fbpx
สินสอดมีไว้ทำไม? มองสินสอดด้วยเศรษฐศาสตร์

สินสอดมีไว้ทำไม? มองสินสอดด้วยเศรษฐศาสตร์

พลอย ธรรมาภิรานนท์ เรื่อง

 

“กว่าจะโตมาขนาดนี้ แม่ต้องเสียเงินไปเท่าไหร่ ทั้งค่าเทอม ค่าไปซัมเมอร์ที่ต่างประเทศ ค่าเสื้อผ้า เครื่องสำอาง ถือซะว่าเป็นค่าน้ำนมแล้วกันนะ”

หากถามว่าประโยคดังกล่าวพูดถึงอะไร คนไทยเกือบทุกคนคงจะตอบได้ทันทีว่า “สินสอด” สินสอดเป็นธรรมเนียมที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในสังคมไทย คู่รักจำนวนไม่น้อยต้องเลิกกันเพราะสินสอด เจ้าบ่าวบางรายถึงกับต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาเป็นค่าสินสอด

สินสอดมีไว้เพื่ออะไร? ทำไมสินสอดจึงสำคัญขนาดนั้น?

บทความนี้จะสำรวจที่มาและวัตถุประสงค์ของค่าตอบแทนการสมรส ผ่านแว่นตาทางเศรษฐศาสตร์ และหันกลับมาตอบคำถามภายใต้บริบทของสังคมไทยว่า เพราะเหตุใดสินสอดจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งเมื่อมีการแต่งงาน

 

ทำความรู้จักกับค่าตอบแทนการสมรส :

ราคาเจ้าสาว vs. ดาวรี

 

ค่าตอบแทนการสมรส (marriage payment/transaction) คือการให้ทรัพย์สินเพื่อตอบแทนการยินยอมสมรส ค่าตอบแทนการสมรสปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของเกือบทุกสังคม ย้อนหลังไปตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล

อารยธรรมยิ่งใหญ่ของโลกอย่างอียิปต์โบราณ เมโสโปเตเมีย ฮิบรู แอซเท็ก อินคา และกรีกโบราณ ล้วนมีธรรมเนียมให้ค่าตอบแทนสำหรับการสมรสทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมดังกล่าวไม่ได้มีรูปแบบเหมือนกันหมดในทุกสังคม

ค่าตอบแทนการสมรสแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบหลัก ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดเป็นผู้จ่ายและฝ่ายใดเป็นผู้รับ ในกรณีที่ฝ่ายชายเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ฝ่ายหญิง จะเรียกทรัพย์สินส่วนที่มอบให้ ‘ครอบครัวเจ้าสาว’ ว่า “ราคาเจ้าสาว” (bride price) ซึ่งก็คือ “สินสอด” ที่คนไทยรู้จักกันดี ส่วนทรัพย์สินที่มอบให้ ‘เจ้าสาว’ โดยตรงนั้น เรียกว่า “ดาวเวอร์” (dower) หรือ “ทองหมั้น” ตามธรรมเนียมไทยนั่นเอง ทั้งนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้รับจะเป็น ‘ครอบครัวเจ้าสาว’ มากกว่าที่จะเป็นตัวเจ้าสาวโดยตรง จึงเรียกค่าตอบแทนที่ฝ่ายชายมอบให้ฝ่ายหญิงอย่างกว้างๆ ว่า “ราคาเจ้าสาว”

อีกรูปแบบหนึ่งของค่าตอบแทนการสมรส คือกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายให้ค่าตอบแทน และมีฝ่ายชายเป็นผู้รับ โดยเรียกทรัพย์สินส่วนที่มอบให้ ‘ครอบครัวเจ้าบ่าว’ ว่า “ราคาเจ้าบ่าว” (groom price) และเรียกทรัพย์สินส่วนที่ให้แก่ ‘เจ้าบ่าว’ โดยตรงว่า “ดาวรี” (dowry)

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นผู้ให้ค่าตอบแทนนั้น ผู้รับส่วนใหญ่คือตัวเจ้าบ่าวเอง ไม่ใช่ครอบครัว โดยทั่วไป จึงเรียกค่าตอบแทนที่ฝ่ายหญิงมอบให้ฝ่ายชายรวมกันเป็น “ดาวรี”

