fbpx
อ่านหาคำถาม “ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและความมั่นคง” (เพื่อทำรายงาน)

อ่านหาคำถาม “ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและความมั่นคง” (เพื่อทำรายงาน)

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

 

เคยไหมครับเวลาที่จะต้องทำเปเปอร์แล้วนึกหัวข้อไม่ออก หรือนึกออกว่าอยากทำเรื่องอะไร แต่ก็ตั้งโจทย์ตั้งคำถามหลักของรายงานไม่ได้หรือไม่คมชัด ได้แต่เขียนเล่าบรรยายไปเรื่อยๆ หรือมีคำถามมีโจทย์แล้ว แต่ถูกอาจารย์ถามกลับมาว่าโจทย์นั้นตั้งมาจากสภาพปัญหาอะไรแน่ หรือจะถามโต้แย้งอะไรกับใคร แล้วอะไรคือ argument ของคุณกันแน่ ทำให้มึนงงหนักเข้าไปอีก

หรือเคยไหมครับที่ไม่มีเวลาได้คิดอะไรทั้งนั้น มาคิดขึ้นได้ว่ามีรายงานต้องทำก็ตอนปลายภาค ที่เหลือเวลาอีกสัปดาห์เดียวจะถึงกำหนดส่ง แล้วต้องคว้าข่าวอะไรที่อ่านเจอตอนนั้นมาปั้นและปั่นเขียนออกมาเป็นรายงานส่งพอให้เสร็จๆ ไป

คำแนะนำนี้เขียนขึ้นเพื่ออุทิศแด่นิสิตที่เรียนกับผมทุกคน ซึ่งเคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาในอดีต หรือนิสิตนักศึกษาปัจจุบันที่กำลังประสบหรือใกล้จะพบปัญหาที่ว่ามาในระหว่างการเรียนขณะนี้

โดยทั่วไป นิสิตมือใหม่มักจะงงและค่อนข้างเคว้งคว้างเมื่อเจออาจารย์สั่งทำรายงานโดยให้นิสิตคิดหัวข้อเอง ว่าจะหาหัวข้อรายงานจากไหน ควรตั้งต้นอ่านที่ไหน อ่านอย่างไร แล้วจะตั้งคำถามตั้งโจทย์อะไรดีเกี่ยวกับหัวข้อนั้น คำแนะนำของผม ๓ ข้อต่อไปนี้เขียนขึ้นมาสำหรับนิสิตที่เรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นหลัก แต่ผมคิดว่าวิธีการที่แนะพอจะปรับใช้กับรัฐศาสตร์หรือสังคมศาสตร์สาขาอื่นได้อยู่เหมือนกันครับ

อย่างไรก็ดี ต้องขอติดฉลากข้างกล่องไว้ด้วยว่า ยังมีวิธีอื่นๆ นอกเหนือจากที่นำมาแนะนี้อีกหลายวิธีนะครับ อย่าคิดว่านี่เป็นคำตอบสุดท้ายไม่มีวิธีอื่นดีกว่านี้แล้ว เป็นแต่ว่ามันเป็นวิธีที่ผมเห็นจากประสบการณ์ว่าช่วยให้นิสิตพอจะมีทางลัดตัดขั้นตอนการอ่านการค้นคว้าเพื่อทำเปเปอร์ในเวลาที่มีจำกัดได้ผลดีวิธีหนึ่ง

 

1.

เลือกหัวข้อเปเปอร์จากประเด็นปัญหาและแนวทางการศึกษาที่สอดคล้องกับเนื้อหาของวิชานั้น

คำแนะนำข้อแรกนี้เหมือนกับน่าจะรู้ๆ กัน ทีแรกผมก็คิดอย่างนั้นเหมือนกันครับ ว่านิสิตของผมน่าจะรู้ที่จะพิจารณาว่าจากหัวข้อการเรียนของวิชาหนึ่งในราวๆ ๑๕ สัปดาห์ต่อเทอม หรือจากบทต่างๆ ของหนังสือที่วิชานั้นใช้เป็นตำราหลัก มีประเด็นปัญหาอะไร จากการเรียนสัปดาห์ไหน หรือจากบทไหนบ้างที่น่าสนใจ และตัวคนเรียนสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ แต่หลังๆ มานี้ผมชักไม่ค่อยแน่ใจว่ารู้ เลยต้องขอตั้งข้อแนะนำนี้ไว้เป็นข้อแรก

รายงานวิชาใดถือเป็นส่วนหนึ่งในการวัดผลความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาของรายวิชานั้น การกำหนดขอบเขตเนื้อหาของรายวิชา ทั้งในแง่ของประเด็นปัญหาและแนวทางการศึกษา กำหนดโดยความรู้ที่ถูกจัดไว้ ทั้งที่จัดโดยองค์ความรู้ในสาขาวิชานั้น และที่จัดโดยคนสอน เนื้อหาเหล่านี้ไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว แต่ในช่วงเวลาหนึ่งๆ มันถูกกำหนดขอบเขตของการศึกษาเอาไว้ในกรอบพิสัยประมาณหนึ่ง นิสิตจึงควรพิจารณาเลือกหัวข้อทำรายงานในขอบเขตของเนื้อหาที่ถูกจัดมาให้เรียน นอกจากว่าคนทำจะมีอินทรีย์แก่กล้า อยากเลือกทำเกี่ยวกับตัวความรู้และการวิพากษ์ความรู้หรือแนวทางการศึกษาของเนื้อหาที่ถูกจัดมานั้น ก็ไม่มีใครห้ามถ้าคิดจะทำรายงานอย่างนั้น แต่นั่นควรถือเป็นกรณีพิเศษสำหรับนิสิตปีแรกๆ ที่ความสามารถทางวิชาการสูงเกินค่าเฉลี่ย

แต่ปัญหาที่ผมพบในระยะหลังไม่ได้เป็นอย่างนั้น เช่น บางปีผมมีโอกาสสอนวิชานโยบายต่างประเทศไทย เมื่อสั่งนิสิตทำรายงาน เคยมีนิสิตถามว่าทำเกี่ยวกับเรื่อง LGBT ได้ไหม คำตอบของคนสอนใจร้ายคือว่า ถ้ารายงานเรื่อง LGBT ที่จะทำนั้นแสดงให้เห็นความเกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศของไทยได้ และแสดงความรู้ความสามารถของผู้เรียนเกี่ยวกับเนื้อหาวิชาที่เรียนได้ ก็ทำได้ แต่ถ้าจะทำรายงานเกี่ยวกับ LGBT โดยไม่มีประเด็นอะไรเกี่ยวข้อง หรือโยงเข้าหาเรื่องนโยบายต่างประเทศไทยเลย รายงานนั้นไม่ใช่รายงานสำหรับวิชานโยบายต่างประเทศไทย คือถ้าอยากจะทำ ก็ทำได้ แต่ให้เก็บไปทำในวิชาอื่นที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้อง

