ้าของดีลนี้ถึง 9.5 ล้านดอลลาร์ ในข้อหา ‘ทำลายการแข่งขัน’ ในขณะที่เวียดนามเองก็สรุปว่าดีลดังกล่าวขัดกับกฎหมายการแข่งขันของประเทศ

หากไร้การแข่งขัน ไม่มีกติกาที่เป็นธรรม แค่การเรียกระบบเศรษฐกิจเช่นนี้ว่า ‘ทุนนิยม’ ก็อาจเป็นการยกย่องเกินไปด้วยซ้ำ

ปีใหม่ ทุนนิยมใหม่?

การปรับเส้นทางเศรษฐกิจไทยมีประเด็นให้ต้องคิด ทั้งในด้านทิศทางการขับเคลื่อน และการปรับวิธีคิดวิธีจัดการของผู้คุมกฎไปพร้อมกัน

เราต้องการเข็มทิศและหางเสือใหม่

นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่น่าจะได้รับพื้นที่ในหน้าสื่อและการถกเถียงเชิงนโยบายมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ

แต่ New Year’s Resolution ของผมเล็กกว่านั้นเยอะครับ

ผมแค่อยากให้คำที่เรียบง่ายธรรมดาๆ อย่าง การแข่งขัน ประสิทธิภาพการผลิต โอกาสที่เท่าเทียม กลับมาอยู่ในวาระทางเศรษฐกิจของประเทศ

ลดละการแข่งกันหาคำศัพท์ล้ำยุคติดหู กลับมาคุยกันที่แก่นของการพัฒนากันดีกว่าไหม

ศัพท์ใหญ่โตในบริบทไทยมีแต่จะเบี่ยงเบนความสนใจออกจากต้นตอของปัญหา

กลับมาแก้ปัญหาพื้นฐานกันอย่างจริงจังและต่อเนื่องเสียที

แล้ว New Year’s Resolution ของคุณกับประเทศไทยคืออะไรครับ


อ้างอิง

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save