ควรกล่าวด้วยว่า แต่เดิม ดาวรีคือการให้ทรัพย์สินติดตัวแก่ ‘เจ้าสาว’ โดยครอบครัวฝ่ายหญิง ซึ่งปรากฏทั้งในอาณาจักรโรมัน ไบแซนไทน์ ยุโรปยุคกลาง รวมไปถึงบราซิลในช่วงทศวรรษที่ 17-18 อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ฝ่ายชายจะเป็นผู้มีสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ส่งผลให้ในระยะยาว ความหมายและลักษณะการให้ดาวรีจึงค่อยๆ เปลี่ยนไป จากที่เคยเป็นทรัพย์สินซึ่งให้แก่ฝ่ายหญิง กลายมาเป็นทรัพย์สินซึ่งให้แก่ฝ่ายชายในที่สุด

 

ในปัจจุบัน เรายังคงพบเห็นการให้ค่าตอบแทนการสมรส ทั้งการให้ราคาเจ้าสาวและดาวรีได้ทั่วไป โดยประเทศที่มีการให้ราคาเจ้าสาวโดยฝ่ายชาย ได้แก่ ประเทศที่เคยอยู่ใต้อิทธิพลของอาณาจักรออตโตมัน เช่น อิรัก ตุรกี อียิปต์, ประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากจีน เช่น ไต้หวัน ไทย รวมถึงจีนเอง และประเทศในแอฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) ส่วนธรรมเนียมการให้ดาวรีแก่ฝ่ายชายนั้น แพร่หลายในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ เช่น อินเดีย บังคลาเทศ และปากีสถาน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ธรรมเนียมการให้ค่าตอบแทนการสมรสในบางพื้นที่ เช่น ยุโรปตะวันตก และยุโรปตะวันออก ได้เลือนหายไปจากสังคมแล้ว ในขณะที่ปัจจุบัน การให้ค่าตอบแทนการสมรสยังคงแพร่หลายอยู่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ถ้าเช่นนั้น วัตถุประสงค์ของค่าตอบแทนการสมรสคืออะไร? ค่าตอบแทนเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อสมรสหรือไม่? เมื่อประเทศยกระดับการพัฒนาแล้ว ค่าตอบแทนการสมรสจะหายไปจากสังคมหรือไม่?

 

หน้าที่ของค่าตอบแทนการสมรสจากมุมมองเศรษฐศาสตร์

 

งานศึกษาเรื่องค่าตอบแทนการสมรสที่ใช้กรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์ยังมีจำนวนไม่มากนัก ปัจจุบันจึงยังไม่มีงานศึกษาที่สามารถตอบได้ว่า เพราะเหตุใดค่าตอบแทนการสมรสจึงยังมีอยู่ในบางประเทศ และรูปแบบของค่าตอบแทนการสมรสนั้น เกี่ยวข้องกับระดับการพัฒนาประเทศหรือไม่ ทั้งนี้ งานศึกษาส่วนใหญ่เป็นการทำความเข้าใจถึงที่มาและหน้าที่ของค่าตอบแทนการสมรส ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 แนวคิดหลัก ดังนี้

 

เพื่อเป็นแรงจูงใจในตลาดคู่สมรส

แนวคิดแรกมองว่า ค่าตอบแทนการสมรสมีที่มาจากความไม่สมดุลของประชากร ในสังคมที่ประชากรชายมีสัดส่วนสูงกว่าประชากรหญิงมาก ประชากรชายที่มีจำนวนมากต้องแข่งขันกันแย่งคู่สมรส ซึ่งก็คือประชากรหญิงที่มีจำนวนน้อย ดังนั้น ฝ่ายชายจึงต้องเป็นผู้ให้ค่าตอบแทนการสมรสแก่ฝ่ายหญิง เพื่อจูงใจให้ฝ่ายหญิงยินยอมสมรสกับตน จนนำไปสู่ธรรมเนียมการให้ราคาเจ้าสาว

ในทางตรงกันข้าม ในสังคมที่ประชากรหญิงมีสัดส่วนสูงกว่าประชากรชายมาก จะเกิดธรรมเนียมการให้ดาวรีขึ้น เพราะประชากรหญิงที่มีจำนวนมาก ต้องแข่งขันกันโน้มน้าวให้ฝ่ายชายเลือกตนเองเป็นคู่สมรส ฝ่ายหญิงจึงต้องเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนการสมรสแก่ฝ่ายชาย

