fbpx
“ชีวิตคนจนมีมูลค่าเท่าไหร่?” เปิดเมนูอร่อยจากสารพิษในสวน ความตายในทุ่งนา

“ชีวิตคนจนมีมูลค่าเท่าไหร่?” เปิดเมนูอร่อยจากสารพิษในสวน ความตายในทุ่งนา

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

“ก็กลัวอ่ะพี่ แต่ทำไงได้มันเป็นอาชีพ”

คำบอกเล่าของแรงงานรับจ้างฉีดยาฆ่าหญ้าในไร่นาผ่านคลิปวิดีโอของข่าวสด สะท้อนความเสี่ยงของอาชีพนี้ซึ่งไม่มีมาตรฐานการป้องกันใดๆ

จำนวนเงิน 50 บาท เป็นค่าตอบแทนสำหรับการฉีดสารเคมีหนึ่งไร่ มีแค่หมวกไอ้โม่งคลุมหัว หลังสะพายถังบรรจุสารเคมี เดินเท้าเปล่ามือเปล่าไปพ่นยาในนา เพื่อป้องกันรองเท้าบูทเหยียบต้นข้าวเสียหาย

คนส่วนมากที่ทำงานนี้คือคนหนุ่มที่ยอมเสี่ยงเพื่อค่าตอบแทนวันละ 500-1,000 บาท ซึ่งมากกว่าค่าแรงรายวันทั่วไป พวกเขาเหล่านี้รู้ดีว่ากำลังเอาสุขภาพมาเสี่ยง อีกทั้งเคยเห็นคนในหมู่บ้านที่เคยทำงานนี้กินข้าวไม่ลง ค่อยๆ ผอม จนเสียชีวิตในที่สุด

หากคิดว่าพวกเขาเลือกที่จะเอาชีวิตมาเสี่ยงเอง ลองคิดดูว่าถ้าเป็นคุณจะเลือกรับงานนี้ไหม?

ไม่ว่าเราจะสนใจหรือไม่ เรื่องราวเหล่านี้ล้วนแทรกซึมอยู่ในสายธารการผลิตอาหารทุกประเภทในชีวิตประจำวัน

ไม่นานนี้แคมเปญซูเปอร์มาร์เก็ตที่รักซึ่งเป็นความร่วมมือจากภาคประชาสังคมหลายองค์กรได้จัดฉายภาพยนตร์สารคดี Bananas!* ที่ติดตามปัญหาไร่กล้วยในนิการากัวที่ลามมาจนถึงศาลฎีกาสหรัฐอเมริกา

Bananas!* เป็นสารคดีสวีเดน กำกับโดย Fredrik Gertten เมื่อปี 2009 โดยหยิบยกเอาความขัดแย้งระหว่างบริษัทอาหารข้ามชาติจากสหรัฐอเมริกาและคนงานปลูกกล้วยในนิการากัว ซึ่งมีการกล่าวหาว่ายาฆ่าแมลง DBCP ที่บริษัทอาหารใช้ในไร่กล้วยของเขา เป็นเหตุทำให้คนงานเป็นหมัน

DBCP ถูกแบนจากสหรัฐอเมริกาในปี 1979 หลังพบว่ามีผลกระทบทำให้ผู้ใช้เป็นหมัน แต่บริษัทดังกล่าวยังคงสั่งซื้อสารเคมีนั้นจากอเมริกาในปริมาณมหาศาล โดยยืนยันกับผู้ผลิตว่าจะใช้ต่อไปและหากมีผู้เสียหายทางบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง

