fbpx
เปิดโนว์ฮาวดูแลคนป่วยติดเตียงด้วยชุมชน กับ นพ.สันติ ลาภเบญจกุล

สุธิดา วิมุตติโกศล : ความในใจจาก ‘นักวิจารณ์วรรณกรรม’ ในประเทศที่วัฒนธรรมการอ่านอ่อนแอ

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

“สังคมไทยเป็นสังคมที่ผู้มีอำนาจรู้ว่าตัวเองมีอำนาจ และคนที่อยู่ใต้อำนาจก็รู้ว่าตัวเองถูกอำนาจอะไรบางอย่างสั่งอยู่ตลอดเวลา ทำให้แม้กระทั่งแต่การอ่าน คนทั่วไปก็รู้สึกว่าไม่ใช่ทางเลือก แต่อ่านเพราะถูกทำให้เชื่อว่ามันดี มันมีประโยชน์ อ่านเพราะเป็นหน้าที่มากกว่าความสมัครใจ…”

ประโยคข้างต้นคือทรรศนะจาก สุธิดา วิมุตติโกศล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เธอเป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรม สนใจเรื่องวัฒนธรรมการอ่านและวัฒนธรรมการวิจารณ์ ซึ่งเธอมองว่ามีส่วนช่วยในการยกระดับวุฒิภาวะของสังคม

ทว่าในบริบทของสังคมไทย อย่างที่รู้กันว่าวัฒนธรรมการอ่านของบ้านเรานั้นยังอยู่ในระดับที่อ่อนแอ เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกมายาวนาน ยังไม่นับพื้นที่ของการวิพากษ์วิจารณ์อันเป็นเสมือนมีดที่ช่วยลับคมความคิด ซึ่งมีอยู่น้อยนิดภายใต้สภาวะสังคมที่ถูกปิดกั้น

สุธิดาบอกว่าเธอเคยฝันว่าอยากเป็นนักวิจารณ์ แต่เมื่อเข้าสู่โลกการทำงานจริง กลับพบอุปสรรคมากมายซึ่งทำให้สิ่งที่เธอฝัน ไม่สามารถทำเป็นอาชีพได้ ตั้งแต่เรื่องของพื้นที่อันจำกัด วิธีคิดที่คนไทยถูกปลูกฝังจากระบบการศึกษา ไปจนถึง ‘ระบบอุปถัมภ์’ ที่แฝงฝังอยู่ในแวดวงการอ่านการเขียน

โครงการ ‘Read Aloud’ หรือ ‘อ่านออกเสียง’ คือหนึ่งในความพยายามเล็กๆ ที่เธอร่วมสร้างขึ้นมา เพื่อเปิดพื้นที่ในการอ่าน-การวิจารณ์ ซึ่งทุกคนสามารถส่งเสียงที่ตัวเองคิดออกมาโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกหรือผิด

“เราอยากได้ยินเสียงจริงๆ ของคนอ่าน ที่ไม่ใช่แค่การอ่านออกเสียงแบบครูสั่งให้อ่านออกเสียงในห้องเรียน แต่เป็นการออกเสียงแบบมี voice เป็นของตัวเอง อ่านออกมาจากความคิดความรู้สึกของตัวเอง”

ในฐานะที่เธอเป็นทั้งนักอ่าน นักวิชาการ และนักวิจารณ์วรรณกรรม เธอมองสถานการณ์การอ่าน-การวิจารณ์ในสังคมไทยอย่างไร เห็นปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง และภาพฝันที่วางไว้ยังมีทางเป็นไปได้อยู่หรือไม่

ต่อไปนี้คือความคิดและความในใจที่เธอบอกเล่าให้เราฟังอย่างตรงไปตรงมา

 

สุธิดา วิมุตติโกศล นักวิจารวรรณกรรม

ความเป็นมาของโครงการ อ่านออกเสียง

เริ่มต้นจากสองด้าน ด้านหนึ่งคือคุณวรงค์ หลูไพบูลย์ ผู้บริหารสำนักพิมพ์บทจร เขามีความสนใจในงานวรรณกรรม และเคยจัด reading group มาบ้างแล้ว ซึ่งเขายังอยากทำต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าบ้านเรายังไม่ค่อยมีพื้นที่แบบนี้

อีกด้านหนึ่งคือตัวเราเอง เป็นงานที่ต่อเนื่องมาจากการทำ thesis ตอนเรียนปริญญาเอก ซึ่งตอนนั้นเราเคยไปสังเกตการณ์ห้องเรียนวิชาวรรณกรรมหลังอาณานิคม ตอนนี้เราเลยอยากทำวิจัยในส่วนของคนอ่านทั่วไปที่อยู่นอกมหา’ลัย ซึ่งเราคิดมาสักพักแล้วว่าจะใช้วิธีไหนดี พอได้คุยกับคุณวรงค์ที่อยากจัด reading group เกี่ยวกับงานวรรณกรรมอยู่แล้ว ก็รู้สึกว่าแนวทางนี้น่าจะเป็นไปได้ คือนอกจากเป็น reading group ที่ได้แลกเปลี่ยนกับคนอ่านแล้ว ก็สามารถเก็บข้อมูลเพื่อเอามาใช้ในงานวิจัยได้ด้วย

 

