fbpx
สถาบันพระมหากษัตริย์จะมั่นคงยั่งยืนได้ ต้องอยู่เหนือการเมือง

สถาบันพระมหากษัตริย์จะมั่นคงยั่งยืนได้ ต้องอยู่เหนือการเมือง 

สมชัย สุวรรณบรรณ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเป็นของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่บัดนี้น่าเป็นห่วงว่าสถาบันหลักของชาติกำลังถูกบ่อนทำลาย ด้วยฝีมือของผู้อวดอ้างความจงรักภักดี พยายามดึงสถาบันลงมาเป็นคู่ขัดแย้งในสนามการเมือง แล้วสร้างความแปลกแยกในสังคมไทย โดยใช้ hate speech เป็นอาวุธ

สถาบันพระมหากษัตริย์ควรเป็นตัวแทนของความแตกต่างหลากหลายในสังคมพหุนิยม ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความท้าทายจากเทคโนโลยีดิจิทัล โดยที่ข้อมูลข่าวสารติดต่อเชื่อมโยงกันอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศและทางสากล อีกทั้งเป็นยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับสภาพการเปลี่ยนแปลงรอบตัว และตื่นรู้ (woke) ในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และภาวะวิกฤตสิ่งแวดล้อม

แต่ทว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะก่อนและหลังเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562 มีการสร้างกระแสพารานอยด์จากกลุ่มอำนาจนิยมที่แอบอิงกับขุมผลประโยชน์ใน deep state โดยไฮแจ็กสถาบันพระมหากษัตริย์ไปสร้างค่านิยมย้อนยุคแบบยุคกลาง (medieval) แล้วผูกขาดความถูกต้องของตนฝ่ายเดียว และพยายามดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งในทางหลักการนั้นต้องอยู่เหนือการเมืองแบบ party politics ให้โน้มลงมาจนเป็นกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มการเมืองที่มีแนวคิดแตกต่างไปจากอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง 

อย่างที่อาจารย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เคยเตือนสังคมไทยไว้ว่า “การเมืองเป็นเรื่องที่ทำให้มีคนรักคนชัง–สถาบันฯ จะต้องอยู่เหนือการเมือง” ดังนั้นการดึงเอาสถาบันฯ ลงมาในสนามการเมืองก็ย่อมทำให้มีคนรักและคนชัง มิพักต้องพูดถึงว่าข่าวสารจากเมืองไทยที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ย่อมก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่สื่อสารมวลชนและนักวิชาการในแวดวงไทยคดีศึกษาในสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลก รวมไปถึงในวงสนทนาของสมาชิกราชวงศ์ นักการทูตระดับสูง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศต่อประเทศไทย

อาการหมกมุ่นเหมือนผงเข้าตาในกลุ่มการเมืองที่ต้องการทำลายล้างพรรคอนาคตใหม่ เป็นปรากฏการณ์ที่ทั่วโลกสนใจ ทั้งในเรื่องการนำเอาสถาบันฯ มาใช้เป็นเครื่องมือทุบทำลายทางการเมือง หรือความพยายามที่สื่อมวลชนบางสำนักส่งเสียงกดดันสถาบันตุลาการให้โน้มเอียงไปตามอารมณ์ความรู้สึกของตน ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ และเท่ากับเป็นการบั่นทอนพระเกียรติยศ (prestige) ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในต่างประเทศ 

ผู้ที่จงรักภักดีต่อสถาบันฯ อย่างแท้จริง ย่อมไม่อยากให้สมาชิกราชวงศ์ระดับสูงต้องรู้สึกอึดอัดพระทัยต่อกระแสข่าวในสื่อกระแสหลักของต่างประเทศ โดยเฉพาะเวลาที่เสด็จประพาสต่างประเทศอย่างเป็นทางการ หรือโดยส่วนพระองค์ 

พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาตามกลไกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งอาจมีข้อดีข้อเสีย มีจุดอ่อนของตัวเองในด้านต่างๆ  การล้มหายพังทลายของพรรคการเมืองควรเป็นไปด้วยผลงานทางการเมือง เช่น การไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ หรือพฤติกรรมมิชอบเรื่องเงินทองของผู้บริหารหรือ ส.ส. ของพรรค  การอยู่รอดหรือไม่รอดของพรรคการเมืองหน้าใหม่นี้ จึงควรจะตัดสินกันด้วยผลงานในสภาของพวกเขา มากกว่าการใช้ศาสตร์มืด อันอาจจะทำให้พระเกียรติยศของสถาบันฯ กลายเป็นประเด็นซุบซิบในวงการทูตต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ผู้บริหารพรรคอนาคตใหม่ถูกกล่าวหาในคดียุยงปลุกปั่นหรือถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังที่มีนักวิชาการท่านหนึ่งตั้งประเด็นว่า “following constitutional procedure is by definition constitutional;  the opposite of a coup or sedition.”

