fbpx
อนุสรณ์ อุณโณ : จากพี่ว้ากสู่คณบดีไล่เผด็จการ และคำถามในพานพุ่ม

อนุสรณ์ อุณโณ : จากพี่ว้ากสู่คณบดีไล่เผด็จการ และคำถามในพานพุ่ม

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ กำลังจะพ้นจากการเป็นผู้บริหารในฐานะคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สองสมัย ในปี 2562

แทนที่จะทำงานบริหารไปอย่างสบายเนื้อสบายตัว, เขาส่ายหน้าปฏิเสธ เลือกก้าวลงเดินถนนเพื่อให้กำลังใจ-เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมจากการเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.

แต่ผู้หลักผู้ใหญ่เมามันในอำนาจ จนอยู่ล่วงเลยมา 4 ปี นับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 คณบดีร่างเล็กกำยำไม่ทนกับสภาพบ้านเมืองเงียบเชียบไร้ขื่อแป จนเขาและนักกิจกรรมต้องออกมาเดินชูธงสิทธิมนุษยชน-ประชาธิปไตยด้วยตัวเอง ในนามกลุ่ม ‘we walk’ และในฐานะผู้สังเกตการณ์การชุมนุมของกลุ่ม ‘คนอยากเลือกตั้ง’

ผลจากการไม่อยู่เฉย เขาถูกแจ้งข้อหาร่วมกับประชาชนหลายสิบชีวิตตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ฐานชุมนุมเกินห้าคนขึ้นไป กรณีแรกนั้นล่าสุดอัยการเพิ่งสั่งไม่ฟ้องไป แต่กรณีหลังเขาและอีกหลายคนกลายเป็นจำเลยเพราะถูกอัยการสั่งฟ้องไปแล้ว

อะไรทำให้อาจารย์ผู้นี้แจ่มชัดในการยืนตรงข้ามกับผู้มีอำนาจของบ้านเมือง ต้นทุนแบบไหนที่เขาผ่านเผชิญมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนขาสั้น จนล่วงเข้าสู่โลกวิชาการหลังรับปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาจาก University of Washington – นี่เป็นประเด็นแรก

ประเด็นต่อมา ยิ่งน่าทบทวน-ทำความเข้าใจ เนื่องจากในฐานะนักวิชาการ เขาเอาตัวเองลงไปอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2550 ท่ามกลางความเป็นความตาย ล่าสุด สำนักพิมพ์ชั้นนำของสิงคโปร์นาม ISEAS กำลังจะจัดพิมพ์หนังสือของเขาชื่อ We love Mr. King ออกมา ดีเทลทั้งหมดในหนังสือที่ผ่านการเฝ้าติดตามและเจาะลึกร่วม 10 ปี ทำให้เขาตั้งคำถามอย่างสั้นกระชับและแหลมคมที่สุดว่า “อำนาจอธิปไตยไทยตกลงเป็นของใคร”

ทำไมจึงเกิดคำถามแบบนี้ และ รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ จะอธิบายอย่างไร 101 อยากให้อ่านตั้งแต่บรรทัดต่อไปอย่างช้าๆ ยาวๆ และทำใจให้สบาย

อาจารย์เป็นนักมานุษยวิทยา และเป็นคณบดี ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย แทนที่จะทำงานวิชาการหรืองานบริหารในมหาวิทยาลัยไปตามที่ควรเป็น อาจารย์รู้สึกเปลืองตัวไหม เหนื่อยล้าไปไหม

ความสนใจในขบวนการประชาชนของผมเกิดขึ้นก่อนที่ผมจะมีตำแหน่งบริหาร เพราะก่อนเรียนต่อที่อเมริกาผมเคยคลุกคลีกับขบวนการประชาชนมาระดับหนึ่ง แต่พอกลับไทยเมื่อปี 2553 ผมมาเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ ก็รู้สึกว่าขบวนการประชาชนมันออกนอกลู่นอกทางไปพอสมควร ผมเลยไปคุยกับเพื่อนๆ นักกิจกรรมทั้งหลาย จนมีการตั้งกลุ่ม ‘ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย’

เราคุยกันว่า แทนที่ภาคประชาชนจะเป็นตัวหนุนเสริมให้ประชาธิปไตยแข็งแกร่งขึ้น กลับเป็นส่วนหนึ่งในการบ่อนเซาะประชาธิปไตย

ช่วงแรกที่กลับมา ผมเป็นแค่อาจารย์ทั่วไป แต่พอดีที่คณะฯ สนับสนุนให้จัดเสวนาทางวิชาการ หลังจากนั้นเหมือนว่าอาจารย์ในคณะเห็นผมมีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงาน ก็เลยให้ผมไปเป็น ผอ.ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย พอได้ทำศูนย์นี้เราก็ใช้มันเป็นพื้นที่เอื้ออำนวยให้กลุ่มภาคประชาชนต่างๆ มาจัดกิจกรรมได้

พอปี 2556 มีการสรรหาคณบดีคนใหม่ ปรากฏว่าเพื่อนอาจารย์ในคณะก็มาทาบทามให้เป็นคณบดี ผมก็บอกว่าเพิ่งเป็นอาจารย์ได้ 3 ปีเอง เขาบอกไม่เป็นไร เพราะข้อกำหนดบอกว่าจะต้องเป็นอาจารย์มาไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งผมทำงานได้ 3 ปี 1 เดือนพอดีตอนเริ่มกระบวนการสรรหา และที่สำคัญคือผมไม่ได้เริ่มต้นจากตำแหน่งบริหารมาก่อน

พอหลังรัฐประหาร 2557 เป็นจังหวะที่มีนักศึกษาเคลื่อนไหวและถูกจับกุมคุมขัง เรารู้สึกว่าเราอยู่ในตำแหน่งค่อนข้างจะมั่นคงที่จะช่วยเหลือนักศึกษาได้ ก็เลยรวบรวมรายชื่ออาจารย์ ใช้ชื่อ ‘เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง’ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาอย่างไม่มีเงื่อนไข ไปอ่านแถลงการณ์ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังจากนั้นก็มีงานรับขวัญตอนได้รับการปล่อยตัว

จากนั้นสถานการณ์มันบังคับให้ทำมาเรื่อยๆ ก็ขยายพันธกิจครอบคลุมคนอื่นที่ถูกละเมิดสิทธิด้วย พร้อมกับเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น ‘เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง’ หรือ คนส. แล้วก็ทำกิจกรรมต่างๆ เรื่อยมา ขณะเดียวกันก็ร่วมกับกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะภาคประชาชน ในชื่อ ‘People Go Network’ เริ่มด้วยการจัดงานมหกรรมรณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ 2560 และล่าสุดก็คือกิจกรรม ‘We Walk เดินมิตรภาพ’

ฉะนั้น ถ้าถามว่าทำงานห้องแอร์สบายอยู่แล้วจะออกมาทำไม ผมก็จะตอบว่า ผมไม่ได้โตมาจากห้องแอร์ เราทำงานกับประชาชน แล้วไปร่ำเรียนสะสมความรู้มา เราเห็นว่าทรัพยากร สถานะทางสังคมของนักวิชาการและของมหาวิทยาลัยมันเอามาหนุนเสริมกระบวนการขับเคลื่อนทางประชาธิปไตยได้ ตำแหน่งบริหารมันแค่ชั่วคราว อีกปีกว่าผมก็หมดวาระแล้ว

ทำไมลำพังการใช้พื้นที่วิชาการพูดประเด็นประชาธิปไตยจึงไม่พอ อะไรทำให้ต้องออกมาเดินบนท้องถนนด้วยตัวเอง

ผมรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยไม่ถูกใช้ประโยชน์เท่าที่ควร และผมอาจจะเรียกร้องความกล้าหาญของตัวเองด้วย อาจเป็นเพราะผมไม่ได้กังวลอนาคตของตัวเองเท่าไหร่ บางคนเขามีลูกมีเต้าที่ต้องดูแลก็เข้าใจได้ ผมไม่มีลูก แม้จะมีแม่ที่ต้องดูแล แต่พี่ชายผมก็เป็นคนดูแลมากกว่า แล้วลึกๆ ผมคงชอบชีวิตที่มันผจญภัย ชอบความเสี่ยง ความตื่นเต้นเร้าใจ ชอบชีวิตที่มันมีสีสัน มีชีวิตชีวา ไม่ชอบชีวิตที่จืดชืด

ฉะนั้นเวลาผมเผชิญความเสี่ยงหรือความน่าวิตกกังวล สำหรับผมแล้วมันไม่ได้มีความหมายอะไรมาก เพราะผมคุ้นเคยกับความเสี่ยง การผจญภัยอยู่แล้ว และผมก็ไม่ได้ใฝ่ฝันที่จะไต่เต้าในตำแหน่งบริหารมาตั้งแต่ต้น