การจัด reading group แบบนี้ มีความแตกต่างจากงานเสวนาเกี่ยวกับหนังสือที่จัดกันอยู่บ่อยๆ อย่างไร

โดยส่วนตัว เราเคยมีประสบการณ์เป็นวิทยากรในงานเสวนาเกี่ยวกับหนังสืออยู่หลายครั้ง ซึ่งเราสังเกตว่าส่วนใหญ่จะเป็นการเชิญวิทยากรที่เป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ มาอธิบายให้คนฟังว่าไอ้นี่มันเกี่ยวกับอะไร สำคัญยังไง แล้วคนฟังส่วนใหญ่เท่าที่เคยเห็น ก็ไม่ค่อยอยากแลกเปลี่ยนหรือมีส่วนรวมกับวงเสวนาเท่าไหร่

หนึ่งคือไม่ค่อยมีคนถาม สองคือ แม้แต่การถาม มันคือการถามเพื่อให้ผู้รู้บอกว่าเราควรจะเข้าใจมันยังไง มันมีลักษณะนี้อยู่เราจึงคิดว่าเราอยากทำ reading group ที่ไม่ใช่รูปแบบเดิมๆ ทำยังไงดีที่มันจะไม่ใช่รูปแบบนั้น บวกกับตอนที่เราไปเรียนที่อังกฤษ เราก็เคยเข้า reading group อยู่บ้าง ทำให้เห็นความเป็นไปได้ที่ speaker หรือ leader ของการคุยทั้งหมด จะทำหน้าที่เป็นแค่คนอำนวยการสนทนาเฉยๆ โดยคนที่มาร่วมไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องรู้อะไรจากคนนี้ อันนี้เป็นเป้าหมายหลัก

ชื่อโครงการ ‘อ่านออกเสียง’ มาจากไหน

มาจากหลายๆ คนช่วยกันคิด อย่างตัวเราเองมีเพจข่าวสารเรื่องหนังสือเล็กๆ ชื่อว่า ‘Read Around’ ตอนแรกก็คุยกันว่าจะเอาเพจนี้มาใช้เลยดีไหม พอคิดกันไปคิดกันมา ก็ได้ชื่อใหม่ คือ ‘Read Aloud’ ภาษาไทยคือ ‘อ่านออกเสียง’ ซึ่งก็มีความหมายที่ดี เป็นการเล่นกับเรื่องของการออกเสียง รวมถึงเรื่องสิทธิในการแสดงออกทางความคิด ซึ่งมันก็ตรงกับสิ่งที่เราอยากทำพอดี เราอยากได้ยินเสียงจริงๆ ของคนอ่านที่ไม่ใช่แค่การอ่านออกเสียงแบบครูสั่งให้อ่านออกเสียงในห้องเรียน แต่เป็นการออกเสียงแบบมี voice เป็นของตัวเอง อ่านออกมาจากความคิดความรู้สึกของตัวเอง

 

คุณมองสถานการณ์การอ่านของคนไทยตอนนี้ยังไง คนไทยอ่านน้อยอย่างที่คนชอบพูดกันจริงไหม

ก่อนหน้าที่จะทำ reading group เราลองไปอ่านงานวิจัยที่มีในเมืองไทยว่าเขาพูดถึงการอ่านว่ายังไง ก็พบว่ามีผลวิจัยของ TKpark ที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งคือ คนไทยมี ‘ทัศนคติที่ดีต่อการอ่าน’ ซึ่งอันนี้ไม่แปลก แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นปัญหาด้วย เพราะคนไทยจะมีความเชื่อฝังหัวว่า การอ่านจะทำให้เรามีความรู้ การอ่านคือสิ่งที่มีประโยชน์

ปัญหาคือในเมื่อเราเชื่อแบบนี้ ซึ่งเป็นผลจากการถูกปลูกฝังมาอีกที สุดท้ายมันทำให้คนรู้สึกว่าการอ่านไม่ใช่เรื่องปกติ พูดง่ายๆ คือมันไม่ใช่ entertainment มันไม่สนุก ถ้าอ่านก็ต้องอ่านเพื่อความรู้ ไม่ก็เพื่อประโยชน์บางอย่าง ซึ่งฟังก์ชั่นของการอ่านไม่จำเป็นต้องมีแค่นั้นเสมอไป

แล้วถ้ามองในความเป็นมนุษย์ทั่วไป คิดง่ายๆ ว่าเวลาเราอยากทำอะไรสักอย่าง แน่นอนว่าเราไม่ได้ถูกผลักดันหรือจูงใจเพียงเพราะว่ามัน ‘มีประโยชน์’ หรือ ‘มีสาระ’ เสมอไป บางทีเราก็อยากจะเล่นเกม ท่องเที่ยว หรือทำอะไรที่เพลิดเพลินมีความสุข เป็นความบันเทิงของชีวิต อะไรก็ว่าไป

อย่างตอนที่เราไปอยู่ประเทศที่คนชอบอ่านหนังสือมากๆ อย่างอังกฤษ เข้าไปในรถไฟใต้ดินก็จะเห็นคนถือหนังสือเล่มอ่านแบบไม่วางเลย มีเยอะมาก แม้แต่รถติด ยืนโหนรถไฟ เขาก็ถืออ่าน เราไม่รู้สึกว่าเขาถูกบังคับให้อ่าน

