fbpx
มองประชาธิปไตยในวิถี Jazz : คุยกับ โสภณ สุวรรณกิจ แอดมินเพจ 'แจ๊สแจ๋'

มองประชาธิปไตยในวิถี Jazz : คุยกับ โสภณ สุวรรณกิจ แอดมินเพจ ‘แจ๊สแจ๋’

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

โสภณ สุวรรณกิจ กำลังเรียนปริญญาเอกด้านดนตรีแจ๊สอยู่ที่ University of Northern Colorado เขาใช้เวลาว่างหลังจากเพิ่งเรียนจบปริญญาโทด้านแจ๊สเหมือนกันที่ University of North Texas เปิดเพจเฟซบุ๊กชื่อ แจ๊สแจ๋

“ตอนนั้นผมเพิ่งจบปริญญาโท อยู่อเมริกามา 2 ปีแล้ว แล้วผมรู้สึกว่าตอนที่มาเรียน เราไม่ค่อยรู้เรื่องประวัติศาสตร์ดนตรีแจ๊สเท่าไหร่ คุยกับเพื่อนๆ คนไทยก็เห็นตรงกัน เลยเริ่มนึกว่ามันมีปัญหาอะไรที่ทำให้เราไม่ค่อยรู้เรื่องประวัติศาสตร์ดนตรีแจ๊สเลย ก็ไปเจอว่า source ประวัติศาสตร์แจ๊สที่เป็นภาษาไทย มีน้อยมาก แล้วส่วนใหญ่ที่มีก็จะเขียนด้วยคนที่มีอายุแล้ว เพราะฉะนั้นภาษาของเขาก็จะเป็นภาษาที่แตกต่างจากคนยุคใหม่”

ในฐานะคนรุ่นใหม่ เขาอ่านประวัติศาสตร์ดนตรีแจ๊สไทยด้วยความรู้สึกถึงภาษาทางการ

“เราเห็นว่าเด็กไทยมักมองประวัติศาสตร์ว่าเป็นสิ่งคร่ำครึ น่าเบื่อ ผมเลยมีความรู้สึกว่า อยากลองทำข้อมูลภาษาไทย และเล่าด้วยภาษาที่สนุก เหมือนคนพูดคุยกัน เหมือนเรามานั่งจับกลุ่มนินทาเพื่อน แต่เปลี่ยนเป็นนินทาแจ๊สแทน”

เมื่อเห็นภาษาของยุคสมัยใหม่ที่ไม่ต้องการเล่าถึงประวัติศาสตร์แจ๊สแบบฝุ่นจับ ประกอบกับเฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้เยอะอยู่แล้ว โสภณจึงตัดสินใจเปิดเพจ

“เวลาพูดถึงนักดนตรีแจ๊ส ปัญหาหนึ่งอย่าง คือ ตอนที่ผมเรียนอยู่ที่ไทย จะเห็นรูปนักดนตรีแจ๊สเต็มเลย แต่นักเรียนแจ๊สบอกไม่ค่อยได้เลยว่าใครเป็นใครบ้าง”

“การทำเพจก็เพื่อที่เราสามารถจะเห็นหน้านักดนตรีแจ๊สจริงๆ ที่จะทำให้รู้สึกว่ากำลังพูดถึงบุคคลจริงๆ ทำให้เขามีความเป็นมนุษย์ขึ้นมา”

แต่นอกจากเรื่องที่มาที่ไปของเพจ เรายังชวนคุยต่อยอดจากประวัติศาสตร์แจ๊สที่เจ้าตัวสนใจลงลึกอยู่แล้ว ไปถึงคำถามสำคัญว่า แจ๊สกับการเมืองเกี่ยวข้องกันอย่างไร และทำไมเวลาพูดถึงเพลงแจ๊สในไทย เรามักรู้สึกว่ามันเป็นของสูง และอีกสารพัดคมความคิดที่เขาเชื่อมโยงไปถึงประชาธิปไตยได้อย่างแนบสนิท

เทิร์นเทเบิลหมุนแล้ว ค่อยๆ วางเข็มลงบนแผ่นไวนิล แล้วฟัง ‘แจ๊สแจ๋’ บรรเลงอย่างเพลิดเพลิน

โสภณ สุวรรณกิจ
โสภณ สุวรรณกิจ
โสภณ สุวรรณกิจ
โสภณ สุวรรณกิจ (ซ้าย)

อะไรทำให้คุณลงลึกเรื่องเพลงแจ๊ส สะสมการฟังและเล่นมาแบบไหน

เมื่อก่อนเคยแกะเพลงป๊อปไทยและเทศเล่นทั่วไป ผมแกะได้ทั้งหมด แต่พอเพลงแจ๊ส พวกคอร์ดมันซับซ้อนกว่า ผมไม่สามารถแกะได้ ความยากทำให้ผมเริ่มสนใจมันตั้งแต่ตอนนั้น

ถ้าย้อนไปตอน 4 ขวบ พ่อแม่เคยพาไปเรียนเปียโน classical ผมก็ยังไม่ชอบ เพราะตอนเรียนค่อนข้างเน้นไปทางฝึกอ่านโน้ต และด้วยความเป็นเด็ก ผมอยากซัดเลย แต่ครูพยายามให้เรานับจังหวะ ด้วยการนั่งนับแล้วกดแค่นิดหน่อย ผมเลยเรียนได้เดือนเดียวแล้วเลิก

