fbpx
ความยั่งยืนเริ่มจากตู้เสื้อผ้า

ความยั่งยืนเริ่มจากตู้เสื้อผ้า

กรณิศ ตันอังสนากุล เรื่อง

หากคุณเป็นอีกคนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงเพื่อโลก ตู้เสื้อผ้าเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดการความยั่งยืนใกล้ตัวที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

เชื่อว่าหลายคนโดยเฉพาะสาวๆ คงเคยประสบเหตุการณ์คล้ายๆ กันคือเสื้อผ้าล้นตู้จนไม่มีที่จะเก็บ แต่ขณะเดียวกันก็บ่นว่าไม่มีอะไรจะใส่ บางทีก็ซื้อเสื้อผ้าแล้วใส่ไม่กี่ครั้ง ส่วนที่ไม่ใช้แล้วก็วางแผนว่าจะหาค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ จากร้านมือสองหรือรอจังหวะดีๆ ในการบริจาค แต่จนแล้วจนรอดมันก็ยังอยู่ในตู้อย่างนั้นเป็นปีๆ เรารู้ดีว่าทางออกที่ตรงจุดที่สุดคือลดการซื้อแต่การยับยั้งชั่งใจก็ไม่ง่ายเลย บทความชิ้นนี้จะพาคุณไปสำรวจเรื่องราวของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในปัจจุบัน โดยหวังว่าข้อมูลนี้จะช่วยเสริมแรงยับยั้งไม่ให้คุณตัดสินใจซื้อเสื้อผ้าได้ง่ายเหมือนที่เคย

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าสิ่งทอและเสื้อผ้าเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ หากจะให้จินตนาการโลกที่ปราศจากสิ่งทอก็คงจะยากสักหน่อย เราสวมใส่เสื้อผ้าแทบจะตลอดเวลา นอกจากเสื้อผ้าจะช่วยปกคลุมร่างกาย สนับสนุนการทำกิจกรรมต่างๆ แล้ว เสื้อผ้ายังเป็นการแสดงออกถึงลักษณะเฉพาะบุคคลที่แต่งต่างกันด้วย

สิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจโลกที่มีมูลค่าถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และสร้างการจ้างงานกว่า 300 ล้านคน ตลอดห่วงโซ่มูลค่าในบางประเทศการผลิตผ้าฝ้ายเพียงอย่างเดียวคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 7 เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงานทั้งหมด โดยที่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ของสิ่งทอทั้งหมดถูกใช้ผลิตเสื้อผ้าและคาดว่าจะยังคงเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดต่อไป

การผลิตเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา สาเหตุหนึ่งมาจากการเติบโตของชนชั้นกลางทั่วโลก ขณะที่ fast fashion คือปรากฏการณ์ขับเคลื่อนจำนวนยอดขายต่อหัวในประเทศที่พัฒนาแล้ว  fast fashion ทำให้รอบอายุของเสื้อผ้าแต่ละฤดูกาลหมุนเร็วขึ้น มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว การเพิ่มขึ้นของจำนวนคอลเลคชั่นต่อปีและการกำหนดราคาที่ย่อมเยาทำให้เสื้อผ้าแบบ fast fashionโดยมากล้าสมัยในเวลาเพียงปีเดียว หากนำไปขายต่อในร้านมือสองก็อาจจะได้ราคาที่ไม่ดีด้วยความด้อยคุณภาพ

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าในปัจจุบันทั้งสิ้นเปลืองและก่อมลภาวะ

ระบบการผลิต จัดจำหน่าย และการใช้เสื้อผ้าในปัจจุบัน ดำเนินในรูปแบบเชิงเส้นตรง (linear) นั่นคือการที่เราสกัดทรัพยากร (ที่ไม่ย่อยสลาย) จำนวนมากมาผลิตเสื้อผ้า โดยที่ปลายทางของผลิตภัณฑ์เหล่านี้คือหลุมฝังกลบหรือเตาเผา โดยกว่าครึ่งของผลิตภัณฑ์ fast fashion ถูกใช้ประโยชน์ในระยะเวลาสั้น ก่อนถูกกำจัดภายในปีเดียว ระบบเชิงเส้นตรงนอกจากทำให้เราพลาดโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลแล้ว ยังผลาญทรัพยากร สร้างมลพิษ ตลอดจนทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและระบบนิเวศ มลภาวะและผลกระทบสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์

