fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนพฤศจิกายน 2562

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนพฤศจิกายน 2562

 

 

 

“สิ่งที่สร้างความแตกต่างในชีวิตของเด็กไม่ใช่ของเล่นในบ้าน แต่เป็นคำศัพท์ในหัวสมองของพวกเขา”

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“…ผู้ปกครองร้อยละ 63.8 ยังขาดความเข้าใจในเรื่องการอ่านหนังสือของเด็กเล็ก โดยมองว่าเด็กมีอายุน้อยเกินไปจึงยังไม่ควรอ่านหนังสือ เพราะฉะนั้นเราจะมีเด็กราว 1.1 ล้านคน ที่สูญเสียโอกาสการอ่านไปอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่ได้รับการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านจากผู้ปกครองตั้งแต่ยังเล็ก”

“มีรายงานสำคัญชิ้นหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ในปี 1985 ชื่อ Becoming a Nation of Readers ที่สรุปว่าเครื่องมือสำคัญที่สุดในการพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนของเด็กคือ ‘การอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง’ มาจนถึงวันนี้เครื่องมืออันแสนเรียบง่ายและเก่าแก่ที่สุดก็ยังใช้ได้ผลดีอยู่”

“มีงานวิจัยของ ดร.เบตตี้ ฮาร์ต (Betty Hart) และ ดร.ท็อด ริสลีย์ (Todd Risley) จากมหาวิทยาลัยแคนซัส ที่สะท้อนเรื่องต้นทุนการเรียนรู้ได้อย่างชัดเจน ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Meaningful Differences in the Everyday Experience of Young American Children

พวกเขาศึกษาชีวิตประจำวันของเด็กอเมริกันจาก 42 ครอบครัว ในกลุ่มวิจัยนี้มีเด็กบางคนที่เรียนรู้เร็วกว่าเพื่อนมาก ขณะที่บางคนก็เรียนรู้ช้ากว่าเพื่อนมาก เมื่อวิจัยอีกครั้งตอนพวกเขาอายุ 9 ขวบ ความแตกต่างก็ยังเหมือนเดิมอยู่ คำถามคืออะไรเป็นปัจจัยที่สร้างความแตกต่างนี้”

“ฮาร์ตและริสลีย์ แบ่งตัวแทนจากกลุ่มทางเศรษฐกิจเป็น 3 กลุ่ม คือ ชนชั้นพึ่งสวัสดิการ ชนชั้นแรงงาน และชนชั้นวิชาชีพ ในเบื้องต้นทุกครอบครัวเลี้ยงดูเอาใจใส่ลูกดีไม่ต่างกันมากนัก แต่เมื่อมีการเก็บข้อมูลจากจำนวนคำประจำวันของเด็กแต่ละกลุ่มจนครบ 4 ปีก็พบความแตกต่าง คือ เด็ก 4 ขวบจากชนชั้นวิชาชีพได้ยินคำศัพท์ 45 ล้านคำ เด็กจากชนชั้นแรงงานได้ยินคำศัพท์ 26 ล้านคำ และเด็กชนชั้นพึ่งสวัสดิการได้ยินคำศัพท์เพียง 13 ล้านคำ”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เขียนถึงประโยชน์ของการอ่านออกเสียงให้ลูกฟัง และการสมดุลระหว่างหนังสือกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีพ่อแม่เป็นตัวละครสำคัญ

 

 

ทำไมต้องเลิกเชื่อว่าสุโขทัยเป็นอาณาจักรแรก

 

โดย สนิทสุดา เอกชัย

สนิทสุดา เอกชัย วิพากษ์มรดกลัทธิชาตินิยม อธิบายเส้นทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่เกิดจากการรวมกันของหลายเชื้อชาติ ไม่ได้มีแต่ ‘เชื้อชาติไทย’ เท่านั้น และสุโขทัยก็ไม่ใช่อาณาจักรแห่งแรกอย่างในตำราเรียนประวัติศาสตร์

“ไม่ใช่รัฐสุโขทัยไม่สำคัญ หรือไม่ใช่ไทย แต่ความเชื่อเรื่องสุโขทัยเป็นอาณาจักรแรกนี้เป็นผลผลิตของลัทธิชาตินิยมในช่วงที่สยามเผชิญหน้ากับพวกล่าอาณานิคมตะวันตกอย่างหนัก จึงจำเป็นต้องใช้หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในสุโขทัยช่วงนั้น มายืนยันว่าสยามเป็นราชอาณาจักรของชนชาติไทต่อเนื่องมาเนิ่นนาน จากสุโขทัย มาอยุธยา จนมาถึงรัตนโกสินทร์ เพื่อให้พวกล่าอาณานิคมต้องยอมรับประวัติศาสตร์และอธิปไตยกรุงสยาม

“ในยุคนั้นความเชื่อนี้อาจมีประโยชน์ทางการเมือง ต้านการล่าอาณานิคม รับใช้การสร้างชาติ สร้างรัฐสมัยใหม่ แต่ก็สร้างปัญหามากในเวลาต่อมา”

“มายาคติเรื่องเชื้อชาติไทย อาณาจักรไทย ทำให้เรามองไม่เห็นความเป็นจริง คือความหลากหลายของชาติพันธุ์ในพื้นที่ ทำให้มองคนลาว เขมร มอญ มุสลิม หรือคนจีน ว่าเป็น ‘คนอื่น’ ทั้งๆ ที่ส่วนมากตั้งรกรากที่นี่มาหลายร้อยปี ทำให้เหยียดชนพื้นเมืองที่อยู่ในป่าหรือชายแดนว่าเป็น ‘คนป่า’ และใช้อำนาจบาตรใหญ่กระทำย่ำยีเขาตามอำเภอใจ เพราะถือว่าไม่ใช่คนไทย

จึงเกิดความขัดแย้ง บ้านเมืองร้อนระอุ ปะทุเป็นความรุนแรง ผู้คนล้มตายไปมากมาย เพราะการเหยียดชาติพันธ์ุอื่นนี่แหละ

“มายาคติเรื่องอาณาจักรรวมศูนย์ ยังกดทับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำลายความมั่นใจในตัวตนและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ บังคับให้ท้องถิ่นมองไปยังศูนย์กลางอำนาจแต่อย่างเดียว

“ประชาธิปไตย หรือการกระจายอำนาจเกิดยากก็เพราะอำนาจวัฒนธรรมครอบงำแบบนี้แหละ”

 

 

สถาบันพระมหากษัตริย์จะมั่นคงยั่งยืนได้ ต้องอยู่เหนือการเมือง

 

โดย สมชัย สุวรรณบรรณ

สมชัย สุวรรณบรรณ Senior Teaching Fellow, SOAS, University of London และอดีตผู้อำนวยการไทยพีบีเอส นำเสนอแนวทางการธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงและยั่งยืน นั่นคือ สถาบันฯ ต้องไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทุบทำลายทางการเมือง

……….

“ในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะก่อนและหลังเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562 มีการสร้างกระแสพารานอยด์จากกลุ่มอำนาจนิยมที่แอบอิงกับขุมผลประโยชน์ใน deep state โดยไฮแจ็กสถาบันพระมหากษัตริย์ไปสร้างค่านิยมย้อนยุคแบบยุคกลาง (medieval) แล้วผูกขาดความถูกต้องของตนฝ่ายเดียว และพยายามดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งในทางหลักการนั้นต้องอยู่เหนือการเมืองแบบ party politics ให้โน้มลงมาจนเป็นกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มการเมืองที่มีแนวคิดแตกต่างไปจากอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง
.
“อย่างที่อาจารย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เคยเตือนสังคมไทยไว้ว่า “การเมืองเป็นเรื่องที่ทำให้มีคนรักคนชัง–สถาบันฯ จะต้องอยู่เหนือการเมือง” ดังนั้นการดึงเอาสถาบันฯ ลงมาในสนามการเมืองก็ย่อมทำให้มีคนรักและคนชัง มิพักต้องพูดถึงว่าข่าวสารจากเมืองไทยที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ย่อมก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่สื่อสารมวลชนและนักวิชาการในแวดวงไทยคดีศึกษาในสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลก รวมไปถึงในวงสนทนาของสมาชิกราชวงศ์ นักการทูตระดับสูง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศต่อประเทศไทย
.
“อาการหมกมุ่นเหมือนผงเข้าตาในกลุ่มการเมืองที่ต้องการทำลายล้างพรรคอนาคตใหม่ เป็นปรากฏการณ์ที่ทั่วโลกสนใจ ทั้งในเรื่องการนำเอาสถาบันฯ มาใช้เป็นเครื่องมือทุบทำลาย หรือความพยายามที่สื่อมวลชนบางสำนักส่งเสียงกดดันสถาบันตุลาการให้โน้มเอียงไปตามอารมณ์ความรู้สึกของตน ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ และเท่ากับเป็นการบั่นทอนพระเกียรติยศ (prestige) ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในต่างประเทศ”

……….

“หากเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองในต่างประเทศแล้ว นักการเมืองในพรรคอนาคตใหม่ก็มีพื้นฐานไม่ต่างจากบรรดานักการเมืองในหลายประเทศที่มาจากพวกชนชั้นกลางในเมือง ถ้าเทียบกับอังกฤษที่บริหารประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคอนาคตใหม่ก็น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มสายกลางอย่าง Liberal Democrats มากกว่าพรรคเอียงซ้ายแบบ Labour Party ซึ่งมีหัวหน้าพรรคอย่าง Jeremy Corbyn ผู้ที่น่าจะเข้าข่าย ‘ซ้ายดัดจริต’ ในความหมายของผู้นำกองทัพไทยเสียด้วยซ้ำ
.
“แต่ทว่าที่อังกฤษ คงไม่มีใครกล่าวหานาย Corbyn ที่มีตำแหน่งทางการว่า Leader of Her Majesty’s Most Loyal Opposition หรือ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ว่าหนักแผ่นดิน หรือคงไม่มีมีสื่อเลือกข้างยุยงให้เอาไปตัดหัวเพราะล้มเจ้า
.
“อาการ ‘คลั่งขนบ’ ของผู้คนบางกลุ่มในสังคมไทยขณะนี้ ดูเหมือนจะเป็นการสร้างปมเขื่องให้กับตัวเองและพรรคพวกเพื่อเอาไว้อวดอ้างความจงรักภักดี และเพื่อจะปกป้องหม้อข้าวตัวเอง ถ้าใครทำตัวผิดไปจาก ‘ขนบ’ นี้ ก็จะถูกตัดสินว่าไม่มีความเป็นไทย ไม่รักชาติ ไม่รักสถาบันฯ แต่ความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นก็คือพฤติกรรมของพวกเขาอาจกลายเป็นการบ่อนทำลายสิ่งที่พวกเขาอ้างว่าเทิดทูนเสียเอง”

 

 

ทำไมเราไม่มีความสุขเท่าที่เราคิด : คุยเศรษฐศาสตร์ความสุขกับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“ในสังคมไทย คนที่มีฐานะดีกว่าอีกคนมีความสุขมากกว่า เพราะสถานะเขาดีกว่า เราพูดเป็นการจัดอันดับแล้วกัน การขยับจากอันดับ 3 ไปอันดับ 2 ของคนในประเทศไทยทำให้มีความสุขมาก จากการเขยื้อนแค่อันดับเดียว เพราะเราอยู่ในสังคมที่ถ้าคุณอยู่สูง คุณสุดยอดมากๆ

“แต่เมื่อเทียบกับคนในยุโรป หรือคนในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำต่ำกว่า การขยับระหว่าง 3 ไป 2 เขาไม่ค่อยแคร์ เพราะชีวิตก็เท่าๆ กัน คุณจบดอกเตอร์ ไม่สน แต่ที่ไทยถ้าจบดอกเตอร์ ทุกคนต้องรู้ว่าผมจบดอกเตอร์ (หัวเราะ) ซึ่งเป็นข้ออธิบายว่า ทำไมคนในประเทศไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากอันดับต้นๆ ของโลก ถึงโอเคกับความเหลื่อมล้ำ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนเชื่อว่าถ้าสามารถเลื่อนอันดับสูงขึ้นได้ ผลลัพธ์ของความสำเร็จที่ตามมาก็จะสูงมากๆ ปัญหาคือคนที่เลื่อนลง ก็จะได้รับความทุกข์ที่สูงมากเช่นกัน”

“…เราเอากบเข้าไปในกะลา กบไม่รู้เลยว่าภายนอกมีอะไรบ้าง กบก็อาจจะมีความสุขของตัวเองก็ได้ แต่นั่นคือความสุขจริงหรือไม่จริง เป็นความสุขที่ยั่งยืนรึเปล่า ทีนี้เราต้องดู objective indicators ไปด้วย เช่น สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ กบในกะลาอาจจะมีชีวิตน้อยกว่ากบที่อยู่ข้างนอกก็ได้ ถึงแม้ว่าความสุขผลจะออกมาเท่ากัน”

“คนเรามีปัจจัยที่เป็นตัวทำนายความสุขแตกต่างกัน หนึ่ง คือปัจจัยภายนอก เช่น เงิน พวกนี้จะมีพลังในการอธิบายความสุขของเราประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นทัศนคติของเรา และอีก 50 เปอร์เซ็นต์เป็นยีน เหมือนว่า 50 เปอร์เซ็นต์นั้นเราถูกลอตเตอรี่มารึเปล่า เขาเรียกว่า genetic lottery แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเรามีความสุขไม่ได้”

101 คุยกับ เบียร์ – ณัฐวุฒิ เผ่าทวี นักวิชาการไทยคนแรกที่ศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์ความสุขอย่างลึกซึ้ง ปัจจุบันเขาเป็นศาสตราจารย์วิจัย Behavioural Science ที่ Warwick Business School โคเวนทรี ประเทศอังกฤษ

คุยยาวๆ ว่าด้วยเรื่องเราจะวัดความสุขได้อย่างไร ความสุขเป็นเรื่องสากลไหม ต้นทุนของความสุขมาจากไหน แล้วเราใช้จ่ายความสุขได้ด้วยอะไร คำถามที่เศรษฐศาสตร์ความสุขมีคำตอบ

 

 

หญิงผู้ครองใจป๋วย: 100 ปีชาตกาล มาร์เกรท อึ๊งภากรณ์

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

“ผมคิดว่าถ้าอาจารย์มีภรรยาไม่ใช่แหม่มคนนี้ อาจารย์คงเป็นคนดีไม่มากเท่านี้” – อรัญ ธรรมโน ลูกศิษย์และลูกน้องของป๋วย อึ๊งภากรณ์

กษิดิศ อนันทนาธร เล่าเรื่องราวของ มาร์เกรท สมิธ อึ๊งภากรณ์ หญิงผู้ครองใจและอยู่เคียงข้างบุรุษผู้ยิ่งใหญ่อย่าง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก่อนถึงวาระ 100 ปีชาตกาลของเธอ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นี้

“มาร์เกรทเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง แน่วแน่ในความคิด และกล้าหาญ เห็นได้ชัดจากการต่อต้านสงคราม ที่เธอไม่ยอมทำงานช่วยแนวหลังในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วเลือกไปทำงานสังคมสงเคราะห์แทน

“อาจกล่าวได้ว่า เธอต่อต้านสงครามจนตลอดชีวิต ดังเมื่อปี 2546 มาร์เกรทในวัย 84 ปี ก็ไปร่วมประท้วงเพื่อต่อต้านสงครามอิรัก”

“เธอรักเมืองไทย และอาศัยอยู่ที่นี่เป็นเวลาหลายปี แต่เกลียดทหารเผด็จการที่มักแทรกแซงการเมืองไทย เกลียดการทุจริตคอรัปชั่น และการที่ผู้น้อยต้องหมอบคลานต่อผู้ใหญ่”

“เธอไม่เชื่อในศาสนา และเกลียดความงมงายทุกรูปแบบ เช่น ที่บ้านซอยอารีย์ เธออยากรื้อศาลพระภูมิทิ้ง แต่ก็ให้อิสระแก่ลูกๆ ทั้งสามว่าควรให้เรียนรู้เรื่องศาสนาต่างๆ แล้วตัดสินใจเองว่าจะสมาทานสิ่งใด”

“หลังจากป๋วยเส้นเลือดในสมองแตกในปี 2520 และฟื้นตัวขึ้นแล้ว แต่เขาก็เขียนเองไม่ได้ คือ คิดคำไม่ออก แต่ลอกได้ งานเขียนที่เป็นลายมือของป๋วยด้วยมือซ้ายในช่วงหลัง หลายอย่างเธอร่างให้แล้วให้ป๋วยเขียนตาม”

 

 

ทำไมอาจารย์กฎหมายจึง ‘อยู่เป็น’ ภายใต้อำนาจรัฐประหาร

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

การรัฐประหาร 2557 ส่งผลโดยตรงต่อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สร้างผลกระทบต่อหลักวิชานิติศาสตร์เป็นอย่างมาก แต่บรรดาอาจารย์กฎหมายกลับพากันเงียบงันอย่างพร้อมเพรียง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ตอบคำถามว่าอะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์อาจารย์กฎหมาย ‘อยู่เป็น’ โดยไม่มีการแสดงออกเพื่อปกป้องหลักการทางกฎหมายที่พร่ำสอนต่อลูกศิษย์ทั้งในห้องเรียน ตำรา หรือแม้กระทั่งในวิชาชีพของตน

นอกจากปัจจัยส่วนตัวแล้ว ยังมีปัจจัยเชิงโครงสร้างคือระบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคงของอาจารย์มหาวิทยาลัยและระบบการศึกษานิติศาสตร์ ‘แบบอาณานิคม’ ที่มีส่วนให้หลายคนเลือกที่จะ ‘อยู่เป็น’

“ต่อให้มีสถาบันการศึกษากฎหมายเกิดขึ้นอีกเป็นร้อยแห่งพันแห่งในสังคมไทย แต่ตราบเท่าที่ยังไม่อาจสลัดหลุดจากระบบการศึกษานิติศาสตร์แบบอาณานิคม ก็ยากที่จะหวังว่าเสียงจากหลักวิชาการทางกฎหมายจะก้องกังวานในสังคมแห่งนี้”

 

 

หุบเขาเร้นรัก : ดิว ไปด้วยกันนะ

 

โดย นรา

ดิว ไปด้วยกันนะ เป็นหนังไทยที่นำความขัดแย้งระหว่างตัวบุคคลกับสังคมรอบข้างมาใช้ได้ดีมากๆ ด้านหนึ่งอาจจะเห็นถึงความจงใจอยู่บ้าง แต่ควรต้องให้เครดิตที่นำเสนออกมาได้คมชัด เข้าใจง่าย และไม่ยัดเยียดจนเกินเลย

หนังมีแง่มุมว่าด้วยตัวละครที่มีบาดแผลในวัยเยาว์ และได้รับโอกาสหรือเจอะเจอสถานการณ์ ที่ทำให้หวนกลับไปทบทวนรื้อฟื้นความหลัง เผชิญหน้ากับความทรงจำทั้งดีและร้าย และคลี่คลายสะสางเงื่อนปมต่างๆ ทั้งการสลับเปลี่ยนบทบาทระหว่างการเป็นผู้กระทำและฝ่ายถูกกระทำ ทั้งการเป็นผู้รับและผู้ให้ การขับเคี่ยวกับความรู้สึกผิดในอดีต และที่สำคัญคือ การเรียนรู้จนนำไปสู่ความกล้าที่จะตัดสินใจเลือก ‘เป็นตัวเอง’ แทนการ ‘อยากจะเป็นเหมือนคนอื่น’

แง่มุมต่อมา คือ การให้น้ำหนักไปยังเรื่อง ‘รักแท้’ ที่อยู่เหนือและก้าวข้ามเรื่องการมีสถานะทางเพศ

ทั้ง 2 ประเด็นข้างต้น บอกเล่าผ่านการเล่นกับ ‘เวลา’ และ ‘สถานที่’ ซึ่งอาจต้องยกประโยชน์ความดีความชอบให้กับหนังเกาหลีที่เป็นต้นเรื่องเดิม แต่กล่าวเฉพาะแวดวงหนังไทย ดิว ไปด้วยกันนะ ก็เป็นหนังอีกเรื่องที่ใช้ประโยชน์จากเวลาและสถานที่ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และโดดเด่นมีประสิทธิภาพมากๆ

คอลัมน์ Deep Focus เดือนนี้ ‘นรา’ เขียนถึงหนังไทยที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งในนาทีนี้ ‘ดิว ไปด้วยกันนะ’ ว่าด้วยความสัมพันธ์ชาย-ชายในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตัวละครต้องต่อสู้กับอคติของคนในสังคมอย่างสาหัส

 

 

“ชีวิตคนจนมีมูลค่าเท่าไหร่?” เปิดเมนูอร่อยจากสารพิษในสวน ความตายในทุ่งนา

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

ในอาหารมื้ออร่อยของคุณมีใครกำลังถูกเอาเปรียบอยู่หรือเปล่า?

