fbpx
การมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบศาล : การจัดทำและการเปิดเผยยี่ต๊อกในคดีอาญา

การมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบศาล : การจัดทำและการเปิดเผยยี่ต๊อกในคดีอาญา

ปกป้อง ศรีสนิท เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล​ ภาพประกอบ

 

ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยทั้งทางนิติบัญญัติและบริหารได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด แต่เมื่อมาดูอำนาจตุลาการ การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อระบบตุลาการยังค่อนข้างจำกัด อาจเป็นเพราะหลักที่ว่า ศาลต้องเป็นอิสระ (independent court) อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารไม่อาจเข้าแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของฝ่ายตุลาการได้ นอกจากนี้สายบังคับบัญชาของหัวหน้าผู้พิพากษาก็ไม่อาจแทรกแซงความเป็นอิสระของศาลเช่นกัน หลักความเป็นอิสระของศาลได้รับการรับรองเป็นหลักสิทธิมนุษยชนตามที่กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 ย่อหน้าที่ 1[1]

ประเด็นคำถาม คือ หลักความเป็นอิสระของศาลเป็นอุปสรรคขัดขวางมิให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบศาลใช่หรือไม่ และศาลที่เป็นอิสระต้องเป็นศาลที่ปิดอยู่ในวงผู้พิพากษา โดยไม่มีใครเข้าไปมีส่วนร่วมได้เลยใช่หรือไม่

การมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบศาลมีหลายเรื่องและอาจทำได้ในหลายระดับโดยไม่ได้กระทบหลักความเป็นอิสระของศาล บางประเทศให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงโดยใช้ระบบลูกขุน (jury) คือให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ไม่ใช่ผู้พิพากษา มานั่งพิจารณาพิพากษาคดี เป็นที่เข้าใจมานานว่าระบบลูกขุนนี้ใช้ในประเทศคอมมอนลอว์ เช่นอังกฤษ สหรัฐอเมริกา แต่แท้จริงแล้ว ประเทศซิวิลลอว์ เช่น ฝรั่งเศส หรือ ญี่ปุ่น ก็ใช้ระบบลูกขุนในคดีอาญาบางประเภทเช่นเดียวกัน

ในฝรั่งเศส คดีอาญาที่อัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป ที่เรียกว่าคดีอุกฉกรรจ์ประเภท crime การพิจารณาในศาลจะใช้ผู้พิพากษาอาชีพ 3 คน และมีลูกขุน (juré) 6 คน ร่วมกันนั่งพิจารณาพิพากษาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย รวมทั้งกำหนดโทษ[2] ดูเหมือนว่าฝรั่งเศสจะให้องค์ประกอบของลูกขุนมีจำนวนมากกว่าผู้พิพากษาอาชีพเสียอีก ประเทศคอมมอนลอว์เชื่อใจประชาชนมากขึ้นไปอีก ให้ลูกขุนเป็นผู้ตัดสินคดีเลยว่าจำเลยผิดหรือถูก  โดยผู้พิพากษาอาชีพเป็นผู้เพียงผู้แนะนำหลักกฎหมายและกำหนดโทษเท่านั้น ประเทศที่ใช้ระบบลูกขุนที่กล่าวมาล้วนเป็นประเทศต้นแบบในกระบวนการยุติธรรมที่รักษาความเป็นอิสระของศาลได้อย่างดี  การใช้ระบบลูกขุนคงไม่ได้ไปขัดหลักความเป็นอิสระของศาล

ท่านประธานศาลฎีกา (ไสลเกษ วัฒนพันธุ์) ได้ออกสารประธานศาลฎีกา[3] รับฟังความคิดเห็นประชาชนในระบบการทำงานของศาล เป็นนิติหมายที่ดีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และเป็นรูปแบบหนึ่งของการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบบศาล ผมขอใช้โอกาสนี้นำเสนอการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบศาลอีกเรื่องหนึ่ง คือ การจัดทำและการเปิดเผยแนวทางการลงโทษในคดีอาญา (sentencing guideline)