พอมาตอนอายุ 12 ผมได้ฟังลุงเล่นเปียโนแบบสดๆ เขาไม่ได้เรียนมาทางดนตรี แต่ผมกลับรู้สึกชอบ ก็เลยกลับมาอ้อนพ่อซื้อเปียโน จากนั้นมาเวลาแกะเพลงไม่ได้ ก็จะโทรไปถามลุงว่าทำยังไง เรียกได้ว่าลุงเป็นแรงบันดาลใจแรก เพราะผมไม่เคยเห็นนักดนตรีเล่นให้ดูตรงหน้ามาก่อน

พอได้ดูลุงเล่นเปียโน ตัดสินใจเข้าสู่โลกดนตรีเต็มตัวเลยไหม

ตอนมัธยม ผมอยู่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นสายวิทยาศาสตร์จริงจัง แต่อีกฟากหนึ่งเป็นดุริยางคศิลป์ มหิดล พอโรงเรียนผมพานักเรียนข้ามไปดูดนตรีฝั่งโน้น ผมรู้สึกว่าเรียนดนตรีมันจริงจังได้ และ ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยการโรงเรียนของผมในตอนนั้น มักจะพูดเสมอว่าเราควรเรียนในสิ่งที่เรารักถนัดและสนใจ อย่าไปกลัวเรื่องรายได้หรือแรงกดดันของสังคม สนใจอะไรก็เรียนไปเลย ผมเลยไปคุยกับอาจารย์แนะแนว แล้วก็ทำแบบทดสอบกันดูกับเพื่อนอีกที่รู้สึกคล้ายกัน แต่เพื่อนจะไปสาย visual art เราคุยกันว่าเอาไงดี ข้ามสายเลยไหม ก็ตกลงแท็กทีมกันแหกคอกออกไป จนผมไปได้ทุนเรียนเปียโนแจ๊สที่ ม.รังสิต

แล้วอะไรทำให้ต้องข้ามทวีปไปแสวงหาความรู้ต่อที่อเมริกา ทั้งปริญญาโท ปริญญาเอก

อย่างแรกคือดนตรีแจ๊สมันเกิดในอเมริกา ผมต้องการไปที่แหล่งกำเนิดมัน เหมือนถ้าอยากเรียนทำอาหารญี่ปุ่นก็ควรไปญี่ปุ่น ทีนี้ด้วยความที่มันเป็นแหล่งกำเนิด มันทำให้มีนักเรียนจากหลายชาติมาเรียนร่วมกัน จนเกิดเป็นความหลากหลาย มีนักเรียนหลาย background แต่ละคนจะเล่นด้วยสไตล์และความชอบที่แตกต่างกัน มันทำให้ผมมีเพื่อนที่หลากหลายที่เป็นนักดนตรีอยู่ตามประเทศต่างๆ เต็มไปหมดเลย

อีกเรื่องเกี่ยวกับการเรียนการสอน ผมว่าอย่างหนึ่งที่เป็นในไทย แต่ไม่ใช่ทั้งหมด คือบรรยากาศ seniority เช่น เวลาคนที่เด็กกว่าจะไปคอมเมนต์คนที่อาวุโสกว่า มันต้องใช้วิธีการอ้อมๆ แต่ที่อเมริกา ความเป็น seniority ไม่ได้มีอิทธิพลอะไร ตราบใดที่เรากำลังพูดถึงเนื้อหาจริงๆ เช่น บอกว่าที่คุณเล่นอยู่มันไม่ดี มันมีอะไรที่สมควรปรับปรุง เพราะอะไร คุยแบบมีเหตุมีผลไปแบบปกติ มันคุยได้เลย แต่ถ้าในไทยจะเจอประเภทคุณปีต่ำกว่า มาว่าได้ไง ปีนเกลียว

แทนที่จะคุยเรื่องเหตุและผลทางดนตรีไปเลย แต่ในไทยต้องผ่านความเป็นอาวุโสก่อนด่านแรก

ใช่ ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นใคร ถ้าอายุต่างกันปุ๊บ มันจะลังเลที่จะคุยกันแบบตรงไปตรงมาเลย ต้องใช้ความกล้าหาญประมาณหนึ่ง (หัวเราะ) ซึ่งที่ตะวันตกไม่ต้องลังเลเรื่องพวกนี้

การเรียนการสอนที่อเมริกาเข้มข้นขนาดไหน

ตอนเรียนอยู่ที่ไทย เราอาจจะเจอคนเก่งในไทยหรือเก่งที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่พอเราขยับไปอเมริกาปุ๊บ คนที่เราเจอกลายเป็นคนเก่งระดับโลก

การสอนดนตรีแจ๊ส ตัวแปรสำคัญมากตัวหนึ่งคือคนที่เราเล่นด้วย ถ้าเราเจอกับคนที่เก่งระดับ 80 เราก็จะเก่งในระดับนี้ แต่พอเราเจอคนเก่งระดับ 90 มันจะเร่งให้เราพัฒนาขึ้นไปอีก และการเรียนการสอนที่ดีที่สุดจริงๆ คือการเล่นอยู่บนเวทีพร้อมกับคนที่เก่งกว่า ภาษาอังกฤษคือโดน kick ass เหมือนเป็นตัวกระตุ้นให้เราต้องพัฒนาตัวเอง ต่อให้เราเล่นจังหวะแย่แค่ไหน พอเราไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีบ่อยๆ ทุกวัน เล่นกับคนเก่งๆ ให้มาก สุดท้าย time feel เราต้องดีขึ้น

และอีกเรื่องคือการที่เล่นในวงที่มีคนเก่งๆ อยู่ในการเล่นที่จังหวะแข็งแรง มันจะซึมซับเข้ามาอยู่ในหูเรา การเล่นด้วยเสียงประสานที่ถูกต้อง หรือมีชั้นเชิง เสียงจะเข้ามาในหูเรา เราจะรู้สึกและจำได้ว่าดนตรีที่ดีเป็นอย่างไร