วจนา วรรลยางกูร ชวนคิดต่อจากการชมสารคดี Bananas!* ที่ฉายภาพอันตรายจากการใช้ยาฆ่าแมลงอย่างมหาศาลและไร้ความรับผิดชอบของบริษัทผลิตอาหารข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ทั้งที่รู้ว่าเป็นสารเคมีที่ถูกแบนในสหรัฐอเมริกาแต่ก็นำเข้ามาใช้กับสวนกล้วยในนิการากัวจนส่งผลต่อสุขภาพคนงาน

เมื่อสารคดีเผยแพร่ Fredrik Gertten ผู้กำกับสวีเดนถูกบริษัทดังกล่าวฟ้องหมิ่นประมาททั้งที่ยังไม่เคยดูสารคดีมาก่อน จนเขาทำสารคดีเรื่องต่อมา Big Boys Gone Bananas!* เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการถูกฟ้องที่เขาเผชิญ

การฟ้องปิดปากเป็นวิธีที่ถูกนำมาใช้ทั่วโลกเพื่อปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชน และเป็นอุปสรรคต่อการเรียกร้องให้บริษัทที่ขาดความโปร่งใสแก้ปัญหาที่เกิดจากธุรกิจของพวกเขา

หากจะมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นในนิการากัว สวีเดน หรือสหรัฐอเมริกายังเป็นเรื่องไกลตัว ให้ลองนึกดูว่าปัญหาทั้งหมดนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

 

 

มหากาพย์แห่งการขอลิขสิทธิ์ และชีวิตใหม่ของ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“มันเป็นความยุ่งยากที่จำเป็น เพื่อให้ระบบแบบนี้ยังคงอยู่ พูดง่ายๆ คือ ถ้านักเขียนไทยต้องการแปลงานเป็นภาษาอื่นๆ เขาก็ควรมาติดต่อลิขสิทธิ์กับเราอย่างถูกต้องด้วย” – วรงค์ หลูไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์บทจร

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เขียนถึงชีวิตใหม่ของนวนิยาย ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ เวอร์ชั่นล่าสุด โดยสำนักพิมพ์ บทจร พร้อมเจาะลึกมหากาพย์แห่งการขอลิขสิทธิ์ที่ยืดเยื้อเป็นสิบปี

นี่คือครั้งแรกที่ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ได้รับการแปลเป็นไทยจากต้นฉบับภาษาสเปน และเป็นเวอร์ชั่นแรกที่ได้รับลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง

“หากพิจารณาทั้งในแง่กระบวนการขอลิขสิทธิ์ เรื่อยมาจนถึงกระบวนการแปล อาจกล่าวได้ว่า ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ในเวอร์ชั่นของสำนักพิมพ์บทจร ถือเป็นการสร้างหมุดหมายและบรรทัดฐานใหม่ของการผลิตงานวรรณกรรมแปลในประเทศไทย โดยเฉพาะในแง่ของการฝ่าด่านเรื่องลิขสิทธิ์ในงานของมาร์เกซ ซึ่งเป็นเสมือนหลุมดำที่พรางตัวอยู่ท่ามกลางวงการหนังสือมาหลายทศวรรษ

นอกจากเรื่องราวของหนังสือ อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าตื่นเต้นของ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ซึ่งได้รับการประกาศออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็คือการนำวรรณกรรมชิ้นเอกเรื่องนี้ไปสร้างเป็นซีรีส์ใน Netflix อำนวยการสร้างโดย โรดริโก การ์เซีย บุตรชายแท้ๆ ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ โดยจะถ่ายทำในประเทศโคลัมเบีย เป็นภาษาสเปน

บุตรชายของมาร์เกซ ให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ว่า ‘สำหรับผม น้องชาย และแม่ นี่ไม่ใช่การตัดสินใจที่ยุ่งยาก พวกเรารู้สึกเหมือนว่าเรื่องราวอันยิ่งใหญ่บทใหม่ได้เปิดฉากขึ้นแล้ว พร้อมๆ กับการปิดฉากลงของมหากาพย์อันยาวนานก่อนหน้านี้'”

 

 

Vaginismus – กายภาพของความกลัวเมื่อต้องสอดใส่

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

คอลัมน์ Sex Appear ตอนใหม่ ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เขียนถึง ‘Vaginismus’ หรือสภาวะช่องคลอดหดเกร็ง เนื่องจากความกลัว ผ่านบทสนทนาของผู้หญิงที่มีเซ็กซ์ไม่ได้

“ความกลัวของอายนั้นทำให้เธอบอกว่ารู้สึกเจ็บเหมือนกับ ‘แทงกรรไกร’ เข้าไป แม้ฝ่ายชายจะเล้าโลม สร้างบรรยากาศหวามไหวให้อย่างดี แต่เมื่อถึงขั้นสอดใส่ ก็เป็นต้องยกเลิกกลางคันแทบทุกครั้ง”

“เหมือนร่างกายมันไม่เอาอย่างเดียว คือกลัวจนไม่มีน้ำหล่อลื่น แล้วก็เจ็บ เสียดมากมึง”

“Vaginismus หรือ สภาวะช่องคลอดหดเกร็ง เกิดจากการหดตัวอย่างรุนแรงของกล้ามเนื้อบริเวณปากช่องคลอด เกร็งอย่างที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ สภาวะนี้ไม่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ เช่น เยื่อพรหมจารี หรือระบบสืบพันธุ์ แต่เป็นผลที่สืบเนื่องจากจิตใจโดยตรง”

“ผู้ที่พบปัญหา Vaginismus จะเจ็บเมื่อมีการสอดใส่ ไล่ระดับไปตั้งแต่สอดใส่ได้แต่เจ็บ ไม่มีความสุข ไม่รู้สึกถึงอารมณ์ทางเพศ หรือกระทั่งไม่สามารถสอดใส่ได้ ไม่ใช่แค่เพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว แต่พวกเธอบางคนอาจไม่สามารถใส่ผ้าอนามัยแบบสอด หรือไม่สามารถเข้ารับกระบวนการทางการแพทย์เมื่อตรวจภายใน”

 

 

‘เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ’ การเมืองในละคร และ ‘คณะราษฎร’ ผู้รับบทตัวร้ายตลอดกาล

 

“ชิงสุกก่อนห่าม ใจร้อน รุนแรง หัวนอก ไม่เข้าใจเมืองไทย”ชุดคำพูดที่ใช้โต้แย้งการกระทำและวิธีคิดของคณะราษฎร ยังเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้กับผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในปัจจุบันวาทกรรมเหล่านี้แทรกซึมอยู่ในสื่อต่างๆ รวมถึงละครโทรทัศน์ที่ฉายภาพคณะราษฎรในรูปแบบของตัวร้ายและสะท้อนผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในแง่ลบ

วจนา วรรลยางกูร คุยกับ เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ ผู้อำนวยการหลักสูตร BMCI วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงภาพของคณะราษฎรที่ปรากฏผ่านละครในฐานะ ‘ตัวร้าย’ การเมืองในละครหลังข่าว และทิศทางความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมละครไทยที่อาจนำไปสู่พื้นที่ของเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น

“เมื่อคนพูดถึงคณะราษฎรในฐานะที่ไม่ได้เป็นแค่คณะราษฎรในประวัติศาสตร์ แต่เป็นตัวแทนของคนบางกลุ่มที่อาจจะรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนแปลงประเทศไทยแบบถอนรากถอนโคน เลยทำให้คณะราษฎรถูกนำเสนอในด้านลบ”

“เป้าหมายของละครส่วนใหญ่คือเพื่อธุรกิจ เขาจะทำให้มันเข้มข้นขึ้นเพื่อให้คนดูสนุก แต่ความสนุกนั้นมาด้วยการทำให้เกิดตัวร้ายที่เห็นชัด บทบาทสำคัญกลายไปตกอยู่ที่คณะราษฎร

“กระแสการเมืองและกระแสสังคมในช่วงหลังมีคนส่วนหนึ่งมองว่าคณะราษฎรเป็นสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้ายที่ทำให้ตกหลุมอยู่ในประชาธิปไตยจอมปลอมอยู่นาน สิ่งเหล่านี้ผสมรวมกันจนทำให้ภาพของคณะราษฎรเป็นแบบนี้”

 

 

อินเดีย-จีน ไม่ลงรอยกันจริงหรือ?