หรือปัญหาอีกแบบ เช่น นิสิตรัฐศาสตร์ที่เลือกไปเรียนวิชาโททางประวัติศาสตร์ แล้วพอเวลาทำรายงานส่งวิชาทางด้านประวัติศาสตร์ก็มักจะติดวิธีการศึกษาของรัฐศาสตร์ไปใช้ เช่น ไปตั้งต้นทำรายงานประวัติศาสตร์โดยใช้แนวคิดทฤษฎีจากรัฐศาสตร์ที่ตัวเองติดใจ แล้วพยายามดึงข้อมูลประวัติศาสตร์มาใช้เพื่อสนับสนุนการพิสูจน์หรือสะท้อนความหมายตามแนวคิดที่ตัวเองเลือกมานั้น โดยไม่พิจารณาว่าข้อมูลประวัติศาสตร์ตรงหน้าบอกอะไรเราได้อีกเป็นหลายอย่าง พิจารณาได้ อ่านได้ และนำมาเล่าเรื่องได้อีกเป็นหลายแบบ หรือมันมีเส้นทางของมันในเวลาต่อมาที่แยกออกไปได้อีกเป็นหลายเส้นทาง ไม่ใช่ที่จะยึดถือได้ว่ามันเป็นจุดกำเนิดหรือว่าก่อเหตุจากจุดนี้ส่งผลมุ่งตรงไปหาจุดนั้น อย่างที่ทฤษฎีรัฐศาสตร์ที่เลือกมาบอกไว้เท่านั้น นี่เรียกว่าใช้แนวทางการศึกษาผิดที่ ผิดวิชา ผิดสาขาวิชา

ปัญหาอย่างหลังนี้อย่าว่าแต่นิสิตเลยครับ บนเวทีสัมมนาคราวหนึ่ง ผมเคยฟังศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ “สับ” เปเปอร์ที่ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์นำเสนอด้วยแนวทางการศึกษาในการเมืองเปรียบเทียบซึ่งตั้งต้นด้วยกรอบแนวคิด แล้ววิเคราะห์จัดเรียงข้อมูลเหตุการณ์ต่างๆ ลงไปเพื่ออธิบายมันตามกรอบแนวคิดที่ตั้งไว้ ว่าเป็นการศึกษาแบบ “จับยัด” แล้วท่านแรกก็ลงมือสับท่านหลังบนเวทีอย่างไม่ยั้งมือ สับเปเปอร์นะครับ อย่าได้คิดเป็นอื่น สร้างความตื่นเต้นเป็นสีสันการเรียนรู้ความแตกต่างทางวิธีการวิจัยจากต่างสาขาวิชาแก่ผู้ฟังสัมมนาวันนั้นเป็นอันมาก ท่านผู้ถูกสับก็ยิ้มรับอย่างหน้าชื่น ส่วนจะกัดฟันไปด้วยไหม ผมนั่งอยู่ไกลเลยมองเห็นไม่ถนัด

ความจริงคำแนะนำข้อนี้ท่านว่าใช้กับวารสารวิชาการก็ได้ด้วยเช่นกัน ก่อนที่จะเขียนอะไรส่งไปลงวารสารฉบับใด ก็ควรดูขอบข่ายของเนื้อหาที่วารสารนั้นเลือกลงจากฉบับก่อนๆ ให้ดี ว่าบทความต่างๆ ที่ลงตีพิมพ์อยู่ในวารสารฉบับนั้นเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วเขารับลงบทความตามประเด็นปัญหา แนวทางการศึกษา วิธีวิจัย แนวคิดทฤษฎี ในพิสัยกว้างแคบแค่ไหน เป็นวารสารในความคิดกระแสใดเป็นพิเศษหรือไม่ ได้คำตอบอย่างไรแล้วเราจึงพิจารณาว่าบทความวิชาการของเราเหมาะจะส่งไปลงวารสารฉบับใด เช่น อย่าได้คิดเชียวว่าเมื่อเห็นชื่อวารสาร International Organization แล้วถ้าจะเขียนบทความว่าด้วยกฎกติกาความร่วมมือและการประชุมในองค์การระหว่างประเทศโดยใช้วิธีการศึกษาแบบ poststructuralism ส่งไปแล้วเป็นอันว่ามีโอกาสได้ลงแน่

เมื่อนิสิต(รู้ที่จะ)เลือกหัวข้อที่สนใจและแนวทางการศึกษาหัวข้อนั้นสำหรับรายงานได้แล้ว ทีนี้เราก็ขยับขึ้นไปหาขั้นที่ ๒ ต่อไปครับ

 

2.

วิธีตั้งประเด็นเกี่ยวกับหัวข้อนั้นจากหน่วยวิเคราะห์และแนวคิดที่น่าทำ และที่พอจะทำได้ ในเวลากำหนด

หัวข้อหนึ่งๆ เปิดประเด็นทำรายงานได้หลายแง่มุม หรือพูดอีกแบบหนึ่ง คือเราเข้าหาเรื่องนั้นเพื่อทำความเข้าใจมันได้หลายด้าน จากมุมมองของหลายฝ่าย และตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนั้นได้ในหลายระดับ ดังนั้น เพื่อให้ชัดว่าเราจะตัดสินใจถามอะไรเกี่ยวกับมัน ให้ลองทำรายการออกมาดูก่อนว่าถามอะไรเกี่ยวกับเรื่องนั้นได้บ้าง

นั่นคือ ถ้าหัวข้อเปเปอร์ที่เราสนใจคือ x ก่อนตัดสินใจว่าจะเลือกตั้งคำถามอะไรเกี่ยวกับ x ในเปเปอร์ ให้คิดและจัดทำรายการขึ้นมาก่อนว่าอาจถามอะไรได้บ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วเมื่อพิจารณาทางเลือกต่างๆ แล้ว มันน่าถามเรื่องอะไร และจะเลือกถามคำถามนั้นจากระดับไหนดี

เรื่องแบบนี้ถ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญแล้ว มองปราดเดียว เขาจะตอบคำถามข้างต้นทั้งหมดนี้ได้เลย แต่เราจะพิจารณาแบบนิสิตเริ่มเรียนกันนะครับ คือดูไปเป็นขั้น ๆ

