fbpx
จาก 'คืนความสุข' ถึง 'ประเทศกูมี' : ชำแหละวาทกรรมการเมืองยุค คสช. กับ อิสระ ชูศรี

จาก ‘คืนความสุข’ ถึง ‘ประเทศกูมี’ : ชำแหละวาทกรรมการเมืองยุค คสช. กับ อิสระ ชูศรี

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

ครั้งล่าสุดที่คุณได้ยินเพลง ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ คือเมื่อไหร่ ?

ไม่ต้องแปลกใจหากคุณนึกไม่ออก เพราะนับจากวันที่ คสช. ปล่อยเพลงออกมา จนถึงวันนี้ วินาทีนี้ เนื้อหาที่อยู่ในเพลง โดยเฉพาะท่อนฮุคที่ว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ได้กลายเป็นดาบที่ย้อนกลับมาทิ่มแทง คสช. เสียเอง จึงไม่แปลกอะไรที่เพลงนี้จะถูกปิดไปแบบเงียบๆ สวนทางกับเพลงอย่าง ‘ประเทศกูมี’ ที่มีเนื้อหาวิพากษ์ คสช. อย่างดุเดือด ตรงไปตรงมา ที่กลายเป็นเพลงฮิตในชั่วข้ามคืน

“สมมติมีคำทำนายว่าอีกห้าปีโลกจะแตก พอห้าปีผ่านไปมันไม่แตก คำพูดนั้นก็ไม่มีความหมายแล้วถูกไหม พลังไม่เหลือแล้ว นี่คือปัญหาของคำพูดกับความจริง ถ้าพูดแล้วไม่ตรงความจริงบ่อยๆ สุดท้ายก็ไม่มีใครเชื่อ ความน่าสนใจของการใช้ภาษาคือ คำที่มีพลังในการปลุกเร้าอารมณ์มากๆ ยิ่งถูกใช้บ่อย พลังของมันยิ่งลดลง”

ข้างต้นคือมุมมองของ ดร.อิสระ ชูศรี อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล นักภาษาศาสตร์ที่หลงใหลในการเมืองเรื่องภาษา

ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งในสังคมไทย โดยเฉพาะในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เรามักได้ยินได้ฟังทรรศนะหรือบทวิเคราะห์การเมือง จากนักวิชาการสายรัฐศาสตร์-ประวัติศาสตร์ เป็นหลัก

แต่ไม่บ่อยครั้งนัก ที่จะได้รับฟังมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การใช้ภาษา-วาทกรรม คือรากฐานสำคัญในการสื่อสารประเด็นทางการเมือง ไปจนถึงการปลุกระดมการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ๆ แทบทุกครั้ง

ด้วยเหตุนี้ เราจึงชวน ดร.อิสระ ชูศรี มาช่วยวิเคราะห์การเมืองยุค คสช. ผ่านแว่นของนักภาษาศาสตร์ ตั้งแต่วาทกรรมและชุดคำต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายหยิบยกมาใช้ เนื้อหาที่ร้อยเรียงอยู่ในเพลงฮิต รวมถึงการตั้งชื่อพรรคการเมืองใหม่ที่กำลังตั้งขบวนสู่สนามเลือกตั้ง

นักการเมือง, การเลือกตั้ง, ชังชาติ, ลิเบอรร่าน, คอร์รัปชั่น, ประชาธิปไตย, ความเป็นไทย, คุณธรรม, คนดี

เมื่อเห็นคำเหล่านี้ คุณรู้สึกอย่างไร ?

เก็บคำตอบของคุณไว้ในใจ แล้วย้อนกลับมาเช็คคำตอบนั้นอีกครั้ง หลังอ่านบทสัมภาษณ์นี้จบ

ดร.อิสระ ชูศรี

ถ้าให้มองการเมืองไทยยุค คสช. ในฐานะของนักภาษาศาสตร์ อาจารย์มองเห็นแง่มุมไหนที่น่าสนใจบ้าง

อย่างแรกเลย พอมีรัฐบาลจากรัฐประหาร มันก็ไม่มีสภาผู้แทน วิธีการใช้ภาษาหรือวิธีการพูดโต้ตอบทางการเมือง ก็เปลี่ยนรูปแบบไปด้วย เราเคยคุ้นกับการที่มีรัฐสภา และมีการโต้แย้งกัน โต้ตอบกัน ฝ่ายรัฐบาลเสนอ ฝ่ายค้านโต้แย้ง รูปแบบของการสนทนาแบบนี้ไม่มีในยุคของรัฐบาลทหาร

เราจะพบว่ามีแต่การพูดแถลงหรือชี้แจงจากรัฐบาลเป็นหลัก ทุกวันศุกร์ต้องมีรายการพูดคนเดียวของนายกฯ พอตกเย็นรัฐบาลก็จะเอาข้าราชการมาพูดเกี่ยวกับผลงานหรือนโยบายต่างๆ วิธีสื่อสารแบบนี้เยอะขึ้นหลายเท่าตัว ในทางกลับกัน รูปแบบของการดีเบตกันก็ลดลงไปเยอะ

เราได้รับฟังข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ เหมือนเดิมก็จริง แต่มุมมองมันไม่เหมือนเดิม การมองหลายๆ ด้านแบบใช้เหตุผลหักล้างกันลดลงไปเยอะ ผลที่ตามมาคือ ประชาชนคนทั่วไปในฐานะคนฟัง มีโอกาสที่จะฟังนโยบายแล้วเห็นด้วยหมดเลย กับอีกด้านก็คือไม่เห็นด้วยเลย มันไม่มีความหลากหลายในพื้นที่เดียวกัน

นี่คือบริบทสำคัญที่ผมเห็นว่าเปลี่ยนไป และมีผลต่อเรามาก อันนี้ยังไม่ใช่ตัวภาษาแท้ๆ นะ แต่เป็นตัวบริบทของการสื่อสาร คำถามคือ พอเป็นการสื่อสารทางเดียวตลอดแบบนี้ สุดท้ายมันมีพลังจริงไหม หรือไม่ได้ส่งผลอะไรขนาดนั้น แล้วถ้าวิเคราะห์ไปถึงตัวสารที่ส่งมา สังเกตว่าจะมีคำที่เราได้ยินบ่อยๆ ซ้ำไปซ้ำมา เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

แล้วอาจารย์คิดว่าการสื่อสารทางเดียวแบบนี้ สุดท้ายมันได้ผลหรือมีความน่าเชื่อถือไหม

ผมคิดว่าไม่นะ  มองเผินๆ เราอาจรู้สึกว่า การพูดข้างเดียวแบบนี้ เหมือนจะไม่มีความเสี่ยงที่คนมาโต้แย้งใช่ไหม แต่มันไม่ได้แปลว่าน่าเชื่อถือมากขึ้น

ลองคิดดูว่า อะไรก็ตามที่คนสามารถโต้แย้งได้ คนจะรู้สึกว่าสามารถตรวจสอบความจริงได้มากกว่า เวลาคุณจะแสดงคำยืนยันอะไรบางอย่าง คุณก็ต้องพร้อมให้มีคนมาตรวจสอบหรือโต้แย้งใช่ไหม ถ้าเขาตรวจสอบและโต้แย้งแล้ว คำกล่าวของคุณยังคงความถูกต้องอยู่ เราก็เชื่อได้ แต่ถ้าคุณพูดอยู่ข้างเดียว ถามก็ไม่ได้ เถียงก็ไม่ได้ เราจะรู้สึกว่าเราไม่มั่นใจ เพราะเราไม่มีโอกาสตรวจสอบ