 

โดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

จากที่อินเดียขอเจรจา RCEP เพิ่มเติม อาจทำให้อินเดียเป็นประเทศเดียวที่ไม่สามารถลงนามความตกลงนี้ได้ในช่วงต้นปีหน้าหรืออาจถอนตัวไปเลย หลายคนมองว่าเพราะอินเดียกลัวว่าจะทำให้อิทธิพลจีนขยายเข้ามาในเอเชียใต้มากขึ้น

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก พาไปไขข้อสงสัยถึงความสัมพันธ์ อินเดีย-จีน ที่ดูจะมีภาพกระทบกระทั่งกันเรื่อยมาโดยเฉพาะเรื่องพรมแดน แต่ที่จริงแล้วสองประเทศนี้มีความสัมพันธ์แบบ ‘เพื่อนรัก-เพื่อนร้าย’ มากกว่า

“เศรษฐกิจอินเดียยังคงพึ่งพาจีนอยู่หลายภาคส่วน และอินเดียต้องการลดการขาดดุลทางการค้าดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องยากที่อินเดียจะไม่แยแสจีน และเช่นเดียวกันกับจีน ด้วยความผูกพันทางเศรษฐกิจ รวมถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างสองผู้นำที่ทวีความสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องยากที่ทั้งสองประเทศนี้จะเปิดฉากปะทะกัน”

“แนวโน้มที่น่าจะเห็นมากที่สุดคงจะเป็นทั้งอินเดียและจีนจับมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียเพื่อต่อต้านสงครามการค้าที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ก่อ เพราะผลกระทบดังกล่าวไม่ใช่มีเพียงจีนเท่านั้นที่ต้องแบกรับมัน แต่รวมถึงอินเดียที่เป็นคู่ค้ารายต่อไปที่สหรัฐอเมริกาต้องการเล่นงานด้วย”

 

 

พระองค์จะทิ้งสิ่งใดไว้ให้เรา? : การเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส กับมุมมองของ ‘คนในบ้าน’ ของคุณพ่ออนุชา ไชยเดช

 

โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง และ สมคิด พุทธศรี

การมาเยือนไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสมีความหมายอย่างไร ศาสนาคริสต์ปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกร่วมสมัยอย่างไร

101 คุยกับ คุณพ่ออนุชา ไชยเดช ผู้ช่วยเลขาธิการสภาพระสังฆราชฯ ฝ่ายสื่อสารสังคม และเลขาธิการคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสื่อมวลชน ในฐานะผู้ดูแลสื่อมวลชนคาทอลิก ในวาระที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จเยือนไทย ในวันที่ 20- 23 พฤศจิกายน 2562 ว่าด้วยมุมมองต่อพระองค์ การเตรียมงาน และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ในโลกและประเทศไทย

“องค์กรศาสนาเป็นเรื่องความเชื่อ เป็นเรื่องศรัทธา เป็นเรื่องพระเรื่องเจ้า แต่เราอย่าลืมว่าสิ่งเหล่านี้ได้รับดูแล ปกครอง ดำเนินการภายใต้มนุษย์ เพราะฉะนั้นข้อบกพร่องมีแน่ เพราะมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาให้เป็นเทวดาหรืออย่างอื่น แต่เราจะจัดการยังไง เราจะมีมาตรการหรือมาตรฐานอย่างไร

“เพราะฉะนั้น พระสันตะปาปาจึงพยายามเรียกความเชื่อมั่นกลับคืน เราจึงเห็นว่าสถิติมันโต้กลับ คือคนที่ทิ้งวัดไป คนยุโรป คนอเมริกาก็เริ่มกลับมา เพราะเขาคงรู้สึกว่าวัด ศาสนา หรือศรัทธาเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความมั่นใจคืนกลับมาก่อน”

“…พระองค์เลือกประเทศไทย เพราะพระองค์คิดว่าเป็นประเทศที่มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา… เป็นประเทศที่เมื่อพระองค์มาที่นี่แล้วจะทำให้คริสตศาสนิกชนคนไทยเข้มแข็งขึ้น จะได้ทำให้สังคมไทยมองเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติอย่างแท้จริงโดยชีวิตของพระองค์”

“ผมต้องตอบคำถามว่าโป๊ปมาทำไมบ่อยมาก ผมก็มักจะตอบไปซ้ำๆ ว่าจริงๆ แล้วพระสันตะปาปาก็เป็นผู้ใหญ่คนนึงที่มาเยี่ยมเรา แล้วเราก็คงรู้สึกดีที่เราได้เห็นพระองค์ท่านในมุมไหนก็ตาม

“แต่คำถามสำคัญกว่าก็คือ พระองค์กลับไปแล้วจะยังไง จะเป็นเหมือนคนคนหนึ่งมาเยี่ยมบ้านเราไหม ท่านจะมอบอะไรให้เราระลึกถึง ถ้าจะตอบแบบทันทีทันใด ผมเชื่อว่าจะเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่สร้างความประทับใจให้กับคนไทยไม่มากก็น้อย”

“สิ่งที่เราต้องปรับคือ ต้องทำความเข้าใจกับยุคสมัย ไม่อย่างนั้นคำสอนก็ปรับใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ แต่ก่อน สมมติประเทศไทยมีเรื่องผู้อพยพ แล้วตอนนี้เปลี่ยนแปลงไป ปัญหาเหล่านั้นกลายเป็นความเข้มข้นขึ้นของการค้ามนุษย์ตามตะเข็บชายแดนหรือมีความซับซ้อนเข้าไปอีก สิ่งที่มันเป็นแก่นก็คือปัญหายังอยู่ ต้องมีการแก้ปัญหา แต่ต้องปรับวิธีการ

“สมมติตอนนี้เทคโนโลยีเข้ามา คุณพ่ออาจจะเทศน์ แต่คุณพ่อสามารถทำบทเทศน์ผ่านไอแพดก็ได้ แต่การยอมรับในสังคมไทย การถือไอแพดขึ้นไปแล้วเทศน์ชาวบ้านก็อาจจะงงๆ รับไม่ได้ แต่ถามว่าถ้าเป็นมิสซากลุ่มย่อยคุณพ่อก็ตามสบาย อะไรอย่างนี้ มันจึงมีสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแน่ๆ แต่ว่าต้องปรับ”

 

 

In Memory Of ‘เดือนเด่น นิคมบริรักษ์’ : การต่อสู้กับคอร์รัปชัน การผูกขาด และอธรรมภิบาลภาครัฐ

 

โดย กองบรรณาธิการ The101.world

“การที่ผมเรียกใครว่า ‘อาจารย์’ ไม่ใช่เพราะคนๆ นั้นมีความรู้ แต่เพราะเป็นต้นแบบได้ อาจารย์เดือนเด่นเป็นคนที่มีความเป็นอาจารย์ครบ คือมีความรู้ สามารถเผยแพร่และใช้ความรู้ และเป็นต้นแบบให้คนอื่นได้” – นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.

การจากไปของ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อเช้าวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ไม่ใช่เพียงแค่ความสูญเสียอย่างยิ่งของครอบครัว ญาติ มิตร และเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิดเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงวงวิชาการไทย และสังคมโดยรวม

‘การต่อสู้กับคอร์รัปชัน การผูกขาด และอธรรมภิบาลภาครัฐ’ คือสนามวิชาการของ ‘อาจารย์เดือนเด่น’ ที่โดดเด่นเป็นประจักษ์ และเป็นที่ยอมรับอย่างสูง ทั้งในเชิงปริมาณ อันเนื่องมาจากการทำวิจัยเกาะติดประเด็นอย่างต่อเนื่อง และในเชิงคุณภาพที่เป็นผลมาจากการยึดถือ ‘ผลประโยชน์สาธารณะ’ และ ‘หลักวิชา’ เป็นสำคัญ

101 เก็บความจากเสวนา ‘การต่อสู้กับคอร์รัปชัน การผูกขาด และอธรรมภิบาลภาครัฐ : สนามวิชาการของเดือนเด่น นิคมบริรักษ์’ ในวาระการจากไปของอาจารย์เดือนเด่นเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

“ผมเชื่อว่าอาจารย์เป็นเสรีนิยม อาจารย์เชื่อในการแข่งขันที่มีกติกาที่เป็นธรรม อาจารย์จึงพยายามหาวิธีจำกัดอำนาจรัฐ ลดการผูกขาด นี่คือสิ่งที่อาจารย์เดือนเด่นต่อสู้” – บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)

“เรื่องของทุนผูกขาด อำนาจเหนือตลาด ไม่ค่อยมีคนทำมากนักในประเทศไทย เพราะสุ่มเสี่ยงค่อนข้างมาก แต่งานของอาจารย์ยกตัวอย่างชัดเจน เช่น ยกตัวอย่างชื่อบุคคลเลยว่า นี่คือตัวอย่างของนักธุรกิจที่มาจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ แล้วก็มีสายสัมพันธ์กับคนที่เข้าไปเป็นคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า แล้วก็เชื่อมโยงต่อไปว่าคณะกรรมการนี้สัมพันธ์กับพรรคการเมืองไหน” – สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

“อาจารย์จะไม่ใช้ความเห็นส่วนตัวในการบอกให้คนอื่นทำอะไร แต่จะถามกลับมาก่อนว่า เราต้องการทำสิ่งนั้นหรือเปล่า เรามีตัวเลือกอื่นไหม นี่เป็นบุคลิกที่ทำให้ทุกคนอยากเข้าหาอาจารย์” – บุญวรา สุมะโน นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

 

 

30 ปีกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย โลกเรียนรู้อะไร : สุรชาติ บำรุงสุข

 

โดย สมคิด พุทธศรี

“บางคนตีความว่าสงครามเย็นสิ้นสุดลงในวันที่สหภาพโซเวียตแตก บางคนก็บอกว่าสิ้นสุดในวันที่ผู้นำของทั้งสองฝ่ายออกมาประกาศว่า สงครามเย็นถึงจุดสุดท้ายแล้ว แต่ผมมักจะบอกนิสิตเสมอเวลาสอนเรื่องสงครามเย็นว่า–เรื่องทั้งหมดเริ่มขึ้นที่เบอร์ลิน และจบที่ลงเบอร์ลิน”

สมคิด พุทธศรี ชวน ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข รำลึก 30 ปีการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน และถอดบทเรียน ‘สงครามเย็นในศตวรรษที่ 20’ เพื่อรับมือกับ ‘สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21’

“จริงๆ แล้วสงครามเย็นเริ่มที่เบอร์ลิน เพราะในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่สองกำลังจะสงบ กองทัพสัมพันธมิตรและกองทัพรัสเซียต้องแข่งกันว่าใครจะยึดเบอร์ลินได้ก่อน แต่เพราะเบอร์ลินตั้งอยู่ทางตะวันออกค่อนไปทางโปแลนด์ รัสเซียที่รุกเข้าตีเยอรมนีจากทางโปแลนด์ จึงถึงเบอร์ลินได้ก่อน

