fbpx
“สิ่งที่สร้างความแตกต่างในชีวิตของเด็กไม่ใช่ของเล่นในบ้าน แต่เป็นคำศัพท์ในหัวสมองของพวกเขา”

“สิ่งที่สร้างความแตกต่างในชีวิตของเด็กไม่ใช่ของเล่นในบ้าน แต่เป็นคำศัพท์ในหัวสมองของพวกเขา”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

 

เมื่อช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา มีผลสำรวจที่ทำลายวาทกรรม ‘คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด’ ลงไปอย่างราบคาบ เพราะจากสถิติการอ่านของคนไทยในปี 2561 พบว่า คนไทยใช้เวลาอ่านเพิ่มมากขึ้น 80 นาทีต่อวัน หรือเฉลี่ยวันละ 1 ชั่วโมง 20 นาที

ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ตอบแบบสำรวจบอกว่าอ่านหนังสือเล่มถึงร้อยละ 88 และอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 75.4 ตัวเลขนี้ชี้ว่าหนังสือเล่มอาจยังไม่ตาย ขณะเดียวกันคนก็มีรูปแบบการอ่านที่หลากหลายมากขึ้นด้วย สิ่งที่เราต้องจับตามองคือ มีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบอีกประมาณ 4 ล้านคน ที่ก้าวขึ้นมาเป็น ‘นักอ่านหน้าใหม่’ ในยุคดิจิทัล

แม้ตัวเลขการอ่านจะเพิ่มขึ้น แต่ผู้ปกครองร้อยละ 63.8 ก็ยังขาดความเข้าใจในเรื่องการอ่านหนังสือของเด็กเล็ก โดยมองว่าเด็กมีอายุน้อยเกินไปจึงยังไม่ควรอ่านหนังสือ เพราะฉะนั้นเราจะมีเด็กราว 1.1 ล้านคน ที่สูญเสียโอกาสการอ่านไปอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่ได้รับการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านจากผู้ปกครองตั้งแต่ยังเล็ก

ในความเป็นจริง แม้เด็กจะทำความเข้าใจตัวหนังสือไม่ได้ด้วยตา แต่หูของพวกเขายังซึมซับเรื่องเล่าเข้าสมองได้อย่างแจ่มใสและเปิดกว้าง  คำศัพท์ น้ำเสียง เรื่องราว ความอบอุ่น รูปภาพ จะหลั่งไหลเข้าสู่สมองของเด็กๆ เมื่อผู้ปกครองอ่านหนังสือออกเสียงให้พวกเขาฟัง ดังนั้น ‘การอ่าน’ จึงเริ่มต้นจาก ‘การฟัง’ โดยมีพ่อแม่เป็นครูคนแรก

แนวคิดนี้ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยหลายชิ้น โดยมีรายงานสำคัญชิ้นหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ในปี 1985 ชื่อ Becoming a Nation of Readers ที่สรุปว่าเครื่องมือสำคัญที่สุดในการพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนของเด็กคือ ‘การอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง’ มาจนถึงวันนี้เครื่องมืออันแสนเรียบง่ายและเก่าแก่ที่สุดก็ยังใช้ได้ผลดีอยู่

หากเราลองนึกภาพตาม ช่วงเวลาที่ลูกได้นั่งตักพ่อแม่ ไล่สายตาดูรูปภาพ พ่อแม่ปรับเปลี่ยนน้ำเสียงสร้างความสนุก ช่วยกันตั้งคำถามต่อภาพที่ปรากฏตรงหน้า ช่วยสร้างทั้งจินตนาการและความอบอุ่นให้ลูกได้อย่างมหาศาล

เราฝึกอ่านให้เด็กฟังก่อนที่เขาจะใช้สายตาไล่อ่านหนังสือเองได้ แล้วเด็กจะค่อยๆ เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ไปทีละนิด เพราะในชีวิตประจำวัน การพูดคุยระหว่างผู้ใหญ่หรือกับเด็กล้วนประกอบด้วยคำศัพท์พื้นฐาน แต่ศัพท์หายากยังรอให้เด็กค้นหาอยู่อีกมากในหนังสือ

สำหรับภาษาไทย มีบัญชีคำชั้นเด็กเล็กจำนวน 242 คำ เช่น พ่อ แม่ มี ไม่ ก็ ไป กิน ฯลฯ ซึ่งอาจไม่ต่างจากคำทั่วไปที่ผู้ปกครองใช้กับลูกนัก ส่วนบัญชีคำพื้นฐานระดับชั้น ป.1 มีอยู่กว่า 700 คำ ในนั้นยังมีคำที่ยากขึ้นและไม่ได้ยินบ่อยๆ ในบทสนทนา เช่น กำเนิด, คำนับ, ทำเล ฯลฯ