กดดันไหม เวลาอยู่กับคนเก่งๆ จากที่เคยรู้สึกว่าตัวเองเก่งในเมืองไทยแล้ว พอไปเล่นกับคนข้างนอกมันท้าทายยังไง

เราอาจไปด้วยความรู้สึกว่าเราเก่งมากเลย เป็นเบอร์ต้นๆ ของไทย แต่สิ่งแรกที่เจอในระดับสากลคือการออดิชั่นเข้าวงของมหา’ลัย วงเขาจะมี ranking พอเราไม่ได้เล่นกับวงที่ดีที่สุด เราจะเริ่มรู้สึกว่า เอ๊ะ เกิดอะไรขึ้น จากเมื่อก่อนเราอยู่ในเมืองไทยค่อนข้างถูกสปอตไลท์ พอไปอยู่อเมริกา เราเป็นแค่เด็กธรรมดาคนหนึ่ง มีคนที่เก่งกว่าเราเต็มไปหมดเลย มันท้าทายให้เราต้องพัฒนาตัวเอง ไม่ได้คิดถึงขนาดว่าฉันมาจากไหน แค่คิดว่า เฮ้ย จริงๆ เรากระจอกเหมือนกันนะ (หัวเราะ)

มาตรฐานที่ยอมรับกันในทางดนตรีแจ๊ส เขาพิสูจน์กันยังไงว่าเก่งหรือไม่เก่ง

ตั้งแต่พื้นฐานไปเลย วิธีการจับคอร์ดในรูปแบบต่างๆ time feel เป็นยังไง improvisation เป็นยังไง รู้ภาษา tradition แค่ไหน แล้วสามารถดัดแปลงให้เป็นตัวเองหรือแตกต่างจากคนอื่นได้มากแค่ไหน มีเซอร์ไพรส์หรือสามารถโต้ตอบกันในวงดนตรีขนาดไหน รู้จักเพลงสแตนด์ดาร์ดที่ควรจะรู้จักมากแค่ไหน จริงๆ ก็ครบหมดทุกอย่างเลย

แต่ตอนผมที่ยังอยู่ในไทย มันจะมีคำถามหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาบ่อยๆ เวลานักเรียนถามอาจารย์ คือ “คอร์ดนี้ใช้สเกลอะไรครับ” หรือแบบว่า “ท่อนโซโล่นั้นสเกลอะไร” มันถามเชิงทฤษฎีเยอะ พอไหลไปทางนั้นมากๆ มันเหมือนเรียนคณิตศาสตร์ เรากดถูกโน้ต ถูกกฎ ถูกทฤษฎี แต่การเล่นที่น่าฟังมันอาจไม่ได้เวิร์กขนาดนั้น สมัยผมเรียนก็ค่อนข้างสนใจพวกหนังสือทฤษฎีมากกว่าหาซีดีหรือว่าแผ่นเสียงมาฟัง ซึ่งมันควรจะบาลานซ์กัน ไม่ใช่หนักไปอันใดอันหนึ่ง

เวลาเราดูเชฟญี่ปุ่นแล่ปลา ทำซาซิมิ มันดูน่าหลงใหล ในทางดนตรีแจ๊สอะไรที่คุณเห็นความน่าหลงใหล

ที่อเมริกา มันมีนักเรียนมาจากทั่วโลก ทุกคนรู้ว่าการไปเรียนมหา’ลัยในอเมริกา โดยเฉพาะดนตรีแจ๊ส มันไม่ง่าย มันมีขั้นตอนยิบย่อยมากมาย คนที่ไม่ได้อยากเรียนจริงเข้าไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้นคนที่ไปเรียน สิ่งแรกที่มีคือ passion มันมาเต็มมาก เต็มไปด้วยไฟที่อยากเรียนรู้ พวก international students ส่วนใหญ่มันมีความรู้สึกแบบนั้น การที่เราไปอยู่ตรงนั้นแปลว่าเราถูกรายล้อมด้วย passion ของคนจำนวนมาก

อันดับต่อมาคือคนพวกนี้มันมีความฝัน ฉันอยากจะมีอัลบั้ม ฉันอยากจะมีโปรเจกต์ ฉันอยากจะไปใช้ชีวิตในนิวยอร์ก คนพวกนี้ทำให้เกิดบรรยากาศที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ แล้วเราจะเริ่มรู้สึกว่าอยู่เฉยไม่ได้ เราอยากที่จะลุยความฝันเราบ้าง

แต่ในไทยมีปัญหาอยู่หนึ่งอย่าง ผมคิดว่าทุกมหา’ลัยที่สอนดนตรีจะเจอคนที่มีความคิดว่าการเรียนดนตรีมันง่าย ไม่ก็ไม่รู้จะไปเรียนอะไร ก็มาเรียนดนตรีดีกว่า ชิลดี ผมว่าทุกที่จะเจอเหมือนกันหมด แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนเป็นแบบนั้น

แต่ถ้าตั้งต้นว่าไม่รู้จะเรียนอะไร ไปเรียนแจ๊สที่อเมริกาดีกว่า ไม่ได้ใช่ไหม ต้องมุ่งมั่นไปเท่านั้น

ใช่ เพราะขั้นตอนมันเยอะ การออดิชั่นครั้งหนึ่งวุ่นวาย ยังไม่นับค่าสมัคร ค่าสอบต่างๆ ก็ค่อนข้างแพง

ที่บอกว่าแจ๊สเริ่มต้นที่อเมริกา ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

