fbpx
ตอนพิเศษ : เบื้องหลังคลิป ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ภารกิจจับท้องทะเล เทลงหม้อหมูกระทะ

ตอนพิเศษ : เบื้องหลังคลิป ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ภารกิจจับท้องทะเล เทลงหม้อหมูกระทะ

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ หลายคนคงผ่านตากับคลิป ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ไวรัลวิดีโอที่เล่าเรื่องใหญ่ไกลตัวอย่าง ‘ทรัพยากรในท้องทะเล’ ผ่านเรื่องง่ายใกล้ตัวอย่าง ‘บุฟเฟต์หมูกระทะ’  บนหน้านิวส์ฟีดกันมาบ้าง

คลิปวิดีโอนี้เป็นการจับมือกันของทีมจัดการความรู้จากเว็บไซต์ ‘Knowledge – ฟาร์มรู้สู่สังคม’ โดยสำนักงานกองทุนสนับสุนนการวิจัย (สกว.) The101Percent และทีมสร้างสรรค์จาก Eye On Field สตูดิโอน้องใหม่บ้านเดียวกับ Eyedropper Fill ฟอร์มทีมขึ้นเพื่อลุยงานสื่อสารความรู้หลากรูปแบบ พร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ จุดประสงค์ของการทำคลิปนี้คือ นำความรู้ที่เก็บอยู่ในเล่มวิจัยหนาหนัก ออกไปโบยบิน เข้าหูเข้าตาคนทั่วไป

หลังคลิปวิดีโอส่งถึงคนตามเป้าหมาย ทีมงานของเราไล่ติดตามความคิดเห็นของคนดูกว่า 90,000 วิว ด้วยใจจดจ่อ แน่นอนว่ายอดไลก์ แชร์ และความคิดเห็นด้านบวกทำให้พวกเราทีมงานชื่นใจและหายเหนื่อย แต่พร้อมกัน ยังมีหลายคนที่ทัก ทวง ถาม ทั้งผ่านคอมเมนต์และทักทายมาแบบส่วนตัว อยากให้เราเล่าเบื้องหลังของงานนี้ให้ฟัง ตั้งแต่เริ่มต้นไอเดีย จนเกิดเป็นคลิปยาว 7 นาที มันมีกระบวนการยังไงบ้าง แชร์ให้ฟังที!

สัปดาห์นี้เราจึงขอยืมพื้นที่คอลัมน์ Third Eye View – พื้นที่ที่พวกเราเคยใช้เขียนถึงงานของคนอื่นผ่านมุมมองสายตาบุคคลที่สาม – มาเล่าเรื่องราวจากมุมมองบุคคลที่ 1 อย่างกระบวนการเบื้องหลังคลิป ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ของเราเองกันบ้าง

จานที่ 1 : เล่าเรื่องใหญ่ ให้คีบง่ายด้วยปลายตะเกียบ

หลังกดปุ่มรับสายจากทีมงาน 101 เสียงที่คุ้นเคยของพี่จุง (สมคิด พุทธศรี – ผู้จัดการโครงการ Knowlede Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม และบรรณาธิการ the101.world) ปลายสายบอกว่า อยากให้เราช่วยเล่าเรื่องเกี่ยวกับ ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ให้สนุกและเข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไป ก่อนจะถามว่า “งบเท่าไหร่” หรือ “ปล่อยเมื่อไหร่” เราสวนกลับไปทันทีด้วยความงงว่า “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน มันคืออะไรครับพี่? เกิดมายี่สิบกว่าปียังไม่เคยได้ยิน”

ตัดภาพไป ณ ออฟฟิศ The 101 Percent  กระดาษเอสี่ปึ๊งใหญ่จั่วหัว Blue Economy ก็วางอยู่ตรงหน้า เราเปิดอ่านไล่ไปทีละหน้า พร้อมเสียงของพี่จุงที่เล่าคลอไปด้วย ภาพของเศรษฐกิจสีน้ำเงินก็ค่อยๆ ก่อร่างขึ้นในหัว

“คืองี้ครับ ท้องทะเลเนี่เป็นที่ที่มนุษย์ยังค้นคว้าได้ไม่หมดใช่มั้ยครับ เราใช้ชีวิตอยู่บนบก พอพูดถึงคำว่าทรัพยากร คนส่วนใหญ่ก็เลยนึกถึงแต่ทรัพยากรบนบก เพราะเป็นที่ที่เราคุ้นเคยกัน เทคโนโลยีส่วนใหญ่ก็พัฒนาสำหรับจัดการกับทรัพยากรบนบกซะส่วนใหญ่

