fbpx
เด็ก และ อาชญากรรมที่เกิดบนก้อนเมฆ

เด็ก และ อาชญากรรมที่เกิดบนก้อนเมฆ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

เมื่อพูดถึงปัญหาความรุนแรงในเด็ก เราอาจคุ้นชินกับภาพของเด็กที่ถูกตี ถูกผู้ร้ายฉุดไปข่มขืน ถูกคนใกล้ชิด หรือญาติสนิททำมิดีมิร้าย หรือภาพของการล่วงละเมิดทางเพศที่เห็นได้อย่างชัดเจน แต่ในปัจจุบัน ปัญหาความรุนแรงและคดีการล่วงละเมิดทางเพศเด็กนั้นซับซ้อนขึ้นตามการพัฒนาของเทคโนโลยี ความรุนแรงไม่เพียงทิ้งบาดแผลไว้บนร่างกายและจิตใจของเด็ก แต่ยังทิ้งร่องรอยไว้บน ‘ก้อนเมฆ’ หรือโลกดิจิทัลที่เต็มไปด้วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการส่งต่อความรุนแรงให้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยังก่อให้เกิดรูปแบบการล่อลวงใหม่ๆ ที่เด็กอาจจะไม่รู้เท่าทันด้วย

เมื่ออาชญากรรมซับซ้อนขึ้น วิธีรับมือหรือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะหลักฐานในการสืบสวนไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่สถานที่เกิดเหตุที่จับต้องได้อีกต่อไปแล้ว

“ถ้าเป็นอาชญากรรมในอดีต ที่นี่คือที่เกิดเหตุ” ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พูดพร้อมกับผายมือไปทั่วห้อง

“แต่ในโลกปัจจุบัน นอกจากในห้องนี้แล้ว ยังมีที่เกิดเหตุอีกที่ ที่เป็นรูปแบบใหม่และเป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ด้วย” ร.ต.อ.เขมชาติชี้ไปที่คอมพิวเตอร์พร้อมอธิบายเพิ่มเติม ถึงเครื่องมือรูปแบบใหม่ที่อาชญากรใช้ในการละเมิดทางเพศเด็กผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้พรมแดน

ในโลกที่การผลิตและการเข้าถึงข้อมูลสามารถทำได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว คดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่เกิดขึ้นกำลังเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การละเมิดที่เคย ‘เกิดขึ้น’ และ ‘จบลง’ ณ สถานที่นั้นๆ ถูกขยายเวลา และเพิ่มจำนวนครั้งผ่านการแชร์ในโลกออนไลน์ จนดูเหมือนว่า ผู้ล่วงละเมิดได้กลายเป็นใครก็ตามที่เข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต ไม่ได้หยุดอยู่แค่ใครคนหนึ่งอีกต่อไป

รูปแบบของการล่วงละเมิดใหม่ๆ เกิดขึ้นพร้อมกับเทคโนโลยีที่พัฒนา เช่น การถ่ายทอดสด หรือการหาผลประโยชน์จากเด็ก ผู้ล่วงละเมิดอาจขายภาพหรือวีดีโอที่บันทึกภาพอนาจารของเด็กไว้ โดยดำเนินธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ที่ตรวจจับได้ยาก

ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)

บุคคลที่พ่อแม่เชื่อใจและเด็กที่เก็บภัยไว้กับตัว

 

ร.ต.อ.เขมชาติให้ข้อมูลว่า ผู้ก่อเหตุล่วงละเมิดเด็กที่เป็นชาวต่างชาติ มักจะเข้ามาในรูปแบบของนักท่องเที่ยวที่เข้าไปคลุกคลีกับชุมชน สร้างความไว้ใจกับคนในท้องที่และครอบครัวของเหยื่อ และหากดูผิวเผินจากรูปลักษณ์ทั่วไปอาจไม่มีทางรู้ได้ว่าเป็นอาชญากร นอกจากนั้นผู้ต้องหามักมีกลเม็ดเด็ดพรายในการเข้าถึงตัวเด็ก ใช้อาชีพที่สามารถใกล้ชิดกับเด็ก เช่น ครู นักดนตรี และมักใช้จุดอ่อน หรือสิ่งที่เด็กชอบมาเป็นเหยื่อล่อ