บางคนนี่กว่าจะได้เป็นคณบดี จะต้องไปเริ่มจากผู้ช่วยคณบดี เดินตามก้นผู้บริหารไปก่อนตามสูตร เพื่อจะได้ไต่เต้าขึ้นมา แต่ผมไม่ได้เป็นแบบนั้น ตอนแรกผู้บริหารมหาวิทยาลัยวิตกกังวลด้วยซ้ำไปว่าผมเข้ามาแล้วจะสร้างความวุ่นวาย แต่สุดท้ายผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับใคร ในแง่ความสัมพันธ์ส่วนตัวผมปฏิบัติกับทุกคนในฐานะเพื่อนมนุษย์ ตราบเท่าที่การใช้อำนาจในงานบริหารไม่ล้ำเส้นหรือไม่ทำให้ผมเสียจุดยืนไป ก็ไม่มีปัญหาอะไร

ตำแหน่งบริหารทำให้อาจารย์รู้สึกขัดแย้งในตัวเองบ้างไหม

ไม่ขัดแย้ง ในทางมานุษยวิทยาเขาก็พูดถึงอัตลักษณ์คนๆ หนึ่งว่ามันหลากหลายและเลื่อนไหล ขึ้นอยู่กับว่าในจังหวะหนึ่งคุณเป็นใคร และสัมพันธ์กับใคร แบบไหน

เวลาหนึ่งคุณอาจเป็นแม่ที่ดูแลลูก แต่จังหวะหนึ่งคุณอาจเป็นภรรยาที่อยู่กับสามี หรือในช่วงหนึ่งอาจเป็นนักสิทธิสตรี ภาษาทางมนุษยวิทยาเรียกว่า multiple and shifting identities เพียงแต่ว่าอย่าให้มันขัดแย้งกันในระดับรากฐาน ผมยืนยันในสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าอะไรก็ตามแต่ที่ไม่ใช่ มันก็ไม่ใช่

เมื่อพื้นที่ทางสังคมและการเมืองหดแคบเพราะการรัฐประหาร สถาบันทางวิชาการก็ต้องเปิด ถ้าหากมันปิดหมด สุดท้ายแล้วสังคมจะไม่เหลือพื้นที่อะไรให้คนได้เคลื่อนไหวอีก และผมก็ไม่ได้กังวลว่าจะถูกปลดออกจากตำแหน่งคณบดีไหม เพราะที่ผ่านมาชีวิตเราก็ไม่ได้มีอะไร สมัยวัยรุ่นผมก็ไม่มีอะไร กินอยู่กับเพื่อนมาแบบธรรมดา ก็ยังอยู่กันได้ เคยไปเก็บก้นบุหรี่ตามป้ายรถเมล์ที่คนเขาโยนทิ้งมาสูบก็ยังทำได้

ก่อนชีวิตจะมาทางโลกวิชาการ โลกวัยฉกรรจ์ของอาจารย์เป็นอย่างไร

จริงๆ แล้วผมเป็นเด็กเรียนดีนะ ที่หนึ่งของชั้น เป็นตัวแทนโรงเรียนมาสอบเลข สอบวิทยาศาสตร์ ที่กรุงเทพฯ แต่พอเป็นวัยรุ่นมันก็เริ่มออกนอกลู่นอกทาง ประมาณสักช่วง ม.2 ปลายๆ เริ่มหัดสูบบุหรี่ เริ่มกินเหล้า แล้วพอช่วง ม.ปลายก็ขึ้นมาเรียนที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะอยู่กับเพื่อน เรียนได้ปีเดียวก็ถูกไล่ออกจากโรงเรียน

จำได้ว่าเป็นวันสุดท้ายของการสอบไล่ และมันเหมือนเป็นประเพณีที่ต้องมีการตีกัน ผมก็มีมีดที่ทำเองเอาใส่กระเป๋าสะพายหิ้วไปโรงเรียน แต่มันมีรถตำรวจมาจอดตรวจหน้าโรงเรียนพร้อมกับฝ่ายปกครอง ผมก็อาศัยว่าก่อนเดินเข้าไปจะโยนกระเป๋าข้ามกำแพง แล้วกะว่าตอนเย็นจะไปเอา ระหว่างนั่งสอบฝ่ายปกครองเดินมาที่โต๊ะ เรียกผมว่า ลูกๆ ไอ้กระเป๋านี้ของลูกใช่ไหม เดี๋ยวไปเจอกันที่ห้องปกครอง ผมก็เริ่มรู้ตัวแล้ว เพราะก่อนหน้านั้นมีคดีทะเลาะวิวาทติดตัวมาแล้วสองสามครั้ง แล้วฝ่ายปกครองก็จำเป้สะพายเราได้ ตอนเย็นไปพบที่ห้อง แล้วต่อมาก็มีจดหมายไล่ออกฐานทะเลาะวิวาท

อาจารย์บู๊มาตั้งแต่อยู่ต่างจังหวัดเลยไหม

เพิ่งมาเริ่มตอนเรียนที่กรุงเทพฯ ในแง่หนึ่งรู้สึกเหมือนกับว่ามันพกความเป็นคนใต้ติดตัวมาด้วย มันจะต้องหรอย ต้องนักเลง เวลาอยู่ในกลุ่มเพื่อนก็ต้องมีความกล้ามากกว่า พร้อมจะวิ่งไปข้างหน้าก่อนใคร ตอนถูกไล่ออกก็ไม่ได้เสียใจเพราะไม่ได้คิดจะเรียนต่อสายสามัญ ตอนนั้นอยากใส่ขายาวแล้ว กางเกงขายาวเวสป้อยท์ไม่เอาด้วย ต้องกางเกงยีนส์

ตอนนั้นไปสอบที่อุเทนถวาย อยากเรียนช่างก่อสร้าง อยากคุมห้างมาบุญครอง (หัวเราะ) แต่สอบไม่ติด เลยไปสอบไทยวิจิตรศิลป์ต่อ สอบติด มอบตัวแล้ว อีกสองสามวันจะเปิดเทอม แต่ที่บ้านไม่ให้เรียน พ่อบอกว่าแค่เรียนมัธยมยังถูกไล่ออก ถ้าปล่อยไปเรียนไทยวิจิตรฯ คงได้ไปเยี่ยมไม่ในคุกก็งานศพ ก็เลยอดเรียน

จากนั้นพ่อตระเวนหาโรงเรียนขาสั้นเข้าเรียนต่อให้ จำได้ว่าจิ๊กโก๋ปากซอยหัวเราะเยาะ เพราะจากที่เตรียมตัวว่าจะใส่กางเกงยีนส์ เสื้อขาว ไว้ผมยาว ต้องกลับไปนุ่งกางเกงขาสั้น ตัดผมเกรียน (หัวเราะ) ไอ้เราก็แค้นมาก แต่ก็ไม่ได้อะไร ประคับประคองตัวเองเรียนไปจนจบ พอเอ็นทรานซ์ก็บังเอิญได้คณะอักษรศาสตร์ ศิลปากร

ที่สอบติดศิลปากร เพราะมีต้นทุนเป็นคนเรียนดีอยู่แล้วหรือเปล่า

ทำนองนั้น ตอนไปสอบภาษาอังกฤษ placement test สำหรับเด็กทั้งมหาวิทยาลัย ผมอยู่กลุ่มหนึ่งของมหาวิทยาลัย แต่พอเข้าไปเรียน ก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนนัก ใช้ชีวิตค่อนข้างสำมะเลเทเมา ตอนอยู่ปี 1 ผมไปทะเลาะวิวาทกับนายกสโมสรนักศึกษาด้วย

คืนนั้นผมจำได้ว่าไม่ได้กินเหล้า แค่ตอนดึกอยากจะกินกาแฟที่องค์พระปฐมเจดีย์ เราก็ขี่มอเตอร์ไซค์ซ้อนเพื่อนไปอีกสองคน ตอนออกจากหอพักมา พอผ่านหอพักที่อยู่ใกล้ๆ กันก็ได้ยินเสียงคนตะโกนแจกกล้วยให้เรา เราก็จอดรถ เดินเข้าไปถาม คุยไปคุยมาคนหนึ่งก็บอกว่า “ถ้าไม่มีเหล็กดัดกั้น มึงถูกต่อยไปแล้ว” ไอ้เราก็สวนกลับอย่างไม่ทันรู้ตัวว่า “งั้นมึงออกมาตัวๆ กันทีละคนเลย” พูดเสร็จเราก็ขี่มอเตอร์ไซค์ออกไป ขากลับเข้ามา เจอพวกมันยืนรอเป็นสิบ เขาก็เดินเข้ามาพาเราเข้าไปทางเดินด้านล่างหอพัก เพื่อนอีกสองคนอยู่ที่ถนน พยายามคุยกันแต่ไม่รู้เรื่อง

คนหนึ่งเตะและต่อยหน้าเรา ผมก็สวนกลับไป เขาคิ้วแตก หยุดเลย มารู้ทีหลังว่าเป็นประธานชมรมดำน้ำ ส่วนคนที่แจกกล้วยคือนายกสโมสรนักศึกษา จากนั้นเราเดินขึ้นหอไป พวกนั้นก็พากันเดินตามขึ้นมา เคาะห้องและพังมุ้งลวด เราก็เปิดประตูออกไป คนหนึ่งก็บอกว่าเลือดน้องกู มึงจะเอายังไง เราก็บอกว่าอยากได้เลือดใช่ไหม ก็เลยบอกเพื่อนว่างั้นไปเอามีดมา จะกรีดให้ตรงนี้ คนที่มาด้วยอีกคนบอกว่า พอๆ หยุดแค่นี้ ยอมรับใจเราแล้ว อะไรทำนองนี้ จนเช้ามาก็เป็นข่าวดังทั้งมหาวิทยาลัยว่าผมเมาแล้วไปทะเลาะวิวาท