อเมริกามันเป็นศูนย์รวมของหลายวัฒนธรรม ทั้งจากฝั่งยุโรป ก็ล่าอาณานิคมไปหาแผ่นดินใหม่ที่อเมริกา เขาเอาวัฒนธรรมจากยุโรปไป สิ่งหนึ่งคือ classical music พวกที่เรารู้จักกันดีอย่าง โชแปง, บีโธเฟ่น, โมสาร์ท

แต่นอกจาก classical music มันยังเอาการค้าทาสเข้าไปด้วย มีการเอาชนเผ่าแอฟริกันเข้าไปเป็นทาส แล้วพวกนี้ก็มีทั้งคนธรรมดาและคนมีฐานะทางสังคม เช่น เป็นนักบวช ผู้นำพิธีกรรมต่างๆ คนพวกนี้เขามีเพลงประกอบพิธีของชนเผ่าเขา พอมันมีหลายวัฒนธรรมอยู่ด้วยกัน มันจึงเกิดการผสมผสาน คนนี้เลียนแบบคนนั้น คนนั้นยืมคนนี้มาใช้ และมันก็พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ จนในที่สุดได้ผลผลิตออกมาเป็นแจ๊ส

และอย่างที่รู้กัน พวกแอฟริกันที่โดนมาเป็นทาส เวลาเขาเครียดจากการโดนกดขี่ มันก็มีการร้องเพลงระบาย เขาเรียก field holler เหมือนด่าชะตากรรมตัวเอง ช่วง field holler มันเริ่มมีสิ่งที่คล้าย blue note โผล่ขึ้นมา ซึ่งองค์ประกอบตรงนั้น ในที่สุดก็พัฒนาไปเป็นทั้งแจ๊สทั้งบลูส์ จริงๆ คือ ดนตรีบลูส์กับแจ๊สมันเป็นญาติกัน

แล้วทำไมเวลาเราฟังแจ๊ส จะรู้สึกว่าซับซ้อนกว่าดนตรีทั่วไป มีรายละเอียดปลีกย่อยเต็มไปหมด ความซับซ้อนตรงนั้นเกิดมาจากไหน

มันมาจากพวก brass band ที่เป็นขบวนแห่ มีเครื่องเป่าทองเหลืองเต็มไปหมด เช่น ขบวนงานศพ หรืองานรื่นเริงต่างๆ จากตรงนั้นมันก็ถูกเอาไปใส่ตอนเล่นเปียโน มือซ้ายกดเบส แล้วก็กระโดดมากดคอร์ด ส่วนมือขวาก็เล่นจังหวะให้ขัดกับมือซ้ายอีกที กลายเป็นความซับซ้อนหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่งคือ ต่อมามันมีเรื่อง Black Code คือกฎหมายที่นายทาสสามารถปล่อยให้ทาสเป็นอิสระได้ มันจึงมีทาสที่เป็นอิสระจำนวนหนึ่งเริ่มไปมีชีวิตของตัวเอง ไปแต่งงานกับคนขาวบ้าง คนพวกนี้เริ่มได้เรียน classical music ได้เรียนรู้เสียงประสานของตะวันตกว่าทำยังไง ขณะเดียวกันพวกทาสในเรือนเบี้ย เขาไม่สามารถไปเรียนอะไรแบบนี้ได้ เขาก็ไปขอนายทาสว่าขอทำพิธีกรรม ร้องเพลงบูชายัญอะไรก็ว่าไป

ต่อมามันมีกฎหมาย Jim Crow Law เป็นคำสั่งให้พวกทาสคนดำที่แต่งงานกับคนขาว และเจเนเรชั่นที่เป็นลูก ให้ถูกนับเป็นคนดำ แล้วถูกบังคับให้ย้ายไปอยู่ในโซนคนดำ แยกจากคนขาวไปเลย ไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกนี้ที่เรียน classical music มา ก็ได้มาเจอคนดำที่ยังเป็นทาสอยู่ ยังทำพิธีกรรมชนเผ่าอยู่ มันก็เริ่มเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่าง classical music กับดนตรีชนเผ่าแอฟริกัน แจ๊สเองก็เกิดมาจากตรงนี้ ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20

แปลว่าความเข้าใจในไทยว่าแจ๊สเป็นพวกไฮโซ เป็นชนชั้นสูง จริงๆ แต่แรกเริ่มที่ต้นกำเนิดเป็นคนละเรื่องเลย

แจ๊สที่เข้ามาแรกๆ เป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย แต่สำหรับในอเมริกา แจ๊สเคยเป็น popular music ในช่วงทศวรรษที่ 1920-1930 ก่อนที่ร็อกจะมาแทนที่ในช่วงทศวรรษ 1960

ส่วน popular music ในไทยมันเป็นเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง แต่ไม่มีแจ๊สอยู่ในสารบบเลย แจ๊สมีสิ่งที่เรียกว่า swingfeel มันเหมือนความรู้สึกของจังหวะสวิงที่ไม่อาจเขียนเป็นโน๊ตได้ทีเดียว มันมีหลายเลเยอร์ มีหลายจังหวะ ไทยไม่คุ้นเคย พอได้ยินแล้วก็จะฟังยาก

และด้วยความที่ดนตรีแจ๊สมันเกิดขึ้นที่อเมริกา ถือว่าเป็นสมบัติประจำชาติ แม้ว่าตอนแรกมันไม่ได้มีอะไรเป็นของตัวเองเท่าไหร่ แต่โดยเนื้อแท้มันเกิดขึ้นที่นี่จริงๆ เขาเลยให้ความสำคัญ ดนตรีแจ๊สจึงถูกบรรจุเข้าไปในหลักสูตรมหา’ลัย หรือมัธยม ซึ่งโรงเรียนมัธยมส่วนใหญ่ก็จะมี Jazz Band เพราะฉะนั้นเด็กจำนวนมากก็จะเรียนแจ๊ส บางทีผมเคยเห็นเด็กประถมเรียนด้วย แม้แต่คนที่ไม่ได้เรียนโดยตรง แต่มีเพื่อนเขาอยู่ในวงแล้วมีคอนเสิร์ต เขาจะไปดูไปฟัง เขาจะได้ซึมซับ