การพิจารณาสถิติด้านประชากรพบว่า แนวคิดเกี่ยวกับความไม่สมดุลของประชากรอาจมีน้ำหนักไม่มากนัก เพราะในบางประเทศที่มีธรรมเนียมการให้ดาวรี เช่น อินเดียและบังคลาเทศ กลับมีจำนวนประชากรชายในวัย 20-50 ปี มากกว่าประชากรหญิงมาตั้งแต่ปี 1950 เป็นอย่างน้อย หรืออย่างในกรณีของไทย ตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา ก็มีทั้งช่วงที่ประชากรชายในวัย 20-50 ปี มีจำนวนน้อยกว่า และช่วงที่มีจำนวนมากกว่าประชากรหญิง โดยจำนวนประชากรทั้งสองเพศไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

 

เพื่อชดเชยปัจจัยการผลิต

แนวคิดนี้เสนอว่า ค่าตอบแทนการสมรสคือการชดเชยกำลังของปัจจัยการผลิตที่เสียไปจากการสมรส หากผู้หญิงมีบทบาทในกระบวนการผลิตของครัวเรือนมาก เช่น ในสังคมที่ใช้เครื่องมือน้ำหนักเบาในการทำเกษตรกรรม ฝ่ายชายต้องจ่ายค่าตอบแทนการสมรสให้ครอบครัวฝ่ายหญิง เพื่อชดเชยให้กับกำลังการผลิต และความสามารถในการสืบสกุลของครอบครัวที่สูญเสียไป เห็นได้จากธรรมเนียมการให้ราคาเจ้าสาวในจีน และในกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้สะฮะรา ซึ่งเป็นสังคมที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมมากในเกษตรกรรม

ส่วนในสังคมที่บทบาทของผู้หญิงในกระบวนการผลิตมีจำกัด ครอบครัวฝ่ายหญิงต้องให้ดาวรีแก่ฝ่ายชาย เพื่อชดเชยต้นทุนส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการรับสมาชิกซึ่งไม่มีผลิตภาพเข้าสู่ครัวเรือน

นักวิชาการหลายคนเห็นว่า การมองจากมุมค่าชดเชยทำให้สามารถอธิบายการเปลี่ยนรูปแบบของค่าตอบแทนการสมรสได้ด้วย ในสังคมยุโรปยุคกลาง และกลุ่มสังคมเกษตรกร Vokkaliga ในอินเดีย ธรรมเนียมการให้ราคาเจ้าสาวได้เปลี่ยนไปเป็นการให้ดาวรี พร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

จากแนวคิดนี้ เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าและเศรษฐกิจขยายตัว ผลิตภาพแรงงานและฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น ทำให้ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการทำเกษตรกรรม จึงถูกเปลี่ยนสถานะจาก ‘กำลังการผลิต’ ไปเป็น ‘ภาระต่อครอบครัว’ และนำไปสู่การเปลี่ยนไปให้ค่าชดเชยแก่ฝ่ายชายในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การมองว่าค่าตอบแทนการสมรสเป็นค่าชดเชย ไม่สามารถอธิบายธรรมเนียมของบางสังคม เช่น ในกลุ่มชนชั้นสูงของอินเดีย ซึ่งใช้ค่าตอบแทนการสมรสเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความร่ำรวยได้ นอกจากนี้ ข้อสันนิษฐานนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่า เหตุใดในบางประเทศ เช่น อินเดีย บังคลาเทศ และปากีสถาน จึงยังมีธรรมเนียมการให้ดาวรีอยู่ โดยมูลค่าของดาวรีก็ไม่ได้ลดลง ทั้งที่ผู้หญิงในสังคมเหล่านั้นได้เข้าร่วมในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลทางเศรษฐกิจแล้ว

 