“เด็กบางคนเขาไม่มีโอกาสได้ไปว่ายน้ำตามสระว่ายน้ำ เขาก็ใช้สระว่ายน้ำมาหลอกล่อให้เด็กไปที่บ้าน บางคนติดสัญญาณอินเทอร์เน็ตไวไฟความเร็วสูง เพื่อให้เด็กมาเล่นเกมส์ บางคดีผู้ต้องหาอาศัยอยู่คนเดียว แต่ในบ้านกลับมีขนมสำหรับเด็กอยู่เต็มไปหมด ผู้กระทำความผิดบางคนแฝงตัวมาเป็นครูสอนศาสนา เอาจริยธรรมบังหน้า มาสอนเด็กนั่งสมาธิก็มี คนพวกนี้จะมีจิตวิทยา เด็กขาดตรงไหน เขาจะเข้าไปเติมเต็มจุดที่เด็กอยากได้ ค่อยๆ ชักจูง สร้างความเชื่อใจ แล้วจึงล่วงละเมิดทางเพศ”

จากประสบการณ์ทำงานในคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ร.ต.อ.เขมชาติพบว่า การแจ้งความจากเด็กโดยตรงมักไม่ค่อยเกิดขึ้น เป็นผลมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งการที่เด็กไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ผิด เป็นการทำร้ายตนเอง ทั้งความใกล้ชิดของเด็กที่มีต่อผู้กระทำความผิดทำให้เด็กไม่กล้าบอกใคร หรือแม้กระทั่งการที่เด็กกลัวว่า หากเปิดเผยเรื่องราวจะถูกผู้ปกครองต่อว่า

“เด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี หลายๆ คนไม่รู้ว่าสิ่งที่ถูกกระทำนั้นไม่ถูกต้อง บางครั้งเราเจอเด็กที่ไม่ยอมพูด เพราะเด็กคิดว่าการกระทำเหล่านั้นคือสิ่งปกติที่ถูกกฎหมาย หรือในบางกรณีเด็กมีความผูกพันกับตัวผู้ต้องหาสูงมาก เป็นคนที่เด็กเคารพนับถือ ยำเกรง หรือสำนึกบุญคุณ ทำให้เด็กกลัวว่าถ้าเรื่องแพร่งพรายออกไปจะมีผลกระทบต่อชีวิตเขา”

“มีอยู่รายหนึ่ง เด็กไปเล่นที่บ้านของผู้กระทำความผิดแล้วโดนล่วงละเมิดทางเพศ พอกลับบ้านมา พ่อเด็กก็สงสัยว่า ทำไมทวารหนักของเด็กมีร่องรอยเหมือนฟกช้ำ เมื่อสอบถามแล้วเด็กไม่พูด พ่อก็เลยตี เพราะคิดว่าเด็กไปเที่ยวเล่นซุกซน พอถูกตี เด็กที่ไม่รู้จะสื่อสารยังไงก็ยิ่งไม่พูดเข้าไปใหญ่”

เมื่อเด็กไม่บอกความจริง พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กส่วนใหญ่จึงไม่ทราบมาก่อนว่าลูกของตนถูกล่วงละเมิดทางเพศ กระทั่งมีเจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติงาน

“เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ DSI ทำการสืบสวน โดยมากมักจะไม่มีใครมาร้องเรียนว่าลูกหลานเขาถูกล่วงละเมิดทางเพศ และมักจะมารู้หลังจากที่เราไปจับผู้กระทำความผิดแล้ว เมื่อพ่อแม่รู้ เป็นภาพที่สะเทือนใจมาก ไม่มีใครรับได้ที่ลูกเขาถูกกระทำแบบนี้ เขาไว้วางใจผู้กระทำผิด ส่งลูกไปอยู่กับคนที่เขาคิดว่าเป็นคนดี แต่สุดท้ายกลายเป็นคนที่มาทำร้ายลูกเขา โดยที่อาจจะมีผลกระทบเกิดขึ้นกับลูกของเขามากมายในอนาคต”

การสืบสวนในโลกดิจิทัล

อินเทอร์เน็ตเป็นทั้งช่องโหว่ที่เสี่ยงต่อเด็กในการถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางที่เจ้าหน้าที่ใช้เข้าถึงผู้กระทำความผิดในยุคสมัยนี้เช่นกัน

ร.ต.อ.เขมชาติ เล่าว่า ในอดีตก่อนที่คดีล่วงละเมิดทางเพศจะเริ่มลุกลามไปยังโลกดิจิทัล เจ้าหน้าที่มักจะพบว่า ผู้ต้องหามักจะมีภาพลามกอนาจารของเด็กอยู่ในครอบครองเสมอ ไม่ว่าจะในรูปแบบของหนังสือโป๊ หรือไฟล์ในคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่จึงใช้พฤติกรรมของผู้ต้องหาที่มีจุดร่วมเดียวกันนี้มาเป็นข้อสันนิษฐานว่า ผู้ที่มีสื่อลามกอนาจารเด็กในครอบครองมีโอกาสเป็นผู้ก่อคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กในชีวิตจริง