แต่ในสังคมไทย มันย้อนไปภาพใหญ่ซึ่งมีอยู่คำตอบเดียว ก็คือเป็นสังคมที่ผู้มีอำนาจรู้ว่าตัวเองมีอำนาจ และคนที่อยู่ใต้อำนาจรู้ว่าตัวเองถูกอำนาจอะไรบางอย่างสั่งอยู่ตลอดเวลา ทำให้แม้กระทั่งแต่การอ่าน คนทั่วไปก็รู้สึกว่าไม่ใช่ทางเลือกของตัวเอง แต่อ่านเพราะถูกทำให้เชื่อว่ามันดี มันมีประโยชน์ อ่านเพราะเป็นหน้าที่มากกว่าความสมัครใจ จึงไม่ได้รู้สึกอยากจะอ่านนอกเหนือจากที่ถูกบังคับ

ประเทศที่มีวัฒนธรรมการอ่านแข็งแรง เขาปลูกฝังกันยังไง

แต่ละประเทศก็ต่างกันไป แต่ที่แน่ๆ คือไม่ได้มีใครมาเทศน์หรือคอยบอกว่าต้องอ่านหนังสือนะ ถึงจะเป็นประโยชน์ ไม่ว่าหนังสือชนิดไหนก็ตาม เวลาเราเห็นคนที่เขาบ้าอ่านหนังสือ เขาอาจจะอ่านตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ

ถ้าเราไปดูงานวิจัยของบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ จะเห็นชัดเลยว่าเขาไม่ได้มองการอ่านโดยมีฟังก์ชั่นที่แคบแบบนี้ แต่เขามองว่าเป็นความเพลิดเพลิน เป็น entertainment อย่างหนึ่งด้วยซ้่ำ ซึ่งประเทศที่มองว่าการอ่านเป็น entertainment เป็นความเพลิดเพลิน ย่อมมีผลต่อการทำให้คนอ่านมากขึ้นอยู่แล้ว

สุธิดา วิมุตติโกศล นักวิจารวรรณกรรม

การสนับสนุนจากภาครัฐ เช่นการทำโครงการเกี่ยวกับหนังสือและการอ่านทั้งหลาย คุณมองว่าสามารถช่วยส่งเสริมการอ่านได้จริงไหม

ส่วนตัวคิดว่าไม่มีผลเท่าไหร่ ยกตัวอย่างโครงการ ‘กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก’ เป็นโครงการที่สะท้อนภาพได้ชัดมากว่า ปัจจัยหนึ่งที่เป็นปัญหาสำหรับการอ่านของคนไทย ก็คือวิธีคิดของคนระดับสูง ผู้ออกนโยบาย ซึ่งมักจะหมกมุ่นอยู่กับการอยากให้คนอ่านหนังสือเพื่อความรู้ เพื่อศีลธรรมอันดีงาม และมีความเป็น propaganda สูง

ข้อหนึ่งที่คนไม่ค่อยทราบกันก็คือ การเป็นเมืองหนังสือโลก ไม่ได้ได้มาด้วยการที่คุณทำอะไรที่ดีออกมา หรือมีผลลัพธ์ที่ดีออกมา แล้วคุณจึงได้ฉลากนี้มาการันตี แต่มันคือการเสนอโครงการว่าปีนั้นคุณจะทำอะไรบ้าง คุณก็รู้ว่าหน่วยงานราชการไทยเขียนโครงการเก่งมาก แล้วเขาก็เขียนอะไรสารพัดที่ดูแฟนซีน่าตื่นเต้น แต่ประเด็นคือ แผนแต่ละอย่างของเขา สุดท้ายแล้วเกิดขึ้นจริงสักกี่อัน แล้วมีอันไหนที่เป็นประโยชน์จริงๆ บ้าง

มีกิจกรรมหนึ่งในโครงการ กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก ชื่อว่า ‘เท่-เหนือ-ไทย’ คล้ายๆ หนึ่งตำบลหนึ่งหนังสือ แต่นี่คือหนึ่งเขตหนึ่งเล่ม โดยให้แต่ละเขตคัดเลือกงานวรรณกรรมไทยที่ represent เขตของตัวเอง ถามว่ามีสักกี่คนรู้เรื่องนี้ หรือสนใจเรื่องนี้ แล้วถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้น มันก็คือการเอาวิธีคิดแบบชาตินิยมฝังลงไปในระดับท้องถิ่น เชิญชวนให้คนเกิดความภาคภูมิใจว่าเขตของฉันมีอะไรดี ซึ่งเรามองว่าไม่มีประโยชน์เท่าไหร่

เรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงโครงการของต่างประเทศ ที่เรียกว่า One book, one community ซึ่งวิธีคิดจะตรงข้ามกันเลย คือเริ่มจากฐานคิดที่ว่า ในสังคมที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติมาอยู่ร่วมกัน จะทำยังไงให้คนตระหนักถึงความจริงที่ว่าภายในชุมชนของคุณนั้นมีความหลากหลาย ฉะนั้นหนังสือที่เอามาใช้ในโครงการนี้ จึงเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับคนอพยพซะส่วนใหญ่ สมมติว่าประชากรส่วนใหญ่ในสังคมนั้นเป็นคนขาว การที่เขาได้อ่านเรื่องราวของคนชายขอบเหล่านี้ มันช่วยให้เขาตระหนักว่าประเทศนี้ สังคมนี้ ไม่ได้มีแต่พวกคุณเท่านั้น แต่ยังมีอีกคนอีกหลากหลายเชื้อชาติที่อยู่ร่วมกับคุณ