จากนั้นผมก็เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเป็นพิเศษ เน้นระบบโซตัส เวลารับน้องผมเป็นพี่ว้าก ศิลปากรแง่หนึ่งมันเป็นโลกของศิลปิน ยิ่งอยู่คณะอักษรฯ เรียนวรรณคดี มันไม่ได้เหมือนพวกเด็กธรรมศาสตร์หรือเด็กจุฬาฯ ที่มีค่ายอาสา ทำให้ออกไปสนใจปัญหาของผู้คน ตอนนั้นผมไม่ค่อยรู้เรื่องโลกนอกมหา’ลัยเท่าไหร่

กระทั่งบังเอิญมาเกี่ยวกับการเมืองครั้งแรก ก็คือพฤษภาคม 2535 ตอนนั้นกำลังจะขึ้นปี 4 ผมบังเอิญกลับเข้ามากรุงเทพฯ แล้วก็เข้าไปดูที่ชุมนุม แม้จะไม่สนใจการเมืองเท่าไหร่ แต่คล้ายกับว่าใจมันรู้สึกถึงการต่อต้านการใช้อำนาจ

พูดได้ไหมว่ามีหัวเชื้ออยู่แล้ว

ผมไม่ชอบความไม่เป็นธรรม แล้วก็พร้อมเผชิญหน้าด้วยมั้ง หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ปรากฏว่าทั้งศิลปากร มีผมเพียงแค่คนเดียวที่ถูกจับกุมในที่ชุมนุม มารู้ทีหลังเพราะเขาจัดงานเสวนาในมหา’ลัย และเชิญผมไปพูด จำได้ว่าหลังถูกจับ ผมถูกส่งตัวไปเรือนจำกลางคลองเปรม แดน 1 ห้อง 43 ติดอยู่ 3 วัน 2 คืน

หัวรุ่งวันที่ 19 พ.ค. 2535 ผมอยู่แถวหน้ากองสลากฯ ทหารก็ยิงไล่มาเรื่อยๆ จากสี่แยกคอกวัวมาหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ผมวิ่งหนีไปนอนหลบอยู่ตรงริมคลองหลอด จำได้ว่ามีทหารคนหนึ่งยืนคร่อมหัว แล้วยิงปืนขู่ผู้ชุมนุม แต่ปลอกกระสุนตกใส่หัวผม ปับๆๆ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร แต่ผมไปชุมนุมแบบไม่ได้มีเครือข่ายหรือมีปฏิสัมพันธ์อะไรกับใคร ไปคนเดียวโดดๆ เลย

เป็นพี่ว้ากที่มาต่อต้านรัฐประหาร ตอนนั้นมองเห็นอำนาจในเชิงโครงสร้างหรือยัง

ยัง ผมยังลุ่มหลงไปกับความหฤหรรษ์ บทกวี แม้ไม่ชอบเผด็จการ แต่ความรอบรู้ทางสังคมศาสตร์ยังจำกัด อันนี้เป็นข้อจำกัดมากๆ ของมนุษยศาสตร์ไทย แม้จะมีความรู้กว้างใหญ่ไพศาลแค่ไหน แต่เอาเข้าจริงแล้วความรอบรู้ที่จะเท่าทันว่าความรู้นั้นเป็นเครื่องมือของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งเพื่อตรึงอำนาจเขาไว้ มันไม่มี เราไม่สามารถจะวิพากษ์เช่นนั้นได้ ก็เลยกลายเป็นตัวผลิตซ้ำโครงสร้างอำนาจที่อยุติธรรมไป

แล้วมามองทะลุถึงโครงสร้างเอาตอนไหน

พอจบปริญญาตรียังไม่รู้ว่าจะทำงานอะไร ด้วยความที่ลุ่มหลงในวรรณคดี ผมเรียนวรรณคดีอังกฤษกับวรรณคดีเยอรมัน ตั้งใจว่าอยากเป็นนักเขียน พอเขียนขึ้นมาแต่สุดท้ายไปทิ้งไว้ตรงไหนไม่รู้ ตอนนั้นเขียนวิพากษ์วิจารณ์พระพุทธเจ้า เพราะได้อิทธิพลจากการอ่าน สิทธารถะ ของเฮอร์มานน์ เฮสเส แต่เป็นการวิพากษ์พระพุทธเจ้าบนฐานของคนหนุ่มใจร้อน ไร้เดียงสา ไม่ได้มีความรอบรู้ทางสังคมศาสตร์เลย

อะไรสะกิดใจให้เป็นเดือดเป็นร้อนกับพระพุทธเจ้า

ผมต่อต้านการผูกขาดความถูกต้อง แล้วผมรู้สึกว่าพระพุทธเจ้าผูกขาดความถูกต้อง ทำไมต้องเป็นคนเดียว ทำไมสิ่งที่คนนี้พูดถึงต้องถูกที่สุด ทำไมต้องจริงที่สุดด้วย และถูกตลอดเวลาเลยเหรอ สงสัยว่าทำไมทุกคนต้องเชื่อโดยที่ไม่ตั้งคำถาม ทำไมความคิดของคนคนหนึ่งถึงถูกที่สุด ผมรับไม่ได้ ก็เลยมีปัญหากับพระพุทธเจ้ามากตอนนั้น

ถือว่าเล่นรุ่นใหญ่เลย

ก็ทำนองนั้น แต่มันเป็นเพียงภาวะ angry young man เราไม่พอใจโลก เร่าร้อน แต่ก็ไร้เดียงสามาก มันไม่ได้ช่วยให้เรามีความเข้าใจโลกที่แท้จริง พอเรียนจบไปเกือบปีก็รู้สึกว่าถ้าจะเขียนจริงๆ ความรู้ที่มีมันไม่พอ อาจารย์ที่เราเคารพบอกว่า ไปเรียนมานุษยวิทยาต่อดีกว่า นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้ยินคำว่ามานุษยวิทยา

ผมรู้สึกว่ามานุษยวิทยามันมอบเครื่องไม้เครื่องมือหรือวิธีการเล่าเรื่องผู้คนไว้ด้วย ขณะเดียวกันพอเรียนจบมา ผมก็มาเกี่ยวข้องกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ได้เห็นปัญหาความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน แล้วมานุษยวิทยานี่มันเน้นการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม สามารถที่จะ engage ตัวเองได้ด้วย ไม่ใช่แค่ศึกษา แต่เราสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้เรายังมีจิตวิญญาณ ได้ทั้งเขียนโลกเขียนชีวิตและได้ร่วมต่อสู้เคลื่อนไหวกับคนอื่นไปในเวลาเดียวกัน ก็เลยเบนเข็มมาทางมานุษยวิทยาในที่สุด

กิจกรรม ‘we walk เดินมิตรภาพ’ อาจารย์และนักกิจกรรมหลายคนถูกดำเนินคดี ล่าสุดอัยการสั่งไม่ฟ้องแล้ว อาจารย์มองไปข้างหน้าต่ออย่างไร เห็นความท้าทายอะไรบ้าง

อย่างที่เรารู้กันว่า ภาคประชาชนเฟื่องฟูมาตอนปลายทศวรรษ 2530 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นทศวรรษ 2540 ก่อนที่จะเริ่มซบเซา ต่อมากลุ่มพันธมิตรฯ ขึ้นมาไล่รัฐบาลทักษิณ และมีการเสนอใช้มาตรา 7 นี่คือจุดที่ทำให้ขบวนการประชาชนแตกกันอย่างมีนัยยะสำคัญ เรื่อยมาจนถึง กปปส.