จริงๆ พัฒนาการของแจ๊สในอเมริกามันมาจากหลายปัจจัย มากกว่าเรื่องชนชั้น เช่นเรื่องเศรษฐกิจ ช่วงที่บิ๊กแบนด์มันค่อยๆ เล็กลง เพราะเป็นช่วงของสงครามโลก สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ชายทั้งหลายจะโดนเกณฑ์ทหาร ซึ่งมีจำนวนมากที่เล่นอยู่ในบิ๊กแบนด์ พวกนี้โดนเกณฑ์ออกไปรบ นักดนตรีเริ่มหายากลง และด้วยสงคราม มันทำให้เศรษฐกิจไม่ดี คนจ้างนักดนตรีก็ไม่ค่อยมีเงินจ่าย

นอกจากนั้นก็มีเรื่องที่ประเทศต้องการเก็บยางรถไว้ใช้ในสงคราม ทำให้วงที่มีรถบัสคันใหญ่ๆ เพื่อจะทัวร์ไปเล่นตามเมืองต่างๆ ก็ถูกกฎสั่งว่าต้องเซฟยางไว้ทำสงคราม พวกนี้ก็ทัวร์ไม่ได้ มันจึงเกิดการลดขนาดของวงตามมา ทำให้วิธีการเล่นเริ่มเปลี่ยนไป นอกจากนี้พวกนักดนตรีแจ๊สวงบิ๊กแบนด์ส่วนใหญ่ต้องอ่านโน้ต แล้วจะมีนักดนตรีไม่กี่คนได้อิมโพรไวซ์ พวกที่ไม่ได้อิมโพรไวส์เขาก็เริ่มเบื่อ พอหลังงานเลิก พวกนี้ก็เริ่มมีการไปรวมตัวกันเล่นเป็นวงเล็กๆ จนมีคนมาดูเยอะขึ้น และนักดนตรีก็เริ่มชอบ จากวงใหญ่มันก็ลดขนาดลง เพราะถ้าให้บิ๊กแบนด์อิมโพรไวซ์ครบทุกคนคงไม่ได้

อีกเรื่องคือมันมีกฎหมายที่เรียกว่า American Federation of Musicians ปี 1942 เป็นกฎห้ามนักดนตรีในเครือข่ายตัวเองไปอัดเสียง เพราะว่าเขาพยายามต่อรองเรียกค่าลิขสิทธิ์ พอห้ามอัดเสียงปุ๊บ รายได้จากการอัดเสียงก็ลดลง แล้วปี 1944 มีกฎหมาย cabaret tax คือพวกฟลอร์เต้นรำต้องจ่าย 30 เปอร์เซ็นต์ และเพลงส่วนใหญ่ของวงบิ๊กแบนด์จะมีคนมาเต้นหน้าวง พอใช้กฎหมายตัวนี้ ทำให้วงต้องจ่าย cabaret tax ซึ่งเป็นเงินไม่น้อยเลย

ต่อมา อเมริกาเริ่มมี social movement มาก ทำให้เห็นว่าดนตรีกับสภาพทางสังคมมันแยกจากกันยาก จริงๆ อาจแยกกันได้ แต่สมมตินักดนตรีคนหนึ่งทำเพลงสัก 10 อัลบั้ม อาจเป็น pure art ไปเลย 8 อัลบั้ม แต่อีก 2 อัลบั้มมันอดไม่ได้ที่จะหยิบเรื่องชีวิตสังคมมาเล่า หรือศาสนาที่ตัวเองนับถือ อย่างในอัลบั้ม A Love Supreme ของ John Coltrane หรือแบบที่เป็นเรื่อง social movement ที่คนดำพูดเรื่องการเหยียดผิวในเพลง Strange Fruits ซึ่ง Billie Holiday ร้องไว้ในปี 1939

Billie Holiday
Billie Holiday ที่มาภาพ www.musicajazz.it

ปี 1959 ก็มีเพลง Fables of Faubus ของ Charles Mingus เขาเขียนขึ้นมาด่า Orval Faubus ผู้ว่าการรัฐ Arkansas ที่ไปสั่งให้เจ้าหน้าที่ห้ามนักเรียนผิวสีโรงเรียน Little Rock Central High School เข้าเรียนเมื่อปี 1957 แล้วเพลงก็ถูกปล่อยออกมาโดยค่ายโคลัมเบีย แต่ถูกปฏิเสธการใส่เนื้อร้อง Mingus เลยไปทำอีกเวอร์ชั่นแบบมีเนื้อร้อง ด่านักการเมืองกับค่ายเพลงที่เล็กกว่า

Charles Mingus ที่มาภาพ www.telegraph.co.uk

กฎหมายกีดกันสีผิวในโรงเรียนครั้งนั้นยังทำให้ Louis Armstrong ออกมาให้สัมภาษณ์โจมตีนักการเมืองคนดังกล่าว และประกาศยกเลิกการทัวร์คอนเสิร์ตที่เขาจะต้องไปเล่นในนามของประเทศสหรัฐอเมริกาที่สหภาพโซเวียต พอบทสัมภาษณ์และประกาศยกเลิกทัวร์ถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีคนบางส่วนเกลียด Armstrong ไปเลย

