101 Team Recommends
ทีมงาน 101 เลือกผลงานที่ชอบจากปี 2561 ที่ผ่านมา คนละ 3 ชิ้น พร้อมเผยความในใจว่าเหตุใดผลงานเหล่านี้จึงทะลวงเข้าไปกลางใจจนอยากแนะนำให้อ่านซ้ำรับปี 2562
สมคิด พุทธศรี | บรรณาธิการ
When Complexity Challenges Public Opinion And Democracy. Part 3—Brexit, Two Years Later
สมคิด พุทธศรี : หนึ่งในบทความที่ชอบที่สุดในรอบปีที่ได้อ่าน (ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) พีเทอร์ทำให้เราเห็นว่า เบื้องหลังความวุ่นวายของปรากฏการณ์ Brexit มีที่มาที่ไปและเบื้องหลังในระดับวิธีคิดและวัฒนธรรมอย่างไร การตั้งประเด็นถกเถียง การเลือกเคส การสังเคราะห์ข้อมูลและความเห็นที่หลากหลาย รวมไปถึงการทำอ้างอิงอย่างเป็นระบบ ทำให้งานเขียนชิ้นนี้เป็นงาน ‘ระดับโลก’ โดยแท้
อันที่จริงงานเขียนชุด When Complexity Challenges Public Opinion And Democracy ทั้ง 3 ตอนของพีเทอร์เป็นงานเขียนที่อยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน งานชุดนี้ทำให้เราได้เห็นความซับซ้อนของกระบวนการกำหนดนโยบายและการถกเถียงสาธารณะในระบอบประชาธิปไตยในโลกปัจจุบันได้อย่างดีเยี่ยม
‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ระดับสาหัส: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21
โดย ธนสักก์ เจนมานะ
สมคิด พุทธศรี : ด้วยมุมมองใหม่สดและวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลที่ทันสมัย ไม่ต้องสงสัยเลยว่างานของธนสักก์ ได้ยกระดับคุณภาพการถกเถียงเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยไปอีกขั้น ยิ่งชิ้นงานเผยแพร่ออกมาในห้วงยามของความดราม่าเรื่องความเหลื่อมล้ำ จึงมีทั้งความโดดเด่นและรสชาติ
หากจะต้องดีเบตเรื่องความเหลื่อมล้ำกันต่อในอนาคต (ซึ่งคงหลีกไม่ได้) งานชิ้นนี้จะเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่ผู้คนต้องนึกถึง
ไอดา อรุณวงศ์ : ความในใจที่ ‘นายประกัน’ ไม่เคยบอก
สมคิด พุทธศรี : “ขอแสดงความนับถือ” ทั้งผู้ให้สัมภาษณ์และคนสัมภาษณ์
ชินธิป เอกก้านตรง | กราฟิกดีไซเนอร์
มองประชาธิปไตยในวิถี Jazz : คุยกับ โสภณ สุวรรณกิจ แอดมินเพจ ‘แจ๊สแจ๋’
โดย ธิติ มีแต้ม
ชินธิป เอกก้านตรง : ช่วงนี้อินแจ๊สครับ บวกกับเราติดตามเพจนี้มาสักพักแล้ว
ชอบวิธีที่ใช้เรื่องเล็กๆ มาเล่าเป็นเกร็ดให้อ่านสนุกแล้วขยายไปถึงประวัติศาสตร์ใหญ่ๆ ในช่วงนั้น
รวดร้าวและรังรอง
โดย อุทิศ เหมะมูล
ชินธิป เอกก้านตรง : วงดนตรีที่รักถูกเขียนถึงโดยนักเขียนที่ชอบ แล้วหลังจากนั้น 1 สัปดาห์ วงก็ประกาศจะมาเล่นที่ไทย
เยี่ยมเลย