แต่รัสเซียเองก็ไม่สามารถเข้าไปควบคุมเบอร์ลินได้หมด สุดท้ายกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตร คือสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส ก็ไปถึง จนเกิดแนวเส้นแบ่ง ถามว่าใครลาก คงลากด้วยสถานการณ์สงคราม เพราะว่ารัสเซียเข้ามาถึงก่อน ถ้าเราเปิดตัวแผนที่ จะเห็นว่าส่วนที่รัสเซียควบคุมไว้จะใหญ่กว่าส่วนที่สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส ควบคุม ยกเว้นแต่จะเอาสามส่วนมารวมกัน

ผมอยากจะเปิดประเด็นหนึ่งว่า สงครามเย็นเกิดซ้อนกับสงครามโลกครั้งที่สอง และเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองจบลง เบอร์ลินก็ถูกแบ่งทันทีด้วยสภาวะทางอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน”

“เรื่องใหญ่ที่สุดคือ การที่สหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจฝ่ายเดียว เพราะมหาอำนาจเดิมไม่มีความเข้มแข็งพอ โลกหลังสงครามเย็นจึงกลายเป็นโลกแบบขั้วอำนาจเดียว (Unipolar) อันนี้น่าสนใจ มองย้อนกลับไปทุกคนรู้ดีว่า การเมืองโลกแบบขั้วเดียวจะอยู่ได้ไม่นาน จึงมีคำถามเกิดขึ้นในยุคนั้นว่า รัสเซียจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาไหม หรือจะเป็นสหภาพยุโรป (EU) หรือจะมีประเทศอื่นที่ขึ้นมาเป็นอีกขั้วอำนาจหนึ่ง แต่วันนี้ชัดเจนแล้วว่า อีกขั้วอำนาจหนึ่งที่ก้าวขึ้นมาคือประเทศจีน

สมมติว่าเกิดสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จริงๆ แล้วจีนตัดสินใจผลิตอาวุธนิวเคลียร์เต็มรูปแบบเพื่อแข่งขันกับสหรัฐฯ คำถามคือ เราจะสามารถมีกลไกการเจรจาเพื่อจำกัดอาวุธ แบบที่โซเวียตกับสหรัฐฯ เคยทำได้หรือไม่ หรือถ้าเราพูดถึงกระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ (Denuclearisation) ของเกาหลีเหนือ แล้วต้องปลดแค่ไหนถึงจะสมบูรณ์ แล้วเป็นไปได้ไหมที่เราจะตั้ง Hotline ไว้ที่วอชิงตัน มอสโก หรือปักกิ่ง ไว้ให้ผู้นำได้เจรจากันโดยตรงอีกครั้งเหมือนในปี 1962”

“อย่างหนึ่งที่ผมเห็นคือ คนไทยไม่สนใจการเมืองภายนอก จริงๆ ต้องบอกว่าคนส่วนใหญ่สนใจการเมืองภายในประเทศมากกว่าทั้งนั้นแหละ แต่เมื่อมองในบริบทของสังคมไทย เราอาจสนใจการเมืองภายในมากเสียจนเราไม่ค่อยรู้ว่า โลกรอบตัวเรา หรือภูมิภาคของเราเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยขนาดไหน และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกระทบหรือมีนัยยะต่อเราอย่างไร

นับจากสมัย ร.5 เราแทบไม่เคยเห็นการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังอีกเลย ถ้าเราเปรียบประเทศเป็นรถยนต์ ก็เป็นรถที่วิ่งด้วยเครื่องยนต์เก่าและใช้คนขับเก่า เป็นรถที่ถูกปะผุไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยมีใครนำรถเข้าอู่ซ่อมหรือยกเครื่องอย่างจริงจัง ขณะที่โลกภายนอกเป็นเหมือนรถสมัยใหม่ที่เปลี่ยนเครื่อง เปลี่ยนคนขับ และเปลี่ยนระบบทุกอย่างไปหมดแล้ว นี่จึงอาจจะถึงเวลาที่เราต้องมาเริ่มถอดบทเรียนกันได้แล้ว”

 

 

Collective Intelligence มนุษย์เราพิเศษอย่างไรในยุค AI

 

โดย สันติธาร เสถียรไทย 

สันติธาร เสถียรไทย เขียนถึง Collective Intelligence หรือการเอาปัญญาของคนหลายคน-หลายรุ่นมาประกอบกัน ทางรอดและแต้มต่อของมนุษย์ ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

“ศาสตราจารย์ Joseph Henrich ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการวิวัฒนาการของมนุษย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ค้นพบว่าสังคมที่เปิดกว้างและมีความเชื่องโยงสูงจะช่วยเสริมการเรียนรู้แบบ social learning ได้มากกว่าการเรียนรู้เดี่ยวๆ หลายเท่า”

“สิ่งที่ทำให้มนุษย์เด่นและอยู่รอดมาได้หลายยุคสมัยมากกว่าสิ่งมีชีวิตใกล้เคียงกัน อาจไม่ใช่ปัญญาของแต่ละบุคคล (Individual Intelligence) แต่เป็น Collective Intelligence หรือที่ขอเรียกว่า “ปัญญาประกิด” เพราะเป็นความฉลาดที่เกิดขึ้นจากการเอาปัญญาของหลายคน-สะสมหลายรุ่นมาประกอบ (ประกิด) ผสมผสานกัน”

“สังคมหรือองค์กรที่ไซโล (Silo) แต่ละแผนก ให้ทำงานแยกไม่สื่อสารกัน หรือที่มีการแบ่งชั้นมาก (Hierarchical) ไม่เพียงแต่จะมีผลลบกับความสามารถขององค์กรเท่านั้น แต่จะลดความสามารถในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลในองค์กรด้วย”

“การศึกษาของอาจารย์เฮนริคอาจชี้ให้เห็นด้วยว่า online community อาจไม่สามารถแทนที่การสร้าง community แห่งการเรียนรู้ในโลกออฟไลน์ได้ทั้งหมด เพราะบ่อยครั้งที่มนุษย์เรียนรู้จากกันและกันโดยไม่รู้ตัวเวลาพบเจอหน้ากัน นอกจากนี้ยังมีคนไม่น้อยที่พร้อมจะเรียนรู้จากคนที่คุ้นเคยมากกว่าจากผู้เชี่ยวชาญที่ไม่รู้จักคุ้นเคย”

“ความหลากหลาย (diversity) ในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญ การทดลองชี้ให้เห็นว่าการเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากการทำตามคนที่เก่งที่สุดเท่านั้น แต่เกิดจากการศึกษาจากคนที่หลากหลายเอามาประกอบกันจนได้เทคนิคใหม่”

 

 

เมื่ออยู่ในขนาดที่พอดี ความงามจะปรากฏ : คุยวัฒนธรรมคอกเทล กับ อติภพ ภัทรเดชไพศาล

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“…เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณคิดว่าเอาอีกแก้วนึงน่ะ นั่นแหละ แปลว่าคุณต้องหยุด เพราะถ้าคุณดื่มแก้วนั้นเข้าไป เมื่อนั้นความฉิบหายจะมาเยือน การเมามักจะเกิดจากความประมาท เฮ้ย อีกแก้วนึง แล้วหลังจากนั้นคุณก็จะคอนโทรลอะไรไม่ได้”

“ตามมารยาทจริงๆ ในสมัยนั้นเขาจะดื่มคอกเทลก่อนอาหาร เรียกว่า cocktail hour ประมาณครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงก่อนอาหาร และไม่ให้ดื่มเกิน 2 แก้ว เพราะจะเมาเกิน ในมื้ออาหารจะมีไวน์อีก และถ้าคุณเข้าไปในภัตตาคารดังๆ หรูๆ หน่อย แล้วไปสั่งแก้วที่ 3 พนักงานจะไม่เสิร์ฟให้ด้วยนะ ขนาดนั้นเลย”

“ช่วง Prohibition เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญหลายอย่าง เช่น บาร์ถูกปิดไปเพราะห้ามขายเหล้า แต่อย่าลืมว่าบาร์แบบเดิม ผู้ชายเข้าได้อย่างเดียวนะ ไม่มีผู้หญิงที่ไหนเข้าไปดื่มในร้านเหล้า แต่พอบาร์แบบเดิมถูกปิดไป สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่คือสถานที่ลักลอบขายเหล้า ซึ่งเมื่อก่อนเขาเรียกว่า Speakeasy คือพูดเบาๆ อย่าพูดดัง เป็นร้านลับ รู้กัน

“ปรากฏว่า Speakeasy เป็นการผสมผสานของคนหลายประเภท เพราะแต่ละคนก็เข้าไปด้วยความต้องการเหล้า ต่างรักษาความลับของกันและกัน ผู้หญิงเริ่มเข้าไปในบาร์เหล้าได้ครั้งแรกในสมัยนั้น ผู้ชายพาไป กลายเป็นว่ามีการคิดค้นเครื่องดื่มสำหรับผู้หญิง เช่น พวกเครื่องดื่มสีฟ้า สีแดง ใส่น้ำทับทิมลงไป คอกเทลก็เริ่มหลากหลายมากขึ้น”

ใครๆ ก็รู้ว่าเหล้ามีสองมุม เทพกรีกไดอะไนซัสที่เป็นเทพแห่งไวน์ ก็มีทั้งด้านร้ายด้านดี มีตำนานโศกนาฏกรรมในประวัติศาสตร์เต็มไปหมดให้เราเรียนรู้ ความเป็นสุราถึงได้มีเสน่ห์ไง คือก้ำกึ่งระหว่างความดีกับความชั่ว ถ้าคุณเสพปริมาณกำลังดี เมื่อนั้นคุณจะมีความสุข แต่ถ้าเกินลิมิตเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็อาจจะเกิดเรื่องเศร้าได้มาก แล้วก็เป็นเรื่องเศร้าแบบที่เราคิดไม่ถึงเลย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย คุยกับ อติภพ ภัทรเดชไพศาล ว่าด้วยเรื่องคอกเทล ความงามของการชง การดื่ม และมารยาทของความเมา