ถ้าให้วิเคราะห์เนื้อหา จากเวลาที่นายกฯ ออกมาพูดทุกวันศุกร์ หรือจากรายการเดินหน้าประเทศไทยที่ออกอากาศในช่วงเย็น อาจารย์มองเห็นอะไร

ลักษณะที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ เขามักจะพูดถึงประชาชนหรือประเทศชาติ ในแบบที่ไม่ค่อยมีความหลากหลาย คืออะไรก็ตามที่ดีต่อประเทศชาติ มันจะต้องดีเสมอ

สมัยก่อน ถ้าเป็นนโยบายทางการเมือง มันจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนส่วนใหญ่ อาจมีคนบางส่วนที่ไม่ได้รับประโยชน์หรือเสียผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นนโยบายแบบที่พรรคการเมืองนำเสนอ จะเป็นสิ่งซึ่งมีคนจำนวนหนึ่งพอใจ กับมีคนจำนวนหนึ่งไม่พอใจ ประชาชนจะไม่ได้ถูกนับแบบเหมารวมทั้งหมด

แต่เวลาที่รัฐบาล คสช. แถลงนโยบาย หรือออกมาพูดในรายการต่างๆ สังเกตว่าเขาจะไม่ค่อยใช้คำว่า ‘ประชาชน’ แต่ชอบใช้คำว่า ‘ประเทศชาติ’ ซึ่งสะท้อนว่า อะไรก็ตามที่เขาคิดว่าเป็นนโยบายที่ดี มันจะต้องดีกับทุกคน ซึ่งคนที่เรียนทางด้านสังคมมาบ้าง ก็จะรู้ว่ามันไม่มีหรอก นโยบายอะไรก็ตามที่จะดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังไงมันต้องมีทั้งคนที่ได้ประโยชน์ กับไม่ได้ประโยชน์

แต่ คสช. จะพูดเสมือนว่า อะไรก็ตามที่เป็นนโยบายที่ดี ต้องดีกับทุกคน ซึ่งมันก็ไม่น่าเชื่อถือสิ เพราะโดยฐานคิดแล้ว มันไม่น่าจะเป็นจริงได้ นโยบายแปลว่าเลือกทำบางอย่าง ไม่ทำบางอย่าง ถูกไหม นี่คือความต่างอย่างยิ่ง วิธีการพูดแบบนี้คือการสื่อสารว่า อะไรๆ ก็ดีไปหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้

วันก่อนผมยังคุยกับเพื่อนเลยว่า คีย์เวิร์ดที่เขาชอบใช้ เช่น แผ่นดิน ประเทศชาติ ประเทศไทย เวลาใช้แล้วมันให้ความรู้สึกเหมือนร้อยเปอร์เซ็นต์ ครอบคลุมทุกคนที่อยู่ในประเทศ แต่เขากลับไม่ค่อยใช้คำว่าประชาชนเท่าไร เพราะเวลาพูดถึงประชาชน มันต้องมีจำนวน มีพื้นที่ที่ประชาชนอยู่ มีกลุ่มชนชั้นกลุ่มอาชีพ แต่เขาเลือกใช้คำอีกแบบ ซึ่งกลับหัวกลับหางกันเลยด้วยซ้ำ

 

ถ้าเทียบกับฝั่งต่อต้านรัฐประหาร การใช้คำเหล่านี้มีนัยยะต่างกันไหม

สิ่งที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ก็คือคำสำคัญที่เขาชอบใช้ ถ้าเป็นฝั่งที่สนับสนุน คสช. สังเกตได้เลยว่า เขาจะชอบใช้คำว่าแผ่นดิน ประเทศชาติ ความเป็นไทย ซึ่งเราจะพบว่ามันเป็นสิ่งไม่มีชีวิต ความหมายร่วมของคำว่าประเทศ ชาติ และแผ่นดิน คืออะไร มันคือสิ่งที่ห่อหุ้มคนทั้งหมดไว้ข้างใน แต่ว่าตัวมันเองไม่ได้มีชีวิต การห่อหุ้มแบบนี้แง่หนึ่งก็คือการคลุมไว้ไม่ให้เห็นความแตกต่างภายใน

แต่เมื่อไหร่ที่คุณใช้คำว่าประชาชน คนจะถามต่อ ประชาชนกลุ่มไหน ที่ไหน สมมติคุณตัดสินใจทำรถไฟความเร็วสูง จากจังหวัดนี้ไปจังหวัดนี้ คำถามคือแล้วทำไมไม่ไปจังหวัดโน้น ใครได้ประโยชน์มากกว่า ใครได้ประโยชน์น้อยกว่า พอมีคำว่าประชาชน จะมีคำถามเกิดขึ้นทันที ประชาชนที่ไหน กลุ่มรายได้เท่าไหร่

ผมสังเกตว่าการใช้คำว่าประเทศ คำว่าชาติ คำว่าแผ่นดิน ในแบบของทหารหรือข้าราชการ จะใช้ในลักษณะเหมารวม เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ เพราะมันจะทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาในการที่เขาจะดำเนินนโยบาย ไม่มีความขัดแย้ง

ในทางกลับกัน ถ้าคุณไปฟังฝั่งที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือความเท่าเทียมกันของคน เขาจะใช้คำอธิบายคนละแบบเลย วันก่อนผมฟังสัมภาษณ์ศิลปินกลุ่ม Rap Against Dictatorship ที่ทำเพลง ‘ประเทศกูมี’ เขาพูดว่าประเทศคือประชาชน ชาติคือประชาชน เพราะประชาชนอยู่ในประเทศ ฉะนั้นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุด คือคนแต่ละคนที่ประกอบขึ้นเป็นประเทศ

อาจารย์พูดถึงเพลง ‘ประเทศกูมี’ ซึ่งเป็นกระแสในช่วงที่ผ่านมา อยากให้ลองวิเคราะห์ว่า ทำไมมันถึงสร้างอิมแพคได้ขนาดนี้ ในฐานะที่มีการยกคำว่า ‘ประเทศ’ มาใช้เหมือนกัน

ข้อแรกคือ เพลงประเทศกูมี มันรวบรวมปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ ที่คนมองเห็น แล้วก็เอามาร้องหรือเล่าในแบบที่เป็นภาษาร่วมสมัย มีการใช้สรรพนามแบบกู-มึง รวมถึงการสบถแบบ หอเอียเหียไม้โท หรือคำอื่นๆ จำพวกนี้ ที่สื่อสารความรู้สึกได้ตรงไปตรงมา เรียกว่าแทงเข้าไปในความรู้สึกได้ดีกว่าการใช้คำเปรียบเทียบ แบบที่เป็นอุปลักษณ์หรือคำสละสลวย ซึ่งคนจำนวนหนึ่งจะรู้สึกว่ามันประดิดประดอย มันไม่จริง

สอง ผมสังเกตว่าเขาไม่ได้พูดถึงปัญหาแบบทื่อๆ แต่สื่อออกมาในลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกันของการใช้อำนาจ เช่น รัฐบาลบอกว่าจะปราบคอร์รัปชั่น แต่เวลามีคนเรียกร้องให้ตรวจสอบการคอร์รัปชั่นบางโครงการ กลับบอกว่าตรวจสอบไม่ได้ รัฐบาลบอกว่าจะปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่คดีที่เกี่ยวกับการล่าสัตว์กลับล่าช้า ความไม่สอดคล้องและแย้งกันเองแบบนี้ มันสะท้อนความโกรธเคืองที่ซ่อนอยู่ สะท้อนสิ่งที่คนรู้สึกลึกๆ วิธีที่เขาสร้างประโยคในเพลง เราจะพบว่ามันเป็นแบบนี้ตลอด และมันคือเสน่ห์