ตอนพิเศษ : เบื้องหลังคลิป ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ภารกิจจับท้องทะเล เทลงหม้อหมูกระทะ
โดย Eyedropper Fill
ชินธิป เอกก้านตรง : จะมีโปรดักชันเฮาส์กี่เจ้าที่เล่าถึงวิธีคิดงานของตัวเอง เรารัก Eyedrop ก็ตรงนี้แหละ
คิริเมขล์ บุญรมย์ | ผู้กำกับ
เศรษฐกิจสีน้ำเงิน
คิริเมขล์ บุญรมย์ : ดูจบแล้วไม่ต้องพูดอะไรมาก ลุกขึ้นปรบมือให้เลย มันดูง่าย น่ารัก และเข้าถึงคนทั่วไปได้ ทำให้เรื่องที่ฟังดูแล้วน่าเบื่ออย่าง ‘Blue Economy’ กลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจเลยทันที ในฐานะคนที่รับโปรเจ็กต์งานนี้มาเหมือนกัน(แต่เป็นคนละหัวข้อ) ทีม Eyedropper fill ทำให้เรามาฉุกคิดว่าถ้าเราเล่าอย่างจริงใจกับตัวคอนเทนต์มากพอ ไม่ต้องไปมัวใส่สไตล์เครื่องแบบอะไรให้มันมากมาย ก็สามารถกลายเป็นชิ้นงานที่ยอดเยี่ยมมากๆ ได้
เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด
คิริเมขล์ บุญรมย์ : น้ำเสียงการเล่าเรียบๆ แต่โคตรเดือด แค่ได้ตัวแหล่งข่าวว่ายากแล้ว การได้ตามไปเปิดห้องที่ใช้ทำกิจกรรมกับลูกค้านี่ถือว่าเปิดโลกให้กับคนอ่านไปเลย อ่านจบแล้วก็คิดว่าควรทำให้การขายบริการทางเพศที่แอบทำกันลับๆ ล่อๆ อยู่เกลื่อนกรุงเทพเนี่ย ทำให้มันถูกต้องต้องสักที ในเมื่อมันห้ามไม่ได้ก็ทำให้มันถูกกฎหมายซะ จัดระบบใหม่ เก็บภาษี ตรวจโรค แฟร์ๆ กับทุกฝ่าย
ปรากฏการณ์จีนบุกไทย – ไชน่าทาวน์ใหม่ในกรุงเทพฯ
คิริเมขล์ บุญรมย์ : เป็นบทความที่คลายความสงสัยว่าทำไมแถวรัชดา-ห้วยขวางคนจีนมันเยอะขึ้นจังโว้ย แถมคนจีนเยาวราชกับคนจีนห้วยขวางก็ไม่เหมือนกันอีก เอาเข้าไป แล้วทำไมคนจีนใหม่ถึงเลือกมาตั้งรกรากที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย แทนที่เขาจะอยู่ในประเทศจีนที่เศรษฐกิจกำลังบูมล่ะ คำถามเหล่านี้ทำให้บทความนี้ควรค่าแก่การอ่านเพื่ออยู่ร่วมกับพวกเขาในย่านรัชดา-ห้วยขวางอย่างยิ่ง
ธิติ มีแต้ม | หัวหน้ากองบรรณาธิการ
เซคชั่น world
ธิติ มีแต้ม : เราก็ไม่อาจเข้าใจสังคมไทยได้ด้วยเพียงการมองเฉพาะขอบรั้วบ้านตัวเอง เซคชั่น world ใน the101.world ที่เต็มไปด้วยเรื่องต่างประเทศที่แทบทุกทวีป ทั้งประเด็น การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ผ่านมุมมองของคอลัมนิสต์ชั้นครู ช่วยทำให้เราเข้าใจบ้านที่เราอยู่มากขึ้นว่ามีหน้าตาและจิตใจเป็นอย่างไร ข้อสำคัญคือมันช่วยให้เราหายเย่อหยิ่งในความเป็นไทยดีนักแล
เด็ก และ อาชญากรรมที่เกิดบนก้อนเมฆ
ธิติ มีแต้ม : เปิดเผยคดีล่วงละเมิดเด็กในหลายมิติอย่างที่คาดไม่ถึง นอกจากประชาธิปไตยที่สังคมพยายามแสวงหาร่วมกันแล้ว การยุติอาชญากรรมที่เกิดกับเด็กควรเป็นโจทย์สำคัญอันดับต้นๆ เช่นกัน ถ้าอยากเห็นความศิวิไลซ์