 

 

กาลครั้งหนึ่งประเทศไทยของช่างภาพอิสระ ‘นิค นอสติชท์’

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“เราถ่ายรูปเหตุการณ์แบบนี้มาเยอะ ความสำคัญไม่ใช่เพียงแค่มีคนตาย เรารู้ว่าภาพของเราสำคัญกว่านั้น ประสบการณ์ที่ผมได้มาจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ไม่ได้อันตรายเหมือนในสงครามตะวันออกกลาง แต่ก็คุ้มพอที่เราจะเรียนรู้ในฐานะพยานประวัติศาสตร์”

ธิติ มีแต้ม สนทนากับ ‘นิค นอสติชท์’ ช่างภาพชาวเยอรมนี ถึงการเมืองไทยที่ตกตะกอนอยู่ในใจ ทั้งในฐานะช่างภาพอิสระที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย และคนมีครอบครัวในไทยที่ต้องตัดใจกลับเยอรมนี

“หลังจากที่ผมโดนกระทืบ และเกือบถูกอุ้มโดยลูกน้องของพุทธะอิสระ ผมต้องต่อสู้กับตัวเอง เพราะไม่อยากเอาความโกรธหรือเกลียดมาทำลายตัวเอง อดีตนักข่าวบางคนที่เคยทำงานสื่อต่างประเทศไปออกรายการของช่องบลูสกาย และใส่ร้ายผมว่ารับใช้ทักษิณ

“ผมไม่โกรธมวลชน ผมโกรธแกนนำที่สั่งให้เขามาทำร้ายผมหรือไปทำร้ายคนอื่น ตอนนั้นเวลาจะไปไหน ผมต้องแอบเปลี่ยนทะเบียนรถเพื่อให้เขาจำไม่ได้ ทุกครั้งที่ผมจะออกจากบ้าน ต้องโทรถามเพื่อนๆ ก่อนว่าเวลานี้ กปปส. อยู่ที่ไหน เพราะในพื้นที่ชุมนุมจะมีภาพผมและเขียนว่าเป็นคนอันตราย การ์ด กปปส. ทุกคนมีภาพผมในมือถือของเขา”

“ตอนที่ กปปส. ยังชุมนุมอยู่ ลูกชายผมยังเรียนที่ไทย เขาถูกครูตี เขามาเล่าให้ผมฟังทีหลังตอนย้ายกลับเยอรมนี ว่าเขาโดนตีเพราะเขาเป็นลูกผม มันเป็นเรื่องที่แย่มาก ไร้สติมาก ไร้เหตุผลมาก ผมเคยไปร้องเรียนกับโรงเรียน แต่ครูที่นั่นก็แก้เผ็ดผมด้วยการให้เด็กที่เขาสั่งได้มาเบ่งใส่ แล้วลูกผมก็ถูกดักตีหลังเลิกเรียนโดยเด็กพวกนั้น”

“ตอนนี้ผมอายุ 51 ยังคิดว่าประสบการณ์ตัวเองยังไม่พอเลย มีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ทำ ก่อนเหตุการณ์เสื้อเหลืองเสื้อแดง ผมยังไม่รู้ว่าจะจับประเด็นอะไร พอมีเหตุการณ์เหล่านั้นผมก็ได้เรียนรู้ชีวิตเยอะ แน่นอน เราเสียบ้านที่เมืองไทย เราสร้างชีวิตที่เมืองไทยต่อไปไม่ได้ ต้องย้ายกลับไปเยอรมนี แต่ผมคิดว่าคุ้มอยู่ดี”

“ถ้าผมจะเสนออะไรให้กองทัพไทย ผมต้องบอกว่าเขากลัวประชาชนที่คิดต่างเกินไป แต่ผมเป็นใครที่ทหารจะมาฟัง (หัวเราะ) ส่วนม็อบที่เชียร์ทหาร พวกเขารู้มาตลอดว่ามีแผนการเตรียมรัฐประหารมานานแล้ว แต่เขาจะไม่ประกาศออกมาว่าต้องการรัฐประหาร เพราะจะทำให้เขาเสียหน้า วันนี้แทบไม่มีใครกล้ายอมรับว่าเคยร่วมกับ กปปส. มา เพราะมันเป็นปม”

 

 

การมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบศาล : การจัดทำและการเปิดเผยยี่ต๊อกในคดีอาญา

 

โดย ปกป้อง ศรีสนิท

ปกป้อง ศรีสนิท เขียนถึงการจัดทำและเปิดเผยแนวทางการลงโทษ (sentencing guideline) หรือ ‘ยี่ต๊อก’ ในคดีอาญา ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ขัดกับหลักความเป็นอิสระของศาล ดังเช่นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอังกฤษ

“การที่กฎหมายเปิดดุลยพินิจให้ศาลอย่างกว้างขวางอาจก่อให้เกิดผลเสีย คือ ทำให้เกิดความไร้มาตรฐานของคำพิพากษา ในทางตรงกันข้าม หากกำหนดแนวทางการลงโทษ (sentencing guideline) หรือยี่ต๊อกแบบตายตัว ก็อาจสร้างผลเสียอีกแบบหนึ่ง คือทำให้ดุลยพินิจผู้พิพากษาถูกทำลาย ผู้พิพากษาไม่สามารถปรับใช้โทษให้เหมาะสมกับจำเลยแต่ละคนได้ เพราะแม้จำเลยจะทำผิดเหมือนกัน แต่ความชั่วร้ายของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกันก็ได้

เพื่อรักษาไว้ซึ่งสมดุลระหว่าง ‘การสร้างมาตรฐานให้เกิดขึ้นในคำพิพากษา’ กับ ‘การรักษาดุลพินิจของผู้พิพากษา’ ซึ่งหมายรวมถึงการรักษาไว้ซึ่งความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการนั่นเอง ในประเทศอังกฤษจึงจัดตั้ง ‘คณะกรรมการการลงโทษ’ (The Sentencing Council) และเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมหลายประการ”

“ความกังวลที่ว่า หากเปิดเผยยี่ต๊อกแล้ว อาจจะมีมิจฉาชีพที่รู้ยี่ต๊อกไปหลอกหาประโยชน์จากประชาชน ในสังคมแห่งข้อมูลข่าวสารปัจจุบัน ผมกลับมองว่ายิ่งเปิดเผยให้ประชาชนรู้อย่างเท่าเทียมกัน ยิ่งเป็นการคุ้มครองประชาชนจากมิจฉาชีพ คนที่รู้เท่ากันคงไม่ถูกมิจฉาชีพหลอกโดยง่าย

ยี่ต๊อก หรือ แนวทางการลงโทษของศาลไทยเป็นอย่างไร ประชาชนไม่อาจทราบได้ เพราะไม่เปิดเผยต่อประชาชน ในขณะที่ยี่ต๊อกของอังกฤษที่จัดทำโดยคณะกรรมการการลงโทษ เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบศาลได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การให้ประชาชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการร่างยี่ต๊อก การรับฟังความเห็นประชาชนในการกำหนดยี่ต๊อกในแต่ละฐานความผิด และท้ายสุดคือการเปิดเผยยี่ต๊อกต่อสาธารณชนทางช่องทางต่างๆ

หากจะเริ่มให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแนวทางการลงโทษแบบในอังกฤษ อาจเริ่มดำเนินการอย่างง่ายที่สุดคือการเปิดเผยยี่ต๊อกที่มีอยู่แล้วต่อประชาชน โดยเริ่มจากศาลใหญ่นำร่องก่อน และค่อยขยายไปยังศาลอื่นๆ และขยายไปสู่การให้ประชาชนมีส่วนร่วมการในจัดทำยี่ต๊อกในระดับอื่นๆ”

 

 

เรื่องหนี้มีทางออก : ค้นหาคำตอบว่าด้วยการลดหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

 

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

“การเป็นหนี้มันไม่ได้ทำร้ายแค่กระเป๋าสตางค์ เวลามันทำร้ายกระเป๋าสตางค์ เราจะรู้สึกว่ากินอยู่ลำบากช่วงหนึ่ง แต่ถ้าตกเป็นหนี้นานๆ มันจะเริ่มทำร้ายความภาคภูมิใจในชีวิต เราจะเริ่มรู้สึกว่ามองหน้าใครไม่ค่อยติด…”

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เก็บความจากงานเสวนา ‘ถอดรหัสปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เร่งแก้อย่างไรให้คนไทยอยู่ดีอย่างยั่งยืน’ ว่าด้วยกรณีศึกษาที่น่าสนใจ รวมถึงโครงการและแผนขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับ ‘หนี้ครัวเรือน’ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน

“คนที่เคยเชื่อว่าเดี๋ยวแก้หนี้ได้ก่อนแล้วจะออม ผมคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เขามีแนวโน้มจะเป็นหนี้ไปจนถึงตอนเกษียณ ดังนั้น วิธีที่ถูกต้องคือ ระหว่างเป็นหนี้ แทนที่จะเอาเงินมาชำระหนี้ทั้งหมด เราควรแบ่งจ่ายหนี้ แบ่งเงินเก็บ และแบ่งมาใช้จ่ายให้ตัวเองสักเล็กน้อย” – จักรพงษ์ เมษพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ มันนีโค้ช จำกัด

“เราไปคุยกับน้องๆ ในมหาวิทยาลัยว่า การวางแผนชีวิตตั้งแต่วันนี้ถึงอายุ 30 มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวขนาดนั้น ถ้าเขาสามารถประคองสถานะการเงินของตัวเอง ทำงานเก็บออมได้จนถึงอายุ 30 ปี ความฝันทุกอย่างที่เขาอยากมี ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ครอบครัว หรือสร้างธุรกิจของตัวเองที่จำเป็นต้องใช้เงิน จะสามารถทำได้ ในขณะที่บางคนทำงาน ไม่เก็บออม นำเงินไปใช้จนเกิดหนี้ แม้จะมีความสุขระหว่างทาง แต่พออายุ 30 จะไม่สามารถเริ่มต้นอะไรได้เลย” – ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ME by TMB ธนาคารทหารไทย

“มีรายหนึ่งกู้บัตรเครดิตมา 19 ใบ เพื่อนำไปปล่อยกู้นอกระบบ เพราะได้เงินจากดอกเบี้ยสูง แต่เขาลืมไปว่าการปล่อยกู้นอกระบบ สิ่งสำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์กับลูกหนี้ ทุกวันนี้เจ้าหนี้นอกระบบที่อยู่รอดมาได้ เพราะอาศัยตามทวงเงินกันทุกวัน รายนี้อาจจะไม่ถึงขั้นนั้น ทำให้มีหนี้เสียทั้ง 19 ใบ มูลค่าเกือบ 2 ล้าน” – นิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด

“ส่วนของเราถือว่าเป็นปลายน้ำ วิธีเดียวที่เราสามารถทำได้คือเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ หรือสถาบันการเงินและลูกหนี้ เราพยายามสร้างความเข้าใจว่าท่านไม่ใช่ผู้ร้าย ท่านแค่เป็นคนที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินในจังหวะหนึ่ง เพราะฉะนั้นสามารถเข้ามาคุยและเจรจากันได้” – เสกสรร สุขแสง รองอธิบดี กรมบังคับคดี

 

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนพฤศจิกายน 2562

 

ศาลและระบอบเผด็จการ

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ศาลทำหน้าที่อย่างไร เมื่อระบอบอำนาจนิยมหรือ “เผด็จการ” ขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง ?