สาร DBCP ถูกส่งมาใช้กับสวนกล้วยขนาดใหญ่ในนิการากัวซึ่งเป็นฐานการผลิตของบริษัทดังกล่าวเพื่อส่งออกกล้วย สารเคมีมหาศาลถูกพ่นจากท่อซึ่งติดตั้งครอบคลุมทั่วสวนกล้วย ทิ้งน้ำผสมสารเคมีขังแอ่งเฉอะแฉะตามพื้น เมื่อคนงานชาวพื้นถิ่นเข้าไปตัดกล้วย น้ำที่ค้างอยู่ตามใบกล้วยและเครือกล้วยจะไหลมาตามเสื้อผ้าเปรอะเปื้อนเนื้อตัวของพวกเขา โดยเฉพาะคนลากรอกลำเลียงเครือกล้วยออกจากสวนจะต้องเดินเท้าเปล่าเพื่อให้มีแรงต่อสู้กับพื้นโคลนเฉอะแฉะ

คนงานสวนกล้วยสวมใส่เสื้อผ้าเปื้อนสารเคมีนั้นทั้งวันจนถอดออกเมื่อกลับถึงบ้านและเข้านอน ก่อนรุ่งเช้าจะหยิบมาใส่เพื่อไปทำงานอีกครั้ง

สารคดีเล่าผ่านเรื่องราวของ Juan Domínguez ทนายความอเมริกันเชื้อสายคิวบาที่ออกตัวเข้ามาช่วยเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนงานสวนกล้วย เขานำตัวแทนคนงาน 12 คนเป็นโจทก์ฟ้องบริษัทนายจ้าง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเนื่องจากการใช้สารเคมีดังกล่าวจนทำให้คนงานเป็นหมัน โดยคดีถูกนำขึ้นพิจารณาในศาลฎีกา และมีการสั่งจ่ายเงินชดเชยผู้เสียหายบางส่วน

สารคดีดังกล่าวไม่ได้นำเสนอจากมุมมองเดียว เมื่อมีการถ่ายทอดคำให้การในศาล ทำให้ผู้ชมพบข้อมูลบางจุดจากฝั่งโจทก์ว่าแรงงานบางคนอาจไม่ได้เป็นหมันเพราะทำงานในสวนกล้วยจริง นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยชีวิตหรูหราของ Domínguez ที่เข้ามาช่วยฟ้องคดีโดยไม่มีค่าจ้างและออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้คนงานนิการากัวมาขึ้นศาล โดยหวังจะได้ส่วนแบ่งจากค่าเสียหายมหาศาล หากคดีของผู้เสียหาย 12 คนแรกกลายเป็นคดีตัวอย่างที่จะนำไปสู่การชดเชยให้คนงานที่เหลือซึ่งมีจำนวนมาก

Domínguez ยังปฏิเสธที่จะช่วยลูกของคนงานรายหนึ่งฟ้องบริษัทอาหารต้นสังกัด เมื่อเขาเชื่อว่าสารเคมีที่ใช้ในสวนกล้วยเป็นเหตุให้พ่อของเขาเสียชีวิตเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาจะฟ้องเฉพาะคดีคนเป็นหมันเท่านั้น เพราะมีหลักฐานชัดเจนที่จะทำให้ชนะคดี

แต่เรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้คือบริษัททุนข้ามชาติขนาดใหญ่รู้ถึงอันตรายจากยาฆ่าแมลงที่นำมาใช้ แต่ก็ยังเดินหน้าใช้ต่อไปอีกหลายปีโดยไม่สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนงาน

“ชีวิตคนจนมีมูลค่าเท่าไหร่?” เปิดเมนูอร่อยจากสารพิษในสวน ความตายในทุ่งนา

เมื่อภาพยนตร์มีคิวเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ลอสแองเจลิสในปี 2009 ผู้กำกับสารคดี Bananas!* ถูกบริษัทอาหารในสารคดีฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทโดยที่ทางบริษัทยังไม่ได้ดูสารคดีมาก่อนและมีการกดดันจนทางผู้จัดเทศกาลภาพยนตร์ถอนชื่อสารคดีเรื่องนี้ออกจากการประกวด