แต่ของไทยตรงกันข้าม คือตั้งต้นจากฐานคิดว่าชุมชนของฉันมีอะไรดี ซึ่งสะท้อนวิธีคิดแบบชาตินิยมอย่างที่บอกไป และเป็นลักษณะ top down ที่ถูกปลูกฝังลงมาในทุกระดับ เมื่อเป็นแบบนี้ ต่อให้คุณอ่านปีละร้อยเล่มก็ไม่มีความหมาย เพราะมันคือการผลิตซ้ำชุดความคิดเดิมๆ ไม่ได้ช่วยเพิ่มความหลากหลายหรือต่อยอดทางความคิดเลย

โดยสรุปคือ สุดท้ายแล้วสมมติฐานที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการสร้างโครงการเหล่านี้ มาจากวิธีคิดเดียวกันหมด ก็คือหนังสือมีไว้สอนคน

แล้วการประกวดหรือให้รางวัลทางวรรณกรรมต่างๆ คุณมองว่าส่งผลต่อสถานการณ์ด้านการอ่านแค่ไหน

โดยส่วนตัว เรารู้สึกว่าคนไทย หรือแม้แต่คนในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ ยังให้ค่าและหมกมุ่นกับเรื่องรางวัลเยอะเกินไป

ในมุมคนอ่าน การมีรางวัลคือการไฮไลท์ผลงานที่เด่นๆ ขึ้นมาให้ได้รับการมองเห็น ให้คนอ่านรับรู้ว่านี่คือตัวเลือกที่น่าสนใจ จากหนังสือที่มีอยู่เป็นร้อยเป็นพันเล่ม ก็แค่นั้น

ส่วนในมุมของนักเขียน เราเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของนักเขียนหลายคนที่ได้รางวัล ทุกคนพูดคล้ายๆ กันว่า เป็นเรื่องของดวง พูดง่ายๆ ว่าถ้ากรรมการเปลี่ยนไปสักคนนึง เขาก็อาจไม่ได้รับรางวัลแล้ว มันเป็นปัจจัยที่เขาควบคุมไม่ได้ ทุกคนรู้ว่าการได้รางวัลเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าการทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้น ทำให้สำนักพิมพ์ดัง ทำให้เขาดัง มีเงินที่จะเขียนหนังสือเล่มต่อไป อันนี้คือความสำคัญของรางวัลในมุมของนักเขียนและสำนักพิมพ์

นอกจากนี้ เรารู้สึกว่ายังมีการให้คุณค่าเชิงวัฒนธรรมกับรางวัลบางประเภทมากเกินไป จนทำให้บางคนไม่รู้สึกว่าอยากจะอ่าน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกรณีของไทย แต่ฝรั่งก็เป็น คืองานรางวัลทั้งหลาย กูไม่อ่าน แต่ฝรั่งจะถูกหล่อหลอมมาโดยวัฒนธรรมคนละแบบ หมายความว่า ถึงแม้เขาจะไม่อ่านงานรางวัล เขาก็มีทางเลือกอื่นๆ อีกแสนล้านที่เขาจะอ่านได้ และเมื่อเขาอ่านแล้ว ก็สามารถส่งเสียงวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่คนไทยไม่มี

พูดถึงเรื่องการวิจารณ์ โดยเฉพาะการวิจารณ์หนังสือหรือวรรณกรรม สังเกตว่าในประเทศไทยจะมีลักษณะของการรีวิวหรือแนะนำ มากกว่าการวิจารณ์อย่างจริงจัง ตรงไปตรงมา คุณมองว่าภาวะแบบนี้เกิดจากอะไร

จริงๆ ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมดนะ ซึ่งนำไปสู่คำถามอีกข้อหนึ่งที่ว่า ทำไมวัฒนธรรมการวิจารณ์ของสังคมไทยถึงอ่อนแอ

ถ้าเรามองว่าตัวกลางของการเชื่อมระหว่างตัวงานกับคนอ่าน มีมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องบอกว่ามีน้อยจริงๆ เทียบกับในต่างประเทศมีคนที่เป็น journalist เยอะ รวมถึงคนที่เขียนงานวิจารณ์เป็นหลัก เขามีพื้นที่ให้เขียนงานวิจารณ์ทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละสามเล่ม แต่สังคมไทยอุตสาหกรรมการอ่านไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น

เรื่องที่เป็นรูปธรรมมากๆ คือนักวิจารณ์ในไทยยังไม่มีพื้นที่ พูดง่ายๆ คือทำเป็นอาชีพหลักได้ยากพอๆ กับการเป็นนักเขียน หรืออาจแย่กว่านักเขียนด้วยซ้ำ อย่างเราเองก็เคยอยากเป็นนักวิจารณ์ ไม่ได้อยากเป็นอาจารย์ แต่พอได้คุยกับนักวิชาการที่ภาค ก็คืออาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ แกก็บอกว่าอยู่ไม่ได้หรอก (หัวเราะ) เพราะมันไม่มีทั้งพื้นที่ ไม่มีทั้งคน