ในภาพกว้าง แม้ผู้ปกครองที่มาจากการยึดอำนาจด้วยการใช้กำลังอาจไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงสถาบันตุลาการในเชิงโครงสร้าง หรือดูเหมือนว่าคณะรัฐประหารไม่ได้แทรกแซงการทำหน้าที่ของตุลาการ

แต่สถาบันตุลาการมีความเป็นอิสระโดยไม่สัมพันธ์ใดๆ กับคณะรัฐประหารจริงหรือ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชวนคิดเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันตุลาการกับคณะรัฐประหาร

เอาเข้าจริง สถาบันตุลาการอาจไม่ใช่ Moral Being หากเป็น Political Being ในแบบหนึ่ง

และเอาเข้าจริง บทบาทของสถาบันตุลาการภายใต้ระบอบเผด็จการสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในด้านที่เป็น ‘ตุลาการภิวัตน์’ และ ‘ตุลาการวิบัติ’

 

 

กชกร วรอาคม : ภูมิสถาปนิกผู้ใช้ ‘พื้นที่’ บำบัดความป่วยไข้

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

หลังนิตยสาร TIME ประกาศรายชื่อ ’TIME 100 NEXT’ 100 ดาวรุ่งที่มีอิทธิพลจากหลากหลายวงการ ทั้งการเมือง กีฬา บันเทิง วิทยาศาสตร์ ธุรกิจ ชื่อของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ปรากฏในหน้าสื่ออย่างรวดเร็ว เพราะเขาเป็นคนไทยที่มีรายชื่อในสาขา Leaders ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ของไทยที่ทำคะแนนเสียงได้มากถึง 17% ซึ่งประสบความสำเร็จในการปลุกไฟให้คนรุ่นใหม่หันมาหยุดวงจรรัฐประหาร

ขณะเดียวกันก็มีคนไทยอีก 2 คน ที่ติดโผนี้ด้วย คือ ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ได้ร่วมกับวงในสาขา Phenoms

และ กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกผู้เชื่อว่าพื้นที่สีเขียวสามารถบำบัดเมืองและบำบัดคนได้ ได้ในสาขา Innovators เธอคือผู้มีส่วนสำคัญในงานออกแบบอุทยาน 100 ปีจุฬาฯ, สวนบำบัดลอยฟ้า โรงพยาบาลรามาธิบดี, อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ฯลฯ โครงการทั้งหมดล้วนใช้พื้นที่สีเขียวเป็นส่วนสำคัญ และมีการออกแบบเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

TIME เขียนถึง กชกร วรอาคม ไว้ว่า

‘ในปี 2011 ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมที่เลวร้ายที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ ทำให้หลายครัวเรือนไร้ที่อยู่อาศัย รวมถึงครอบครัวของภูมิสถาปนิก ‘กชกร วรอาคม’ เธอจึงตั้งเป้าว่าจะทำให้เมืองหลวงของประเทศไทยเต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวที่ทนทานต่อสภาพอากาศ เพื่อเป็นแนวป้องกันมรสุมที่มาทุกปี หลังจากชนะการประกวดแบบสวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงเทพฯ ในรอบ 3 ทศวรรษ เธอก็ได้สร้างพื้นที่ ‘ซับน้ำ’ ขนาด 11 เอเคอร์ ที่สามารถซับน้ำได้ 1 ล้านแกลลอน ผ่านการผสมผสานสวนลาดเอียง ที่ชุ่มน้ำประดิษฐ์ ที่เก็บน้ำฝน หลังจากนั้น บริษัทของเธอ Landprocess จะเปิดสวนขนาด 36 เอเคอร์ที่มีสวนหลังคาใหญ่ที่สุดในเอเชีย เมื่อปัญหาเร่งด่วนด้านสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อเมืองต่างๆ ทั่วโลก กชกรกล่าวว่า สถาปนิกต้องลุกขึ้นสู้กับปัญหา “ถ้าเรายังทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างนี้ต่อไป เราก็อาจจะอยู่ไม่รอด”’

101 หยิบเอาบทสัมภาษณ์ ที่พูดคุยกับกชกร วรอาคม ว่าด้วยเรื่องพื้นที่สีเขียว การออกแบบที่บำบัดความป่วยไข้ทั้งกายใจ และมุมมองต่อการสร้างเมืองของกรุงเทพฯ ที่อาจพ่ายแพ้ต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

“เรารู้สึกว่ากรุงเทพฯ แล้ง หยาบกระด้าง ต้นไม้น้อย มองไปรอบๆ เต็มไปด้วยคอนกรีตหรือสิ่งที่หยาบต่อผิวสัมผัส แล้วเราก็โตมากับโครงสร้างเมืองอันแข็งกระด้างนั้น เราเห็นน้ำท่วมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เห็นผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่แย่ลงเรื่อยๆ ของเมือง มันเหมือนอยู่ในบ้านที่ค่อยๆ พังลง จึงรู้สึกว่าต้องหาวิธีที่จะทำให้บ้านของเราดีขึ้น”

 

 

เมื่อปลาไทยมาจากเขมร และไฟฟ้ามาจากลาว : นณณ์ ผาณิตวงศ์

 

โดย ชลธร วงศ์รัศมี

ในสถานการณ์ที่รีสอร์ตรอบเขื่อนแก่งกระจานจมอยู่ใต้น้ำ
เขื่อนวชิราลงกรณ์เปิดประตูระบายน้ำเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี
เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในลาวแตก เขื่อนดอนสะโฮงในลาวปล่อยน้ำท่วมมาถึงไทย

เราอาจคิดว่าไม่มีผลกระทบจากเขื่อนด้านไหนเลวร้ายกว่า ‘น้ำท่วม’ อีกแล้ว

แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ เขื่อนได้เปลี่ยนระบบนิเวศ และลดจำนวนโปรตีนสำคัญสำหรับคนไทยอย่าง ‘ปลา’ ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มมายาวนาน จนทุกวันนี้กล่าวได้ว่าไทยเป็นประเทศที่ นำเข้าแรงงานพม่า-กินปลาเขมร- ใช้ไฟฟ้าลาว

ชลธร วงศ์รัศมี ชวน ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ คนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล ASEAN Biodiversity Heroes มาเช็กสถานะ ‘ในน้ำมีปลา’ ว่า ณ จุดนี้ เราสำคัญตัวผิดไปหรือไม่ การปล่อยพันธุ์ปลาทีละ 50 ล้านตัว ทดแทนปลาจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติได้จริงหรือ? เขื่อนแม่วงก์ เชี่ยวหลาน แก่งกระจาน ภูมิพล เขาแหลม วังหีบ ไซยะบุรี ฯลฯ เกี่ยวพันกับชีวิตเราอย่างไร?

“ถ้าไปดูตลาดปลาที่ด่านชายแดนเขมร อย่างแถวโรงเกลือ เราจะเห็นว่าปลาจากเขมรเข้าไทยมาเยอะมาก ทั้งปลาช่อน ปลาไหล พ่อค้าแม่ค้าคนเขมรบอกว่าเขาไปส่งปลาพวกนี้ถึงสิงห์บุรี ปลาช่อนแม่ลาที่ขายอยู่ริมถนนน่ะ ผมสนใจมานานแล้ว แม่ลาเล็กนิดเดียวเอาปลาช่อนมาจากไหน ปลาเขมรทั้งนั้น กลายเป็นว่าทุกวันนี้ คนไทยทำลายทรัพยากรของเราเสร็จแล้วดึงทรัพยากรจากประเทศรอบข้างที่พัฒนาช้ากว่าเราเข้ามา ดึงปลามาจากเขมร ดึงไฟฟ้าจากลาว”

“แม้แต่เมืองที่อยู่ริมน้ำเองอย่างกำแพงเพชร ผมจะเห็นวิวัฒนาการของปลาที่เข้ามาในตลาด จากเดิมเป็นปลาท้องถิ่นก็เริ่มเป็นปลานิล ปลาดุกบิ๊กอุย”

“เรามีคำเรียกว่า ‘ฤดูน้ำแดง’ คือที่น้ำฝนพัดเอาตะกอน แร่ธาตุ อาหาร จากต้นไม้ในป่า ชะลงมาแล้วไหลมาตามแม่น้ำจากดอยอินทนนท์ส่งลงมาจนถึงแม่น้ำปิง เข้าเจ้าพระยา ออกอ่าวไทย ทุกวันนี้ตะกอนของแม่น้ำปิงตกอยู่ใต้เขื่อนภูมิพล”

“ผมเรียนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมมา สิ่งที่ครูสอนผมตลอดคือ ‘ระบบนิเวศใดๆ ก็ตาม ที่ธรรมชาติสามารถช่วยตัวเองได้อยู่แล้ว อย่าไปทำให้พัง ให้ต้องพึ่งพามนุษย์’ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศบ้านเราแทบทุกอย่างขัดกับหลักการนี้เกือบทั้งหมด”