สาม เพลงนี้มันเน้นไปที่การแสดงความรู้สึกเป็นหลัก พูดง่ายๆ คือด่าเลย ไม่ได้เน้นการแสดงเหตุผลหรือข้อเท็จจริงมากนัก ซึ่งกลายเป็นว่า ความรู้สึกที่เขาสื่อออกมา มันดันตรงกับความรู้สึกคนจำนวนมาก คือความไม่โอเคกับสิ่งที่เป็นอยู่ เอาเข้าจริงแล้วหลายคนก็เถียงไม่ถูก อธิบายไม่ได้หรอก แต่มันอยากด่า อยากสบถออกมา เพื่อแทนความรู้สึกบางอย่างที่เขารู้สึกว่ามันไม่ใช่ ไม่โอเค ไม่ยุติธรรม ซึ่งความรู้สึกแบบนี้ เป็นความรู้สึกที่รุนแรงนะ ความรู้สึกที่ว่ารัฐไม่ยุติธรรม

แล้วบางครั้งการแสดงความรู้สึกแบบนี้ อาจไม่จำเป็นต้องพูดเป็นบทวิเคราะห์หรือบทความทางการเมือง แต่พูดออกมาเป็นคำด่า คำสบถเลยก็ได้ เพราะมันสะท้อนความรู้สึกได้ดีกว่า มันไม่ใช่การมาบอกว่า ชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม มันเลยจุดนั้นไปแล้ว เหมือนกับสถานการณ์ต่างๆ ในเนื้อเพลงที่มันย้อนแย้งกันทุกเรื่อง พอคนเจอแบบนี้เยอะๆ คนก็รู้สึกโกรธอยู่ในใจ เหมือนมีอะไรปุดๆ อยู่ตลอดเวลา เลยกลายเป็นว่าเพลงตอบสนองอารมณ์นั้นได้ดีกว่าการเขียน หรือการกล่าวความคิดเห็นอย่างสละสลวยและสุภาพ กลายเป็นว่าเพลงที่ใช้คำด่ามันโดนกว่า ผมคิดว่าถ้าไม่มีอารมณ์นี้เป็นพื้นอยู่ มันไม่ฮิตหรอก

ข้อสุดท้ายที่สังเกตเห็นคือ ก่อนหน้านี้เพลงหรือสื่อที่ฝั่งนี้ทำออกมา มันจะเน้นไปในทางล้อเลียน เสียดสี เพื่อให้เกิดความน่าขบขันกับฝั่งรัฐบาล เช่นเวลาที่เรารู้สึกอึดอัดเหลือเกิน เห็นนายกพูดอยู่ทุกอาทิตย์ แต่เราก็ไม่มีช่องทางไหนที่จะไปโต้ได้ ไม่มีรายการโทรทัศน์ที่อนุญาตให้เราไปนั่งฟังและยกมือเถียง เราก็เอามาล้อเลียนซะ โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย

แต่ผมคิดว่า สุดท้ายแล้วความขบขันมันไม่ค่อยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรอก มันแค่ทำให้เราพออยู่ได้ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ เราก็รู้ว่าเราไม่มีอำนาจเหมือนเดิม แต่เราก็ต้องอยู่ ฉะนั้นก็เอามาล้อซะ เอามาแซะซะ แต่ผมว่าอารมณ์โกรธมีพลังมากกว่า

อาจารย์มองว่าอารมณ์โกรธมีพลังมากกว่าอารมณ์ขบขัน

ใช่ อย่างที่บอกไปว่า อารมณ์ขบขันทำให้เรา ‘อยู่ได้’ ในภาวะที่มันอยู่ยาก น่าอึดอัด แต่อารมณ์โกรธมันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง จากความรู้สึกที่ว่ามีอะไรบางอย่างที่ไม่สมควรจะเป็นแบบนั้น และเราควรจะขจัดมันออกไป เพื่อเปลี่ยนไปสู่ภาวะที่เรารู้สึกว่ามันน่าพอใจขึ้น ซึ่งถ้ามันเปลี่ยนได้ เราก็จะหายโกรธ

ความแปลกใหม่ของเพลงนี้คือ ไม่ได้ใช้อารมณ์ล้อเลียนหรือขบขัน แต่เป็นเพลงที่ด่าตรงๆ อย่างโกรธเกรี้ยว ซึ่งเราไม่ค่อยเห็น อันนี้ผมว่าน่าสนใจ

แต่บางคนที่ไม่ชอบเพลงนี้ จะวิจารณ์ทำนองว่ามันเต็มไปด้วย hate speech อาจารย์เห็นด้วยไหม

ผมรู้สึกว่าเขาเข้าใจผิด ไปดูนิยามกันใหม่ดีกว่าว่า hate speech คืออะไร แต่สำหรับผม ผมไม่ได้คิดว่าการใช้คำด่าคือ hate speech เสมอไป มันอยู่ที่เจตนาหรือความรู้สึก ถ้าใช้คำด่าตรงๆ อาจเป็นความโกรธก็ได้ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความเกลียด

ความโกรธกับความเกลียด มันต่างกันนะ อะไรที่เราโกรธคือเราคิดว่ามันเปลี่ยนได้ กรณีนี้รวมถึงอีกหลายกรณี ผมว่าเขาโกรธ เขาไม่ได้เกลียด ความเกลียดเป็นสิ่งซึ่งเรายอมรับแล้วว่าเราไม่มีทางที่จะเปลี่ยนได้ แล้วเราก็พยายามจะหนีมัน หรือเลี่ยงมัน แต่ความโกรธมันมีพลังในการเปลี่ยนแปลง เพราะเรามีความหวังว่ามันเปลี่ยนได้

เหมือนเราโกรธแฟน ทำไมเธอพูดไม่รู้เรื่อง ทำไมเธอเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราอยากให้เขาเปลี่ยนถูกไหม หรือเวลาเราโกรธคนในครอบครัว ไม่ได้แปลว่าเราไม่รัก

การไปหาว่าคนอื่นเป็นคนชังชาติ ไม่รักชาติ หรือไม่มีความเป็นไทย อาจทำให้เขาเป็นที่เกลียดชังกว่าการด่าเขาตรงๆ ก็ได้ เพราะมันทำให้เขาถูกลดชั้นจากสมาชิกร่วมสังคม กลายเป็นคนที่ไม่ควรค่าจะมาเป็นคนร่วมประเทศเดียวกับเรา อันนี้คุณว่าเป็นความเกลียดไหม ในความคิดผม ผมว่ามันคือความเกลียด ไม่ใช่โกรธ

อีกคำที่นึกออกคือคำว่า ‘ลิเบอร่าน’ เวลาคุณด่าเขาว่าลิเบอร่าน มันไม่ได้บอกว่าเขามีลักษณะแบบไหนหรอก แต่มันบอกว่าคุณไม่ชอบเขา คุณเกลียดเขา อย่างนี้เรียกว่า hate speech คือการทำให้คนที่เราพูดถึงดูน่าเกลียดชัง

hate speech มีสองแง่ แง่หนึ่งคือการพูดที่สะท้อนความเกลียดชังในตัวผู้พูด อีกด้านหนึ่งคือการพูดเพื่อให้คนที่เราพูดถึง กลายเป็นเป้าหมายของการเกลียดชัง ทำให้เขาด้อยความเป็นมนุษย์ลง เราดูได้จากคำที่เลือกใช้