แต่ว่าตอนนี้เนี่ย ทั้งโลกเค้ากำลังเริ่มสนใจทรัพยากรที่อยู่ในทะเลกันครับ เหตุผลแรกเพราะทะเลมันใหญ่มาก ทรัพยากรในนั้นตีเป็นเงินได้ประมาณ 24 ล้านล้านบาทเลยครับ บวกกับตอนนี้เทคโนโลยีมันสามารถท้าทายข้อจำกัดได้แทบทุกอย่าง  ภาคเศรษฐกิจเลยยิ่งสนใจกันมาก เพราะน่านน้ำสากลมันไม่มีใครเป็นเจ้าของครับ ถ้าประเทศไหนเข้าไปครอบครองได้ เท่ากับได้ครอบครองมูลค่าเศรษฐกิจมหาศาลไปเลย

นี่แหละครับ เราเลยต้องเล่าเรื่องนี้ให้คนทั่วไปรู้สึกว่ามันสำคัญ เพราะมันคือโอกาสของประเทศชายฝั่งอย่างเรา และที่สำคัญกว่าเรื่องของโอกาส ก็คือเราจะทำให้คนเกิดสำนึกที่ใช้ทรัพยากรพวกนี้อย่างพอดีได้ยังไง

แต่ปัญหาที่ทีมเรายังคิดไม่ออกก็คือ เราจะเล่าให้คนทั่วไปฟังยังไงให้มันน่าสนใจนี่แหละ”

เศรษฐกิจโลก ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม แรงงาน ประมง อุตสาหกรรม การเดินเรือ แท่นขุดเจาะน้ำมัน ฯลฯ แต่ละคีย์เวิร์ดจากพี่จุงเล่า ช่างใหญ่โตเกินมนุษย์มนาอย่างเราไปหลายช่วงตัว คนตัวเล็กผู้ใช้ชีวิตบนฟุตปาธและร้านข้าวแกงอย่างเรา จะเข้าใจเรื่องซับซ้อนอย่างเศรษฐกิจโลก หรือเงินล้านล้านดอลลาร์ได้ยังไงกันหนอ

เศรษฐกิจโลก ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม แรงงาน ประมง อุตสาหกรรม การเดินเรือ แท่นขุดเจาะน้ำมัน
ภาพ Mind Mapping

แน่นอน หากเรามองเรื่อง ‘ทรัพยากร’ ด้วยมุมกว้างและสูงแบบ bird-eye view มันอาจฟังดูยากและไกลตัว พูดว่า กุ้งแสนตัว ปลาล้านตัว น้ำมันล้านลิตร ใครจะไปนึกออก แต่หากเราลองเปลี่ยนมุม เล่าทรัพยากรผ่าน ‘มุมมองระดับสายตา’ อย่างข้าวในจานหรืออาหารที่เรากินทุกวัน อันนี้มีรับรองว่าใครๆ ก็คิดออก และรู้สึกร่วมได้ไม่ยาก

‘อาหาร’ คือสิ่งที่ทำให้คนทั่วไปอย่างเรา เชื่อมโยงถึงคำว่า ‘ทรัพยากร’ ได้มากขึ้น คำถามต่อมาคืออาหารแบบไหนจะทำให้คนเข้าใจเรื่องนี้ได้ทันที เราเลยกลับมามองเรื่องของเศรษฐกิจสีน้ำเงินอีกครั้ง จากประโยคที่พี่จุงเล่าว่า คนเราสนใจทรัพยากรบนบก แต่น้ำที่กว้างใหญ่และมีทรัพยากรเหมือนกันกลับไม่มีใครสนใจ แล้วอาหารแบบไหนกัน ที่มีทั้ง ‘บก’ และ ‘น้ำ’ ในจานเดียว ..

หมูกระทะ
ภาพหมูกระทะ

จานที่ 2 : รีเสิร์ชหมูกระทะ ผ่านประสบการณ์ตรง

 

พอทุกคนพยักหน้าตรงกันว่าเราจะเล่าเรื่องนี้ผ่าน ‘หมูกระทะ’ สิ่งที่เราทำทันทีก็คือ ลองไปกินบุฟเฟต์หมูกระทะจริงๆ ดู เพื่อหาไอเดียในการเล่าเรื่อง (เป็นข้ออ้าง จริงๆ คือหิว!)