แต่หลังรัฐประหาร 2557 ผมคิดว่าภาคประชาชนที่เคยมีความคิดไม่ลงรอยกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่เชื่อในอำนาจนอกระบบเข้ามาคลี่คลายปัญหาก็ได้ตระหนักแล้วว่ามันไม่เป็นจริง มันเลยทำให้ขบวนการประชาชนเริ่มหันหน้าเข้ามาพูดคุยกันมากขึ้น และมีฉันทมติที่หนักแน่นมากขึ้นว่ารัฐประหารไม่ใช่คำตอบของภาคประชาชนอีกต่อไป ไม่ใช่วิธีการที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนได้ ทั้งข้อจำกัดของกฎหมายพิเศษที่ห้ามผู้คนแสดงความคิดเห็น ห้ามการรวมตัว รวมไปถึงการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนต่างๆ

วิกฤตครั้งนี้ได้สลายมายาภาพของคนจำนวนหนึ่งที่เคยคิดว่า ‘ระบอบทักษิณ’ มันเลว ต้องมีคนดีหรือ ‘เผด็จการผู้ทรงคุณธรรม’ เข้ามาแทน แต่จริงๆ ไม่เคยแก้ปัญหาได้ เพราะเผด็จการไม่เคยมีคุณธรรม ประโยคมันขัดกันในตัวอยู่แล้ว ความคิดของคุณเป็นใหญ่คนเดียว ถูกอยู่คนเดียว ปิดปากคนอื่น แล้วจะมีคุณธรรมได้อย่างไร

หลายคนตระหนักตรงนี้ โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ในแง่หนึ่งก็ได้บทเรียนร่วมกันว่าเรามีรากปัญหาเดียวกัน แต่ความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้สามารถเกาะเกี่ยวกันต่อไปได้ ในสมัยที่ภาคประชาชนเคยเฟื่องฟูก็ไม่ใช่ว่าจะลงรอยกันทุกเรื่อง แต่ละกลุ่มก็มียุทธวิธีต่างกันไป บางคนชอบล็อบบี้ บางคนชอบท้องถนน แต่จะทำอย่างไรให้เกาะเกี่ยวกันไว้เพื่อให้มีพลังมากที่สุดในตอนนี้

นอกจากการหลอมรวมกันของภาคประชาชนที่ยังเป็นโจทย์ท้าทาย อาจารย์รับฟังเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าพวกอาจารย์ยังรับเงินทักษิณ เพื่อมาสร้างความวุ่นวาย หรือรุนแรงที่สุดคือการกล่าวหาว่าเป็นพวก ‘ล้มเจ้า’ อย่างไร ความคิดสุดโต่งแบบนี้จะยังมีพลังอยู่ไหมในสังคมปัจจุบัน

ผมคิดว่าพวกสุดโต่งน่าจะถดถอยลงไป เอาเรื่องแรกก่อน คนที่คิดว่าจะต้องมีการรับเงินคนโน้นคนนี้แล้วจึงจะออกมาเคลื่อนไหว ผมคิดว่ามันมีพลังน้อยลงไปมาก เพราะขุมกำลังของทั้งพันธมิตรฯ และ กปปส. ก็คือกลุ่มคนที่บริจาคเงินให้สุเทพ เทือกสุบรรณ พวกเขามีประสบการณ์ว่าการที่ใครจะห่วงใยบ้านเมือง และลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องรับเงินใคร เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ฉะนั้นจะใช้ข้อโจมตีอย่างนี้ก็กระไรอยู่

ส่วนกรณีล้มเจ้า ผมคิดว่าการกล่าวหาว่าใครล้มเจ้าจะใช้ได้น้อยลงเรื่อยๆ เพราะการเปลี่ยนรัชสมัยเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน จะหาคนที่จะลุกขึ้นมาแสดงตนปกป้องสถาบันอย่างเร่าร้อนแบบก่อนหน้านี้ อาจทำได้จำกัด แล้วตอนนี้มันก็ไม่มีเหตุอะไรที่จะใช้ข้อหาแบบนั้น มันไม่มีที่มาที่ไป ยังหาอะไรรองรับไม่ได้ แล้วอย่าลืมว่ากลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้า ก็มีจำนวนหนึ่งที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อในหลวงองค์ปัจจุบันในช่วงความขัดแย้งที่ผ่านมาด้วย

หลังรัฐประหาร 2557 อาจารย์ถูกทหารเชิญกินกาแฟหลายครั้ง แถมยังมีคดีติดตัวจากการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นิตยสารไทม์เรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นสฤษดิ์น้อย อาจารย์ทำความเข้าใจท่านผู้นำยุคนี้อย่างไร

ผมคิดว่าสมัยก่อนมันเป็นคนที่มีอำนาจในตัวค่อนข้างชัด การตัดสินใจวางอยู่บนอำนาจและผลประโยชน์ของตนเองที่เห็นได้ชัดเจน แต่ปัจจุบันสิ่งที่เราพบมันคล้ายกับร่างทรง

เราต่างรับรู้กันใช่ไหมว่า นี่เป็นความขัดแย้งที่มีเบื้องหลัง คุณประยุทธ์ไม่ได้เตรียมตัวที่จะขึ้นมายึดอำนาจ เขาไม่ใช่คนอย่างสฤษดิ์ เขาไม่ได้มีความทะเยอทะยานแบบนั้นตั้งแต่แรก แต่จังหวะทางการเมืองทำให้เขาถูกหยิบขึ้นมาเพื่อปฏิบัติภารกิจบางอย่างให้ลุล่วง

พูดอีกแง่หนึ่งคือ เขาไม่ได้มีเจตจำนงเสรีในตัวเอง เราจึงเห็นความแตกต่างอย่างสำคัญกับคนอย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่พร้อมจะใช้อำนาจอย่างดิบหยาบ กูรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ยิงก็ยิง แต่ประยุทธ์ไม่ใช่แบบนั้น กระทั่งตอนที่เขาขึ้นมาแล้วจะพาตัวเองไปเป็นคนอย่างสฤษดิ์ ก็ทำไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้มีฐานกำลังอะไรเป็นของตัวเอง

เผด็จการสมัยก่อนเขาทำได้เพราะเขาสั่งสมขุมกำลังมา แต่คนอย่างประยุทธ์ไม่ได้ขึ้นมาด้วยตัวของเขาเอง คนอื่นดึงเขาขึ้นมาให้เป็นหมากตัวหนึ่งในการขับเคี่ยวทางการเมือง เพราะฉะนั้นจะให้เขาตัดสินใจอะไรตามลำพังก็ยาก ก็เล่นได้เท่าที่เห็น เป็นตลกด่านักข่าวไปวันๆ

แต่ตอนนี้ก็อยู่ในอำนาจเข้าปีที่ 5 แล้ว อาจารย์คิดว่าเขาจะสามารถยกระดับจากสฤษดิ์น้อย ไปสู่สฤษดิ์ใหญ่ได้ไหม

ไม่ถึงขนาดนั้น ผมไม่คิดว่าเขาอยู่ในเงื่อนไขที่จะสะสมกำลังของตัวเองให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ และต่อให้อยากจะทำ ก็ทำได้ลำบาก ไหนจะต้องดุลกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อีก ผมคิดว่านายพลเหล่านี้ถูกหยิบมาใช้งานเฉพาะหน้ามากกว่า และในแง่หนึ่งก็มีการสมประโยชน์กัน คือ การที่กองทัพขึ้นมาคุมรัฐบาล เราก็เห็นถึงความอู้ฟู่ของกองทัพในเชิงงบประมาณ ไม่นับรวมไปถึงว่า แต่ละคนได้รับการจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์มหาศาลกันอย่างไร แต่มันไม่ได้แปลว่าเพราะเขาอยากได้สิ่งเหล่านี้เขาถึงทำรัฐประหาร มันเป็นผลที่ตามมาและสมประโยชน์กันพอดี และเมื่อหมากเดินมาอย่างนี้แล้ว เขาก็ต้องเล่นต่อไป

ปัญหาคือถ้าเกิดปล่อยไปนานๆ เข้า การเมืองไทยมันอาจพัฒนาไปเป็นรัฐทหาร ถ้าเราเปิดโอกาสให้กองทัพอยู่ในอำนาจนานๆ มีงบประมาณให้กองทัพเติบใหญ่มากกว่านี้ บรรดานายพลก็มีโอกาสในการสร้างขุมกำลังของตนจนเป็นตัวละครทางการเมืองที่ทรงพลัง และเล่นเกมบนฐานของอำนาจและผลประโยชน์ของตนเองในที่สุด

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา เราอาจยังเห็นตรงนี้ไม่ชัด เพราะสถานะของกองทัพมันเคยถดถอยมาตั้งแต่ช่วงพฤษภาฯ 2535 มันมีกระแสการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน มีรัฐธรรมนูญ 2540 ประชาธิปไตยเฟื่องฟู ทหารกลับกรมกอง พอเกิดความขัดแย้งทางการเมือง ทหารก็ถูกหยิบมาใช้ เราไม่เห็นความต่อเนื่องหรือความเป็นเนื้อเดียวกันของ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน กับพล.อ.ประยุทธ์ เพราะทั้งคู่ถูกหยิบใช้จากคนละสถานการณ์ แต่อย่าลืมว่า ถ้าปล่อยให้เป็นแบบปัจจุบันไปสักพัก มันจะกลายเป็นรัฐทหารได้ในที่สุด

อาจารย์เคยทำวิจัยเรื่องการเมืองคนดีในช่วง กปปส. ถึงวันนี้พลังเหล่านั้นยังมีอิทธิพลอะไรกับสังคมไทยไหม

ที่ผ่านมาวาทกรรมคนดีถูกหยิบไปใช้ในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันการเมืองแบบจารีต แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันปิดบังความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมไว้ค่อนข้างสูง

แต่ตอนนี้มันคงเอามาใช้ยากขึ้น เพราะตัวของ คสช. ที่ปวารณาตัวเองเป็นคนดีที่เข้ามาคลี่คลายปัญหา กลับแก้ปัญหาไม่ได้ หนำซ้ำตัวเองยังทำสิ่งตรงข้ามทุกอย่าง จนกลายเป็นตัวตลกในสายตาประชาชนไปแล้ว