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในหมู่นักกฎหมายว่าศาลไทยมี “ยี่ต๊อก” หรือแนวทางการลงโทษ (sentencing guideline) เพื่อให้การลงโทษในศาลเดียวกันในคดีที่เหมือนกันมีความไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ในหมู่ประชาชนทั่วไปอาจไม่ทราบ อาจเป็นเพราะยี่ต๊อกไม่เปิดเผย

ดุลยพินิจศาลในการกำหนดโทษทางอาญาเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้การลงโทษผู้กระทำความผิดแต่ละคนบรรลุวัตถุประสงค์ในการลงโทษผู้กระทำความผิด วัตถุประสงค์ที่ศาลลงโทษผู้กระทำความผิด เพื่อคุ้มครองสังคม เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เพื่อนำสังคมกลับสู่สภาวะปกติ และเคารพสิทธิของผู้เสียหาย ดังนั้น โทษทางอาญาจึงมีหน้าที่ 2 ประการคือ ประการที่หนึ่ง ลงโทษผู้กระทำความผิด และ ประการที่สอง ฟื้นฟูแก้ไขผู้กระทำความผิดเพื่อนำกลับสู่สังคม[4]

เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ศาลจึงต้องใช้ดุลยพินิจในการลงโทษโดยพิจารณาทั้งเหตุภาววิสัย (objective) หมายถึงพฤติการณ์แห่งคดี[5] เช่น จำเลยลักทรัพย์ราคาแพงควรจะต้องรับโทษหนักกว่าจำเลยที่ลักทรัพย์ราคาถูก ประกอบกับเหตุอัตวิสัย (subjective) หมายถึง ความชั่วร้ายของจำเลย เช่น จำเลยเป็นหัวโจก ควรจะต้องรับโทษหนักกว่าจำเลยที่เป็นแค่ลิ่วล้อตัวประกอบ

กฎหมายได้กำหนดระวางโทษไว้กว้างๆ เพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจทั้งเหตุภาววิสัยประกอบกับเหตุอัตวิสัย ในการกำหนดโทษที่จะลงกับจำเลยแต่ละคน เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 กฎหมายกำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี  ดังนั้น ศาลใช้ดุลยพินิจจำคุกจำเลยได้ตั้งแต่ 1 วัน ถึง 3 ปี แล้วแต่คดี โดยคำนึงถึงเหตุภาววิสัยและเหตุอัตวิสัยดังกล่าว

การที่กฎหมายเปิดดุลยพินิจให้ศาลอย่างกว้างขวางอาจก่อให้เกิดผลเสีย คือ ทำให้เกิดความไร้มาตรฐานของคำพิพากษา เช่น จำเลย 2 คน ลักเล็กขโมยน้อยเหมือนกันในเขตท้องที่เดียวกัน แต่ขึ้นบัลลังก์ต่างกัน ผู้พิพากษา ก. ในบัลลังก์แรกอาจเห็นว่าเรื่องลักทรัพย์เป็นเรื่องใหญ่หรือท่านอาจมีประสบการณ์เคยถูกลักทรัพย์มาก่อน ผู้พิพากษา ก. อาจพิพากษาจำคุกจำเลยคดีแรก 3 ปีเต็ม ส่วนผู้พิพากษา ข. ที่พิพากษาจำเลยอีกคนหนึ่งในอีกคดีหนึ่ง อาจเห็นเป็นเรื่องเล็ก และพิพากษาจำคุกจำเลยเพียง 3 เดือน ผู้พิพากษา ก. และ ข. ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพราะยังลงโทษจำเลยในระวางโทษที่กฎหมายกำหนดทั้งคู่ ความไร้มาตรฐานนี้อาจทำให้สังคมรู้สึกแปลกว่า พฤติการณ์เดียวกัน เหตุใดศาลเดียวกันจึงลงโทษต่างกันมาก