สังเกตว่าเวลาเรากินบุฟเฟต์หมูกระทะ ช่วงแรกของการกินจะเต็มไปด้วยความรู้สึกประหนึ่งเป็นพระเจ้า เรารู้สึกว่าเรากินได้ไม่จำกัด หมู ไก่ กุ้ง หมึก อาหารดิบที่วางอยู่บนโต๊ะมันมหาศาลละลานตาไปหมด วางรอเยอะขนาดนี้ บางทีเรายังสั่งเบิ้ลมาอีกสอง แต่กลับกัน เมื่อเราเริ่มอิ่ม สมองเริ่มช้า เราถึงเริ่มคิด ปกติกินข้าวจานเดียวก็อิ่มได้นี่ เราจะเขมือบกันขนาดนี้ไปทำไม ขณะกำลังคิดอยู่นี้ หม้อหมูกระทะสวยเช้งในตอนแรกก็เริ่มมอด เริ่มมีคราบ ดูไม่น่ากิน จะว่าไปแล้ว ความรู้สึกเดียวกันนี้ก็ไม่ต่างกันกับเวลาที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรกันแบบไม่ลืมหูลืมตา จนกระทั่งหันกลับไปอีกทีและเห็นว่าทรัพยากรที่มีมันเริ่มร่อยหรอนั่นแหละจึงคิดได้

และสิ่งที่เราได้กลับมาจากหมูกระทะมื้อนั้น คือ อารมณ์ของเส้นเรื่อง

หมูกระทะ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม
ภาพการ์ตูนช่อง

จาก Mind Mapping ที่สรุปเนื้อหาออกเป็นหมวดหมู่ เรานำเนื้อหาเหล่านั้นมาเชื่อมโยงกับพฤติกรรมต่างๆ ที่บันทึกได้จากโต๊ะหมูกระทะ วิธีการของทีมเราคือการวาดการ์ตูนช่อง เพราะเป็นสิ่งที่สามารถโยงข้อมูล เข้ากับภาพได้เข้าใจง่ายที่สุด ก่อนที่เรื่องราวในกระดาษสี่แผ่นนี้ จะถูกแปลงให้กลายเป็น ‘Storyboard’ – คัมภีร์สำคัญที่ทำให้เราเห็นภาพหนังทั้งเรื่อง

Mindmapping, โต๊ะหมูกระทะ
ภาพ Storyboard

จานที่ 3 : บ้านๆ เถื่อนๆ เหมือนเพื่อนคุยกัน

 

ในเมื่อวิธีการเล่าเรื่องถูกย่อยให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายเช่นโต๊ะหมูกระทะแล้ว น้ำเสียงของการเล่าก็ควรจะ ‘บ้านๆ’ ตามไปด้วย จากสคริปต์ที่เต็มไปด้วยข้อมูลหนัก คำศัพท์ยาก เราจึงต้องแปลงมันให้อยู่ในภาษา และน้ำเสียงการเล่าที่มันๆ เถื่อนๆ เหมือนบทสนทนาขณะกำลังนั่งกินหมูกระทะกับเพื่อน

เหตุการณ์บนโต๊ะหมูกระทะสามารถเล่าไอเดียใหญ่ของเศรษฐกิจสีน้ำเงินได้ก็จริง แต่ข้อมูลจำเพาะบางอย่างก็ไม่สามารถทำให้เห็นเป็นภาพได้ เราจึงต้องหาตัวช่วยเพื่อ ‘ขยายความ’ ข้อมูลให้ชัดเจนขึ้น