การเบี่ยงเบนประเด็นจากความโกรธ ให้เป็นการเกลียดชัง มันสะท้อนอะไร

เวลาประเด็นเหล่านี้ถูกเบี่ยงเบนให้เป็นเรื่องความเกลียดชัง ผมว่าเขาต้องการจะกลบเกลื่อนปัญหา เพราะเวลาพูดว่ารักประเทศ รักชาติ พูดยังไงมันก็ดี ถูกไหม แต่การเอาแต่พูดว่ารักชาติ ไม่ได้แปลว่าจะทำให้ชาติดีนะ ต้องตั้งคำถามกลับว่า ดีจริงเหรอ ดียังไง

แต่ในทางกลับกัน คนที่บ่น คนที่ไม่เห็นว่าสมบูรณ์ คนที่อยากเปลี่ยนแปลง มันไม่ได้แปลว่าเขาเกลียดถูกไหม เขาแค่ไม่ชอบที่เป็นแบบนี้ แต่ไม่ใช่ว่าเขาหมดหวังกับการเปลี่ยนแปลง

ผมรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่เขาไม่ได้เกลียดนะ เขานำเสนอในสิ่งที่เขาเห็นว่ามันควรปรับปรุง และเขาไม่มีสิทธิเหรอ ในเมื่อเราเป็นเจ้าของบ้านเหมือนกันหมดทุกคน ทำไมจะด่าไม่ได้ ด่าไม่ได้แปลว่าไร แปลว่าคุณไม่มีสิทธิมีเสียงในบ้านหลังนั้น

จำได้ว่าเคยมีนักร้องผู้หญิงคนหนึ่ง บ่นในโซเชียลเรื่องรอรถเมล์นาน แล้วก็ด่าว่าประเทศนี้มันแย่มากเลย แล้วก็มีคนออกมาด่ากลับว่า คนรุ่นใหม่พวกนี้เป็นพวก ‘ชังชาติ’ เอาแต่ด่าประเทศตัวเอง ตอนนั้นคำนี้ก็กลายเป็นคำที่คนเอามาใช้กันเยอะมาก ล่าสุดเพลงประเทศกูมี ก็โดนด่าว่าชังชาติเหมือนกัน แต่ถามว่าความรู้สึกมันยังเข้มข้นแบบนั้นไหม ก็ไม่แล้ว คนที่โดนด่าเองก็เริ่มเฉยๆ กับคำนี้แล้ว เพราะคุณใช้จนเฝือไปหมด

ในทางกลับกัน ผมว่าคนที่อยู่ฝั่งวิพากษ์วิจารณ์ คสช. เขาไม่ได้เกลียดนะ แต่เขาโกรธ อย่างน้องที่ออกมาบ่นเรื่องรถเมล์ เขาไม่ได้เกลียดประเทศนะ แต่เขาโกรธที่รถเมล์ควรจะทำได้ดีกว่านี้ไหม ในเมื่อรถเมล์เป็นบริการสาธารณะที่มาจากภาษีของประชาชน แต่คนที่วิจารณ์น้อง กลับไปเปลี่ยนประเด็นเสียใหม่ กลายเป็นว่า ถ้าไม่ชอบประเทศตัวเองแล้วจะอยู่ทำไม

ย้อนกลับไปที่เพลงประเทศกูมี เขาก็รู้สึกว่านี่ประเทศของกูไง ถ้ามันเป็นของกู กูมีสิทธิ์โกรธ ถ้าไม่ใช่ของกู กูไม่โกรธหรอก ถ้าเราอาศัยบ้านคนอื่น เรามีสิทธิ์โกรธไหม อาจจะมีสิทธิ์ถ้าเราเช่าเขาอยู่ เพราะเราเสียค่าเช่าไปแล้ว ถ้ามันไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวัง เราก็บ่น ก็ด่า มันคือการเรียกร้องให้มีการแก้ไข

 ดร.อิสระ ชูศรี

มองในแง่การตอบโต้ของทั้งสองฝั่ง ที่เห็นชัดเจนคือฝ่ายอนุรักษนิยม จะใช้วาทกรรมหรือชุดคำอย่างที่อาจารย์บอก เช่น คนดี ความดี แผ่นดิน ประเทศ ชาติ ความเป็นไทย ฯลฯ แต่ขณะเดียวกัน เมื่อต้องการด่าหรือดิสเตรดิตอีกฝ่าย ก็จะใช้คำตรงกันข้ามกัน เช่น คนไม่ดี คนเลว พวกไม่รักชาติ อาจารย์มองว่าวิธีแบบนี้มันได้ผลไหม

มันได้ผลกับพวกเดียวกันเอง แต่สังเกตว่าคนที่เขาวิจารณ์หรือชี้ให้เห็นปัญหาของประเทศ หรือความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มต่างๆ เขาก็ไม่ได้แคร์หรอกนะ เวลาถูกด่าว่าเป็นคนไม่รักชาติหรือชังชาติ สมัยก่อนอาจพูดแบบนี้แล้วเวิร์คมั้ง เพราะมีคนที่คิดแบบนั้นอยู่จำนวนมาก แต่เดี๋ยวนี้ ถามว่าคนคิดแบบนั้นอยู่จริงๆ เหรอ

ถ้าย้อนไปตอนที่ยังไม่มีรัฐบาลทหาร ยังไม่ได้มีกระบวนการปฏิรูป คนก็อาจคิดว่า น่าจะเป็นไปได้ ถ้าไม่เอานักการเมืองมาปกครอง ก็น่าจะปราบคอร์รัปชั่นได้ ถ้าเอาคนที่ไม่ได้หาเสียง ซื้อเสียง ก็น่าจะได้คนที่เป็นคนดีมากกว่า แต่อยู่ไปๆ เขาก็จะเริ่มเห็นแล้วว่ามันไม่จริง ไม่ใช่อย่างที่คิดเลย

สุดท้ายผมว่าเขาไม่มีทางเลือกนะ เพราะผมก็ไม่เห็นว่าเขาจะผลิตวาทกรรมอื่นๆ เพิ่ม ยังเป็นคำเดิมๆ อยู่ ความรักชาติ อนาคตของประเทศ คือคำใหญ่ๆ ที่เขาใช้เหมือนเดิม แต่ถ้าเจาะฐานความหมายดู ยังไงเหรอ ตอบไม่ได้ ดีต่อประเทศชาติ ดีอย่างไร ดีต่อทุกคนไหม มันตอบไม่ได้

คำเหล่านี้มันไม่ทนทานต่อการพิสูจน์ มันเป็นแฟนตาซี ประเทศที่ทุกคนคิดเหมือนกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน มันไม่มีจริง กลายเป็นว่าเหตุผลที่ใช้ วาทกรรมที่ใช้ ก็ถูกนำมาใช้ในแง่ความแฟนตาซี เป็นสิ่งที่นึกคิดเอาเอง ไม่เป็นจริง แล้วยิ่งเวลาผ่านไป มันยิ่งได้ผลน้อยลง พลังลดลงเรื่อยๆ

ความน่าสนใจของการใช้ภาษาคือ คำที่มีพลังในการปลุกเร้าอารมณ์มากๆ เมื่อถูกใช้บ่อยๆ พลังของมันจะลดลง