ในแบบเรียนภาษาไทยระดับชั้น ป.4 แค่บทเดียวก็มีคำศัพท์ให้เด็กเรียนรู้ใหม่กว่า 1,200 คำ เช่น ประชาธิปไตย, กวีนิพนธ์, เก็บหอมรอมริบ, คุณสมบัติ, ทรามวัย ฯลฯ ในระดับนี้จะมีคำประสมยากเพิ่มเข้ามาอีกจำนวนมาก นับเป็นระดับของการหยิบคำไปเล่นซับซ้อนขึ้น และฝึกอ่านยาวขึ้นเพื่อจับใจความให้ได้ทั้งเรื่อง

เมื่อเราเริ่มเปิดก๊อกแรก คำศัพท์ก็จะหลั่งไหลลงไปสู่เขื่อนคลังศัพท์ในหัวของเด็กๆ การอ่านออกเสียงให้ลูกฟังเหมือนเป็นการ ‘ออมคำศัพท์’ ให้เขาตั้งแต่เล็ก เป็นกุญแจเข้าสู่โอกาสทางความรู้ที่ซับซ้อนและหลากหลายขึ้น

มีงานวิจัยของ ดร.เบตตี้ ฮาร์ต (Betty Hart) และ ดร.ท็อด ริสลีย์ (Todd Risley) จากมหาวิทยาลัยแคนซัส ที่สะท้อนเรื่องต้นทุนการเรียนรู้ได้อย่างชัดเจน ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Meaningful Differences in the Everyday Experience of Young American Children พวกเขาศึกษาชีวิตประจำวันของเด็กอเมริกันจาก 42 ครอบครัว ในกลุ่มวิจัยนี้มีเด็กบางคนที่เรียนรู้เร็วกว่าเพื่อนมาก ขณะที่บางคนก็เรียนรู้ช้ากว่าเพื่อนมาก เมื่อวิจัยอีกครั้งตอนพวกเขาอายุ 9 ขวบ ความแตกต่างก็ยังเหมือนเดิมอยู่ คำถามคืออะไรเป็นปัจจัยที่สร้างความแตกต่างนี้

ฮาร์ตและริสลีย์ แบ่งตัวแทนจากกลุ่มทางเศรษฐกิจเป็น 3 กลุ่ม คือ ชนชั้นพึ่งสวัสดิการ ชนชั้นแรงงาน และชนชั้นวิชาชีพ ในเบื้องต้นทุกครอบครัวเลี้ยงดูเอาใจใส่ลูกดีไม่ต่างกันมากนัก แต่เมื่อมีการเก็บข้อมูลจากจำนวนคำประจำวันของเด็กแต่ละกลุ่มจนครบ 4 ปีก็พบความแตกต่าง คือ เด็ก 4 ขวบจากชนชั้นวิชาชีพได้ยินคำศัพท์ 45 ล้านคำ เด็กจากชนชั้นแรงงานได้ยินคำศัพท์ 26 ล้านคำ และเด็กชนชั้นพึ่งสวัสดิการได้ยินคำศัพท์เพียง 13 ล้านคำ

ลองนึกภาพว่าถ้าเด็กทั้งสามคนเข้าเรียนอนุบาลในวันเดียวกัน แต่มีคนที่ได้ยินคำศัพท์น้อยกว่าถึง 32 ล้านคำ การจะตามเพื่อนให้ทันในเวลาอันรวดเร็วในชั้นเรียนย่อมเป็นเรื่องยากกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา (เด็กบางคนอาจเคยได้ยินสำนวนนี้เป็นครั้งแรกเมื่อเรียนถึงชั้น ม.ต้น)

แง่งามของคำศัพท์ยังเด่นชัดอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก กระทั่งในหนังสือ Jim Trelease’s Read-Aloud Handbook (8th Edition) ฉบับปรับปรุงโดย Cyndi Giorgis ก็บอกว่า “สิ่งที่สร้างความแตกต่างในชีวิตของเด็กไม่ใช่ของเล่นในบ้าน แต่เป็นคำศัพท์ในหัวสมองของพวกเขา”

ถ้าดูจากงานวิจัยของฮาร์ตและริสลีย์เราจะเห็นว่า ไม่ว่าชนชั้นไหนก็เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ได้ด้วยการอ่านออกเสียง เพราะเป็นการลงทุนที่ต่ำมาก แต่สร้างต้นทุนให้ชีวิตได้อย่างมหาศาล ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐว่าจะเข้ามาช่วยสนับสนุนได้อย่างไร เช่น สร้างห้องสมุดมากขึ้น ช่วยให้คนเข้าถึงหนังสือมากขึ้น พัฒนาคุณภาพหนังสือภาพของเด็กเล็ก พัฒนาสื่อดิจิทัล เป็นต้น

