fbpx
เกรตา ธันเบิร์ก โฉมหน้าของนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมยุคใหม่

เกรตา ธันเบิร์ก โฉมหน้าของนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมยุคใหม่

เพชร มโนปวิตร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

ถึงนาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักสาวน้อยเกรตา ธันเบิร์ก​ (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมในวัย 15 ปี ชาวสวีเดน  เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเธอกล่าวสุนทรพจน์เตือนสติบรรดาผู้นำประเทศและนักการเมืองระดับสูงในงานประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24 (COP 24) ที่โปแลนด์ได้อย่างตรงใจคนทั้งโลก เกรตาได้รับคำชื่นชมอย่างมากและคำกล่าวของเธอต่อหน้าเลขาธิการสหประชาชาติถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง

เกรตา ธันเบิร์ก
ที่มาภาพ : AFP/the Australian

“พวกคุณบอกว่าคุณรักลูกหลานของคุณเหนือสิ่งอื่นใด แต่คุณกลับขโมยอนาคตของพวกเขาไปต่อหน้าต่อตา พวกคุณพูดกันแต่ว่าต้องก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยความคิดแย่ๆ แบบเดิมที่ทำให้เราต้องผจญวิกฤตการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน ทั้งๆ สิ่งที่น่าจะต้องทำที่สุดคือการดึงเบรกฉุกเฉิน

พวกคุณไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะยอมรับความจริง และทิ้งปัญหาไว้ให้กับพวกเรา เด็กๆ ทั้งหลาย”

ข้างต้นนี้คือบางส่วนในสุนทรพจน์ของเกรตา ธันเบิร์ก

ในที่ประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24

นอกจากสุนทรพจน์อันลือลั่น เกรตายังอยู่เบื้องหลังการลุกขึ้นมาประท้วงของเยาวชนในโรงเรียนของหลายประเทศ หรือที่เรียกว่า School Strike for the Climate Movement เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้นักการเมืองหันมาสนใจการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังเสียที เกรตาเชื่อว่าหนทางเดียวที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริงคือการขบถและแสดงอารยะขัดขืน (civil disobedience)

เกรตาเป็นเด็กออทิสติก แต่เธอเข้าใจจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเธอดี “หนูอาจจะเห็นโลกแตกต่างจากคนอื่นอยู่บ้าง หนูมีความสนใจพิเศษเฉพาะ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเด็กออทิสติกที่มักจะมีความสนใจเฉพาะทาง”​ เธออธิบาย สำหรับเกรตา นั่นคือการทุ่มเทความสนใจทั้งหมดให้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอด 6 ปีที่ผ่านมา

เกรตามีครอบครัวที่น่าสนใจมาก เธอเป็นลูกสาวของนักแสดง สวานเต ธันเบิร์ก (Svante Thunberg) กับเมเลนา เอินแมน (Malena Ernma) นักร้องโอเปราผู้โด่งดังของสวีเดน เป็นหลานของปู่โอลอฟ ธันเบิร์ก (Olof Thunberg) นักแสดงและผู้กำกับ และที่น่าสนใจที่สุดคือเธอเป็นเหลนแท้ๆ ของสวานเต อาร์เรเนียส (Svante Arrhenius) นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเคมีเมื่อ ค.ศ. 1903 อาร์เรเนียสเป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์สาขาเคมีฟิสิกส์ และเป็นผู้ค้นพบว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในชั้นบรรยากาศทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ซึ่งนับเป็นการวิจัยครั้งแรกที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน

เกรตา ธันเบิร์ก
ที่มาภาพ : https://christianaidcollective.org/the-gift-of-greta-thunberg

เกรตาเริ่มสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังเมื่อตอนอยู่ ป.3 อายุแค่ 9 ขวบ ซึ่งแรงบันดาลใจไม่ใช่เพราะงานวิจัยของบรรพบุรุษเธอเองแต่เป็นเรื่องการประหยัดพลังงานที่เธอเรียนรู้จากที่โรงเรียน