อย่างที่ชื่อบทความบอกไว้ ผมจะขอสมมุติหัวข้อเปเปอร์ x ที่นิสิตสนใจทำรายงานว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหายุทธศาสตร์การต่างประเทศและความมั่นคง โดยเลือกเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจของประเทศต่าง ๆ ในเวลานี้มาพิจารณา นั่นคือ การก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกของจีนและการดำเนินยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านการต่างประเทศนับตั้งแต่จีนเปลี่ยนผู้นำมาเป็นสีจิ้นผิง

หัวข้อยุทธศาสตร์การต่างประเทศและความมั่นคงแบบนี้มีช่องให้เลือกทำรายงานได้หลายแง่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกเข้าหาเรื่องนี้จากแง่มุมใด

ถ้าเป็นอย่างนั้น แง่มุมใดที่ว่านี้จะพิจารณาจากไหนได้บ้าง? นิสิตแรกเรียนลองตั้งต้นด้วยวิธีนี้ดูนะครับ

ง่ายที่สุดและพื้นฐานที่สุดคือเลือกพิจารณาจากตัวแสดงตัวผู้กระทำการหรือองค์กรหรือหน่วยปฏิบัติการที่เราสนใจ แล้วใช้แนวคิดบางอย่างที่เราเรียนในวิชานั้นเป็นจุดตั้งต้นหาแง่มุมที่จะเปิดประเด็น

หัวข้อตัวอย่างที่เราสนใจคือปัญหายุทธศาสตร์การต่างประเทศและความมั่นคงจากการที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลก ถ้าใช้หลักข้างต้น เราก็จะเห็นว่า อย่างน้อยจากตัวแสดงที่เกี่ยวข้อง เราอาจเปิดประเด็นเรื่องนี้จากฝั่งของจีนก็ได้ หรือสหรัฐอเมริกา หรือประเทศต่างๆ ที่อยู่รายล้อมจีน หรือถ้าจะเปลี่ยนเป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ หรือไม่มองว่ารัฐเป็นตัวแสดงที่มีเอกภาพในตัวเอง เราก็ขยายมุมมองการพิจารณาตัวแสดงในเรื่องนี้ออกไปได้อีกมาก ว่าจะเลือกมองจากฝ่ายใด หรือประกอบด้วยฝ่ายใดบ้าง แต่ถ้าเพิ่มเข้ามามาก รายงานที่ทำก็ยิ่งต้องวิเคราะห์ซับซ้อนมากขึ้น ถ้าชอบเล่นกับของยาก ก็ไม่ว่ากันอยู่แล้ว ขอให้รู้เล่นให้ชัดเถิด

เมื่อคิดและตกลงใจได้แล้วว่าจะพิจารณาเรื่องนี้จากตัวแสดงหรือผู้กระทำการฝ่ายใด หลักข้างต้นบอกเราต่อไปว่าให้เลือกแนวคิดสักเรื่องหนึ่งมาเป็นโฟกัสสำหรับที่จะใช้เปิดประเด็น

แล้วจะหาแนวคิดที่ว่ามาจากไหน?

เราได้แนวคิดมาจากวิชาที่เราเรียนหรือเคยเรียนมานั่นล่ะครับ ยิ่งใครเรียนวิชาพื้นฐานมาดี ก็จะมีแนวคิดให้เลือกใช้และต่อยอดออกไปได้มากมายไม่รู้หมด

ในตัวอย่างนี้ แนวคิดเด่นที่ปรากฏอยู่ในตัวปัญหาเลยก็คือแนวคิดเรื่องอำนาจ เพราะเรากำลังสนใจปัญหายุทธศาสตร์อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจโลก รู้อย่างนี้ ก็เริ่มสนุกแล้วใช่ไหมครับ เพราะมีแนวคิดเรื่องอำนาจ เรื่องฐานอำนาจ เรื่องอิทธิพล ที่นิสิตเรียนมาจากวิชาพื้นฐานให้เลือกใช้เปิดประเด็นได้มาก

เช่น ลำพังแต่การพิจารณาจากฐานอำนาจรัฐในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็มีหลายด้านให้เราเลือก ไม่ว่าจะเป็นฐานอำนาจรัฐในด้านภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวกับที่ตั้ง ขนาด ทรัพยากร ฐานอำนาจรัฐด้านที่เป็นคุณภาพของรัฐบาล ระบบบริหารและการป้องกันประเทศ ประชากร ระบอบการปกครอง ฐานอำนาจรัฐในด้านเศรษฐกิจ พลังการผลิต รายได้ประชาชาติและอำนาจการซื้อ หรือฐานอำนาจรัฐด้านเทคโนโลยี ที่เป็นตัวเปลี่ยนสภาพ

แนวคิดที่ซับซ้อนอย่างอำนาจ ที่มีหลายความหมายจากหลายสำนักคิด ถ้าเราจะดึงมาใช้เปิดประเด็นในรายงานให้เลือกมาใช้ให้ชัดๆ สักด้านหนึ่งความหมายหนึ่งก็เพียงพอแล้วสำหรับเปิดประเด็นไปสู่การตั้งคำถามหลักของรายงานที่จะทำ ไม่อย่างนั้น ถ้าคละมามากเกินไปนัก รายงานจะตั้งต้นอย่างสับสนหรืออ่านแล้วไม่ชัดว่าที่มาของคำถามที่ตั้งเป็นโจทย์มาจากการพิจารณาอำนาจในมิติไหน ในความหมายอะไรกันแน่

แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเลือกแง่มุมไหนของแนวคิดเรื่องอำนาจมาใช้เปิดประเด็นแล้ว จะให้ทิ้งแง่มุมและความหมายในมิติอื่นๆ ของอำนาจทั้งหมดไปเลยนะครับ แต่ให้ขีดเส้นใต้พักความหมายอื่นๆ ของอำนาจเหล่านั้นไว้ก่อน โดยตราไว้ในใจว่าเรากำลังถามคำถามนี้จากฐานคิดเรื่องอำนาจด้านหนึ่งเท่านั้น และเราก็ตระหนักว่ามันยังมีฐานคิดเกี่ยวกับอำนาจในแง่มุมอื่นๆ ให้ถามได้ หรือใช้เปิดประเด็นได้อีกมาก แต่เราเลือกที่จะเปิดประเด็นกับเรื่องที่จะทำรายงานในมิตินี้และด้วยความหมายนี้