การผลิตเส้นใยไม่ว่าจะเป็นเส้นใยธรรมชาติจากการเพาะปลูกหรือใยสังเคราะห์ที่ได้จากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม อุตสาหกรรมสิ่งทอส่วนใหญ่อาศัยทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปประมาณ 98 ล้านตันต่อปี รวมทั้งน้ำมันเพื่อผลิตเส้นใยสังเคราะห์ ปุ๋ยเพื่อปลูกฝ้ายและสารเคมีเพื่อผลิตย้อมและตกแต่งเส้นใยและสิ่งทอ การผลิตสิ่งทอ (รวมถึงการทำไร่ฝ้าย) ยังใช้น้ำประมาณ 93 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ก่อให้เกิดปัญหาในภูมิภาคที่ขาดแคลนน้ำ ระบบเชิงเส้นที่สิ้นเปลืองในปัจจุบันสร้างแรงกดดันมหาศาลต่อทรัพยากรธรรมชาติ

ในขั้นตอนการผลิตเสื้อผ้าก็เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีและปล่อยมลภาวะของโรงงาน ในปี 2015 การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จากการผลิตสิ่งทอมีปริมาณเทียบเท่าการปลดปล่อย CO2 1.2 พันล้านตัน ซึ่งมากกว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศและการเดินเรือรวมกันทั้งหมดเสียอีก อุตสาหกรรมยังมีผลกระทบโดยตรงต่อท้องถิ่น การใช้สารบางชนิดส่งผลเสียต่อเกษตรกรผู้ปฏิบัติงานโรงงานและสภาพแวดล้อมโดยรอบ แม้ว่าจะมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับปริมาณสารที่น่าห่วงใยที่ใช้ทั่วทั้งอุตสาหกรรม แต่ก็เป็นที่ยอมรับว่าการผลิตสิ่งทอมีการปล่อยน้ำที่มีสารเคมีอันตรายเข้าสู่สิ่งแวดล้อม มีการประเมินว่ากิจกรรมย้อมสีและจัดการสิ่งทอปล่อยมลพิษทางน้ำราว 20 เปอร์เซ็นต์ ของมลพิษทางน้ำจากอุตสาหกรรมทั่วโลก

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสิ่งทอถูกชี้เป้าว่ามีส่วนสำคัญในการปล่อยพลาสติกลงสู่มหาสมุทร การซักล้างทำความสะอาดก็นำพาไมโครไฟเบอร์สู่แหล่งน้ำและทะเล เป็นไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ซึ่งสร้างความกังวลด้านสุขภาพเพิ่มเป็นทวีคูณ มีการประมาณว่าในแต่ละปีการซักล้างเสื้อผ้าใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ ไนลอน หรืออะครีลิก ปลดปล่อยไมโครไฟเบอร์ราว 5 แสนตันลงสู่ภายนอกและปนเปื้อนสู่มหาสมุทร

ท้ายที่สุดเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน เสื้อผ้ากลายเป็นส่วนหนึ่งของกองขยะมหึมา หลายคนอาจเข้าใจว่าเสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติสามารถย่อยสลายได้เอง และไม่น่าจะสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่จริงแล้วในขั้นตอนการผลิตเสื้อผ้าประกอบด้วยการใช้สารเคมี ทั้งการย้อมสี พิมพ์สี การฝังกลบอย่างผิดวิธีทำให้สารเคมีเหล่านี้ปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำได้ สำหรับเส้นใยสังเคราะห์ที่มีส่วนประกอบของพลาสติกสามารถอยู่ได้เป็นร้อยๆ ปีกว่าจะย่อยสลาย

ผลกระทบจากระบบสิ่งทอของวันนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เรื่องราวผลกระทบทางสังคมในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาคและระดับโลกปรากฏให้เห็นมาโดยตลอด คนงานจำนวนมากต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นอันตรายเนื่องจากกระบวนการที่ไม่ปลอดภัยและสารอันตรายที่ใช้ในการผลิต แรงกดดันในการลดต้นทุนและแข่งขันกับเวลาที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทานมักต้องแลกมาด้วยสภาพการทำงานที่เลวร้าย ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และการกดค่าแรง รวมไปถึงแรงงานทาสสมัยใหม่ (modern slavery) และแรงงานเด็ก (child labor)  ขณะที่ชุมชนโดยรอบมักได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น การปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำธารที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภค

แม้การคำนวณมูลค่าทางเศรษฐกิจของผลกระทบทางลบเหล่านี้จะทำได้ไม่ง่ายนัก แต่รายงานอุตสาหกรรมแฟชั่นระบุว่า ในปี 2030 หากอุตสาหกรรมแฟชั่นจัดการกับผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่อยู่ในปัจจุบัน ผลประโยชน์โดยรวมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะอยู่ที่ประมาณ 160,000 ล้านยูโร (กว่า 6 ล้านล้านบาท) ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

social impacts of clothing system, ผลกระทบของระบบเสื้อผ้า

ใช้เสื้อผ้าไม่คุ้มเสมือนโยนเงินทิ้ง

เราใช้ประโยชน์เสื้อผ้าคุ้มแค่ไหน? การศึกษาอัตราการใช้ประโยชน์เสื้อผ้าระบุว่าจำนวนครั้งโดยเฉลี่ยที่เสื้อผ้าถูกสวมใส่ก่อนที่จะหมดอายุการใช้งานลดลง 36 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 15 ปีก่อน เมื่อแจกแจงผลการศึกษารายประเทศพบว่าประเทศที่มีรายได้น้อยยังมีอัตราการใช้ประโยชน์เสื้อผ้าค่อนข้างสูง แต่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกามีการสวมใส่เสื้อผ้าเพียงประมาณ 1ใน 4 ของค่าเฉลี่ยทั่วโลกเท่านั้น ที่น่ากังวลคือรูปแบบการใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่นี้กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีน ซึ่งอัตราการใช้ประโยชน์เสื้อผ้าลดลง 70 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

เชื่อหรือไม่ว่ามูลค่าของการทิ้งเสื้อผ้าที่สามารถสวมใส่ต่อไปได้ทั่วโลกคิดเป็นมูลค่า 460,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 15 ล้านล้านบาท) เสื้อผ้าบางชิ้นคาดว่าจะถูกทิ้งหลังจากสวมใส่เพียง 7 ถึง 10 ครั้งเท่านั้น การสำรวจในเยอรมนีและจีนพบว่ากว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ร่วมวิจัยยอมรับว่ามีเสื้อผ้ามากกว่าที่พวกเขาต้องการ

ใช้เสื้อผ้าไม่คุ้มเสมือนโยนเงินทิ้ง, global material flows for clothing

เมื่อการรีไซเคิล & บริจาค ยังไม่ใช่ทางออก

‘รีไซเคิล’ คำนี้ทำให้รู้สึกดีไม่น้อยในการจัดการกับของเหลือทิ้ง แต่คงไม่ผิดนักถ้าจะเรียกว่าเป็นความหวังที่ไม่เกิดขึ้นจริงกับการจัดการขยะหลายๆ ประเภทรวมถึงเสื้อผ้าด้วย แน่นอนว่าในทางเทคนิคแล้วสิ่งทอหลายชนิดนำไปรีไซเคิลได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของเสื้อผ้าเก่าถูกนำไปรีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าใหม่ ซึ่งหมายถึงการสูญเสียวัสดุมูลค่ากว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 3 ล้านล้านบาท) ในแต่ละปี นอกจากมูลค่าที่เสียไปแล้ว ต้นทุนยังเกิดขึ้นกับขั้นตอนการกำจัดหลังสิ้นสุดการใช้งานอีกด้วย ค่าใช้จ่ายโดยประมาณในการฝังกลบเสื้อผ้าและสิ่งทอในครัวเรือนที่ประเทศอังกฤษอยู่ที่ประมาณ 108 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 3.5 พันล้านบาท)

หลายคนอาจคิดว่าสามารถบริจาคเสื้อผ้าเก่าให้กับผู้ยากไร้ เสื้อผ้าที่ถูกทิ้งคงไม่สร้างผลกระทบอะไรมากมาย แต่แท้จริงแล้วธุรกิจแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อเสื้อผ้าใหม่นี้เองที่กำลังสร้างปัญหาอย่างคาดไม่ถึง