Louis Armstrong
Louis Armstrong ที่มาภาพ www.telegraph.co.uk

นักดนตรีแจ๊สรู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพจำเป็นต่อการเล่นดนตรีไหม หรือเอาเข้าจริงๆ สิทธิเสรีภาพไม่เกี่ยวกับการเล่นดนตรีก็ได้

ผมว่าสิทธิเสรีภาพอาจจะไม่ได้โผล่มาโต้งๆ ในดนตรี แต่มันเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ข้างใน ก็คือการอิมโพรไวซ์

สมมติเราเปรียบเทียบกับดนตรีคลาสสิก ดนตรีอื่นๆ ก็จะมีการบันทึกโน้ตมาให้เลย ต้องเล่นตามนั้น ถ้าพูดแบบละคร คือเล่นตามบท แต่ดนตรีแจ๊สจะมีบอกแค่ว่า เสียงประสานเป็นไง แล้วให้เราไปจัดการเป็นทำนองของเราเอง เป็นจังหวะของเราเอง ผมว่านั่นคือสิทธิเสรีภาพที่ซ่อนอยู่ในดนตรี

สมมติว่าเรามีเพลงอยู่เพลงหนึ่ง เราก็มีสิทธิเสรีภาพของเราในการที่เราจะทำอะไรกับมันก็ได้ เช่น สมมติว่าบีโธเฟ่น เล่นซิมโฟนี่หมายเลข 5 ทำนอง “ปาม ปาม ป๊าม ป่าม” เล่นเป็นออเคสตร้า แต่พอเข้าไปในดนตรีแจ๊สแล้ว เราสามารถที่จะทำให้เพลงนี้เป็นสไตล์บราซิลเลี่ยนก็ได้ สวิงก็ได้ หรือเป็นแจ๊สร็อกแบบฟิวชั่นก็ได้ แจ๊สมีเสรีภาพในการอิมโพรไวซ์เยอะมาก ในการเปลี่ยนสไตล์ เปลี่ยน configuration ของเพลง ทำได้หลากหลายมาก

แล้วการจะไปดัดแปลงเพลงของใคร ในสายแจ๊สจะด่ากันไหมว่ามีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ ทำไมไม่เล่นให้เหมือนคนแต่งเท่านั้น

จะไม่มีการล่าแม่มดแบบนั้น ถ้ามีมันก็แค่แบบบ่นๆ ว่า เฮ้ย เพราะหรือไม่เพราะ ถ้าเอามาทำแล้วเวิร์ก ก็ชอบ แต่ถ้าไม่ชอบก็บ่นไป แค่นั้น

ไม่มีใครมาชี้ว่าเป็นเรื่องถูกหรือผิด

โน โน โน

นอกจากนักดนตรีแจ๊สที่แสดงออกต่อต้านการเหยียดผิว มีกรณีอื่นอีกไหม

ผมว่ามีเรื่อง LGBT ของนักดนตรีแจ๊สชื่อ Billy Strayhorn เป็นนักแต่งเพลงและเป็นมือเปียโนด้วย เขาทำงานคู่กับ Duke Ellington เป็นนักแต่งเพลงคนสำคัญมากๆ ของวงการแจ๊ส ประเด็นคือเขาเป็นคนดำและเป็น openly gay ด้วย ซึ่งยุคนั้นการ openly gay ค่อนข้างยาก แล้วพอเป็นคนดำอยู่แล้ว ก็จะโดนเหยียดมากกว่าเดิม แต่ว่าเขาเปิดเผยตัวตน ไม่ปกปิด คนอื่นแอ๊บไว้ กลัวว่ามีใครรู้ว่าเราเป็นเกย์แล้วจะมีปัญหาทางสังคม แต่ strayhorn นี่ไม่แอ๊บเลย มันทำให้เขาเป็นแรงบันดาลใจต่อคนอื่นที่ทำให้การเป็น openly gay มันโอเค

Billy Strayhorn
Billy Strayhorn ที่มาภาพ www.post-gazette.com

 

ถ้ามองเข้ามาในไทย ทำไมเพลงแจ๊สในไทยเราถึงไม่เห็นการพูดถึงเรื่องสังคมการเมือง หรือว่ามี แต่นักดนตรีไม่บอก เราจึงไม่รู้

อย่างแรก ผมว่าการจะทำเพลงอะไรสักอย่างเพื่อพูดเรื่องการเมือง ถ้าจะทำให้เกิดผล ต้องทำให้มันเข้าใจง่ายๆ คือใกล้ตัวกับคนฟังในประเทศ และตัวนักดนตรีแจ๊สในประเทศไทยอาจไม่ได้สนใจ Political movement อะไรขนาดนั้น เพราะว่าคนส่วนใหญ่ที่มาสนใจดนตรีแจ๊ส ก็สนใจตัวดนตรีจริงๆ ไม่ได้จะสนใจการเมือง ส่วนคนที่สนใจการเมืองจริงๆ คนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เขาอาจไปสนใจดนตรีอย่างอื่นแทน เช่น ป๊อป แรป หรือเพลงเพื่อชีวิต

นอกจากนี้ ในไทยคนที่เข้าถึงแจ๊สได้ อาจเป็นแค่กลุ่มเล็กๆ และแจ๊สก็เป็นดนตรีที่มาจากที่อื่น มันเหมือนเป็นเอเลี่ยนด้วย และตัวศิลปินเองอาจจะมีความกลัวที่ว่า ถ้าเราแสดงจุดยืนทางการเมืองมากเกินไป เราอาจจะเสียงาน เสียคอนเนคชั่นบางอย่าง