เช่นคำว่าอะไรบ้าง

ยกตัวอย่างคำที่ใกล้ตัวก่อน อย่างคำว่า เหี้ย สมัยก่อนคำนี้เป็นคำที่รุนแรง แต่เดี๋ยวนี้เราจะพบว่ามันถูกใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นปกติ เดี๋ยวนี้แทบจะเป็นคำอุทานธรรมดาไปแล้ว เพราะเราใช้บ่อย แต่คนที่ไม่ได้ใช้บ่อย เขาอาจไม่ได้รู้สึกขนาดนั้น แต่คนที่ใช้ทุกวัน เขาจะรู้สึกว่ามันธรรมดา

หรือคำเรียกอวัยวะเพศที่เป็นคำพื้นบ้าน บางคนก็ใช้ในชีวิตประจำวัน เขาไม่ได้คิดว่าเป็นคำที่หยาบคายเป็นพิเศษ อันนี้สะท้อนว่าคำหรือวาทกรรมใดๆ ก็ตาม ที่มีความพิเศษในแง่ของความเข้มข้นทางอารมณ์ เมื่อถูกใช้ซ้ำๆ สุดท้ายพลังจะลดลง

เหมือนคนไม่เคยกินเผ็ด กินเผ็ดไปเรื่อยๆ มันก็ไม่ค่อยเผ็ด คำก็เหมือนกัน เดิมเป็นคำที่เรากระดากปาก พูดบ่อยๆ ก็ไม่กระดากปาก คำบางคำเคยเกิดอารมณ์ไปตามคำที่ถูกใช้ พอใช้ซ้ำซาก คนก็เริ่มเฉยชา

คำพูดมันมีพลังนะ สมมติมีคำทำนายว่าอีกห้าปีโลกจะแตก พอห้าปีผ่านไปมันไม่แตก คำพูดนั้นก็ไม่มีความหมายแล้วถูกไหม เหมือนตอนคุณสุเทพ บอกให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุม และบอกว่าตัวเองไม่ได้ทำเพื่ออนาคตทางการเมืองตัวเอง แต่ทำเพื่อชาติจริงๆ แล้วต่อไปจะไม่มีวันกลับบ้านลงการเมืองอีกแล้ว

แต่ล่าสุดเป็นยังไง เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นมันตรงข้ามกับคำพูด สิ่งที่เคยพูดมันก็ย้อนกลับมาแฉตัวเอง ชอนไชตัวเอง แล้วพลังก็ไม่เหลือแล้ว นี่คือปัญหาของคำพูดกับความจริง ถ้าพูดแล้วไม่ตรงความจริงบ่อยๆ สุดท้ายก็ไม่มีใครเชื่อ

เช่นเดียวกับรัฐบาล คสช. ช่วงแรกก็บอกว่าจะอย่างนั้นอย่างนี้ คนก็ยังรอ พอผ่านไปสามปี สี่ปี มันไม่จริงสักอย่างไง คนก็เริ่มรู้สึกแล้ว อะไรวะ ไหนบอกว่า “คนจนจะหมดประเทศ” แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า “คนจนกันหมดประเทศ” อย่างที่คนเอามาพูดล้อกัน

เท่าที่ฟังมา เหมือนอาจารย์จะบอกว่าการใช้วาทกรรมของฝั่งที่สนับสนุนเผด็จการ จะมีลักษณะร่วมกันคือการบิดเบือนประเด็น หรือไม่ก็กลบเกลื่อนความเป็นจริง

ผมมองว่าสิ่งที่เป็นปัญหาที่แท้จริง คือการบิดเบือนประเด็นที่ถูกยกขึ้นมา เช่น เรื่องศาสนา ฝั่งที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยม บอกว่าควรจะแยกศาสนาออกจากภาครัฐ ฝั่งที่โต้ตอบก็จะบอกว่า พวกนี้มันไม่มีความเป็นไทย ถ้าเป็นไทยต้องเป็นพุทธด้วย หรือถ้าเป็นไทยก็ต้องเอาเรื่องเคารพผู้ใหญ่ หรือเคารพนักบวช มาเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองประเทศด้วย

นี่คือการบิดเบือน จากที่เขาพูดเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ แต่อีกฝั่งกลับไปพูดเรื่องความเป็นไทย ไม่เป็นไทย พูดเรื่องการรักษาวัฒนธรรมกับการทอดทิ้งวัฒนธรรม

หรือการที่ฝั่งหนึ่งพูดเรื่องการยกเลิกไหว้ครู โดยชี้ประเด็นว่า เป็นการสะท้อนวัฒนธรรมที่แบ่งลำดับชั้นทางอำนาจ ฝ่ายโจมตีก็จะบอกว่าไม่มีความเป็นไทย ไม่เคารพผู้ใหญ่ บูชาความเป็นตะวันตก โดยไม่พยายามโต้แย้งในประเด็นที่ถูกยกขึ้นมา เหมือนเขายังติดอยู่กับกรอบความคิดที่ว่า ไม่ไทย ไม่รักชาติ ไม่รักษาวัฒนธรรม ไม่มีรากเหง้า นิยมฝรั่ง ผลักดันให้มีความเป็นอื่นมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายก็อย่างที่ผมบอก พอเอามาใช้ซ้ำๆ มันกลับได้ผลน้อยลงเรื่อยๆ

ประโยคคลาสสิคในเพลง คืนความสุขฯ ที่คสช. ใช้โปรโมตมาตั้งแต่แรกๆ คือ “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน…” อาจารย์มองว่ายังมีพลังอยู่ไหม

เดือนแรกๆ หรือปีแรก อาจยังมีพลังอยู่ ยังไม่มีใครเอามาล้อ เพราะยังไม่นาน แต่นับวันผ่านไป คำว่าไม่นาน มันยิ่งสูญเสียความหมาย ปัจจุบันมันกลายเป็นความหมายตรงกันข้ามเลยนะ ไม่นานแปลว่านาน (หัวเราะ) หรือที่เขาบอกว่า เราจะไม่สืบทอดอำนาจ ทุกวันนี้เราก็เห็นอยู่ว่ามีแนวโน้มที่จะสืบทอดอำนาจ ขอเวลาไม่นาน ก็คือนาน คนจนหมดประเทศ แปลว่าคนจนเพิ่มขึ้น

สมัยก่อนจะมีคำแนะนำคลาสสิค สำหรับพวกนักการเมืองเวลาหาเสียงว่า ห้ามรับปากว่าจะทำนี่ทำโน่น เพราะถ้าทำไม่ได้แล้วเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเวลาที่มันไม่เป็นความจริง หรือไม่ตรงกับสิ่งที่พูดไว้ คำพูดนั้นจะมัดคุณไว้ไม่หลุดเลย

เพลง ‘คืนความสุขฯ’ ต่อไปจะกลายเป็นเพลงคลาสสิคเลย เพราะมันโต้แย้งกับสิ่งที่เป็นจริง หรือต่อไปถ้ามีการเลือกตั้ง แล้วนายกคนปัจจุบันจะกลับมาเป็นนายกอีก คำพูดที่เคยบอกว่าจะไม่สืบทอดอำนาจ ก็จะย้อนกลับมาทำลายตัวเอง

ทำไมช่วงแรกๆ วาทกรรมอย่าง ‘คืนความสุข’ หรือ ‘เราจะทำตามสัญญา’ ถึงใช้ได้ผล

เพราะมันเป็นสิ่งที่คนปรารถนา ตอนนั้นคนก็อยากได้จริงๆ นะ อยากให้มีความสงบ คนเหนื่อยกับการที่จะต้องอยู่กับความขัดแย้งหรือความไม่ลงตัวตลอดเวลา คนรู้สึกว่าถ้าได้อย่างนั้นก็คงจะดี แต่ปรากฏว่าพอถึงเวลา มันไม่เป็นแบบนั้นไง คนก็ยังโดนจับอยู่ ถามว่าสงบไหม ก็สงบถ้าคุณอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร แต่ถามว่ามันอยู่เฉยๆ ตลอดได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้