ในทางตรงกันข้าม หากกำหนดแนวทางการลงโทษ (sentencing guideline) หรือ “ยี่ต๊อก” แบบตายตัว เช่น ลักทรัพย์ราคาเล็กน้อย ให้จำคุก 6 เดือน เหมือนกันทุกคดี ก็อาจสร้างผลเสียอีกแบบหนึ่ง คือทำให้ดุลยพินิจผู้พิพากษาถูกทำลาย ผู้พิพากษาไม่สามารถปรับใช้โทษให้เหมาะสมกับจำเลยแต่ละคนได้ เพราะแม้จำเลยจะทำผิดเหมือนกัน แต่ความชั่วร้ายของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกันก็ได้

เพื่อรักษาไว้ซึ่งสมดุลระหว่าง “การสร้างมาตรฐานให้เกิดขึ้นในคำพิพากษา” กับ “การรักษาดุลพินิจของผู้พิพากษา” ซึ่งหมายรวมถึง การรักษาไว้ซึ่งความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการนั่นเอง ในประเทศอังกฤษจึงจัดตั้ง “คณะกรรมการการลงโทษ” (The Sentencing Council) และเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมหลายประการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. แนวทางการลงโทษของอังกฤษพิจารณาทั้งความเสียหาย (harm) และความชั่วร้ายของผู้กระทำ (culpability)

คณะกรรมการการลงโทษได้จัดทำแนวทางการลงโทษ (sentencing guideline) หรือ “ยี่ต๊อก” สำหรับให้ศาลอังกฤษและเวลส์ใช้ในการกำหนดโทษให้จำเลยแต่ละคน โดยในแต่ละฐานความผิดจะคำนึงถึงความชั่วร้ายของผู้กระทำแต่ละคน (culpability) ประกอบกับ พฤติการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้น (harm)

ตัวอย่างเช่น แนวทางการลงโทษในคดี theft (ลักทรัพย์[6]) ยี่ต๊อกอังกฤษได้กำหนดให้ศาลแยกระดับความชั่วร้ายของผู้กระทำความผิด (culpability) เป็น 3 ระดับ โดย culpability A เช่น จำเลยเป็นหัวโจก culpability B เช่น จำเลยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ และ culpability C เช่นจำเลยเป็นตัวประกอบ จากนั้น ยี่ต๊อกได้ให้ศาลพิจารณาระดับความเสียหายที่เกิดขึ้น (harm) เป็น 4 ระดับ category 1 ทรัพย์ราคาสูงและสร้างผลกระทบกับผู้เสียหายอย่างมาก ไล่ระดับไปจนถึง category 4 ทรัพย์ราคาเล็กน้อยและไม่สร้างความเสียหายให้ผู้เสียหาย

เมื่อได้ระดับความชั่วร้ายของผู้กระทำ (culpability) และระดับความเสียหายที่เกิดขึ้น (harm) แล้ว ยี่ต๊อกได้กำหนดระวางโทษคร่าวๆ ให้ศาลใช้ดุลยพินิจลงโทษจำเลยแต่ละคน  โดย culpability A ประกอบกับ category 1 จะมีระวางโทษหนักที่สุด คือ จำคุกตั้งแต่ 2 ปี 6 เดือน ถึง 6 ปี ในขณะที่ culpability c  ประกอบกับ category 4 จะมีระวางโทษต่ำที่สุด คือ โทษปรับและไม่จำคุก ดังตารางนี้[7]

 

Harm Culpability
  A B C
Category 1
Adjustment should be
made for any
significant additional
harm factors where
very high value goods
are stolen.
Starting point
3 years 6 months’ custody
Starting point
2 years’ custody
Starting point
1 year’s custody
Category range
2 years 6 months’ –
6 years’ custody
Category range
1 – 3 years 6 months’ custody
Category range
26 weeks’ –
2 years’ custody
 Category 2 Starting point
2 years’ custody
Starting point
1 year’s custody
Starting point
High level community order
Category range
1 – 3 years 6 months’ custody
Category range
26 weeks’ –
2 years’ custody
Category range
Low level community order –
36 weeks’ custody
 Category 3 Starting point
1 year’s custody
Starting point
High level community order
Starting point
Band C fine
Category range
26 weeks’ –
2 years’ custody
Category range
Low level community order –
36 weeks’ custody
Category range
Band B fine –
Low level community order
 Category 4 Starting point
High level community order
Starting point
Low level community order
Starting point
Band B fine
Category range
Medium level community order –
36 weeks’ custody
Category range
Band C fine –
Medium level community order
Category range
Discharge –
Band C fin