การใส่ใจต่อตัวแนวคิดและฐานคิดที่ใช้ในการเปิดประเด็นตั้งคำถามแบบนี้ ช่วยให้เราที่เป็นคนถามจะรู้และตระหนักตั้งแต่แรกในข้อจำกัดของคำถามที่ตั้งขึ้น และทำให้เราเห็นคำตอบของเราเองที่จะตามมาด้วย ว่ามันเป็นการตอบในพิสัยข้อจำกัดของคำถามที่ถูกตั้งไว้จากแนวคิดและฐานคิดแบบหนึ่งเท่านั้น

ในตัวอย่างที่จะแสดงต่อไป ผมจะเลือกแนวคิดของพวกศึกษาการเมืองระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญต่อองค์ประกอบด้านต่างๆ ของฐานอำนาจรัฐ  โดยจะเลือกฐานอำนาจรัฐด้านหนึ่งที่คนเรียนความรู้เบื้องต้นควรจะรู้จักทุกคนมาเป็นตัวเปิดประเด็นเพื่อตั้งคำถามให้รายงาน นั่นคือ ฐานอำนาจรัฐอันเกิดจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์

ผมจะลองทำรายการหัวข้อที่เป็นไปได้พอเป็นตัวอย่างให้พิจารณากันนะครับ จะได้เห็นว่าถึงแม้จะเป็นหัวข้อเดียวกัน และใช้ฐานคิดตั้งต้นในการเปิดประเด็นอย่างเดียวกัน แต่ถ้าเข้าหามันจากตัวแสดงคนละด้าน มันจะพาไปสู่โจทย์ของเปเปอร์คนละโจทย์ที่แตกต่างกัน ให้เราต้องเลือกอีกทีว่าเรื่องไหนที่น่าทำ แล้วเราอยากจะทำเรื่องไหน หรือเรื่องไหนที่เราพอจะทำออกมาได้สำเร็จในเวลากำหนดส่งงาน

 

> ตัวอย่างคำถามถ้าหากเราเข้าหาหัวข้อเปเปอร์ข้างต้นโดยใช้จีนเป็นตัวตั้ง แล้วใช้แนวคิดพื้นฐานที่นิสิตได้เรียนจากวิชาความรู้เบื้องต้นอย่างแนวคิดเกี่ยวกับความสำคัญของที่ตั้งในทางภูมิรัฐศาสตร์ มาช่วยเปิดประเด็น

 

  • ประเทศที่ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกจำเป็นต้องมีความมั่นใจในความมั่นคงและความสามารถที่จะป้องกันตนเองจากภัยคุกคาม แต่สภาพที่ตั้งของจีนแตกต่างจากมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีมหาสมุทร ๒ ด้านเป็นป้อมปราการสำคัญในการช่วยรักษาความมั่นคง ในขณะที่โดยเปรียบเทียบแล้วจีนไม่ได้โชคดีในทางภูมิรัฐศาสตร์เหมือนกับสหรัฐฯ ที่ตั้งของจีนทำให้จีนต้องเผชิญโจทย์ความมั่นคงที่แตกต่างกันจากประเทศเพื่อนบ้านที่รายล้อมจีนอยู่ทั้งทางบกและทางทะเล ในขณะที่สหรัฐมีพรมแดนทางบกติดต่อกับ ๒ ประเทศเท่านั้น แต่ประเทศเพื่อนบ้านทางบกของจีนมีถึง ๑๔ ประเทศ แล้วถ้ารวมเขตแดนทางทะเลเข้ามาพิจารณาด้วย โจทย์ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของจีนก็จะทบซ้อนขึ้นไปให้ต้องพิจารณาในหลายระนาบพร้อมกัน ที่ตั้งและประเทศเพื่อนบ้านของจีนในทิศต่างๆ โดยรอบนำมาสู่คำถามสำคัญหลายประเด็นเกี่ยวกับการวางเป้าหมายและแนวทางยุทธศาสตร์ที่จีนเลือกดำเนินเพื่อทำให้จีนมั่นใจในความมั่นคงของตนจากโจทย์ที่มาจากปัญหาที่ตั้งและขนาดสัณฐาน ไม่ว่าจะเป็นโจทย์การรักษาความมั่นคงภายใน โจทย์ความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีลักษณะภายในแตกต่างกันอย่างมาก และโจทย์ความมั่นคงในภูมิภาคที่มีอาณาเขตทางทะเลติดต่อกับจีน หรือที่จีนอ้างความเป็นเจ้าของ

 

การใช้แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างที่ตั้งและรูปพรรณสัณฐานทางภูมิศาสตร์กับความมั่นคงมาเปิดประเด็นหัวข้อเปเปอร์ข้างต้น ทำให้เราได้คำถามสำหรับเปเปอร์ที่พิจารณาโดยใช้จีนเป็นตัวตั้งตามมาอีกหลายข้อ เช่น

ก.) ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของเยอรมนีที่เคยก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกท่ามกลางการตกอยู่ในวงล้อมของประเทศต่างๆ บอกเราว่าเยอรมนีที่สามารถรับมือกับปัญหาความมั่นคงรอบด้านได้คือเยอรมนีที่เป็นอันตรายทางความมั่นคงต่อเพื่อนบ้านทุกฝ่าย จีนจะแก้โจทย์ยุทธศาสตร์ความมั่นคงเพื่อหลีกเลี่ยง “ฝันร้ายของเยอรมัน” แบบนี้ได้อย่างไร หรืออะไรคือทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับจีนในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศในปัจจุบัน ระบบพันธมิตรแบบบิสมาร์กและนโยบายเพื่อสร้างอำนาจในการเมืองโลกของไกเซอร์วิลเลียมที่สองมีบทเรียนอะไรบ้างให้แก่สีจิ้นผิง