แต่ตัวตลกก็ยังทำให้ประชาชนที่ออกมาต่อต้าน เดือดร้อนได้ด้วยการจับกุมและตั้งข้อหา

ผมโกรธตรงนี้แหละ เพราะว่าถ้าย้อนกลับไปสมัยวัยรุ่น เรารู้สึกว่าวิธีการแบบนี้โคตรกระจอกเลย ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะบอกว่ามึงมาตัวต่อตัวไหม (หัวเราะ) วิธีการอย่างนี้มันเหมือนลอบกัด กระจอก โกรธจริงๆ โกรธแล้วก็หงุดหงิดด้วย

คงไม่ใช่อาจารย์คนเดียวที่โกรธ พอสังคมไทยอยู่ในบรรยากาศแห่งความกลัว ความไม่ไว้วางใจกันอย่างยืดเยื้อ ยาวนาน บานปลาย นอกจากความโกรธแล้วยังยกระดับไปสู่ความเศร้า เพราะมีการสูญเสีย ที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจารย์ติดตามเรื่องนี้มาร่วม 10 ปี เห็นความเป็นไปได้ที่ผู้มีอำนาจและคนไทยจะเคารพความแตกต่างหลากหลายกันได้ไหม

ในอนาคตอันใกล้ ผมคิดว่ายัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่ทหารเรืองอำนาจ มันคงไม่เกิด

ครั้งหนึ่งสมัยรัฐบาลพลเรือน เราเคยมีนโยบายการเมืองนำการทหาร หลักการนี้ก็คลี่คลายปัญหาได้ระดับหนึ่ง ประกอบกับการที่ประเทศมันเปิดตามยุคสมัยมากขึ้น แต่ปัจจุบันมันสวนทางหมด เรากลับเอาการทหารนำการเมือง เอาความมั่นคงเป็นตัวตั้ง เอาความสุขของประชาชนเป็นตัวรอง

สถานการณ์ชายแดนภาคใต้อยู่ในขั้นวิกฤต แม้ยังไม่ขยายตัวลุกลาม แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็สะสมเป็นความคับข้องใจของคนในพื้นที่ เพราะทิศทางการแก้ปัญหามันผิด เอาความมั่นคงแห่งรัฐเป็นหลัก และเป็นความมั่นคงในความหมายแคบ เป็นอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนในความหมายโบราณมากๆ

ปัจจุบันนี้ในหลายประเทศที่เผชิญโจทย์ความขัดแย้ง โดยเฉพาะความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนา เขาไปไกลกว่านั้นแล้ว แต่ไทยไม่ไปไหนเพราะปัญหาการเมืองระดับชาติขวางอยู่ ปัญหาภาคใต้ก็ติดล็อกทำให้ขยับไม่ได้

งานมานุษยวิทยาที่อาจารย์ทำเรื่อง ‘We love Mr.King’ ก็มาจากในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากทราบว่าก่อนที่อาจารย์จะเห็นแก่นแกนสังคมไทยจากเรื่องนี้ อาจารย์ติดใจอะไรกับที่นั่น

หลังจากผมเรียนจบปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ ผมได้ไปทำงานกับกลุ่มชาวบ้านชื่อองค์กรชาวบ้านพิทักษ์ลุ่มน้ำสายบุรี เขารวมตัวกันประมาณปลายทศวรรษ 2530 เพราะกรมชลประทานมีโครงการจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสายบุรี และหมู่บ้านที่ผมไปศึกษาก็ถูกวางให้เป็นที่ตั้งของหัวเขื่อนเลย ชาวบ้านในพื้นที่ก็คัดค้านไม่เห็นด้วย ผมในฐานะนักวิจัยเลยลงไปช่วยศึกษาเรื่องนี้ ทำให้คลุกคลีผูกพันกับพวกเขา

พอไปเรียนที่อเมริกาปลายปี 2548 อาจารย์ที่ปรึกษาก็ถามว่าจะทำวิทยานิพนธ์เรื่องอะไร ผมบอกว่ายังไม่ได้คิด เขาก็บอกว่าวงวิชาการโลกสนใจประเทศไทยในสองประเด็น หนึ่งคือวิกฤตการณ์ทางการเมือง ช่วงนั้นกลุ่มพันธมิตรฯ กำลังเคลื่อนไหว สองคือความไม่สงบในภาคใต้ ผมเลือกข้อนี้เพราะอย่างน้อยผมก็มีพื้นที่วิจัยและรู้จักคนในพื้นที่บ้าง

ปกหนังสือ We Love Mr King
ปกหนังสือ We love Mr.King

แล้ววงวิชาการโลกก็ยังสนใจประเทศไทยทั้งสองเรื่องจนทุกวันนี้ เพราะปัญหามันยังคงอยู่ ในหนังสือของผมเรื่่อง We Love Mr. King ก็โยงสองเรื่องนี้เข้าด้วยกัน เป็นการอาศัยข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์มาจากงานวิจัยในพื้นที่อีกสองชิ้นที่ทำในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา

บทสรุปในหนังสือ ชื่อว่า Sovereignty in Crisis หรืออำนาจอธิปไตยในสภาวะวิกฤต ชี้ให้เห็นว่าปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ มีสาเหตุมาจากสิ่งเดียวกัน คือการตกลงกันไม่ได้ว่าอำนาจอธิปไตยควรจะเป็นของใคร และอำนาจอธิปไตยที่บังคับใช้ก็อยู่ในสภาวะวิกฤตเต็มที

ทำไมอาจารย์สรุปแบบนั้น

เพราะในระดับประเทศตอนนี้ เรายังตกลงกันไม่ได้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของใคร เป็นของประชาชนตามทฤษฎีระบอบประชาธิปไตย หรือว่าเป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เราเคารพศรัทธา ยิ่งตอนนี้ถ้าไปดูในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็จะเห็นความขัดแย้งไม่ลงรอยนี้ชัดเจนขึ้น

ส่วนในชายแดนภาคใต้ คนในพื้นที่โดยเฉลี่ยเขาอยากได้อิสระในการเลือกที่จะเชื่อและใช้ชีวิตของเขา ไม่ต้องตกอยู่ในอำนาจครอบงำมากนัก ขณะที่บางกลุ่มก็ไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของรัฐไทย อยากจะได้เอกราช ความเป็นเอกเทศ หรืออิสระในการปกครองตนเอง มันเลยยื้อกันอยู่อย่างทุกวันนี้ Sovereignty in Crisis จึงเกิดขึ้นเพราะมันตกลงกันไม่ได้สักที

ในชายแดนภาคใต้ ถึงแม้คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีความคิดสุดขั้วขนาดที่ว่า ต้องการจะแยกดินแดนเป็นรัฐอิสลาม แต่อย่างน้อยที่สุดเขาต้องการอิสระในการตัดสินใจว่าจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร อยากจะพูดภาษาอะไร อยากจะแต่งตัวแบบไหน

มันมีบทเรียนจากต่างประเทศ อย่างกรณีกลุ่มโมโร (Moro Islamic Liberation Front) ที่ฟิลิปปินส์ ล่าสุดประธานาธิบดีดูเตอเต้ เพิ่งลงนามให้เอกราชหลังจากสู้รบกันมาหลายสิบปี อิสรภาพของพวกเขาก็เกิดขึ้นได้ในยุคของดูเตอเต้ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นจอมเผด็จการและไม่น่าจะยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยง่าย ผมคิดว่าคงมีข้อต่อรองกันที่ทุกฝ่ายรับได้ ถึงจุดหนึ่งยังไงก็ต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นนั้นๆ

แต่ทำไมเราถึงยังไปไหนไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะบรรดาประเทศในเอเชีย มีแค่สองประเทศที่ยังเป็นรัฐเดี่ยว ใช้อำนาจอธิปไตยเป็นเนื้อเดียวและบริหารไปทั่วทั้งเขตแดน คือไทยกับกัมพูชา

จริงๆ แล้วประเทศอื่นเมื่อเขาเผชิญหน้ากับความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทางศาสนาหรือชาติพันธุ์ หรือผลประโยชน์เฉพาะถิ่น เขาจะบริหารอำนาจอธิปไตยในลักษณะที่มันยืดหยุ่นและแยกย่อย ไม่ว่าในรูปแบบของสหพันธรัฐ สหภาพ หรือสาธารณรัฐ กัมพูชาไม่ค่อยมีปัญหาเพราะเขาไม่ได้มีโจทย์เรื่องความแตกต่างทางชาติพันธุ์ศาสนาที่แหลมคม

แต่ที่ชายแดนภาคใต้มันมีทั้งอิสลามและความเป็นมลายู บริเวณนี้เป็นเสมือนจุดยุทธศาสตร์ของภูมิศาสตร์การเมือง เพราะตั้งอยู่ระหว่างแผ่นดินใหญ่กับคาบสมุทรและหมู่เกาะของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่แผ่นดินใหญ่อยู่ใต้อารยธรรมพุทธศาสนา ขณะที่คาบสมุทรและหมู่เกาะอยู่ใต้อิทธิพลของอารยธรรมอิสลาม และสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นจุดบรรจบกันของสองอารยธรรมนี้ เป็นจุดยุทธศาสตร์ คนในพื้นที่จึงถูกดึงไปดึงมาตลอดเวลา