แต่ที่สำคัญ ผมคิดว่าเพลงแจ๊สแรกๆ ที่คนไทยได้ฟัง คือ เพลงพระราชนิพนธ์ เพลงแรกที่ผมได้ยินคือเพลงชะตาชีวิต กลายเป็นเรื่องภาพจำ พอดนตรีแจ๊สมาปุ๊บ คนไทยก็จะนึกถึงคนที่เล่นดนตรีแจ๊สให้ได้ยินครั้งแรก

และด้วยความที่เพลงพระราชนิพนธ์เป็นภาษาไทย มีคำร้องเป็นภาษาไทย ยิ่งทำให้คนส่วนใหญ่เลือกฟังเพลงที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาไทยมากกว่าเพลงบรรเลงหรือเพลงที่มีเนื้อร้องภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้น ถ้าคนจะฟังเพลงแจ๊ส เขาก็เลือกฟังเพลงเพลงพระราชนิพนธ์ก่อน เพราะฟังรู้เรื่อง อย่างน้อยถึงฟังดนตรีไม่รู้เรื่อง ก็ฟังคำร้องรู้เรื่อง

อีกอย่างช่วงแรกๆ ที่ดนตรีแจ๊สเข้ามาในไทย อินเทอร์เน็ตมันยังไม่มี ช่วงที่เพลงพระราชนิพนธ์เริ่มเข้าหูคนในฐานะดนตรีแจ๊ส ประชาชนยังไม่มียูทูบหรือสปอติฟาย ทำให้ไม่สามารถไปหาเพลงแจ๊สฟังได้ง่ายๆ คนที่จะได้ฟังก็ต้องฟังผ่านเครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือผ่านสถานีวิทยุเปิดให้ฟัง ยุคนี้เราเลือกได้ว่าจะหาเพลงแจ๊สแบบไหนฟังได้ตามใจ แต่เมื่อก่อนเราเลือกไม่ได้

พอยุคก่อนที่เทคโนโลยีไม่ได้เอื้อ คนฟังก็ไม่มีช่องทางอื่นในการเลือกฟัง

คือดนตรีแจ๊สส่วนใหญ่ เวลาคนฟัง เขาก็จะดูว่าลิสต์นักดนตรีมีใครบ้าง สมมติว่าฟัง Miles Davis ในแผ่นเสียงก็จะมีรายชื่อนักดนตรีคนอื่นๆ เขาก็จะเอาชื่อนักดนตรีคนอื่นๆ ไปหาต่อว่าพวกนี้เขามีอัลบั้มอื่นกันอีกไหม ก็คือหาจากนักดนตรี ทำให้คนฟังรู้จักนักดนตรีเพิ่ม แต่พอเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ คนฟังก็พบแต่ composer หรือคนแต่ง ก็คือพระมหากษัตริย์นั่นเอง

ถ้าไปดูสารคดีเกี่ยวกับเพลงพระนิพนธ์ เห็นว่าเคยมีนักดนตรีแจ๊สระดับโลกเข้ามาเล่นดนตรีร่วมกับในหลวง ร.9 ด้วย ตอนนั้นคือปีไหน

Benny Goodman เป็นคนขาว เคยมาไทย พ.ศ.2499 ตรงกับ ค.ศ.1956 ตอนนั้นเบนนี่มาแสดงที่สวนลุมพินี มีการบันทึกการแสดงสด วันที่ 15 ธันวาคม เป็นบิ๊กแบนด์ 13 คน งานที่เขามาเล่นคืองานวันรัฐธรรมนูญ แล้วก็มีนักดนตรีแจ๊สที่สำคัญๆ มาเล่นด้วย อย่าง Hank Jones, Israel Crosby แล้วในอัลบั้มนี้มีเพลงพระราชนิพนธ์ 2 เพลง คือ ยามเย็น และ สายฝน แล้วตอนปิดการแสดงก็เล่นเพลงสรรเสริญพระบารมีด้วย

ถ้าคนฟังแจ๊สไทยจะนึกถึงเพลงพระราชนิพนธ์ หรือเพลงบรรเลงทั่วไป แล้วเป็นไปได้ไหมที่เพลงแจ๊สในไทยจะสะท้อนสังคมการเมือง เหมือนสายแรปเปอร์ที่มีเพลง ประเทศกูมี

ผมว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้านักดนตรีจะทำก็ทำได้ แต่ก็อย่างที่บอกว่า ตัวนักดนตรีก็ต้องใจถึงพอที่จะยอมแลก แบบที่ Louis Armstrong เคยแลก ถ้าจะทำโจทย์คือทำยังไงให้ก้าวข้ามภาพจำของคนไทยให้ได้

ปัญหาคือความกลัวในตัวศิลปิน พอแสดงจุดยืนปุ๊บ มันแปลว่าตัวเองเลือกข้าง ก็เป็นผลพวงมาจาก polarity ของการเมืองไทย สมมติว่ามีขั้วเอกับขั้วบี แต่เราไม่เห็นด้วยกับหนึ่งสิ่งของขั้วเอ แล้วเราไปวิจารณ์ เราจะกลายเป็นบีทันที จริงๆ แล้วเราอาจจะไม่เห็นด้วย 1 อย่าง แต่เห็นด้วย 9 อย่างก็ได้ แต่ในสังคมไทยมันไม่แยกแยะ

ถ้าไม่ซ้ายก็ขวาไปเลย

ใช่ เพราะฉะนั้น คนก็กลัวที่จะโดนแปะป้ายว่าไอ้นี่รับใช้การเมือง นี่เป็นความกลัวแรก ความกลัวที่สองคือ ถ้าสมมติว่าคนถูกวิจารณ์มีอำนาจ คนที่ไปวิพากษ์ก็จะกลัวว่าเขาจะใช้อำนาจอะไรในทางที่ไม่เป็นธรรมหรือเปล่า เพียงเพราะเขาไปวิพากษ์วิจารณ์