ข.) ก่อนหน้าที่ฮิตเลอร์จะดำเนินนโยบายแก้ข้อจำกัดเชิงพื้นที่ของเยอรมนีกับประเทศรายรอบในแบบ Lebensraum นโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าต่างประเทศกับประเทศเล็กๆ ในยุโรปกลางของเยอรมนีหลังจากการรวมชาติภายใต้อำนาจของปรัสเซีย สร้างเงื่อนไขที่ดึงประเทศเล็กๆ เหล่านั้นให้มาขึ้นต่อเยอรมนีในทางเศรษฐกิจ และโดยเหตุนั้นเยอรมนีจึงสามารถเข้าไปมีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายของประเทศเพื่อนบ้านในด้านอื่นๆ ได้ ถ้าเราเปรียบเทียบกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่จีนใช้สร้างความสัมพันธ์และขยายอิทธิพลกับประเทศต่างๆ ที่อยู่รายรอบแล้ว เป็นแนวทางที่คล้ายคลึงหรือแตกต่างอย่างไรกับเยอรมนีในสมัยหลังการรวมชาติก่อนหน้าฮิตเลอร์จะใช้ Lebensraum และผลที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับประเทศเพื่อนบ้านในยุคนั้น ให้บทเรียนอะไรต่อแนวทางการดำเนินนโยบายที่จีนใช้กับพม่า ลาว หรือศรีลังกา

ค.) เราจะอธิบายความแตกต่างเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินยุทธศาสตร์การต่างประเทศของสีจิ้นผิงกับแนวทางของผู้นำจีนก่อนหน้านั้นอย่างไรในบริบทความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทะเลจีนใต้ และความแตกต่างดังกล่าวเกิดจากการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในระดับยุทธศาสตร์ในสมัยของสีจิ้นผิง หรือว่าความแตกต่างดังกล่าวเป็นแต่เพียงการเปลี่ยนเครื่องมือที่จีนใช้ และเปลี่ยนท่าทีการแสดงออกเพื่อปกป้องผลประโยชน์ที่ชัดเจนมากขึ้น แต่เป้าหมายยุทธศาสตร์ใหญ่ของจีนต่อภูมิภาคและทะเลจีนใต้ไม่ได้เปลี่ยน และเป็นแนวทางสืบเนื่องที่สีจิ้นผิงรับดำเนินต่อมาจากผู้นำรุ่นก่อนหน้าเขา

ง.) จีนดำเนินยุทธศาสตร์ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกแตกต่างกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แตกต่างกันอย่างไร เมื่อคำนึงว่า ๒ ภูมิภาคนี้มีโครงสร้างอำนาจและโครงสร้างของระบบพันธมิตรที่สหรัฐฯ มาจัดไว้แตกต่างกัน

เป็นต้น

 

> ตัวอย่างคำถามถ้าหากเราเข้าหาหัวข้อเปเปอร์โดยใช้มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเป็นตัวตั้ง (เพื่อความต่อเนื่องกับตัวอย่างของจีนข้างต้น เราก็จะใช้แนวคิดเกี่ยวกับความสำคัญของที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในการพิจารณาความมั่นคงมาช่วยเปิดประเด็นเช่นเดียวกันนะครับ)

 

  • คำถามจากที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในบริบทการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน นอกเหนือจากความได้เปรียบในทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สัมพันธ์กับการรักษาความมั่นคงและการป้องกันประเทศของเจ้ามหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ แล้ว คือโอกาสอันเกิดจากการที่สหรัฐฯ เป็นผู้วางระเบียบระหว่างประเทศด้านความมั่นคงในรูประบบพันธมิตรในภูมิภาคต่างๆ เช่น ในเอเชียตะวันออกคือระบบพันธมิตรที่สหรัฐฯ มีกับญี่ปุ่น กับเกาหลีใต้ และกับไต้หวัน การวางระเบียบโครงสร้างสถาบันความมั่นคงเช่นนี้ ประกอบกับความสามารถทางทหารและเทคโนโลยีที่ช่วยให้สหรัฐฯ ครองความเป็นใหญ่ใน Global Commons คือในน่านน้ำทะเลหลวง ในนภากาศ ในห้วงอวกาศ จึงทำให้สหรัฐฯ สามารถส่งและรักษาอิทธิพลทางไกลข้ามทวีปเข้าสู่ทุกภูมิภาคของโลกได้นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา จะมีข้อจำกัดอยู่ก็เพียงอำนาจในภาคพื้นดินที่สหรัฐฯ ไม่สู้จะประสบความสำเร็จเหนือข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และแรงต้านทานในพื้นที่ในยามที่สหรัฐฯตัดสินใจใช้กำลังทหารภาคพื้นดินในสงครามแบบจำกัด ที่อัตราความสูญเสียในภาคพื้นดินส่งผลผกผันกับความเต็มใจที่มติมหาชนสหรัฐฯ จะสนับสนุนการใช้กำลังและปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในโพ้นทะเล

 

การใช้แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างที่ตั้งทางภูมิศาสตร์กับการส่งอำนาจออกจากที่ตั้งศูนย์กลางและครองอิทธิพลทางไกลมาเปิดประเด็นหัวข้อเปเปอร์เกี่ยวกับสหรัฐฯ ในบริบทการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกของจีน ทำให้เราได้คำถามสำหรับเปเปอร์ที่พิจารณาโดยใช้สหรัฐฯ เป็นตัวตั้งตามมาได้หลายข้อ เช่น

ก.) โดยเหตุที่สหรัฐฯ มีแต้มต่อจากตำแหน่งที่ตั้งที่ทำให้สหรัฐ ไม่มีแรงกดดันจากภัยคุกคามระหว่างประเทศต่อความมั่นคงของตน การดำเนินยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐฯ จึงมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนแนวทางและจุดเน้นความสำคัญของยุทธศาสตร์ใหญ่หรือ Grand Strategy ได้มาก ดังจะเห็นได้จากทางเลือกหลายหลายแนวทางเกี่ยวกับ Grand Strategy ที่ถูกนำเสนอในแวดวงวิชาการและแวดวงผู้ตัดสินใจนโยบายต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการเข้าไปวางแนวปิดล้อมสกัดกั้นมหาอำนาจที่เป็นคู่แข่งขันของสหรัฐฯ ไม่ให้ขยายตัว การสนับสนุนให้ประเทศในภูมิภาคนั้นๆ ถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน การสร้างระบบความมั่นคงและการป้องกันร่วมกันกับประเทศพันธมิตร การเลือกพันธกรณีด้านความมั่นคงแบบจำกัดขอบเขต ไปจนถึงข้อเสนอที่สุดโต่งแบบการแยกตัวอยู่โดดเดี่ยว แนวทางแบบ Go It Alone หรือข้อเรียกร้องสนับสนุนให้สหรัฐขยายอำนาจไปสู่การเป็นจักรวรรดิในทางพฤตินัย