“The Calling Home” – ตามฝันจากบ้าน
ธิติ มีแต้ม : คลิปสารคดีสั้นชิ้นนี้พยายามทำความเข้าใจเสี้ยวชีวิตของแรงงานอุตสาหกรรมประมง ซึ่งอยู่เบื้องหลังและแทบจะเป็นต้นทางของอาหารทะเลหลายชนิดอันเอร็ดอร่อย ที่อยู่บนจานตั้งแต่ร้านริมถนนไปจนภัตตาคารหรู ชีวิตแรงงานที่ต้องจากบ้านเกิดมาอาศัยขายแรงงานอยู่ต่างถิ่นนั้นมีความฝันและอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ต่างไปจากผู้บริโภคที่ต้องการอาหารที่ดีเช่นกัน
ภาพิมล หล่อตระกูล | กราฟิกดีไซเนอร์
ศิลปินที่ทำให้ ‘ดวงอาทิตย์’ และงานศิลปะเป็นของใครก็ได้
โดย Eyedropper Fill
ภาพิมล หล่อตระกูล : จะมีสักกี่ครั้งกันนะที่เราได้ชมพระอาทิตย์ตกกับคนที่เรารัก แล้วช่วงเวลานั้นพิเศษแค่ไหน
ส่วนตัวชอบ Olafur Eliasson อยู่แล้ว พอได้มาอ่านบทความนี้ใน 101แล้วกรี๊ดมากๆ อยากชวนให้ทุกคนได้อ่าน
แผนที่สร้างชาติ: จากสงครามเย็นสู่แผนที่ดิจิทัล – คุยกับเก่งกิจ กิติเรียงลาภ
โดย สมคิด พุทธศรี
ภาพิมล หล่อตระกูล : ส่วนตัวเป็นคนขี้หลงทางมากและใช้ Google map ตลอดเวลา บทความนี้ช่วยเราเปิดหูเปิดตามุมมองต่างๆต่อแผนที่ จากที่เราเคยมองมันว่าเป็นแค่สิ่งอำนวยความสะดวกเวลาเดินทาง แต่ที่จริงๆ แล้วมีเรื่องที่น่าสนใจอีกเยอะมาก ชวนอ่านต่อในบทความค่ะ
‘Why We Post’ เข้าใจโลกโซเชียลแบบนักมานุษยวิทยา กับแดเนียล มิลเลอร์
โดย สมคิด พุทธศรี
ภาพิมล หล่อตระกูล : ชอบบทความนี้เพราะว่าเป็นมุมมองของนักมานุษยวิทยาต่อโลกโซเชียลมีเดีย จากที่แต่ก่อนเราอาจจะเคยได้อ่านจากมุมมองของสายเทคโนโลยีกันมาบ้างแล้ว บทความนี้เลยช่วยทำให้เราเห็นจุดบางจุดที่เราไม่เห็น หรือว่าไม่ได้คิดถึงมาก่อน
กานต์ธีรา ภูริวิกรัย | กองบรรณาธิการ
อ่านหาคำถาม “ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและความมั่นคง” (เพื่อทำรายงาน)
กานต์ธีรา ภูริวิกรัย : เลือกบทความนี้มาเพราะความอินส่วนตัวล้วนๆ แค่อ่านสองย่อหน้าแรกก็รู้สึกว่านี่มันชีวิตของเราตอนเรียนชัดๆ คือบทความนี้เป็นบทความที่มีประโยชน์และน่าสนใจมาก จะอ่านเอาสนุกก็ได้ หรือจะอ่านแบบจริงจังเพื่อหาวิธีไปเขียนเปเปอร์ก็ได้เหมือนกัน อ่านไปอ่านมาก็ไม่ได้ได้ความรู้แค่วิธีการเขียน แต่ยังได้ความรู้เกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศและความมั่นคงอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นบทความแบบ 3 in 1 ผ่านสำนวนคารมคมคายที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันของอาจารย์ศุภมิตร บทความดีๆ แบบนี้แนะนำให้อ่านค่ะ!