แต่อีกมุมหนึ่ง การเขียนวิจารณ์ประเภทที่จริงจัง ลุ่มลึก ก็เหมือนจะถูกสงวนไว้สำหรับผู้มีความรู้หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นด้วยรึเปล่า

ก็มีส่วน ซึ่งว่าไปแล้วก็ย้อนแย้งพอสมควร แต่ภาวะแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ไทยเท่านั้น พูดง่ายๆ คือเป็นกันทั่วโลก

ถ้าพูดในส่วนของไทย เราเคยอ่านงานคล้ายๆ ตำราเรียนเกี่ยวกับวรรณกรรมไทย เขาก็เขียนนิยามไว้เลยว่า หลักการวิจารณ์คืออะไร ซึ่งก็เขียนไว้ชัดเจนว่า เป็นงานที่ต้องอาศัยคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสายนั้นๆ นั่นคือปัญหาหนึ่ง

อีกปัญหาหนึ่งคือ ไม่ใช่แค่ตัวนิยามที่ระบุไว้เท่านั้น แต่คนที่เป็นนักวิชาการหรือคนที่เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมเอง ก็เชื่ออย่างนั้นด้วย คือเชื่อว่าไม่มีใครรู้ดีกว่าฉัน หรือเชี่ยวชาญกว่าฉัน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไปด้วยกันได้ดีในบริบทสังคมไทย ที่มีการแบ่งลำดับชั้นกันชัดเจน กลุ่มหนึ่งก็เชื่อว่าตัวเองมีอำนาจ เป็นผู้ให้ความรู้ ส่วนอีกกลุ่มคนก็เชื่อว่าตัวเองไม่มีอำนาจ ไม่มีปากเสียงอะไร แม้แต่ในห้องเรียน คุณก็จะเห็นว่าเป็นอย่างนั้น

ถามว่าแล้วทำไมไม่มีมือสมัครเล่นที่ทำงานแบบนี้ออกมา ก็เพราะว่าวัฒนธรรมการวิจารณ์มันอ่อน คือไม่มีทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งคือคนไม่เคยเห็นตัวอย่างงานวิจารณ์ประเภทนี้ที่แพร่หลาย อีกด้านคือไอเดียเรื่อง authority ที่ฝังหัวคนไทย ซึ่งอาจต้องโทษสถาบันการศึกษาเป็นหลัก ที่ทำให้คนจำนวนมากไม่รู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะพูดหรือวิจารณ์อะไรได้ ถ้าหากตัวเองไม่มีความรู้ เรียกว่าเป็นวิธีคิดที่ฝังอยู่ในเซรีบรัมของคนไทยเลยด้วยซ้ำ

นอกจากเรื่องความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีปัจจัยอื่นๆ ไหมที่ทำให้วัฒนธรรมการวิจารณ์ของบ้านเราอ่อนแอ

มีอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งเราคิดว่าสำคัญมาก ก็คือเรื่องความใกล้ชิดกันของคนในวงการ ซึ่งอาจทำให้คนที่ทำงานด้านนี้ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์เนื้องานอย่างตรงไปตรงมาได้

เอาแค่ในวงการนักเขียนนักอ่านที่เราเคยสัมผัสมา เนื่องจากอุตสาหกรรมมันเล็ก คนในวงการรู้จักกัน มีความสัมพันธ์บางอย่างที่ยึดโยงกันในทางใดทางหนึ่ง ทำให้แม้แต่คนที่เป็นคอลัมนิสต์ หรือคนที่มีหน้าที่เขียนรีวิวหนังสือ อาจเกิดความรู้สึกอึดอัดใจหากจะต้องวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา อันนี้เป็นเรื่องที่ไม่รู้จะแก้ยังไงเหมือนกัน

เราเชื่อว่าหลายคนก็คิดอยู่ลึกๆ ว่าอยากวิจารณ์ แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่า พูดออกไปแล้วจะดีต่อวงการเหรอ จะดีต่อนักเขียนคนนี้ที่เรารู้ว่าหนังสือเขาขายไม่ออกอยู่แล้วเหรอ มันจะทำให้ขายไม่ออกมากยิ่งขึ้นรึเปล่า อะไรทำนองนี้ เว้นแต่ว่าคุณจะเป็นรุ่นใหญ่ที่สามารถพูดหรือวิจารณ์ได้โดยไม่ต้องแคร์คนอื่นเท่าไหร่นัก

แม้แต่ตัวเราเองที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับวงการนักเขียนหรือสำนักพิมพ์มากนัก ก็ยังรู้สึกว่าต้องคิดก่อน สิ่งที่รู้สึกไม่ดีกับตัวเองมากๆ เวลาที่ต้องเจอสถานการณ์แบบนี้ก็คือ ถ้าเรารู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้มันแย่มาก แทนที่เราจะวิจารณ์ไปตรงๆ เราก็แค่ไม่พูดถึงมัน พูดง่ายๆ คือปล่อยผ่านไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีเลย เราคิดว่าภาวะแบบนี้มีส่วนอย่างมากที่ทำให้วงการวิจารณ์บ้านเรายังเตาะแตะอยู่

 

ที่เมืองนอกเป็นยังไง วิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาได้ไหม

ความแตกต่างคือเมืองนอกจะเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ และสื่อต่างๆ ที่นำเสนอเนื้อหาเหล่านี้ก็มีความเป็นสถาบันที่เข้มแข็งอยู่ อย่างเช่นที่อังกฤษ มีนิตยสารหัวหนึ่งชื่อ Literary Review เป็นหนังสือเชยๆ ที่ยังออกทุกเดือน ขายได้เดือนละเป็นหมื่นเล่ม แค่นี้ก็จบแล้ว แล้วตัวคนวิจารณ์กับคนที่ถูกวิจารณ์ ก็ค่อนข้างมีระยะห่างกันอยู่ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เขาอาจรับรู้ความคิดของกันและกันบ้าง แต่ไม่ได้มีความรู้สึกว่าต้องเกรงใจกัน มันไม่ใช่หน้าที่ของนักวิจารณ์หรือคอลัมนิสต์ที่จะปกป้องผลประโยชน์ของคนเขียน

เขาไม่ต้องมานั่งคิดว่า เฮ้ย มันจะกระทบหรือขัดใจพี่ก.ไก่ หรือเปล่าวะ เขาแค่ทำหน้าที่ตัวเอง เขียนวิจารณ์ไปตามที่ตัวเองคิด แล้วต่างคนก็ต่างให้เกียรติกัน เคารพพื้นที่ของกันและกัน ขณะเดียวกันในมุมคนอ่าน ก็เป็นไปได้อย่างมากที่จะไม่เชื่อนักวิจารณ์เสมอไป หมายความว่าคนวิจารณ์ก็ทำหน้าที่เขาไป ส่วนคนอ่านจะเชื่อหรือไม่ก็อีกเรื่อง ไม่ได้มีผลกระทบกับยอดขายหรือความนิยมของคนอ่านขนาดนั้น

 

สุธิดา วิมุตติโกศล นักวิจารวรรณกรรม

ที่บอกว่านักวิจารณ์ถูกมองว่าต้องเป็นผู้มีความรู้ ส่วนใครไม่มีความรู้ก็ไม่มีสิทธิวิจารณ์ แล้วคุณมองการวิจารณ์หรือการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่โซเชียลทุกวันนี้ยังไง

มันก็ไม่ถูกนับว่าเป็นอะไรที่น่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันก็ต้องถามกลับด้วยว่า คนที่ใช้พื้นที่เหล่านี้ในการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์อะไรสักอย่าง อย่างจริงจังและตรงไปตรงมา มีอยู่มากน้อยแค่ไหน

ถ้าดูจากในโลกของภาษาอังกฤษ ตอนที่ทำธีสิส เราเคยเข้าไปไล่ดูในเว็บ goodreads เพื่อเก็บข้อมูล ซึ่งมันมีนักอ่านสารพัดชนิด ทั้งมืออาชีพ ทั้งคนทั่วไปที่เข้ามาแสดงความเห็นกัน ซึ่งส่วนมากก็เป็นความเห็นที่ยืดยาวและจริงจังพอสมควร ตอนนั้นเราก็พยายามหารีวิวลักษณะนี้ของคนอ่านไทย ว่ามีบ้างไหม ปรากฏว่าหาไม่เจอ

สุดท้ายมันอาจย้อนกลับมาที่ว่า สังคมไทยอาจไม่ใช่สังคมที่ชอบแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องแบบนี้ เวลาเราเสพงานอะไรก็ตาม เราอาจคิดบางอย่างอยู่ในใจ แล้วก็จบที่ตัวเรา แค่นั้น หรือถ้าจะแสดงความเห็น ถ้าเข้าไปดูตามเพจต่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นทำนองว่า ชอบมากนะคะ ให้กำลังใจอะไรกันไป

คุณพอจะเห็นทางออกบ้างไหม ว่าถ้าจะแก้ปัญหานี้ ต้องเริ่มจากจุดไหน

(นิ่งคิด) ถ้าจะให้คิดตอนนี้ เราคิดว่าการทำให้งานเหล่านี้มัน impersonal หรือไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัว คือหัวใจสำคัญ เพราะการวิจารณ์มันเกิดขึ้นได้ยากในสังคมที่คนชอบ take ทุกอย่างเป็นลักษณะส่วนตัว เช่น ถ้าเราไม่รู้จักคนๆ นั้น เราก็พูดทุกอย่างได้ แต่พอมีเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวขึ้นมา มันก็อาจมีผลที่ทำให้เราไม่สามารถวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาได้

อาจารย์ผู้ใหญ่คนหนึ่งเคยเตือนเราไว้ว่า คุณไม่ต้องมายุ่งกับวงการนี้มาก ตอนแรกเราก็งงว่าทำไม แต่ตอนนี้เราเริ่มเห็นภาพแล้วว่า เมื่อไหร่ที่เราเริ่มรู้จักคน เราจะไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้ ไม่อยากวิจารณ์เขา แต่ถ้าต่างคนต่างไม่รู้จักกันเลย การที่อาจารย์สุธิดา จะวิจารณ์คุณพันธวัฒน์ คุณก็อาจไม่รู้สึกอะไร เพราะเราไม่รู้จักกัน แต่ถ้ารู้จักกันขึ้นมา ก็จะเกิดภาวะอย่างที่บอกไป

สรุปได้ไหมว่า วัฒนธรรมการอ่าน-การวิจารณ์ของไทยในภาพรวม ยังถูกครอบงำอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์และวิธีคิดแบบชาตินิยม ซึ่งถูกปลูกฝังกันมาตั้งแต่ในระบบการศึกษา