คำถามจากการเปิดประเด็นแบบนี้คือ เมื่อสหรัฐฯ มีความยืดหยุ่นสูงเกี่ยวกับทางเลือกยุทธศาสตร์อันเกิดจากข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งดังที่กล่าวมา การเผชิญกับมหาอำนาจที่ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งขันจึงมีทางเลือกให้เลือกได้หลายแบบ เราจึงเห็นความแตกต่างในแนวทางที่สหรัฐฯ เลือกใช้ในการสัมพันธ์กับจีน เช่น ความแตกต่างระหว่างแนวทางของทรัมป์ในปัจจุบันกับแนวทางของรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อนหน้านั้น ซึ่งน่านำมาตั้งคำถามเพื่อเสนอคำอธิบายเกี่ยวกับความแตกต่างดังกล่าวว่ามีปัจจัยใดเป็นตัวกำหนด

ข.) ในขณะที่สหรัฐฯ สามารถส่งอำนาจและอิทธิพลออกจากศูนย์กลางตัดข้าม global commons มาได้อย่างกว้างไกล ทว่าที่ผ่านมาสหรัฐฯ เลือกดำเนินความสัมพันธ์และจัดกลไกรองรับการดำเนินความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกแตกต่างกันและค่อนข้างเป็นเอกเทศจากกัน ทำให้ภูมิภาคทั้ง ๓ มีนัยสำคัญต่อยุทธศาสตร์โลกของสหรัฐฯ ไม่เหมือนกัน แต่การเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยรวมภูมิภาคทั้ง ๓ เข้าด้วยกันในขอบเขตใหม่ที่เรียกว่าอินโด-แปซิฟิก และกำหนดจีนว่าเป็นภัยคุกคาม นอกเหนือจากโวหารเชิงยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ ประกาศออกมาแล้ว น่าถามเหมือนกันว่า อะไรคือเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ ต้องการจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคทั้ง ๓ และสหรัฐฯ ใช้เครื่องมือและเสนอกรอบความร่วมมืออะไรบ้างสำหรับจัดแถวความสัมพันธ์ ที่จะเปิดโอกาสให้ประเทศเหล่านี้ปรับเข้ามามีผลประโยชน์ร่วมกันกับสหรัฐฯ และร่วมกันเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ความมั่นคงภายใต้การนำของสหรัฐฯ จนความสัมพันธ์ระดับภูมิภาคเกิดการปรับศูนย์กันใหม่ (realignment) ขยายวงจากขอบเขตเดิมที่แยกกันกลายเป็นภูมิภาคความมั่นคงขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่จากตะวันตกของมหาสมุทรอินเดียไปจนจรดฝั่งแปซิฟิกของสหรัฐฯ

ค.) การแข่งขันทางอาวุธและการแข่งขันกันขยายอิทธิพลระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตมองตามกรอบที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ได้ว่าเป็นการแข่งขันระหว่างขั้วอำนาจทั้ง ๒ ในยุคสงครามเย็นในการส่งอำนาจและอิทธิพลทางไกลออกจากที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางอำนาจระหว่างของแต่ละฝ่าย บทสรุปของการแข่งขันรอบนั้นจบลงที่ความพ่ายแพ้ของสหภาพโซเวียตเพราะขยายจนเกินขีดสมรรถนะที่ฐานอำนาจของสหภาพโซเวียตจะพัฒนามารองรับต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ ในการแข่งอิทธิพลระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในรอบใหม่นี้ สหรัฐฯ ขยายภูมิภาคความมั่นคงจากเดิมที่เคยแยกกันเป็น ๓ ภูมิภาค มาเป็นภูมิภาคความมั่นคงขนาดใหญ่ระดับอินโด-แปซิฟิกโดยใช้จีนเป็นเป้า การขยายสนามการแข่งขันกับจีนในด้านความมั่นคงออกมาในขอบเขตกว้างไกลเช่นนี้ตั้งคำถามเกี่ยวกับต้นทุนที่สหรัฐฯ เต็มใจจะแบกรับว่ามีมากน้อยเท่าใด หรือสหรัฐฯ จะเรียกร้องให้ประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกต้องเข้ามาช่วยสหรัฐฯ แบ่งเบาภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านความมั่นคง หรือในการรวมตัวกันเพื่อสกัดกั้นหรือถ่วงดุลอำนาจของจีนสักเท่าใด และจะเป็นในรูปใด

เป็นต้น

รายการคำถามยังทำต่อไปได้อีกมากนะครับ เช่น ยังสามารถตั้งคำถามประเด็นยุทธศาสตร์ของประเทศสมาชิกอาเซียนจากฐานอำนาจรัฐในด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ กับทางเลือกในการดำเนินนโยบายต่อจีน และต่อสหรัฐฯ ได้อีก แต่ผมจะขอหยุดไว้ที่มหาอำนาจหลักทั้ง ๒ เพราะจุดมุ่งหมายของเราตรงนี้คือสาธิตการตั้งคำถาม เพื่อให้เห็นตัวอย่างวิธีเปิดประเด็นไปสู่การกำหนดโจทย์ของรายงาน ว่าตั้งคำถามอะไรได้บ้าง คำถามไหนน่าสนใจ คำถามไหนพอทำได้ หรือว่าเราจะเลือกถามคำถามนั้นจากหน่วยการวิเคราะห์ระดับไหน จะถามจากระดับบุคคลที่เป็นผู้นำ จากระดับกลุ่ม/องค์กรที่ทำหน้าที่หรือรับผิดชอบการตัดสินใจ จากระดับระบบ-กระบวนการนโยบายที่เกี่ยวข้อง หรือจะมองว่ารัฐเป็นตัวแสดงแบบ unitary actor ไปเลย

เมื่อได้จัดทำรายการคำถามที่น่าสนใจออกมาแล้ว จะเลือกคำถามไหนให้รายงานดี? ตอบง่ายๆ ได้ว่า ให้เลือกคำถามที่สามารถทำได้ และทำได้เสร็จทันในเวลากำหนดส่ง แต่ถ้าจะให้ตอบแบบมีหลักเกณฑ์ว่าคำถามไหนน่าเลือก เกณฑ์ ๓ ข้อต่อไปนี้อาจช่วยให้ท่านตัดสินใจเลือกคำถามสำหรับทำรายงานหรือทำโครงการวิจัยได้ครับ :

– เป็นประเด็นที่ยังมีข้อถกเถียง หรือยังมีอะไรให้รู้ และน่ารู้ต่อไปอีก

– เป็นประเด็นมีนัยสัมพันธ์ต่อนโยบายหรือต่อการตัดสินใจของฝ่ายต่างๆ พูดง่ายๆ คือมีนัยสัมพันธ์ต่อภาคปฏิบัติ หรือการเปลี่ยนแปลงสิ่งกำหนดวิถีปฏิบัติ