ด้วยเหตุนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงเริ่มเปลี่ยนวิธีการสืบสวน เดิมที่เคยเริ่มต้นสืบจากคำให้การของเหยื่อ ก็เปลี่ยนมายึดสื่อลามกเป็น ‘เครื่องมือนำทาง’ โดยเริ่มติดตามจาก IP Address เพื่อไปพบผู้ล่วงละเมิดทางเพศเด็กในที่สุด

เจ้าหน้าที่จะเปิดคดีด้วยเบาะแสจากสองทางหลักคือ ประสานงานกับหน่วยงานต่างประเทศที่คอยแจ้งผู้ต้องสงสัยที่มีการใช้งานสื่อ หรือเว็บไซต์ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก และอีกวิธีการคือ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตรวจจับพฤติกรรมต้องสงสัยในโซเชียลมีเดีย

“เราจะคอยดูว่า มีใครเข้ามาใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อดาวน์โหลด แชร์ หรือใช้ภาพลามกอนาจารเด็กบ้าง เมื่อพบเราก็จะไปสืบต่อว่าเขาอยู่ตรงไหน ถ้ายังอยู่ในเมืองไทย เราจะลงพื้นที่สืบสวนต่อว่าเขามีพฤติกรรมแบบนี้จริงไหม ถ้าเป็นชาวต่างชาติ เราจะแจ้งย้อนกลับไปที่สถานทูตในประเทศนั้นๆ เพื่อตรวจค้นทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศพร้อมๆ กัน และนำพยานหลักฐานทั้งหมดไปให้หน่วยงานต่างประเทศดำเนินคดีต่อ”

ลงมือทำ ‘ร่วมกัน’

 

ร.ต.อ.เขมชาติ กล่าวว่าการทำงานคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กนั้นเป็นคดีที่ต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่าย

เช่น การสืบสวนข่าวในพื้นที่ ทาง DSI ต้องประสานงานร่วมกับตำรวจท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ NGOs หากผู้ต้องสงสัยเป็นชาวต่างชาติก็จะต้องไปเช็คข้อมูลที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง  การเรียกค่าเสียหายให้เด็ก จะต้องปรึกษาด้านกฎหมายกับอัยการ หากผู้กระทำผิดหนีไปต่างประเทศ ก็จะต้องใช้กฎหมายพิเศษ และประสานงานกับหน่วยงานต่างประเทศด้วย

ขั้นตอนของการพูดคุยกับเด็กที่ตกเป็นเหยื่อก็เช่นกัน ผู้ที่พูดคุยจะต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ เข้าใจจิตวิทยา และธรรมชาติของเด็ก จึงต้องมีการประสานงานกับนักจิตวิทยา และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ได้ทั้งข้อมูล และรักษาความรู้สึกของเด็กที่เป็นเหยื่อ

“แทนที่จะมาอธิบายลักษณะของการถูกกระทำทางเพศเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนผู้ใหญ่ บางทีเราต้องมีกระดาษให้เด็กวาดรูป หรือใช้ตุ๊กตาสองตัวมาให้เด็กแสดงท่าทาง เพราะการไปซักไซ้เด็กที่เจอเหตุการณ์ร้ายๆ มา มันก็เป็นการตอกย้ำความบอบช้ำ และทำให้เด็กแย่ลงกว่าเดิม”

ด้วยลักษณะงานที่ต้องบูรณาการกับหลายฝ่ายเช่นนี้ DSI จึงจับมือกับ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ  หน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง  ในการจัดโครงการฝึกฝนการทำงานคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ภายใต้ชื่อ ‘ลงมือทำ’ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานร่วมกันอย่าง DSI ตำรวจ กรมการปกครอง และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์  รู้เท่าทันภัยที่เปลี่ยนรูปแบบไป เพิ่มความเชี่ยวชาญในการทำงานจริง และสามารถร่วมมือกันทำงานเป็นทีมได้  โดยมี ร.ต.อ.เขมชาติ เป็นคนคิดหลักสูตรที่ถอดบทเรียนมาจากประสบการณ์ในการทำงานจริง

ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)

ทำจริงจับจริง : เรียนรู้จากประสบการณ์

รูปแบบการล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี นับเป็นเรื่องใหม่ แม้แต่คนทำงานในกระบวนการยุติธรรมเองก็ต้องเรียนรู้ให้เท่าทันความซับซ้อนและความหลากหลายของปัญหา นอกจากเรื่องของความเข้าใจแล้ว การ ‘ลงมือทำ’ และการไปเจอสถานการณ์จริง ย่อมเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เข้าไปกะเทาะปัญหาได้ตรงจุด และเป็นการฝึกที่เห็นภาพมากที่สุดด้วย