ทำนองนั้น เวลาเราได้ยินว่าคนอ่านหนังสือปีละเจ็ดแปดบรรทัดหรือปีละกี่เล่มๆ เรารู้สึกว่าไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคืออ่านอะไร และอย่างไร

ถ้าถามเรา เราก็จะตอบว่า สุดท้ายแล้วฐานคิดของการอ่านหรือการวิจารณ์ที่ควรจะเป็น ก็คือการทำให้เรามีความคิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งคุณจะเอาไปอ่านเงาะป่าก็ได้ อ่านการ์ตูน หรืออ่านวรรณกรรมคลาสสิกก็ได้

แต่การปลูกฝังการอ่านของเมืองไทย ไม่ว่าคุณจะอ่านงานแบบไหน ไม่ว่างานชิ้นนั้นจะท้าทายหรือลุ่มลึกแค่ไหน คุณก็จะอ่านมันในลักษณะสมยอมต่อตัวบท อ่านด้วยความรู้สึกที่พร้อมจะเชื่อทุกอย่างที่อยู่ในนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ต่อให้คุณอ่านงานเกี่ยวกับการปฏิวัติ ก็ไม่มีความหมายอะไร

ทราบมาว่าคุณสนใจงานวรรณกรรมที่เรียกว่า postcolonial literature (วรรณกรรมหลังอาณานิคม) เป็นพิเศษ อยากให้อธิบายหน่อยว่างานประเภทนี้คืออะไร 

จริงๆ ณ ตอนนี้ก็ยังมีการถกเถียงเรื่องนิยามกันอยู่ ว่าครอบคลุมแค่ไหนบ้าง แต่ถ้าพูดให้กว้างที่สุด ก็คืองานที่ถูกผลิตโดยนักเขียนที่มาจากประเทศที่มีประวัติศาสตร์อยู่ใต้อาณานิคม เนื้อหาของงาน postcolonial จะพูดถึงชีวิตของกลุ่มคนชายขอบ หรือคนที่อาจจะถูกกดขี่ในมิติต่างๆ จากคนกลุ่มใหญ่หรือคนที่เคยมีอำนาจในฐานะเจ้าอาณานิคมในสังคมนั้นๆ  ซึ่งปัจจุบันงานประเภทนี้ก็ขยายขอบเขตกว้างมากขึ้น และเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่พอสมควร เช่น เรื่องที่เด่นมากๆ ตอนนี้คือเรื่องผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย

 

จากที่คุณศึกษางานประเภทนี้มา มีแง่มุมไหนที่น่าสนใจและเชื่อมโยงกับสังคมไทยได้บ้าง

เรารู้สึกว่าโดยพื้นฐานคนไทย จะมองไม่ค่อยออกว่าตัวเองมีอะไรที่เชื่อมโยงกับโลกแบบเป็นเรื่องเป็นราว เช่น ถ้ามีโรฮิงญามาป้วนเปี้ยน เรียกร้องจะเข้าประเทศ เราจะเชื่อมโยงไม่ได้ว่าสิ่งนี้เกี่ยวอะไรกับเรา และไม่รู้ว่าสิ่งนี้สำคัญยังไงกับโลกใบนี้

การศึกษาวรรณกรรมประเภทนี้ทำให้เราสามารถเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ได้ เห็นที่มาที่ไปของการล่าอาณานิคมซึ่งส่งผลต่อคนเหล่านี้ ทุกอย่างมันมีที่มาที่ไป ไม่ใช่ว่าจู่ๆ ก็โผล่มาจากไหนไม่รู้ แล้วถูกยกมาแปะที่ชายแดนไทย ส่วนตัวเราคิดว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน แต่คนไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่

ทำไมคนไทยถึงไม่ค่อยสนใจงานประเภทนี้

สำหรับคนในประเทศที่เคยตกอยู่ใต้อาณานิคม เขามีแนวโน้มที่จะได้รับอิทธิพลจากงานในโลกตะวันตกมากกว่าคนไทยเยอะมาก เพราะมันฝังอยู่ในระบบการศึกษาของเขาที่ถูกควบคุมจัดการโดยเจ้าอาณานิคม ซึ่งมันก็ผลักดันให้เขารู้สึกว่าอยากจะขัดขืนต่อต้าน มันมาพร้อมกับ spirit ต่อต้านอาณานิคม

แต่ในกรณีของไทย งานต่างชาติจำนวนมากที่มาจากประเทศอดีตเจ้าอาณานิคม ถูกนำเข้ามาโดยคนที่ได้รับการยอมรับในสังคมไทย โดยเฉพาะชนชั้นปกครอง ในฐานะตัวแทนของวัฒนธรรม อารยธรรม ขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้เข้ามาทดแทนความเชื่ออีกชุดหนึ่งเกี่ยวกับความดีงามของวรรณกรรมไทย ภาษาไทย ซึ่งถูกพยุงไว้ด้วยแนวคิดชาตินิยมอีกทีหนึ่ง

พูดง่ายๆ ว่าความชื่นชมอารยธรรมจากโลกตะวันตกกับความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้ ทำให้งานวรรณกรรมหลังอาณานิคมซึ่ง ‘โต้กลับ’ เรื่องเล่ากระแสหลักของเจ้าอาณานิคม ยังไม่มีที่ทางในสังคมนี้เท่าไหร่