และ

– มีนัยสำคัญในทางทฤษฎีหรือต่อความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่เกี่ยวกับความเป็นจริง

เมื่อเลือกคำถามหลักสำหรับเป็นโจทย์ของเปเปอร์ที่จะทำได้แล้ว คำแนะนำขั้นที่ ๓ ต่อไปคือจะอ่านอะไรและอ่านอย่างไรในการหาคำตอบมาตอบโจทย์ที่ตั้ง แต่ก่อนจะไปถึงขั้นที่ ๓ ผมขอคั่นด้วยแบบฝึกหัดนิดหน่อย เพราะอยากแสดงประเด็นสำคัญที่ควรเน้นบางอย่างไว้ในที่นี้

 

****************************************************************

แบบฝึกหัด

 

แบบฝึกหัดตั้งโจทย์นี้คือการฝึกโดยขอให้นิสิตลองเปลี่ยนแง่มุมเปิดประเด็นใหม่ เช่น จากโจทย์ข้างต้น ถ้าเปิดประเด็นด้วยฐานอำนาจรัฐด้านที่เป็นเทคโนโลยี แทนที่จะเป็นฐานอำนาจรัฐในทางภูมิศาสตร์ เราจะตั้งคำถามอะไรแตกต่างออกไปจากตัวอย่างข้างต้นได้บ้าง หรือมีสภาพปัญหาอะไรเกี่ยวกับฐานอำนาจรัฐด้านเทคโนโลยีที่น่านำมาเปิดประเด็นจากฝั่งจีน ฝั่งสหรัฐ หรือประเทศต่างๆ ที่อยู่รายล้อมจีน เช่น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจากประเด็นดังกล่าวนั้น นำไปสู่คำถามอะไรที่น่าตั้งเป็นโจทย์ของรายงานบ้าง

หรือถ้าท่านเห็นว่าการตั้งต้นเปิดประเด็นด้วยตัวแสดงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยลำพังนั้นน่าสนใจไม่พอ เพราะไม่พาให้เห็นลักษณะและพลวัตที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ จะลองเปลี่ยนจากการตั้งต้นที่ตัวแสดงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด มาเป็นการเปิดประเด็นจากรูปแบบความสัมพันธ์แบบหนึ่งแบบใดดูก็ได้ครับ เช่น ใช้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่มีการขึ้นต่อกันและกันหลายด้านจนเกิดลักษณะที่หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ มาเปิดประเด็นเพื่อตั้งคำถามรายงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในภาวะการขึ้นต่อกันและกันแบบนี้ว่าส่งผลอย่างไรต่อการจัดการปัญหาความขัดแย้ง หรือการแข่งอิทธิพลระหว่างกัน แล้วทำรายการคำถามที่น่าสนใจออกมา

หรือเปิดประเด็นโดยใช้ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างรัฐมหาอำนาจที่มีอิทธิพลมากกับรัฐที่มีฐานอำนาจอย่างจำกัด แล้วดูว่าความสัมพันธ์ภายใต้ลักษณะอสมมาตรของอำนาจรัฐเช่นนี้ สภาวะการขึ้นต่อกันและกันของทั้งสองฝ่ายในเงื่อนไขแบบไหนและด้วยการดำเนินยุทธศาสตร์อย่างไรที่ทำให้ฝ่ายที่อ่อนแอกว่าในความสัมพันธ์ยังคงพอจะรักษาอัตตาณัติในการดำเนินนโยบายของตนไว้ได้ ไม่ถึงกับตกอยู่ในอิทธิพลของฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่าโดยสิ้นเชิง ดังนั้น แทนที่จะเปิดประเด็นด้วยตัวแสดงอย่างพม่า อย่างเกาหลีเหนือว่าเลือกดำเนินนโยบายต่อจีนอย่างไร  ให้ลองเปิดประเด็นรายงานด้วยลักษณะความสัมพันธ์ที่ขึ้นต่อกันและกันระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ หรือจีนกับพม่า ในสภาวะอสมมาตรของอำนาจรัฐ แล้วดูว่าเราจะตั้งคำถามอะไรออกมาได้บ้างจากการพิจารณาที่ตัวความสัมพันธ์แบบนี้แทนที่จะตั้งต้นที่ตัวแสดงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

 

*******************************************************

 

ครูฝึกของผมบอกว่าการฝึกตั้งโจทย์ตามแบบฝึกหัดอย่างนี้เป็นอุปกรณ์การคิดที่ดีมาก และจากการได้ฝึกกับอุปกรณ์การคิดที่ครูวิชาพื้นฐานของผมให้ไว้ ช่วยให้ผมไม่ลืมตระหนักถึงข้อจำกัด ซึ่งจะมีอยู่เสมอไปในคำถามที่เราเลือกใช้พิจารณาเรื่องหนึ่ง และไม่ลืมความสำคัญของคำถามที่จะมีเหนือคำตอบเสมอ เพราะคำถามที่ตั้งเป็นตัวกำหนดพิสัยการพิจารณาคำตอบที่จะเสนอออกมาตั้งแต่แรก การรู้ข้อจำกัดในคำถามที่ตั้ง และรู้ว่ามันยังถามจากฐานอื่นๆ ได้อีกมาก ช่วยเราไม่ให้ปักใจยึดมั่นพอใจกับคำตอบหนึ่งๆ ที่ได้ ไม่ว่ามันจะเป็นคำตอบที่ดีเพียงใด เพราะโลกซับซ้อนใบนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฐานคิดแบบเดียวด้านเดียวหรือเหตุปัจจัยเดียว

อีกข้อหนึ่งที่ผมได้มาจากการฝึกฝนแบบนี้ คือไม่มองข้ามหรือนึกดูเบาแนวคิดหรือฐานคิดไหนว่าไร้ประโยชน์ การทำความรู้จักกับแนวคิดหลากหลายโดยไม่ด่วนสรุปตีตราหรือปัดปฏิเสธมันในเชิงคุณค่าไปก่อนล่วงหน้า และหาโอกาสทำความเข้าใจลงไปถึงฐานคิดหนึ่งๆ ที่ผลิตแนวคิดกลุ่มหนึ่งขึ้นมาช่วยสร้างความมั่งคั่งในการเรียนรู้ของเราเองได้มาก ทำให้เราไม่คับแคบติดอยู่ในการมองปัญหาจากจุดใดจุดเดิมแต่เพียงจุดเดียว และที่สำคัญมันช่วยเราเปิดประเด็นซักค้านข้อจำกัดในความคิดของเราได้ตลอดเวลา ถ้าเชื่อตามที่นักปราชญ์บอกว่ารู้อะไรไม่ดีเท่ากับรู้ว่าไม่รู้อะไร วิธีฝึกให้รู้ตั้งคำถามและรู้เปลี่ยนคำถามที่ตั้งกับโลกรอบตัวจากหลายฐานคิดนี่ล่ะครับ ที่จะช่วยให้เรารู้ถึงข้อจำกัดของเราเองได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง

 

3.