เพราะเธอคือคนแรก
กานต์ธีรา ภูริวิกรัย : เป็นบทความที่เปรียบเทียบสองสิ่งสำคัญในชีวิตของ Gen (wh)Y อย่าง ‘ความรัก’ กับ ‘งาน’ ได้อย่างเฉียบคม ชวนให้เราฉุกคิดและหันมามองตัวเองว่า จริงๆ แล้วเราต้องการอะไรกันแน่ อะไรที่ ‘ใช่’ สำหรับเรา แล้วเราจะหาวิธีเดินไปให้ถึงสิ่งนั้นได้อย่างไร เพราะการหางานที่ใช่ก็เหมือนกับการหาคนที่ชอบ ต่อให้ต้องเสี่ยงกี่ครั้งก็คุ้มค่าที่จะลองเสมอ
Photo Essay: แสงเรื่อเรืองในเรือนจำ
โดย ธิติ มีแต้ม
กานต์ธีรา ภูริวิกรัย : โลกหลังกำแพงเรือนจำเป็นโลกที่น่าพิศวง คือมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างมากมาย แต่ก็ไม่มีใครอยากเข้าไปสัมผัสหรือใช้ชีวิตอยู่ในนั้นจริงๆ งาน Photo Essay ชิ้นนี้ จึงเป็นเหมือนการพาผู้อ่านไปร่วมสำรวจโลกหลังเรือนจำ ผ่านภาพถ่ายที่ใช้บรรยายแทนคำพูดได้นับร้อยนับพันคำ ภาพของเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นหนึ่งในเรือนจำต้นแบบ (เน้นที่แดนผู้ต้องขังหญิง) ทำให้เรารู้ว่า เรือนจำไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นสร้างความอับอาย หรือตีตราผู้ที่เข้ามาว่าเป็นปีศาจร้ายที่ไม่มีโอกาสกลับตัว แต่เรือนจำสามารถเป็นที่บำบัดฟื้นฟู เป็นที่มอบโอกาสครั้งใหม่ และเป็นที่เยียวยาขัดเกลาให้คนที่เคยหลงผิดสามารถกลับคืนสู่สังคมได้ต่อไป และยังแสดงให้เราเห็นว่า แม้แต่ในความมืดมนที่สุด ก็ยังมีแสงสว่างที่งดงามซ่อนอยู่เสมอ
พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล | บรรณาธิการต้นฉบับ
ซีรีส์ ‘30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย’
โดย ธนาพล อิ๋วสกุล
พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล : เป็นงานที่เจาะชีวิต ความคิด และผลงานโดยละเอียดของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ บุคคลผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองที่สุดคนหนึ่งตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ตีแผ่เบื้องลึก-เบื้องหลังเกมการเมืองในระดับบนอย่างทะลุปรุโปร่ง เช่นเดียวกับคำว่า ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’
‘Why We Post’ เข้าใจโลกโซเชียลแบบนักมานุษยวิทยา กับแดเนียล มิลเลอร์
โดย สมคิด พุทธศรี
พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล : เป็นบทสัมภาษณ์ที่ทำให้เข้าใจโลกโซเชียลในอีกหลายๆ มุมที่เราคิดไม่ถึง ผ่านสายตานักมานุษยวิทยาระดับโลก ซึ่งตั้งโจทย์สะท้อนกลับอย่างแหลมคมว่า โลกที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อโซเชียลมีเดียอย่างไร
สินสอดมีไว้ทำไม? มองสินสอดด้วยเศรษฐศาสตร์
พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล : เป็นบทความที่ช่วยไขข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับ ‘สินสอด’ ไว้อย่างแจ่มชัด จากกรณีศึกษาในหลายๆ ประเทศ ประกอบกับการมองผ่านแว่นของเศรษฐศาสตร์ ตบท้ายด้วยการวิพากษ์การให้สินสอดแบบไทยๆ ว่าเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่เท่านั้นเอง
วิลาวัณย์ บุญเกื้อกุลวงษ์ | ผู้จัดการ
ความยั่งยืนเริ่มจากตู้เสื้อผ้า
วิลาวัณย์ บุญเกื้อกุลวงษ์ : อ่านบทความชิ้นนี้หลังจากดูสารคดีเรื่อง The True Cost พอดิบพอดี เราซื่อบื้อมากๆ เพราะไม่เคยรู้และไม่เคยสนใจต้นทุนการผลิตของสิ่งต่างๆ รอบตัวเลย เราเริ่มตระหนักมากขึ้น และตั้งใจจะช่วยลดการสร้างขยะในแบบที่ชีวิตเราไม่อึดอัดมากจนเกินไป
สุธิดา วิมุตติโกศล : ความในใจจาก ‘นักวิจารณ์วรรณกรรม’ ในประเทศที่วัฒนธรรมการอ่านอ่อนแอ
วิลาวัณย์ บุญเกื้อกุลวงษ์ : เป็นบทสัมภาษณ์ที่สนุกมาก ข้องเกี่ยวทั้งการอ่านและการวิจารณ์ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่น่าสนใจของสังคมไทย เพราะเราต่างถูกส่งเสริมให้อ่านและแสดงความคิดเห็น แต่ขณะเดียวกันนั้น เราก็เหมือนไม่สามารถทำอะไรได้เลยในประเทศนี้
‘ศักดิ์ดา แก้วบัวดี’ เพื่อนของผู้ลี้ภัย กับมนุษยธรรมในประเทศคนดี
โดย วจนา วรรลยางกูร
วิลาวัณย์ บุญเกื้อกุลวงษ์ : เราเคยอ่านเรื่องราวจาก facebook ส่วนตัวของคุณศักดิ์ดามาก่อนบ้าง และได้ช่วยเหลือนิดหน่อยตามโอกาส มันคือสิ่งที่เราต้องขอแสดงความเคารพด้วยใจจริง ไม่คำกล่าวใดที่จะเหมาะสมอีกแล้ว มันคือความเป็นมนุษย์ที่เราทุกคนมี แต่บางครั้งมันอยู่ลึกเสียจนไม่ค่อยได้แสดงออกมา
วิโรจน์ สุขพิศาล | เว็บมาสเตอร์
ThreesomePodcast
วิโรจน์ สุขพิศาล : รายการ Podcast ของ 101 เดิมรายการ Threesome – อ่านจนแตก จะเป็นรูปแบบคลิปรายการเผยแพร่ทาง Facebook และ Youtube แต่มีการปรับรูปแบบใหม่มาเป็นรูป Podcast เพื่อความสะดวกในการติดตาม
รูปแบบรายการเป็นการให้เหล่ากองบ.ก.ของ 101 มาชวนคุยปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคม ซึ่งอาจตั้งประเด็นจากข่าวต่างๆ หรืออาจมาจากบทความที่เผยแพร่ใน The101.world จากนั้นผู้ดำเนินรายการก็จะพาคุยให้ลึกขึ้น มีข้อมูล มีความเห็นมาเสริม
เนื่องจากรูปแบบรายการค่อนข้างที่จะ relax ทำให้ฟังเพลินๆ ระหว่างขับรถ มีความสนุก และมีแทรกเนื้อหาสาระมาด้วย ทำให้เป็นเหมือนหนึ่งคอนเทนต์ที่เราสามารถเสพได้นอกจากการอ่าน และสามารถทำไประหว่างทำกิจกรรมอื่นได้อีกด้วย
การ์ตูนของ หัวนุ่ม
โดย วศิน ปฐมหยก
วิโรจน์ สุขพิศาล : คาแรกเตอร์ของหัวนุ่มดูเป็นตัวการ์ตูนใสๆ ไม่มีพิษมีภัยอะไร มีความน่ารักมุ้งมิ้ง ดูเป็นมิตร หากแต่ว่าเรื่องราวแต่ละตอนของหัวนุ่มนั้นไม่ธรรมดาเลย นำพาไปหาแต่เรื่องใหญ่ๆ เรื่องหนักๆ ที่กำลังเป็นกระแสของสังคมในขณะนั้น