‘แอนิเมชั่น’ ดูเป็นวิธีการที่ตอบโจทย์ เพราะมันสามารถเติมแต่งสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง หรือเกินจริงไปจากโต๊ะหมูกะให้เห็นภาพได้ เช่น เราจะเล่าปากเปล่าว่า ‘ส่วนเตาปิ้งคือแผ่นดิน และส่วนน้ำซุปคือทะเล’ บางคนอาจไม่เห็นภาพ แต่เมื่อมีแอนิเมชั่น เราสามารถเติมแต่งส่วนเตาปิ้งให้เห็นเป็นภาพท้องนาและผืนดินแบบชัดเจน ในขณะที่ส่วนหม้อน้ำซุป เราก็สามารถขยายให้กลายเป็นมหาสมุทรที่มีฝูงปลาแหวกว่ายได้ หรือแม้กระทั่งการเล่าสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างการ ‘เขมือบ’ เมื่อมีแอนิเมชั่น เราสามารถเล่าโดยเปรียบเทียบผ่านคาแรคเตอร์ เช่น ซีนหุ่นยนต์ดูดทรัพยากร

เศรษฐกิจโลก ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม แรงงาน ประมง อุตสาหกรรม การเดินเรือ แท่นขุดเจาะน้ำมัน หมูกระทะ
ภาพมาร์คแอนิเมชั่นในสตอรี่บอร์ด

 

จานที่ 4 : ‘หมูกระทะจำลอง’ สำหรับซ้อมถ่ายทำ

เนื่องจากงานนี้มีงบประมาณที่จำกัด ในการถ่ายทำจึงจำเป็นต้องรวบรัดให้อยู่ภายในหนึ่งวัน สิ่งที่เราทำได้เพื่อ ‘สร้างความชัวร์’ ให้ตัวเองก็คือ จำลองเตาหมูกระทะขึ้นมาจากอุปกรณ์ที่มีในห้องครัว  ปริ้นต์ภาพเนื้อสัตว์ในเตาออกมาด้วยกระดาษ เพื่อซ้อมถ่ายทำตามสตอรี่บอร์ด นี่คือวิดีโอจริงๆ ที่เราทำกัน

วิดีโอ Pilot

ขั้นตอนนี้นอกจากเราจะเห็นความยากง่าย และปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นในแต่ละช็อต เรายังนำฟุตเทจที่ถ่าย มาลองตัดต่อ เพื่อทำให้เห็นหนังจริง ในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว ก่อนจะออกไปถ่ายจริงอีกด้วย

จานที่ 5 : สงครามเตาถ่าน

 

วันออกกองก็ไม่ต่างอะไรกับสงคราม ทุกอย่างที่วางแผนมาในกระดาษต้องถูกทำขึ้นจริงในสนามรบที่ชื่อว่า ‘กองถ่าย’ โชคดีที่เราได้ลองถ่ายแบบซ้อมกันมาก่อน รวมถึงได้ร่วมงานกับทีมโปรดักชั่นระดับมืออาชีพ วันถ่ายจริงจึงไม่มีปัญหาด้านการถ่ายทำมากนัก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีอะไรยากเลย

ความยากประการแรก คือการกำกับ

ตัวละครในเรื่องเพียงอย่างเดียวคือ ‘มือ’ และ ‘ตะเกียบ’ ในการถ่ายหนังปกติ การกำกับให้นักแสดงทำท่าทาง สีหน้า อารมณ์ก็ว่ายากแล้ว คราวนี้การแสดงทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับมือ เราจึงใช้เวลาพอสมควรกับการกำกับให้มือสื่อความหมายและอารมณ์ที่เราต้องการ มือยื้อแย่ง  มือรีบร้อน  มือเศร้าสลด ฯลฯ ท่าทางของมือต้องเป็นยังไง รวมถึงมือแบบไหนที่เป็นธรรมชาติราวกับเกิดขึ้นบนโต๊ะหมูกระทะจริงๆ

ความยากอีกอย่างคืออาหาร

เราไม่เคยถ่ายหนังอาหารมาก่อน จึงลืมคิดไปว่านอกเหนือจากการถ่าย เรายังต้องเผื่อเวลาในการทำอาหารของทีม Production Design เข้าไปด้วย โดยเฉพาะหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องสลับไปมาระหว่างสุกดิบ แถมยังต้องเมคโอเวอร์ให้กระทะอยู่ในสภาพที่ต่างกัน ตอนแรกสวยเช้ง ตอนหลังไหม้เกรียม ล้วนเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา

วิดีโอวันออกกอง

แม้การถ่ายทำจะเลทไปจากที่คาด แต่ก็ผ่านมาได้แบบสวยงาม ได้ทุกช็อตตามต้องการ และอิ่มแปล้ ด้วยเนื้อในเตาที่ปลดระวางจากการเป็นพร็อพ กลายเป็นอาหารของคนในทีม