ในฐานะนักวิจารณ์ คุณคิดยังไงกับคำพูดที่คนชอบใช้ตอบโต้นักวิจารณ์ ทำนองว่า ถ้าเก่งนักทำไมไม่ทำเอง เขียนเอง  

อาจต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การวิจารณ์ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเป็นการตัดสินเชิงคุณค่าเสมอไป หลายๆ ครั้งงานวิจารณ์ โดยเฉพาะที่มีลักษณะวิชาการหน่อย คือการนำเอาองค์ความรู้ทางด้านวรรณกรรมวิจารณ์มาเป็นเครื่องมือในการตีความตัวบท หรือส่องให้เห็นแง่มุมบางอย่างที่ไกลไปกว่าระดับความหมาย ซึ่งจะนำไปสู่ข้อสรุปแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นการมองตัวบทเป็นภาพสะท้อนสังคม เป็นผลผลิตของมายาคติบางอย่าง หรือต่อยอดไปสู่ความคิดเชิงนามธรรม ก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้วิจารณ์

ดังนั้น โดยส่วนตัวจึงไม่ค่อยรู้สึกอะไรกับคำตอบโต้ทำนองนี้ มันอาจเป็นปัญหาเชิงทัศนคติส่วนบุคคลมากกว่าจะเป็นปัญหาจริงๆ ของอาชีพนักวิจารณ์ แต่ถ้าถูกใครถามเข้าจริงๆ คงตอบได้ง่ายมากๆ ว่าไม่มีปัญญาเขียน แต่สมมติว่าเราเขียนงานวรรณกรรมเองได้ ก็คงจะทำเหมือนกัน

สุดท้ายแล้วฟังก์ชั่นของนักวิจารณ์ที่มีต่อแวดวงการอ่านการเขียน รวมถึงสังคม คืออะไร

ถ้าถามถึงในประเทศไทยว่าตอนนี้นักวิจารณ์มีบทบาทอะไรไหม เราคิดว่าแทบไม่มี แต่ถ้าถามในเชิงอุดมคติว่ามันน่าจะมีประโยชน์อะไรบ้างไหม ก็คงมีบ้าง นักเขียนคนหนึ่งเคยบอกเราว่า นักวิจารณ์มีหน้าที่เหมือนคนจดบันทึกตามหลังว่านักเขียนทำอะไรกันไปแล้วบ้าง ฟังทีแรกดูน่าเวทนา แต่ก็มีความจริงอยู่ในนั้น เพียงแต่อาจไม่ใช่ทั้งหมด

ในความคิดเรา นักวิจารณ์เป็นฟันเฟืองสำคัญชิ้นหนึ่งในอุตสาหกรรมหนังสือ ในประเทศที่การอ่าน-การเขียนเข้มแข็ง บ่อยครั้งที่นักวิจารณ์เป็นคนกำหนดเทรนด์ของการเขียนผ่านทางการวิจารณ์หนังสือที่มีอยู่ในตลาด และการเสนอกรอบแนวคิดต่างๆ ที่ทำให้ประเด็นบางประเด็นเป็นที่สนใจขึ้นมา ความสัมพันธ์ของนักเขียนกับนักวิจารณ์จึงไม่ได้เป็นด้านเดียวขนาดนั้น

แต่ถ้ามองในแง่การส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เราคิดว่าการได้เห็นตัวอย่างของการแสดงออกทางความคิดอย่างเป็นระบบ มันช่วยเปิดความเป็นไปได้ของความคิดเชิงวิพากษ์ที่เป็นหัวใจสำคัญของการเป็นนักอ่านที่ดี

หน้าที่ต่อสังคมของนักวิจารณ์ ถ้าจะมี ไม่ใช่การชี้นำความคิด หรือการบอกให้ใครเชื่อว่าอะไรดีกว่าอะไรจากสถานะของผู้รู้ แต่คือการกระตุกให้คนอ่านคิดใคร่ครวญและตั้งคำถาม ชี้ชวนให้เห็นมุมบางมุมที่อาจถูกมองข้ามไป

คิดแบบอุดมคติสุดๆ คนที่รู้จักตั้งคำถามกับตัวบท ก็จะตั้งคำถามไปเรื่อยๆ จากเรื่องเล่าในโลกหนังสือ ก็อาจลามออกมายังเรื่องเล่าที่ไหลเวียนอยู่ในสังคม จากจุดนี้ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่เราจะมีสังคมที่มีวุฒิภาวะมากขึ้น คือสังคมที่เอื้อต่อการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นระบบ มีกลไกการตรวจสอบที่ช่วยป้องกันไม่ให้ชุดความคิดหรือระบบคุณค่าบางอย่างกลายเป็นสัจธรรมไปโดยอัตโนมัติ

ทั้งหมดทั้งปวง จะไปถึงตรงนั้นได้ ต้องอาศัยเงื่อนไขอื่นๆ อีกมากมาย เฉพาะตัวนักวิจารณ์เองไม่ได้มีอิทธิพลอะไรขนาดนั้น เพียงแต่เป็นองค์ประกอบเล็กๆ ที่น่าจะช่วยเกื้อหนุนกระบวนการนี้ได้

สุธิดา วิมุตติโกศล นักวิจารวรรณกรรม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save