ถ้าสังคมอยู่บนความกลัว นักดนตรีแจ๊สต้องทำยังไง ถ้าอยากพูดเรื่องที่สังคมไม่อยากฟัง มันสามารถซ่อยนัยยะไว้ในทำนองได้ไหม โดยไม่ต้องมีเนื้อร้อง

ผมว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงแจ๊สก็ได้ เป็นเพลงอะไรก็ได้ สมมติว่าผมไปเล่นงานอะไรสักอย่างหนึ่งที่เป็นของขั้วเอ แล้วในตอนอิมโพรไวซ์ ผมไปอิมโพรไวซ์เพลงประจำตัวขั้วบี แล้วผมอาจจะทำให้มันฟังดูดี หรือทำให้มันฟังดูอัปลักษณ์นิดหนึ่ง ก็คือเป็น subtext ที่ซ่อนอยู่ในดนตรี แต่อาจจะฟังรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องก็ได้

นี่เป็นความท้าทายของนักดนตรีเอง

ใช่ ก็เหมือนการส่งรหัสมอร์สกันไปกันมา

ในฐานะที่เป็นนักดนตรีแจ๊ส ได้ไปดูไปเห็นแหล่งกำเนิดมาแล้ว แจ๊สมันให้อะไรกับคุณ

มันสอนผมว่าการทำงานอะไรสักอย่างหนึ่ง จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการทำงานเป็นทีม เพราะว่าในการเล่นวงแจ๊สวงหนึ่ง เช่น มีเปียโน กลอง เบส เครื่องเป่า ทุกคนมีหน้าที่ของตนเองที่จะทำให้ดนตรีเป็นชิ้นเป็นอัน สมบูรณ์แบบขึ้นมา แล้วทุกคนจะต้องไว้ใจในหน้าที่ของคนอื่นที่กำลังเล่น ว่าเขาสามารถที่จะอยู่รอดไปกับเราได้ โดยที่เราไม่ต้องพยายามทำให้เขารู้สึกเหมือนถูกตรวจงานอยู่ตลอดเวลา

ทุกคนมีสิ่งที่ตัวเองจะต้องไปทำการบ้านมาก่อน คือการรับผิดชอบในงานของตัวเอง ก่อนที่จะมาเล่นด้วยกัน มันจะมีช่วงเวลาที่เราจะผลัดกันเป็นผู้นำวง เช่น ตอนที่เปียโนอิมโพรไวซ์ ผมก็เป็นผู้นำของวง ตอนที่เครื่องเป่าอิมโพรไวส์ เครื่องเป่าก็เป็นผู้นำของวง

แต่ในขณะเดียวกัน ผู้นำก็จะต้องฟังเสียงของผู้ที่อยู่ในวงด้วย ว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ เขากำลังบอกอะไรเรา เขากำลังส่งจังหวะ หรือทำนองหรือคอร์ดบางอย่างให้เรา เราก็จะฟังเขา หรือถ้าอีกคนอิมโพรไวซ์ เราก็ต้องเป็นฝ่ายซัพพอร์ตให้ผู้นำทำหน้าที่ให้ราบรื่นที่สุด

พูดได้ไหมว่าแจ๊สเป็นเรื่องประชาธิปไตย

ใช่ นี่เป็นสิ่งที่ Jazz educator ในอเมริกาซ่อนเข้าไปในการสอนดนตรีแจ๊สของเด็กอเมริกาเองด้วย ถ้าสมมติว่านักดนตรีแจ๊สหรือครูดนตรี ที่จะไปนำเสนอหลักสูตรดนตรีแจ๊สให้บรรดาผู้บริหารโรงเรียนทั้งหลาย เขาจะบอกผู้บริหารว่าดนตรีแจ๊สจะสอนประชาธิปไตยอย่างไรให้นักเรียนของเขา

นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ผมเจอ มันตอบคำถามใหญ่ว่าทำไมเราต้องเรียนแจ๊ส แจ๊สสำคัญอย่างไร แล้วสมมติว่าจะนำเสนอหลักสูตรดนตรีแจ๊ส เราจะให้เหตุผลอย่างไรได้บ้าง เพื่อซัพพอร์ตดนตรีแจ๊ส ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอันดับแรก เวลามีนักดนตรีฟอร์มวงขึ้นมา แต่ละคนก็ต้องเลือกกันว่าจะเล่นวงสไตล์ไหนเช่น hard bop หรือ be bop ถ้านักดนตรีมี 5 คน เขาก็ต้องโหวตกันว่าจะต้องเล่นเพลงอะไร

มันต้องแลกเปลี่ยน ต้องถกเถียงด้วยไหม

ใช่ แล้วทุกคนก็จะยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ตกลงที่จะทำแบบนี้ แม้เราไม่ได้เห็นด้วย แต่เราโอเคที่จะทำ เพราะว่าทุกคนโอเคกับมัน เพื่อความเป็นทีม เราก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

ถ้านักดนตรีที่เล่นด้วยกันไม่เอาประชาธิปไตยล่ะ

มันก็เล่นด้วยกันไม่ได้ ถ้าสมมติว่าทุกคนไม่รู้หน้าที่ของตัวเอง มือแซกโซโฟนมาโซโล่อยู่ข้างหน้า แล้วมือเปียโนอยากเด่นกว่า หรืออยากขัดขา ถ้าเล่นแข่งกันเอง ดนตรีมันก็เสีย หรือถ้าทุกคนโหวตกันแล้วว่าจะเล่นเพลงหนึ่ง แต่มือเปียโนไม่เห็นด้วย แล้วเดินออกจากเวทีไปเลย วงจะทำยังไง.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save