“เราไม่ใช้คำว่าอบรม แต่ใช้คำว่าลงมือทำ” ร.ต.อ.เขมชาติกล่าว ที่มาของคำว่าลงมือทำนั้น มาจากการใช้คดีที่เกิดขึ้นจริงในการฝึกสอนตลอดการอบรม เจ้าหน้าที่จะต้องผ่านการฝึกที่แบ่งเป็นสามส่วน ตามขั้นตอนการทำงานจริง ‘สืบหา ติดตาม และจับกุม’ พร้อมกับการเรียนรู้พื้นฐาน เทคนิคการสืบสวน หรือการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไปตลอดหนทาง

ในตอนแรก เราอาจจะนึกภาพไม่ออกว่า คดีที่เกิดขึ้นจริงนั้นเป็นอย่างไร แต่เมื่อเริ่มเข้ามาเรียนรู้ สิ่งที่คุณ ‘ไม่มีทางคาดเดา’ จะเกิดขึ้นตลอดเวลา

“หลักสูตรนี้ไม่มีตารางสอน จะรู้เฉพาะคนสอนและคนจัดเท่านั้น คนที่มาอบรมจะไม่รู้ว่าต้องเจออะไรบ้าง เพราะชีวิตจริงของงานสืบสวน คุณจะไม่มีทางคาดเดาสิ่งที่คุณจะเจออีก 1 นาที 1 ชั่วโมงได้เลย”

รูปภาพเพียงใบเดียว หรือเบอร์โทรศัพท์ จะกลายเป็นแค่เบาะแสชิ้นจ้อย ก่อนจะพาเราเข้าสู่อุโมงค์การสืบสวนที่ทะลุไปยังปัญหาที่ใหญ่ขึ้น การจะทำความเข้าใจปัญหา ต้องเริ่มต้นจากการรู้จักปัญหา เมื่อได้เห็นคดีจริง จึงค่อยๆ เรียนรู้เทคนิคการสอบสวน แล้วไล่ไปยังความรู้เทคโนโลยี

“การฝึกจะเริ่มจากรูปภาพรูปเดียว เบอร์โทรศัพท์เบอร์เดียว หรือชื่อคนคนเดียว คือมีเพียงเบาะแสเดียวเท่านั้น แต่ผู้อบรมจะต้องหาหลักฐานแวดล้อม จนสามารถเปิดคดี หรือแจ้งความร้องทุกข์ให้ได้”

บางครั้งรูปภาพที่ใช้เป็นตัวนำทางในการสืบ อาจจะเห็นแค่หลังคาบ้าน หรือมุมเล็กๆ ในพื้นที่จริงเท่านั้น เจ้าหน้าที่จะต้องทำงานกับเทคโนโลยีเพื่อหาทางออกไปสู่เหยื่อหรือผู้ล่วงละเมิด และเข้าสู่ขั้นตอน ‘ติดตาม’ เพื่อออกหมายจับ

กว่าที่จะออกหมายจับ เจ้าหน้าที่จะต้องหาข้อมูล หลักฐาน หรือข่าวกรองในพื้นที่จริง โดยทำงานร่วมกับตำรวจในท้องที่ NGOs หรือการขอคำให้การจากเหยื่อ ซึ่งผู้ฝึกอบรมก็จะต้องเรียนรู้ขั้นตอนพื้นฐานในการพูดคุยกับเด็กด้วย

การ ‘จับจริง’ เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ผู้อบรมจะต้องลงมือทำ เมื่อเจ้าหน้าที่มีหลักฐานและหมายจับพร้อมแล้ว จะต้องนำทีมไปยังสถานที่จริง และจับกุมผู้ต้องหาให้ได้

เราอาจคิดว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ผ่านทุกด่านในการฝึกอบรม จับกุมสำเร็จและเห็นภาพการทำงานที่ชัดขึ้นแล้ว การทำงานจะสิ้นสุด และเริ่มต้นในคดีใหม่ด้วยขั้นตอนเดิมเพียงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงรูปแบบอาชญากรรมยังคงเกิดขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง และอาจไม่มีทางจบสิ้น ด่านต่อไปของเจ้าหน้าที่ทุกคนจึงเป็นการ ‘เฝ้าระวัง’ ภัยคุกคามในอนาคต หรือภัยที่อาจเกิดขึ้นแล้วในประเทศอื่น