แล้วยิ่งเวลาผ่านไป คำว่าสงบ คำว่าคืนความสุข คำว่าขอเวลาอีกไม่นาน มันยิ่งตรงข้ามกับตัวเนื้อหาของคำพูด กลายเป็นว่าคำพวกนั้นไม่มีความหมายอีกแล้ว สุดท้ายเขาก็เลยเลิกพูด เราจะพบว่าทุกวันนี้เขาไม่เปิดเพลงนี้แล้ว เพราะเปิดแล้วมันตลก ไม่ใช่ตลกที่เนื้อหาของเพลงนะ แต่ตลกเพราะความเป็นจริงที่อยู่แวดล้อมเพลง มันไม่เป็นไปตามนั้นเลย

ตอนที่คุณพูดในวันแรกที่เข้ามามีอำนาจ คุณเปิดเพลงนี้ คนอาจยังไม่รู้สึกอะไร เพราะยังต้องพิสูจน์ แต่ทุกวันนี้มันเลยมาสี่ปีกว่าแล้ว นานแล้วนะ ถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้งก็เลือกตั้งใหม่แล้ว

นอกจากวาทกรรมที่ว่ามา มีคำไหน วาทกรรมไหน ที่ถูกบิดเบือนความหมายอีกไหม

ตัวอย่างที่ชัดมาก คือคำว่า ‘นักการเมือง’ สังเกตว่าในความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา มันถูกทำให้มีความหมายแฝงว่า ‘ไม่ดี’ มาอย่างสม่ำเสมอ นักการเมืองแปลว่า ต้องหาเสียง ต้องสัญญากับประชาชน ต้องหลอก ต้องคอร์รัปชั่น ต้องหน้าด้าน ซึ่งในความเป็นจริง มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่นักการเมืองจะเป็นแบบนั้นทุกคน แต่กลายเป็นว่าเขาใช้คำนั้นในแง่ลบ แล้วก็ตอกย้ำมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันคำนี้ก็เริ่มย้อนกลับมาเป็นปัญหากับตัวเองแล้ว

ตัวอย่างล่าสุด มีพรรคการเมืองหนึ่งที่ทำสปอตโฆษณาออกมา โดยพยายามสื่อว่านักการเมืองเป็นซอมบี้ เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นวงจรอุบาทว์ ผมดูแล้วก็รู้สึกขำ เพราะมันเป็นโฆษณาพรรคการเมืองที่ด่าพรรคการเมืองหรือนักการเมือง พูดง่ายๆ คือด่าตัวเอง

ทีนี้ถ้าเราไม่เชื่อตามวาทกรรม แต่ลองมองตามความเป็นจริง เราจะพบว่ามันไม่ใช่ นักการเมืองไม่ได้โกงทุกคน แล้วก็ไม่ได้ชั่วเสมอไป เอาเข้าจริงแล้วนักการเมืองส่วนใหญ่ไม่โกงด้วยซ้ำ เพราะเขาไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งทรัพยากรขนาดนั้น นักการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของพรรค ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะมีโอกาสโกง

นอกจากนี้ ด้านที่ดีของนักการเมืองก็ไม่ถูกพูดถึง เช่น ระบบอาสาสมัคร นักการเมืองคือคนที่อาสามาทำงานเพื่อบ้านเมือง แล้วถ้าคุณอาสามา แปลว่าคุณต้องยอมรับที่จะทำตามเงื่อนไขของการอาสานั้น เช่น นักการเมืองจะไม่ค่อยบ่นว่าเหนื่อย เราจะพบว่าไม่ค่อยมีนักการเมืองหรือนายกที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วบอกว่าเหนื่อย เพราะรู้เงื่อนไขแต่แรกว่าเขาอาสามา

แต่ระบอบที่ปกครองประเทศอยู่ตอนนี้ จะมีวาทกรรมทำนองว่า ไม่ได้เต็มใจที่จะเข้ามานะ ที่เข้ามาเพราะเกิดวิกฤตในบ้านเมือง ไม่ได้อยากจะมีอำนาจนะ แต่จำเป็นต้องมีอำนาจเพราะต้องแก้ไขปัญหา แล้วก็จะบอกซ้ำๆ ว่า ทุกวันนี้ไม่ได้อยากอยู่เลย เหนื่อย ต้องทนถูกด่าต่างๆ นานา เป็นวาทกรรมที่บอกว่า ฉันไม่ได้เต็มใจ ฉันไม่ได้อยากมีอำนาจ แต่ฉันจำเป็นต้องทำเพื่อช่วยเหลือบ้านเมือง

เราจะไม่พบเหตุผลแบบนี้ในนักการเมืองอาชีพ เพราะว่ามันมีเงื่อนไขที่ต่างกัน เขาอาสาเข้ามาทำ เขารู้เงื่อนไขดีว่าพูดไปก็ต้องมีคนเกลียด เขาจะไม่บอกว่า อย่าด่าชั้นนะ คุณด่าได้ แต่ถ้าด่าผิด หรือไม่เป็นความจริง เขาก็ฟ้องหมิ่นประมาท ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย

แต่ที่เราเห็นทุกวันนี้ คือการที่นักการเมืองพยายามบอกว่าตัวเองไม่ใช่นักการเมือง บอกว่าตัวเองไม่สมควรจะถูกด่า เพราะตัวเองตั้งใจดี ซึ่งขัดกับความจริง การถูกวิจารณ์หรือถูกด่าเป็นเรื่องปกติสำหรับอาชีพนักการเมือง สุดท้ายมันสะท้อนว่า เขาอยากได้อำนาจทางการเมือง แต่ไม่อยากได้สถานะของนักการเมือง เพราะมีเงื่อนไขบางอย่างของนักการเมืองที่เขาไม่อยากยอมรับ

ดร.อิสระ ชูศรี

เอาเข้าจริงแล้ว อาจไม่ใช่แค่คำว่า ‘นักการเมือง’ แต่รวมไปถึงคำว่า ‘การเมือง’ ด้วยซ้ำ ที่ถูกทำให้เป็นสิ่งที่เลวร้าย สกปรก

ใช่ การเมืองถูกทำให้เท่ากับระบบที่ต้องเอาใจคน พอการเมืองต้องเอาใจ ก็เลยต้องมีนโยบายที่เอาใจประชาชน ซึ่งบางทีก็เป็นนโยบายที่ชาติเสียผลประโยชน์ คำว่านักการเมืองและการเมืองถูกทำให้เป็นปัญหาทั้งกระดาน

แต่สุดท้ายแล้ว ยังไงประเทศก็ต้องกลับมาสู่การเมืองเลือกตั้ง คนที่เจอปัญหาก็ไม่ใช่ใคร ก็คือกลุ่มที่ออกมาสร้างวาทกรรมให้การเมืองเป็นสิ่งเลวร้ายนี่แหละ พอถึงเวลาที่ต้องมาลงสนามการเมือง ทำไงล่ะทีนี้ เพราะก่อนหน้านี้ด่าไปซะเยอะเลย ทำให้ความหมายกลายเป็นแง่ลบไปหมดแล้ว