เพื่อให้ฝ่ายหญิงมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน

แนวคิดนี้แบ่งได้เป็นสองแนวคิดย่อย คือแนวคิดเกี่ยวกับราคาเจ้าสาว และแนวคิดเกี่ยวกับดาวรี โดยแนวคิดแรกมองว่า ราคาเจ้าสาวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันชีวิตหลังสมรสของฝ่ายหญิง หากหย่าร้างหรือฝ่ายชายเสียชีวิต ฝ่ายหญิงจะได้นำทรัพย์สินของตนมาใช้ดำเนินชีวิตต่อได้ หลักฐานสนับสนุนแนวคิดนี้ ได้แก่ ธรรมเนียมการให้ราคาเจ้าสาวในสังคมจีนดั้งเดิม ซึ่งบิดามารดาฝ่ายหญิงจะเป็นผู้รับทรัพย์สินจากฝ่ายชาย หลังจากนั้นจึงมอบส่วนหนึ่งของราคาเจ้าสาวให้บุตรสาวของตน เพื่อเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลในช่วงการดำเนินชีวิตคู่

แนวคิดที่สองเกี่ยวกับดาวรีเห็นว่า ดาวรีเป็นธรรมเนียมที่มีขึ้นเพื่อใช้แสดงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้หญิง โดยไม่ได้มีความสัมพันธ์กับราคาเจ้าสาวแต่อย่างใด เนื่องจากแต่เดิม ดาวรีคือทรัพย์สินที่ครอบครัวฝ่ายหญิงมอบให้แก่เจ้าสาวเมื่อสมรส ดาวรีจึงมีที่มาจากความต้องการแบ่งมรดกให้กับบุตรสาว ก่อนที่บิดามารดาจะเสียชีวิต (Pre-mortem inheritance)

จากทั้งสามแนวคิดดังกล่าว ไม่มีแนวคิดใดที่สามารถอธิบายหน้าที่ของค่าตอบแทนการสมรสในทุกสังคมได้ ทั้งนี้เนื่องจากค่าตอบแทนการสมรสไม่ได้มีที่มาจากหลักเศรษฐศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ยังเชื่อมโยงกับบริบทของสังคม ที่มีความซับซ้อนและมีความเฉพาะเจาะจงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่การพัฒนาเทคโนโลยีส่งผลให้สังคมมีพลวัตสูง ทั้งสามแนวคิดข้างต้นซึ่งไม่ได้พิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงไม่สามารถอธิบายวัตถุประสงค์ของค่าตอบแทนการสมรสในสังคมปัจจุบันได้ดีนัก

 

สินสอดในไทย : ค่าตอบแทนการเลี้ยงดู เครื่องมือจัดลำดับสถานภาพทางสังคม และทัศนคติต่อหญิง

 

ในปัจจุบัน เมื่อมีการเรียกสินสอดโดยครอบครัวฝ่ายหญิงในสังคมไทย มักหนีไม่พ้นเหตุผลว่า “เพื่อเป็นค่าน้ำนม” และ “เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าฝ่ายชายสามารถเลี้ยงดูบุตรสาวได้” จะเห็นได้ว่า ทั้งสองเหตุผลไม่สอดคล้องกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวไปข้างต้นนัก

การให้สินสอดในลักษณะที่เป็นค่าน้ำนม มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยน คือเป็นค่าตอบแทนสำหรับต้นทุนที่ครอบครัวใช้เลี้ยงดูฝ่ายหญิงมาจนกระทั่งสมรส ถึงแม้ว่าการให้สินสอดในลักษณะนี้จะคล้ายกับแนวคิดที่สองข้างต้น (เพื่อชดเชยปัจจัยการผลิต) แต่ก็ไม่เหมือนกันทั้งหมด

กล่าวคือ การให้สินสอดเพื่อชดเชยมองว่า ฝ่ายหญิงคือกำลังแรงงานซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญในสังคมเกษตรกรรม สินสอดในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นการชดเชยมูลค่าผลผลิตที่ครอบครัวฝ่ายหญิงจะเสียไปในอนาคต ส่วนการให้สินสอดเป็นค่าน้ำนมในปัจจุบันนั้น กลับถูกคิดจากต้นทุนค่าเลี้ยงดูฝ่ายหญิงในอดีตเป็นหลัก โดยอาจมีปัจจัยอื่นประกอบ เช่น ผลผลิตที่ฝ่ายชายจะได้จากฝ่ายหญิงในฐานะแรงงาน (โดยไม่ได้คิดจากบริบทของสังคมเกษตรกรรม) และความพึงพอใจที่ฝ่ายชายจะได้รับในอนาคต