จานที่ 6 : เนื้อสุก ชุบน้ำจิ้ม เตรียมคีบเข้าปาก

ช่วงเวลาของการตัดต่อไม่ได้โหดหิน เพราะสำหรับงานนี้ทุกอย่างถูกลำดับไว้ตั้งแต่สตอรี่บอร์ด ภารกิจสำคัญจึงอยู่ที่การทำให้เนื้อเรื่องแต่ละช่วงมันเข้มข้นขึ้น

หนังเรื่องนี้แบ่งเป็นสามช่วงหลักๆ โลภ สลด และ ความหวัง คือชื่อเล่นของแต่ละช่วงที่เราเรียกกันในตอนตัดต่อ นอกจากจังหวะการตัดต่อที่จะเป็นตัวกำหนดอารมณ์ในแต่ละช่วงแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ‘เสียง’

เสียงพากย์ในช่วงความโลภ เราได้แรงบันดาลใจมาจากเสียงพากย์เรือยาว หรือพากย์กีฬามันๆ เร็วและรัว เต็มไปด้วยอารมณ์ เสียงดนตรีอย่างเพลงหมอลำซิ่งก็ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความรู้สึกเมามัน โลภ เชียร์ให้กอบโกยโดยไม่เว้นจังหวะให้คนดูยั้งคิด กลับกัน ในช่วงของความสลด ทั้งเสียงเพลงและเสียงพูดจะทิ้งจังหวะความเงียบ เพื่อให้คนดูได้ใช้เวลากับความคิดมากขึ้น

นอกจากเสียงคือ ‘สี’ หากใครสังเกต จะเห็นว่าสีในทั้งสามช่วงก็ถูกปรับให้ไม่เหมือนกัน ในช่วงโลภ สีในภาพดูอร่ามเหมือนทอง เพื่อเน้นความมีมูลค่าน่าครอบครองของทรัพยากร ในขณะที่ช่วงสลด สีภาพจะค่อยๆ หม่นลงจนอาหารในจานพานไม่น่ากิน

คีบเนื้อในเตาไปเคี้ยวทันทีคงไม่อร่อย กระบวนการหลังการถ่ายทำก็เหมือนน้ำจิ้มสูตรเด็ดที่ทำให้รสชาติของหมูกระทะหม้อนี้เข้มข้น เต็มอิ่มมากขึ้น ก่อนถูกป้อนเข้าปากของคนดู

ดื่มน้ำตาม กินของหวาน เตรียมเก็บล้าง

ทั้ง 6 จาน คือกระบวนการทั้งหมดกว่าจะมาเป็นคลิป ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ที่พวกเราใช้เวลาปิ้งประมาณหนึ่งเดือนนิดๆ หม้อหมูกระทะนี้คือเป็นสนามฝึกฝนชั้นดีของเรา – คนทำ ต้องสารภาพว่าการสื่อสารความรู้จากเล่มวิจัยหนาหนักสู่คนดูวงกว้างคือเป็นเรื่องที่เราไม่ถนัดและไม่เคยทำมาก่อน หมูกระทะมื้อนี้จึงเป็นครูให้เราเรียนรู้ไปมหาศาล

ถึงตอนนี้เนื้อในเตาคงถูกป้อนเข้าปากผ่านระบบย่อยอาหารของทุกคนเรียบร้อย หวังว่าการบริโภคคลิปนี้จะทำให้ทุกคนได้รับสารอาหาร เป็นพลังงานให้ออกไปทำอะไรบางอย่างกับสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องใหญ่ เอาแค่เล็กๆ เท่าที่มือเราทำได้

เท่านี้คนทำอย่างเราก็อิ่มใจ แบบที่ไม่ต้องคีบอะไรกิน!

……..

Credit :

‘Blue Economy’

Content Produce by 101 & Eye On Field

Creative Director : Tinnawat Chankloi

Director / Editor : Krerkrit Pavichai

Assistant Director : Narasate Lucksameepong

Project Manager : Bunvithit Wilawan

Cinematographer : Phoobes Kanthiang

Ari Director : Strawberry Sherbet

Animator : Chanatip Ruangpoonwitaya , Kitja seetusanee

Sound Designer : Pansan Klongdee , Voramet Sriseangnil

Colorlist : Nakhen Puttikulangkura

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save