“อาชญากรรมคือโลกไร้พรมแดน เราต้องเข้าใจและเตรียมพร้อมกับรูปแบบใหม่ๆ ในอนาคต เช่น การปกปิดตัวตน ใน Dark Web ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง เราต้องเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เคยปฏิบัติหน้าที่สอบสวนจริง ไม่ว่าจะเป็นเนเธอร์แลนด์ แคนาคา เยอรมัน ออสเตรเลีย เพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหว เห็นว่าโลกเขาไปถึงไหนกันแล้ว”

ร.ต.อ.เขมชาติ เล่าว่า หลังจากการอบรมทั้งหมด ความเปลี่ยนแปลงที่โครงการคาดหวังไม่ใช่การสร้างเจ้าหน้าที่หรือนักสืบที่เก่งที่สุด แต่เป็นการสร้างคนทำงานที่ตระหนักต่อปัญหา ทำงานร่วมกันเป็นทีมด้วยจุดหมายเดียวกัน และปฏิบัติงานทุกๆ ขั้นตอนโดยคำนึงถึง ‘เด็ก’ หรือผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง

“การอบรมไม่ใช่การมานั่งเรียนเพื่อไปเป็นนักสืบระดับโลก หรือเพื่ออวดว่าเราเก่ง แต่เพื่อตระหนักต่อปัญหา และเมื่อตระหนักร่วมกันแล้ว เราจะเดินไปข้างหน้าด้วยกัน”

โจทย์ต่อไปของกระบวนการยุติธรรมเพื่อคุ้มครองเด็ก

กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม ผู้จัดการโครงการส่งเสริมสิทธิผู้หญิงและเด็ก ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Institute of Justice (TIJ) เล่าว่า แม้จะมีการอบรมหรือการตระหนักต่อปัญหา แต่นับวันการพัฒนาของเทคโนโลยี ก็ส่งผลให้อาชญากรรมพัฒนารูปแบบไปด้วย สังคมจึงต้องการทั้งความรอบคอบเท่าทันจากผู้ปฏิบัติงาน และความครอบคลุมของกฎหมาย

“เมื่อสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น อาชญากรรมก็ซับซ้อนตามไปด้วย การก่ออาชญากรรมถูกทำได้สะดวกขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ มีการบันทึก โพสต์ภาพ นำไปขายต่อ ซึ่งมันก็มีวิธีการทำงาน หรือกระบวนการที่แปลกใหม่ ดังนั้นวิธีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน จะต้องปรับตัวให้ทันกับความรุนแรงที่เปลี่ยนไป”

“ในด้านกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย ความผิดบางฐานเรายังไม่มีนิยามให้มัน เช่น Online Child Grooming (การเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศ), Cyberstalking (การเฝ้าติดตามเพื่อคุกคามทางอินเทอร์เน็ต) นิยามตามกฎหมายอาญา มันเป็นที่มาของอำนาจของรัฐในการที่จะจัดการกับปัญหา และมันเป็นที่มาของอำนาจของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนั้นกฎหมายอาญาควรจะต้องชัดเจนและแน่นอน”

นอกจากการเตรียมตัวในอนาคตแล้ว กรวิไล ยังชี้ชวนให้ลองมองอีกด้านของปัญหาเกี่ยวกับเด็กที่ควรตระหนักถึง

“ปัญหาที่เห็นชัดๆ คือในสังคมเราค่อนข้างตระหนักเกี่ยวกับเด็กที่เป็นเหยื่อ โดยที่อาจจะลืมไปว่า เด็กที่กระทำความผิดก็สมควรที่จะได้รับการดูแลเช่นกัน จริงๆ แล้ว สาเหตุต้นตอของการที่เด็กเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอาชญากรรมหรือความรุนแรง บางครั้งเป็นเพราะเขาเคยเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาก่อน”

“ความรุนแรงมีหลายแบบและไม่ได้หมายถึงการทำร้ายทางกายภาพอย่างเดียว แต่อาจรวมถึงการทำร้ายทางจิตใจ เด็กอาจจะเจอความรุนแรงผ่านคำพูด ถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการเอาใจใส่หรือการพัฒนาที่เหมาะสม ในเมื่อสังคมตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลเด็กที่เป็นเหยื่อ ดิฉันก็อยากจะให้สังคมเล็งเห็นความสำคัญของการดูแลเพื่อบำบัดฟื้นฟูเด็กที่เป็นผู้กระทำความผิดเช่นกัน”

กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม ผู้จัดการโครงการส่งเสริมสิทธิผู้หญิงและเด็ก ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Institute of Justice (TIJ)
กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม ผู้จัดการโครงการส่งเสริมสิทธิผู้หญิงและเด็ก ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Institute of Justice (TIJ)

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save