ระหว่างอยู่ในพื้นที่ อาจารย์ดีลกับความเป็นคนนอกของตัวเองอย่างไร เพราะช่วงที่ลงไปนั้น เหตุการณ์ความรุนแรงเพิ่งปะทุไม่นาน

งานของผมเป็นงานศึกษาภาคสนามที่อยู่ลึก อยู่ยาว แล้วก็เป็นประเด็นค่อนข้างสลับซับซ้อน แตกต่างจากงานทั่วไปที่เป็นประเภท hit and run ทำให้ต้องดีลกับเรื่องนี้เยอะเหมือนกัน

มีอยู่วันหนึ่ง ผมเดินถ่ายภาพกิจกรรมงานวันเด็กที่โรงเรียนในหมู่บ้านที่ผมศึกษาใน อ.รามัน จ.ยะลา ด้วยความที่ผมคุ้นเคยกับผู้ปกครองเด็กๆ และครู แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนเพิ่งย้ายมาใหม่ ยังไม่เคยเจอกัน พอเขาเห็นผมเขาก็ปรี่มาหาเลย บอกให้หยุดเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องถ่าย แล้วให้เดินตามเขาไปที่ห้อง เขาถามว่ามาจากหน่วยไหน ผมก็บอกว่าผมเป็นนักศึกษาปริญญาเอกมาเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ เขาก็หายโกรธ บอกว่าตอนแรกนึกว่าผมเป็นทหารพรานมาหาข่าวในงานโรงเรียนโดยไม่แจ้งล่วงหน้า

ความไม่ไว้ใจเป็นเรื่องปกติ ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จัก ไม่ใช่ชาวบ้านทั่วไป จะถูกสงสัยว่าเป็นใครมาทำอะไร เพราะสถานการณ์ยังคุกรุ่น ฆ่ากันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหมู่บ้านที่ผมอยู่เป็นพื้นที่สีแดงด้วย

แต่ถ้าเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ เขาจะสงสัยว่าผมอาจเป็นพวกแกนนำนักรบอาร์เคเค หรือหน่วยปฏิบัติการระดับพื้นที่ ซึ่งมีคนประมาณ 12 คน มีแกนนำอายุประมาณ 30 กลางๆ ซึ่งลักษณะและวัยผมค่อนข้างใกล้เคียงพอดี

แต่ถ้าเป็นพวกค้าของผิดกฎหมาย เขาจะนึกว่าผมเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ เป็นสายสืบมาหาข่าว เพราะผมเคยไปเจอเขาซื้อขายน้ำต้มใบกระท่อมกันอยู่ริมคลอง ใจจริงผมต้องการจะไปดูแม่น้ำ เพราะฝนตกแล้วน้ำขึ้น พอเดินเข้าไปกับเด็กๆ ที่เรารู้จัก ก็ไปจ๊ะเอ๋กับพวกเขาที่กำลังขายน้ำต้มใบกระท่อมกัน ก็มีการไล่เช็คกันว่าผมเป็นใครกันแน่ เป็นสายสืบหรือเปล่า ส่วนถ้าเป็นข้าราชการพลเรือนก็อาจคิดว่าผมเป็นทหาร เหมือนอย่าง ผอ.โรงเรียน

เรื่องของเรื่องก็คือ ไม่มีใครสักคนที่คิดว่าผมเป็นนักศึกษาปริญญาเอก (หัวเราะ) ทุกคนให้ผมอยู่ในตำแหน่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกับพวกเขา เพราะไม่มีใครคิดว่าจะมีใครจะเสี่ยงมาทำวิจัยในพื้นที่ภายใต้สถานการณ์แบบนั้น

สถานะที่อาจารย์ได้รับกำลังสะท้อนอะไร

ส่วนหนึ่งมันสะท้อนคุณลักษณะของความรุนแรงระลอกนี้ที่ต่างจาก 3-4 ทศวรรษก่อนหน้า อย่างแรกคือมันเป็นความรุนแรงนิรนาม คือมีแต่ความรุนแรง แต่ไม่มีผู้อ้างความรับผิดชอบ ซึ่งต่างจาก 3-4 ทศวรรษก่อนหน้านี้ที่มีขบวนการใหญ่ๆ เช่น พูโล การปฏิบัติการของกลุ่มเหล่านี้จะอ้างความรับผิดชอบ แต่ครั้งนี้เป็นความรุนแรงนิรนาม

อย่างที่สองคือ พอไม่มีผู้อ้างความรับผิดชอบเบื้องหลังความรุนแรง มันเลยปราศจากข้อเรียกร้องใดๆ แต่หากเป็นเมื่อก่อน เช่น ถ้าพูโลทำ เขาจะบอกทันทีว่าต้องการอะไร แต่ครั้งนี้ฆ่าอย่างเดียว ต้องการอะไรก็ไม่บอก

อย่างที่สาม เดิมทีความรุนแรงมันพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยพุทธ แต่ความรุนแรงระลอกใหม่ สถิติล่าสุดมีคนตายไปกว่า 6,000 คน กว่า 60 เปอร์เซ็นต์เป็นพลเรือน และส่วนใหญ่ก็คือคนมลายูมุสลิม คนที่ตายและบาดเจ็บส่วนใหญ่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นชาวบ้านธรรมดาทั่วไป ซึ่งพอไม่รู้ว่าใครทำ และต้องการอะไร มันก็ก่อให้เกิดความกลัว เกิดความไม่ไว้ใจกระจายไปทั่ว ไม่ใช่แค่เฉพาะชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ แต่ระหว่างชาวบ้านด้วยกันเองด้วย

พอสถานการณ์เป็นแบบนี้ งานวิทยานิพนธ์ที่มันเรียกร้องการศึกษาภาคสนามเชิงลึก ต้องอยู่กับผู้คนอย่างน้อยหนึ่งปี การทำกิจกรรมหรือมีส่วนร่วมกับคนที่ศึกษาจึงขาดหายไปในเชิงวิชาการ

ขณะเดียวกันมันก็มีความกระจุกตัว เพราะแม้ว่างานศึกษาจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามเหตุการณ์ แต่งานส่วนใหญ่มุ่งไปที่การตอบคำถามว่าความรุนแรงเป็นเรื่องของอะไร ทำไมทวีจำนวนขึ้น ใครอยู่เบื้องหลัง และต้องการอะไร กระทั่งมีการเปรียบเปรยว่าเป็นอุตสาหกรรมงานวิจัย

แต่ว่างานเหล่านี้ไม่ได้ลงไปถึงชีวิตคนสามัญ เพราะมันมีข้อจำกัด ทำได้ยาก อย่างงานของ Duncan McCargo ที่ Deep South Watch แปลและจัดพิมพ์ ในคำนำก็เขียนไว้ชัดว่า ตอนแรกตั้งใจจะขับรถตระเวนไปตามหมู่บ้านเพื่อสัมภาษณ์ผู้คน แต่สุดท้ายก็ต้องอาศัยการโทรศัพท์นัดคนในหมู่บ้านมาสัมภาษณ์ที่ร้านกาแฟในเมือง ทำได้เท่านี้ ทั้งทั้งที่อยากจะขับรถไปสัมภาษณ์ในหมู่บ้าน เพราะสถานการณ์มันอันตรายและไว้ใจอะไรไม่ได้

ฉะนั้น พอผมลงไป ก็ไม่มีใครเชื่อว่ามาศึกษาวิจัย เพราะไม่มีใครหอบกระเป๋ากันมาอยู่กันเป็นปีๆ ในหมู่บ้านที่มีสถานการณ์อย่างนี้ คนก็ประหลาดใจกัน

ชื่อ We love Mr.King มาจากไหน

วันนั้นตอนบ่าย ผมนั่งอยู่ที่ศาลาหน้าบ้าน กินกระท้อนจิ้ม มลายูเรียกว่า ‘จอและ’ หรือน้ำปลาหวาน ผมนั่งกินอยู่กับชาวบ้าน ก็เห็นเด็กนักเรียนตาดีกาเดินถือพานพุ่มที่เอาเข้าร่วมขบวนแห่และพิธีเปิดงาน ‘ตาดีกาสัมพันธ์’ ที่ อ.รามัน เมื่อตอนเช้า ลงจากรถกระบะ แล้วก็เอามาวางที่ศาลา ตอนแรกก็ไม่มีใครเอะใจอะไร แต่ไอ้เราด้วยความตาไวก็เห็นว่าบนพานพุ่มเขียนว่า “เรารักนายหลวง” ซึ่งหมายถึงในหลวงนั่นแหละ

ตอนนั้นก็เก็บข้อมูลไว้ไม่ได้คิดอะไร และตอนคิดชื่อหัวข้อวิทยานิพนธ์ก็ยังไม่ใช่ชื่อนี้ ใช้ชื่อว่า ‘ชีวิตและการต่อรองของชาวมลายูมุสลิมในเหตุการณ์ความไม่สงบ’ อะไรทำนองนี้ แต่พอถึงขั้นการเขียนจริงๆ ก็เกิดความคิดหนึ่งขึ้นมา เรื่องการสร้างตัวตนผ่านองค์อธิปัตย์