วิธีการเล่าของหัวนุ่ม ก็มีความกวน แสบคัน หากเปรียบเหมือนเพื่อนก็คงเป็นเพื่อนที่ดูเรียบร้อยแต่มีความกวนตีน เป็นเพื่อนที่ช่วยสร้างสีสันให้กับเราได้เป็นอย่างดี
บทความของ กษิดิศ อนันทนาธร
โดย กษิดิศ อนันทนาธร
วิโรจน์ สุขพิศาล : บทความของกษิดิศพาเราไปรู้จักบุคคลธรรมดาหลายคนในอดีตที่อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักของคนวงกว้างมากนัก แต่บุคคลเหล่านี้กลับมีส่วนสำคัญในการกำหนดหน้าประวัติศาสตร์ ถือเป็นจิ๊กซอว์ที่ช่วยประกอบร่างภาพใหญ่ของสังคมไทยในอดีตให้เห็นชัดขึ้น
ความสนุกของบทความกษิดิศนอกจากจะทำให้เรารู้จักบุคคลในอดีตแต่ละคนคือใคร มีความสำคัญในแต่ละช่วงเวลาอย่างไร เรายังได้เห็นมุมส่วนตัวของแต่ละคนด้วย ประสบการณ์แบบไหนที่หล่อหลอมเป็นที่มาของแต่ละบุคคล ทำให้เราได้เห็นพลังของคนธรรมดาที่ต้องการทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคมแม้ว่าชื่อของเค้าอาจจะไม่ได้ถูกเป็นจดจำของคนในยุคปัจจุบันก็ตาม
ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย | กองบรรณาธิการ
จาก ‘คืนความสุข’ ถึง ‘ประเทศกูมี’ : ชำแหละวาทกรรมการเมืองยุค คสช. กับ อิสระ ชูศรี
ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย : เป็นบทสัมภาษณ์ที่ทำให้มองโลกละเอียดขึ้น มองภาษาอย่างเข้าอกเข้าใจ และรู้เท่าทันโลกของการเมืองมากขึ้น ในมุมที่เล็กแต่ทรงพลัง
In The Name Of The Mother เปลวเพลิงในดวงตาพะเยาว์ อัคฮาด
โดย ธิติ มีแต้ม
ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย : บีบคั้น งดงาม ตราตรึง และเจ็บปวด เห็นความเป็นมนุษย์อย่างที่มนุษย์เป็น
อุดมการณ์ของทุน อุดมการณ์ของคุณ สัจนิยมของทุน
ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย : เปลี่ยนมุมมองต่อโลกไปเลย ด้วยประโยคเดียวที่ว่า ‘การจินตนาการถึงวันสิ้นโลกเป็นเรื่องง่ายกว่าการจินตนาการถึงจุดจบของระบบทุนนิยม’
ญาดา เตชะวิวัฒนากาล | กองบรรณาธิการ
คอลัมน์ ‘โลก-อุษาคเนย์’
โดย ยุกติ มุกดาวิจิตร
ญาดา เตชะวิวัฒนากาล : เหมือนได้เดินทางร่วมทริป ท่องไปในดินแดนที่ยังไม่เคยได้ไป ทำให้อยากออกเดินทางไปสถานที่ที่ถูกพูดถึง ได้ฟังเรื่องราวของที่นั่นอีกครั้ง
คอลัมน์ ‘หัวนุ่ม’
โดย วศิน ปฐมหยก
ญาดา เตชะวิวัฒนากาล :‘หัวนุ่ม’ เล่าเรื่องด้วยมุมมองของนักเสียดสีแบบน่ารักน่าชัง ทำให้เรายิ้มไประหว่างอ่าน และขำแรงทุกครั้งเมื่ออ่านจบ ..รออ่านการ์ตูนของหัวนุ่มเสมอ (ไม่ได้ทวงงานแต่อย่างใด)
จาก ‘คืนความสุข’ ถึง ‘ประเทศกูมี’ : ชำแหละวาทกรรมการเมืองยุค คสช. กับ อิสระ ชูศรี