 

โดยกฎหมายแล้ว ศาลอังกฤษจะต้องปฏิบัติตามยี่ต๊อกที่กำหนดโดยคณะกรรมการการลงโทษ แต่หากมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลก็สามารถใช้ดุลยพินิจเป็นอย่างอื่นได้[8] ซึ่งการกำหนดโทษตามแนวยี่ต๊อกดังกล่าว จะสร้างมาตรฐานคำพิพากษาได้ในระดับหนึ่งและยังคงรักษาดุลยพินิจและความเป็นอิสระของผู้พิพากษาไว้ได้ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับหลักการลงโทษที่ศาลต้องคำนึงทั้งเหตุภาววิสัย (objective) ซึ่งสะท้อนจาก harm ประกอบกับเหตุอัตวิสัย (subjective) ซึ่งสะท้อนจาก culpability อีกด้วย

  1. คณะกรรมการการลงโทษประกอบด้วยผู้พิพากษาและประชาชน

          คณะกรรมการการลงโทษ (The Sentencing Council) เป็นองค์กรอิสระ ประกอบด้วยกรรมการ 14 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษา 8 คน และประชาชนที่ไม่ใช่ผู้พิพากษาอีก 6 คน ร่วมกันกำหนดยี่ต๊อกในความผิดฐานต่างๆ เป็นที่น่าสนใจว่ากรรมการมีความหลากหลายในทัศนคติ เช่น บางท่านทำงานด้านภาคประชาสังคมที่ช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีอาญา บางท่านทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกดำเนินคดี เป็นต้น

  1. แนวทางการลงโทษจะถูกยกร่างและรับฟังความเห็นจากประชาชนก่อนนำไปใช้

เมื่อคณะกรรมการการลงโทษยกร่างยี่ต๊อกในความผิดฐานหนึ่งขึ้นแล้ว ร่างดังกล่าวจะถูกส่งให้ประชาชน ผู้พิพากษา บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งรัฐบาล ให้ความเห็น ในขั้นตอนที่เรียกว่า Council’s consultation โดยความเห็นดังกล่าวมีประโยชน์อย่างมากต่อการปรับปรุงร่างยี่ต๊อกเพื่อนำไปประกาศใช้จริงต่อไป

ในยี่ต๊อกฐานหนึ่งจะมีคนส่งความเห็นกันมากกว่า 300 ความเห็น[9] ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเห็นในการลงโทษผู้กระทำความผิดได้เป็นอย่างดี นอกจากความเห็นที่ได้รับจากประชาชนแล้ว คณะกรรมการการลงโทษยังทำการวิจัยเพื่อนำผลมาประกอบการปรับปรุงยี่ต๊อก เพื่อให้ยี่ต๊อกสะท้อนถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหายได้อย่างแท้จริง[10]

  1. แนวทางการลงโทษจะเปิดเผยให้ประชาชนทราบ

เมื่อร่างยี่ต๊อกผ่านการรับฟังความเห็นและปรับปรุงแล้ว ร่างยี่ต๊อกจะถูกประกาศใช้และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ โดยประชาชนสามารถเข้าดูได้ทางเว็บไซต์ของคณะกรรมการการลงโทษ https://www.sentencingcouncil.org.uk/

ความกังวลที่ว่า หากเปิดเผยยี่ต๊อกแล้ว อาจจะมีมิจฉาชีพที่รู้ยี่ต๊อกไปหลอกหาประโยชน์จากประชาชน ในสังคมแห่งข้อมูลข่าวสารปัจจุบัน ผมกลับมองว่ายิ่งเปิดเผยให้ประชาชนรู้อย่างเท่าเทียมกัน ยิ่งเป็นการคุ้มครองประชาชนจากมิจฉาชีพ คนที่รู้เท่ากันคงไม่ถูกมิจฉาชีพหลอกโดยง่าย