ผมคิดว่าในหลวงเป็นองค์อธิปัตย์ ก็เลยเห็นว่าพานพุ่มนี้คือภาพสะท้อนของการสร้างตัวตนของคนมลายูมุสลิม ผ่านการเป็นพสกนิกรที่จงรักภักดี

หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ นอกจากปอเนาะแล้วก็มีตาดีกาที่ถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายความมั่นคงว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดอิสลามสุดขั้ว ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญของเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ ทางการจึงพยายามเข้ามาสอดส่องควบคุมตรวจตรากิจกรรมของตาดีกามากขึ้น ผ่านการดึงเอาการแข่งกีฬาระหว่างตาดีกาไปจัดเองที่อำเภอ ซึ่งทางโรงเรียนเหล่านี้ก็ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธ ไม่งั้นจะถูกมองว่าไม่ให้ความร่วมมือ หรือถูกมองว่าเป็นฝ่ายต่อต้าน ก็ต้องเข้าร่วม แต่จะไปยังไงโดยที่ตัวเองก็ไม่ได้อยากไป และไม่ต้องการแสดงความพินอบพิเทากับเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้

ผมเลยถึงบางอ้อว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไปในฐานะพสกนิกรผู้จงรักภักดีดีกว่า คนทำพานบอกว่าได้ความคิดเรื่องประดับประโยค “เรารักนายหลวง” บนพานพุ่ม มาจากเวลาที่คนไทยหรือหน่วยราชการไปร่วมพิธีต่างๆ มักประดับด้วยประโยคว่าเรารักในหลวง เราก็ควรจะทำด้วย คนมลายูก็รักในหลวงได้ ไม่เห็นจะเป็นไรเลย พสกนิกรเลยกลายเป็นตัวตนที่พวกเขาสามารถบ่งชี้ได้และเจ้าหน้าที่รัฐก็ยอมรับและเกรงใจ

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ 

นอกจากปัญหาใหญ่เรื่องอำนาจอธิปไตย ในรายละเอียดอาจารย์เห็นการต่อรองของชาวบ้านอย่างไร       

การต่อรองมันมีหลายระดับ หลายลักษณะ ไม่ใช่ว่าคนท้องถิ่นจะถูกกดขี่หรือเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสมอไป บางจังหวะพวกเขาเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบก็มี ตอนหนึ่งในหนังสือก็พูดถึงการเอาชนะของชาวบ้านหรือการฉลาดกว่ารัฐ

การต่อรองเกิดขึ้นได้หลายแบบ ทั้งในชีวิตประจำวันหรือในกรณีที่เขาไม่พึงประสงค์ เช่น การเกณฑ์ทหาร เดิมทีชาวบ้านไม่อยากให้คนในครอบครัวต้องไปเกณฑ์ทหารอยู่แล้วเพราะมันลำบาก ยิ่งมีความไม่สงบเข้ามา คนยิ่งกลัวเข้าไปใหญ่ มันทำให้การติดสินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ลูกตัวเองไม่ต้องเกณฑ์ทหาร ยิ่งเฟื่องฟูมาก อันนี้ชาวบ้านตกอยู่ในฝ่ายเสียเปรียบ

แต่กรณีเงินชดเชยสัตว์หรือพืชผลทางการเกษตรที่สูญเสียจากน้ำท่วม คนในพื้นที่ก็อาศัยการถ่ายรูปวัวควายของคนอื่นที่ตายไปแจ้งปศุสัตว์เพื่อเอาเงิน ก็ได้เงินมากัน อันนี้ก็ถือว่าชาวบ้านเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะฉะนั้นมันมีวิธีการต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐหลายแบบ แต่จุดเน้นของหนังสือจะเป็นการต่อรองในระดับสัญลักษณ์หรือในทางความหมาย

ภายใต้ภาพพานพุ่ม อาจารย์เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนมลายูมุสลิมกับพระมหากษัตริย์อย่างไร การที่เขาใช้คำว่า ‘นายหลวง’ แทน ‘ในหลวง’ สะท้อนอะไร

ผมว่าเขาอาจไม่ได้ตั้งใจ สำหรับผม ประโยค “เรารักนายหลวง” คือการจัดวางกษัตริย์ในฐานะที่เป็นการก่อรูปของราชอาณาจักรไทย ในฐานะที่เป็นรัฐไทยในสภาวะยกเว้นให้อยู่ในสภาวะยกเว้นอีกทีหนึ่ง เพื่อจะได้สามารถสถาปนาความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดสนิทสนมเยี่ยงมนุษย์ธรรมดาด้วยกันได้ ไม่ขัดกับหลักศาสนาอิสลามที่ไม่อนุญาตให้มุสลิมแสดงความเคารพนับถือต่อพระเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเทพองค์อื่น เพราะคำว่า ‘นาย’ ที่หมายถึงผู้ชายคนหนึ่ง คือการพรากสถานะกึ่งเทพของกษัตริย์ออกไป

กษัตริย์มีสถานะเป็นเทวราชามาตั้งแต่สมัยอยุธยา จนมายุคต้นรัตนโกสินทร์ชนชั้นนำสยามเผชิญหน้ากับการเข้ามาของความทันสมัยจากตะวันตก บวกกับลัทธิล่าอาณานิคมที่อ้างความล้าหลัง ก็จำเป็นต้องพรากเอาความเป็นสมมติเทพออกไปจากกษัตริย์และใส่แนวคิดเรื่องธรรมราชาไปแทน จากเดิมที่สิทธิอำนาจของกษัตริย์มาจากการเป็นสมมติเทพ ก็เปลี่ยนมาเป็นจากบุญบารมีที่สะสมมาบวกกับทศพิธราชธรรม

สิทธิอำนาจของกษัตริย์เป็นอย่างนี้เรื่อยมา จนกระทั่งเปลี่ยนอย่างสำคัญหลังจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารปี 2501 เพราะสิ่งที่สฤษดิ์ทำก็คือการรื้อฟื้น รวมถึงประดิษฐ์ประเพณีที่เคยถูกยกเลิกไปหลังการอภิวัฒน์ 2475 ทำให้กษัตริย์กลับมามีลักษณะที่คล้ายกับสมมติเทพมากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ที่มีกระบวนการที่เรียกว่า the remystification of the monarchy ที่ส่งผลให้กษัตริย์มีลักษณะกึ่งเทพ ทั้งในเชิงสัญลักษณ์และในความรู้สึกของคนไทยจำนวนมาก

แต่สำหรับคนมลายูมุสลิม ไม่ว่าคนไทยจะนับถือพระองค์ท่านแบบไหน จะเป็นพ่อหรือเป็นเทพอย่างไร สำหรับพวกเขากษัตริย์ถือเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถจะรักได้ มันไม่ใช่ความรู้สึกของสาวกที่บูชาพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมของมนุษย์

คำว่า “เรารักนายหลวง” จึงอนุญาตให้พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับกษัตริย์ได้โดยไม่ขัดกับหลักศาสนา แต่ก็ต้องด้วยการพรากความเป็นเทพของกษัตริย์ออกไป หรือทำให้กษัตริย์อยู่ในสภาวะยกเว้น จากเดิมที่เป็นสภาวะยกเว้นอยู่แล้ว

หากพูดในภาษาทฤษฎี กษัตริย์ถือว่าเป็นการก่อรูปของรัฐไทยในสภาวะยกเว้น เพราะในการเผชิญหน้ากับโจทย์จำพวกความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา รัฐไทยได้หันไปพึ่งพาสภาวะยกเว้นด้วยการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ราชอาณาจักรไทย’ ขึ้นมา และอนุญาตให้องค์อธิปัตย์อื่นได้วางกฎเกณฑ์กติกาลงบนผู้คนในเขตนั้นได้

ทว่าในภาวะปกติก็ยังทำตัวเหมือนเดิม คือเบียดขับ กีดกัน หรือว่ากลืนกลายกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาอื่น ต่างจากกษัตริย์ที่เป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก และเป็น “พ่อของแผ่นดิน” ชาวมลายูมุสลิมจึงบ่งชี้ตัวเองเข้ากับกษัตริย์ได้ ขณะที่รู้สึกแปลกแยกจากรัฐไทย

แต่กระบวนการสร้างตัวตนและใช้ศักยภาพกระทำการผ่านกษัตริย์ในสภาวะยกเว้นอย่างนี้ มันขัดกันเองในตัว เพราะในชั้นของการสร้างตัวตนผ่านองค์อธิปัตย์ คุณต้องพรากความเป็นกึ่งเทพออกไปก่อน ทำให้อยู่ในสภาวะยกเว้น ไม่อย่างนั้นก็ขัดหลักศาสนา แต่ว่าในชั้นของการใช้ศักยภาพกระทำการ ก็ต้องคืนความเป็นสมมติเทพหรือความเป็นองค์อธิปัตย์กลับมา เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็จะไม่มีใครเคารพยำเกรง กระทำการสัมฤทธิ์ผลไม่ได้ มันจึงเป็นกระบวนการที่ขัดกันในตัว