แน่นอนว่าการอ่านในโลกปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหนังสือ แต่ยังรวมถึงในแท็บเล็ต โทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์ด้วย โดยเฉพาะกับเด็กๆ เจนอัลฟ่า (เด็กที่เกิดตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นไป) ที่ชีวิตของพวกเขาเป็นเนื้อเดียวกับเทคโนโลยีมากกว่าทุกเจเนอเรชันที่เคยมีมาในโลก การอ่านหนังสือของพวกเขาจึงมีมิติที่แตกต่างออกไป

สิ่งที่น่าศึกษาในมิติที่ลึกขึ้นคือ การอ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์มีข้อดีข้อเสียอย่างไร และเราจะปรับใช้กับการอ่านออกเสียงอย่างไรให้สมดุล

ในงานวิจัยเรื่อง Television viewing associates with delayed language development ของ รศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า การให้เด็กเล็กดูโทรทัศน์นานกว่าวันละ 2 ชั่วโมงทุกวัน เด็กในวัยหัดเดินมีแนวโน้มจะมีพัฒนาการล่าช้าลงประมาณ 6 เท่า เช่นเดียวกับงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่แสดงผลออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า สื่ออิเล็กทรอนิกส์ส่งผลอย่างมากต่อพัฒนาการเด็กเล็ก

แต่ก็ใช่ว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะมีแต่ข้อเสียเสมอไป เพราะยังมีเครื่องมือที่ช่วยปรับปรุงทักษะทางภาษาให้เด็กๆ ได้ เป็นสิ่งที่เรียบง่ายและเราอาจเห็นกันจนชินตาแล้ว นั่นคือ คำบรรยาย (subtitle) และคำบรรยายแทนเสียงแบบซ่อนได้ (closed-caption) บนวิดีโอ

ซับไตเติ้ลนั้นเราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ช่วยได้มากเวลาที่เราต้องการศึกษาภาษาต่างประเทศ หรือต้องการจดจำคำศัพท์ใหม่ๆ ส่วน closed-caption หรือ การบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดแม้จะไม่อยู่ในบทสนทนา เช่น เสียงร้องไห้, เคาะประตู, เสียงฟ้าร้อง ฯลฯ ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือแก้ปัญหาการได้ยิน

งานวิจัยของ National Captioning Institute (NCI) สหรัฐอเมริกา ชี้ว่ารายการโทรทัศน์ที่มีคำบรรยายแทนเสียงมีประโยชน์สำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านการได้ยิน คนที่กำลังเรียนภาษาอังกฤษ และเด็กเล็กที่กำลังหัดอ่าน  เมื่อเปิดคำบรรยาย เด็กที่ได้ยินเสียงจะพัฒนาคำศัพท์และความคล่องในการอ่านออกเสียงได้มาก

หากมองกลับกัน การใช้คำบรรยายแทนเสียงก็อาจคล้ายตัวละครในโทรทัศน์กำลังอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง และให้พวกเขาฝึกมองตัวหนังสือแม้ว่าจะยังอ่านไม่ได้ก็ตาม คล้ายกับที่เขาได้ทำความรู้จักนิตยสารและหนังสือพิมพ์ในบ้าน อย่างไรก็ตามแท็บเล็ตและสมาร์ตโฟนไม่ควรแทนที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก เพราะการตอบสนองระหว่าง ‘คนกับคน’ ยังช่วยสร้างวิธีคิดอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่นอกเหนือจากการท่องจำศัพท์

ข้อสำคัญคือผู้ใหญ่ต้องอยู่กับเด็กระหว่างดูสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตั้งคำถามกับลูก และชวนแลกเปลี่ยนสิ่งที่เห็นตรงหน้า จะช่วยสร้างทั้งความอบอุ่น ความไว้เนื้อเชื่อใจ และพัฒนาทักษะการคิดของลูกได้มากขึ้น

ณ ตอนนี้ ถ้านับจากผลสำรวจการอ่าน พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบจำนวนกว่า 145,000 คน (คิดเป็นร้อยละ 5.4) ที่พ่อแม่เลี้ยงดูด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากการสำรวจครั้งที่แล้ว เป็นประเด็นที่เราต้องทำความเข้าใจและแก้ปัญหาต่อไป

แน่นอน การอ่านออกเสียงเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเด็ก แต่สื่อดิจิทัลก็ไม่ใช่สิ่งกีดขวาง แต่เป็น ‘gadget’ เสริมที่จะช่วยการอ่านในขั้นต้น เราไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะสามารถหยิบจับมาใช้ร่วมกันได้

ตัวละครสำคัญจริงๆ ของการอ่านออกเสียงคือผู้ปกครอง เครื่องมือที่เฉียบขาดจริงๆ ของการเรียนรู้คือคำอธิบายอย่างเอาใจใส่ และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างพ่อแม่กับลูกยังเป็น ‘ภูมิคุ้มกันโลก’ เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหน

 

อ้างอิง

Television viewing associates with delayed language development

History of closed captioning

Jim Trelease’s Read-Aloud Handbook (8th Edition)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save