การฟ้องปิดปากดังกล่าวลาก Gertten ให้ไปสู่ศาลและเป็นข่าวดังทางหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งในสหรัฐอเมริกาและสวีเดน ซึ่งเขาบันทึกเรื่องราวระหว่างนั้นจนเป็นสารคดีเรื่องต่อมา Big Boys Gone Bananas!* ในปี 2011 เปิดประเด็นให้ผู้คนถกเถียงถึงเสรีภาพในการแสดงความเห็นและประเด็น SLAPP หรือการใช้กลไกกฎหมายเพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ ซึ่งภาครัฐและบริษัทเอกชนนิยมใช้มากขึ้นเพื่อปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชน

หากจะมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นในนิการากัว สวีเดน หรือสหรัฐอเมริกายังเป็นเรื่องไกลตัว ให้ลองนึกดูว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับสารคดี Bananas!* ล้วนเป็นปัญหาเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

แรงงานในอุตสาหกรรมอาหารไทยหลายส่วนยังเข้าไม่ถึงสิทธิแรงงานที่เป็นธรรม และเราในฐานะผู้บริโภคก็มีส่วนช่วยสนับสนุนให้การกดขี่นั้นเกิดขึ้นต่อไป หากไม่มีการแสดงออกถึงการต่อต้านอาหารที่เกิดจากการผลิตที่ไม่เป็นธรรม

แต่ใช่ว่าจะไม่มีคนลุกขึ้นมาสู้ เช่นไม่นานมานี้ที่มีองค์กรสิทธิมนุษยชนเผยแพร่เรื่องราวบริษัทผลิตวัตถุดิบอาหารแห่งหนึ่งที่มีการกดขี่แรงงาน นำมาสู่การใช้ SLAPP ฟ้องผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งตัวแรงงาน คนทำงานในองค์กรสิทธิ สื่อมวลชนที่เผยแพร่ข่าว คนที่กดแชร์คลิป

แม้ว่าคดีประเภทนี้โดยส่วนใหญ่มักนำไปสู่การสั่งยกฟ้องในที่สุด แต่การขึ้นศาลกลายเป็นภาระที่ยืดเยื้อจนทำให้คนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิต้องถอดใจ โดยเฉพาะบางกรณีมีการไปแจ้งความในจังหวัดห่างไกลหลายสิบคดี การฟ้องกลั่นแกล้งเช่นนี้เอื้อประโยชน์ให้บริษัทขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรในการดำเนินการทางกฎหมายและไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความเป็นธรรมในสังคมทุกด้าน

ที่สุดอาจทำให้ผู้เสียหายถอนฟ้อง สื่อมวลชนเลิกพูดถึงเพราะขยาดการไปขึ้นศาล ส่วนบริษัทที่ทำธุรกิจแบบไม่โปร่งใสกลับลอยตัว

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากทิศทางของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้คือ สิ่งที่บริษัททุนใหญ่เหล่านี้เป็นห่วงไม่ใช่ชีวิตของลูกจ้าง แต่เป็นหน้าตาบริษัทที่นำมาซึ่งผลกระทบทางธุรกิจ จึงปล่อยให้เผยแพร่เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้ แม้ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงก็ตาม

แทนที่จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานและทำให้เกิดการจ้างงานที่เป็นธรรม จนถึงชดเชยค่าเสียหายที่ปฏิบัติกับคนเล็กคนน้อยเหล่านี้ด้วยความไม่เป็นธรรม แต่กลับมาไล่ฟ้องเรียกค่าเสียหายกับผู้เสียหายที่ออกมาเผยแพร่ปัญหา

เรื่องราวเหล่านี้น่าจะนำไปสู่คำถามในแต่ละมื้ออาหารของเราว่า ข้าว ผัก เนื้อสัตว์ หรือผลไม้ที่เรากินอยู่ทุกวันนี้มาจากที่ไหน มีการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายกับผู้ผลิตและผู้บริโภคหรือไม่ คนปลูกผักได้ค่าตอบแทนที่สมควร หรือถูกกดราคาแล้วมาขายให้เราในราคาแพง คนเลี้ยงไก่ได้มีวันหยุดและค่าจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่

ในอาหารมื้ออร่อยของเรามีใครถูกเอาเปรียบอยู่หรือเปล่า?

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save