แล้วอีกอย่าง องค์อธิปัตย์ในความหมายนี้ ก็คือบุคคลที่อยู่บนชั้นยอดสุดของโครงสร้างอำนาจที่เป็นลำดับชั้น ในขณะสิ่งที่คนมลายูมุสลิมเรียกร้องคือสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมที่จะอยู่ในประเทศนี้อย่างเสมอหน้า มันจึงอาจไปด้วยกันไม่ได้กับองค์อธิปัตย์ในความหมายนี้ หรือว่าการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในลักษณะนี้

คนทั่วไปรู้สึกถึงสภาวะที่มันขัดแย้งกันไหม

คนในพื้นที่ทั่วไปไม่ได้รู้สึกมากขนาดนั้น เพราะปกติแล้วรัฐไทยที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพก็ยุ่มย่ามกับชีวิตของประชาชนได้จำกัด บวกกับเหตุการณ์ความไม่สงบอีก ก็ทำให้รัฐปกติอยู่ห่างจากชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่พอสมควร

ในแง่หนึ่งถือเป็นข้อดีที่รัฐไทยไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะเข้าไปบงการชีวิตคนได้ทั้งหมด อย่างเก่งก็คือทำเป็นผักชีโรยหน้า อาจเป็นด้านที่ไม่ตั้งใจของรัฐไทยที่ไม่มีประสิทธิภาพที่จะทำอะไร คนก็เลยไม่รู้สึกว่าถูกคุกคามในระดับที่ไม่สามารถกระดิกตัวได้

ลองไปถามเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดู จะมีสักกี่คนที่คิดว่าเป็นตัวแทนของรัฐไทย เราไม่ได้มีการสร้างรัฐที่แข็งแกร่งขนาดนั้น ความสัมพันธ์ทางสังคมยังอยู่เหนือความสัมพันธ์ทางการมาก จะมีข้าราชการสักกี่คนที่รู้สึกว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นผู้ดูแลปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ

ถึงตรงนี้ พูดได้ไหมว่าถ้าไม่มีความรุนแรงปะทุในปี 2547 เราอาจจะไม่ได้เห็นพานพุ่มนั้น           

ใช่ และรัฐไทยก็จะไม่มีความพยายามเรียกร้องความจงรักภักดีจากคนมลายูมุสลิมมากแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในแง่หนึ่ง อย่าลืมว่ามันเหมือนเป็นไข่แดงที่คุณต้องถนอมไว้ วิธีการใดก็ตามที่จะสามารถดึงเอาความจงรักภักดีจากคนในพื้นที่มาได้ เขาก็จะทำทุกวิถีทาง

หากเป็นเมื่อก่อน หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใหม่ๆ การแปรพระราชฐานที่จากเดิมไปปีละครั้ง ก็เป็นไปปีละหลายครั้ง และก็ทรงประทับนานขึ้น เพราะรัฐไทยรู้สึกว่าเหตุการณ์ความไม่สงบจะทำให้ความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันกษัตริย์อาจถูกช่วงชิงไป ก็ต้องพยายามหาทางพิทักษ์รักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ได้ เพราะขณะที่คนมลายูมุสลิมรู้สึกแปลกแยกหรือถูกเบียดขับในอุดมการณ์รัฐ พวกเขาก็รู้สึกว่าตัวเองมีที่ทางในกษัตริย์ รัฐจึงต้องเร่งเสริมสร้างความจงรักภักดีของคนในพื้นที่ต่อสถาบันกษัตริย์ภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่

ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมอุดมการณ์กษัตริย์นิยมจึงไม่สามารถช่วยลดระดับความรุนแรงในพื้นที่ลงได้

เพราะมันขัดกันเองอย่างที่ว่า ทางออกก็คือเราไม่ต้องการรัฐไทยในสภาวะยกเว้น เราต้องการรัฐไทยในสภาวะปกติที่มันบริหารอำนาจอธิปไตยเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ และเป็นการบริหารอำนาจในลักษณะที่ยืดหยุ่นและแยกย่อย เราต้องการรัฐที่สามารถตอบโจทย์ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา ความต้องการ ความปรารถนา และจินตนาการประเภทอื่นๆ ของผู้คน โดยเฉพาะผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในสภาวะปกติ

แต่รัฐเดี่ยวมันไม่มีทางไปถึงจุดนั้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหารปี 2557 คือก่อนหน้านั้นในช่วงรัฐบาลพลเรือน ในเชิงนโยบายเรามีการแก้ปัญหาโดยการเมืองนำการทหาร แม้ในทางปฏิบัติมันอาจยังไปไม่ถึง แต่มันก็คลี่คลายปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ละฝ่ายเริ่มเข้ามาคุยกับรัฐมากขึ้น พอหลังรัฐประหารมันกลายเป็นการทหารนำการเมือง เราเอาความมั่นคงแห่งรัฐมาก่อนความผาสุกของประชาชน

พูดได้ไหมว่า วิธีการแก้ปัญหาที่ผิดของรัฐไทย มาจากวิธีคิดที่ผิด           

รัฐไทยเป็นรัฐที่กลัวความแตกต่างหลากหลาย ที่ผ่านมามีความพยายามจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น มีกลุ่มนักวิชาการในพื้นที่หลายคนเสนอรูปแบบการปกครองพิเศษขึ้นมา ซึ่งยังถูกวิจารณ์ด้วยซ้ำไปว่ามันจะต่างอะไรจากการปกครองส่วนภูมิภาค แต่ความคิดเหล่านี้ก็ถูกปัดทิ้งลงจากโต๊ะโดยฝ่ายความมั่นคง เพราะกลัวว่าจะเป็นการให้อิสระและนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน และอาจเป็นตัวอย่างกับพื้นที่อื่นๆ ที่อยากจะมีอิสระในการปกครองตัวเอง

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ 

อาจารย์คิดว่าประชาชนคนไทยทั่วไปอยากมีชีวิตในรัฐปกติที่ไม่ต้องมีสภาวะยกเว้นหรือยัง       

ถือเป็นโจทย์ท้าท้ายสังคมไทยทั้งหมด สภาพแบบนี้มันไม่ได้สนุกนะ ชีวิตที่คุณไม่มีความมั่นคงแน่นอนอะไร ไม่รู้ว่าจะถูกลูกหลงตอนไหน เข้าไปในเขตเมืองจะเจอความรุนแรงเมื่อไหร่ เศรษฐกิจมันก็ขยายตัวไม่ได้ แม้ราคาที่ดินพุ่งขึ้นมากในเขตตัวเมืองเพราะมีงบประมาณมาลง มีธุรกิจบางเจ้าที่ขยายตัว แต่เศรษฐกิจระดับชาวบ้านมันไม่ไปไหน

สิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการคือชีวิตที่ปกติสุข สามารถที่จะใช้ชีวิตตามความเชื่อ ตามอัตลักษณ์ของตัวเอง แต่รูปแบบรัฐในปัจจุบันมันไม่สามารถให้พวกเขาได้

ผมเคยไปงานสมัชชาสุขภาพ จัดในปัตตานี จำได้ว่ามีข้อเรียกร้องจากผู้เข้าร่วมในกลุ่มย่อยที่เกือบเป็นเอกฉันท์ ขอให้ทหารถอนกำลังออกจากหมู่บ้าน ปรากฏว่าข้อเสนอนี้ไม่ถูกยกไปในวงสนทนาใหญ่บนเวที ทั้งที่งานไม่ได้จัดโดยฝ่ายความมั่นคงด้วยซ้ำ แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่ประสานงานกลับไม่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเลย

พูดกันถึงที่สุด ถ้าการเมืองไทยมีอนาคต มีการกระจายอำนาจอย่างที่ฝ่ายประชาธิปไตยต้องการ เราควรต้องเห็นความเป็นรูปธรรมที่สามจังหวัดชายแดนใต้ด้วย ไม่ใช่แค่ภูมิภาคอื่นๆ

ใช่ การคลี่คลายปัญหาชายแดนภาคใต้ต้องผ่านครรลองของการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น หรือการให้อิสระในการปกครองตนเองของท้องถิ่น นี่ไม่นับรวมถึงปัญหาในจังหวัดใหญ่ๆ อื่นๆ เช่น ปัญหาเรื่องการขนส่งคมนาคม ปัญหามลพิษ เรื่องอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นโจทย์ทางชาติพันธุ์และศาสนา แต่ก็มีความสำคัญต่อชีวิตผู้คนในพื้นที่ไม่แพ้กัน

รูปแบบการปกครองในปัจจุบันมันเอาไม่อยู่ การรวมศูนย์อำนาจไว้ตรงกลางมันไม่ทันแล้ว ถ้าหากเป็นอย่างที่ถามได้ นั่นแปลว่ารัฐไทยได้เปลี่ยนโฉมหน้าแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ

ปัญหานี้มันสมควรถูกแก้พร้อมกับปัญหาเรื่องอื่นๆ ของประเทศนี้ซึ่งมีรากเหง้าเดียวกัน คือว่าเรายังตกลงกันไม่ได้ว่าอำนาจอธิปไตยควรเป็นของใคร ควรเป็นของประชาชนทุกคนอย่างเท่ากัน หรือเป็นขององค์อธิปัตย์แต่เพียงเท่านั้น

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save