วิธีที่เขาทำก็คือ คิดคำใหม่ สังเกตว่าตอนหลังเขาก็พยายามจะหนีคำนี้ แทนที่จะใช้คำว่านักการเมือง ก็เปลี่ยนเป็นผู้บริหารบ้านเมือง พยายามเลี่ยงคำที่ครอบคลุมคนกลุ่มอื่นที่ตัวเองไม่อยากให้เข้ามามีส่วนในการแบ่งปันอำนาจ

คุณด่านักการเมืองอาชีพ แต่คุณก็ต้องเข้าไปอยู่ระบบเดียวกับเขา แล้วคุณจะอยู่ยังไงล่ะ มันยากนะ คิดคำยาก สมมติถ้าเขาอยากใช้ระบอบเผด็จการยาวไปเลยยี่สิบปี เขาอาจไม่มีปัญหานี้ก็ได้ ตัดระบบนั้นออกไปให้หมด แต่ความจริงมันไม่ได้ไง

ทุกวันนี้สังเกตว่านายกมีปัญหามากนะ ว่าตกลงจะเรียกตัวเองว่าเป็นอะไร จะมีภาวะที่พูดแล้วไม่เคลียร์สักอย่าง เวลาไปพบประชาชน ก็บอกว่าไม่ได้มาหาเสียงนะ แต่มาเยี่ยมรับฟังปัญหาความทุกข์ มาคลี่คลายปัญหา แม้กระทั่งคำว่า ‘หาเสียง’ ก็ยังไม่กล้าใช้เลย ซึ่งจริงๆ คำว่าหาเสียง โดยตัวมันเองไม่ได้มีความหมายลบนะ หาเสียงคือโน้มน้าวให้ประชาชนมอบโหวตให้กับเรา เสียงก็คือการโหวต

แต่เดี๋ยวนี้ หาเสียงแปลว่าทำอะไรเพื่อเอาใจประชาชน กลายเป็นความหมายที่ไม่ดี เขาทำให้คำนี้เป็นปัญหาอีก เพราะอยากกำจัดนักการเมืองแบบเดิมออกไปทั้งหมด แต่ถามว่าสุดท้ายทำได้ไหม ก็ทำไม่ได้หรอก เพราะคนไม่ใช่ตุ๊กตุ่นตุ๊กตา

อีกคำหนึ่งคือคำว่า ‘นักเลือกตั้ง’ เป็นคำที่ถูกสร้างขึ้นมาก่อนรัฐประหารอีก จนสืบมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน อันนี้สื่อมวลชนชอบใช้ เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่ต่อต้านนักการเมืองอาชีพ บางคนก็ใช้ว่านักเลือกตั้งอาชีพ คือไปบีบความหมายให้เล็กลง ทำให้กลายเป็นความหมายลบ พยายามสื่อสารว่าคนพวกนี้ ใช้การเลือกตั้งเป็นรูปแบบในการเข้าสู่อำนาจ ไม่ได้เป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่เป็นแค่นักเลือกตั้ง ผลสุดท้ายคือทำให้คำว่าเลือกตั้งกลายเป็นคนละเรื่องกับประชาธิปไตย คำนี้ส่งผลกระทบที่ยาวนาน และทำให้เกิดมโนภาพที่ผิดมาจนถึงปัจจุบัน

แม้กระทั่งคำว่า ‘เลือกตั้ง’ ก็กลายเป็นความหมายลบไปแล้วเหมือนกัน

ใช่ กลายเป็นภาพลบ เลือกตั้งกลายเป็นพิธีกรรมที่ไม่มีความหมาย ถ้าพูดอย่างนี้ประชาชนก็ไม่มีความหมายนะ ถูกไหม ประชาชนก็เป็นเหมือนหุ่นยนต์ที่ไม่มีจิตวิญญาณ ไม่มีความนึกคิดเป็นของตัวเอง พอเปิดสวิตซ์ก็มาหย่อนบัตร แบบนี้มันคือการดูถูกกันนะ

การเลือกตั้งไม่ใช่สิ่งไม่ดี แต่คนที่พยายามสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบที่ไม่มีการเลือกตั้ง ก็พยายามจะบอกว่ามันแย่ยังไง เช่น บิดไปใช้คำว่านักเลือกตั้ง หรือนักเลือกตั้งอาชีพ หรือบอกว่าเป็นแค่การเลือกตั้ง ใส่ ‘แค่’ เข้าไป เช่น ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แน่นอน มันไม่ใช่อยู่แล้วแหละ แต่ถ้าไม่เลือกตั้ง คุณจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกผู้แทนยังไง คุณจะใช้อะไร จะให้ใครเลือกให้ล่ะ

ช่วงหลังมานี้ คำที่เห็นบ่อยขึ้น น่าจะเป็นคำว่า ‘สรรหา’

เออ กลายเป็นว่า ‘สรรหา’ ดันมีความหมายที่ดี (หัวเราะ) สรรหาแปลว่าอะไร สรรหาแปลว่าเรามอบหมายให้คนกลุ่มหนึ่ง มีอำนาจในการเลือกตัวแทนหรือสมาชิกของรัฐสภา สรรหาแปลว่าเลือกโดยคนกลุ่มน้อย แต่เลือกตั้งแปลว่าเลือกโดยคนกลุ่มใหญ่ ความหมายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาคือ สรรหาดี เลือกตั้งแย่ ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งให้สิทธิคนจำนวนมากกว่าในการเลือก

บางคนเรียกว่า ‘ระบบสรรหา’ ซึ่งจริงๆ ก็คือการเลือกกันเองนั่นแหละ แม้จะพยายามพูดว่ามันดี เพราะมีกลุ่มคนที่เป็นคณะกรรมการสรรหา แต่สำหรับผม มันไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงพื้นฐานเปลี่ยนไป คือคนกลุ่มน้อยเป็นคนเลือก

ผมคิดว่าสิ่งที่น่าเศร้าที่สุดคือ ความพยายามที่จะเอาชนะในทางการเมืองแบบนี้ มันไปทำลายคอนเซ็ปต์หรือแนวคิดพื้นฐานบางอย่างที่ดี เช่น การเลือกตั้ง นักการเมือง หรือกระทั่งเรื่องประชาธิปไตย

ทำไมวาทกรรมของฝ่ายอนุรักษนิยม จึงดูเหมือนใช้ได้ผลและประสบความสำเร็จ มากกว่าวาทกรรมของฝั่งประชาธิปไตย

เพราะวาทกรรมของฝ่ายอนุรักษนิยมส่วนมาก จะสอดคล้องกับกรอบความคิดที่สืบทอดกันมาผ่านวัฒนธรรม และมักผูกโยงกับสามัญสำนึกที่คนใช้ตัดสินเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

ในขณะที่วาทกรรมของฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายก้าวหน้า มักจะอาศัยกรอบความคิดที่เป็นเรื่องโครงสร้างและระบบสังคม ซึ่งบางครั้งเป็นการตั้งคำถามหรือโต้แย้งกับวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา และมักผูกโยงกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะขัดกับสามัญสำนึกอยู่บ่อยๆ

ยกตัวอย่างเช่น ความดีหรือความเป็นคนดี ที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะในแง่ศีลธรรมของบุคคล อาจไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดจะทำหน้าที่นักการเมืองได้ดีในระบอบประชาธิปไตย ถ้าหากบุคคลนั้นไม่ได้ดำเนินนโยบายสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของประชาชนส่วนใหญ่ เป็นต้น