ประเด็นที่ผู้บริหารพรรคอนาคตใหม่ถูกกล่าวหาจนกลายเป็นคดีความนั้น หากตรวจสอบค้นหาต้นตอของข้อมูลทั้งหมด ก็จะพบว่าส่วนหนึ่งมาจากการหยิบจับคำพูดมาใส่ปากบ้าง หรือการตัดตอนคำพูดออกจากบริบทเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจผิดบ้าง โดยมีความตั้งใจที่จะบิดประเด็นให้เกิดความเกลียดชัง ซึ่งต้นตอบางส่วนมาจากปฏิบัติการที่เรียกกันว่าไอโอ แบบที่เคยทำกันมาหลายยุค เช่น เรื่องอุโมงค์ลับในธรรมศาสตร์ยุคหกตุลาฯ หรือเรื่องผังล้มเจ้าของฝ่ายกองทัพในยุคที่มีการชุมนุมประท้วงของกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ความจริงได้จนกระทั่งบัดนี้  

ถ้าหากติดตามผลงานการอภิปรายของ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ในรัฐสภา ก็จะเห็นว่าเป็นพรรคที่ประชาชนเลือกเข้าไปด้วยวาระแห่งการปฏิรูป อาจมีร่องรอยทางความคิดในหลายเรื่องใกล้เคียงกับกลุ่มที่เคยเรียกร้องให้ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ ด้วยซ้ำไป พวกเขาเป็นพรรคที่มีนโยบายปฏิรูปสถาบันการเมืองต่างๆ ของไทยให้ทันสมัยเป็นสากล เที่ยงธรรมและยั่งยืน ดังเช่นนโยบายการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งไม่มีพรรคการเมืองใดกล้าแตะต้อง กลายเป็นปมให้ deep state ลุกขึ้นมาปฏิบัติการไอโอ หาวิธีล้มคว่ำพรรคอนาคตใหม่ เพราะอาจหาญเกินไปที่ลงมือทุบหม้อข้าวของพวกเขา  

หากเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองในต่างประเทศแล้ว นักการเมืองในพรรคอนาคตใหม่ก็มีพื้นฐานไม่ต่างจากบรรดานักการเมืองในหลายประเทศที่มาจากพวกชนชั้นกลางในเมือง ถ้าเทียบกับอังกฤษที่บริหารประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคอนาคตใหม่ก็น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มสายกลางอย่าง Liberal Democrats มากกว่าพรรคเอียงซ้ายแบบ Labour Party ซึ่งมีหัวหน้าพรรคอย่าง Jeremy Corbyn ผู้ที่น่าจะเข้าข่าย ‘ซ้ายดัดจริต’ ในความหมายของผู้นำกองทัพไทยเสียด้วยซ้ำ 

แต่ทว่าที่อังกฤษ คงไม่มีใครกล่าวหานาย Corbyn ที่มีตำแหน่งทางการว่า Leader of Her Majesty’s Most Loyal Opposition หรือ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ว่าหนักแผ่นดิน หรือคงไม่มีมีสื่อเลือกข้างยุยงให้เอาไปตัดหัวเพราะล้มเจ้า

อาการ ‘คลั่งขนบ’ ของผู้คนบางกลุ่มในสังคมไทยขณะนี้ ดูเหมือนจะเป็นการสร้างปมเขื่องให้กับตัวเองและพรรคพวกเพื่อเอาไว้อวดอ้างความจงรักภักดี และเพื่อจะปกป้องหม้อข้าวตัวเอง ถ้าใครทำตัวผิดไปจาก ‘ขนบ’ นี้ ก็จะถูกตัดสินว่าไม่มีความเป็นไทย ไม่รักชาติ ไม่รักสถาบันฯ แต่ความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นก็คือพฤติกรรมของพวกเขาอาจกลายเป็นการบ่อนทำลายสิ่งที่พวกเขาอ้างว่าเทิดทูนเสียเอง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save