วัตถุประสงค์อีกประการของสินสอดในสังคมไทย คือเป็นเครื่องมือที่ใช้สร้าง ประกาศ และคัดกรองสถานภาพทางสังคม ในทางหนึ่ง สินสอดมูลค่าสูงสามารถใช้ ‘สร้าง’ และ ‘ประกาศ’ สถานภาพทางสังคมของฝ่ายหญิงและฝ่ายชายได้ เพราะสินสอดที่มีมูลค่าสูงแสดงให้สังคมเห็นว่า ฝ่ายหญิงมีความเพียบพร้อมมากพอ จนฝ่ายชายยินดีเสียเงินเป็นจำนวนมากเพื่อแลกกับการสมรส ส่วนฝ่ายชายเองก็ได้แสดงสถานะทางการเงินผ่านมูลค่าสินสอด ในอีกทางหนึ่ง สินสอดมูลค่าสูงก็เปรียบได้กับอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด กล่าวคือ สินสอดมูลค่าสูง สามารถกีดกันฝ่ายชายที่มีฐานะและสถานภาพทางสังคมไม่เป็นไปตามที่ฝ่ายหญิงต้องการได้

ที่สำคัญยิ่งไปกว่าวัตถุประสงค์ คือทัศนคติต่อหญิงที่เป็นพื้นฐานของสินสอดในสังคมไทย การเรียกสินสอดเพื่อเป็นค่าน้ำนมชี้ให้เห็นว่า การเลี้ยงดูบุตรสาวทำให้เกิด ‘ต้นทุน’ ที่จำเป็นต้องได้รับการชดเชย ในขณะที่ถึงแม้การเลี้ยงดูบุตรชายจะก่อให้เกิดต้นทุนเช่นกัน แต่ครอบครัวฝ่ายชายกลับไม่จำเป็นต้องได้รับค่าชดเชยจากฝ่ายหญิง ทำให้ตีความได้ว่า บุตรชายสามารถให้ผลผลิตหรือคุณค่าบางประการ ที่สามารถชดเชยกับต้นทุนเหล่านั้นได้ โดยที่ตัวบุตรสาวเองไม่สามารถชดเชยได้ในลักษณะเดียวกัน

ส่วนการเรียกสินสอดเพื่อยืนยันว่าฝ่ายชายสามารถเลี้ยงดูบุตรสาวได้นั้น ก็แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยยังคงมองว่าหญิงไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้ หรือหากทำได้ ก็เหมาะสมที่จะทำหน้าที่อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนมากกว่า ในทางปฏิบัติ มุมมองนี้จึงมีส่วนในการปิดโอกาสหญิงจากการเข้าสู่ตลาดแรงงาน และจากการประกอบอาชีพตามที่ตนเองต้องการ

ทัศนคติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า หญิงไทยยังคงต้องถูกยึดอยู่กับระบบความเชื่อ และค่านิยมดั้งเดิมของสังคมที่มีอคติต่อหญิง ทั้งการมีคุณค่าด้อยกว่าชาย การเป็นผู้ไร้ความสามารถในการหาเลี้ยงชีพ และการเป็นแม่บ้านแม่เรือน ธรรมเนียมสินสอดจึงเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตซ้ำวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ที่มีมาอย่างยาวนาน ให้ติดแน่นในสังคมไทยยิ่งขึ้นไปอีก

 

อ่านเพิ่มเติม

  1. รักที่จ่ายมา โดยวีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ ตีพิมพ์ใน Way Magazine วันที่ 25 พฤศจิกายน 2559

 

อ้างอิง

  1. Bhatia, Lakshmi. 2006. “The Phenomenon of Dowry: An Analysis”. Studies in Humanities and Social Science, 13 (2), pp. 87-98.
  2. Anderson, Siwan. 2007. “The Economics of Dowry and Brideprice”. Journal of Economic Perspectives, 21 (4), pp. 151-174.
  3. Jones, Caroline. 2011. “Women’s Worth: A Western Misconception”. Nebraska Anthropologist, 26.

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023