ถ้ามองด้วยวาทกรรมอนุรักษนิยม คนดีทำอะไรก็ต้องเป็นสิ่งที่ดี การเข้าใจแบบนี้มันง่ายและตรงไปตรงมา มากกว่าการทำความเข้าใจว่านโยบายทางการเมืองที่ดี มีความเป็นเอกเทศในระดับหนึ่งจากคุณลักษณะเฉพาะในแง่ศีลธรรมของบุคคล

ดร.อิสระ ชูศรี

สังเกตการตั้งชื่อพรรคการเมืองที่กำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง ก็น่าสนใจเหมือนกัน เช่นกรณีของ ‘พรรคเกรียน’ ที่ภายหลังเปลี่ยนมาเป็น ‘เกียน’ เพราะ กกต. ไม่ยอมให้จดทะเบียน

ถ้าเราดูชื่อพรรคการเมืองในอดีตที่ผ่านมา มันมีคำจำนวนไม่มากนะที่ถูกใช้ มีคำว่าประชาชน คำว่าไทย คำว่าชาติ คำว่าพัฒนา วนเวียนอยู่ไม่กี่คำ เป็นคำพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เราจะพบว่าคำพวกนี้ มีสถานะที่เป็นทางการ มีความน่าเชื่อถือ น่าเคารพยกย่อง

แต่คำว่า ‘เกรียน’ มันอยู่อีกระดับหนึ่งของการใช้ภาษา เกรียนเป็นคำแสลง แปลว่าอะไรที่มันกวนๆ หรือไม่เรียบร้อย เวลาเขาหยิบคำนี้มาใช้ ปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องไม่สุภาพอย่างเดียว แต่มันเหมือนไม่จริงจัง ซึ่งแง่หนึ่งผมว่าเขาอาจจะตั้งใจ คล้ายเป็นการต่อต้านการใช้ภาษาแบบที่เป็นทางการ น่าเคารพยกย่อง

ในวงการการเมืองหรือกฎหมาย คำที่เขาใช้มันต้องห้ามตลก ต้องจริงจัง ต้องสะท้อนความสูงส่ง เพราะแง่หนึ่งพรรคการเมืองคือคนที่เข้าไปมีอำนาจรัฐ เข้าไปอยู่ในสภา ต้องเป็นคนมีการศึกษา ต้องรักชาติบ้านเมือง ดูแล้วจริงจัง แต่กลยุทธ์ของพรรคเกรียนก็ชัดเจนว่าไม่ได้เป็นแบบนั้น

อีกข้อคือ ระดับของคำ ปกติคำที่เอาใช้ตั้งชื่อพรรค จะเป็นคำในระดับสูงๆ แต่เกรียนเป็นคำที่ใช้ตามถนน เช่น เกรียนว่ะ พอไปเอาชื่อนี้มาใช้ แล้วไปอยู่ในเลเวลเดียวกับประชาชาติไทย ประชารัฐ มันเหมือนเป็นคำที่อยู่คนละกลุ่มกัน แง่หนึ่งผมว่าก็เป็นเรื่องลำบากสำหรับ กกต.นะ ในการอนุญาตให้ใช้ชื่อ เปรียบเหมือนทุกคนเขาใส่สูทเข้ามาประชุมกัน แต่คุณดันไปใส่อีกชุดหนึ่ง เขาก็ย่อมรู้สึกว่า คุณมาเล่นๆ รึเปล่า นี่ไม่ใช่เรื่องตลกหรือเรื่องเล่นๆ นะ

ส่วนพรรคอื่นๆ ถ้าไล่คำดู ก็จะมีสกุลของมันอยู่ พวกพรรคที่โยงกับพรรคเพื่อไทย ก็จะมีคำว่า ‘เพื่อ’ กับ ‘ไทย’ เช่น เพื่อไทย เพื่อธรรม เพื่อชาติ ไทยรักษาชาติ ซึ่งคนก็เอามาล้อว่า ทษช. ย่อมาจากทักษิณ ชินวัตร  ส่วนตระกูลที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ก็จะมีคำว่า ‘ประชารัฐ’ เพราะมันเป็นคีย์เวิร์ดที่เขาสร้างขึ้นมาในสมัยของเขา

อย่างน้อยๆ มันต้องมีคำที่ทำให้ประชาชนโยงได้ว่าเป็นกลุ่มไหน อีกกลุ่มคือคำว่าชาติ จากสกุลเดิมคือ พรรคชาติไทย เปลี่ยนมาเป็นชาติพัฒนา พอชาติพัฒนาถูกยุบ ก็กลายเป็นชาติไทยพัฒนา ส่วนประชาธิปัตย์ ก็เป็นชื่อเก่าของเขาอยู่แล้ว

จริงๆ นักการเมืองก็ไม่ได้เปลี่ยนมากนะ ส่วนใหญ่ก็หน้าเดิม อาจมีพรรคอนาคตใหม่ที่ตั้งชื่อแล้วฉีกออกไป  คำว่า ‘อนาคต’ ไม่เคยมีคนใช้ แต่คำว่า ‘ใหม่’ นี่มีเยอะ เช่น พลังใหม่ หรือที่ตั้งล่าสุดคือพลังธรรมใหม่ คำว่าใหม่ในแง่ของพรรคการเมือง ไม่ถือว่าใหม่

คำถามสุดท้าย อยากทราบว่าพออาจารย์ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง คุณูปการของการศึกษาภาษาและวาทกรรม คืออะไร 

ภาษามันเชื่อมกับความคิด เป็นเรื่องของการนำเสนอความคิด ฉะนั้นเวลาเรารับฟังถ้อยคำอะไรบางอย่าง ถ้าเรามีความละเอียดลออในการพิจารณา ก็จะทำให้เรานับหนึ่งถึงสิบก่อนที่จะคล้อยตาม ทั้งในเชิงของข้อมูลข้อเท็จจริง หรือในเชิงอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช่ว่าได้ยินอะไรก็ตื่นเต้นตื่นตูมไปตามนั้น เราจะฟังจริงๆ ก่อนว่ามันคืออะไร เขาพูดมันมีหลักฐานไหม ตรงกับข้อเท็จจริงไหม เชื่อถือได้แค่ไหน

ยกตัวอย่าง ถ้ามีคนพูดว่า “ใครๆ ก็อยากให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกนานๆ” ถ้าเราฟังแล้วนับหนึ่งถึงสิบ หรือถ้าเราสนใจเรื่องภาษา ก็จะเกิดคำถามทันทีว่า “ใครๆ” นี่คือใคร (หัวเราะ) หรือถ้าพูดว่า “คนส่วนใหญ่” ก็จะถามทันที่ว่า ใหญ่แค่ไหน เอาข้อมูลมาจากไหน รู้ได้ไง

อย่างน้อยๆ มันทำให้เกิดการตั้งสติ พิจารณาถ้อยคำ เพราะคำพูดมันสื่อได้หลายแบบ การที่เขาเลือกพูดแบบนี้ มันย่อมสะท้อนอะไรบางอย่าง อย่างวาทกรรมหรือคำหลายคำที่ผมยกตัวอย่างไป มันสะท้อนเจตนารมณ์ในการโน้มน้าวคนให้เชื่อตามอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ให้ใช้ความคิด ซึ่งถ้าเกิดคนฟัง รู้จักตั้งคำถามกับสิ่งที่ได้ฟัง ก็จะช่วยให้เรารู้เท่าทันคำพูดเหล่านั้นมากขึ้น

ดร.อิสระ ชูศรี

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save