 

 

“สมมติเด็กในท้องฉันเป็นลูกสาวอีก …จะทำยังไง” คิมจียอง เกิดปี 82 : เมื่อ ‘ผู้หญิง’ เป็นเรื่องเศร้า

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

คิมจียอง แม่บ้านลูกหนึ่ง จู่ๆ ก็เปลี่ยนบุคลิกไปเป็นคนอื่น บ้างก็เป็นคนที่เสียชีวิตไปแล้ว บางทีก็กลายเป็นแม่ของตัวเอง และในบางคราวเธอก็นอนดูดนิ้วเหมือนเด็กทารก สามีของเธอสังเกตเห็นอาการเหล่านี้และพยายามพาเธอไปรักษา ก่อนที่ผู้เขียนจะค่อยๆ พาเราเลาะไปยังชีวิตของคิมจียองว่าเธอผ่านอะไรมาบ้างก่อนจะเกิดอาการที่ว่านี้

เรื่องเล่าผ่านบันทึกของจิตแพทย์จากคำบอกเล่าของคิมจียองและสามี เล่าย้อนไปตั้งแต่ยุคสมัยของย่าคิมจียองที่การมีลูกชายคือความสุขที่สุดในชีวิต (โชคดีที่ย่ามีลูกชายถึง 4 คน) แม้ว่าเธอจะต้องดูแลงานบ้านและทำนาแทนสามี ‘หน้าขาว มือนิ่ม’ ที่ไม่เอาไหน ในยุคแห่งสงคราม โรคภัย และขาดแคลนอาหารก็ตาม

ถัดจากรุ่นพ่อแม่ มาถึงคิมจียอง เธอเกิดมาเป็นลูกสาวคนที่สอง มีน้องชายหนึ่งคน เธอค่อยๆ รู้สึกว่า การเกิดเป็นลูกสาวนั้นอาจไม่มีค่าพอเท่าการเกิดเป็นลูกชาย…

“ย่าดูจะใจกว้างและรักใคร่ห่วงใยลูกสะใภ้ผิดกับแม่ผัวรุ่นเดียวกันบ้านอื่น ที่ย่าพร่ำพูดเรื่องลูกชายราวกับเป็นคำติดปาก ก็เพราะนึกถึงใจลูกสะใภ้อย่างแท้จริงหรอก เอ็งต้องมีลูกชายนะ ต้องมีลูกชายให้ได้ ต้องมีลูกชายสักสองคน…”

คิมจียอง เกิดปี 82 ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เกาหลีเมื่อปี 2016 เขียนโดย โชนัมจู เป็นเรื่องว่าด้วยชีวิตของผู้หญิงในเกาหลีที่ถูกกดขี่ในสังคมที่ไม่เท่าเทียม หนังสือค่อยๆ ไต่ระดับความนิยมอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยิ่งขายดีขึ้นเมื่อ ‘ไอรีน’ ศิลปินสาวจากวง Red Velvet ออกมาเปิดเผยในงานมีตติ้งว่าเธออ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมาพร้อมกับกระแส #metoo ในเกาหลี แต่ในทางกลับกันก็เกิดกระแสแอนตี้จากเหล่าแฟนคลับชาย บางคนหงุดหงิดและรับไม่ได้ จนมีคำพูดที่ว่า “ไอรีนกลายเป็นเฟมินิสต์”

ความหงุดหงิดลุกลามใหญ่โต มีการเผารูปไอรีนและส่งข้อความคุกคามจากเหล่าแฟนคลับชาย ในขณะเดียวกันที่ยอดขายหนังสือเพิ่มขึ้นถึง 104% กลับมาครองที่ 1 ในชาร์ตหนังสือขายดี แต่ยอดคนซื้อเพศชายลดลง 3%

หนังสือเล่มนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในเกาหลี

 

 

ผลงานคลิปวิดีโอ ยอดนิยม เดือนพฤศจิกายน 2562

 

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า… “เหตุการณ์รุนแรงน้อยลง…”

 

โดย  ธิติ มีแต้ม, เมธิชัย เตียวนะ 

เหตุการณ์ถล่มป้อม ชรบ. ลำพะยา บอกอะไรบ้าง

ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) เป็นเป้าโจมตีได้อย่างไร, ฝ่ายความมั่นคงบอกสถานการณ์รุนแรงน้อยลง แต่ทำไมงบไฟใต้ถึงเพิ่มขึ้นมหาศาล, และกระบวนการพูดคุยสันติสุขระหว่างฝ่ายรัฐไทยกับฝ่ายขบวนการที่หยุดชะงักไป มีผลอย่างไรต่อความปลอดภัยของประชาชน

ค้นหาคำตอบในรายการ Side B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า… “เหตุการณ์รุนแรงลดลง…”

 

รายการ 101 One-on-One เดือนพฤศจิกายน 2562

 

101 One-On-One Ep.94 ไทยลีก-ไทยแลนด์

 

โดย 101 One-On-One 

คุยกับ มิตติ ติยะไพรัช ประธานที่ปรึกษาสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด’ ว่าด้วยเบื้องหลังความสำเร็จของสโมสร เรื่องราวของสังคมการเมืองไทยที่เรียนรู้ได้จากฟุตบอล และมุมมองทางการเมืองของเขา

หลังจากขุนพลกว่างโซ้งมหาภัยคว้าแชมป์ฟุตบอลโตโยต้า ไทยลีก 2019 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสรไปอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งยังเป็นทีมแรกจากภูมิภาค ที่เบียดทีมใหญ่อย่าง เมืองทอง และ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ขึ้นมาเป็นแชมป์ได้ในรอบ 11 ปี ทุกสายตาก็จับจ้องไปที่กว่างโซ้งตัวนี้ ว่าพวกเขาทำอย่างไรจึงสู้ในสนามฟุตบอลไทยลีกอันสุดเคี่ยวได้อย่างน่าชื่นชม

มิตติ ติยะไพรัช ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ดตั้งแต่ปี 2552 และผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในฐานะประธานที่ปรึกษาในปี 2562 ผ่านมากว่า 10 ปี เขาเรียนรู้อะไรในวงการฟุตบอล ขณะที่ในสนามการเมือง เขาก็ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคไทยรักษาชาติ หลังจากโดนยุบพรรค เขาจึงกลับมาทำทีมฟุตบอลเต็มตัว

เขามองการเมืองอย่างไร มองฟุตบอลอย่างไร ชวนคุยยาวๆ ว่าด้วยสังคมการเมืองผ่านฟุตบอลในสายตาของ มิตติ ติยะไพรัช

 

 

101 One-On-One Ep.95 “ก้าวใหม่ พริษฐ์ วัชรสินธุ ก้าวต่อไปการเมืองไทย”

 

โดย 101 One-On-One 

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ทำให้สังคมไทยรู้จัก “พริษฐ์ วัชรสินธุ” ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำกลุ่ม New Dem

หลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 สังคมไทยยิ่งรู้จักตัวตนและความคิดของเขาชัดขึ้น หลังตัดสินใจลาออกจากพรรค เมื่อประชาธิปัตย์ประกาศเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

อนาคตทางการเมืองของพริษฐ์จะเป็นอย่างไร อนาคตการเมืองไทยจะเดินไปทางไหน

101 ชวนพริษฐ์มาวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทย และตอบคำถามว่าเขาจัดวางตัวเองอยู่ตรงไหนในสมการการเมืองไทยนับจากนี้

จากแกนนำกลุ่ม รัฐธรรมนูญก้าวหน้า สู่ผู้เขียนหนังสือ “Why So Democracy ประชาธิปไตยมีดีอะไร” และเจ้าของคอลัมน์ butterfly effect ใน 101 ไม่นับสตาร์ทอัพใหม่ด้านการศึกษาที่ใกล้เปิดตัว ป้ายหน้าของเขาคืออะไร?

ชวนคุยโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

 

 

101 One-On-One Ep.96 “ศาสนากับสังคมไทยสมัยใหม่”

 

โดย 101 One-On-One 

คุยกับ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ว่าด้วยเรื่องศาสนา สถาบันที่ได้ชื่อว่า ‘อนุรักษ์นิยม’ ที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ศาสนามิได้ปรับตัวตามสังคมเลย การยังคงดำรงอยู่ต่อเนื่องมาหลายพันปีคือหลักฐานอย่างดีของการเปลี่ยนแปลง

กระนั้น การปรับตัวของศาสนาในแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเงื่อนไขในแต่ละสังคมเป็นอย่างไร

คำถามใหญ่คือ ในสังคมไทยสมัยใหม่ ศาสนามีตำแหน่งแห่งที่อย่างไร ทำไมจึงยังตอบโจทย์ของผู้คนจำนวนมาก แม้ในวันที่เรากำลังใช้ 4G

ติดตามชมพร้อมกัน วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายนนี้ สองทุ่มตรง ทาง The101.world

ดำเนินรายการโดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

 

 

101 One-On-One Ep.97 ‘เพื่อไทย 360°’

 

โดย 101 One-On-One 

‘เพื่อไทย 360°’ สนทนาว่าด้วย ปัจจุบัน อนาคต และยุทธศาสตร์ต่อไปของพรรคเพื่อไทย

คุยกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย

ติดตามชมพร้อมกัน วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายนนี้ สองทุ่มตรง ทาง The101.world

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

 

 

101 One-On-One Ep.98 ‘สู่ความเสมอภาคทางการศึกษา’

 

โดย 101 One-On-One 

เมื่อกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเริ่มต้นสำคัญของความเหลื่อมล้ำในทุกช่วงชีวิต คือความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ซึ่งยังคงปรากฏอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

แม้จะเห็นปัญหาชัด แต่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากแต่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนนโยบายที่ทำงานบนฐานของความรู้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทั้งทรัพยากร เจตจำนงทางการเมือง และความรู้ เป็นเชื้อเพลิงสำคัญ

คุยกับดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ว่าด้วย สถานการณ์ ปัญหา และทางออกของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย

วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2562 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

ธร ปีติดล ดำเนินรายการ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save