ญาดา เตชะวิวัฒนากาล : ภาษานี่ยิ่งกว่าคำว่าทรงพลัง เริ่มอ่านเพราะเห็นยอดแชร์เยอะมาก ยิ่งอ่านยิ่งสนุกกับเรื่องราวของคำที่อยู่ในบริบทของสังคมในช่วงเวลาต่างๆ ว้าวมากๆ
ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ | กองบรรณาธิการ
เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด
ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ : อ่านแล้วให้อารมณ์เหมือนนั่งดูสารคดีเพลินๆ หนึ่งตอน เรื่องราวของโสเภณีที่เรารู้กันว่ามี แต่ไม่ค่อยมีใครเข้าไปมองให้ชัดๆ ถูกนำมาถ่ายทอดด้วยน้ำเสียงที่น่าฟัง เข้าใจง่าย ทำให้เราเห็นคุณภาพชีวิตของอาชีพนี้ชัดขึ้น และชวนให้ขบคิดต่อถึงสวัสดิการที่ควรจะทั่วถึง บทความนี้ยังเป็นงาน ‘ป้ายยา’ เพราะอ่านไปอ่านมา รู้ตัวอีกทีก็มานั่งทำงานในกองบก.101 แล้ว (เตือนแล้วนะ ระวังจะโดนป้ายยาแล้วติดใจ!!)
แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย
ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ : พาดูชีวิตของผู้หญิงในอินเดีย พวกเธอต้องเผชิญอะไรบ้างถึงมีคำพูดอย่าง “เกิดเป็นวัวในสังคมอินเดียยังจะดีกว่าเกิดเป็นสตรี” ส่วนที่น่าตื่นเต้นคือปัจจุบันบทบาทของผู้หญิงในอินเดียเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และบทความก็ช่วยให้เรามองเห็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหม่แบบไม่ต้องอยู่อินเดียก็ลุ้นแบบติดขอบ (จอ) ได้ ใครติดตามเรื่องสิทธิสตรี ห้ามพลาดเลย
Digital Cheating ชวนกันคิดในใจ แค่ไหนเรียกนอกใจ?
ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ : กาลเวลาที่เปลี่ยนนอกจากจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัยแล้ว ก็ทำให้เรื่องของความรักความสัมพันธ์ผันผวนด้วย อ่านบทความนี้แล้วจะเห็นมุมมองเรื่องความสัมพันธ์ของคนแต่ละยุค และปรากฎการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดเพราะโซเชียลมีเดีย ลองนึกเล่นๆ ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นอีก เราจะก้าวสู่ polygamy กันไหม ก็น่าตื่นเต้นดีไม่น้อย
อดิศร เด่นสุธรรม | ครีเอทีฟ
สร้างชาติด้วยดีไซน์ กับ Design Ah! In Tokyo : นิทรรศการที่เปลี่ยนห้องเรียนวิชาออกแบบให้กลายเป็นสวนสนุก
โดย Eyedropper Fill
อดิศร เด่นสุธรรม : ดีย์ย์ย์ Ah!!! คือความคิดแรกที่กระแทกเข้าหัว หลังอ่านบทความ ‘สร้างชาติด้วยดีไซน์ กับ Design Ah! In Tokyo’ ขอบคุณ Eyedropper Fill ที่เหมือนแม่แสนดีจูงมือพาทัวร์แต่ละห้อง เหมือนลูกได้ไปเที่ยวเองยังไงยังงั้น ค่าเครื่องบินก็ไม่ต้องจ่าย ค่าเข้าก็ไม่ต้องออก เรียกว่าอ่านจบ สนุกจังตังค์อยู่ครบไปสามวัน ว่าแล้วก็อยากให้คนใหญ่คนโตทั้งหลาย ที่พูดนักว่าอยากสร้างชาติเนี่ย มาอ่านบทความนี้เถอะ #ไหว้ Ah!