วิธีอ่านลัดขั้นตอนเมื่อได้คำถามน่าสนใจสำหรับรายงานมาแล้ว

เมื่อได้คำถามได้โจทย์สำหรับรายงานมาแล้ว ขั้นตอนสำคัญต่อไปของเปเปอร์คือจะเสนออะไรเป็นคำตอบ ขั้นนี้แหละครับที่นิสิตมักจะติดขัดและใช้เวลานานกว่าจะค้นพบประเด็นที่น่านำมาตั้งเป็น argument เพื่อตอบคำถามหลักของเปเปอร์

ผมขอแนะวิธีลัดในการอ่านให้นิสิตนำไปลองใช้ดูนะครับว่าได้ผลไหม คือวิธีการยืนบนไหล่ยักษ์เพื่อมองต่อออกไปจากจุดนั้น ยักษ์ที่ว่านี้ได้แก่ผู้ที่ผลงานของเขาจัดว่าเป็น authority ได้ในเรื่องในคำถามที่เราตั้งขึ้นมาเป็นโจทย์ของรายงาน ในกำหนดเวลาอันมีจำกัด อย่าเสียเวลาไปกับการอ่านงานปกิณกะไปเรื่อยๆ  แต่ให้ตั้งต้นหาว่าใครคือยักษ์ของวงการในเรื่องนี้ที่เราสนใจศึกษา และเขาหรือเธอหรือพวกเขาและเธอทั้งหลายมีข้อเสนอและคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่าอย่างไร ให้อ่านงานเหล่านี้ก่อน อ่านให้กระจ่าง และเขียนสรุปความคิดข้อเสนอคำอธิบายหรือการตีความเหล่านั้นออกมา โดยใส่ใจเป็นพิเศษต่อ

หนึ่ง เขาโต้แย้งกับข้อเสนอที่มีมาก่อนหน้านั้นอย่างไร ข้อเสนอเดิมมีว่าอย่างไร และอะไรคือข้อเสนอใหม่ของเขา

สอง แจกแจงแนวคิด กรอบการวิเคราะห์ และตรรกะเหตุผลที่เขาใช้ หรือยกมาเป็นข้อสนับสนุนข้อเสนอคำอธิบายหรือแนวทางการตีความของเขา รวมทั้งวิธีการศึกษาที่เขาใช้เลือกข้อมูลหลักฐาน

สาม อ่านหาให้พบว่าวิธีคิดของเขาตามที่เราแจกแจงออกมาในข้อสองนั้นมันวางอยู่บน assumption อะไร และเราสามารถเปิดคำถามต่อ assumption นั้นได้หรือไม่

ข้อหลังสุดนี้ควรยกตัวอย่างประกอบเล็กน้อยเพื่อความเข้าใจ สมมุติว่าเราอ่านงานของยักษ์ในเรื่องยุทธศาสตร์ของอาเซียนต่อจีนและต่อสหรัฐฯ ในบริบทของความผันแปรไม่แน่นอนที่เกิดจากการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจและความไม่ชัดเจนในนโยบายของสหรัฐฯ และยักษ์เสนอว่ายุทธศาสตร์ของอาเซียนควรเลือกแนวทาง hedging เป็นยุทธศาสตร์ประกันความเสี่ยงจากผลลบที่อาจเกิดขึ้นได้ในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจทั้งสอง

Hedging เป็นการนำแนวคิดจากการค้าการลงทุนมาใช้เป็นความเปรียบในการดำเนินยุทธศาสตร์ความมั่นคงระหว่างประเทศ การประกันความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนมีความเสี่ยงแต่ละด้านที่วัดได้ชัด เช่น ความเสี่ยงที่จะเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยน และทางเลือกและเครื่องมือในตลาดที่นักลงทุนหรือผู้ประกอบการจะเลือกใช้ในการประกันกันความเสี่ยงที่มีความผันผวนตรงข้ามและที่จะช่วยให้ได้รับผลตอบแทนดีที่สุด ก็เป็นเครื่องมือที่การทำงานของมันมีความชัดเจนเช่นกัน

การใช้แนวทางประกันความเสี่ยงแบบ hedging มาเป็นแนวคิดยุทธศาสตร์ จึงเป็นข้อเสนอที่มี assumption ว่าลักษณะความเสี่ยงที่มีความชัดเจนและมีเครื่องมือประกันความเสี่ยงที่ทำงานรับมือกับความผันผวนขึ้นลงในทิศทางตรงกันข้ามได้อย่างชัดเจนในตลาดให้ประเทศเล็กๆ เลือกจัดหาได้ในแบบเดียวกันกับที่นักลงทุนซื้อหาเครื่องมือประกันความเสี่ยงในตลาด

ถ้าข้อเสนอของยักษ์ข้ามที่จะพิจารณาความสมเหตุสมผลในการเทียบเคียงนำแนวคิดและแนวทางของการประกันความเสี่ยงในโลกของการลงทุนมาใช้ในโลกของการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ ก็เป็นโอกาสของเราที่จะพิจารณาว่าน่าเปิด assumption นี้ออกมาเป็นประเด็นตั้งคำถามไหม

ขั้นตอนนี้ ถ้าอ่านเป็นและอ่านละเอียดจริง และเรียบเรียงความคิดจากงานที่อ่านออกมาได้หมดจด เราจะเห็นของเราเองว่ายังมีช่องตรงไหนที่เปิดให้เรา: โต้แย้ง เห็นต่าง เพิ่มเติม ขยายต่อ แก้ข้อจำกัด หรือปฏิเสธและแทนที่

และเมื่อเห็นแล้ว การตั้ง argument ต่อจากยักษ์เพื่อเสนอมติของเราเป็นคำตอบสำหรับโจทย์ของรายงานก็ไม่ยากแล้ว

ขอให้ทำรายงานสำเร็จนะครับ.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save