การบริจาคทำให้ผู้คนรู้สึกดีและในหลายๆ ประเทศยังมีผู้ยากไร้ที่ต้องการเสื้อผ้าบริจาค แต่ในหลายประเทศ (เช่น สหรัฐอเมริกา) ความต้องการเสื้อผ้ามือสองเทียบไม่ได้กับความรวดเร็วในการผลิต (เสื้อผ้ามือสอง) องค์กรที่ดูแลคนไร้บ้านและผู้มีรายได้น้อยในวอชิงตัน ดีซีถึงกับออกประกาศว่าไม่สามารถรับบริจาคได้อีกแล้วเนื่องจากมีปริมาณเสื้อผ้าเกินความต้องการ

ขณะที่การบริจาคข้ามทวีปไปยังแอฟริกาก็ไม่สามารถแก้ปัญหาขยะเสื้อผ้าได้ทั้งหมด Trans-Americas องค์กรที่รับบริจาคเสื้อผ้าไปยังแอฟริการะบุว่าร้อยละ 30 ของเสื้อผ้าบริจาคเป็นเสื้อยืดและเสื้อโปโล ซึ่งจะถูกตัดเป็นเศษผ้าสำหรับร้านยานยนต์ อีกร้อยละ 20 ของเสื้อผ้าบริจาคเป็นของขาดหรือมีตำหนิ จะถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและส่งไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตพรมปูพื้น ซึ่งระบบ fast fashion ทำให้เสื้อผ้าที่ผลิตจากโพลีเอสเตอร์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ด้วยคุณภาพที่ต่ำเสื้อผ้าเหลือทิ้งเหล่านี้ส่วนใหญ่จึงถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมดังที่กล่าวมา ซึ่งมีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ

อุปสงค์เสื้อผ้าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเกิดใหม่ เช่น เอเชียและแอฟริกา ในอีก 30 ปีข้างหน้า ยอดขายเสื้อผ้าทั้งหมดจะแตะระดับ 160 ล้านตัน หรือคิดเป็น 3 เท่าของปริมาณ ณ ปัจจุบัน แน่นอนว่าขนาดผลกระทบเชิงลบก็เติบโตตามไปด้วย หากอุตสาหกรรมยังคงดำเนินต่อไปในรูปแบบเดิม ภายในปี 2050 เราจะผลาญทรัพยากรที่ใช้ผลิตเสื้อผ้ามาถึง 300 ล้านตัน (เพิ่มจาก 98 ล้านตันในปี 2015) สัดส่วนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มจาก 2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2015 เป็น 26 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มที่จะปล่อยไมโครไฟเบอร์ลงสู่มหาสมุทรเพิ่มขึ้น 22 ล้านตัน

recycle, บริจาค, impact of the textiles Industry

แน่นอนว่าการจัดการกับการบริโภคที่เกิดขีดจำกัดเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการลดผลกระทบของอุตสาหกรรม การใช้เสื้อผ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยับยั้งการบริโภคเกินจำเป็นอยู่ในวิสัยที่เราจะทำได้และเป็นความรับผิดชอบของเราทุกคน ฝั่งผู้ผลิตเองก็เผชิญความท้าทายในการปรับปรุงวิธีปฏิบัติของอุตสาหกรรม ทั้งยังเผชิญความเสี่ยงต่อชื่อเสียงของแบรนด์และแนวโน้มด้านกฎระเบียบที่จะเข้มงวดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อผลกำไรของธุรกิจหากไม่สามารถปฏิบัติตามได้

ในตอนหน้ามาติดตามกันว่ามิติใหม่ของอุตสาหกรรมสิ่งทอตามแนวทางเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ซึ่งเป็นความพยายามจากฝั่งผู้ผลิต จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้อย่างไร

อ้างอิง

https://www.newsweek.com/2016/09/09/old-clothes-fashion-waste-crisis-494824.html

https://www.ellenmacarthurfoundation.org/assets/downloads/publications/A-New-Textiles-Economy_Full-Report.pdf

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save