“ตอนนั้นครูสอนเรื่องการประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ และไม่กินทิ้งกินขว้าง” “หนูเลยถามว่าทำไม คุณครูจึงอธิบายให้ฟังเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ​ หนูก็มานั่งคิดว่ามันแปลกมาก ถ้ามนุษย์สามารถเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศของโลกได้จริงๆ นี่มันเป็นเรื่องใหญ่มาก ทุกคนควรจะต้องสนใจและพูดกันแต่เรื่องนี้แล้ว แต่ปรากฏว่าไม่เห็นมีใครสนใจกันเท่าไหร่เลย”

เกรตาจึงเริ่มศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เธอมีความสามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นเวลานานๆ ได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งเธออธิบายว่าเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของอาการออทิสติกเช่นกัน “หนูสามารถทำอะไรซ้ำๆ ได้นานหลายๆ ชั่วโมง” เธอจึงใช้เวลาแทบทั้งหมดไปกับการศึกษาทำความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังมาตั้งแต่นั้น เธอหยุดบริโภคเนื้อสัตว์ และแทบไม่ซื้อสิ่งของอะไรใหม่เลยยกเว้นจำเป็นจริงๆ  ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมาเธอหยุดเดินทางด้วยเครื่องบิน ครอบครัวของเธอติดตั้งแผงโซลาเซลล์และหันมาปลูกผักกินเอง

“หากเราไม่พุ่งเป้าไปยังสิ่งที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ไม่ใช่สิ่งที่แค่พอจะทำได้ในทางการเมือง เราไม่มีความหวัง

เราไม่มีทางแก้วิกฤตนี้ได้ ถ้าเราไม่ยอมรับว่ามันเป็นวิกฤตการณ์และแก้ปัญหาเหมือนกับเรากำลังอยู่ในภาวะวิกฤต”

เราต้องเก็บเชื้อเพลิงฟอสซิลไว้ในพื้นโลกและมุ่งสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น

ถ้าระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่มีทางออก บางทีเราจำเป็นต้องสร้างระบบใหม่ขึ้นมา”

บางส่วนของสุนทรพจน์ของเกรตา ธุนเบร์ ในที่ประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24

เธอบอกว่าคนที่มีอาการออทิสติกมักจะมองโลกแบบขาวดำ “เราโกหกไม่เป็น เล่นเกมใส่หน้ากากเข้าหากันไม่เป็น จริงๆ แล้วหนูคิดว่าพวกออทิสติกนี่แหละเป็นปกติ คนอื่นๆ สิแปลก โดยเฉพาะในเรื่องวิกฤตด้านความยั่งยืน เพราะในขณะที่เรารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของโลก คนส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตกันอย่างปกติ หนูไม่เข้าใจจริงๆ ถ้าการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนคือการหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แล้วทำไมเราไม่ทำ ทำไมเราจึงยังไม่มีกฎหมายควบคุม สำหรับหนูนี่คือเรื่องขาวดำ ไม่ใช่สีเทา เราต้องเปลี่ยนแปลง”​

แม้สวีเดนจะนับว่าเป็นประเทศที่มีกฎหมายด้านสภาพภูมิอากาศก้าวหน้าที่สุดชาติหนึ่งในโลก และยังพยายามผลักดันนโยบายที่จะเป็นรัฐสวัสดิการประเทศแรกของโลกที่ไม่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ก่อนหน้าการเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการพูดถึงเรื่องนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยมาก ทั้งๆ ที่เพิ่งเกิดเหตุการณ์คลื่นความร้อนครั้งรุนแรงและไฟป่ามหาภัยในเดือนกรกฎาคม

นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า ที่เรื่องโลกร้อนไม่เป็นประเด็นหาเสียง ก็เพราะแทบทุกพรรคยกเว้นเพียงพรรค Swedish Democrats ฝ่ายขวาจัด ต่างเห็นตรงกันเป็นเอกฉันท์ว่าสวีเดนควรจะเป็นประเทศที่ปลอดเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต

แต่เกรตาเรียกฉันทามตินั้นว่า “งี่เง่า” เพราะแม้สวีเดนจะมีกฎหมายที่ค่อนข้างก้าวหน้าก็จริง แต่รายงานวิทยาศาสตร์ของสหประชาชาติแนะนำว่าประเทศที่ร่ำรวยจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้อย่างน้อย 15% ต่อปี แต่ในสวีเดนอัตราการปล่อยก๊าซกลับเพิ่มสูงขึ้น 3.6% ในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ แถมประเด็นเรื่องโลกร้อนก็แทบไม่อยู่ในความสนใจของใครเลย

เยาวชน, สิ่งแวดล้อม, รณรงค์
ที่มาภาพ : EFE/Andrzej Grygiel

เธอเขียนบทความชื่อ สวีเดนไม่ใช่ต้นแบบที่ดี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าไม่มีแผนปฏิบัติการไหนเลยของสวีเดนที่มองไปไกลกว่าปี 2050  “ถึงตอนนั้น ถ้ามองโลกในแง่ดี ตอนนั้นหนูยังใช้ชีวิตอยู่ไม่ถึงครึ่งชีวิตเลย แล้วอนาคตของหนูจะเป็นยังไงต่อล่ะคะ”

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุคลื่นความร้อนและไฟป่า เกรตาตัดสินใจว่าเธอต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อทำให้รัฐบาลลงมือแก้ปัญหาวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้น เธอตัดสินใจหยุดไปโรงเรียนและออกไปประท้วงหน้าอาคารรัฐสภาก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 9 กันยายน เธอเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการเด็ดขาดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในข้อตกลงปารีส (Paris Climate Agreement) เพื่อไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

“ถ้าประเทศที่ร่ำรวยและมีทุกอย่างอย่างสวีเดนยังไม่ทำเป็นตัวอย่างให้เห็น เราจะคาดหวังให้ประเทศกำลังพัฒนาเสียสละได้อย่างไร ในข้อตกลงปารีสมีการพูดถึงเรื่องความยุติธรรมและความเท่าเทียมในการแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ (climate justice and equity) ไว้อย่างชัดเจน”​

เธอไปนั่งชูป้ายประท้วงอยู่ตรงบันไดขึ้นตึกอาคารรัฐสภาในกรุงสต็อคโฮล์มทุกวันในช่วงเวลาเรียนเป็นเวลาสามอาทิตย์ ภายหลังจากการเลือกตั้งเธอกลับไปเรียนหนังสือสี่วันต่อสัปดาห์ โดยใช้เวลาทุกวันศุกร์ออกมาประท้วงเหมือนเดิม

เกรตา ธันเบิร์ก
ที่มาภาพ : twitter @GretaThunberg

และยังชักชวนให้คนอื่นๆ ออกมาร่วมประท้วงรัฐบาลทั้งในสวีเดนและประเทศอื่นๆ ด้วย เธอเล่าว่าสมาชิกสภาผู้แทนหลายคนแวะมาทักทายและให้กำลังใจเธอ แต่ทุกคนต่างบอกว่า จริงๆ เธอควรจะกลับไปเรียนมากกว่า พ่อแม่ของเธอก็คิดเช่นนั้นว่าเธอควรจะไปโรงเรียน แม้การประท้วงของเธอจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็ตาม

“หลายคนบอกให้หนูกลับไปเรียนเพื่อจะได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ จะได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ในอนาคต แต่จริงๆ แล้วเรามีความรู้และข้อมูลอยู่มากมายเกี่ยวกับปัญหานี้ เรารู้ว่าทางออกคืออะไร สิ่งที่ต้องทำคือ ตื่นขึ้นมาและเปลี่ยนแปลงมัน”

อย่างไรก็ตามการประท้วงของเธอทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลับมาอยู่ในความสนใจของคนในสังคมอีกครั้ง สื่อรายงานข่าวอย่างต่อเนื่องออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะที่ออสเตรเลีย เกิดเป็นขบวนการม็อบนักเรียนเรือนหมื่นออกมาเดินขบวนลามไปทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียรับผิดชอบต่อปัญหาสภาวะโลกร้อน