บทความของอาร์ม ตั้งนิรันดร
อดิศร เด่นสุธรรม : ทุกครั้งที่อ่านบทความของ คุณอาร์ม ตั้งนิรันดร รู้สึกเหมือนสายเลือดจีนที่มีติดตัวอยู่ 1,250 เส้น สูบฉีดพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย จีนในวันนี้โคตรเปลี่ยนไปจากจีนในวันนั้น จีนที่ทำให้รู้สึกแบบ “อั้วอยากไปอีกจังโว้ยยย” “ทำไมลื้อไฮเทคคจังวะะ” “อั๊ยย๊ะมือถือเครื่องเดียวแมร่งทำได้ทุกอย่าง” แต่มันก็เหมือนยาจีนรสขมที่ถูกเคลือบด้วยน้ำผึ้ง จีนที่เห็นว่าโคตาระสะดวกสบายไฮเทค มันก็มีอะไรมากกว่านั้น อ่านบทความ คุณอาร์ม ก็เลยเหมือนได้อ่าน หนังสือ รู้ทันแจ็คหม่าไปในตัว
Threesome : อ่านจนแตก Ep.47 “สมรสและภาระ”
อดิศร เด่นสุธรรม : ไม่อยากพิมพ์มาก เจ็บมืออ กับ Threesome : อ่านจนแตก Ep.47 “สมรสและภาระ” อยากลองแนะนำให้ไปฟังกันเองดู เป็นการเปิดหูฟังที่ทำให้ตาเปิดสว่างยิ่งกว่า ตัวอย่างเช่น สาเหตุอันดับหนึ่งของการหย่ากัน ไม่ใช่เรื่องนอกใจ แต่เป็นเรื่องการขาดการติดต่อสื่อสาร! น่าแปลกใจโคตรๆ ที่ iphone x ก็แล้ว Samsung note 9 ก็แล้ว มันเหมือนจะช่วยให้โลกเราใกล้ขึ้น แต่สุดท้ายกลับทำให้ใจเราไกลกันยิ่งกว่าเดิม
วจนา วรรลยางกูร | กองบรรณาธิการ
อนุสรณ์ อุณโณ : จากพี่ว้ากสู่คณบดีไล่เผด็จการ และคำถามในพานพุ่ม
โดย ธิติ มีแต้ม
วจนา วรรลยางกูร : อาจารย์อนุสรณ์เป็นอีกบุคคลที่น่านับถือน้ำใจในบทบาททั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่ต้องรับความเสี่ยงจากการเคลื่อนไหวเพื่อยืนยันหลักการในสังคม บทสัมภาษณ์นี้พาไปพบกับความดิบในชีวิตของชายชื่ออนุสรณ์ในเยาว์วัย ที่ประสบการณ์และเวลาแปรเปลี่ยนให้เป็นความกล้าหาญทั้งทางวิชาการและการเคลื่อนไหวบนถนน
ความจริง ความเชื่อ และความเจ็บป่วยของ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’
วจนา วรรลยางกูร : หดหู่ใจจากการเฝ้ามองอาการของสังคมครั้งอาจารย์สมศักดิ์สูญเสียแม่เมื่อปีก่อน มาถึงคราวความเจ็บป่วยของชายสูงวัยยามพรากจากบ้าน ท่ามกลางเสียงกระซิบกระซาบข่าวเท็จอย่างยินดีเนื้อกระตุกเต้นในยุคสมัยที่ต้องถามหาความเป็นมนุษย์ระหว่างกัน
แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย
วจนา วรรลยางกูร : บทความนี้อธิบายวาทกรรมแดนภารตะที่ว่า “เกิดเป็นวัวในสังคมอินเดียยังจะดีกว่าเกิดเป็นสตรี” ชอบน้ำเสียงการเล่าอินเดียของ ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก ที่ทำให้เห็นเรื่องราวและปัญหาในดินแดนนี้ชัดเจนขึ้น