ยี่ต๊อก หรือ แนวทางการลงโทษของศาลไทยเป็นอย่างไร ประชาชนไม่อาจทราบได้ เพราะไม่เปิดเผยต่อประชาชน ในขณะที่ยี่ต๊อกของอังกฤษที่จัดทำโดยคณะกรรมการการลงโทษ เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบศาลได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การให้ประชาชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการร่างยี่ต๊อก การรับฟังความเห็นประชาชนในการกำหนดยี่ต๊อกในแต่ละฐานความผิด และท้ายสุดคือการเปิดเผยยี่ต๊อกต่อสาธารณชนทางช่องทางต่างๆ รวมทั้งเว็บไซต์ ทำให้คนอังกฤษและคนทั่วโลกเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งคนไทยคนหนึ่งที่เขียนบทความนี้ก็สามารถเข้าถึงได้ ทั้งที่ไม่น่าจะมีอะไรไปเกี่ยวข้องกับยี่ต๊อกอังกฤษ

หากจะเริ่มให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแนวทางการลงโทษแบบในอังกฤษ อาจเริ่มดำเนินการอย่างง่ายที่สุดคือการเปิดเผยยี่ต๊อกที่มีอยู่แล้วต่อประชาชน โดยเริ่มจากศาลใหญ่นำร่องก่อน และค่อยขยายไปยังศาลอื่นๆ และขยายไปสู่การให้ประชาชนมีส่วนร่วมการในจัดทำยี่ต๊อกในระดับอื่นๆ

การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและการเปิดเผยยี่ต๊อกแบบอังกฤษ ไม่น่าจะขัดแย้งกับหลักความเป็นอิสระของศาล ดังปรัชญาของคณะกรรมการการลงโทษที่ว่า “คณะกรรมการการลงโทษ ส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานในการลงโทษ เช่นเดียวกันกับการรักษาความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ” (The Sentencing Council for England and Wales promotes greater consistency in sentencing, whilst maintaining the independence of the judiciary)[11]

 


[1] ICCPR ข้อ 14.1 “… บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมโดยศาลที่อิสระและเที่ยงธรรม” (…everyone shall be entitled to a fair and public hearing by a competent, independent and impartial tribunal established by law).

[2] https://www.service-public.fr/particuliers/vosdroits/F1487

[3] https://www.matichon.co.th/local/crime/news_1693626

[4] ประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศส มาตรา 130-1 บัญญัติว่า “เพื่อคุ้มครองสังคม เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เพื่อนำสังคมกลับสู่สภาวะปกติ และเคารพสิทธิของผู้เสียหาย  โทษทางอาญามีหน้าที่ 1. ลงโทษผู้กระทำความผิด และ 2. ฟื้นฟูแก้ไขผู้กระทำความผิดเพื่อนำกลับสู่สังคม”

(Afin d’assurer la protection de la société, de prévenir la commission de nouvelles infractions et de restaurer l’équilibre social, dans le respect des intérêts de la victime, la peine a pour fonctions :

1° De sanctionner l’auteur de l’infraction ;

2° De favoriser son amendement, son insertion ou sa réinsertion.)

[5] ดู “การกำหนดโทษให้เหมาะสมสำหรับผู้กระทำความผิดเป็นรายๆ (individualization)” ใน สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล, “หลักสัดส่วนในการกำหนดโทษ”, รพี 2557, (กรุงเทพ: บริษัท มติชน จำกัด,2557), หน้า 24.

[6] หากเทียบกับกฎหมายไทย ความผิดฐาน theft อาจกว้างกว่าลักทรัพย์

[7] https://www.sentencingcouncil.org.uk/offences/crown-court/item/theft-general/

[8] https://www.sentencingcouncil.org.uk/faqs/faqs-sentencing-guidelines/#Do%20courts have to follow the guidelines?

[9] https://www.sentencingcouncil.org.uk/about-us/

[10] https://www.sentencingcouncil.org.uk/about-us/

[11] https://www.sentencingcouncil.org.uk/

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save