“ลองคิดดูสิคะ การที่เด็กไม่กี่คนหยุดไปโรงเรียนไม่กี่อาทิตย์ ยังสามารถทำให้เกิดเป็นข่าวได้มากขนาดนี้ ถ้าทุกคนร่วมมือและทำพร้อมๆ กัน ทำไมเราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้”​

เธอได้รับเชิญให้ไปร่วมการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24 และได้กล่าวสุนทรพจน์อันโด่งดังเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา “สิ่งที่หนูอยากจะเห็นจากการประชุมครั้งนี้คือ ทุกคนตระหนักว่าเรากำลังเผชิญภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ นี่เป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดที่เราเคยเผชิญมา ก่อนอื่นเราต้องตระหนักความจริงข้อนี้ และลงมือแก้ปัญหาโดยการหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อปกป้องสิ่งที่เรายังพอมีโอกาสรักษาไว้”

เกรตา ธันเบิร์ก
ที่มาภาพ : https://www.ecologise.in/2018/11/19/meet-greta-thunberg-the-15-year-old-climate-firebrand/

เกรตาใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่างการประชุมของสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โปแลนด์ เธอเรียกร้องให้คนทั่วโลกออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ทุกรัฐบาลลงมือแก้ไขเรื่องสภาวะโลกร้อนในวันที่ 14 ธันวาคม ที่เรียกว่า Global Climate Strike Day “ผู้นำการแก้ปัญหาโลกร้อนต้องไม่พูดอย่างเดียว แต่ต้องลงมือทำด้วย ขอเชิญชวนทุกคนออกมาแสดงพลังด้วยกัน โปรดช่วยกันบอกต่อๆ”

นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศชั้นนำหลายคนออกมารณรงค์พร้อมกับเธอ เกรตาเข้าร่วมกับกลุ่มประท้วง Rise for Climate ด้านหน้าอาคารรัฐสภาของสหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ และกลุ่ม Extinction Rebellion ในกรุงลอนดอน

ล่าสุด เกรตา ธันเบิร์ก ได้รับการคัดเลือกโดยนิตยสารไทม์ (Time Magazine) ให้เป็นหนึ่งใน 25 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ประจำปี 2018 สาวน้อยนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ครั้งหนี่งเป็นเด็กขี้อายแต่หนักแน่นบอกกับนิตยสารไทม์ว่า “หนูเข้าใจว่าไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรเลยและไม่มีใครทำอะไร หนูจึงตัดสินใจลงมือทำเท่าที่ทำได้ มันเป็นสำนึกความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของหนูเอง”

“หนูยังเลือกตั้งไม่ได้ การทำเช่นนี้จึงเป็นหนทางเดียวในการแสดงความเห็นของหนู ให้คนอื่นได้รับรู้”

น่าสนใจที่การเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมในระยะหลังได้รับแรงบันดาลใจจากคนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพลัง และกำลังส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาถึง

เกรตา ธันเบิร์ก
ที่มาภาพ : Getty Image/CNN

“เราไม่ได้มาที่นี่เพื่อขอร้องให้ผู้นำโลกสนใจ ที่ผ่านมาพวกคุณเพิกเฉยเราและก็คงจะเป็นเช่นนั้นต่อไป

เราไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ อีกแล้ว และเวลาของเราก็หมดลงไปทุกที

เรามาที่นี่เพื่อบอกให้คุณรู้ว่า ความเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาถึง ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม

อำนาจที่แท้จริงอยู่ในมือประชาชน”

บางส่วนของสุนทรพจน์ของเกรตา ธันเบิร์ก

ในที่ประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24

ฟัง TEDxStockholm | School strike for climate – save the world by changing the rules by Greta Thunberg 12 December 2018

อ้างอิง

Depressed and Then Diagnosed With Autism, Greta Thunberg Explains Why Hope Cannot Save Planet But Bold Climate Action Still Can by Jon Queally. Common Dreams. 19 December 2018

Greta Thunberg: 5 Fast Facts You Need to Know. Heavy.com 13 December 2018

The Fifteen-Year-Old Climate Activist Who Is Demanding a New Kind of Politics by Masha Gessen. The New Yorker. 2 October 2018

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save